โคมแสนดวง ปลุกการท่องเที่ยวฟื้นคืนชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชน

โคมแสนดวง ปลุกการท่องเที่ยวฟื้นคืนชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชน

เรียบเรียนโดย ทีมผลิตอิสระองศาเหนือ : ภูริวัฒน์ ใจบุญ

ถ้าเราได้มีโอกาสไปเที่ยวเมืองลำพูนในช่วงระหว่างเดือนกันยายน – พฤศจิกายนของทุกปี เรามักจะพบโคมล้านนาประดับประดาส่องสว่างตามสถานที่ท่องเที่ยวในย่านใจกลางเมืองลำพูน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดพระธาตุหริภูญชัยวรมหาวิหาร และอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ที่เปรียบเสมือนกับศูนย์รวมหัวใจของคนจังหวัดลำพูน

จากความเชื่อของชาวล้านนาที่เชื่อว่า ถ้าจุดโคมส่องสว่างและถวายเป็นพุทธบูชา จะสามารถช่วยให้ชีวิตการงานด้านต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น สู่งานเทศกาลโคมแสนดวงที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารในปี 2565 ซึ่งนอกจากจะเป็น Soft Power ทางวัฒนธรรมที่ทรงพลังของจังหวัดลำพูนแล้ว หากมองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ งานโคมแสนดวงถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในจังหวัดลำพูนเลยทีเดียว

 “ถ้าลำพูนไม่มีงานโคมแสนดวง ชาวบ้านจะไปหารายได้เพิ่มเติมมาจากไหน” แม่ประภาศรี วนิชกุล ประธานชุมชน

ประธานกลุ่มทำโคม ชุมชนจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ได้เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมางานเทศกาลโคมแสนดวงได้สร้างเงินสะพัดภายในจังหวัดลำพูนไม่น้อยกว่าปีละ 10 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าดังกล่าวจะมาจากการท่องเที่ยวและการจ้างงานคนในพื้นที่ โดยเทศบาลเมืองลำพูนได้มาช่วยส่งเสริมการทำโคมให้แก่ชาวบ้านกลุ่มต่าง ๆ จนสามารถสร้างเป็นอาชีพเสริม และมีรายได้ครอบคลุมตลอดทั้งปี

สำหรับการจ้างงานทำโคมในชุมชนจามเทวี แม่ประภาศรีเน้นกระจายงานไปยังกลุ่มแม่บ้าน เด็กและเยาวชน ผู้สูงวัย ผู้ว่างงาน และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ รวมไปถึงผู้ที่ต้องการหารายได้เสริม ซึ่งในช่วงปีแรก ๆ ของการรวมกลุ่มทำโคมในชุมชนจามเทวี ปริมาณโคมที่ผลิตได้ต่อปีจะเริ่มต้นที่ 6,000 ลูก และเมื่อมีชาวบ้านกลุ่มอื่น ๆ เริ่มมองเห็นโอกาสที่จะสร้างอาชีพและรายได้มากขึ้น ประกอบกับความต้องการผลิตโคมที่สูงขึ้นทุกปี ทำให้กลุ่มทำโคมชุมชนจามเทวีสามารถผลิตโคมได้สูงสุดถึง 15,000 – 20,000 ลูกต่อปี

แม่นิภา มณีจักร์ สมาชิกกลุ่มทำโคม ชุมชนจามเทวี เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่มองเห็นโอกาสและต้องการรายได้เสริม พอได้มาทำโคมของกลุ่มแม่ประภาศรีก็ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่ารายได้จากการทำโคมอาจยังไม่มาก แต่สำหรับแม่นิภาถือว่าอยู่ได้เพราะเป็นรายได้ที่ครอบคลุมรายจ่ายประจำ

บารเมศ วรรณสัย รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน และไวยาวัจกร วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ได้พูดถึงภาพรวมของงานเทศกาลโคมแสนดวงว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อคนทุกรุ่นทุกวัยมากขึ้น ทำให้รูปแบบงานเทศกาลโคมแสนดวงในปัจจุบันเริ่มปรับเปลี่ยนให้เข้ากับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ เช่น เปิดให้นักท่องเที่ยวที่มาชมงานได้เขียนและแขวนโคมถวายเป็นพุทธบูชา เขาก็จะสามารถถ่ายภาพเช็กอินบนโซเชียลมีเดียได้ ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างวัด เมือง และนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

กิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมรูปแบบใหม่แล้ว อาจารย์บารเมศยังเล่าต่ออีกว่า คนที่เคยมางานโคมแสนดวงในปีก่อน ๆ ส่วนมากจะกลับมาอีกเรื่อย ๆ ซึ่งดีต่อบรรยากาศภายในงานคือ ไม่ใช่แค่คนเก่าที่กลับมา แต่เรายังได้คนใหม่จากการบอกต่อประสบการณ์จากคนเก่า อย่างปีที่แล้วมีบางคนมาเป็นคู่ ปีนี้กลับมาพาลูกมาด้วย พอเด็กได้แขวนโคมแล้วรู้สึกสนุก ตื่นเต้นว่าจะแขวนโคมติดราวแขวนได้อย่างไร เด็กบางคนก็ซื้อโคมกลับไปอวดเพื่อน ๆ อวดคุณครูที่โรงเรียน พอคุณครูชอบก็เกิดกิจกรรมต่อยอดขึ้นมาอีกคือ โรงเรียนพาเด็ก ๆ มาทัศนศึกษา เขาก็จะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่สอดแทรกแนวคิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมไปพร้อมกันได้ด้วย

“แรก ๆ ที่จัดงานเราก็ไม่ได้คาดหวังว่าคนจะมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก” อาจารย์บารเมศกล่าวต่อเรื่องโคมที่ใช้ประดับตกแต่งภายในงานฯ ว่า ช่วงแรกจะเน้นสั่งโคมจากเชียงใหม่ แต่พอผ่านไป 2 – 3 ปี ชาวบ้านเริ่มมองเห็นโอกาสแล้วว่า ถ้าลำพูนจัดงานโคมแสนดวง นักท่องเที่ยวต้องมาเยอะแน่ ๆ เขาเลยเริ่มรวมกลุ่มทำโคมตามชุมชนต่าง ๆ ซึ่งผลที่ตามมาไม่ได้มีแค่นั้น เพราะผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านค้า โรงแรม ที่พัก ก็นิยมนำโคมมาประดับตกแต่งสถานที่ด้วย กลายเป็นว่าสถานที่แขวนโคมจะไม่ได้มีแค่วัดและงานกิจกรรมอีกต่อไปแล้ว

จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงทำให้ความต้องการผลิตโคมในลำพูนมีมากขึ้น กลุ่มทำโคมจึงปรับตัวด้วยการลดการซื้อโคมจากนอกพื้นที่ แล้วเปลี่ยนมาจ้างคนในพื้นที่ให้มาร่วมกันทำโคมมากขึ้น เพื่อให้รายได้ที่เข้ามาจากงานโคมแสนดวงหมุนเวียนภายในจังหวัดลำพูนต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ