นายอำเภออากาศอำนวย ขับเคลื่อนแพลตฟอร์มแก้จน บูรณาการงานแรกค้นหาสอบทาน 100% เสร็จพร้อมรับรอง จปฐ. สิงหาคมนี้

นายอำเภออากาศอำนวย ขับเคลื่อนแพลตฟอร์มแก้จน บูรณาการงานแรกค้นหาสอบทาน 100% เสร็จพร้อมรับรอง จปฐ. สิงหาคมนี้

วันที่ 12 ก.ค. 66 ผศ.ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หัวหน้าโครงการวิจัยและคณะนักวิจัย เข้าหารือนายอำเภออากาศอำนวย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่ทำการอำเภออากาศอำนวย เพื่อนำเสนอกรอบการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร ได้รับสนับสนุนทุนการวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

มีวิธีวิจัยสำคัญ 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย (1) การค้นหาสอบทานคนจนทั้งอำเภอ 100% (2) การเก็บข้อมูลทุนดำรงชีพครัวเรือน 5 ด้าน (3) การพัฒนาระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนและการใช้ประโยชน์ (4) การส่งต่อความช่วยเหลือและปฏิบัติการโมเดลแก้จน (5) การนำเข้าสู่แผนพัฒนา โดยยกกรณีศึกษากลไกปฏิบัติการแก้จนตำบลโพนงามเป็นตัวอย่าง พร้อมทั้งหารือแนวทางดำเนินงานและกลไกการขับเคลื่อนงานวิจัยในครั้งนี้

อ.สายฝน ปุนหาวงค์ หัวหน้าโครงการย่อยปฏิบัติการโมเดลแก้จนด้วยเกษตรมูลค่าสูงฯ แจ้งผลการวิจัยใน ปี2565 ได้เลือกพื้นที่ตำบลโพนงามจากจำนวนคนจนในฐานข้อมูล TPMAP เมื่อปี 2562 มากที่สุด และเป็นพื้นที่ขยายผลกุดบากโมเดล ปฏิบัติการครั้งนี้ใช้แนวคิด Pro-Poor Value Chain มีคนจนได้รับการช่วยเหลือ 82 ครัวเรือน ผลการดำเนินงาน กลุ่มแรกสร้างอาชีพให้เป็นผู้ผลิตก้อนเห็ดและเปิดดอกจำหน่วยมีรายได้ประมาณ 500 บาทต่อเดือน กลุ่มสองทำนาปรังสร้างกองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ 1 ตัน เกิดพื้นที่เรียนรู้และทักษะใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตมากกว่า 10 ชุดองค์ความรู้ พร้อมทั้งเปิดเผยว่าใน ปี2566 จะขยายพื้นที่โมเดล 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลโพนงาม ตำบลโพนแพง และตำบลอากาศ

นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย

ด้าน นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน ประเด็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ขับเคลื่อนอำเภอ “บำบัดทุกข์บำรุงสุข” และ หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ในทุกครัวเรือน และขยายผลโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” นำไปสู่การปฏิบัติ ส่งเสริม สนับสนุน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้อยู่ดีมีสุข อย่างยั่งยืน

เป้าหมายการดำเนินงาน มีทั้งหมด 7 กิจกรรมย่อย ในพื้นที่ 8 ตำบล 8 หมู่บ้าน โดยใช้ฐานข้อมูล กชช.2ค เป็นหลัก มีกิจกรรมสำคัญ เช่น การทำบุญตักบาตร กินข้าวก้นบาตรที่วัด นำข้าวสารอาหารแห้งไปส่งต่อให้ผู้ป่วยและเด็กนักเรียน พร้อมทั้งลงพื้นที่ดูกลุ่มอาชีพในชุมชน หลังจากนั้นจะเป็นการ MOU ขับเคลื่อนร่วมกันในระดับตำบล แต่การดำเนินงานยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนยังไม่สามารถสร้างอาชีพให้เกิดรายได้สม่ำเสมอ

นายอำเภออากาศอำนวย กล่าวต่อว่า ฐานข้อมูลคนจนที่ทำการอำเภอฯ ใช้ทั้ง TPMAP และ Thai QM ซึ่งข้อมูลเก็บตามตัวชี้วัดของแต่ละฐาน จากการลงพื้นที่ร่วมกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน ยังพบคนจนที่ไม่อยู่ในระบบมีความลำบากอยู่จำนวนมาก บางครั้งคนที่อยู่ในระบบพอไปเห็นสภาพบ้านหลังใหญ่กลับรถแทบไม่ทัน บางคนเป็นข้าราชการการเมืองท้องถิ่นก็มี ซึ่งเราจะต้องหาตัวชี้วัดที่บอกว่าครัวเรือนยากจนในพื้นที่มีลักษณะเป็นอย่างไร สำหรับกลไกอำเภอ มี ศจพ.อ.อากาศอำนวย ทีมพี่เลี้ยงตำบล และทีมปฏิบัติการ ส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ ยังไม่มีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในระยะยาว

ทางด้าน นางหทัยรัตน์ ฝ่ายหินร่อง พัฒนาการอำเภออากาศอำนวย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการเก็บข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน จปฐ. ปี 2566 ได้สำรวจข้อมูลทุกหลังคาเรือนทั้งอำเภอ 86 หมู่บ้าน และทราบจำนวนคนที่ตกตัวชี้วัดแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวางแผนรับรองข้อมูล มีการรับรองอยู่ 3 ระดับ ได้แก่ ชุมชน ตำบล และอำเภอ แบ่งพื้นที่การทำงานออกเป็น 4 ทีม ตามพัฒนากรที่ดูแลในแต่ละตำบล มีกำหนดดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคมนี้

ภายหลังการหารือ นายอำเภออากาศอำนวย ยินดีร่วมขับเคลื่อนแพลตฟอร์มการวิจัยแก้จนในครั้งนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับพื้นที่อย่างมากทั้งด้านข้อมูลและการสร้างอาชีพ ซึ่งขั้นตอนแรกการสอบทานคนจนทั้งอำเภอ 100% ให้บูรณาการร่วมกับการรับรองข้อมูล จปฐ. ในระดับชุมชน ไปพร้อมกับ สนง.พัฒนาชุมชน โดยให้ตระหนักอย่าใช้งบประมาณซ้ำซ้อนกัน ส่วนขั้นตอนที่เหลือหารือร่วมครั้งต่อไปเพื่อคิดกลยุทธ์การขับเคลื่อนและติดตามงานอย่างเป็นระยะ ๆ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิจัยเข้าปรึกษาได้ตลอด

ที่มา : www.1poverty.com

เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ