เครือข่าย 4 ลุ่มน้ำ ยวม เงา เมย สาละวิน ยืนยันค้านโครงการผันน้ำยวม

เครือข่าย 4 ลุ่มน้ำ ยวม เงา เมย สาละวิน ยืนยันค้านโครงการผันน้ำยวม

เมื่อวันที่ 5-6 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำยวม – เงา – เมย – สาละวิน เพื่อแสดงจุดยืนเดียวกันของชุมชนคือความกังวลที่มีต่อ ‘โครงการผันน้ำยวม’ หรือในชื่อเต็มคือ “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งสองวันประมาณ 80 คน ซึ่งมีทั้งผู้นำชุมชน คณะทำงานองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และ บ้านแม่คะตวน ต.แม่คะตวน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

โครงการผันน้ำยวมนี้ประกอบด้วยเขื่อนน้ำยวม สถานีสูบน้ำ และอุโมงค์ผันน้ำความยาว 60 กิโลเมตร ซึ่งทอดตัวผ่านพื้นที่ผืนป่า มีการประมาณการงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ว่ามีมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท กินอาณาบริเวณในพื้นที่ 2 จังหวัด 4 อำเภอ 7 ตำบล 36 หมู่บ้าน แต่ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA) ระบุว่ามีชาวชุมชนเพียง 29 คนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ

เครือข่ายชี้ข้อสังเกตว่า หากเป็นบริเวณที่ชาวชุมชนไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินหรือในเขตป่า ในอีไอเอระบุว่าเป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีข้อมูล ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าในเขตพื้นที่ก่อสร้างโครงการผันน้ำยวมนั้นเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งจำกัดสิทธิชาวชุมชนในการถือครองเอกสารสิทธิที่ดินทำกิน แม้ว่าหลายชุมชนนั้นจะเป็นชุมชนดั้งเดิมซึ่งอยู่มาก่อนการประกาศกฎหมายก็ตาม

ความผิดปกติของอีไอเอของโครงการผันน้ำยวมยังมีอีกหลายประการ เช่น การนัดแนะผู้นำชุมชนไปพูดคุยรับประทานอาหารแล้วถ่ายภาพมาใช้ประกอบรายงานโดยไม่มีการขออนุญาต นำมาสู่ชื่อเรียกอีไอเอฉบับนี้ว่า “อีไอเอร้านลาบ” หรือการประชุมหารือกับชุมชนแล้วตั้งคำถามให้ชาวชุมชนแสดงความคิดเห็นด้วยการยกมือ จากนั้นถ่ายรูปแล้วนำไปใช้อ้างอิงว่าชาวชุมชนเห็นด้วยกับโครงการ หรือมีการแอบอ้างใส่ชื่อ-นามสกุลของผู้ซึ่งไม่ได้อนุญาตแต่กลับตรวจสอบพบในภายหลัง สร้างความกังขาในความโปร่งใสของอีไอเอฉบับนี้เป็นอย่างมาก

ในพื้นที่แถบ ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นบริเวณทางออกอุโมงค์ส่งน้ำนั้น เป็นพื้นที่ซึ่งชาวชุมชนเคยอพยพโยกย้ายมาแล้วถึง 3 ครั้งในการสร้างเขื่อนภูมิพล ด้วยน้ำจากเขื่อนท่วมที่ทำกินของชาวบ้าน เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นก็ต้องมีการโยกย้ายซ้ำซ้อน จากคนรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกหลาน ชีวิตของคนที่นี่ได้เสียสละให้กับคนไทยทั้งประเทศได้ใช้ไฟฟ้าซึ่งผลิตจากเขื่อนภูมิพล ซึ่งแม้ว่าเขื่อนสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2507 แต่กว่าชาวชุมชนบ้านแม่งูดจะได้ใช้ไฟก็ปี 2537

รายงานข่าวในรายการกินอยู่รู้รอบเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562

ปัจจุบันในลำห้วยแม่งูด เกิดการตื้นเขินโดยมีตะกอนทรายจำนวนมาก เป็นผลกระทบจากเขื่อนที่ทำให้สภาพของลำน้ำเปลี่ยนแปลงไป ชาวชุมชนต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากใต้ลำห้วยซึ่งมีลักษณะเป็นทรายขึ้นมาใช้ในการทำการเกษตร ชาวชุมชนมีความกังวลใจอย่างยิ่งว่าหากโครงการผันน้ำยวมเกิดขึ้นพวกเขาอาจต้องอพยพและสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินดังเช่นที่เคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง

ส่วนในพื้นที่แถบ ต.แม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีสูบน้ำ ชาวชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มีความพยายามในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ต้นน้ำลำธารซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องด้วยวิถีชีวิตของคนที่นั่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาตินับจากเกิดจนตาย ได้ทำมาหากินพึ่งพาอาศัย ชาวบ้านมีรายได้จากการทำสวนทุเรียน บุก และหาสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งลำห้วยและแม่น้ำ มีรายได้หลายแสนบาทต่อปี มีการแสดงออกประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนสม่ำเสมอในงานวันหยุดเขื่อนโลก วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี ว่าพวกเขาต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรให้คงอยู่แทนที่จะแลกมาด้วยความเจริญในนามของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่

ในการแลกเปลี่ยนพูดคุยระหว่างผู้นำชุมชนผู้ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวมพบว่ามีข้อกังวลถูกหยิบยกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก และดูเหมือนว่าโครงการจะทำให้เกิดการได้ไม่คุ้มเสีย นั่นคือ สูญเสียในสิ่งซึ่งเรียกกลับคืนไม่ได้นั่นคือทรัพยากรป่าไม้และต้นน้ำลำธาร ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนในพื้นที่ แม้โครงการอ้างว่าการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำนี้ก่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรในภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบกับผู้ใช้น้ำในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและปริมณฑลด้วย เนื่องจากต้องแบกรับค่าน้ำประปาที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นจะผลพวงจากการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง ชาวชุมชนจึงมีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อยืนยันให้ยุติโครงการผันน้ำยวม

รายงาน : ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี ทีมผู้ผลิตอิสระ องศาเหนือ
ภาพและเนื้อหาจากหมุด : จากแม่งูดถึงแม่เงา: ผู้นำชุมชนค้านโครงการผันน้ำยวม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ