เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นำเสนอผลวิจัยเพื่อขับเคลื่อนแพลตฟอร์มขจัดความยากจนสกลนคร ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร โดยมี นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธาน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือ
จังหวัดต้องการข้อมูลระดับความยากจน อยู่ลำบาก อยู่ยาก อยู่พอได้ อยู่ดี จากงานวิจัย และอยากจัดระดับปัญหาที่ระบุความเร่งด่วนการช่วยเหลือรายครัวเรือน แบ่งเป็นสี เช่น แดง เหลือง เขียว
นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร
บพท. ชี้โจทย์วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ต่อเนื่อง “ยกระดับพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มแก้จน“
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ชี้แจงว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สนับสนุนทุนวิจัย ภายใต้แผนงานวิจัยและนวัตกรรม”ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำฯ” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 (พ.ศ.2563 – 2566) เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มแก้ไขปัญหาความยากจน ให้เป็นระบบและกลไกความร่วมมือแบบมีเป้าหมายร่วมกันทุกภาคี พร้อมเชื่อมโยงการทำงานกับ ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดสกลนคร (ศจพ.จ) และระดับอำเภอกุดบาก (ศจพ.อ.กุดบาก) ได้รายงานผลวิจัยเชิงกลยุทธ์ พ.ศ. 2563 – 2565 ตามกรอบดังกล่าว ประกอบด้วย
- การค้นหาสอบทานครัวเรือนยากจน ได้ระบบและกลไกความร่วมมือในการคัดกรองข้อมูลคนจนอย่างแม่นยำ พบคนจนรั่วไหล (Inclusion Error) คนจนตกหล่น (Exclusion Error) นำร่องอำเภอกุดบากแก้จน 100%
- ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนจังหวัดสกลนคร (P2P Application) ตามกรอบแนวคิดการดำรงชีพที่ยั่งยืน (SLF) ต้นทุนครัวเรือน 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนกายภาพ ทุนทางการเงิน ทุนธรรมชาติ และทุนสังคม มีจำนวน 11,256 ครัวเรือน (ทั้งจังหวัด) มีแนวทางการจำแนกระดับความยากจน ได้แก่ อยู่ลำบาก อยู่ยาก อยู่พอได้ และอยู่ดี มีระบบนิเวศข้อมูลคนจนสอดคล้องกัน เช่น TPMAP , PPP Connext , จปฐ. , THAI QM , พมจ. , กสศ. เป็นต้น
- ระบบการส่งต่อความช่วยเหลือและป้อนข้อมูลย้อนกลับ (Feedback Loop) ได้พัฒนาระบบส่งต่อความช่วยเหลือ Care All Application เพื่อนำเข้าข้อมูลผู้ประสบภัยทางสังคมส่งต่อข้อมูลครัวเรือนสงเคราะห์ให้หน่วยงาน พมจ. เพื่อติดตามการช่วยเหลือและส่งข้อมูลย้อนกลับเข้าสู่ระบบ มีครัวเรือนได้รับการส่งต่อช่วยเหลือแล้วประมาณ 600 คน
- ปฏิบัติการโมเดลแก้จน (Operating Model) ด้วยแนวคิดการนำคนจนเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่า (Pro-Poor Value Chain) ส่งเสริมครัวเรือนใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาในการผลิต ได้แก่ ปลูกผักปลอดภัย เพาะเห็ด คลังเมล็ดพันธุ์ข้าว และสมุนไพรยาบรู ด้วยธุรกิจเพื่อสังคม เกิดรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 มีการทดสอบป้อนข้อมูลย้อนกลับระบบ Care All
- ข้อเสนอเชิงนโยบายแก้จน เกิดโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยการบริหารจัดการแปลงรวม (อำเภอ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข) และ โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ในแผนพัฒนาท้องถิ่นตำบลกุดไห เปิดให้มีเวที Poverty Forum กุดบากโมเดล ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ และระบบผลิต/ตลาดอาหารปลอดภัย
แตงโม ได้ร่วมวิจัยในครั้งนี้ด้วย เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คือ รูปแบบปฏิบัติการแก้จนเน้นจากระดับพื้นที่ ขยับงานจากล่างขึ้นบน (bottom up) มีกระบวนการบริหารจัดการเพื่อยอมรับข้อมูลคนจน สิ่งที่แตกต่างจากที่อื่น ได้แก่ แก้จนด้วยข้อมูลทุนดำรงชีพที่ยั่งยืน (SLF) รายครัวเรือน เกิดแนวคิดประเมินการเลื่อนระดับความจน นำคนเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิต (Pro-poor Value Chain) ด้วยธุรกิจเพื่อสังคมเกิดวัฒนธรรมได้โอกาสส่งต่อโอกาส
ผศ.ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ในปี 2566 มีพื้นที่ดำเนินงานวิจัย 2 อำเภอ คือ “กุดบากโมเดล” และขยายไป อำเภออากาศอำนวย (นิเวศน์ชุ่มน้ำ) ภายใต้โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร เพื่อให้เกิดการขยายผลและยกระดับการขับเคลื่อนระดับจังหวัด
บพท.ชี้กรอบการวิจัยและโจทย์เข้มข้นมากขึ้น ได้แก่ พัฒนาระบบข้อมูลครัวเรือนกลางของจังหวัด การติดตามผลการช่วยเหลือและป้อนข้อมูลย้อนกลับ (Feedback Loop) พัฒนาตัวชี้วัดร่วมกับจังหวัดเพื่อประเมินการเลื่อนระดับวิกฤตความยากจน พัฒนาโมเดลแก้จนโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต คือ การผักปลอดภัย การเพาะเห็ด คลังเมล็ดพันธุ์ข้าว สมุนไพรยาบรู มีเป้าหมาย 700 ครัวเรือน เกิดรูปธรรมความสำเร็จอำเภอแก้จน 2 พื้นที่ พร้อมทั้งเชื่อมโยงระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่เข้าสู่ยุทธศาสตร์การขจัดความยากจนระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น ผศ.ดร.ก้องภพ กล่าว
แพลตฟอร์มขจัดความยากจนสกลนคร “เริ่มต้นรวมข้อมูลคนจน”
ในการหารือ หน่วยงานต่าง ๆ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้จน ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเก็บสำรวจมีเกณฑ์ตัวชี้วัดจากส่วนกลาง แต่ละหน่วยงานจะดูแลกลุ่มเป้าหมายที่ตกเกณฑ์ หรือมีปัญหาที่ตรงตามเงื่อนไข ด้านข้อมูลกลางคนยากจนจังหวัดมีระบบ TPMAP ในปี 2566 รายงานว่ามีคนจน 471 คน ขับเคลื่อนงานให้ความช่วยเหลือผ่าน ศจพ.จ.สกลนคร รายงานข้อมูลคนที่แก้ไขปัญหาไปแล้ว ยังไม่สามารถประเมินความยากจนลดลง หรือหายจนรายครัวเรือน ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ ส่วนราชการในจังหวัดเคยมีแนวคิดอยากจัดระดับปัญหา ที่ระบุความเร่งด่วนการช่วยเหลือรายครัวเรือน แบ่งเป็นสี เช่น แดง เหลือง เขียว เพื่อตอบคำถามแก้จนไปถึงไหนแล้ว
การทำงานด้านระบบข้อมูล แต่ละหน่วยงานมีหน้าที่ต่างกัน ได้แก่ รับเรื่อง สำรวจเก็บข้อมูล ตรวจสอบหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ แก้ไขปัญหากลุ่มที่เข้าเกณฑ์ บันทึกข้อมูลการช่วยเหลือลงระบบ ส่วนปัญหาที่เป็นมานาน คือ ระบบของหน่วยงานยังไม่เชื่อมข้อมูลถึงกัน บางประเด็นยังได้ทำงานซ้ำซ้อนกันอยู่ ตัวอย่างถ้ากลุ่มเป้าหมายของหน่วยงานตกเกณฑ์ TPMAP ต้องได้บันทึกการช่วยเหลือซ้ำ การสะท้อนในที่ประชุมด้านระบบข้อมูลในปัจจุบัน
นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า จังหวัดโชคดีที่มีทีมมาหนุนเสริมการพัฒนาและยกระดับข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ (P2P Application) เป็นข้อมูลกลางของจังหวัดสกลนคร พร้อมทั้งย้ำชัดแนวทางดำเนินงานตามกรอบการวิจัย ตอบโจทย์ทุกหน่วยงานเพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ดังนี้
- การค้นหาคัดกรองครัวเรือนยากจน เสนอให้ทุกหน่วยงานรวมข้อมูล คนที่ไม่ผ่านตัวชี้วัดหรือตกเกณฑ์ด้านความยากจน
- พัฒนาระบบข้อมูลรายครัวเรือนที่ชัดเจน เช่น ครัวเรือนมีปัญหาอะไร หน่วยงานไหนดูแล มีแนวทางการช่วยเหลืออะไร
- ระบบการส่งต่อความช่วยเหลือ ปรับเป็นแบบฟอร์มกลาง กรองข้อมูลที่จำเป็นทั่วไป สามารถระบุตัวตนผู้ประสบปัญหาได้ ส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินตามขั้นตอน ปรับสถานะเมื่อได้รับการแก้ไขปัญหา ลดขั้นตอนการบันทึกข้อมูล
- เสนอการพัฒนาตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับหน่วยงาน การพัฒนาตัวชี้วัดที่สามารถประเมินการเลื่อนระดับคนจน เป็นประโยชน์นำมาวางแผนแก้ไขปัญหารายครัวเรือน อย่างมีเป้าหมายและสิ้นสุด
- อาชีพแก้จน เน้นสำคัญหนึ่งหรือสองตำบลให้เกิดรูปธรรม ศักยภาพคนจนมีน้อยควรมีพี่เลี้ยงที่มีคุณธรรมในการประกอบกิจการ นำเข้าสู่อาชีพการผลิตที่สอดคล้องกับการดำรงชีพ ในปีแรกยังไม่รวยแต่ตอบได้ว่า “จนแต่มีความสุข” อาจนำตัวชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขมาร่วมประเมินด้วย
- สุดท้ายจะได้ยุทธศาสตร์ หรือแผนการแก้ปัญหาความยากจน แก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ มีข้อเสนอการนำไปสู่ความสุขที่แท้จริงต้องเพิ่มมีอะไรบ้าง
นอกจากตอบคำถามงานวิจัยในปีแรกได้ “คนจนอยู่ไหน จนเพราะอะไร จะพ้นความยากจนได้อย่างไร” มีคำถามใหม่ “ต้องเพิ่มอีกเท่าไหร่ถึงจะเลื่อนระดับ หรือหลุดพ้นจากความจน” กำลังหาคำตอบในปีนี้ บอกได้เลยว่า การพัฒนาระบบยากแล้ว แต่การพัฒนาคนให้ระบบประเมินยากมากกว่า ขอให้ได้เกณฑ์และการประเมินอย่างสมดุล เนื่องจากระบบวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงจากตัวเลขทางสถิติ คนเปลี่ยนแปลงด้วยปรากฏการณ์ทางสังคม
ที่มา : www.1poverty.com
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
ชวนอ่านการวิจัยแก้จนเชิงยุทธศาตร์ระดับพื้นที่จังหวัดสกลนคร
การแก้ไขปัญหาความยากจนระดับอำเภอ “กุดบากโมเดล ความร่วมมือตั้งต้นแก้จนสกลนคร“
การแก้ไขปัญหาความยากจนระดับตำบล “ส่องกลไกปฏิบัติการแก้จนตำบลโพนงาม“