จปฐ. สารตั้งต้นข้อมูลคนจน กับกลไกค้นหาคนจนสกลนคร100%

จปฐ. สารตั้งต้นข้อมูลคนจน กับกลไกค้นหาคนจนสกลนคร100%

ความยากจนเป็นปัญหาระดับโลก ประเทศไทยมีเป้าหมายขจัดความยากจนเป็นวาระแห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาระบบข้อมูล แต่ละกระทรวงให้ความสำคัญพร้อมกับการช่วยเหลือ พร้อมบูรณาการทำงานผ่านกลไกเชิงสถาบันต่าง ๆ

ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2566 ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ลงพื้นที่สอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจน ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภออากาศอำนวย ในกิจกรรมการรับรองคุณภาพข้อมูลความจำเป็นพื้นที่ (จปฐ.) ระดับท้องถิ่น มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วม ได้แก่ ผู้นำชุมชน อาสาสมัครเก็บข้อมูล และตัวแทนจากท้องถิ่น จำนวน 8 ตำบล จุดนัดพบอาจเป็นห้องประชุมเทศบาลหรืออาจเป็นศาลาวัด สำหรับข้อมูล จปฐ. เป็นที่รู้จักกันดีทั้งภาครัฐและประชาชน ได้อยู่คู่กับคนไทยมายาวนานกว่า 40 ปี โดยกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

นายธวัชชัย เศษเพ็ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ กล่าวว่า เครื่องมือจัดเก็บ จปฐ. ปีนี้ มีการปรับปรุงตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 – พ.ศ.2570) จัดเก็บข้อมูล 5 หมวด 38 ตัวชี้วัด มีเป้าหมายสำรวจทุกครัวเรือนที่อาศัยอยู่จริงภายใน 6 เดือน โดยมีอาสาสมัครจัดเก็บข้อมูลและบันทึกเข้าระบบ จากนั้นเป็นขั้นตอนการรับรองคุณภาพข้อมูล เริ่มตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด เป็นอันเสร็จ

“การนำข้อมูล จปฐ.ไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ สำหรับเด็กนักเรียนนำข้อมูลไปขอทุนในการศึกษา เป็นข้อมูลให้หน่วยงานนำไปใช้เพื่อจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาครัวเรือน และเป็นข้อมูลตั้งต้นให้กับระบบ TPMAP ในปี 2567”

นายธวัชชัย เศษเพ็ง

“บางครัวเรือนให้ข้อมูลไม่เป็นจริง มีที่ดินทำกิน 10 ไร่ แต่ให้ข้อมูลแค่ 5 ไร่ มีเงินส่งกลับแต่บอกว่าไม่มีรายได้ ด้านที่ทำกินน้ำท่วมเล็กน้อยไม่เสียหาย มีชาวบ้านตกเกณฑ์รายได้อยู่ 2 ครัวเรือนแต่มีลักษณะติดสุรา ไม่ทำงาน และไม่ยอมรับว่ามีปัญหาตกเกณฑ์จึงปรับข้อมูลให้ผ่านเกณฑ์ ส่วนการถูกรบกวนมลพิษส่วนใหญ่ถ้าส่งผลระยะสั้นก็ปรับข้อมูลให้ผ่าน”

นายนเรศ ไตรวงศ์ย้อย ผญบ.หมู่ที่10 ต.สามัคคีพัฒนา

นี่คือการบูรณาการทำงานผ่านกลไกเชิงสถาบัน ได้แก่ ด้านวิชาการ ด้านปกครอง และด้านพัฒนา โดยการจัดกิจกรรมและการใช้ข้อมูลร่วมกัน มีนายอำเภออากาศอำนวยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงาน ทำให้ลดขั้นตอนประสานพื้นที่และไม่รบกวนเวลาชุมชนหลายครั้ง พร้อมทั้งได้ทราบถึงปัญหาที่สำคัญร่วมกัน มีอุปสรรคหลายมิติในกระบวนการนำเข้าข้อมูล การที่จะได้ข้อมูลครัวเรือนที่เป็นจริงไม่ง่าย หรืออีกนัยยะหนึ่งที่ครัวเรือนไม่ให้ข้อมูลคือไม่รู้ว่ามีประโยชน์อะไร ตรงกันข้ามถ้าสำรวจเพื่อรับเงินเยี่ยวยาครัวเรือนจะนำหลักฐานมาแสดงทันที

ด้าน ทีมนักวิจัย มรภ.สกลนคร โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า เป้าหมายสอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจนคือ ข้อมูลอำเภอ 100% เพื่อสร้างการยอมรับข้อมูลนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ มีวิธีดำเนินการ 3 วิธี

  1. การคัดกรองข้อมูลโดยกลไกผู้นำชุมชน (คือกิจกรรมครั้งนี้) มีข้อมูล TPMAP ปี 2562 – 2566 เป็นสารตั้งต้น จำนวน 594 ครัวเรือน โดยให้ผู้นำระบุคุณลักษณะแต่ละครัวเรือน พร้อมทั้งพิจารณาว่ายากจนหรือไม่ยากจน(ข้อมูลรั่วไหล) และเพิ่มเติมครัวเรือนยากจน(ข้อมูลตกหล่น)ถ้าไม่มีข้อมูล
  2. การสอบทานข้อมูลครัวเรือนกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวกับความยากจน เช่น จปฐ. พมจ. TPMAP การคัดกรองจากผู้นำ อื่นๆ เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลมายืนยันกันและกัน จะได้ข้อมูลครัวเรือนที่มีปัญหาซ้ำซ้อนกัน
  3. การนำเข้าข้อมูลครัวเรือนปฏิบัติการโมเดลแก้จน ซึ่งมีเงื่อนไขในการเข้าร่วมตามโครงการ และต้องผ่านการรับรองข้อมูลจากผู้นำชุมชน

หลังจากการค้นหาสอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจนเสร็จ ขั้นตอนต่อไปคือการเก็บสำรวจข้อมูลครัวเรือน ใช้แบบสอบถามทุนดำรงชีพอย่างยั่งยืน 5 มิติ ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนทางกายภาพ ทุนทางการเงิน ทุนทางธรรมชาติ และทุนทางสังคม จะเก็บข้อมูลระดับบุคคล ระดับครัวเรือน และระดับชุมชน โดยอาสาสมัครที่เก็บข้อมูล จปฐ. ซึ่งมีกลไกดำเนินงาน และมีทักษะในการเก็บข้อมูล ขั้นตอนหลังจากนั้นคือการตรวจสอบความสมบูรณ์ของข้อมูลในแบบสอบถาม และนำข้อมูลบันทึกเข้าระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ (P2P Application) พัฒนาระบบและใช้ประโยชน์ในระดับจังหวัดต่อไป

อย่างที่ได้เอยไป การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อปี 2563 มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษกิจพอเพียง (ศจพ.) และตั้งกลไกดำเนินงาน ได้แก่ ระดับอำนวยการจังหวัด (ศจพ.จ) ระดับอำนวยการปฏิบัติการอำเภอ (ศจพ.อ.) ระดับปฏิบัติการคือทีมปฏิบัติการในระดับพื้นที่ (ตำบล) เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจนทุกหน่วยงานโดยใช้ระบบข้อมูล TPMAP ขับเคลื่อนการดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งระบบ TPMAP คือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ได้บูรณาการข้อมูลหลายหน่วยงาน พิจารณาแบ่งคนจนออกเป็น 5 มิติ ในปี 2566 มีรายงานข้อมูลคนจนทั้งประเทศว่า นำคนจนจาก จปฐ. 655,365 คน มีข้อมูลตรงกับคนที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ จึงเป็นคนจนเป้าหมาย 211,739 คน มีสัดส่วนคนจนลดลงร้อยละ 79.35 จากปีที่แล้ว

นอกจากมีนโยบายบูรณาการใช้ข้อมูลร่วมกันแล้ว หน่วยงานต่าง ๆ มีภาระหน้าที่ในการปรับปรุงระบบข้อมูลของตนเอง  ได้แก่ กระทรวงการคลัง ดูแลบัตรสวัสดิการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 25เมษายน2566 เปิดเผยข้อมูลมียอดผู้ได้รับสิทธิ์และได้ยืนยันตัวตนสำเร็จ 13,240,000 คน ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือเป็นค่าครองชีพคนละ 300 บาทต่อเดือน และอื่น ๆ

ด้าน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีระบบสมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์ (MSO LogBook) เข้าดูออนไลน์วันที่ 1กันยายน2566 มีรายงานข้อมูลครัวเรือนเปาะบางทั่วประเทศ 864,829 ครัวเรือน มีสมาชิกในครัวเรือนที่ประสบปัญหารวม 1,164,834 คน

ด้าน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานผลการดำเนินงานปี 2565 โครงการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา(ทุนเสมอภาค) ช่วยเหลือทุนการศึกษาครอบคลุมเด็กและเยาวชนระดับปฐมวัยจนถึงการศึกษาภาคบังคบที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส จำนวน 1.3 ล้านคน คนละ 1,500 – 3,000 บาท

เห็นไหมว่า แต่ละฐานข้อมูลมีความแตกต่างกันมาก ถ้าดูข้อมูลระดับพื้นที่ บางตำบลหรือบางชุมชนอาจไม่มีคนจน ที่สำคัญคนที่ช่วยเหลือแล้วหลุดพ้นจากความยากจนแล้วใช่ไหม มาถึงตอนนี้หลายคนจะเข้าใจมากขึ้นในการค้นหาสอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจน โดยใช้กลไกในพื้นที่ และข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ

นักวิจัย มรภ.สกลนคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่จำนวนข้อมูลคนจนแตกต่างกันนั้น เกิดจากแต่ละหน่วยงานกำหนดเกณฑ์ตัวชี้วัดต่างกันทำให้ตัวเลขไม่เหมือนกัน เช่น TPMAP พมจ. กสศ. จปฐ. เป็นต้น ปีนี้คาดว่าถ้าพูดถึงเรื่องความยากจนหรือการให้ความช่วยเหลือ ในตำบลน่าจะมีตัวเลขตัวเดียวเสนอให้กับทุกหน่วยงานได้ทันที โดยใช้ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ (P2P Application) ได้ผ่านกระบวนการสอบทานข้อมูลเป็นลักษณะตามเกณฑ์การคัดเลือกเฉพาะของตำบล สามารถนำเข้าข้อมูลและปรับปรุงแก้ไขได้ทันที ดูรายงานข้อมูลครัวเรือนยากจน มีระบบส่งต่อและติดตามความช่วยเหลือ (Care All Application) และปฏิบัติการโมเดลแก้จนที่เหมาะสมกับศักยภาพ ได้แก่ โมเดลเกื้อกูล โมเดลมุ่งรายได้ และโมเดลธุรกิจ

สุดท้ายจะมีข้อมูลเพื่อช่วยการตัดสินใจว่าครัวเรือนไหนต้องได้ช่วยเหลือตลอด ครัวเรือนนี้ยังต้องช่วยเหลือต่อไหมหรือต้องช่วยเหลือด้านอื่น เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะบอกได้ว่ามีการช่วยเหลือในรูปแบบใด ที่ทำให้ครัวเรือนเกิดการเลือนระดับหรือหลุดพ้นจากความยากจน คิดว่าจะทำให้การแก้ปัญหาความยากจนที่ตรงเป้าแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

ที่มา : www.1poverty.com

เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

“ตัวชี้วัดเลื่อนระดับ” หมุดหมายภาคีร่วมมือแพลตฟอร์มแก้จนสกลนคร

นายอำเภออากาศอำนวย ขับเคลื่อนแพลตฟอร์มแก้จน บูรณาการงานแรกค้นหาสอบทาน 100% เสร็จพร้อมรับรอง จปฐ. สิงหาคมนี้

ส่องกลไกปฏิบัติการแก้จนตำบลโพนงาม “HUBข้อมูลการช่วยเหลือคนจน”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ