วงถกที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางขับเคลื่อนสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายฯ รองรับสังคมสูงวัยอย่างมีส่วนร่วม หนุนเสริมนโยบาย ‘สถานชีวาภิบาล-กุฏิชีวาภิบาล’ ของรัฐบาล พร้อมไฟเขียว 3 ระเบียบวาระ ‘สุขภาพจิต-จัดการน้ำ-ส่งเสริมการมีบุตร’ เข้าสู่การแสวงหาฉันทมติในงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 16 วันที่ 21-22 ธ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในการประชุม คสช. ครั้งที่ 6/2566 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย “การสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตรองรับสังคมสูงวัย” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยใช้พื้นฐานจากการดูแลประคับประคอง (Palliative Care) ที่จะช่วยลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในการหนุนเสริมนโยบายการจัดตั้ง ‘สถานชีวาภิบาล’ ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และให้ความเห็นชอบร่างเอกสาร “การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ” ซึ่งเตรียมใช้ประกอบการจัดทำ (ร่าง) วาระแห่งชาติ ประเด็นส่งเสริมการมีบุตร เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
นพ.ชลน่าน เปิดเผยว่า ประเทศไทยในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรที่ทำให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็พบว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันมีการพัฒนาก้าวหน้าเป็นอย่างมาก แต่เทคโนโลยีเหล่านั้นในบางกรณีเป็นการรักษาทางการแพทย์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ (Medical Futility) ต่อผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีผลให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายทุกข์ทรมาน และยังเป็นการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อระบบบริการสาธารณสุขโดยรวม
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้พัฒนายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานด้านการรักษาแบบประคับประคอง ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.การมีนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ 2.การเข้าถึงยาที่จำเป็น 3.การพัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขภาพ และ 4.การบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน โดยประเทศไทยมีการจัดทำแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ซึ่ง คสช. ได้ให้ความเห็นชอบเป็นทิศทางการพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคองและการแสดงเจตนาไม่รับการรักษาพยาบาลในระยะสุดท้ายของชีวิต ตลอดจนขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการการจัดทำนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตด้วย
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้ให้สิทธิทุกคนสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตได้ (Living Will) ซึ่งถือว่าเป็นการใช้สิทธิเลือกตายอย่างสงบตามธรรมชาติโดยปราศจากการเหนี่ยวรั้งด้วยเครื่องมือต่างๆ ซึ่งการใช้สิทธิตามมาตรา 12 นี้ ผู้ป่วย ครอบครัว และแพทย์ จำเป็นต้องวางแผนร่วมกันในการจัดการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีความสะดวกสบาย และพ้นจากความทรมานมากที่สุด
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ทุกวันนี้ทั่วโลกเห็นตรงกันไปในทิศทางเดียวกันว่า การดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยพื้นฐานการดูแลแบบประคับประคองเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว ยังช่วยในเรื่องการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนและภาครัฐ
“มติ คสช.ในวันนี้ สอดคล้องและหนุนเสริมนโยบาย 30 บาทพลัส ที่เป็น Quick win ของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะมีการจัดตั้ง ‘สถานชีวาภิบาล’ ให้การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมีภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน/ติดเตียงผู้ป่วยระยะประคับประคอง จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เขตสุขภาพละ 1 แห่ง และล่าสุด สธ.ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักนายกรัฐมนตรีพัฒนาการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ โดยมีเป้าหมายภายใน 3 ปี จะดำเนินจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลครบทุกจังหวัด เพื่อเป็นสถานที่ดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายตามหลักพระธรรมวินัย ซึ่งมีพระคิลานุปัฏฐากดูแลแบบประคับประคอง ซึ่ง สช. เองมีภารกิจที่สอดรับตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่เข้ามาร่วมบูรณาการขับเคลื่อนไปด้วยเช่นกัน” นพ.ชลน่าน กล่าว
ด้าน นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 15-16 ประจำปี 2565-2566 กล่าวว่า ที่ประชุม คสช. ได้รับทราบความคืบหน้าการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566 โดยจะมีการพิจารณาเพื่อแสวงหาฉันทมติใน 3 ระเบียบวาระ ได้แก่ 1. ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง 2. การส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ 3. การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ
สำหรับระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ทั้ง 3 ระเบียบวาระ ยังคงอยู่ภายใต้ประเด็นหลัก “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ซึ่งมุ่งตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของประเทศต่อเนื่องจากสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 15 โดยเฉพาะมติเรื่อง “แนวทางการส่งเสริมการเกิดและการเติบโตที่มีคุณภาพ” ที่จะสร้างความตระหนักและโมเมนตัมครั้งใหญ่ในระดับชาติ ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะในช่วง 8 ปี หรือประมาณ 3,000 วันแรกของชีวิตด้วย
นายชาญเชาวน์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการพิจารณาระเบียบวาระแล้ว ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ได้รับเกียรติจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และประธาน คสช. เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ รวมทั้งได้รับเกียรติจาก Ms.Saima Wazed ประธานมูลนิธิ Shuchona, ประเทศบังคลาเทศ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Institutionalizing Social participation for Health and Wellbeing” และยังมีเวทีเสวนาหัวข้อ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับสุขภาวะเพื่อการพัฒนาประชากรทุกกลุ่มวัย’ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทยด้วย
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ในส่วนของการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้าย ในปีงบประมาณ 2566 สช. ได้สร้างความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา พัฒนาข้อเสนอการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตรองรับสังคมสูงวัย จนได้ออกมาเป็นแนวทางต่างๆ ทั้งการพัฒนาระบบการดูแลที่ใช้โรงพยาบาลเป็นฐาน (Hospital Based) และชุมชนเป็นฐาน (Community Based) การผ่อนคลายข้อจำกัดด้านยา การพัฒนาในด้านการเงิน บุคลากร การสานพลังองค์กรนอกภาคสุขภาพ ตลอดจนความร่วมมือทางสังคม เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายอย่างเป็นองค์รวม โดยข้อเสนอเชิงนโยบายนี้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อ ครม. ให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนตามบทบาทภารกิจต่อไป
อนึ่ง ในการประชุม คสช. วันเดียวกันนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันมีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมี ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ เป็นประธาน เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายโดยกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อให้เกิดนโยบายและการบูรณาการความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งมีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการติดตามและจัดทำรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย ซึ่งมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน เพื่อจัดทำรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย ตามมาตรา 25 และ 27 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550