ชาวเลสู้! เดินสายร้อง UN คุ้มครองสิทธิที่อยู่อาศัยปมข้อพิพาทที่ดินหลีเป๊ะ จี้ กรมธนารักษ์และทส.ปกป้องที่ดินชุมชนและโรงเรียน

ชาวเลสู้! เดินสายร้อง UN คุ้มครองสิทธิที่อยู่อาศัยปมข้อพิพาทที่ดินหลีเป๊ะ จี้ กรมธนารักษ์และทส.ปกป้องที่ดินชุมชนและโรงเรียน

การเดินทางไกลกว่า 800 กิโลเมตร จากเกาะหลีเป๊ะ อ.เมืองสตูล จ.สตูล สู่กรุงเทพฯ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยกว่า 10  ชีวิตพร้อมเครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(P-Move) และกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยง เดินสายยื่นหนังสือเพื่อสื่อสารให้หน่วยงานราชการและประชาชนทั่วไปให้รู้ข้อเท็จจริงจากพื้นที่ กรณีข้อพิพาทเอกสารสิทธิที่ดินระหว่างชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กับเอกชนที่ถือเอกสารสิทธิที่ดินแล้วอ้างกรรมสิทธิ์เพื่อเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เรื้อรังมานานกว่า 30 ปี 

หากนับตั้งแต่วันนี้ก็ล่วงเข้าวันที่ 6 แล้ว ที่ชาวเลอูรักลาโว้ยต้องออกจากเกาะมาปักหลักอยู่ใน กทม. (เดินทางออกจากเกาะตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม) และมีแผนเดินสายยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงบ่ายวันที่ 20 มกราคมนี้ เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางออกกรณีข้อพิพาทเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย, องค์การสหประชาชาติ,กระทรวงการคลัง, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ทำเนียบรัฐบาล, สมาคมนักข่าวฯ, พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ประธานคณะกรรมการเเก้ปัญหาข้อพิพาทบนเกาะหลีเป๊ะ และนาย อนุชา นาคาสัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

แผนเดินสายที่พี่น้องชาวเลจะเดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 16-20 มกราคม 2566

ล่าสุด กลุ่มชาวเลและเครือข่ายประชาสังคมได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือไปแล้ว 6 หน่วยงาน คือ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย, องค์การสหประชาชาติ, กระทรวงการคลัง, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทำเนียบรัฐบาล โดยมีผลตอบรับจากตัวแทนแต่ละหน่วยงานระบุเป็นเสียงเดียวกันว่าจะรีบนำปัญหาข้อพิพาทที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะเข้าสู่กระบวนการติดตามและพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป

“UN ถือว่าเป็นองค์กรระดับสากล คิดว่าน่าจะมีส่วนในการที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญ ส่งสัญญาณไปที่รัฐบาลได้ในทุก ๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิชุมชน และมองว่า UN น่าจะมีบทบาทช่วยคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้” จำนงค์ จิตรนิรัตน์ ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(P-Move) และกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยง กล่าว

จำนงค์ ระบุว่า การเดินทางไปหน้า UN ก็เพื่อต้องการยื่นแถลงเอกสาร “รัฐไทยกับการกับการละเลยสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง” ต่อตัวแทนเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานกลุ่มชาติพันธุ์จาก UN ประเทศไทย ให้ส่งเรื่องต่อ เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ของชุมชนชาวเลที่กำลังประสบปัญหาถูกละเมิดสิทธิในที่ดินและที่อยู่อาศัย รวมถึงบางครอบครัวต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินตัวเอง และล่าสุดเอกชนมีการก่อสร้างกีดขวางทางเดินไปสู่พื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน สถานีอนามัยของชุมชน รวมถึงการการละเมิดสิทธิทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทางเดินชายหาดและท่าจอดเรือประมงที่โดนปิดจากที่เคย ซึ่งเครือข่ายประชาชนอยากให้ทางเลขาธิการสหประชาชาติระดับสากล ดำเนินการประสานกับรัฐบาลไทยเพื่อเข้ามาคุ้มครองชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยในพื้นที่ด้วย ทางด้านตัวแทน UN ประเทศไทยก็กล่าวว่าจะเร่งดำเนินการส่งให้เลขาธิการสหประชาชาติต่อไป 

ภาพ: จำนงค์ จิตรนิรัตน์ 

ถัดมา เครือข่ายเดินทางไปที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อยื่นหนังสือถึงตัวแทนจากกรมธนารักษ์ เรียกร้องให้มีการปกป้องที่ดินโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ 

จำนงค์ ระบุว่า จากกรณีล่าสุดที่เอกชนปิดทางเข้าออกโรงเรียน โดยเอกชนอ้างสิทธิในการครอบครองที่ดินให้คนงานมาสร้างประตูปิดกั้นเส้นทางระว่างโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะกับชุมชนชาวเล ซึ่งที่ดินโรงเรียนเดิมทีมีทั้งหมด 6 ไร่ แต่ตอนนี้ที่ดินโรงเรียนถูกคร่อมทับโดยการปิดกั้นการก่อสร้างของเอกชนไป 2 ไร่ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักของชุมชนชาวเล 

จำนงค์ ระบุเพิ่มเติมว่าเอกสารที่ดิน ส.ค.1 ในชุมชนเกาะหลีเป๊ะ เดิมทีมี 50 ไร่ แต่พอกรมที่ดินออกสารสิทธิ์ น.ส. 3 ทำให้ที่ดินบริเวณนั้นเพิ่มเป็นจำนวน 80 ไร่ ซึ่งในจำนวน 80 ไร่ มีพื้นที่โรงเรียนบ้านอาดัง และชุมชนจำนวนหนึ่งอยู่ด้วย จึงเกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกัน

“พื้นที่โรงเรียน ในข้อมูลเอกสารสิทธิ์ น.ส. 3 พบว่าไปทับพื้นที่โรงเรียนบ้านอาดัง จำนวน 2 ไร่ แต่ในทางกฎหมาย พื้นที่ 6 ไร่ของโรงเรียนเป็นพื้นที่ราชพัสดุ ที่อยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์ แต่ที่ผ่านมาเรามองว่า กรมธนารักษ์ยังไม่ได้ออกมาแสดงตัวคุ้มครองที่ดินของตัวเอง ดังนั้น เลยต้องมายื่นหนังสือเพื่อขอให้กรมธนารักษ์เข้าไปวัดที่ดินของโรงเรียนบ้านอาดัง เพื่อตรวจสอบว่าพื้นที่โรงเรียน 6 ไร่ ยังอยู่ครบไหม เพราะชาวบ้านมองว่า พื้นที่ได้หายไป 2 ไร่ แล้วหายไปได้อย่างไร ด้านตัวแทนของกรมธนารักษ์ ก็รับปากแล้วว่าจะรีบเร่งตรวจสอบโดยเร็ว”  จำนงค์ กล่าว

ภาพ: จำนงค์ จิตรนิรัตน์ 

จำนงค์ เล่าต่อว่า นอกจากนี้ยังไปยื่นหนังสือต่อกระทรวงทรัพยากรกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บังคับใช้กฎหมายทวงคืนที่ดินอุทยานแห่งชาติตะรุเตาต่อผู้ที่บุกรุก เพราะตามประวัติศาสตร์พื้นที่ที่ประชาชนชาวเลอยู่ก็เป็นส่วนหนึ่งของอุทยาน แต่ต่อมามีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ส.ค. 1 ให้ชาวบ้าน 41 แปลง แต่ว่า 41 แปลงนั้น ไม่เป็นของชาวเลอีกแล้ว เพราะถูกนำไปออกเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ดิน น.ส. 3 ในชื่อของเอกชนหมด โดยแต่ละแปลงของของเอกสารสิทธิ์ ส.ค. 1 เมื่อเปลี่ยนเป็น น.ส. 3 ก็ขยายขึ้นทุกแปลง รวมเบ็ดเสร็จจาก 41 ไร่ เป็น 80 ไร่ 

จำนงค์ ทิ้งทายว่า การเดินทางมาที่ กทม.ครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาที่ดินหลีเป๊ะมาสื่อสารต่อหน่วยงานราชการและประชาชนทั่วไปให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของปัญหา เพราะเกาะหลีเป๊ะ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอันดามัน ประเทศไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรับรู้ว่า นอกจากหลีเป๊ะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเล และที่ทะเลสวยงามอยู่ได้ก็เพราะว่าชาวเลมีวิถีชีวิตทำมาหากินแบบอนุรักษ์ธรรมชาติไปด้วย แต่ว่าตอนนี้ชาวเลกลับกลายถูกทำให้เป็นผู้บุกรุก ดังนั้น อยากให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าใจว่า หากมาเที่ยวเกาะหลีเป๊ะก็ควรเป็นการมาเที่ยวที่ไม่ควรไปทำร้ายชุมชนดั้งเดิม  

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดินชาวเล อูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะกันต่อว่าจะเป็นอย่างไร เราทุกคนในสังคมจะมีส่วนร่วมในการหาทางออกต่อเรื่องนี้ได้อย่างไร ชวนวิเคราะห์หาทางออกร่วมกันได้ในงาน เสวนา “ทางออก หลีเป๊ะ ปัญหาที่ดินชาวเล” วันที่ 19 มกราคม 2566 ณ ห้อง SEA Junction ศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์เสวนา “ทางออก หลีเป๊ะ ปัญหาที่ดินชาวเล”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ