ควันข้ามโขง : ฆาตรกรเงียบไร้พรมแดน

ควันข้ามโขง : ฆาตรกรเงียบไร้พรมแดน

สารคดีจินตภาพแห่งลุ่มน้ำโขง โดยอัจฉราวดี บัวคลี่

เขียนเมื่อ 2007  ร่วมโครงการ  Imaging Our Mekong  ดำเนินการโดยสำนักข่าว Inter Press Service (IPS Asia-Pasific)  

 

“เราเคยคิดกันว่ามลพิษเป็นแค่ปัญหาของเมืองใดเมืองหนึ่ง  แต่การเฝ้าติดตามสังเกตุและข้อมูลจากดาวเทียม ทำให้เราค้นพบว่าเหล่าก้อนเมฆที่เป็นมลพิษนั้นสามารถเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว จากเมืองสู่เมือง ครอบคลุมทั้ง มหาสมุทร  นักวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า เพียงแค่ 5 วัน มลพิษ สามารถเดินทางจากจีนมายังอเมริกาได้  และในช่วงเวลา 3-4 วัน มันก็ย้ายต่อจากอเมริกาถึงยุโรป”  V.Ramanathan นักวิทยาศาสตร์จาก Scripp Institution of Oceanography at the University of California, San Diego กล่าวไว้บทวิเคราะห์ของเขา ที่ตีพิมพ์ใน The American Meteorological Socirty’s Journal of Climate.

แล้วหมอกควันพวกนี้มาจากไหน ?  มันไม่เคยเป็นหนักอย่างนี้มาก่อนเลย  ที่เมืองเหนือของไทยอย่างจังหวัดเชียงใหม่  เชียงราย  แม่ฮ่องสอน ซึ่งป่าวประกาศให้คนทั่วโลกมาท่องเที่ยวเพราะมีอากาศแสนดี  ต้องจมอยู่ใต้ ภาวะหมอกควันและฝุ่นละเอียดท่วมเมือง  ต้นปี 2007  สุขภาพของคนที่นี่ย่ำแย่  นักท่องเที่ยวยกเลิกการมาเยือน  เศรษฐกิจกระทบกระเทือนถึงระดับพันล้านบาท

ฉันยังจำภาพรองนายกรัฐมนตรีกำลังมอบหน้ากากอนามัยนับแสนชิ้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ชัดเจน  ช่างน่าหดหู่นักเมื่อเราต้องใช้มันในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ได้มีอากาศสะอาดไว้หายใจ

เรื่องเหล่านี้มิใช่เพียงเมืองเหนือของไทยที่กำลังเผชิญอีกหลายเมืองในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกำลังมีชะตากรรม   ไม่ต่างกัน  หลวงพระบาง  ประเทศลาว  เมืองที่กำลังเติบโตมีรายได้สวยงามจากการท่องเที่ยว แต่ควันโขมงจาก การเผาไร่ และทำการเกษตรซึ่งอาจเดินทางไกลมาจากที่ใดที่หนึ่งของลุ่มน้ำโขงเริ่มหนักข้อไม่เว้นในช่วงฤดูแล้ง

ฉันยืนอยู่บนยอดภูสี  หลวงพระบางกลางเดือนพฤศจิกายน ยืนยันได้ว่ากลิ่นอายของมรดกโลกที่กำลังสูดดมนั้น เคล้าด้วยกลิ่นควันไฟ

เกิดอะไรขึ้นที่ภาคเหนือของไทย ?

ครั้งนั้น (ต้นปี2007)  นับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับคนในพื้นที่นี้   กรมควบคุมมลพิษของไทย ตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (Particulate Matter 10 : PM 10) ในเดือนมีนาคม 2007 พบว่าสูงกว่าทุกปีและสูงต่อเนื่องเกินกว่า ค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อ ลูกบาศก์เมตรถึง 3 เท่า  เป็นระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ปีนี้ก็เช่นกัน (2008) เราเผชิญปัญหาเดียวกัน แม้จะเบาบางกว่าเพราะฝนได้ตกลงมาช่วยบรรเทาสถานการณ์อยู่บ้าง

หน่วยราชการของไทยรายงานสาเหตุอย่างเป็นทางการต่อคณะรัฐมนตรีว่า ปัญหาหมอกควันเกิดทั้งจากไฟป่า  การเผาตามวิถีชีวิตของคนแถบนี้ในอดีตเพื่อทำแนวกันไฟ เตรียมพื้นที่เพาะปลูก เผาหรืออบวัสดุเพื่องานหัตถกรรม   เผาเพื่อหาของป่า รวมถึงควันจากยานพาหนะ

รายงานฉบับเดียวกันให้เหตุผลเพิ่มเติมที่ทำให้ปี  2007 ปัญหาหมอกควันที่นี่รุนแรงกว่าทุกปี เนื่องจาก   การเผาป่าในแถบประเทศเพื่อนบ้านก็เพิ่มขึ้นมากด้วย  ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมพบจุดความร้อน (Hotspot) ในภูมิภาคอินโดจีน เต็มไปด้วยสีแดง

นอกจากนั้น ภาวะโลกร้อนก็ส่งผลทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นและส่งผลให้ กลไกธรรมชาติบิดเบือน ไป การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในเดือนกันยายน 2006 ถึงเดือนมกราคม 2007 ซึ่งอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทร

แปซิฟิกเขตร้อนสูงกว่าปกติ 0.7-1.1 องศาเซลเซียส (จาก National Weather Service, National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) USA.) ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศในไทยในช่วงต้นปี 2007 ทำให้สภาพอากาศ แห้งแล้งกว่าปกติ เศษกิ่งและใบไม้ร่วงจนสะสมเป็นเชื้อเพลิงจำนวนมาก เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดไฟป่าได้ง่าย นอกจากนี้ยังทำให้ฤดูหนาวยาวนานขึ้น  กลางเดือนมีนาคมที่ลมฤดูร้อนควรจะเดินทางมา  แต่ยังปรากฏมีมวลอากาศ เย็นจากจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนอีก ทำให้มีความกดอากาศสูง อากาศหนักไม่ยกตัว เกิดการสะสมตัว ของหมอกควันในพื้นที่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น

 

สุขภาพ – เศรษฐกิจ พัง !

ธนาคารแห่งประเทศไทยสาขาภาคเหนือ รายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาหมอกควันครั้งนั้นว่า  ด้านการท่องเที่ยวเกิดผลกระทบมากเมื่อเครื่องบินไม่สามารถร่อน ลงจอดที่สนามบินได้ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีแนวชายแดนใกล้พม่า มีการยกเลิกเที่ยวบินใน เดือนมีนาคมถึง 42 เที่ยวบิน ส่งผลให้ผู้โดยสารลดลงร้อยละ 21.2 ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง แม้ไม่มีการยกเลิกเที่ยวบิน แต่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของ

นักท่องเที่ยว จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือเดือนมีนาคม 2007 ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.6      กลุ่มโรงแรมในภาคเหนือถูกยกเลิกห้องพักในช่วงเวลาดังกล่าว ร้อยละ 20-30  มีรายงานมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ช่วงเวลาดังกล่าวจากบริษัทกสิกรไทยว่าภาคเหนือของไทยสูญเสียรายได้ ไปกว่า 2,000 ล้านบาท

“มันไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ แต่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจด้วย  เราเคยอวดใครต่อใคร ว่าภาคเหนือ ของไทยอากาศดี  แต่ควันและฝุ่นที่เต็มเมืองนานถึง 3 เดือนเต็ม ทำให้นักท่องเที่ยวไม่มา ต่อไปเราจะบอกว่าบ้านเรา อากาศดีตลอดปีไม่ได้อีกแล้ว” พัฒนา ศิริสมบัติ ประธานหอการค้าจังหวัด เชียงรายสะท้อนความกังวล

ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน  น.พ.พงษ์เทพ วิวรรธนะเดช หัวหน้าภาควิชา เวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหา หมอกควันภาคเหนือ ที่รัฐบาลไทยตั้งขึ้น ระบุว่า เพียง 1 สัปดาห์ของการรวบรวมข้อมูลผู้เจ็บป่วยจากปัญหาหมอกควันที่มายังโรงพยาบาล ของรัฐในภาคเหนือระหว่างวันที่ 15 – 23 มีนาคม 2007 สูงถึง 64,804 ราย

“ยังไม่รวมกับกรณีของผู้ที่เจ็บคอ แสบตา  ไอ ที่ไม่ไปโรงพยาบาลแต่ล้วนแต่ได้รับผลกระทบ กว่าร้อยละ 90  ซึ่งหากเทียบสถิติกับผู้คนในภูมิภาคอินโดจีนที่จะต้องเสี่ยงและได้รับผลทางสุขภาพจากปัญหาหมอกควันนี้มีเป็นจำนวนนับสิบล้าน  ผมถือว่านี่คือปัญหาระดับภูมิภาคที่ต้องร่วมกันแก้”

ควันบังตา …ที่หลวงพระบาง

พระสงฆ์ที่เมืองหลวงพระบาง  ออกเดินบิณฑบาตทุกเช้าเป็นกิจวัตร  เช่นกันกับที่คุณยายแพง สิริวัฒนา  จะต้องตื่นขึ้นมาก่อไฟนึ่งข้าวเหนียวเพื่อใส่บาตรเช่นนี้ทุกวัน  กลางเดือนพฤศจิกายนอากาศกำลังดี  ฉันเป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวเริ่มพากันเข้ามาเยือนมรดกโลก  สัมผัสวิถีชีวิตอันเรียบง่าย แต่ร่ำรวยด้วยวัฒนธรรมซึ่งหาได้ยากยิ่งในศตวรรษที่ 21

“ที่นี่อากาศดี”คุณยายแพงวัย 73 ปียิ้มภูมิใจ“แต่ยามหน้าแล้งช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนมีควันไฟจากที่ไกลๆ ลอยมาทำให้ยายหายใจไม่ออกเหมือนกัน”

ในวันที่เชียงใหม่ของไทยเผชิญหมอกควันอย่างหนักหน่วง   เมืองหลวงพระบางของลาวซึ่งมีสภาพภูมิประเทศเขาโอบเมืองคล้ายแอ่งกระทะเช่นกันและกำลังเติบโตเป็นเพชรเม็ดงามทางการท่องเที่ยวของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงก็สัมผัสได้ถึงสถานการณ์ที่ไม่ต่างกันนัก   หลายคนคิดว่ามันไม่ใช่ปัญหา สำคัญ  แต่หลายคนต้องจำทนกับมันอย่างไร้ทางออก

สมจิตร ไตรบุญลักษณ์  แม่ค้าขายเฝออยู่ที่หน้าตลาดท่าเรือเมล์มาร่วม 10 ปีบอกว่าช่วงเดือนมีนาคม – เดือนเมษายน จะอึดอัด หายใจไม่สะดวกและไอ มองไปข้างหน้าในระยะ 10 เมตรไม่เห็นอะไรแล้ว  เด็กเล็กแสบตา เป็นหวัด และตาแดงบ่อย

บัวคำ  พงษ์สวัสดิ์  พยาบาลประจำโรงพยาบาลตา ประจำแขวงหลวงพระบางบอกว่าทุกฤดูแล้ง หลวงพระบางจะเต็มไปด้วยหมอกควันจากการเผาไร่ทำการเกษตรนอกเมือง  ควันไฟได้ปลิวมาในเขตเมืองเป็นเถ้าละอองและมีกลิ่นเหม็น มืดไปหมดจนลืมตาไม่ได้ และจะมีผู้ป่วยโรคตาแดง แสบตามาพบเธอเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งในจำนวนนั้นรวมทั้งเด็กน้อย และนักท่องเที่ยว

“ปีที่แล้วเป็นกันมาก  บอกเขาเสมอว่าต้องไม่ให้ฝุ่นโดนตา โดยหน้า ใส่แว่นตา ใส่หน้ากากกันฝุ่น แต่ก็ไม่ค่อยมีใครใส่เพราะอาย และคิดว่าฝนตกลงมาฝุ่นควันก็หายไปได้”

ควันไฟสีขาวพวยพุ่งเป็นทางยาวขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นระยะ ๆ  ริมน้ำโขง  ประดับเสน่ห์แห่งวิถีเกษตรกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  จากยอดภูสีมุมสูงที่สุดของเมืองหลวงพระบางเห็นได้ถึงภาพนั้นอย่างเด่นชัด เช่นกันกับที่ใจกลางเมืองหลวงพระบาง แม้จะมีกฎห้าม แต่การเผาขยะที่ควันคละคลุ้งก็ปรากฏอยู่ทั่วไป  แต่ช่วงเวลาที่ที่นั่นยังไม่เผชิญกับปัญหาถึงขั้นวิกฤต  การเอ่ยถึงทางแก้จึงยังล่องลอยและจางไปเหมือนควันไฟอยู่

เวียงสมัย ศรีรัตน์  รองผู้จัดการทั่วไปสายการบินลาว สาขาหลวงพระบาง มองว่า ปัญหาหมอกควันในหลวงพระบางมีอยู่ แต่ไม่มากจนถึงกับเป็นอุปสรรคต่อการบินของการบินลาว เพราะยังให้บริการสม่ำเสมอ  แต่ปีที่ผ่านมาที่สนามบินห้วยทรายซึ่งอยู่บนเนินเขาริมน้ำโขง ตรงข้ามกับอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายของไทย มีรายงานว่าเที่ยวบินที่บินห้วยทราย – เวียงจันทร์ต้องยกเลิกเที่ยวบินเพราะสภาพหมอกควัน

“เจ้าหน้าที่ที่นั่นบอกว่ามีควันไฟจากฝั่งไทยมาก เพราะเกิดไฟป่าที่นั่น  แต่สำหรับหมอกควันที่หลวงพระบางนี่ยังไม่เกิดปัญหาถึงขั้นกระทบกับการบิน และไม่คิดว่าจะเกิดปัญหานั้น”

บุญเที่ยง สิริวัน ประธานสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว แขวงหลวงพระบา บอกว่าหมอกควันส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวบ้าง เพราะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรจะต้องทำไร่ มีการจุดไฟเผาวัสดุทางการเกษตร  แต่นี่คือสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพของคนเหล่านั้น  ที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งกำลังเติบโตเข้าไปไม่ถึงพวกเขา

“แน่นอนว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ต้องการธรรมชาติที่ดี แต่ในขณะที่ชาวชนบท  ชนเผ่าเขาก็จำเป็นต้องอาศัยการดำรงชีวิตแบบเกษตรกรรมอยู่ ถ้าเราไปห้ามเขาเบ็ดเสร็จ ก็ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ เพราะเอาเข้าจริง รายได้หรือผลบวกจากการท่องเที่ยวก็ยังไม่กระจายไปถึงประชาชนที่อยู่ในเขตชนบทได้ทั้งหมด”

บุญเที่ยงมองสถานการณ์หมอกควันอย่างเห็นอกเห็นใจผู้อื่น วิธีการที่เขาจะบอกกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่บ่นเรื่องปัญหาหมอกควันถึงเหตุผลที่ชาวชนบทต้องทำเช่นนั้น  แต่ขณะเดียวกันเขาก็ตระหนักว่าหากไม่วางแผนแก้ไข จะลุกลามส่งผลเสียต่อธรรมชาติธรรมชาติและการท่องเที่ยว

จันทวง  พนนะจิต หัวหน้าห้องการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม แขวงหลวงพระบาง เล่าถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในหลวงพระบางว่า เรื่องที่มาเป็นอันดับหนึ่งคือขยะ รองลงมาคือน้ำเสียจากครัวเรือนที่ปล่อยลงแม่น้ำโขง  และหมอกควันที่อาจจะกระทบต่อการขึ้นลงของเครื่องบินในช่วงฤดูแล้ง

จันทวงบอกว่า ฝุ่นควันเหล่านั้นมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีการก่อสร้างในตัวเมืองมากขึ้น มีเขม่าควันจากรถยนต์และมอเตอร์ไซด์เพิ่มขึ้น  แต่ที่เป็นสาเหตุหลักคือการทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน แต่รัฐบาลมีเป้าหมายว่าปี 2010  จะไม่ให้มีการถางป่าเพื่อทำไร่และจุดไฟเผาป่าอีกต่อไป โดยการให้ปลูกพืชที่เป็นสินค้าส่งออกเช่นถั่วแระ กาแฟ อยู่ในพื้นที่ของตัวเองที่ได้รับการจัดสรรให้ครอบครัวเพื่อปลูกไม้สัก  ไม้ล้มลุกเพื่อการเก็บเกี่ยว เช่น ยางพารา ไม้กฤษณา ซึ่งเชื่อว่าอนาคตปัญหาควันจะลดลงได้ แต่ในพื้นที่ชายแดนอาจพบกับปัญหาควันข้ามเขตจากจังหวัดน่านของไทย  หรือที่อ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่ติดกับบ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว

แต่สำหรับ คำผุย พมมะวง หัวหน้าการท่องเที่ยว แขวงหลวงพระบางมองว่า ปัญหาหมอกควันของหลวงพระบางเป็นปัญหาร่วมระดับภูมิภาค เพราะประชาชนภาคเหนือของลาว  ภาคเหนือของเวียดนาม ภาคใต้ของจีน  ภาคใต้ของพม่า  และภาคเหนือของไทยอยู่ในเขตเดียวกัน  เมื่อต่างคนต่างจุด  ทำให้หมอกควันในภูมิภาคนี้แน่นหนา    และไม่เฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ คนอยู่ในหลวงพระบางเองก็แสบตา เป็นหวัด เป็นไอ จาม  บ้านเรือนเปื้อน มีเถ้าถ่านปลิวมา ตากเสื้อผ้าก็ไม่ได้  นักท่องเที่ยวจากยุโรปไม่เคยเห็นควันไฟมากอย่างนี้ บ่นเสมอว่าแสบตา

“เมื่อปีกลาย เครื่องบินของการบินไทยที่บินมายังนครเวียงจันทร์หลายเที่ยว  ต้องให้เครื่องของการบินลาวบินมาลงที่หลวงพระบางเอง เพราะสภาพหมอกควันที่หนา   ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเริ่มพูดกันมากขึ้น ชาวบ้านก็บ่นกัน ที่จริงรัฐบาลลาวได้พยายามยุติการถางไร่ เพราะเราใช้การท่องเที่ยวเป็นนโยบายหลักในการพัฒนา ที่หลวงพระบางพยายามทั้งการยุติการถางไร่ การสร้างจิตสำนึกปลูกป่า  แต่ในระดับระหว่างประเทศแล้ว ก็อยากเห็นความช่วยเหลือกัน เพราะปัญหาหมอกควันไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่คือปัญหาร่วมในภูมิภาคนี้”

เมื่อเกษตรพันธสัญญาและยางพาราเบ่งบาน

                ประเด็นหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย (ในขณะนั้น)นายอมรพันธ์ นิมานันท์ รายงาน ต่อรองนายก รัฐมนตรีไทยเมื่อครั้งมาตรวจวิกฤตการณ์หมอกควันที่ภาคเหนือของไทยคือ การขยายตัวของการทำเกษตร แบบพันธะสัญญา (Contract Farming)  ทั้งในและนอกประเทศ นำไปสู่การแผ้วถางพื้นที่ป่าโดยการเผาและเป็นที่มา ของการเกิดไฟป่าเป็นบริเวณกว้าง  ควันจากพรมแดนไทย-พม่าพัดเข้ามาสร้างปัญหาในเขตเมืองเชียงราย ในช่วงนั้น

แต่ประเด็นนี้กลับไม่มีการเอ่ยถึงต่อนัก  อันที่จริงการขยายตัวภาคเกษตรเชิงเดี่ยวกำลังคืบคลานแผ่ ขยายในพื้นที่ภูมิภาคนี้   ภาคเหนือของไทยมีบริษัทขนาดใหญ่ผู้ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน มาขยาย พื้นที่ปลูกอย่างมาก  มีการประกันราคา และมีความต้องการทางตลาดสูง ยิ่งไปกว่านั้น ขณะนี้ข้าวโพดกำลังทวีความ ต้องการเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทน

คณะรัฐมนตรีไทยมีมติเมื่อกลางปี 2006  ให้ดำเนินงาน Contract Farming บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้มาตรการลดหย่อนภาษี  กำหนดพื้นที่นำร่อง 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ภายใต้กรอบความร่วมมือ เศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS เพื่อส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 8 ชนิด ได้แก่ ถั่งเหลือง ถั่งลิสง ละหุ่ง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันฝรั่ง มะม่วงหิมพานต์ และยูคาลิปตัส  และเริ่มต้นดำเนินการแล้ว กับพม่าเป็นประเทศแรก ตามมาด้วยลาว

ประเมินกันว่าประโยชน์จากโครงการ Contract Farming   ในปี 2006-2007 จะช่วยให้เกิดการจ้างงานและการ พัฒนาในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน   1,751,452.25 ไร่  ไทยสามารถนำเข้าพืชเป้าหมาย 9 ชนิด  ได้ 1,272,503 ตัน

แต่คำถามคือการขยายพื้นที่ตามโครงการ Contract Farming ส่งผลให้เกิดการเผาขนาดใหญ่ตามมาหรือไม่ ในเมื่อวิธีการทำเกษตรของคนในแม่น้ำโขงนี้ยังพึ่งพิงการใช้ประโยชน์จากไฟในภาคการเกษตร  โดยเฉพาะการเผาไร่นา หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว

นอกจากการเป็นเกษตรกรลูกไร่ของคนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแล้ว  การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และส่งผลต่อการขยายพื้นที่ปลูกยาพาราได้ทำให้ภูมิภาคนี้กำลังพลิกโฉมหน้า   ความหลากหลายทางนิเวศวิทยาป่าไม้ของลุ่มน้ำโขงกำลังจะกลายเป็นป่า เชิงเดี่ยวยางพารามากขึ้น  และการปรับพื้นที่เพื่อรองรับการเกษตรแนวใหม่ ที่ได้เม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำ ของประเทศลุ่มน้ำโขงก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเพิ่มปริมาณหมอกควันในภูมิภาคนี้

บริษัทอุตสาหกรรมการผลิตยางของยูนนาน(Yunnan Natural Rubber Industrial Co.,Ltd.)  คาดการณ์ว่าในปี 2020  จีนจะใช้ยางทั้งสิ้น 7.3 ล้านตัน หรือร้อยละ 25 ของการใช้ยางของโลก ซึ่งจำเป็นที่จีนจะต้องขยายพื้นที่ ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่ภายในประเทศ รัฐบาลจีนมีนโยบายเพิ่มพื้นที่ปลูกยาง ในประเทศเพื่อนบ้านอีก 625,000 ไร่ ในพม่า ลาว และกัมพูชาและกำลังทำตามนโยบายนั้นอย่างเอาจริงเอาจัง

ลาวจึงกำลังเป็นขุมทองของการปลูกยางพารา ซึ่งรัฐบาลลาวก็ยินดีต้อนรับพืชเศรษฐกิจใหม่นี้เป็นอันมากถึง กับบรรจุไว้เป็นหนึ่งในแผนนโยบายขจัดความยากจนของประเทศ โดยตั้งเป้าขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพารา ทั่วประเทศให้ได้  181,840 เฮกตาร์ หรือราว 1,136,500ไร่ในปี 2010 รูปแบบที่ใช้คือการทำ Contract Farming กับนักลงทุนต่างชาติที่มีมากในแขวงหลวงน้ำทา บ่อแก้ว และอุดมไซย ขณะเดียวกันก็มีลักษณะขอสัมปทานที่ดิน เพื่อปลูกยาวพาราโดยนักลงทุนต่างชาติทั้งไทย จีน และเวียดนามกับนักลงทุนท้องถิ่นโดยการเช่าที่ดินระยะยาว

หลี่หมิง เพื่อนนักข่าวชาวจีนจาก China National Geographic ผู้ออกเดินทางสำรวจและรายงานเรื่อง “ยางพารา:เพลิงเขียวแห่งลุ่มน้ำโขง”บอกว่าเทือกเขาลูกแล้วลูกเล่าสุดลูกหูลูกตาซึ่งเคยเป็นป่าฝนเขตร้อนที่สิบสองปันนา มณฑลยูนนานประเทศจีนขณะนี้ได้กลายเป็นป่ายางพาราไปแล้วทั้งสิ้น เช่นกันกับแผ่นดินบริเวณชายแดนไทย – พม่า และรวมถึงแขวงทางตอนเหนือของประเทศลาวด้วย   วิธีการปลูกก็ใช้แบบดั้งเดิมของคนแถบนี้คือการปรับพื้นที่ป่าและเผาเคลียร์พื้นที่ ร่อยรอยต้นไม้ที่เหลือเพียงตอสีดำจึงปรากฏให้เขาเห็นไปทั่ว

รายงานเรื่อง “ยางพารา:เพลิงเขียวแห่งลุ่มน้ำโขง”ของเขา ซึ่งตีพิมพ์ใน China National Geography ฉบับเดือนพฤษภาคม 2008  ระบุด้วยว่ามีรายงานข่าวผ่านสื่อว่าตั้งแต่ต้นปี 2007 ใน 5 ปีข้างหน้าบริษัทจากเวียดนามถึง 10 แห่งจะลงทุนกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อปลูกยางพาราในพื้นที่ 100,000 เฮ็กตาร์ของประเทศกัมพูชา  และในประเทศลาวเอง รัฐบาลลาวก็เห็นชอบที่จะจัดหาพื้นที่ 8,000 เฮ็กตาร์เพื่อให้บริษัทจากเวียดนามเช่นกัน ขณะที่รัฐบาลพม่าก็มีแผนจะขยายพื้นที่ปลูกยางพาราถึง 400,000 เฮ็กตาร์ในช่วงปี 2007-2008  เช่นกัน  และจังหวัดยูนนานประเทศจีนก็วางแผนในอีก 10-20 ปีข้างหน้าว่าจะพัฒนาพื้นที่ 2,600,000-3,300,000 เฮ็กตาร์เพื่อปลูกยางพาราในพม่าและลาวด้วย

คำตัน สัมพันวิไล รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวลาว สาขาหลวงพระบาง ยอมรับว่ากำลังวิตกต่อการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราจากจีน แม้ขณะนี้พื้นที่ปลูกยางพาราจะปลูกกันมากมายที่เมืองอื่นและมิใช่หลวงพระบางก็ตาม  เพราะทิศทางสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวคือการกระตุ้นให้คนรักในธรรมชาติ  แต่โครงการปลูกยางพาราจะต้องมีการปรับพื้นที่ให้เกลี้ยงก่อนการปลูก ซึ่งสิ่งที่ตามมาคืออากาศที่ร้อนขึ้น สูญเสียระบบนิเวศวิทยา การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการปลูกยางพาราเป็นสิ่งจำเป็นของประเทศ

“เราไม่ปลูกก็ไม่ได้ เพราะยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจ ระยะยาวจะได้ผลผลิตที่เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับขจัดปัญหาความยากจนของเรา  แต่จะส่งผลต่อปัญหาหมอกควันในอนาคตหรือไม่นั้น  เราคาดการณ์ไม่ได้ ผมเห็นว่ามีความเสี่ยงเหมือนกัน  แต่เชื่อว่าเราจะต้องแก้ไขไปตามระบบหากมันเปิดขึ้น และที่แน่นอนที่สุดเราต้องพยายามคุ้มครองเมืองให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด”

ท่านคำแพง ไชยสมแพง รองเจ้าแขวงหลวงพระบาง บอกฉันว่า หมอกควันในหลวงพระบางเป็นปัญหาที่น่าห่วง สาเหตุเกิดจากประชาชนบางส่วนยังมีการถางป่า จุดไร่เพื่อปลูกข้าวและพืช โดยเชื่อว่าการเผาจะทำให้ไม้เติบโตดี  ฆ่าแมลงศัตรูพืช  เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง รวมทั้งมีการลักลอบตัดไม้ เผาป่าเอาต้นไม้ออกก็มี ล้วนเป็นสาเหตุของหมอกควัน  เมื่อต้นปี 2007  ภาคเหนือของไทยประสบปัญหาหมอกควันมาก  หลวงพระบางก็พบกับหมอกที่ลมตีเช่นกันเพราะภาคเหนือของลาวจุดไฟทุกแขวง  รวมทั้งพม่าด้วย  โดยที่หลวงพระบางเคยมีองค์กรต่างประเทศมาให้ความช่วยเหลือกระทรวงสิ่งแวดล้อมของลาวเพื่อวัดระดับมลพิษทางอากาศ พบว่าจำนวนคนที่ไม่สบายเพิ่มมาก  แต่ด้านอื่นๆ ปัญหานี้ยังไม่ถึงกับกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ แต่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว  ผู้ประกอบการเริ่มพูดคุยเรื่องนี้กันมาก เพราะหลวงพระบางเราถือการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 1  แต่หมอกควันจะทำให้เราไม่บรรลุเป้าหมายนั้น

“จุดกันหลายประเทศหมอกควันก็นิ่งอยู่อย่างนี้  ปีที่แล้วเชียงใหม่มีควันมาก ปีก่อนหน้านี้ที่หลวงพระบาง ควันมากจนเครื่องบินของไทยไม่กล้าลง นั่นคือผลกระทบที่เกิดขึ้นร่วมกัน  เมื่อเชียงใหม่มีปัญหา หลวงพระบางกระทบแน่ เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากเมืองไทยคือนักท่องเที่ยวหลักที่มาที่นี่”

รองเจ้าแขวงหลวงพระบางกล่าวว่า ตั้งแต่ประเทศลาวมีการปลดปล่อยเมื่อปี ค.ศ. 1975 จนถึงปัจจุบันรัฐบาลมีความพยายามแก้ไขปัญหาหมอกควันให้ลดลง โดยปี ค.ศ.2000 ได้มีโครงการยุติการถางป่าทำไร่ปลูกข้าวลบล้างความทุกข์ยาก เพื่อสร้างอาชีพที่มั่นคงชาวบ้าน เพื่อให้การถางป่าและเผาไร่ลดลง โดยให้แต่ละเมืองทำสัญญากับเจ้าแขวง และมีโครงการว่าจะลดทอนความลำบากของประชาชนด้วยการจัดสรรอาชีพให้ คนทำไร่ก็ให้พืชต่างๆมาให้ปลูก เช่น ถั่วแระ ข้าวโพด ปอสา การเลี้ยงสัตว์ใหญ่ วัวควาย ปลูกไม้อุตสาหกรรม เช่น ไม้สัก ยางพารา  โดยมีต่างประเทศมาส่งเสริมเช่นเกาหลี จีนและไทยก็มาส่งเสริมการปลูกสบู่ดำ เพื่อทำน้ำมันเอเธอนอล  โดยมีเป้าหมายว่าในปี ค.ศ. 2010 ที่หลวงพระบางจะยุติทำไร่เพื่อปลูกข้าว  เปลี่ยนเป็นปลูกพืชต่างๆ ทดแทนได้ทั้งหมด  โดย ปัจจุบันดำเนินการได้กว่าร้อยละ 70 แล้ว รวมทั้งมีโครงการจัดสรรให้ชาวเขาได้ลงมาอยู่ในเขตเมืองใหญ่ เพื่อลดปัญหาการเผาไร่ดังกล่าวด้วย

การรุดเข้าพื้นที่ป่าธรรมชาติ รวมทั้งการถางพื้นที่เดิมและเผาเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวในภูมิภาคนี้ กำลังกระจายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จากความต้องทางการเศรษฐกิจเช่นนี้  เหมือนภาพประวัติศาสตร์ฉายซ้อนมาจาก สถานการณ์หมอกควันจากอินโดนีเซีย  ที่เมื่อไฟเกิดขึ้นที่ประเทศหนึ่ง หมอกควันได้ข้ามพรมแดนมายังมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน รวมทั้งภาคใต้ของประเทศไทย  จนทำให้เกาะสวรรค์ของนักท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตเกิดปัญหา

ย้อนรอยไปถึงที่มาของสาเหตุนั้นก็คือการแผ้วถางพื้นที่เพื่อทำสวนปาล์มน้ำมัน  แรงกระตุ้นของการ นำน้ำมันปาล์มมาเป็นพลังงานทดแทนทำให้เกิดบริษัทข้ามชาติจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียลงทุนพลิกผืนป่า เขตร้อนชื้นให้กลายเป็นป่าของพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวมาแล้ว  รูปแบบก็ใช้วิธีสัมปทานพลิกผืนป่าเช่นที่กำลังเกิดขึ้น ในประเทศลุ่มน้ำโขงขณะนี้เช่นกัน

เผาแหลกควันท่วมอินโดจีน

หลักฐานที่ชี้ชัดว่า ปัญหาหมอกควันคือปัญหาร่วมของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือภาพถ่ายจุดความร้อนและ หมอกควันเหนือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากกล้อง MODIS ที่ติดตั้งอยู่บนดาวเทียม “อะควา” ขององค์การนาซ่า ( Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer on NASA’s Aquasatellite) แสดงให้เห็นจุดสีแดงที่หมายถึง จุดที่เกิดการเผาไหม้เหนือแผ่นดินไทย ลาว เวียดนาม พม่า และกัมพูชาเป็นจำนวนมาก กลุ่มควันที่หนาทึบอันเกิดจาก

ไฟป่าและการเผาไร่เพื่อเตรียมทำการเกษตรของผู้คนในภูมิภาคนี้สุมติดอยู่ ในซอกของหุบเขาและเป็นเช่นนี้อยู่หลายเดือนในฤดูแล้ง

เว็บไซต์ Meteorologial Services Division ของ National Environment Agency ของสิงคโปร์นำจุดความร้อน ที่เกิดขึ้นนั้นมาคำนวณปริมาณในแต่ละวัน พบว่าในเดือนมีนาคม 2007  จุดความร้อนจากประเทศพม่ามีจำนวน มากที่สุด  รองลงมาคือไทย ลาว  เวียดนาม และกัมพูชา  แต่ในเดือนกรกฎาคมจำนวนจุดความร้อนที่มากที่สุด ได้กลับมาเป็นของประเทศเวียดนาม  รองลงมาคือไทย  พม่า และลาว

เมื่อครั้งเกิดวิกฤตหมอกควันทั่วภาคเหนือ  ทางการไทยพยายามให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายดับไฟทุกชนิดอย่าง เด็ดขาดในประเทศ  แต่จังหวัดทางชายแดนไทย –พม่า เช่นเชียงราย  และแม่ฮ่องสอน มีรายงานถึงควันไฟ ที่มาจากประเทศ เพื่อนบ้าน กระทั่งต้องประสานขอความร่วมมือดับไฟระหว่างกองทัพและกระทรวงการต่างประเทศ

นพ.พงษ์เทพ ซึ่งได้บินสำรวจพื้นที่ป่าที่ถูกเผาจนเกิดหมอกควันระบุว่าพบทั้งการเผาในพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งอยู่ห่างไกลและอยู่ในเขตประเทศเพื่อนบ้าน  มีรายงานจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วยว่าการบุกรุกป่าเพื่อเผาทำไร่ ข้าวโพดเพื่อนำมาสกัดเป็นเอธานอลผสมเพื่อทำแก๊ซโซฮอลเป็นจำนวนมาก  เนื่องจากราคาเป็นสิ่งจูงใจและ ตลาดมีความต้องการ คาดว่าสถานการณ์พลังงานที่สูงขึ้นเช่นนี้จะมีการเผาป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพดเพิ่มขึ้นอีก

นพ.พงษ์เทพยังตั้งข้อสังเกตถึงทิศทางลมที่จะส่งผลให้หมอกควันในภูมิภาคนี้ส่งผลกระทบถ่ายเทถึงกันด้วย

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือระบุว่า ในฤดูหนาวมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนและลมที่พัดจากตะวัน ออกเฉียงเหนือลงมาทางใต้คือภาคเหนือของไทย  แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง คือปลายเดือนกุมภาพันธ์ ลมจะเปลี่ยนทิศเป็ นลมใต้ที่พัดไปขึ้นชายฝั่งจากไทย  ไปทางพม่า และเมื่อต่อเนื่องเข้าสู่ฤดูฝน ลมตะวันตกเฉียงใต้จะพัด ไปตะวันออกเฉียงเหนือ ความเป็นไปได้ในการถ่ายเทหมอกควันถึงกันจึงมี  หากสภาพหมอกควันหนาแน่น เพิ่มปริมาณอยู่ในภูมิภาคนี้ขึ้นเรื่อยๆ

ทางออกควันข้ามโขงอยู่ที่ไหน?

เมื่อครั้งที่เชียงใหม่กำลังสำลักควันกันเต็มที่ และที่นั่นกำลังมีการประชุมรัฐมนตรีคลังจากกลุ่มประเทศอาเซียน  นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวอยู่ที่นั่นรวมตัวกันยื่นหนังสือเรียกร้องให้เหล่ารัฐมนตรีการคลังกลุ่มประเทศอาเซียนพิจารณาอนุมัติงบประมาณต่อการสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหานี้

ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ นักวิชาการผู้ทำวิจัยเรื่องปัญหาหมอกควันในพื้นที่จ.เชียงใหม่และลำพูนมายาวนาน ตัวแทนนักวิจัยที่เข้ายื่นหนังสือต่อผู้แทนเลขาธิการอาเซียนกล่าวว่าการตรวจสอบพบภาพถ่ายดาวเทียมแสดงจุดความร้อนเหนือกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง  หนาแน่นมากที่ไทย พม่า และลาว การเกิดหมอกควันข้ามพรมแดนเช่นนี้ควรจะต้องมีความร่วมมือระดับนานาชาติ ซึ่งอาเซียนก็เป็นกลไกลสำคัญ โดยเฉพาะกระทรวงการคลังของแต่ละประเทศ ที่จะได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณแก้ไขปัญหานี้ ก่อนจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค

กลุ่มประเทศอาเซียนเคยมีบทเรียนกับปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนจากเหตุที่ประเทศอินโดนีเซีย จนทำให้มีคณะทำงานแก้ไขปัญหานี้

ศิริ   อัคคะอัคร หัวหน้าสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่าของไทย และเป็นหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญด้านไฟป่าอาเซียน บอกว่าที่ผ่านมากลุ่มอาเซียนจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาหมอกควันของประเทศทางใต้คือไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย  โดยมีศูนย์อำนวยการด้านหมอกควันข้ามพรมแดน ซึ่งกินความหมาย 10 ประเทศสมาชิก เพียงแต่ที่ผ่านมาปัญหาเกิดขึ้นกับประเทศทางตอนใต้ แต่เมื่อประเทศทางตอนเหนือมีปัญหาช่องทางตามข้อตกลงนี้ก็สามารถประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันที โดยได้เริ่มมีการประชุมความร่วมมือกันแล้ว

ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ศิริบอกว่า เป็นความร่วมมือด้านวิชาการ และการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในแต่ละประเทศ โดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียนจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานให้แต่ละประเทศส่งข้อมูลมาและส่งกลับไปให้ประเทศสมาชิกรับทราบ และก่อให้เกิดการพัฒนาเช่นการเกิดหน่วยงานด้านไฟป่าขึ้นในประเทศที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นอินโดนีเซีย

“ความร่วมมือเช่นนี้ส่งผลดี เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศหนึ่ง ก็มีประเทศอื่นคอยดูอยู่ด้วย มีการตั้งกรรมการผู้เชี่ยวชาญ 5 ชาติคือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบูรไน เมื่อเกิดควันไฟที่อินโดนีเซีย ก็จะเรียกกรรมการชุดนี้ไปประเมินสถานการณ์ว่าใครจะทำอะไรได้บ้างทันที”

ศิริมองว่าด้วยลักษณะของพื้นที่และประชากรในภูมิภาคนี้  ที่คนยังยากจน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หาของป่า ล่าสัตว์ ถางและเผาป่า  และบางประเทศไม่มีระบบแก้ไขไฟป่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ปล่อยให้ไหม้ไป  และแม้ประเทศไทยจะมีหน่วยควบคุมไฟป่า แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยป่าอนุรักษ์ของไทยที่มีถึง 106 ล้านไร่ มีงบประมาณเพื่อดูแลเพียง 21 ล้านไร่ หรือร้อยละ 20 ของพื้นที่เท่านั้น ทีเหลืออีกร้อยละ 80 ใช้วิธีประสานงานหน่วยที่เกี่ยวข้อง  ส่วนนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม่ก็ไม่มีงบประมาณดูแลไฟป่า  ซึ่งหากมีความร่วมมือระหว่างประเทศจะนำไปสู่การเริ่มต้นแก้ไขปัญหา ที่จะนำไปสู่ความตระหนักและจัดตั้งหน่วยงานดูแลเฉพาะในที่สุด  เช่นกับที่ได้เกิดขึ้นที่อินโดนีเซียที่พัฒนาระบบป้องกันไฟป่าโดยเรียนรู้จากไทยมาไม่ต่ำกว่า 10  ปีแล้ว

“ความร่วมมือในลุ่มน้ำโขง เริ่มมีการพูดคุยกันแต่อยู่ในระดับรับทราบปัญหา  ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลายิ่งกับการสร้างความตระหนักสำหรับประเทศที่ยังไม่มีระบบด้านนี้เลย”

สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ  บอกว่าการประชุมภาคีของสนธิสัญญาข้อตกลงหมอกควัน ของอาเซียน  ไทยเสนอที่ประชุมจัดตั้งเป็นกลุ่มสำหรับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา  เสนอให้มีความร่วมมือกันในส่วนของอาเซียนภาคเหนือ ในการควบคุมเรื่องหมอกควันที่เกิดขึ้นจากไฟ ซึ่งที่ประชุมภาคีเห็นชอบให้จัดตั้งเป็นลักษณะของ  Technical Working Group โดยปีแรกนี้ประเทศไทยเป็นประธานโดยตัวเขาเอารับตำแหน่งเป็นประธานคณะทำงานนั้น

น่ายินดียิ่งที่การประชุมนัดสำคัญกลางเดือนมีนาคม 2008 ที่จังหวัดเชียงใหม่ทุกประเทศมาร่วมหารือ และข้อตกลงที่สำคัญคือการบริจาคเงินเข้ากองทุนอาเซียนด้านหมอกควัน  ประเทศละ 50,000 เหรียญสหรัฐ   และเริ่มเดินหน้าเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง

เขาบอกว่าบางประเทศอาจมีปัญหาภายในประเทศที่จะต้องดูแลก่อนเช่นพม่า  แต่ก็มีประเทศที่น่าจะเจรจาให้เห็นความสำคัญของเรื่องหมอกควันได้เช่น ลาว เวียดนาม แต่อาเซียนคงจะเดินหน้าเรื่องนี้ด้วยกลวิธีที่ใช้มาตลอดคือ “สปิริตของอาเซียน” ที่จะต้องช่วยเหลือกัน  นอกจากนั้นกลุ่มประเทศทางตอนเหนือมีกลุ่มที่รวมตัวกันแข็งแรงเช่นมีคณะกรรมการลุ่มน้ำโงที่มีประเทศสมาชิกรวมตัวกันอยู่  แนวทางความร่วมมืออาจจะรวดเร็วกว่าทางภาคใต้

ความร่วมมือของกลุ่มอาเซียนคือจุดเริ่มต้นของความพยายามแก้ไขปัญหา  แต่ทิศทางการดำเนินงานคือการกำจัดหมอกควันเมื่อมันเกิดปรากฏการณ์นั้นขึ้นมาเป็นหลัก เช่นการดับไฟ  การรณรงค์งดการเผา การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค และการกระตุ้นให้ตระหนักถึงพิษภัยของมัน

คำถามคือ   สิ่งเหล่านั้นเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอหรือทางออกที่ยั่งยืนหรือไม่ ?

ในเมื่อนโยบายข้ามพรมแดนเช่นการขยายตัวของพื้นที่เกษตรในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญาและการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเช่นยางพารา  ที่คืบคลานเข้ามาตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจของแผ่นดินในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนี้ ยังจะเป็นแรงจูงใจทำให้จุดกำเนิดความร้อนจากการบุกไร่ แผ้วถางเพื่อสร้างอนาคตทางเม็ดเงินเหล่านี้เรื่อยๆ โดยไม่ใยดีกับสุขภาพ

แน่นอนว่า หมอกควันไปและกลิ่นเหม็นคลุ้งที่ลอยข้ามมา ไม่ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างคาตาเหมือนมหันตภัยสินามิ   ความตระหนักถึงหายนะของมันจึงยังไม่เข้มข้น เพราะสิ่งที่เผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้คือความยากจน และความต้องการพัฒนาทางเศรษฐกิจในอัตราเร่งต่างหาก

เมื่อการขยายตัวเชิงเศรษฐกิจนำหน้าความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม   ควันข้ามโขงจึงเป็นดั่งฆาตกรข้ามพรมแดนที่คืบคลานเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ และกำลังเผยอิทธิฤทธิ์ของมันอย่างเงียบๆ

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ