ส่องกลไกปฏิบัติการแก้จนตำบลโพนงาม “HUBข้อมูลการช่วยเหลือคนจน”

ส่องกลไกปฏิบัติการแก้จนตำบลโพนงาม “HUBข้อมูลการช่วยเหลือคนจน”

บพท. หนุนนักวิจัย มรภ.สกลนคร เชื่อมกลไกการแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับพื้นที่ ด้าน อบต.โพนงาม พร้อมพลักดันเป็นตำบลต้นแบบของการพัฒนาระบบฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนและกลไกความช่วยเหลือ ได้เชิญประชุมคณะกรรมการคัดกรองครัวเรือนยากจนตำบลโพนงาม ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร

สืบเนื่องจาก ปี 2565 มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินโครงการวิจัย การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร ระยะที่ 3 เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) ได้วิเคราะห์กลไกหน่วยงานภาคี พบว่า องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม เป็นราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดประชาชนและตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว และเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในทุกระดับทั้งตำบล อำเภอ ส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง มาร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนในครั้งนี้ ซึ่งมีกรอบงานวิจัย ได้แก่ การค้นหาสอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจน การวิเคราะห์ปัญหาและฐานทุนดำรงชีพครัวเรือน การส่งต่อความช่วยเหลือ ปฏิบัติการโมเดลแก้จน และการนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย

กรอบงานวิจัยระบบแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด ที่มา บพท. ปี2565

นายสนันตน์ ธรรมรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม และประธานคณะกรรมการคัดกรองครัวเรือนยากจน กล่าวว่า ทราบจำนวนครัวเรือนยากจนในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ข้อมูลปี 2565 ต.โพนงามมีจำนวนคนจนอยู่ 2 ครัวเรือน เทียบกับครัวเรือนในตำบลมีสัดส่วนร้อยละ 0.07 อบต.โพนงาม ได้ประสานทุกหน่วยงานในตำบลมาร่วมพูดคุย ได้แก่ ส.อบต. , อพม. , รพสต. , โรงเรียน , อสม. , กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน ร่วมกับ โครงการวิจัยฯ พร้อมทั้งยินดีอำนวยความสะดวกสถานที่จัดกิจกรรมและเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อหนุนเสริมการค้นหาครัวเรือนยากจนและหาแนวทางการแก้ไข จึงออกคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม ที่ 285/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการคัดกรองครัวเรือนยากจนตำบลโพนงาม เพื่ออำนวยความสะดวกให้โครงการวิจัยฯ ดำเนินงานได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์และกรอบการวิจัย

นายสนันตน์ ธรรมรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม

คณะนักวิจัยถอดบทเรียนกระบวนการดำเนินงานทั้งหมดมี 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย จัดตั้งกลไกปฏิบัติการระดับตำบล การค้นหาและสอบทานข้อมูล การเก็บแบบสอบถาม การวิเคราะห์และรายงานผล การส่งต่อความช่วยเหลือ และการติดตามผล ได้สรุปภารกิจที่สำคัญและเป้าหมายของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ได้ขับเคลื่อนงานวิจัยในระยะเวลา 1 ปี เพื่อสร้างการยอมรับข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกันมีอยู่ 3 ประเด็น ดังนี้

1) จัดตั้งกลไกระดับตำบล คือ คณะกรรมการคัดกรองครัวเรือนยากจนตำบลโพนงาม มีภารกิจค้นหานำฐานข้อมูลความยากจนมาร่วมกัน จากนั้นได้สอบทานข้อมูลครัวเรือนรั่วไหล (Inclusion Error)และเพิ่มครัวเรือนตกหล่น (Exclusion Error) เพื่อสร้างการยอมรับข้อมูล ก่อนสอบทานมีครัวเรือน 353 ครัวเรือน ผ่านกระบวนการสอบทานแล้วได้ข้อมูลครัวเรือนยากจนในตำบลโพนงาม 183 ครัวเรือน

2) พัฒนาระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนในระดับพื้นที่ (P2P Application) ข้อมูลที่นำระบบเป็นครัวเรือนยากจนที่คณะกรรมการฯ สอบทานข้อมูลแล้ว ได้อบรมอาสาสมัครในพื้นที่เก็บแบบสอบถามทุน 5 ด้านตามงานวิจัยรายครัวเรือน และได้สรุปผลวิเคราะห์ข้อมูล เช่น SLF, Poverty Line, วิกฤตความยากจน 4 ระดับ เป็นต้น หรือรายงานผลตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ สามารถชี้เป้าครัวเรือนยากจนและรายงานข้อมูลเชิงปริมาณได้

3) การช่วยเหลือครัวเรือนยากจน ด้วยนิเวศวัฒนธรรมในพื้นที่มีระบบเกื้อกูลช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความหิวโหยพร้อมทั้งมีทรัพยากรพอให้ครัวเรือนดำรงชีพอยู่ได้ในแต่ละวันเป็นระบบช่วยเหลือภายในชุมชน ส่วนการช่วยเหลือภายนอกได้พัฒนาระบบ Care All การส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบตามปัญหา เช่น ด้านที่อยู่อาศัย ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านสวัสดิการ ด้านความเป็นอยู่ เป็นต้น ได้แบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แบบสงเคราะห์ และแบบส่งเสริมอาชีพ ระบบสามารถบันทึกการติดตามครัวเรือนและนับสถิติการช่วยเหลือไปแล้วกี่ครั้ง

คณะกรรมการคัดกรองครัวเรือนยากจนตำบลโพนงาม ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงกลไกการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ พร้อมเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นได้เรียนรู้การพัฒนาระบบข้อมูลและกลไกความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนในระดับตำบล กล่าวได้ว่า มีผู้นำชุมชนดูแลอย่างใกล้ชิด มีกัลยาณมิตรเช่น อบต. ค่อยช่วยเหลือ มีผู้อภิบาลอบอุ่นใจคืออำเภอและจังหวัด

ดร.สุธาสินี คุปตะบุตร

สุดท้ายจะได้ข้อมูลเพื่อช่วยการตัดสินใจว่าครัวเรือนไหนต้องได้ช่วยเหลือตลอด ครัวเรือนนี้ยังต้องช่วยเหลือต่อไหมหรือต้องช่วยเหลือด้านอื่น เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะบอกได้ว่ามีการช่วยเหลือในรูปแบบใดที่ทำให้ครัวเรือนเกิดการเลื่อนระดับหรือหลุดพ้นจากความยากจน คิดว่าจะทำให้การแก้ปัญหาความยากจนที่ตรงเป้าแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

สุธาสินี คุปตะบุตร

ด้าน ดร.สุธาสินี คุปตะบุตร นักวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกท่านไม่ต้องตกใจทำไมถึงค้นพบครัวเรือนยากจนมีจำนวนมาก เนื่องจากฐานข้อมูลอื่นที่รายงานจำนวนแตกต่างกันนั้นขึ้นอยู่กับการกำหนดเกณฑ์ตัวชี้วัดของแต่ละหน่วยงานซึ่งจะทำให้ตัวเลขไม่เหมือนกัน เช่น TPMAP พมจ. กสศ. พช. เป็นต้น กลไกในตำบลโพนงาม คาดหวังว่าถ้าพูดถึงเรื่องความยากจนหรือการให้ความช่วยเหลือ ข้อมูลครัวเรือนยากจนในตำบลน่าจะมีตัวเลขตัวเดียวกันซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตามเกณฑ์การคัดเลือกของตำบลโพนงาม ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนในระดับพื้นที่ (P2P Application) ช่วยลดความซ้ำซ้อนและกระจายการช่วยเหลือไปยังครัวเรือนอื่นได้ หรือมีงบประมาณการช่วยเหลือมาเร่งด่วนถ้าไม่มีข้อมูลอาจจะพลาดโอกาสไป

อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์

เนื่องจากถ้าเอาคนจนกับคนจนมาอยู่ด้วยกันก็จะเตี๊ยอุ้มค่อมมองหาทางออกไม่เจอ จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงกิจการเพื่อสังคมที่มีศักยภาพ

สายฝน ปุนหาวงค์

กรณีศึกษาการส่งต่อความด้วยเหลือด้านอาชีพ อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์ นักวิจัยและหัวหน้าปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูงฯ ( Operating Model: OM ) กล่าวว่า ครัวเรือนในระบบ PPA ได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาชีพแล้ว 82 ครัวเรือน กลุ่มเป้าหมายมีการประกอบอาชีพในระยะสั้นและระยะยาวจึงได้แบ่งการช่วยเหลือเป็น 2 อาชีพ คือทำนาปรังและเพาะเห็ด กระบวนการค้นหาอาชีพที่เหมาะสมมีทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลทุนดำรงชีพจากระบบ P2P Application และการวิเคราะห์ห่วงโซ่การผลิตด้วยแนวคิด Pro-poor Value Chain ห่วงโซ่การผลิตเกื้อกูลคนจน ผลการดำเนินงาน พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีทักษะเพิ่มขึ้น ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตจำนวน 13 ชุดองค์ความรู้ มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 สร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้แก่ เกิดหน่วยธุรกิจใหม่ในระดับตำบลวิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สาร มีกองทุนปัจจัยการผลิต/กองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าว สร้างการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศธุรกิจ (Ecosystem Transformation) ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ

จะเห็นว่าอำเภออากาศอำนวยมี 8 ตำบล ตำบลโพนงามจะอยู่ลำดับท้ายเกือบทุกเรื่องซึ่งมีปัญหาหลายอย่างที่จะต้องได้รับการแก้ไข

สุขเกษม เพ็ชรเลิศ

ถือเป็นการ Defense ข้อมูลงานวิจัยซึ่งคณะได้ไปวินิจฉัยชุมชนทั้งตำบลโพนงาม ชำแหละข้อมูลให้เห็นปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะชีวิตความเป็นอยู่ ผมเห็นตรงกันกับทีมวิจัยว่าการมีฐานข้อมูลและความรู้เป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน วันนี้ อบต.โพนงาม ได้ฐานข้อมูลที่ชัดเจนงานสวัสดิการสังคมไม่ต้องไปสำรวจอีก และท่านนายกฯ สามารถนำข้อมูลนี้มามอบนโยบายจัดทำเป็นแผนพัฒนาหรือจัดทำเป็นโครงการได้เลย ซึ่งสอดรับกับนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในปีนี้คือ “หนึ่งตำบลหนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน” ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยได้ทันที ขอให้ทุกคนได้ร่วมกันขับเคลื่อนตำบลโพนงามให้เลื่อนระดับเป็นระดับต้น ๆ ของอำเภออากาศอำนวย นายสุขเกษม เพ็ชรเลิศ หัวหน้าสำนักปลัด อบต.โพนงาม แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม

นายสุขเกษม เพ็ชรเลิศ หัวหน้าสำนักปลัด อบต.โพนงาม

กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโมเดลแก้จน พ่อเด่น ได้เปิดเผยว่า ผมฟังแล้วกินใจอยู่ 2 เรื่อง ซึ่งก่อนหน้าที่ ผอ.โรงเรียนบ้านดงเสียว เสนอแนวคิดว่าถ้าอยากก้าวผ่านความยากจนต้องหาคนที่ไม่จนมาขายแนวคิด วิธีคิด แชร์ประสบการณ์ทำอาชีพยังไงถึงมีเงินเก็บ และถ้าเราทำข้าวแล้วขายข้าวผมว่าไม่รวยหรือทำเห็ดแล้วขายเห็ดก็ไม่รวย ต้องทำการตลาดแปรรูปผลิตภัณฑ์รวมถึงการขายความรู้ให้คนอื่นมาเรียนด้วย น้องต่อ ได้กล่าวเสริม อยากพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ อยากเพิ่มกำลังผลิตและการแปรรูปเห็ดซึ่งมีตลาดหลากหลายช่องทาง การยกระดับชุมชนเห็ดเศรษฐกิจบ้านเสาวัด เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชนที่บ้านดงสารกำลังขับเคลื่อนใน ปี 2566 นี้

ปัจจุบันชาวนาหลังสู้ฟ้าหน้าหลบเจ้าหนี้ ทำนาทุกปีแต่เวลาขายข้าวได้ราคาถูก ช่องทางที่ชาวบ้านจะเดินไปเองไม่มี ข้าวที่ชาวบ้านทำแปรรูปง่ายคือสาโทแต่ก็ผิดกฎหมาย

พ่อเด่น
พ่อเด่น พี่เลี้ยงกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโมเดลแก้จน

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผศ.ดร.สาคร อินทะชัย กล่าวก่อนปิดการประชุมว่า เห็นความเข้มแข็งของพลังภาคีในตำบลโพนงาม ที่ช่วยกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2566 นี้ ได้รับทุนวิจัยสนับสนุนต่อเนื่องเพื่อยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร ตำบลโพนงามน่าจะเน้นประเด็นการส่งต่อความช่วยเหลือ การติดตาม การนำเข้าสู่แผนพัฒนา ส่วนด้านโมเดลแก้จนจะเพิ่มเทคโนโลยีการผลิตเห็ดให้ได้ปริมาณตามความต้องการ และการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอต่อพื้นที่ 4,000 ไร่

ผศ.ดร.สาคร อินทะชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา

ซีรีย์ปฏิบัติการแก้จนตำบลโพนงามในปีแรกนี้ ได้กระตุ้นการตื่นรู้ของคนในชุมชนให้เกิดความคิดใหม่โดยใช้ทรัพยากรในพื้นที่เป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาโดยธุรกิจชุมชนเกื้อกูลคนจน และเชื่อมโยงความช่วยเหลือจากภายนอกผ่านระบบข้อมูล Care All ซึ่งมี อบต.โพนงาม เป็นฮับ (HUB) กระจายความช่วยเหลือสู่ประชาชนที่ประสบปัญหาอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญเกิดการยอมรับข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกัน

มหากาพย์ความยากจนยังอยู่คู่โลกต่อไปเนื่องจากพฤติกรรมในมนุษย์มีความพร้อมที่จะเบียดบังผู้อื่นเพื่อเป็นที่หนึ่งของห่วงโซ่ชีวิต หวังว่าซีรีย์ในปีที่สองจะเกิดระบบและกลไกเพื่อบริหารจัดการกับคนจนหนึ่งคนที่เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ รวมถึงสุดยอดตัวชี้วัดการเลื่อนระดับทางสังคม แค่นี้ก็เป็นนวัตกรรมแก้จนก้าวล้ำแนวหน้าของประเทศไทยแล้ว

ที่มา : www.1poverty.com

เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ