ชวนคิด ทิศทางลุ่มน้ำยวม

ชวนคิด ทิศทางลุ่มน้ำยวม

หมอกสามฤดู กองมูเสียดฟ้า ป่าเขียวขจี ผู้คนดี ประเพณีงาม ลือนามถิ่นบัวตอง

แม่ฮ่องสอน จังหวัดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีผืนป่ามากที่สุดของประเทศเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสายสำคัญหลายสาย หนึ่งในนั้นคือแม่น้ำยวม แม่น้ำเล็ก ๆ สายหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ได้หลั่งไหลหล่อเลี้ยงผู้คน 2 ฝั่งน้ำมาอย่างยาวนาน จากเทือกเขาสูง มีต้นกำเนิดที่อำเภอขุนยวม จากความอุดมสมบูรณ์ของป่าเขา จากหลาย ๆ หยดน้ำในป่าลึก ก่อเกิดเป็นลำธาร และหลาย ๆ ลำธารจากพงไพรก็กลายเป็นแม่น้ำสายหนึ่งที่ไหลหล่อเลี้ยงชุมชนใน 4 อำเภอ ไหลผ่านอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาบรรจบกับแม่น้ำเงา ที่บ้านสบเงา ตำบลแม่สอด อำเภอสบเมย และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเมยที่บ้านสบยวม ตำบลแม่สามแลบ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน จึงมีชุมชนมากมายที่ใช้ประโยชน์โดยทางตรงและทางอ้อม

ที่ผ่านมาคนลุ่มน้ำยวมพยายามจัดการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อรักษา ดิน น้ำ ป่า และส่งต่อสร้างการเรียนรู้ให้กับลูกหลาน

ชวนดูเรื่องราวคนลุ่มน้ำยวม

การเดินทางของ “แม่น้ำยวม” : ที่นี่บ้านเรา
นักข่าวพลเมือง : สายน้ำของชีวิต จ.เชียงใหม่

แต่ชุมชนก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาของรัฐใหญ่ที่จะกระทบกับวิถีชีวิต การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ฝุ่นควัน ไฟป่า รวมถึงลูกหลานที่เดินทางเข้าไปทำงานในเมืองมากขึ้น

จึงเป็นความท้าทายสำคัญที่ชวนมามองทิศทางของพื้นที่ว่าจะพัฒนาไปในทิศทางไหน ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ฟังเสียงประเทศไทย ตอนนี้เราชวนคนลุ่มน้ำยวมมาร่วมล้อมวงสนทนาภายใต้โจทย์ใหญ่ที่ท้ายทาย

ชวนเขียนเรื่องราวลุ่มน้ำยวมบ้านเรา

ก่อนเปิดวงสนทนาเราชวนผู้คนที่มาร่วมวงที่มาจาก 4 พื้นที่ลุ่มน้ำยวม และคนในพื้นที่ เขียนแชร์โดยใช้โพสอิด ด้วยคำถามที่ว่า ของดีบ้านเราคืออะไร และมองข้อจำกัดของบ้านเราเรื่องไหนบ้าง ?

อย่างในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง บอกว่าของดีบ้านตนคือ มีสายน้ำสาละวิน มีอากาศที่ดี มีทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ที่อุดมสมบูรณ์ มีประเพณีดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมือง ในแม่น้ำมีปลาหลากหลายสายพันธุ์ ไร่หมุนเวียน น้ำมันงา ผ้าทอกะเหรี่ยง อาหารพื้นเมือง แหล่งอาหารธรรมชาติ และมองเรื่องของข้อจำกัดในพื้นที่การเข้าถึงสวัสดิการ ถนนหนทาง การเดินทางที่ยากลำบาก คนไร้สัญชาติ การมีส่วนร่วมของฝ่ายปกครอง คนรุ่นใหม่ย้ายออกเยอะ พรบ.อุทยานปี 62 สิทธิในที่ดินทำกิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทำได้ยาก

ข้อความสั้น ๆ นี้ เป็นข้อความจากคนในพื้นที่ทั้งมองเห็นของดีบ้านตนเอง ต้นทุน โอกาส พร้อมทั้งมองไปยังข้อจำกัดของพื้นที่ทำให้ในพื้นที่ยังก้าวไปต่อไม่ได้ วันนี้ตัวแทนคนลุ่มน้ำยวมทั้ง 4 อำเภอ ชวนมาคิดมองภาพอนาคตทิศทางลุ่มน้ำยวม ในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า

และเช่นเคยทางทีมงานฟังเสียงประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ ชวนคุณผู้อ่านมาทำความเข้าใจผ่านข้อมูล อนาคตทิศทางคนลุ่มน้ำยวม

แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทยมีความโดดเด่นหลายลักษณะ โดยสภาพภูมิประเทศความหลากหลาย ด้านวัฒนธรรม และประชากรจากหลายกลุ่มชาติพันธ์ นับเป็นจังหวัดที่สถิติน่าสนใจหลายอย่าง เช่น มีประชากร 282,220 คน น้อยเป็นอันดับ 72 ในขณะที่มีพื้นที่ 12,681.259 ตร.กม. มากเป็นอันดับ 8 ของประเทศ เป็นจังหวัดชายแดน ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของประเทศ

มีทั้งหมด 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปางมะผ้า อำเภอปาย อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย

มีแม่น้ำสำคัญ 4 สาย คือ 1. แม่น้ำปาย 2. แม่น้ำยวม 3. แม่น้ำสาละวิน และ 4. แม่น้ำเมย

• แม่น้ำยวม คือส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาแดนลาวที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน • ไหลมาจากอำเภอขุนยวม ผ่านอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง มาบรรจบกับแม่น้ำเงาที่บ้านสบเงา ตำบลแม่สอด อำเภอสบเมย และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเมยที่บ้านสบยวม ตำบลแม่สามแลบ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน ระยะทางประมาณ 215 กิโลเมตร  มีลำน้ำสาขา ได้แก่ แม่น้ำปอน น้ำแม่ละหลวง •

• ขุนยวมเมืองเล็ก ๆ บนสันเขาลมจึงพัดผ่านตลอดทั้งปี ที่ผ่านเรื่องราวสำคัญมามากมาย ในอดีตเป็นเมืองพักเพื่อผ่านไปทำการค้าที่เชียงใหม่และเมียนมา ทางบกเดินทางโดยวัวต่าง ม้าต่าง ทางน้ำล่องแพตามลำน้ำยวมไปแม่ลาน้อย แม่สะเรียง ขุนยวมยังเป็นเมืองที่มีความทรงจำจากสงคราม จึงมีความรักในเงาสงครามซ่อนอยู่ ความผูกพันของคนสองเชื้อชาติไทยญี่ปุ่น

•เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำยวม แม่น้ำแห่งชีวิตของผู้คนทั้งชาวไทใหญ่ ปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยง ลัวะ ม้ง และชาติพันธุ์อื่น ๆ •

แม่ลาน้อย เป็นอำเภอเล็ก ๆ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่นและความสุข มีธรรมชาติที่สวยงามของขุนเขาและทุ่งนาสีเขียวขจี อีกทั้งชาวบ้านในท้องถิ่นยังคงใช้ชีวิตกันอย่างเรียบง่าย เงียบสงบ มีวัฒนธรรมที่สวยงามเป็นของตัวเอง ที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาพักผ่อนกับธรรมชาติ พร้อมกับเรียนรู้วิถีชีวิต วิถีเกษตรพอเพียง พืชผักเมืองหนาว กาแฟ นาขั้นบันได และสัมผัสวิถีของชนเผ่า

•มีถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108  ที่เชื่อมการเดินทางกับจังหวัดเชียงใหม่

แม่สะเรียง เป็นอำเภอที่มีความสำคัญ เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ประมาณ 164 กิโลเมตร จึงเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการในระดับจังหวัดหลายแห่ง และยังเป็นศูนย์กลางทางการค้าและพาณิชยับอำเภออื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียง เช่น อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอสบเมย

•มีพระธาตุสี่จอมพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองอันเก่าแก่ คือพระธาตุจอมแจ้ง พระธาตุจอมทอง พระธาตุจอมมอญ และพระธาตุจอมกิตติ มีขนบธรรมเนียมประเพณีศิลปะพื้นเมือง แตกต่างไปจากจังหวัดอื่นในภาคเหนือ เพราะได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมจากพม่า

สบเมย  ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ห่างจากอำเภอเมืองเป็นระยะทาง 190 กิโลเมตร  เป็นอำเภอที่แยกออกจากอำเภอแม่สะเรียง  จึงผูกพันกับอำเภอแม่สะเรียงตลอดมา โดย  คำว่า สบเมยเป็นชื่อตำบลหนึ่งของอำเภอแม่สะเรียงในอดีต ซึ่งอำเภอแม่สะเรียง เดิมชื่อ “เมืองยวม” หรือ “ยวมใต้”  •พื้นที่อำเภอสบเมยส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนถึง 726,813 ไร่ หรือประมาณ 98%   ของพื้นที่ทั้งหมด แม่น้ำสำคัญ 5 สาย คือ แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำเงา แม่น้ำยวม แม่น้ำแม่ลิด  และแม่น้ำเมย

•เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของประเทศและมีความหลากหลายทางชีวภาพ

•มีทุนทางวัฒนธรรมประเพณี ของชาวไทใหญ่ ปกาเกอะญอและกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีเอกลักษณ์และ ยังคงดำรงสืบสานในวิถีชีวิตปัจจุบัน

•มีภูมิประเทศที่สวยงาม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย กระจายอยู่ทุกอำเภอ เช่น ทุ่งบัวตอง ประเพณีปอยส่างลอง กลอเซโล ดอยพุย

•มีโครงการพัฒนาตามพระราชดำริหลายแห่ง เป็นต้นแบบในการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับ ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

•ประชาชนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สงบสุข เป็นเมืองน่าอยู่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

•มีพื้นที่ชายแดนทุกอำเภอติดต่อกับประเทศเมียนมา ระยะทางกว่า 483 กิโลเมตร โดยติดกับ 3 รัฐ คือรัฐฉาน รัฐคะยา และรัฐกะเหรี่ยง สามารถเดินทางไปยังกรุงเนปิดอร์(ระยะทาง 220 กิโลเมตร) และเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว คือ ลอยก่อ มัณฑะเลย์ และตองอู

•กำลังพัฒนาเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยลุ่มน้ำเงา

•ชุมชนพยายามจัดการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของพื้นที่

•การพัฒนาด้านพลังงานระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะสมาร์ทกริดแม่ฮ่องสอน ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

•มีข้อจำกัดของประชาชนในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เนื่องจากเป็นเขตของป่าสงวน อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

 •ประชากรส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งของจังหวัด เป็นชนเผ่าต่างๆ และอยู่อาศัยในพื้นที่สูงซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันที่มีเนื้อที่ถือ ครองทำการเกษตรเพียงร้อยละ 2.5 ของเนื้อที่จังหวัด จึงมีข้อจำกัดในด้านการพัฒนาฝีมือ แรงงานและการปรับระบบการผลิตให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น

•สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและพื้นที่สูง เป็นอุปสรรคในการพัฒนาด้านโครงสร้าง พื้นฐานโดยเฉพาะการคมนาคมและสาธารณูปโภค รวมทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตป่าอนุรักษ์

•การท่องเที่ยวเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญของจังหวัด แต่รูปแบบการท่องเที่ยวในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวนิยมมาเฉพาะในฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์เท่านั้น ฤดูกาล ท่องเที่ยวมีระยะสั้นและค่อนข้างกระจุกตัวในอำเภอปาย

•ยังคงมีความเสี่ยงในการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่เกษตรจำเป็นต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

•แผนพัฒนาและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่อาจจะกระทบชุมชน

•การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากร น้ำ อากาศ และการผลิตในภาคเกษตร ที่มีความไม่แน่นอน

ข้อมูลส่วนนี้คือชุดของชุดข้อมูลส่วนหนึ่งที่มีตัวข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเป็นข้อมูลที่เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคของในพื้นที่ของคนลุ่มน้ำยวม

จากข้อมูลตั้งต้นของพื้นที่ ธรรมชาติที่สวยงาม วิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ อาหารท้องถิ่น ที่เป็นเอกลักษณ์ พื้นที่เรียนรู้ด้านการเกษตร เป็นสเน่ห์ชวนให้หลายคนอยากมาเยือน หรือมาอยู่อาศัยระยะยาว คือศักยภาพของพื้นที่ แต่ด้วยการเป็นพื้นที่สูง อยู่ห่างไกล ยังมีข้อจำกัดด้านสิทธิในที่ดิน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ในอัตราเร่งที่ไม่แพ้เมืองใหญ่ จึงอยากชวนมาคิดถึงทิศทางในอนาคตของลุ่มน้ำยวมในอีกประมาณ  5 ปีข้างหน้า ทางรายการเลยลองประมวลมา 3 แบบ ที่อยากชวนผู้อ่านคิดถึงภาพอนาคตของ อีก 5-10 ปี ข้างหน้า ของคนลุ่มน้ำยวมแบบไหนที่ควรจะเป็น และเพื่อคนในวงสนทนาและผู้อ่านทุกคนร่วมกันมองว่าอนาคตของพวกเขาจะเป็นไปในทิศทางใด ?

น้ำใสแต่ไร้ปลา

ชุมชนเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ยังมีสิทธิไม่เต็มร้อย มีความพยายามจัดการทรัพยากร แต่ทำได้แค่บางส่วน คน

ส่วนใหญ่ยังละเลยเพิกเฉยไม่ใส่ใจดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยได้รับอิทธิพลของค่านิยมการบริโภคนิยมและทุน ทำให้อาชีพดั้งเดิม การทำไร่หมุนเวียน พื้นที่เกษตรถูกเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวสร้างรายได้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรถูกละเลยและค่อยๆ สูญหายไป คนรุ่นใหม่ออกไปทำงานนอกชุมชน นโยบายของรัฐสนับสนุนการอนุรักษ์ แต่ยังไม่ได้เชื่อมไปสู่การพัฒนาชุมชน หรือเน้นโครงการขาดใหญ่ ที่อาจส่งผลกระทบนำไปสู่การล่มสลายของระบบนิเวศและวัฒนธรรมชุมชน

น้ำใส ป่างาม และแปลกตา

ชุมชนให้ความสำคัญในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ยังส่งเสริมการประกอบ อาชีพดั้งเดิม การดำเนินชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพื้นที่ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวโดยต่อยอดจากความมีชื่อเสียงของแม่ฮ่องสอน มีกิจกรรมท่องเที่ยวหลากหลายเพื่อรองรับทัั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ มีการขายที่ดินให้นักลงทุนจากภายนอกพื้นที่ เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นที่พักรีสอร์ท โรงแรมขนาดเล็ก มีการดูแลปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค และการคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว วัยแรงงานที่ได้รับการศึกษาคงมีแนวโน้มที่จะละทิ้งถิ่นฐานไปประกอบอาชีพนอกพื้นที่ นอกจากนี้ ด้วยสภาพแวดล้อมที่ดี จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดการอพยพของคนต่างถิ่นเข้ามามาก การเข้ามาของโครงการรัฐหรือโครงการขนาดใหญ่ต้องดำเนินการในรูปแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

น้ำใส ป่างาม ลูกหลานมา

ชุมชนตระหนัก และใส่ใจดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับการอนุรักษ์และส่งเสริมการประกอบ อาชีพดั้งเดิมของท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ดูแลรักษา ดินน้ำป่า มีการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์รวมทั้งมีการพัฒนางานวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรแบบครบวงจร รวมทั้งยกระดับคุณภาพสินค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดได้

วัยแรงงานที่ได้รับการศึกษาจะกลับมาประกอบการธุรกิจการเกษตรในชุมนในรูปแบบของผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการโดยอาจมีการจ้างแรงงานจากต่างถิ่น วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรของชุมชนได้รับการฟื้นฟู มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตร และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เพื่อเผยแพร่ แลกเปลี่ยนและต่อยอดความรู้กับพื้นที่อื่น นำไปสู่การอนุรักษ์ระบบนิเวศและวัฒนธรรมของชุมชน หากมีโครงการพัฒนาขยายใหญ่ต้องดำเนินการในรูปแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคนในชุมชนเท่านั้น ชาวบ้านยังคงเป็นเจ้าของที่ดิน แต่สิทธิไม่เต็มร้อย

บรรยากาศตัวแทนคนลุ่มน้ำยวม ปราชญ์ชุมชน ผู้นำทางความคิด ตัวแทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และเยาวชนจากลุ่มน้ำสาลวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำที่น้ำยวมไหลไปบรรจบ มารวมตัวล้อมวงคุยและฟังอย่างใส่ใจที่สถานประกอบของการเอกชน ริมน้ำยวม ในชุมชนแม่คะตวน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่เห็นโอกาสจากต้นทุนของท้องถิ่นเพื่อเชื่อมต่อกับการท่องเที่ยว

ติดตามเสียงตัวแทนคนลุ่มน้ำยวมผ่านรายการฟังเสียงประเทศไทย ที่คนในพื้นที่สะท้อนถึงความพยายามที่จะช่วยกันมองทิศทาง อนาคตของคนลุ่มน้ำยวม ที่จะให้ทรัพยากรอยู่ได้ คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้การจัดการอย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2566 ตอน ชวนคิด ทิศทางลุ่มน้ำยวม เวลา 17.30 – 18.00 น. ทางไทยพีบีเอส หรือรับชมทีวีออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/live

คุณผู้อ่านสามารถร่วม โหวตฉากทัศน์ ชวนคิด ทิศทางลุ่มน้ำยวม

หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวกับแฟนเพจTheNorth องศาเหนือ

ร่วมรับ “ฟัง” ด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่ง “เสียง”แลกเปลี่ยนกันด้วยข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อร่วมหาทางออกให้กับ “ประเทศไทย” กับรายการ #ฟังเสียงประเทศไทย ทุกวันเสาร์ เวลา 17.30 – 18.00 น. ทางไทยพีบีเอส หรือรับชมทีวีออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/live

เพราะทุกการเดินทางและการฟังกันและกัน เราหวังว่านี่จะเป็นอีกพื้นที่ ที่ “เสียง”ของประชาชนจะไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะออกแบบและจัดการตามข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แบบ “ปัญญารวมหมู่”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ