ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ในปี 2565 ผู้สูงอายุมีลักษณะแก่ก่อนรวย ที่ไม่มีสวัสดิการรองรับเพียงพอ สภาพสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงทำให้ประชาชนต้องทำงานตลอดชีวิตด้วยเงินค่าแรงขั้นต่ำ มีเงินเก็บออมไม่เพียงพอในช่วงเกษียณ และต้องพึ่งพาค่าใช้จ่ายสวัสดิการจากรัฐอย่างเบี้ยยังชีพ
ข้อเสนอภาคประชาชน
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ(WWN) , We Fair และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นกลุ่มเครือข่ายภาคพลเมืองที่ขับเคลื่อนประเด็นบำนาญถ้วนหน้าให้เป็นหลักประกันรายได้สำหรับคนทุกช่วงวัย โดยได้เสนอนโยบายแบบรูปธรรมที่รัฐสามารถทำได้เพื่อเตรียมรองรับสังคมสูงวัย ดังนี้
- นโยบายขยายอายุการเกษียณจาก 60 เป็น 65 ปี ให้ผู้สูงวัยที่ยังมีศักยภาพในการทำงานสามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเพิ่มมาตรการจูงใจผู้ประกอบการ มีการจัดฝึกอบรม Re-Skill / Up-Skill เพื่อเติมองค์ความรู้และทักษะการทำงานที่เหมาะสมให้กับผู้สูงวัย เป็นต้น
- การออมระยะยาว เช่น ให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เพื่อให้เกิดระบบการออมเงินอย่างถ้วนหน้า เพิ่มปริมาณการออมภาคสมัครใจ โดยยกระดับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จูงใจให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่อายุไม่มากเพื่อได้รับเงินตอบแทนในบั้นปลายที่มากขึ้น รวมไปถึงการทำพันธบัตรป่าไม้ โดยนำพื้นที่มาปลูกไม้ยืนต้น และนำต้นไม้ไปขายเป็นพันธบัตรกับนักลงทุนในต่างประเทศได้ ตลอดจนแนวคิดการขายคาร์บอนเครดิตในแรงงานภาคการเกษตร เป็นต้น
- เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ เช่น นโยบายเงินบำนาญผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท และเพิ่มขึ้นตามระดับอายุตามภาระการดูแลสุขภาพที่มากขึ้น นโยบายการให้เงินผ่าน Digital Wallet สำหรับทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจะได้รับ 10,000 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายร้านค้าใกล้บ้านภายในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเพิ่มเม็ดเงินในการหมุนเวียนเศรษฐกิจ
- การจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงวัยให้บ้านละ 5 หมื่นบาท รวมถึงการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านหรือธนาคารชุมชน ด้วยเงินหมุนเวียนแห่งละ 2 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขในการนำเงินไปใช้เพื่อการประกอบอาชีพ เป็นต้น
- การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ และ Long-term care เช่น ปฏิรูปให้เกิดความชัดเจนโดยแยกระบบดูแลสุขภาพออกจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไปอยู่ภายใต้การบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แห่งเดียว การตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุระยะยาวโดยให้คนละ 9,000 บาทต่อเดือน ยกระดับการใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในทั่วประเทศ โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหัวใจหลัก การให้กรมธรรม์ประกันชีวิตจำนวน 1 แสนบาทกับผู้สูงวัยทุกคน พร้อมเป็นแหล่งเงินที่สามารถกู้ยืมมาใช้ในระหว่างดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นต้น
- การดูแลโดยครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น เช่น นโยบายการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุในทุกหมู่บ้าน โดยมีเงินอุดหนุนปีละ 3 หมื่นบาท วางเป้าหมายสร้างอาสาสมัครบริบาลในท้องถิ่น รวม 1 แสนอัตรา เพื่อมาช่วยดูแลผู้ป่วยติดเตียง การจัดตั้งสถานชีวาภิบาลเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น
เช็ก (Check) นโยบายพรรคการเมือง
อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้งที่หลายคนรอคอย แต่ละพรรคต่างเสนอนโยบายในแบบตนเองอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะนโยบายสูงวัยในหลากหลายมิติ เพื่อรองรับกับสถานการณ์สังคมที่เข้าสู่สังคมสูงวัย จากการรวบรวมนโยบายของแต่ละพรรคมาไว้ใน https://yourpriorities.yrpri.org/group_folder/28193 และจำแนกออกเป็นประเด็นย่อย ๆ ทั้งหมด 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมอาชีพผู้สูงวัย, เบี้ยยังชีพ, การออมทรัพย์ และพัฒนาคุณภาพชีวิต
นโยบายเบี้ยยังชีพ
อัตราเบี้ยยังชีพปัจจุบันจ่ายให้กับผู้สูงอายุ 600-1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะให้กับผู้สูงอายุทุกคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ยกเว้นคนที่ได้รับบำนาญจากรัฐ ให้มาตั้งแต่ปี 2536 ให้เฉพาะผู้สูงอายุที่ยากจน ถูกทอดทิ้ง จนเปลี่ยนมาจ่ายเบี้ยยังชีพแบบถ้วนหน้าในปี 2552
พรรคไทยสร้างไทย
- โครงการบำนาญประชาชน อายุ 60 ปีขึ้นไปรับเดือนละ 3,000 บาท *เฉพาะผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ตามเส้นความยากจน
พรรคไทยศรีวิไลย์
- เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 5,000 บาท
พรรคเสมอ
- สวัสดิการเงินดำรงชีพให้ผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท
พรรครวมไทยสร้างชาติ
- อายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับเดือนละ 1,000 บาท *ปรับเพิ่มจากเบี้ยยังชีพ
พรรคประชาธิปไตยใหม่
- อายุ 60 ปีขึ้นไปรัปสัปดาห์ละ 750 บาท รวมเดือนละ 3,000 บาท
พรรคแรงงานสร้างชาติ
- 60-69 ปี รับ 1,500 บาท
- 70-79 ปี รับ 3,000 บาท
- 80 ปีขึ้นไป รับ 4,500 บาท
พรรคประชาชาติ
- อายุ 60 ปีขึ้นไป รับเดือนละ 3,000 บาท ทุกคนถ้วนหน้า
พรรคพลังประชารัฐ
ปรับเพิ่มสิทธิผู้สูงอายุในบัตรผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ดังนี้
- 60-69 ปี รับ 3,000 บาท/เดือน
- 70 – 79 ปี รับ 4,000 บาท/เดือน
- 80 ปีขึ้นไป รับ 5,000 บาท/เดือน
พรรคเสรีรวมไทย
- อายุ 65 ปีขึ้นไปรับเดือนละ 3,000 บาท *ยกเว้นได้รับบำนาญจากแหล่งอื่น
พรรคก้าวไกล * 4 ปี ใช้เงิน 1,728,000 ล้านบาท
- ทุกคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป รับเดือนละ 3,000 บาท *ขยับแบบขั้นบันไดภายในปี 70
- เพิ่มสวัสดิการผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยทันที
- ค่าทำศพถ้วนหน้า 10,000 บาท
พรรคพลัง
- เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 5,000 บาทเป็นสิทธิถ้วนหน้า
นโยบายออมเงิน
ผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 80 มีเงินออมไม่พอใช้หลังเกษียณ บางคนมีร่างกายไม่แข็งแรง ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้ รายได้ไม่เพียงพอ จึงเป็นภาระของลูกหลานต่อ
บำนาญถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาทต่อเดือนต่อคน เป็นเรื่องไปได้ หากมีการกำหนดเงื่อนไขเรื่องการออมเพิ่มขึ้น เพราะใช้งบน้อยกว่างบประมาณสำหรับบำนาญข้าราชการในระยะยาว
ไทยสร้างไทย
- หวยบำเหน็จหรือสลากการออมแห่งชาติ หวยบนดิน(สลากกินแบ่งรัฐบาล) หวยใต้ดิน เงินสะพัดหมุนเวียนในแวดวงหวยแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 250,000 ล้านบาท/ ต่อปี หวยบำเหน็จจึงเป็นเครื่องมือในการออมเงินรูปแบบหนึ่ง นอกจากผู้ซื้อได้มีโอกาสลุ้นตัวเลขเหมือนซื้อหวยผ่านแอปเป๋าตัง เงินต้นจะถูกสะสมยอดในกองทุนหวยบำเหน็จ (กองทุนสลากการออมแห่งชาติ) ซึ่งสามารถดูยอดเงินสะสมได้จากแอปเป๋าตัง เมื่ออายุครบ 60 ปี 70 ปี หรือ 80 ปี (แล้วแต่กรณี) เงินต้นจะถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารที่ผูกไว้กับแอปเป๋าตังทันที
พรรคเพื่อไทย
- “หวยบำเหน็จ” หรือ “ฉลากการออมแห่งชาติ” โดยจะเปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินฝาก ลงทุนในกองทุนการออมแห่งชาติ แล้วนำดอกผลมาเป็นรางวัล เพื่อให้เงินหวย 2.5 แสนล้านบาทต่อปี กลายเป็นเงินฝากพร้อมเกษียณของคนไทย
พรรคประชาธิปัตย์
- ส่งเสริมการออมภาคบังคับ ออมเพื่อที่อยู่อาศัย (ปลดล๊อค กบข. กองทุนเลี้ยงชีพให้ซื้อบ้านได้ สมาชิกทั้ง 2 กองทุนสามารถนำเงินส่วนนึ่งมาซื้อบ้าน หรือนำมาลดหนี้บ้าน ซึ่งจะช่วยทั้งข้าราชการและผู้ที่ทำประกันสังคม รวมไปถึงผู้ใช้แรงงาน)
ก้าวไกล
- สมทบเงินจากเงินผู้สูงวัยเข้าสู่กองทุนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ คนพิการที่ติดบ้าน-ติดเตียง ประมาณ 9,000 บาท/คน/เดือน
พรรคภูมิใจไทย
- ตั้งกองทุนประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป โดยผู้สูงอายุจะได้รับสิทธิในกรมธรรม์ประกันชีวิตทันทีโดยอัตโนมัติ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
- ในวันที่จากไปจะได้รับเงินจากกองทุนฯ รายละ 100,000 บาท เป็นมรดกให้ครอบครัว
นโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิต
การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย การสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะแก่การทำกิจกรรม ไม่ว่าจะชมรมผู้สูงอายุหรือร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ สุขภาพกายและใจแข็งแรง สามารถพึ่งพาตนเองได้
พรรครวมไทยสร้างชาติ
- สร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัย
- สร้างศูนย์สันทนาการผู้สูงอายุในชุมชน
พรรคประชาธิปัตย์
- ปรับระบบประกันสุขภาพี่มีหลายระบบให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ไม่เหลื่อมล้ำในการดูแลผู้สูงอายุ
- ตรวจสุขภาพฟรี รักษาฟรี ใช้บัตรประชาชนใบเดียว
- ธนาคารชุมชนหมู่บ้านละ 2 ล้าน
- ชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000 บาท ทุกหมู่บ้าน-ชุมชน (30,000 ชมรม)
นโยบายส่งเสริมอาชีพ
การนำผู้สูงอายุที่เกษียณกลับเข้าสู่ระบบการทำงาน เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอในช่วงเกษียณ และปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยการเพิ่มอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 65 ปี
พรรครวมไทยสร้างชาติ
- ลดภาษีให้แก่บริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ
พรรคเพื่อไทย
- การเรียนรู้แบบ Learn to Earn เข้าสู่การเรียนรู้ได้ทุกช่วงวัย โอนหน่วยกิตที่สะสมไว้, หาานได้ทุกช่วงวัย
พรรคภูมิใจไทย
- สิทธิกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพวงเงิน 20,000 บาท
พรรคก้าวไกล
- Up skill & Reskills
- การจ้างงานดูแลผู้สูงอายุ
- ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นโยบายของแต่ละพรรคการเมือง สะท้อนให้เห็นถึงความจริงจัง สนใจเรื่องสังคมสูงวัย โดยเฉพาะประเด็นเบี้ยยังชีพที่ปรับขึ้นจากเดิม 600 เป็น 1,000 บาท ส่งเสริมนโยบายการออมเงิน เพื่อสร้างหลักประกันรายได้มั่นคงให้เพียงพอต่อการเข้าสู่วัยเกษียณและอื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของภาคพลเมืองที่ผลักดันเรื่องบำนาญถ้วนหน้าให้เกิดขึ้น เพราะเป็นสวัสดิการพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่ควรได้รับ และพัฒนาให้ประชาชนอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ
ส่งท้าย ชวนดูไอเดีย นโยบายทั้งจากฝั่งพรรคการเมืองและภาคพลเมืองได้ที่ https://yourpriorities.yrpri.org/group_folder/28193