เป็น อยู่ คืออูรักลาโว้ย เกาะลันตา

เป็น อยู่ คืออูรักลาโว้ย เกาะลันตา

“เรามาอยู่ตรงนี้ตั้งแต่อายุ 20 ปี ตอนนี้อายุ 83 ปีแล้ว เมื่อก่อนอยู่บ้านในไร่ ส่วนสุสานโต๊ะบาหลิวตั้งอยู่ที่คลองลัดบ่อแหน พวกเราจะเดินทางไป-มา ก็ลำบาก และที่ตั้งศาลโต๊ะบาหลิวอยู่ในที่ของเอกชนด้วย เราก็เลยเชิญโต๊ะบาหลิวมาไว้ที่นี่ อยู่ใกล้ลูกหลาน พี่น้องเราที่อยู่คลองดาวก็เดินทางมาง่ายขึ้น”

มะดีเอ็น ช้างน้ำ
มะดีเอ็น ช้างน้ำ

มะดีเอ็น ช้างน้ำ หรือที่คนในชุมชนโต๊ะบาหลิว เรียกว่าโต๊ะหมอ ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะลันตา จ.กระบี่ ได้เล่าถึงการโยกย้ายล่าสุดของชาวอูรักลาโว้ย บนเกาะลันตา ซึ่งหากหักลบจำนวนปีแล้ว พบว่าพวกเขาอยู่ที่นี่มากว่า 60 ปีแล้ว

อูรักลาโวยจ เป็นคำเรียกที่กลุ่มชาติพันธุ์นี้ใช้เรียกชื่อกลุ่มและภาษาของตนเอง หรือชื่อที่คนทั่วไปรู้จักคือชาวเล ชาวน้ำ หรือชาวไทยใหม่ อาศัยอยู่บริเวณที่เป็นหมู่เกาะทางใต้ของประเทศไทย คำว่า “อูรัก” หมายถึง “คน” “ลาโวยจ” หมายถึง “ทะเล” โดย“อูรักลาโวยจ” มีรากศัพท์มาจากภาษามลายู แปลว่า “ชาวทะเล” หรือที่ภาษาราชการไทยเรียกว่า “ชาวไทยใหม่” มีคำเรียกรวมกับชาวทะเลกลุ่มอื่น ๆ อย่างมอแกน และมอแกลนง่าย ๆ ว่า “ชาวเล” การเรียกชื่อตนเองนั้น ชาวอูรักลาโวยจนั้นจะเรียกตัวเองสั้น ๆ ว่า “ลาโวยจ โดยที่มีตัวสะกด “จ” เพราะถูกต้องที่สุดในการออกเสียงตามภาษาอูรักลาโวยจ (ประภารัตน์ ศุขศรีไพศาล, 2559)

เนื่องจากมีคำเรียกพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้อยู่หลายคำ ทั้ง อูรักลาโว้ย, อูรักลาโวยจ, ลาโวยจ, มาลาโว้ยจ ในบทความนี้เราจะใช้คำเรียกชื่อกลุ่มหรือตัวบุคลคว่า “อูรักลาโว้ย” เพื่อให้ผู้อ่านได้สะกดคำอ่านได้สะดวกและอ่านได้เพลิดเพลินขึ้น

ชุมชนอูรักลาโว้ย เกาะลันตา จ.กระบี่

ชาวชุมชนโต๊ะบาหลิวสมัยก่อนเคยทำมาหากินอยู่ที่มาเลเซีย

“และย้ายที่ทำมาหากินอยู่เรื่อย ๆ จนมาถึงเกาะลันตา และได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นี่ จากนั้นพวกเราก็แยกกันออกเป็น 5 ชุมชน คือชุมชนสังกาอู้ ชุมชนคลองดาว บ้านในไร่ ชุมชนหัวแหลม และชุมชนโต๊ะบาหลิว เดิมทีชุมชนโต๊ะบาหลิว เคยอยู่บริเวณแหลมตึง บ้านศาลาด่าน แล้วก็ย้ายที่มาเรื่อย ๆ จนมาถึงที่นี่ ประมาณ 10 ครัวเรือน แล้วหลังจากนั้นก็ย้ายไปทำมาหากินที่บ่อแหน(คลองลัดบ่อแหน) ด้วยการรับจ้างตัดไม้ เผาถ่าน เมื่อหมดสัมปทานก็ย้ายมาอยู่ที่นี่ แล้วก็โดนจับกุม เพราะเขา(เจ้าหน้าที่รัฐ) หาว่าเราบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนที่นี่ แต่ก็ได้กำนัน(ในสมัยนั้น) มาช่วยไกล่เกลี่ย พร้อมให้ย้ายศาลเจ้าโต๊ะบาหลิวที่บ่อแหนมาไว้ที่นี่ เพื่อให้เป็นพื้นที่วัฒนาธรรม และด้วยบารมีของศาลเจ้าโต๊ะบาหลิวพวกเราก็ได้อยู่ที่นี่”

เดียว ทะเลลึก ชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะลันตา ช่วยขยายความให้เราเห็นที่มาที่ไป และรูจักชาวเลอูรักลาโว้ยเกาะลันตามากขึ้น

มะดีเอ็น ช้างน้ำและเดียว ทะเลลึก ระหว่างทำพิธีขออนุญาติใช้สถานที่สำหรับถ่ายทำรายการ

“มาอยู่ช่วงแรก ๆ เราไม่มีน้ำ ไฟฟ้า มาสร้างขนำเล็ก ๆ อยู่อาศัยกัน ประกอบอาชีพประมง มีประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดคือประเพณีลอยเรือ ในช่วงที่เราจะปิดฤดูทำมาหากิน คือช่วงเดือนหก ซึ่งเป็นช่วงที่จะเริ่มฤดูมรสุม พวกเราก็จะทำพิธีลอยเรือ และเมื่อเราจะกลับไปทำมาหากินอีกครั้ง(ออกทะเล) คือช่วงเดือดสิบเอ็ด เราก็จะทำพิธีลอยเรืออีกที ในรอบปีจะประกอบพิธี 2 ครั้ง คือช่วงเดือนหก และเดือนสิบเอ็ด”

เดียว ทะเลลึก

“เราเป็นโต๊ะหมอรุ่นที่ 4 แล้ว เราจะเป็นผู้นำทำพิธีลอยเรือ ขอความคุ้มครองกับเจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา ขออย่าให้ลูกหลานเจ็บไข้ ให้อยู่กันปลอดภัย ทำมาหากินคล่อง ขอจับสัตว์น้ำในทะเล ปู ปลา หอย หมึก กุ้ง เพราะพวกเราทำงานในทะเลเป็นหลัก เราสืบทอดพิธีกรรมเหล่านี้ต่อ ๆ กันมา”

มะดีเอ็น ช้างน้ำ
พิธีลอยเรือชาวเล

นิสัยของชาวเล

“คือไม่คิดว่าแผ่นดินที่อยู่อาศัยนั้นเป็นของตัวเอง มองว่าเป็นที่ดินของทุกคน ที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้ เมื่อก่อนพื้นที่เกาะลันตา มีพี่น้องชาวเลทำไร่ ทำนา และย้ายแหล่งทำมาหากินไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ยึดถือเป็นเจ้าของ โดยทุกคนสามารถทำมาหากินได้ทุกพื้นที่ จึงเป็นเหตุให้พี่น้องไม่มีที่อยู่อาศัย จากการที่พี่น้องชาวเลไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ขนานจะเข้าไปติดต่อเรื่องที่ดินยังไม่สามารถทำได้ แม้กระทั้งภาษาที่จะคุยกับเขา(เจ้าหน้าที่รัฐ) ก็คุยกันไม่รู้เรื่อง”

“ชาวเลมีปัญหาเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน อย่างที่เกาะลันที่พื้นที่ทำกินของพี่น้องชาวเลได้ถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์(อยู่ในเขตอุทยาน) พอไปคุยกับหน่วยงานประมง เขาก็บอกจะทำปะการังเทียมให้ แต่พื้นที่เกาะต่าง ๆ (เกาะหมา เกาะไหง เกาะรอก เกาะกระดาน) ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินดั้งเดิม”

ปัจจุบันเราไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินได้ ทำให้พี่น้องชาวเลมีพื้นที่ในการทำมาหากินแคบลง และการที่เหลือพื้นที่ทำมาหากินน้อยลง ส่งผลให้วิถีของพี่น้องชาวเลเปลี่ยนไป คือหันไปทำงานรับจ้างทั่วไปมากขึ้น เพราะกลัวจะถูกจับหากไปทำกินในพื้นที่อุทยาน และอีกประเด็นคือเรือและเครื่องมือประมงของพี่น้องลดน้อยลง เนื่องจากไม่มีเงินซื้อใหม่หรือซ่อมแซม จากวิถีดั้งเดิมที่เคยตัดไม้มาทำเรือเอง แต่ปัจจุบันไม่สามารถทำได้เพราะเป็นเขตอุทยาน”

ท่าจอดของชาวเลอูรักลาโว้ยที่มีฉากหลังเป็นสะพานเชื่อเกาะลันตา

ที่นี่ก็ยังคงทำประมงพื้นบ้านอยู่ มีทั้งอวนหมึก ไซหมึก อวนปู อวนกุ้ง ไซปลา อย่างไซปลา บางครั้งก็ได้ 100-200 กก. แต่บางครั้งก็ได้มาไม่พอค่าน้ำมันก็มี

การทำมาหากินของพี่น้องชาวเล

พวกเรารู้ว่าแนวปะการังอยู่ตรงไหน หากวางไซบนแนวปะการังไม่ได้ปลาแน่นอน ต้องวางตรง “ซาเฆด” หรือจุดที่อยู่ระหว่างแนวปะการังกับพื้นดิน ซึ่งจุดนี้จะเป็นทางผ่านของปลา ซึ่งเป็นจุดที่ไม่ทำลายปะการัง ส่วนหมึก พี่น้องจะใช้ไซดักจับ และในไซจะแขวนไข่หมึกไว้ตลอดเวลาจนกว่าไข่จะฟักออกมาเป็นตัวและขยายพันธุ์หมึกอยู่ตลอดเวลา และการที่แขวนไข่หมึกไว้ในไซ จะช่วยป้องกันปลาหรือสัตว์น้ำชนิดอื่นเข้ามากินไข่หมึกด้วย ซึ่งไข่หมึกนี้จะเป็นตัวล่อให้หมึกเข้ามาในไซ เราได้ทั้งหมึกตัวเต็มวัยและได้ขยายพันธุ์หมึกไปในตัว นี่เป็นการอนุรักษ์โดยธรรมชาติของพี่น้องชาวเล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครพูดถึงเลย”

หลังกลับมาจากทะเล ผู้หญิงจะรับหน้าที่สาวอวนปู

“ไซปลาที่ใช้ก็จะมีขนาดตาข่ายสำหรับจับปลาขนาด 4 นิ้วขึ้นไป พวกเราจับเฉพาะปลาตัวโต ๆ ซึ่งหลักคิดของการทำประมงแบบชาวเล คือ 3 เดือนแรกทำอวนกุ้ง อีก 3 เดือนถัดไปดักไซหมึก และถัดไปอีก 3 เดือนเราก็จะออกอวนปู และการทำมาหากินแต่ละครั้ง เราไม่เจาะจงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เราจะหมุดเวียนไปตามเกาะตาม ๆ ตามฤดูกาลเพื่อเพิ่มโอกาสให้สัตว์น้ำเศรษฐกิจเหล่านั้นขยายพันธุ์”

“ไม่เหมือนกับปัจจุบันที่ภาครัฐได้ประกาศเขตอุทยาน และให้พวกเราต้องมาหากินเพียงจุดเดียว ชาวเลจากชุมชนต่าง ๆ ก็มารุมกันที่เดียว เลยทำให้คนรู้สึกว่าประชากรของสัตว์น้ำลดลง”

บูบู หรือไซชาวเล

“เราลำบากเรื่องน้ำ เรื่องไฟ เมื่อก่อนไม่มีน้ำประปาอย่างตอนนี้ ส่วนตอนนี้พอมีใช้ก็จ่ายแพง ค่าไฟก็แพงเหมือนกัน ที่บ้านค่าค่าไฟเดือนละ 600-700 บาท มีพัดลม หม้อหุงข้าว โทรทัศน์ 1 เครื่อง และกระติกน้ำร้อน”

มะดีเอ็น ช้างน้ำ

“ครั้งแรกคือเราขอหม้อไฟฟ้าแบบพิเศษ เนื่องจากเขาไม่สามารถเข้ามาติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าในพื้นที่ป่าชายเลนได้ เพื่อจะได้มีไฟฟ้าในการทำพิธีตรงศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว แล้วหลังจากนั้นเราก็ให้พี่น้องได้พ่วงไฟฟ้าจากหม้อลูกนั้น ทำให้การใช้ไฟฟ้าจำนวนมากขึ้น และจ่ายค่าไฟสูงมากเพราะเป็นหม้อแบบพิเศษ(หม้อแปลงแบบใช้ชั่วคราว) รายได้ของพี่น้องน้อยอยู่แล้ว แต่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงขึ้น สถานะของแต่ละครอบครัวตกต่ำลง พูดง่าย ๆ คือเงินที่จะซื้อของกินก็จะไม่มีอยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องจ่ายค่าไฟในราคาที่แพง จึงทำให้พี่น้องจนลงเรื่อย ๆ”

เดียวเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นการมีไฟฟ้าใช้ครั้งแรกของชาวเลชุมชนโต๊ะบาหลิว

ศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว พื้นที่จิตวิญญาณของชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะลันตา

“ตอนนี้พี่น้องได้เก็บข้อมูลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเอง คือการเก็บข้อมูลในชุมชน เรื่องพื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ ที่อยู่อาศัย สุสาน เพื่อให้ชุมชนได้เดินต่อไปได้”

เดียว ทะเลลึก เล่าถึงความพยายามล่าสุดของพี่น้องชาวเล ที่ร่วมกับภาคประชาสังคม ช่วยกันสำรวจข้อมูลพื้นฐานและปัญหาของชุมชนโต๊ะบาหลิว ที่ล่าสุดมีบ้านจำนวน 88 หลัง กับจำนวนประชากรอีก 261 คน ที่ยังต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“โครงการบ้านมั่นคงในตอนนี้ อยู่ระหว่างตรวจสอบจำนวนครัวเรือนที่สำนักงานป่าชายเลนอนุญาตให้อยู่อาศัยได้ จำนวนประชากรในแต่ละครอบครัว อาศัยอยู่จุดไหนบ้าง และบ้านไหนที่ต้องการซ่อมแซม หรือบ้านไหนบ้างที่ต้องการรื้อถอนเพื่อสร้างใหม่ พวกเราก็เก็บข้อมูลเพิ่มอีกหลายอย่าง(ตำแหน่งของบ้านแต่ละหลัง ความกว้างความยาว) เพื่อจะมาปรับปรุงบ้านให้สามารถเป็นพื้นที่รองรับการท่องเที่ยวได้ โดยท่องเที่ยวผ่านวิถีชีวิตของพี่น้อง จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในชุมชน และสามารถส่งให้ลูกหลานได้เรียนจบสูง ๆ ได้ เพื่อจะได้กลับมาพัฒนาชุมชนชาวเลในอนาคต”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ