ฟังเสียงประเทศไทยตอนนี้พาขึ้นเหนือไปที่จังหวัดลำพูนหรือเมืองหริภุญไชยจังหวัดที่มีพื้นที่เล็กที่สุดในภาคเหนือแต่เก่าแก่ถึง 1,400 ปีและตอนนี้กำลังมีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในใจกลางเมืองคนลำพูนกำลังคุยกันว่าจะเอายังไงกับศาลากลางจังหวัดหลังเดิมที่อยู่กลางเมือง เมื่อหน่วยราชการย้ายศูนย์ราชการออกไปแต่ต้นปีที่ผ่านมา
ศูนย์ราชการเดิม หรือ ศาลากลางหลังเก่า มีทั้งพื้นที่ อาคารสิ่งปลูกสร้างและเรื่องราวอันทรงคุณค่า พร้อมความทรงจำของคนในจังหวัดลำพูนแต่ละยุคสมัย พื้นที่แห่งนี้ คนลำพูน ต้องการให้เป็นแบบไหน? นี่คือประเด็นที่เราได้เข้าไปชวนชาวลำพูนและคุณผู้ชม พูดคุยและฟังเสียงกันอย่างตั้งใจ พร้อมกับมองภาพความน่าจะเป็นของ อนาคตศาลากลางหลัง (เก่า) ลำพูนร่วมกัน
ก่อนอื่นองศาเหนือ พาส่องประวัติศาสตร์ ‘นครลำพูน’ เมืองที่หลายคนเรียกว่าทางผ่าน แต่สมบูรณ์ด้วยเรื่องราว
จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดห่างจากจังหวัดเชียงใหม่เพียง 20 กม.เท่านั้น นี่คือที่ตั้งของ “ลำพูน” จังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในภาคเหนือ (พื้นที่ 4,505.882 ตร.กม.หรือประมาณ 2,815,675 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 4.85 ของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน) แต่มีประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ยาวนานที่สุดกว่า 1,400 ปี นับจากฤาษีวาสุเทพ เกณฑ์ชนเชื้อชาติมอญ มาสร้างเมืองหริภุญไชยหรือลำพูนนี้ขึ้นในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำกวงและแม่น้ำปิง พร้อมอัญเชิญพระนางจามเทวี ธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้มาปกครอง
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดเล็กอย่างนี้ แต่ลำพูนเป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุดในภาคเหนือ (191,568 บาทต่อปี ;2560) เพราะลำพูน เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม ศูนย์อุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ฐานการผลิตอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ
อย่างไรก็ตามลำพูนได้ชื่อว่าเป็นเมืองเกษตรกรรม เพราะชาวลำพูนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร เป็นพื้นที่ปลูก หอมแดง กระเทียมแหล่งใหญ่ มีมะม่วงและลำไยเป็นผลไม้ชื่อดังระดับโลกที่ได้การรับรองเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รวมทั้งเป็นพื้นที่ปศุสัตว์ โคนมและยังมีอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่โดดเด่น เช่น ไม้แกะสลักแม่ทา และผ้าทอยกดอกลำพูน
ลำพูนเป็น 1 ใน 10 เมืองเก่าของประเทศที่ถูกกำหนดว่าเป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในฐานะศูนย์กลางของอาณาจักรหริภุญไชยที่เจริญรุ่งเรืองด้านพระพุทธศาสนา และปัจจุบันพบการอยู่อาศัยของชุมชนใหม่ร่วมกับชุมชนเดิม เมืองลำพูนจึงปรากฏรูปแบบผสมผสานของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาผู้คนหลากหลายชาติพันธ์ุและปราชญ์ท้องถิ่นผู้เต็มไปด้วยเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมตามช่วงเวลาต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดแข็ง ที่ลำพูนกำหนดวิสัยทัศน์พัฒนาจังหวัดในปี 2566 – 2570 ว่าจะเป็น “เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนความพอเพียง” และแนวทางจะมุ่งสู่ที่กำหนดไว้เป็นลำดับแรก คือการเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมอัตลักษณ์วิถีและท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ รองลงมาคือเมืองแห่งอุตสาหกรรม หัตถอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เมืองแห่งเกษตรสุขภาพและเกษตรนวัตกรรมสร้างสรรค์ และเมืองแห่งความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 การท่องเที่ยวลำพูนที่เคยถูกมองว่าเป็นเมืองผ่าน เนื่องจากอยู่ใกล้กับจ.เชียงใหม่มาก กลับขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และจากการวิเคราะหฺ์ขีดความสามารถด้านการแข่งขันของจังหวัดตามนโยบายส่งเสริมเมืองรอง ลำพูนอยู่ในจุดที่ได้เปรียบของต้นทุนทางประวัติศาตร์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ขณะที่แนวโน้มความสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจการท่องเที่ยว เมืองที่มีเอกลักษณ์ ทำให้มีนักท่องเที่ยวสนใจความเป็นเมืองเก่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและนันทนาการในลำพูนเพิ่มขึ้น
แต่ลำพูนก็มีข้อท้าทายที่ต้องจัดการด้านคุณภาพชีวิต เมื่อผู้สูงอายุของลำพูนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันลำพูนมีประชากร 402,011คน ในจำนวนนี้มี 97,102 คน หรือร้อยละ 24.15 เป็นผู้สูงอายุ นับว่ามากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากจังหวัดสิงห์บุรีและลำปาง ลำพูนจึงเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ขณะที่คนพิการ มีจำนวน 22,013 คน คิดเป็นร้อยละ 5.48 ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนประชากร นับเป็นอันดับ 1 ของประเทศ
สำหรับสถานการณ์ทางสังคม พบปัญหาการฆ่าตัวตายที่สูงสุดของประเทศ เนื่องจากสาเหตุหนี้สินนอกระบบ การพนันออนไลน์ พร้อมกันนั้นการเติบโตและขยายตัวของลำพูนก็เช่นชัดมากขึ้น รูปธรรมหนึ่งคือการย้ายสถานที่ปฏิบัติราชการจากศาลากลางลำพูน ซึ่งอยู่ในเขตเมืองเก่า ไปยังศูนย์ราชการจังหวัดลำพูน ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งถือเป็นเขตเมืองใหม่ ที่มีแผนการพัฒนาจังหวัดเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดไว้ และเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ ออกแบบพื้นที่เขตเมืองเก่า ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนาน โดยเฉพาะบริเวณศูนย์กลางเมืองที่เปรียบเสมือนหัวแหวน ที่มีอาคารศาลากลางจังหวัดเดิมเป็นศูนย์กลาง
ชาวลำพูน พูดคุยกันถึงเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2563 ว่า จะเป็นโอกาสที่จะให้อาคารศาลากลางจังหวัดลำพูนหลังเดิมและพื้นที่โดยรอบประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวลำพูนในอนาคตอย่างไร ?
SWOT การจัดการพื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเก่าลำพูนและอนาคตศาลากลางจังหวัดหลังเดิม
จุดแข็ง
7 ทศวรรษศาลากลางจังหวัดลำพูน
หากจะย้อนประวัติศาสตร์เมืองลำพูนไปยังยุคที่สาม ยุคฟื้นฟูบ้านเมืองลำพูน ภายใต้ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน บริเวณศาลากลางจังหวัดลำพูนในอดีตเคยเป็นที่ประทับของเจ้าหลวงลำพูน 8 พระองค์ตั้งแต่องค์แรก คือ เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น จนถึงองค์ที่ 8 คือเจ้าหลวงอินทยงยศโชติ คุ้มเจ้าหลวงหลังเดิมเคยตั้งอยู่บริเวณนี้มาก่อน จากนั้นได้ยกพื้นที่ให้เป็นเค้าสนามหลวง หรือที่ว่าราชการจังหวัดและกลายเป็นศาลากลางจังหวัดลำพูนในที่สุด โดยที่ได้ย้ายคุ้มเจ้าหลวงไปตั้งด้านทิศใต้ ณ บริเวณคุ้มเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ที่ปัจจุบัน
ภาพจากเพจ หมายเหตุหริภุญไชย
เค้าสนามนครลำพูน หรือที่ทำการบริหารบ้านเมืองของเจ้านายเมืองลำพูนในอดีต ตลอดจนข้าหลวงและ ข้าราชการส่วนกลางเป็นพื้นที่ทำงานประชุมแก้ไขปัญหาของประชาชนเมืองลำพูน อีกทั้งเป็นที่แสดงออกทางกิจกรรมต่าง ๆ ของเจ้านายข้าราชการตลอดจนประชาชนชาวลำพูน
เค้าสนามนครลำพูนเปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัดลำพูนเมื่อ พ.ศ. 2494
โดยศาลากลางจังหวัดลำพูน เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2494 แล้วเสร็จวันที่ 15 ธันวาคม 2495 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมดจำนวน 1,712,210 บาท โดยกระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้บริษัทอาสาสงครามเป็นผู้รับเหมาทำการก่อสร้าง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ พลตรีบัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมาเป็นประธานทำพิธีเปิดป้ายศาลากลางจังหวัดลำพูนเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2496 และเปิดงานฉลองศาลากลางระหว่างวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2496 พันตำรวจตรีสงกรานต์ อุดมสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานทำพิธีวางศิลาฤกษ์ศาลากลางจังหวัดลำพูนเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2494 ขุนสนิทประชาราษฎร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง นายทองจุล สิงหกุล นายเดช รักษาพงศ์ นายช่างกรมโยธาเทศบาล เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง
ชาวลำพูน มีส่วนร่วมบริจาคเงินสร้างถนนบริเวณศาลากลางและซื้อเครื่องใช้สำนักงานให้กับศาลากลางจังหวัดลำพูน จำนวน 94 ราย ประกอบด้วย เจ้านายฝ่ายเหนือ คหบดี ข้าราชการ ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาจากทั่วทุกสารทิศ ปรากฏหลักฐานอยู่บนแผ่นปูนจารึก ป้ายดังกล่าวติดตั้งอยู่หน้าศาลากลาง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณสวนหย่อม รวมยอดเงินทั้งสิ้น 62,027.35 บาท
ในปีพุทธศักราช 2501 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2501
โดยวันที่ 7 มีนาคม 2501 หลังจากเสร็จการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระธาตุหริภุญชัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังศาลากลางจังหวัดลำพูนเพื่อเสวยพระกระยาหาร และเสด็จออกประทับหน้ามุขศาลากลางจังหวัดลำพูน โดยมีนายสุจิตต์ สมบัติศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนขณะนั้น กราบบังคมทูลพระกรุณานำข้าราชการพร้อมด้วยภริยาและราษฎรเข้าเฝ้าฯ
นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2494 ที่เริ่มก่อสร้างศาลากลางจังหวัดลำพูน จวบจนถึงปัจจุบัน ศาลากลางจังหวัดลำพูนใกล้จะมีอายุครบรอบ 7 ทศวรรษในปี 2564
อย่างไรก็ตาม บริเวณโดยรอบที่ตั้งของศาลากลางแห่งนี้ปัจจุบัน คือ บริเวณ ถนนอินทยงยศย่านเศรษฐกิจ สำคัญ เป็นจุดตั้งของธุรกิจเก่าแก่ที่ยังดำเนินกิจการมาถึง ทุกวันนี้ เช่น โรงแรมศรีลำพูน โรงแรมแห่งแรกของจังหวัดลำพูน ห้องภาพดาราลำพูน ห้างแจ่มฟ้า ขณะเดียวกันก็มีธุรกิจใหม่อย่าง Temple House ที่บูรณะตึกเก่าหลังวัดพระธาตุฯ ให้เป็นร้านกาแฟและแกลเลอรี่ของคนรุ่นใหม่
สถานที่ที่สำคัญๆ อย่างวัดพระธาตุหริภุญชัย วัดช้างสี จวนผู้ว่าราชการจังหวัด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย สถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นของธนาคารนครหลวงไทยเก่า พิพิธภัณฑ์ปั๊มน้ำมันสามทหาร ที่เหลือที่นี่แห่งเดียวในประเทศไทย อาคารพาณิชย์ทั้งแบบตึกแถวในปัจจุบัน และแบบเรือนแปที่เป็นอาคารกึ่งไม้กึ่งปูน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพ่อค้าคนจีนที่เข้ามาค้าขาย อาคารอินทพานิชที่เคยเป็นทั้งโรงทอผ้า ชมรมสามล้อ และร้านขายจักรยานร้านแรกของเมือง ตึกชมพูนุทที่ปัจจุบันเป็นร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และจุดถ่ายรูปยอดฮิตของนักท่องเที่ยว
เสียงของคนลำพูน ต่ออนาคตศาลากลางหลังเดิม
สภาพลเมืองลำพูน จัดวงพูดคุยกันว่า ชาวลำพูนฝันที่จะเห็นพื้นที่ศาลากลางจังหวัดลำพูนหลังเดิมใช้สอยประโยชน์ในมิติไหน ขึ้น 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ครั้งนั้นมีข้อเสนอให้ขุดค้นโบราณสถาน ให้รื้ออาคารเพื่อสร้าง พื้นที่สีเขียว ลานจอดรถ มีเสนอให้คงอาคารและปรับเป็นศูนย์จัดแสดงสินค้าโอทอป หัตถกรรม ศูนย์วัฒนธรรมจัดเลี้ยงขันโตก มีทั้งให้ปรับเป็นหอประวัติปูมเมืองลำพูนเพื่อรวบรวมเรื่องราวบุคคลสำคัญและชนเผ่าชาติพันธ์ุที่หลากหลายของลำพูน
ศิลปินร่วมสมัย สล่าพื้นบ้าน บางท่านต้องการปรับปรุงให้เป็นหอประวัติปูมเมืองลำพูน เนื่องจากมองว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ของกรมศิลปากรนั้นมีขนาดเล็ก และตอบโจทย์แค่ด้านโบราณคดีเท่านั้น ไม่มีพื้นที่มากพอที่จะนำเสนอเรื่องราวพระราชประวัติของพระนางจามเทวี ครูบาเจ้าศรีวิชัย ชนเผ่าชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาทิ มอญ ลัวะ ลื้อ ยอง ยวน ไทใหญ่ จีนไหหลำ สยาม ฯลฯ
บางท่านว่า “ของดี 8 อำเภอ” ในจังหวัดลำพูนก็ยังไม่มีจุดโฟกัสสรุปภาพรวม เพื่อเชื่อมต่อไปยังอำเภอต่าง ๆ หรือแม้แต่พื้นที่สำหรับศิลปินร่วมสมัย รวมทั้งสล่าพื้นบ้าน ก็ยังไม่มีเวทีให้นำผลงานมาจัดแสดงเชิดชู บางท่านขอให้ย้ายอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีจากกาดหนองดอกมาติดตั้งที่ศาลากลางแทน เนื่องจากที่กาดหนองดอกไม่สะอาดเต็มไปด้วยมูลนกเอี้ยงและใกล้ห้องน้ำ บางท่านอยากให้ทุบอาคารทิ้งเพราะเป็นอาคารใหม่อายุแค่ 70 ปี แล้วให้จำลองศิลปสถาปัตยกรรมสมัยหริภุญไชยมาจัดตั้งแทน
บางท่านขอให้มีการย้ายถนนคนเดิน (ข่วงคนเตียว) ที่จัดทุกวันศุกร์จากถนนหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย ริมแม่น้ำกวง มาเป็นถนนอินทยงยศ แล้วให้บริเวณศาลากลางเป็นลานเวทีการแสดงจัดขันโตก บ้างมีข้อห่วงใยถึงสภาพเศรษฐกิจของเมืองเก่าลำพูน เมื่อหน่วยราชการทั้งหมดย้ายออกไปอยู่แห่งใหม่ ร้านรวงในเขตคูเมืองหอยสังข์ชั้นในของลำพูนจะร้างหรือไม่ในเมื่อลูกค้าขาประจำที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใจกลางเมืองลำพูน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในศาลากลางมากกว่านักท่องเที่ยว บ้างยังไม่ตัดสินใจว่าจะเป็นอะไร แต่อยากให้คนลำพูนรู้สึกมีส่วนร่วม เป็นพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมได้ “ทุกคน ทุกวัย ทุกวัน”
ขณะที่เวทีครั้งที่ 2 ใช้ชื่อว่า ทิศทางพัฒนาลำพูน นครแห่งประวัติศาสตร์ล้านนาไทย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธุ์ 2565 มีข้อเสนอเช่น ลำพูนมีโอกาสในการพัฒนา แต่ยังขาดการดึงจุดเด่นของลำพูนมา และหามองภาพการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ลำพูนเหมือนไข่แดงที่พัฒนาไปได้หลายอย่างในระดับภูมิภาค โดย ให้ศาลากลางทำหน้าที่เป็นจุดหัวใจเชื่อมโยงเมืองเก่าและอุตสาหกรรมการเกษตรกร และอื่น ๆ ด้วย
มีการตั้งคำถามว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นหัวใจของเมือง จะออกแบบเมืองเก่าอย่างไร จะใช้พื้นที่นี้อย่างไร เพราะถ้าใช้ไม่ถูกจะกลายเป็นเมืองร้าง ต้องออกแบบเมืองเก่าให้ชัดเจน เมืองเก่าเป็นหัวใจและจิตวิญญาณ ออกแบบตอบโจทย์มิติสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ออกแบบการเชื่อมโยงความเป็นเมืองเก่าที่เชื่อมโยงกับเมืองบริวารจะทำอย่างไร เพราะลำพูนมีทุกอย่าง แรงงาน พื้นที่เกษตร พื้นที่ท่องเที่ยว ต้องการให้ออกแบบเมืองเก่าให้ชัดเจน เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทำพื้นที่ศาลากลางให้เป็นโชว์รูมของเมืองลำพูนเชื่อมโยงการไปดูของจริงในพื้นที่อำเภอต่างๆ ที่อยู่โดยรอบ
ในวงมีการพูดถึงคนรุ่นใหม่ว่าเด็กควรมีส่วนร่วมในการกำหนด อยากให้บทบาทสภาเยาวชนจังหวัดลำพูน คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่
บ้างอยากจะให้ศาลากลางเป็นพิพิธภัณฑ์คู่ขนานโดยที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เสนอให้ทำเป็นห้องแสดงต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวเข้ามา เหมือนหอศิลป์เชียงใหม่ เพื่อเล่าเรื่องต่าง ๆ ในแต่ละห้อง นำหลักการนี้มาเสดงเป็นห้อง ๆ ห้องแสดงวัฒนธรรมต่าง ๆ ในลำพูน ประเพณีต่าง ๆ ที่อื่นไม่เคยได้เห็น ถ้าลำไยต้องลำพูนเก็บแสดงอดีตให้ลูกหลาน อุตสาหกรรมป่าไม้ เหมืองแร่ ความสำคัญของวัดพระธาตุหริภุญชัยในด้านต่าง ๆ แสดงให้นักท่องเที่ยวมาดูและใช้เวลาไม่นาน โดยทั้งหมดทาง อบจ. ให้เป็นเจ้าภาพและเทศบาลในการดูแล
บ้างสนใจประเด็นเรื่องของเมืองเก่ากับเมืองใหม่ อยากให้มองภาพรวมว่าเราจะพัฒนาเรื่องเก่าอย่างไร ถ้าเราใช้พ.ร.บ.การควบคุมอาคารให้เป็นเมืองเก่า หรือมีการแต่งกายในจุดต่าง ๆ ที่เป็นจุดเด่น อยากให้เป็นที่สาธารณะ ไม่มีวันเปิด-ขปิด ให้ชาวบ้านมาออกกำลังกายและใช้พื้นที่เรียนรู้ร่วมกันได้ ออกแบบจราจรที่ดี เมื่อย้ายหน่วยราชการออกไป การจราจรแออัดน้อยลง สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ส่วนเมืองใหม่ สิ่งที่ตามมาคือแรงงานที่จะมาอยู่อาศัย
บ้างเสนอว่า จะออกแบบศาลากลางเพียงอย่างเดียวไม้ได้ มันต้องออกแบบให้ส่งเสริมและเกื้อหนุนกัน บ้านเรือนย่านเก่าริมถนน คุ้มเก่าต่าง ๆ ต้องกลับไปดูและพัฒนาพร้อม ๆ กัน ระบบการจราจร การวางแผนพื้นที่ให้เหมาะสมอย่างไร
การบริหารจัดการพื้นที่หน้าหมู่
สถานะ ปัจจุบันพื้นที่เป็นที่ราชพัสุด อยู่ในการดูแลของจังหวัดลำพูนโดยกระทรวงมหาดไทย และอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า เมื่อมีการเปลี่ยนสถานะของตัวอาคาร ผู้ที่เข้ามาดูแล จะเป็นใคร ระหว่างเทศบาลนครลำพูนกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน หรือจะเป็นการจัดการร่วม หรือโมเดลอื่น หรือบริหารโดยประชาชน เพราะก่อนหน้านี้เทศบาลนครลำพูน ได้เคยทำการสำรวจกลุ่มอาคารและพื้นที 10 ไร่โดยรอบ และออกแบบปรับปรุงอาคารและภูมิทัศน์ไว้ (มีภาพสเก็ต)
มีข้อเสนอบทเรียนในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ในศาลากลางของจังหวัดต่าง ๆ มาพิจารณาข้อดีข้อด้อย สนับสนุนแนวคิดเมื่อส่วนราชการออกไปแล้วไม่อยากให้ส่วนท้องถิ่นเข้าไปใช้ประโยชน์ เพราะศาลากลางควรเป็นของทุกคน อยากให้มีคณะกรรมการเข้ามาดูแลรับผิดชอบ ต้องมีนักบริหารที่จะสามารถหารายได้ ขณะที่ลำพูนอยู่ระหว่างการรวบรวมคนรุ่นใหม่ เยาวชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมกับการออกบบเมือง
และก่อนหน้านี้ ในรายการ #คุณเล่าเราขยาย กลุ่มเยาวชน Hope at Lamphun ปักหมุดเล่าเรื่องการจัดกิจกรรมล่าสุดของพวกเขา ในการลงสำรวจความคิดเห็นของคนลำพูนถึง “การร่วมออกแบบพื้นที่ศาลากลาง จ.ลำพูน หลังเก่า” ลงสำรวจย่านใจกลาง เมืองและจุดที่ใกล้กับศาลากลางเก่าลำพูน ตั้งป้ายสำรวจ ที่ถนนคนเดิน บริเวณหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย และรวบรวมความคิดเก็นป่านโลกออนไลน์ เพื่อเปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม คิด ออกแบบบ้านเมืองของตัวเอง เพื่อนำความคิดเห็นเหล่านี้ไปรวมกับข้อมูลในการทำการสื่อสารต่อกับคนใน จ.ลำพูน
https://www.facebook.com/citizenthaipbs/posts/5609979459030547
“การร่วมออกแบบพื้นที่ศาลากลางเก่า จ.ลำพูน”
นี่คือส่วนหนึ่งของผลสำรวจความเห็นผู้คนจากโลกออนไลน์ ของกลุ่ม เยาวชน Hope at Lamphun
บทเรียนจากศาลากลางจังหวัดในภาคเหนือ
สำหรับภาคเหนือ มีหลายจังหวัดปรับเปลี่ยนอาคารศาลากลางเดิมไปในรูปแบบที่แตกต่างกัน
เชียงใหม่ : เทศบาลนครเชียงใหม่เข้าปรับปรุงให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในเขตเมืองเก่า เมื่อปี 2540
เชียงราย : ปรับเป็นหอวัฒนธรรมนิทัศน์เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อปี 2538
น่าน : นับจากปี 2556 ที่ย้ายหน่วนราชการไปที่ศาลากลางหลังใหม่ ทำให้หลังเดิมถูกทิ้งร้าง
ล่าสุดคณะทำงานจัดทำแผนแม่บท คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่าน เห็นชอบรูปแบบการปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่าและพื้นที่โดยรอบ เพื่อเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก งบประมาณ 250 ล้าน จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คาดว่าจะแล้วเสร็จพ.ศ. 2568
ลำปาง : ย้ายศูนย์ราชการไปเมื่อปี 2540 ปัจจุบัน คือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง หรือมิวเซียมลำปาง โดยเทศบาลนครลำปางปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน) หรือ สบร. หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานภายในสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) และสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TKpark) ทำหน้าที่ในการพัฒนาจัดทำนิทรรศการถาวร
3 ฉากทัศน์ ภาพอนาคตความเป็นไปได้ที่มองภาพความน่าจะเป็นของ อนาคตศาลากลางหลัง (เก่า) ลำพูน
หากต้องเลือกและมีโอกาสเลือกคุณจะเลือกฉากทัศน์ไหน?
ฉากแรก : แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย หริภุญชัยสู่ระดับโลก
คงสภาพอาคารเดิมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ข้อมูลเกี่ยวกับลำพูนทั้งหมด เพื่อสร้างความทรงจำร่วมกันทั้งของคนลำพูนและนักท่องเที่ยว จัดโซนนิ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมของผู้คน กิจกรรมสำคัญของเมือง สะท้อนประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่สู่ระดับโลก เป็นเหมือนเมืองมรดกโลกเป็นที่รับรู้ของผู้คน และเชื่อมโยงเมืองบริวาร
ลงทุนและจัดการโดยหน่วยงานราชการ ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น เช่น ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ เพื่อให้หน่วยงานที่ประสบการณ์บริหารมาดูแล เช่น อพท. ลงทุนโดยกลาง แล้วส่งมอบพื้นที่ให้ท้องถิ่นบริหาร
ฉากสอง : “ค้าม่วน ขายหมาน”
ศาลากลางเป็นศูนย์กลาง แต่เน้นพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงในย่านธุรกิจการค้ากลางเมือง ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยกระดับรองรับกิจกรรมของผู้คนทั้งการพักผ่อน และเทศกาลสำคัญของเมือง แลนด์มาร์กสำคัญที่เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยว
ภาครัฐ + ภาคประชาชนลำพูนร่วมทำ TOR และเปิดให้เอกชนออกแบบการใช้พื้นที่ ลงทุนพัฒนาด้วยงบประมาณของเอกชนผ่านการสัมปทาน โดยกำหนดพื้นที่ทำการค้าให้เอกชน /พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะดังเดิมและร่วมสมัย มีพื้นที่กิจกรรมส่วนกลาง และเชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญของเมือง
ฉากสาม : พื้นที่สาธารณะ ที่เชื่อมโยงสถานที่สำคัญของเมือง และทุกคนเข้าถึง
เป็นพื้นที่สาธารณะเชิงสัญลักษณ์ของทั้งคนในเมืองและนักท่องเที่ยว จัดโซนนิ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง เพื่อให้ผู้คนในเมืองใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เป็นศูนย์กลางที่จะเริ่มต้นกิจกรรมและเชื่อมโยงสถานที่สำคัญของเมือง อาคารและสภาพแวดล้อมทั้งเก่าและใหม่ที่เป็นความทรงจำร่วมและรู้สึกปลอดภัย ให้ทุกคนเข้าถึง บริการจัดการโดยตั้งบริษัทลำพูนพัฒนาเมือง ที่มีรัฐ+เอกชน +ประชาชน และมีกองทุนจากภาครัฐภาคเอกชนประชาสังคม ในพื้นที่ ในการบริหารจัดการ
และนี่ข้อมูลและข้อเท็จจริง จากพื้นที่ที่เราทีมฟังเสียงประเทศไทยเรียบเรียงเอาไว้ และเราหวังว่าทุกท่านสามารถเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและเสนอแนะร่วมกัน ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อที่จะไปสู่การพูดคุยและหาทางออกร่วมกันกับ อนาคตศาลากลางหลัง (เก่า) ลำพูนร่วมกัน เพื่อแสวงหาทางออกข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันติดสินใจ มีหลายแนวทางที่จะร่วมกันพัฒนาพื้นที่ ศาลากลางหลัง (เก่า) ลำพูนร่วมหลังนี้ คุณผู้อ่านสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและโหวตเลือกภาพอนาคตศาลากลางหลัง (เก่า) ลำพูน หลังนี้ร่วมกับคนลำพูนได้ ที่ลิงก์ด้านล่าง นี้ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2565
รับชมรายการฟังเสียงประเทศไทย ตอนอนาคตศาลากลางหลัง (เก่า) ลำพูนวันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565 เวลา 17:30 – 18:00 น. ทางไทยพีบีเอส