จ่ายแบบนี้ดีต่อใคร ? สำรวจความคิดเห็นสวัสดิการเบี้ยสูงวัยที่ดีต่อใจวัยเกษียณ

จ่ายแบบนี้ดีต่อใคร ? สำรวจความคิดเห็นสวัสดิการเบี้ยสูงวัยที่ดีต่อใจวัยเกษียณ

ช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ประเด็นการปรับเกณฑ์เบี้ยยังชีพผู้สูงวัยตามรัฐธรรมนูญ 2560 นำมาสู่การเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างในสังคมไทยว่าเหมาะสมหรือไม่กับการปรับเกณฑ์การรับเบี้ยผู้สูงวัยที่ต้องเข้าสู่ระบบพิสูจน์ความจน ถึงแม้ภาครัฐเองจะชี้แจงว่า การปรับหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ จะทำให้การแจกเบี้ยผู้สูงอายุมีความทั่วถึงและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

ก่อนอื่นเราคงต้องมาดูกันก่อนว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์และคุณสมบัติผู้รับเบี้ยผู้สูงอายุที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมานั้นมีความแตกต่างกันอย่างไรกับในอดีต

อดีต

  1. มีสัญชาติไทย
  2. มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน
  3. มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปซึ่งได้ลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  4. ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ผู้รับเงินบำนาญ บำนาญพิเศษหรือเงินอื่นใด ในลักษณะเดียวกันแต่ไม่รวมถึงผู้พิการหรือผู้ป่วยเอดส์หรือผู้ได้รับสวัสดิการอื่นตามมติครม.

ปัจจุบัน (มีผลตั้งแต่ 12 ส.ค. 66)

  1. มีสัญชาติไทย
  2. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  3. มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  4. เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ได้ให้ข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันในสังคมไทยในงานเวทีสาธารณะ “4 เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ” เบื้องต้นดังนี้

  • ปัจจุบันสังคมไทยมีผู้สูงวัยกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด
  • ผู้สูงวัยกว่าร้อยละ 11 ที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง และมีผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่กันเพียงสองคน สามี-ภรรยากว่าร้อยละ 29
  • ผู้สูงวัยที่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ยากจนนั้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 37 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในรอบ 20 ปี
  • จำนวนผู้สูงวัยที่เจ็บป่วยเพิ่มขึ้นอีกกว่าร้อยละ 2.5 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 80 ปี

จากข้อมูลเบื้องต้นเราอาจจะมองเห็นภาพคร่าวๆของวิกฤตในการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในประเทศไทยที่กำลังเกิดขึ้นแบบก้าวกระโดดและมีความเปราะบางเป็นอย่างมาก

วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ยังแจ่ม และสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะ “เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ” โดยในช่วงเช้ามีการแปะสติ้กเกอร์สำรวจความคิดเห็นของภาคประชาชนเกี่ยวกับการปรับเกณฑ์เบี้ยยังชีพผู้สูงวัยที่ต้องเข้าสู่ระบบพิสูจน์ความจน และในช่วงบ่ายได้จัดกิจกรรมการแลกความคิดเห็นประเด็นเมืองในมิติต่างๆที่ควรได้รับการสนับสนุนและพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้พร้อมต่อการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

เบี้ยสูงวัยแบบไหนที่ดีต่อใจที่สุด?

สีส้ม คือ ผู้สูงวัยกรุงเทพมหานคร และสีฟ้า คือ ผู้สูงวัยต่างจังหวัด

ในช่วงเช้ามีกิจกรรมเชิญชวนผู้เข้าร่วมงานร่วมแปะสติกเกอร์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบสวัสดิการสูงวัยที่ผู้สูงวัยอยากเห็น โดยเกณฑ์ของระบบสวัสดิการสูงวัยแบ่งออก 2 แนวคิดนโยบาย คือระบบสวัสดิการเบี้ยสูงวัยแบบถ้วนหน้าและระบบสวัสดิการเบี้ยสูงวัยแบบประชาสงเคราะห์ โดยกลุ่มผู้ตอบคำถามจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มสีส้ม หมายถึงผู้สูงวัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และกลุ่มสีฟ้า หมายถึงผู้สูงวัยจากต่างจังหวัด โดยจากผลการสำรวจมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 99 รายด้วยกัน

แนวคิดนโยบายระบบสวัสดิการสูงวัย

เบี้ยสูงวัยแบบถ้วนหน้า

  • เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
  • มีการดำเนินการระยะยาว
  • ควรมีพ.ร.บ.เป็นการเฉพาะ
  • เป็นสิทธิถ้วนหน้าตามวัยที่กำหนด ไม่ต้องพิสูจน์ความจน
  • เป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างของกลุ่มรายได้
  • ต้องมีการปรับปรุงระบบภาษีและงบประมาณภาครัฐ

เบี้ยผู้สูงวัยแบบประชาสงเคราะห์

  • เป็นความช่วยเหลือของรัฐบาล
  • มีการดำเนินการระยะสั้นและระยะยาว
  • ไม่จำเป็นต้องมีพ.ร.บ.เป็นการเฉพาะ
  • สำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยต้องพิสูจน์ความจน ไม่ได้ทุกคน
  • เป้าหมายเพื่อลดความยากจน
  • ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงระบบภาษีและงบประมาณภาครัฐ
ผลการสำรวจพบว่าผู้เข้าร่วม 90 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 90 อยากให้มีสวัสดิการเบี้ยผู้สูงวัยแบบถ้วนหน้า และผู้เข้าร่วม 9 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 10 อยากให้มีสวัสดิการแบบประชาสงเคราะห์ โดยไม่ว่าจะเป็นผู้สูงวัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครหรือผู้สูงวัยในพื้นที่ต่างจังหวัดต่างก็มีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันคือ อยากให้มีสวัสดิการเบี้ยผู้สูงวัยแบบถ้วนหน้ามากกว่าสวัสดิการแบบประชาสงเคราะห์

จากผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 90 ประชาชนอยากให้มีสวัสดิการเบี้ยผู้สูงวัยแบบถ้วนหน้า ซึ่งในด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองเรื่องความเท่าเทียมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนนั้นที่มีความแตกต่างกัน ถึงแม้การปรับเกณฑ์การจ่ายเบี้ยสูงวัยแบบใหม่ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนโดยการลดการจ่ายเบี้ยแก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวยเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่าและเป็นการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว แต่ก็ยังมีข้อกังวลที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายมองภาพอนาคตไม่เหมือนกัน ซึ่งการเท่าทันและการเข้าถึงเทคโนโลยีในกลุ่มผู้สูงวัยก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงวัยส่วนหนึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับเกณฑ์การจ่ายเบี้ยสูงวัยครั้งนี้

นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ได้ให้ข้อมูลในงานเวทีสาธารณะ “4 เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ” นี้ว่า สถานการณ์ปัจจุบันในสังคมไทยที่มีผู้สูงวัยกว่า 5.3 ล้านคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งทำให้เห็นว่าผู้สูงวัยส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และในกลุ่มผู้สูงวัยจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีผู้สูงวัยอีกกว่า 500,000 คนที่ไม่ได้รับเงินยังชีพจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เนื่องจากไม่สามารถยืนยันตัวตนในระบบได้

อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องการจ่ายเบี้ยสูงวัยจะเป็นประเด็นที่มีความน่ากังวลเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่ใช่เพียงเรื่องของความมั่นคงทางรายได้เท่านั้นที่จะสามารถตอบโจทย์คุณภาพชีวิตสูงวัยที่ดีได้ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ชวนมองและเป็นโจทย์สำคัญที่หลายๆฝ่ายต้องเข้ามาดูแลและให้ความสำคัญ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมสูงวัย

สังคมสูงวัย ทำอย่างไรให้เท่าเทียม

นางภิรมย์ ศรีเงินงาม อายุ 65 ปี

นางภิรมย์ ศรีเงินงาม อายุ 65 ปี ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ทำให้ได้เข้าไปพบปะพูดคุยกับผู้สูงวัยที่ในพื้นที่เป็นประจำ นอกจากจะได้รับฟังปัญหาและความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมองเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ชักชวนผู้สูงวัยออกมาใช้ชีวิต เพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีเช่นกัน

นางภิรมย์ ศรีเงินงาม ให้ความเห็นว่า การจ่ายเบี้ยสูงวัยควรเป็นการจ่ายแบบถ้วนหน้าคือ ทุกคนได้เหมือนกันหมดเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม และเพื่อประกันความมั่นคงทางรายได้ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สูงวัยพึ่งพาตนเองได้ และลดภาระที่ต้องพึ่งพาลูกหลานเพียงอย่างเดียว

เราอยากให้มีกิจกรรมออกแบบเมืองให้ชุมชนมีความรักใคร่สามัคคี และมีการเชิญชวนผู้สูงวัยให้ออกมามีกิจกรรมร่วมกัน ผู้สูงอายุจะได้ไม่ติดเตียงอยู่บ้าน และหากได้มีโอกาสออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างการออกกำลังกายก็จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง หลีกเลี่ยงอาการเจ็บป่วยได้

พ.อ.อภิรัตน์ นาคสิงห์ ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดสุพรรณบุรี

พ.อ.อภิรัตน์ นาคสิงห์ ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดสุพรรณบุรี ให้ความเห็นว่า การจ่ายเบี้ยสูงวัยควรปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์สังคมและควรมีการปรับค่าเงินตามฐานเศรษฐกิจ ซึ่งเบี้ยสูงวัยเดือนละ 600 บาทในปัจจุบันนั้นไม่สามารถดำรงชีพได้จริง เนื่องจากผู้สูงวัยมีหลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่ต้องอาศัยอยู่เพียงลำพัง รวมทั้งที่เป็นผู้ป่วยและผู้ป่วยติดเตียง

นอกจากเรื่องเบี้ยยังชีพ พ.อ.อภิรัตน์ นาคสิงห์ มองว่า อีกมิติที่ภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนมากที่สุดในตอนนี้คือ ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยที่ควรมีความปลอดภัย เข้าถึงได้และเป็นธรรม เช่น การมีบ้านพักผู้สูงวัยสำหรับผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ตามลำพังหรือผู้ป่วย เพื่อจะได้มีคนช่วยดูแลและลดภาระต่อครอบครัวที่ยากจน

ปัจจุบันรัฐส่งเสริมการอบรมความรู้เป็นสำคัญ แต่ในความจริงนั้นมีความแตกต่างเป็นอย่างมาก เรายังต้องให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมสำหรับผู้สูงวัยที่ควรมีความปลอดภัยและเป็นธรรมทางรายได้

นางวราภรณ์ สุขชู อายุ 66 ปี

นางวราภรณ์ สุขชู อายุ 66 ปี ปัจจุบันเป็นอาสาสมัคร อสส., อสม. และอพปร. ให้ความเห็นว่า การจ่ายเบี้ยยังชีพแบบถ้วนหน้ามีความเหมาะสมและปลอดภัยต่อความมั่นคงทางรายได้ของผู้สูงวัย แต่ก็เห็นด้วยกับการปรับเกณฑ์การจ่ายเบี้ยสูงวัยแบบใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับผู้ที่มีรายได้น้อยและยากจน เพียงแต่มีความกังวลเรื่องความขัดแย้งและการเข้าถึงอย่างเป็นธรรม

นอกจากนี้นางวราภรณ์ สุขชู ยังกล่าวอีกว่า สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้สูงวัย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่ควรได้รับการสนับสนุนทางด้านที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขอนามัยและปลอดภัยมากที่สุด

เวลาลงพื้นที่รู้สึกสลดกับการที่เห็นคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยอยู่แบบเพิงที่พักเล็กๆ สิ่งที่ทำได้จึงเป็นเพียงการให้ความช่วยเหลือโดยการแจ้งหน่วยงานรัฐให้เข้าไปดูแลเท่านั้น

นางวาสนา แจ้งกระจ่าง ประธานชุมชนพระราม 9 พัฒนา

นางวาสนา แจ้งกระจ่าง ประธานชุมชนพระราม 9 พัฒนา ให้ความเห็นว่า การจ่ายเบี้ยสูงวัยควรเป็นการจ่ายแบบถ้วนหน้า ไม่ควรแบ่งแยกว่าใครรวยกว่าหรือจนกว่ากัน เพราะสุดท้ายทุกคนก็สูงวัยเช่นเดียวกัน

รัฐบาลควรจัดสรรสวัสดิการถ้วนหน้าให้เท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกว่าบุคคลนั้นรวยกว่าหรือจนกว่า คนเหล่านี้คือคนที่ทำงานเสียภาษีเช่นเดียวกันทุกคน

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจและความคิดเห็นเบื้องต้นอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนมุมมองของสังคมสูงวัยที่คนไทยอยากเห็นในอนาคต ถึงแม้จะมีโจทย์สำคัญคือการผลักดันความมั่นคงทางรายได้เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถดำรงชีพและพึ่งพาตนเองได้ แต่ก็ยังมีโจทย์ใหญ่ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีความสุข ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามและต้องได้รับการสนับสนุนอย่างรวดเร็วให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด

ติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ทาง TALK “4 เมือง ดีต่อใจ วัยเกษียณ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ