เวที Policy Dialogue ครั้งที่2 เชิญ 9 พรรคการเมืองเสนอนโยบายการสร้าง “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” ภายใต้ 5 เสาหลัก การจ้างงาน-การออม-เงินอุดหนุน-หลักประกันสุขภาพ-การดูแลของครอบครัวในชุมชน พร้อมแนวทางจัดหางบประมาณ หนุนไทยต้องมีระบบสวัสดิการผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า และทุกพรรคพร้อมเดินหน้า
29 เม.ย. 2566 – คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และไทยพีบีเอส จัดเวที Policy Dialogue ครั้งที่ 2 เรื่อง “ตอบโจทย์ประชาชน: พรรคการเมืองกับนโยบายสวัสดิการ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2566 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการของรัฐรองรับสังคมสูงวัยของพรรคการเมือง ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 14 พ.ค. นี้
เวทีนี้ สช. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายเปิดพื้นที่กลางให้ผู้แทนพรรคการเมืองจำนวน 9 พรรคการเมือง ได้เข้าร่วมนำเสนอนโยบายการสร้าง “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” และการจัดหางบประมาณมาดำเนินการ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันซักถาม แลกเปลี่ยน และเสนอแนะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการรองรับสังคมสูงวัย
ผู้แทน 9 พรรคการเมือง ประกอบด้วย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด พรรคก้าวไกล, ดร.พรชัย มาระเนตร์ พรรคชาติพัฒนากล้า, ดร.อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา พรรคชาติไทยพัฒนา, คุณปริเยศ อังกูรกิตติ พรรคไทยสร้างไทย, ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม พรรคประชาธิปัตย์, คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พรรคพลังประชารัฐ, ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ พรรคเพื่อไทย, คุณศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย และ คุณบุญยอด สุขถิ่นไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ
บนเวทีผู้แทนพรรคการเมืองทั้ง 9 พรรค แสดงความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องมีระบบหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ เป็นระบบสวัสดิการถ้วนหน้าต่อยอดจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และทุกพรรคมีนโยบายที่จะเดินหน้าในเรื่องนี้ เป็นไปตามเป้าหมายของ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 เรื่อง หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งได้รับฉันทมติจากทุกภาคส่วนในสังคมว่าประเทศไทยมีความจำเป็น และมีความพร้อมที่จะดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ผู้แทน 9 พรรคการเมืองยังได้นำเสนอนโยบายของพรรคตัวเอง โดยพบว่ามีแนวนโยบายที่สอดคล้องกับ 5 เสาหลัก ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ไม่ว่าจะเป็น
- การพัฒนาผลิตภาพประชากร เช่น มีนโยบายขยายอายุการเกษียณจาก 60 เป็น 65 ปี ให้ผู้สูงวัยที่ยังมีศักยภาพในการทำงานสามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเพิ่มมาตรการจูงใจผู้ประกอบการ มีการจัดฝึกอบรม Re-Skill / Up-Skill เพื่อเติมองค์ความรู้และทักษะการทำงานที่เหมาะสมให้กับผู้สูงวัย เป็นต้น
- การออมระยะยาว เช่น ให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เพื่อให้เกิดระบบการออมเงินอย่างถ้วนหน้า เพิ่มปริมาณการออมภาคสมัครใจ โดยยกระดับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จูงใจให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่อายุไม่มากเพื่อได้รับเงินตอบแทนในบั้นปลายที่มากขึ้น รวมไปถึงการทำพันธบัตรป่าไม้ โดยนำพื้นที่มาปลูกไม้ยืนต้น และนำต้นไม้ไปขายเป็นพันธบัตรกับนักลงทุนในต่างประเทศได้ ตลอดจนแนวคิดการขายคาร์บอนเครดิตในแรงงานภาคการเกษตร เป็นต้น
- เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ เช่น นโยบายเงินบำนาญผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท และเพิ่มขึ้นตามระดับอายุตามภาระการดูแลสุขภาพที่มากขึ้น นโยบายการให้เงินผ่าน Digital Wallet สำหรับทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจะได้รับ 10,000 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายร้านค้าใกล้บ้านภายในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเพิ่มเม็ดเงินในการหมุนเวียนเศรษฐกิจ การจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงวัยให้บ้านละ 5 หมื่นบาท รวมถึงการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านหรือธนาคารชุมชน ด้วยเงินหมุนเวียนแห่งละ 2 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขในการนำเงินไปใช้เพื่อการประกอบอาชีพ เป็นต้น
- การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ และ Long-term care เช่น ปฏิรูปให้เกิดความชัดเจนโดยแยกระบบดูแลสุขภาพออกจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไปอยู่ภายใต้การบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แห่งเดียว การตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุระยะยาวโดยให้คนละ 9,000 บาทต่อเดือน ยกระดับการใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในทั่วประเทศ โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหัวใจหลัก การให้กรมธรรม์ประกันชีวิตจำนวน 1 แสนบาทกับผู้สูงวัยทุกคน พร้อมเป็นแหล่งเงินที่สามารถกู้ยืมมาใช้ในระหว่างดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นต้น
- การดูแลโดยครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น เช่น นโยบายการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุในทุกหมู่บ้าน โดยมีเงินอุดหนุนปีละ 3 หมื่นบาท วางเป้าหมายสร้างอาสาสมัครบริบาลในท้องถิ่น รวม 1 แสนอัตรา เพื่อมาช่วยดูแลผู้ป่วยติดเตียง การจัดตั้งสถานชีวาภิบาลเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ผู้แทนพรรคการเมืองยังได้ร่วมกันให้คำตอบถึงประเด็นสำคัญอย่างเรื่องของ ‘แหล่งงบประมาณ’ ในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ โดยมีหลายแนวทางที่สอดคล้องกัน เช่น การปรับลดงบประมาณ หรือรีดไขมันที่ไม่จำเป็น เพิ่มการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่ การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตัวเลขจีดีพีสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนอย่างน้อยปีละ 5-6% การลดหนี้ครัวเรือน การเจรจาการค้ากับต่างประเทศเพิ่ม การผลักดัน Health & Wellness Center เพื่อดึงดูดผู้สูงวัยจากต่างประเทศให้เข้ามารับการดูแลในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสร้างงานได้หลายแสนตำแหน่ง ตลอดจนการนำระบบ Blockchain เข้ามาปรับใช้ เพื่อลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งจะช่วยดึงงบประมาณที่สูญเสียไปได้ด้วยในตัว
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมการดูแลประชาชนทุกคนจนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยมีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นสวนทางกับวัยแรงงานที่ลดลง และในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้สูงวัยเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งในแง่สุขภาพ เศรษฐกิจ ความมั่นคงในชีวิต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบการจัดสวัสดิการเพื่อรองรับผู้สูงวัยอย่างถ้วนหน้า
นพ.ประทีป กล่าวว่า นโยบายเรื่องสวัสดิการรองรับสังคมสูงวัย เป็นเรื่องที่ถูกนำเสนอจากภาควิชาการและภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่อง และในการเลือกตั้งครั้งนี้หลายพรรคการเมืองมีการตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างมาก มีการเสนอนโยบายสร้างสวัสดิการความมั่นคงทางการเงินให้ผู้สูงอายุอย่างหลากหลายในระหว่างการหาเสียงที่เป็นพันธสัญญาของพรรคกับประชาชน
ส่วนใหญ่มีแนวทางสอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่มองว่าประเทศไทยถึงเวลาแล้วที่จะนำไปสู่การมี ‘ระบบหลักประกันรายได้’ ที่จะต้องดำเนินการภายใต้ 5 เสาหลัก คือ 1. การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำ และมีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย 2. การออมระยะยาวเพื่อยามชราภาพที่ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน 3. เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ 4. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพโดยเฉพาะบริการสุขภาพระยะยาว (Long-term care) 5. การดูแลโดยครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น
ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. หนึ่งในสองผู้ดำเนินการบนเวที Policy Dialogue ครั้งนี้ ได้สรุปตอนท้ายว่า การสร้างระบบหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุ เป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ไม่ใช่ระบบสงเคราะห์คนกลุ่มเฉพาะเจาะจง นับเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในการพูดคุยมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอทางวิชาการมากมาย บนความสมเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ว่าประเทศไทยควรจะมีอะไรบ้าง เพื่อคุ้มครองความยากจนสำหรับผู้สูงวัย
“เราต้องเข้าใจสภาพปัญหาของประเทศนี้ มีคนจำนวนมากยังต้องทำงานทั้งชีวิตโดยที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ ยิ่งทำงานก็ยิ่งจนลงเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงย้อนกลับไปสู่โจทย์ว่าเราจะทำอย่างไรให้ระบบบำนาญแห่งชาติเกิดขึ้นได้จริง หรือเป็นไปได้ และสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงดีใจที่ได้เห็นแนวคิดที่สอดคล้องจากหลายพรรคการเมือง และหวังว่าจะเกิดการผลักดันขับเคลื่อนเรื่องนี้ของรัฐบาลและในสภาต่อไปอย่างจริงจัง” ดร.ทีปกร ระบุ
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยและประธานกรรมการบริหาร สช. กล่าวว่า หลายคนชอบเปรียบเปรยว่าประเทศไทยแก่ก่อนรวย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุก่อน ทำให้ดูเหมือนกับไม่เคยเตรียมการอะไรไว้ หากแต่ในฐานะประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยขอยืนยันว่าไทยได้เตรียมการเข้าสู่สังคมสูงวัยมาเป็นเวลายาวนาน นับตั้งแต่ปี 2525 ที่ไทยได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ ขององค์การสหประชาชาติ (UN)
ตามมาด้วยการเกิดขึ้นหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นระบบประกันสังคม ในปี 2534 ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในปี 2545 เกิด พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ในปี 2546 ตามมาด้วยกองทุนผู้สูงอายุ และ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ตามมาในปี 2554 เป็นต้น
“ระบบกองทุน การออมต่าง ๆ แม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ได้ถูกผลักดันและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง จึงหวังว่าตัวแทนทั้ง 9 พรรคการเมืองที่เข้าร่วมในเวทีนี้ และถือเป็นผู้กล้าหาญในการเข้ามาทำงานที่ยากยิ่ง จะสามารถฟันฝ่าให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงและสำเร็จได้” นพ.วิชัย กล่าว