ดันอาเซียนตั้งศูนย์ฝุ่นควันที่เชียงใหม่ กลยุทธ์สู้ฝุ่นของพิธา เป็นจริงได้ไหม ?

ดันอาเซียนตั้งศูนย์ฝุ่นควันที่เชียงใหม่ กลยุทธ์สู้ฝุ่นของพิธา เป็นจริงได้ไหม ?

แม้สถานการณ์ฝุ่นควันในช่วงกลางมิถุนายนจะสงบลงให้เราได้พักหายใจ  แต่อีกไม่นานเราต่างรู้ดีว่ามันจะกลับมาสร้างผลกับชีวิตเราวนซ้ำ   บนสภาวะเปลี่ยนผ่านของกลไกการทำงานและจัดการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่งผลให้ความรู้สึกว่า เราไม่มั่นใจว่าปัญหานี้จะถูกจัดการกันแบบไหนกันแน่ จะซ้ำรอบเดิมแบบก้าวไม่พ้นวังวนฝุ่นควันหรือไม่ ?  วงคุยแผนมาตรการแก้ฝุ่นควันปี 2567 ที่ทีมพรรคก้าวไกลชวนคนเชียงใหม่มาเติมไอเดียสู้ฝุ่น ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 ที่เชียงใหม่ จึงได้รับความสนใจจากผู้เกี่ยวข้องเรื่องฝุ่นหลายฝ่าย

อ.เดชรัต สุขกำเนิด  ผู้อำนวยการ Think Forward Center นำทีมพรรคก้าวไกลมานำเสนอมาตรการรับมือฝุ่นละออง PM.2.5    ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ตามมารับฟังและคุยแนวทางที่เขามองปัญหานี้กับผู้ร่วมงาน ซึ่งได้รับความสนใจอย่างยิ่ง

พิธาบอกว่า เขามาคุยเรื่องนี้กับวงนี้ ด้วยประสบการณ์เรื่องฝุ่น 3 บทบาท

1.เคยเป็นประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2.ตอนเป็นสส ดูกรรมาธิการงบประมาณ เห็นความเบี้ยหัวแตก

3.เป็นผู้ประสบภัย ที่ช่วงมาหาเสียงภาคเหนือเป็นช่วงฝุ่นขึ้นสูงพอดี ซึ่งได้รับผลกระทบถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาล

ปัญหาฝุ่นสำหรับเขาพันกันและกระทบ 3 มิติ คือเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ  มูลค่าผลกระทบ 3 มิติประมวลตัวเลขอ้างอิงทั้งระบบในช่วงฝุ่นเหนือท่วมเสียหายหลัก 10,000 ล้าน แต่งบที่ใช้แก้ปัญหามีเพียง 85 ล้านบาท กระจัดกระจายในหน่วยงานต่างๆเป็นเบี้ยหัวแตก

“ปัญหาที่เกิดผลกระทบนับหมื่นล้าน กับงบประมาณจัดการหลักร้อยล้าน ทุกท่านคงเห็นว่าผิดสัดส่วนกับสถานการณ์ปัญหาของโลกใบใหม่  ซึ่งนี่เป็นโจทย์การจัดการงบประมาณที่มีความท้าทาย และนอกจากงบประมาณยังเป็นเรื่องของกฎหมาย   ของเดิมเรามี พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมปี 2535   และกำลังมีการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งเรื่องของกฏหมายจะเป็นการจัดการเรื่องหน้าที่ และอำนาจ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา  ที่สำคัญ เราต้องเรียงลำดับความสำคัญของปัญหา”

างออกและระดับของปัญหาที่เขาที่มองมี 3 ระดับ

1.ระดับนานาชาติ  ทั้งพหุภาคีและทวิภาคี  

“กลุ่มประเทศอาเซียนมีข้อตกลงความร่วมมือแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดนมากว่า 20 ปี แต่ผู้นำไม่ใส่ใจ ศูนย์ปฏิบัติการด้านมลพิษอาเซียนยังไม่มีสถานที่ลง  ผมอยากใช้การต่างประเทศเชิงรุก เสนอให้มาตั้งที่เชียงใหม่   (เสียงปรบมือเกรียวกราว)กองทุนอาเซียนด้านหมอกควันที่มีการลงขันกัน ยังไม่มีใครขอใช้   พ.ร.บ.อากาศสะอาดของอาเซียนมี กฎหมายเอื้อ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ”     

2.ระดับประเทศ บริบทปัญหาแต่ละพื้นที่ ไม่เหมือนกัน  วิธีแก้ไขต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ค่าเฉลี่ย pm 2.5 ระดับประเทศไม่สมจริง ฝุ่นสูงที่สระบุรีจากเหมืองปูน  ที่สมุทรปราการฝุ่นจากโรงงาน  ฝุ่นเหนือจากไฟและควันข้ามแดน  วิธีแก้ย่อมต่างกันสิ้นเชิง”

3.ระดับท้องถิ่น  งบประมาณไม่มี  แต่จะกระจายอำนาจต้องไปให้เหมือนขาเก้าอี้คือมี 4 ขา คืออำนาจ ภารกิจ งบ และคน จึงจะบรรลุ

“กรอบคิดที่ผมอยากชวนกันมองคือ การแยกแยะปัญหาและเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังให้ถูกจุด”พิธากล่าวสรุป

หลักการที่พิธาขมวด นับว่าเข้าเป้ากับ Painpoint ของคนเหนือ ที่ปัญหาฝุ่นที่เผชิญอยู่คือเรื่องฝุ่นข้ามแดนและฝุ่นจากไฟในเขตป่าและพื้นที่เกษตร ซึ่งต่างจากปัญหาของภาคกลางในเขตเมืองหรืออุตสาหกรรม  ทำให้เสียงประมือดังขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเขาเสนอถึงกลไกระดับนานาชาติที่จะแก้โจทย์ข้ามพรมแดน  “ศูนย์ปฏิบัติการด้านมลพิษอาเซียน”จะเกิดขึ้นได้ที่จริงที่เชียงใหม่หรือไม่ ? จะเป็นกลไกที่ทำให้เราก้าวพ้นวังวนฝุ่นควันจริงหรือ ?

ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution – AATHP  หรือความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนนั้น คือความตกลงทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศสมาชิกอาเซียน ลงนามเมื่อปี พ.ศ.2545 หรือ 20 ปีที่แล้ว   โดยมีความพยายามนำไปสู่การประสานแนวทางปฏิบัติในการป้องกันและลดมลพิษข้ามพรมแดน  เนื่องจากช่วงเวลานั้น  เกิดหมอกควันคลุ้งข้ามพรมแดนจากการถางป่าและเผาในเกาะสุมาตรา บอร์เนียว  คาบสมุทรมาลายู และอื่นๆ  โดยลมมรสุมพัดฝุ่นควันมาทางตะวันออกส่งผลนปกคลุมทั่วจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในมาเลเซีย สิงคโปร์ และบางส่วนของไทย(ภาคใต้)และ บรูไน 

 ปี 2550 ดิฉันเคยเขียนสารคดีจินตภาพแห่งลุ่มน้ำโขงเรื่อง “ควันข้ามโขง ฆาตรกรเงียบไร้พรมแดน” https://thecitizen.plus/node/25359 โดยสัมภาษณ์  คุณศิริ   อัคคะอัคร หัวหน้าสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่าของไทย เป็นหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญด้านไฟป่าอาเซียน ในขณะนั้น   บอกว่าที่ผ่านมากลุ่มอาเซียนจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาหมอกควันของประเทศทางใต้คือไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย  โดยมีศูนย์อำนวยการด้านหมอกควันข้ามพรมแดน ซึ่งกินความหมาย 10 ประเทศสมาชิก เพียงแต่ที่ผ่านมาปัญหาเกิดขึ้นกับประเทศทางตอนใต้ แต่เมื่อประเทศทางตอนเหนือมีปัญหาช่องทางตามข้อตกลงนี้ก็สามารถประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันที แต่ได้เริ่มมีการประชุมความร่วมมือกันแล้ว

ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว คุณศิริบอกว่า เป็นความร่วมมือด้านวิชาการ และการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในแต่ละประเทศ โดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียนจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานให้แต่ละประเทศส่งข้อมูลมาและส่งกลับไปให้ประเทศสมาชิกรับทราบ และก่อให้เกิดการพัฒนา เช่นการเกิดหน่วยงานด้านไฟป่าขึ้นในประเทศที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นอินโดนีเซีย

“ความร่วมมือเช่นนี้ส่งผลดี เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศหนึ่ง ก็มีประเทศอื่นคอยดูอยู่ด้วย มีการตั้งกรรมการผู้เชี่ยวชาญ 5 ชาติคือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบูรไน เมื่อเกิดควันไฟที่อินโดนีเซีย ก็จะเรียกกรรมการชุดนี้ไปประเมินสถานการณ์ว่าใครจะทำอะไรได้บ้างทันที”

แต่ด้วยลักษณะของพื้นที่และประชากรในภูมิภาคนี้  ที่คนยังยากจน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หาของป่า ล่าสัตว์ ถางและเผาป่า  และบางประเทศไม่มีระบบแก้ไขไฟป่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ปล่อยให้ไหม้ไป  และแม้ประเทศไทยจะมีหน่วยควบคุมไฟป่า แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยป่าอนุรักษ์ของไทยที่มีถึง 106 ล้านไร่ มีงบประมาณเพื่อดูแลเพียง 21 ล้านไร่ หรือร้อยละ 20 ของพื้นที่เท่านั้น ทีเหลืออีกร้อยละ 80 ใช้วิธีประสานงานหน่วยที่เกี่ยวข้อง  ส่วนนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม่ก็ไม่มีงบประมาณดูแลไฟป่า  ซึ่งหากมีความร่วมมือระหว่างประเทศจะนำไปสู่การเริ่มต้นแก้ไขปัญหา ที่จะนำไปสู่ความตระหนักและจัดตั้งหน่วยงานดูแลเฉพาะในที่สุด  เช่นกับที่ได้เกิดขึ้นที่อินโดนีเซียที่พัฒนาระบบป้องกันไฟป่าโดยเรียนรู้จากไทยมาไม่ต่ำกว่า 10  ปีแล้ว

“ความร่วมมือในลุ่มน้ำโขง เริ่มมีการพูดคุยกันแต่อยู่ในระดับรับทราบปัญหา  ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลายิ่งกับการสร้างความตระหนักสำหรับประเทศที่ยังไม่มีระบบด้านนี้เลย”

 คุณสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษในขณะนั้น  บอกว่าการประชุมภาคีของสนธิสัญญาข้อตกลงหมอกควัน ของอาเซียน  ไทยเสนอที่ประชุมจัดตั้งเป็นกลุ่มสำหรับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา  เสนอให้มีความร่วมมือกันในส่วนของอาเซียนภาคเหนือ ในการควบคุมเรื่องหมอกควันที่เกิดขึ้นจากไฟ ซึ่งที่ประชุมภาคีเห็นชอบให้จัดตั้งเป็นลักษณะของ  Technical Working Group โดยปีแรก (พ.ศ.2550)ประเทศไทยเป็นประธานโดยตัวเขาเอารับตำแหน่งเป็นประธานคณะทำงานนั้น และการประชุมนัดสำคัญกลางเดือนมีนาคม 2551  ที่จังหวัดเชียงใหม่ทุกประเทศมาร่วมหารือ และข้อตกลงที่สำคัญคือการบริจาคเงินเข้ากองทุนอาเซียนด้านหมอกควัน  ประเทศละ 50,000 เหรียญสหรัฐ   และเริ่มเดินหน้าเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง 

เขาบอกว่าบางประเทศอาจมีปัญหาภายในประเทศที่จะต้องดูแลก่อนเช่นพม่า  แต่ก็มีประเทศที่น่าจะเจรจาให้เห็นความสำคัญของเรื่องหมอกควันได้เช่น ลาว เวียดนาม แต่อาเซียนคงจะเดินหน้าเรื่องนี้ด้วยกลวิธีที่ใช้มาตลอดคือ “สปิริตของอาเซียน” ที่จะต้องช่วยเหลือกัน  นอกจากนั้นกลุ่มประเทศทางตอนเหนือมีกลุ่มที่รวมตัวกันแข็งแรงเช่นมีคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงที่มีประเทศสมาชิกรวมตัวกันอยู่  แนวทางความร่วมมืออาจจะรวดเร็วกว่าทางภาคใต้ 

ในช่วงเวลานั้น ดิฉันมองว่า แม้ความร่วมมือของกลุ่มอาเซียนคือจุดเริ่มต้นของความพยายามแก้ไขปัญหา  แต่ทิศทางการดำเนินงานคือการตามปัญหา เช่นดับไฟ  รณรงค์งดเผา ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค และกระตุ้นให้ตระหนักถึงพิษภัย ซึ่งจะยังไม่ได้การแก้ที่ต้นตอหรือหาทางออกที่ยั่งยืนหรือไม่ ? ในเมื่อการขยายตัวของพื้นที่เกษตรในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญาและการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเข้ามาตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้  และยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันการขยายตัวพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวในภูมิภาคนี้ยังไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

เสียงวิพากษ์จากนักสิ่งแวดล้อม นักกฎหมายหลายประเทศชี้ประเด็นว่าผู้นำอาเซียนจำเป็นต้องปฏิบัติตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน อย่างจริงจัง  การที่พิธา ซึ่งอาจจะเป็นว่าที่ผู้นำหนึ่งในประเทศอาเซียนพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังและระบุว่าจะใช้การต่างประเทศเชิงรุกกับปัญหานี้ โดยให้มี  “ศูนย์ปฏิบัติการด้านมลพิษอาเซียน” เกิดขึ้นที่เชียงใหม่  จึงเป็นอีกหนึ่งความหวังถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหานี้  

อย่างไรก็ตาม บทความเรื่อง “การดำเนินการของประเทศสมาชิกอาเซียนด้านมลพิษศจากหมอกควันข้ามแดน” โดยคณะอนุกรรมการจัดทำข้อมูลด้านวิชาการด้านประชาคมอาเซียนของรัฐสภา ระบุปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนมีการหารือในเวทีการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียนอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก เนื่องจาก 3 ประเด็นหลัก คือ

1. อุปสรรคจากวิถีอาเซียน (ASEAN Way) เอง  ที่มีหลักการว่าการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  ต้องอยู่บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือ การตกลงร่วมกันโดยฉันทามติ และการไม่ก้าวก่ายและแทรกแซงกิจการภายใน  ทำให้ประเทศสมาชิกเลือกวิธีการที่ไม่เผชิญหน้า  เจรจาหารือแบบลับ และเลือกใช้วิธีการแก้ไขปัญหาแบบที่ไม่เป็นทางการและไม่ใช่ทางกฎหมาย  

2) อุปสรรคจากการขาดกลไกบังคับ  โดยข้อตกลง AATHP  ไม่มีข้อบทใดที่บัญญัติถึงการรับผิด การลงโทษ การปรับ หรือมาตรการบังคับทางกฎหมาย ใด ๆ ที่จะใช้บังคับให้ประเทศสมาชิกที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน หรือละเมิดข้อตกลง  ได้รับการลงโทษหรือบังคับต้องปฏิบัติตามข้อตกลง

3) อุปสรรคจากการไม่ปฏิบัติตามหลักสุจริต ยังมีประเทศสมาชิกที่เป็นต้นเหตุของปัญหาไม่ให้ความร่วมมือด้วยความสุจริตและจริงใจ  ไม่มีแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมและล่าช้า

 อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอแนะที่ระบุไว้โดย คณะอนุกรรมการจัดทำข้อมูลด้านวิชาการด้านประชาคมอาเซียนของรัฐสภาคือ

ข้อเสนอระดับระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียน

1) สมัชชารัฐสภาอาเซียนควรสร้างเวทีหารือเฉพาะในเรื่องการสร้างความสอดคล้องทางกฎหมายด้านปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน รวมถึงการสรรหาบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาเพื่อเป็นผู้ประสานงานหลัก ในการผลักดันประเด็นปัญหาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

2) สมัชชารัฐสภาอาเซียนควรพิจารณาบรรจุวาระปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนเป็นประเด็นหารือในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการด้านสังคม ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อมติอย่างเป็นทางการ จะเป็นการยกระดับความสำคัญของปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในกรอบอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติอาเซียน  

3) คณะผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียนควรใช้เวทีการประชุมร่วมกับผู้นำอาเซียนเพื่อกำหนดแผนงานหรือแนวทางที่จะบูรณาการร่วมกันในการผลักดันความร่วมมือระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเพื่อแก้ปัญหาโดยเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมกำหนด เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้และยอมรับ

4) ฝ่ายนิติบัญญัติของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนควรใช้เวทีหารือระหว่างประเทศในกรอบการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน โดยเฉพาะการประชุม AIPA Caucus ให้เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันและติดตามการดำเนินการตามข้อมติที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้ง สร้างความตระหนักรู้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายย่อยต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

5) ประชาคมอาเซียนควรผลักดันแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนปี พ.ศ. 2559-2568 ด้านปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ที่ได้กำหนดมาตรการเชิงยุทธศาสตร์เรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้หุ้นส่วนระดับโลกและสนับสนุนการดำเนินการตามข้อตกลงและกรอบการดำเนินงานระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่รัฐสมาชิกอาเซียนมีการดำเนินการอยู่แล้ว นอกจากนี้อาเซียนควรส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติงานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมผ่านกลไกการประชุมและการทำงานภายในกรอบอาเซียน เช่น การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม   สมัชชารัฐภาคีต่อข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ ามแดน  คณะกรรมการภายใต้รัฐภาคีต่อข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน  คณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน   และคณะทำงานภายใต้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศอนุภูมิภาคแม่น้ าโขงเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน  

ข้อเสนอระดับภายในรัฐสมาชิกอาเซียน

1) ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารของประเทศสมาชิกอาเซียน ต้องให้ความสำคัญและพิจารณาร่วมกันในการผลักดันให้มีการออกกฎหมายเฉพาะภายในประเทศให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนมาใช้บังคับเพื่อเป็นเครื่องมือบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม

2) ภาครัฐควรศึกษาหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนระหว่างประเทศสมาชิกที่มีความก้าวหน้า อาทิ สิงคโปร์ เพื่อนำมาเป็นต้นแบบและประยุกต์ในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับประเทศของตน และสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินการโดยภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมด้วย

ข้อเสนอแนะต่อฝ่ายนิติบัญญัติของไทย

1) ควรผลักดันกฎหมายเฉพาะว่าด้วยปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนออกมาบังคับใช้

2) ควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมด้านการรับมือปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนไปปฏิบัติ ควรก ากับดูแลและตรวจสอบการดำเนินการและการใช้จ่ายงบประมาณของฝ่ายบริหารให้มีประสิทธิภาพ และควรส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม อาทิ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการรับมือปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรม

3) ควรใช้กลไกของรัฐสภาในการขับเคลื่อนและผลักดันปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง  

4) ฝ่ายบริหารควรกำหนดมาตรการรองรับด้านสาธารณสุขที่สำคัญและจำเป็นในการป้องกันและรักษาสุขอนามัยส าหรับประชาชนในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนหรือเกษตรกรผู้ก่อให้เกิดปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา

“กลุ่มประเทศอาเซียนมีข้อตกลงความร่วมมือแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดนมากว่า 20 ปี แต่ผู้นำไม่ใส่ใจ ศูนย์ปฏิบัติการด้านมลพิษอาเซียนยังไม่มีสถานที่ลง  ผมอยากใช้การต่างประเทศเชิงรุก เสนอให้มาตั้งที่เชียงใหม่ ” นั่นคือสิ่งที่พิธาระบุ

หากว่าเขาจะสามารถฝ่าฝุ่นควันอันคละคลุ้งของการตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เราอาจมีโอกาลเห็นกลไกระดับนานาชาติที่มีค้างเติ่งอยู่ ได้ถูกปัดฝุ่นนำมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่ทำให้เรา พ้นจากวังวนฝุ่นควัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ