คุยเรื่องเมืองที่ควรจะเป็นในวันผู้สูงอายุสากล

คุยเรื่องเมืองที่ควรจะเป็นในวันผู้สูงอายุสากล

อยู่กับคนที่เรารักและเขารักเรา

สร้างชุมชนของตัวเอง

บ้านพักคนชรา

เคยลองจินตนาการเล่น ๆ ไหม ว่าในอนาคตเราจะอยู่ในสถานที่แบบไหน บางคนก็นึกถึงการอยู่บ้านกับคนที่รัก บ้านที่สงบ หรือบ้านพักคนชรา แต่ละแห่งล้วนแตกต่างกันไปตามมุมมองของแต่ละคน เราได้ทำกิจกรรม “คุณเคยคิดไหมในบั้นปลายชีวิต คุณจะอยู่ที่ไหน” ดูจากคำตอบส่วนใหญ่จะนึกถึง บ้าน สถานที่ที่ใกล้ตัวคนเรามากที่สุด 


แล้วถ้ามองไกลออกไปสู่ เมือง สถานที่ที่เราต่างใช้ชีวิตในแต่ละวัน และทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น เป็นเมืองที่เข้าสู่สังคมสูงวัย มีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด โครงสร้างเมืองและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมในตอนนี้พร้อมแล้วหรือยังสำหรับสังคมสูงวัยที่เป็นอยู่

วันที่ 1 ตุลาคม 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังแจ่ม และสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมไทยพีบีเอส จัดเวทีสาธารณะ “เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ” ณ ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนเมืองที่พร้อมกับสังคมสูงวัยทั้ง 4 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สุขภาพ สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี นั้นควรจะเป็นอย่างไร และโจทย์ต่อไปที่จะต้องออกแบบ เพื่อเตรียมความพร้อมกับสังคมสูงวัย

กิจกรรม “เมืองดีต่อใจของคุณเป็นอย่างไร” ผู้เข้าร่วมเขียนภาพเมืองในฝันของตนเองที่หลากหลาย เช่น App 60+ หาคู่อยู่เป็นเพื่อนเหงายามเกษียณ ชุมชนที่มีสวัสดิการดี

สุขภาพสำคัญต้องดูแลเอาใจใส่

เมื่อไหร่ที่อายุเพิ่มมากขึ้น ปัญหาสภาพร่างกายก็ตามมา ขยับตัวแต่ละทีต้องระมัดระวังมากกว่าเดิม มีโรคต่าง ๆ เต็มไปหมด จะเข้าโรงพยาบาลแต่ละครั้งเฉลี่ยค่าใช้จ่ายอยู่ที่หลักหมื่นกว่าบาท แม้จะมีปัญหาสุขภาพแต่โดยรวมแล้วคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้ต้องเตรียมเงิน เตรียมความพร้อมหลายอย่างเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่กำลังมาถึง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมเรื่องสุขภาพของคนในประเทศในด้านต่าง ๆ รวมถึงสุขภาพของผู้สูงอายุ ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญคือควรยึดตามองค์การอนามัยโลก 8 ข้อ เพื่อสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ เช่น อาคารสถานที่ต้องปลอดภัยและสะดวก ระบบขนส่งสาธารณะต้องเป็นมิตร สะดวกและปลอดภัยทั้งต่อผู้สูงวัยหรือผู้พิการ และควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงวัย เป็นต้น

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์

สภาพแวดล้อมที่ดีเอื้อต่อการใช้ชีวิต

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ สมรรถภาพร่างกายจะเสื่อมถอยตามอายุที่มากขึ้น การใช้ชีวิตประจำวันจึงต้องมีความระมัดระวังมากกว่าเดิม การเตรียมสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกในที่อยู่อาศัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง

บุษยา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สูงวัยกว่า 11% ที่อาศัยอยู่ลำพัง และมีผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่กันเพียงสองคน สามี-ภรรยากว่า 29% แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุลำพังและเป็นคู่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สิ่งที่น่าสนใจนอกจากการเตรียมความพร้อม สถานที่รองรับผู้สูงอายุแล้วคือ เรื่องสภาพจิตใจ ความกังวล ภาพการอยู่คนเดียวโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง ถือเป็นอีกโจทย์ที่สำคัญเช่นกัน

บุษยา ใจสว่าง 

กรมกิจการผู้สูงอายุ ส่งเสริมโครงการสูงวัยในถิ่นเดิม (aging in place) คือผู้สูงวัยสามารถอยู่อาศัยในบ้านเดิมหรือชุมชนเดิมของตนได้อย่างอิสระและปลอดภัย โดยมีบริการ สิ่งอำนวยความสะดวกและการสนับสนุนที่จะทำให้ชีวิตพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด

รวมถึงส่งเสริมสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย เช่น การสร้าง/ย้ายห้องน้ำ ห้องนอนใหม่ ทำหลังคาใหม่ หรือทางลาดพร้อมราวจับ โดยจ่ายเหมาหลังละไม่เกิน 40,000 บาท

รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โจทย์ที่สำคัญของเมืองคือ เมืองต้องเป็นบ้านให้ปลอดภัยและเมืองต้องมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่คนทุกเพศทุกวัย ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้และปลอดภัย ออกมาเป็น รังสิตโมเดล ที่นำแนวคิดการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลมาพัฒนาต่อยอด

สร้างหลักประกันรายได้มั่นคง

สถานการณ์การออมเงินของกลุ่มผู้สูงอายุ แรมรุ้ง วรวัธ กล่าวว่า จากสถิติเบื้องต้น คนไทยเริ่มออมเงินกันเมื่ออายุ 42 ปี แบ่งออกเป็นผู้ที่มีเงินออม 47% และกลุ่มผู้สูงวัยที่ไม่มีเงินออมมีกว่า 53% ถึงอย่างนั้น ในกลุ่มที่มีเงินออมเองส่วนใหญ่ก็มีเงินออมไม่ถึง 50,000 บาท

ในสังคมไทยมีผู้สูงวัยกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด นั้นกว่า 5.3 ล้านคนมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งทำให้เห็นว่า ผู้สูงวัยส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ นอกจากนี้ยังมีผู้สูงวัยที่ทุพพลภาพกว่า 1.2 ล้านคน

รวมถึง สถานการณ์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีผู้สูงอาศัยที่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ยากจนเพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 37% ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า ตามกฎหมายที่กำหนดระยะเวลาการเกษียณอายุของประชากรสูงวัย ทำให้ขาดรายได้เพื่อดูแลตนเอง รายได้หลักจึงมาจากลูกหลาน ผศ.ดร.ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) กล่าว

ชินวุฒิ อาศน์วิเชียร 

ที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี จัดทำโครงการสูงวัยสุขภาพการเงินดี เพื่อให้ผู้สูงอายุมีช่องทางสร้างรายได้โดยใช้ต้นทุนที่มีในชุมชน มาสร้างคุณค่าและรายได้ เช่น กลุ่มกล้วยน้ำว้า ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลท่างามเป็นตัวกลางในการทำงานร่วมกับชุมชน

โจทย์สำคัญคือ การใช้ทุนทางสังคม หาคนดีคนเก่งในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการเกษียณอายุหรือปราชญ์ชาวบ้าน ในการเข้ามาจัดการชุมชนเพื่อนำไปสู่ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ครบวงจร โดยมีกลยุทธ์การ เปลี่ยนภาระเป็นพลัง ดึงศักยภาพของผู้สูงวัยที่ยังทำงานได้

ชินวุฒิ อาศน์วิเชียร ผอ.กองสวัสดิการสังคม อบต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เสนอปิดท้ายว่า หัวใจสำคัญที่ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนคือ ต้องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณหรือภารกิจต่าง ๆ ให้ท้องถิ่นสามารถจัดการด้วยตนเองได้ รวมถึงการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ และสร้างความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการสร้างกลไกการพึ่งพนตนเอง

นวัตกรรมการดูแลอย่างทั่วถึง

การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตด้วยตนเองได้มากที่สุด ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ดร.แสงอรุณ อิสระมาลัย คณะพยาบาลศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ กรรมการมูลนิธิชุมชนสงขลา กล่าวว่า โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีระบบข้อมูลเพื่อสื่อสารความต้องการที่รวดเร็วและเป็น real time สามารถใช้ได้จริง

ดร.แสงอรุณ อิสระมาลัย

iMed@Home เป็น 1 กลไกในการเป็นศูนย์ข้อมูลกลางในการใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อสร้างระบบ one stop service และการสร้างความร่วมมือผ่านการส่งต่อข้อมูลเพื่อส่งเสริมการทำ CSR โดยเฉพาะในกลุ่มเมืองอุตสาหกรรม โดยจะเก็บข้อมูลผู้สูงอายุ ผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง เพื่อติดตามและจัดบริการรองรับความต้องการนั้นๆ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นรพ.สต.หรือกลุ่มอสม.เพื่อเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

จาก 4 มิติเมืองดีต่อใจวัยเกษียณ ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ ในการสร้างความมั่นคง และรายได้ที่เพียงพอ การสร้างระบบสุขภาพที่คนทุกกลุ่มเข้าถึง มีระบบฐานข้อมูลบันทึกต่าง ๆ การสร้างสภาพแวดล้อมและสังคมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตลำพังของผู้สูงอายุ

ทั้งหมดล้วนเป็นโจทย์สำคัญที่หลายฝ่ายต้องร่วมกันออกแบบ ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชนและพลเมือง เพื่อเตรียมพร้อมกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย เพราะไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่ต้องเตรียมพร้อม แต่รวมถึงทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องและในอนาคตจะเข้าสู่วัยสูงอายุเช่นกัน

งานที่เกี่ยวข้อง

จ่ายแบบนี้ดีต่อใคร ? สำรวจความคิดเห็นสวัสดิการเบี้ยสูงวัยที่ดีต่อใจวัยเกษียณ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ