“กุดบากโมเดล” ความร่วมมือตั้งต้นแก้จนของคนสกลนคร

“กุดบากโมเดล” ความร่วมมือตั้งต้นแก้จนของคนสกลนคร

มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครร่วมกับภาคีเครือข่ายและคนในชุมชนระดับท้องถิ่นท้องที่ ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจน จัดเวที Poverty Forum กุดบากโมเดล: “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมใจ” ปฏิบัติการความร่วมมือแก้ไขความยากจนระดับอำเภอ ในวันที่ 4 เมษายน 2566 ณ  ห้องประชุมดุสิตา โรงแรมภูพานเพลส มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

“ความจนที่เราค้นพบไม่ใช่แค่เรื่องรายได้แน่นอน แต่รายได้เป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่ง แต่ที่เราชี้วัดคือทุนศักยภาพครัวเรือน ทุนดำรงชีพ อย่างที่แม่ฮ่องสอน ปัตตานี ถ้าวัดด้วยเส้นความยากจนอย่างเดียว เราจะเข้าใจเพียงอย่างเดียว แต่ระบบดำรงชีพ จะเผยให้เห็นศักยภาพ และแนวทางการลดทอนบรรเทาความยากจน” ดร.แมน ปุโรทกานนท์ หัวหน้าแผนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จแม่นยำ ย้ำถึงความหมาย “ความจน” ที่ค้นพบจากการศึกษาวิจัย

ชัยยุทธ วัยเหนิดลื้อ นายกเทศบาลตำบลกุดแฮด

“ปัญญามีไม่แพ้ แต่ทุนค้าหากบ่มี”

“เรื่องดิน เรื่องน้ำ สองสิ่งนี้ถ้าแก้ได้ก็จะแก้จน” ชัยยุทธ วัยเหนิดลื้อ นายกเทศบาลตำบลกุดแฮด ระบุโจทย์สำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับท้องถิ่น “ปัญหาเรื่องการจัดสรรจัดการทรัพยากรที่ดิน การประกาศพื้นที่อุทยานกับซ้อนกับชุมชนและแหล่งทำกิน และถ้าจะพัฒนาให้คนมีที่ทำกิน คือเรื่องน้ำและที่ดิน ถ้าไม่มีที่ดินก็จนตลอดชีพ พ.ร.บ.ป่าไม้และอุทยานปี 62 พอออกมาทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำกินได้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่จบไม่สิ้น แม้แต่การจัดการการใช้ต้นไม้ในที่ดิน ส.ป.ก. ก็เอามาใช้ไม่ได้ ก็จนทั้งปี

ในเขตอำเภอบุดบากมีสองอุทยาน คือ ภูพานกับภูผาเหล็ก ถ้าชาวบ้านไปทำก็อาจจะถูกจับ ถ้าถูกจับก็จนเลย

การแก้ไขปัญหาที่ด่วนที่สุด คือ 1.เรื่องที่ดินกับน้ำ ถ้าแก้ไขเรื่องนี้ได้ ก็จะมีกิน คนบ้านเฮาบอกว่า“ปัญญามีไม่แพ้ แต่ทุนค้าหากบ่มี”  หมายถึงว่า ความสามารถเรามี แต่ต้นทุนอื่น ๆ รวมถึงเงินเราไม่มี

และถ้าจะไปกู้ยืมเงินก็จะเป็นหนี้ทันที ตอนนี้ชาวบ้านเหมือนถูกมอมเมา บัตรสวัสดิการที่เอามาแจกก็ทำให้ชาวบ้านขาดวิจัย “พริกอยู่บ้านเหนือ เกลืออยู่บ้านใต้” แต่ก่อนสอนกันว่าไม่ควรทำ ซึ่งการแบ่งปันมันก็ดี แต่อยาให้มีทุกบ้านได้ปลูกพริก มะเขือ หรือของกินของใช้อื่น ๆ ตอนนี้คนเกิดขึ้นมาเยอะ ที่ดินมีน้อยลงต้องแบ่งกัน เรื่องที่ 2. เรื่องเหล้า เมื่ออย่างอื่นห้ามหมด แต่เหล้ายังมีเยอะอยู่ อันนี้คือตัวสำคัญ และอันที่ 3 ยาเสพติด อันนี้หนัก วัยแรงงานถ้าติดยาเสพติดก็จบเลย รัฐยังปราบปรามเรื่องนี้ไม่ได้

และอีกเรื่องหนึ่งที่จะบอกว่าไม่สำคัญก็ไม่ใช้ คือ ระบบการศึกษา เพราะถ้าคนมีการศึกษาที่ดี ปัญหาอื่น ๆ ก็จะจัดการได้ ซึ่งตอนนี้ระบบการศึกษาในโรงเรียนก็แย่มาก”

ข้อมูลจากเว็บไซต์Thai People Map and Analytics Platform ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า ระบุ จำนวนคนจนในสกลนคร ซึ่งแบ่งออกเป็น “คนจนเป้าหมาย” หรือ คนจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เนื่องจากเป็นคนที่ได้รับการสำรวจว่าจน (survey-based) จากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และยังมาลงทะเบียนว่าจนอีกด้วย (register-based) จึงเป็นการบูรณาการข้อมูลระหว่าง จปฐ 2565 และ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ซึ่งสกลนครมีครัวเรือนที่ได้รับการสำรวจ (จปฐ) 249,533 คน พบครัวเรือนยากจน (จปฐ) 368 คน โดยมีคนที่ได้รับการสำรวจ (จปฐ) 751,110 คน พบว่ายากจน (จปฐ) 1,186 คน  และ “คนจนเป้าหมาย” คือ คนจน (จปฐ) ที่ไปลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ 471 คน

กุดบากโมเดลการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับอำเภอ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตรา สุจริตและคณะ ได้นำเสนอถึงแนวทางแก้จนด้วยการบริหารจัดการพื้นที่แบบแปลงรวมด้วยกระบวนการผลิตผักปลอดภัยแบบครบวงจรของ “กุดบากโมเดล” อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การขยายผลการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันกับโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนที่เน้นการพัฒนานักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงในระดับอำเภอเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับอำเภอและมีการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคี เกิดผลกระทบที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การเพิ่มทักษะทางอาชีพการเกษตร การสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรท้องถิ่นและสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ “เกิดการเกื้อกูลคนในชุมชน” และ “ความสุขในการอยู่ร่วมกัน”

กุดบากโมเดล เป็นรูปแบบการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับอำเภอ แสดงถึงการบริหารนโยบายระดับท้องที่ ต้องบริหารจัดการทั้งท้องถิ่น ท้องที่ ภายใต้โครงสร้างการมอบนโยบายจากจังหวัด อำเภอ โดยดำเนินการกระบวนการค้นหาสอบทานทั้งอำเภอ การส่งต่อความช่วยเหลือและติดตามข้อมูลย้อนกลับระดับตำบล การพัฒนาโมเดลแก้จนสู่การนำเสนอนโยบายแก้จนหลายมิติ เพื่อเป็นต้นแบบอำเภอนำร่องแก้จนของจังหวัดด้วยแพลตฟอร์มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับอำเภอ ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ 4 ประเด็น ได้แก่

1.การพัฒนาระบบค้นหาสอบทานครัวเรือน
2.การพัฒนาระบบการส่งต่อความช่วยเหลือและข้อมูลย้อนกลับ
3.การพัฒนาโมเดลแก้จนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
4.การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนระดับตำบลบนข้อมูลเชิงประจักษ์

โดยอำเภอกุดบากถูกเลือกเป็นต้นแบบดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับอำเภอ ด้วยหลักคิด Max-Man-Mind เพราะมีการกระจุกตัวของครัวเรือนยากจนมากที่สุด (Max) ผู้นำท้องถิ่นท้องที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่ (Man) และครัวเรือนมี mindset มีศักยภาพพร้อมรับการการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา (Mind)

ที่มา : Thai People Map and Analytics Platfo

นอกจากการแลกเปลี่ยนความหมาย“ความจน” กับเครือข่ายชุมชนและนักวิจัยแล้ว TPMAP หรือ Thai People Map and Analytics Platform ซึ่งได้พัฒนาให้มีระบบบริหารจัดการข้อมูล “คนจนแบบชี้เป้า” หรือ Thai Poverty Map and Analytics Platform โดยเอาข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ เนคเทค-สวทช. มาร่วมกันทำให้เห็นว่าคนจนมีหลายกลุ่ม  ทั้ง ความยากจนตามของ จปฐ. 4.4 ล้านคน   ซึ่งมีคนที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน และเมื่อเอาข้อมูลมาซ้อนกันก็พบว่า มีคนจนไปลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 .03 ล้านคน

ซึ่งคนจนที่ปรากฏตามข้อมูลนี้ มีดัชนีชี้วัดจาก MPI  หรือ Multidimensional Poverty Index ที่พิจารณาจากหลายมิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ และด้านการเข้าถึงบริการรัฐ โดยที่คนจน 1 คน มีปัญหาได้มากกว่า 1 ด้าน

มหากาพย์ ความจน

ความพยายามอย่างที่สุดในการร่วมแก้ไขปัญหาความยากจน ดูเหมือนว่ายังเป็นโจทย์หินอันมหากาพย์ยาวนาน แม้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะวางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล แต่นั่นก็อาจจะยังไม่สามารถทำได้เบ็ดเสร็จ เพราะรากที่มาของ “ความจน” ยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจจะจำแนกได้ทั้งจาก “เหตุของความจน” และ “ผลของความจน” ที่กระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนในทุกมิติ ความร่วมมือกับหลายเครือข่ายองค์กร รวมถึงการที่คนเผชิญเหตุซึ่งอยู่ใน “ภาวะความยากจน” ต้องร่วมคลี่คลายแก้ไขเงื่อนปมที่ผูกแน่นด้วยกัน

รวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครในฐานะสถาบันการศึกษาในพื้นที่ซึ่งนับเป็นหน่วยปฏิบัติการส่วนหน้า ซึ่งต้องทำหน้าที่เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคี ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ให้เห็นกลไกของภาคส่วนต่าง ๆ ผ่านบทบาทงานวิชาการและข้อมูล เพื่อให้สามารถแก้ไขและบรรเทาความยากจนได้ตรงเป้าหมายภายใต้ทำงานร่วมกับชุมชน โดยเริ่มเขี่ยบอลอย่างเป็นทางการกับการทำงานของ “กุดบากโมเดล”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ