แดงค่อนประเทศ PM 2.5 Comeback อากาศเป็นพิษที่จัดการไม่ได้

แดงค่อนประเทศ PM 2.5 Comeback อากาศเป็นพิษที่จัดการไม่ได้

ภาพโดย Thai PBS ถ่ายวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 7:00 น.

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝุ่นพิษ Pm2.5กลับมาเล่นงานสุขภาพปอดของคนจำนวนมาก ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ค่าฝุ่นเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลางที่เห็นได้อย่างชัดเจนและปะทะเข้ามาอย่างจัง

แผนที่ประเทศไทยที่เต็มไปด้วยปริมาณฝุ่น PM2.5 ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 08:00 น. ข้อมูลโดย Climate Change Data Center of Chiangmai University (CMU CCDC)
ค่า AQI (Air quality index) 232 US AQI ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 08:27 น.

ในวันที่ฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ร้ายแรงและแทรกซึมอยู่ในทุกพื้นที่ กว่าจะรู้ตัวว่ากำลังเผชิญหน้ากับฝุ่นพิษ ประสาทสัมผัสที่มีก็ทำงานล่วงหน้าด้วยอาการแสบตาแสบคอแสบจมูกเรียบร้อย จนกระทั่งเห็นควันจาง ๆ ลอยอยู่เต็มท้องฟ้าและหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็คค่าฝุ่น แต่ก็ยังมีหน้ากากอนามัยที่ใส่ติดตัวอยู่ถึงจะกัน PM2.5 ไม่ได้มากเท่าที่ควร

เกิดอะไรขึ้น ทำไมหลายภาคเจอฝุ่นพร้อมกัน

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ที่กระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของเรา มีอยู่ 3 ปัจจัย

  1. แหล่งก่อกำเนิด เช่น พื้นที่มีการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง อยู่บริเวณใกล้เคียงกับโรงงานอุตสาหกรรม เขตก่อสร้าง หรือแม้แต่เป็นพื้นที่ที่ก่อมลพิษตั้งแต่ต้น
  2. ภูมิอากาศ ช่วงฤดูหนาว ความกดอากาศสูง อุณหภูมิต่ำ จะทำให้อากาศถูกอัดแน่น โดยเฉพาะช่วงเช้ามืดและกลางคืน
  3. ภูมิประเทศ อย่างเช่น พื้นที่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ และมีภูเขาล้อมรอบ จึงทำให้ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดหรือฝุ่นที่ถูกพัดมาจากที่อื่นถูกกักเก็บอยู่ในพื้นที่

จะเห็นได้ชัดว่ามีจุดแดง Hotspot เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั้งกัมพูชา เวียดนาม ลาว และเมียนมา เมื่อมีกระแสลมพัดเข้ามาจากฝั่งตะวันออก ทำให้จุดแดง Hotspot ที่ปรากฏในภาพถูกพัดเข้ามาฝั่งไทยตามกระแสลม และเมื่อจุดแดงพัดเข้ามาตามกระแสลมและเข้ามายังพื้นที่ประเทศไทยโดยเฉพาะโซนภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง แต่กระแสลมที่พัดพื้นที่ประเทศไทยกลับอ่อนกำลังลงหรือแทบไม่มีกระแสลมที่จะพัดพาจุดแดง Hotspot ออกไปจากประเทศไทย ทำให้มลพิษหรือฝุ่นพิษก่อกำลังขึ้นอย่างหนาแน่น

ทิศทางกระแสลมข้างต้นทำให้พื้นที่ที่ไม่ได้มีแหล่งก่อกำเนิดของฝุ่นมากนัก หรือพื้นที่ที่อาจจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ อย่างภาคอีสาน กลับกลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อมีปัจจัยของสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ ภูมิประเทศที่เหมาะแก่การกักเก็บฝุ่นพิษไว้ในพื้นที่นั้น ๆ เช่น ภาคเหนือ และภาคกลาง ก็ยิ่งกระตุ้นและทวีคูณความรุนแรงของฝุ่นพิษจนทำให้จำนวนฝุ่น PM 2.5 ทุ่งขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว

ภาพโดย Thai PBS ถ่ายวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 7:00 น.

อากาศเสียส่งผลระยะสั้น ร่างกายเสียส่งผลระยะยาว

ผลกระทบที่น่าตระหนักถึงคือผลกระทบทางด้านสุขภาพ ในระยะสั้นอาจมีปัญหาทางเดินหายใจอักเสบ หายใจลำบาก ไอมีเสมหะ แน่นหน้าอก หากแต่ในระยะยาวมักจะนำไปสู่การอักเสบของเส้นเลือด โรคทางผิวหนังหรือตาอักเสบ ความดันโลหิตสูง อาจเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาตจากหลอดเลือดสมอง นำไปสู่โรคมะเร็งปอดในที่สุด 

ในปี 2564 ที่ผ่านมา เชียงใหม่มีวันที่อากาศคุณภาพดี 62 วัน คิดเป็น 16.99% ในปี 2021 ที่ผ่านมา คนเชียงใหม่สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่รวม 1,379.05 มวน (ข้อมูลจาก ปี 2021 คนเชียงใหม่ สูด PM 2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่ 1,379 มวน โดย Rocket Media Lab)

จากการศึกษาพบว่าฝุ่นพิษ PM 2.5 ทำให้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดได้มาากถึง 1 ถึง 1.4 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นสารก่อมะเร็งที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเพียงแค่ 2.5 ไมครอน ที่ไม่สามารถมองได้ด้วยตาเปล่า

ข้อมูลระบุว่าภาคเหนือมีสถิติเป็นมะเร็งปอดสูงที่สุด เท่ากับ 33.1 รายต่อแสนประชากรในผู้ชาย และ 19.9 รายต่อแสนประชากรในผู้หญิง ข้อมูลนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง วิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งในผู้สูงอายุใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พบว่า โรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 1 ทั้งผู้ชายและผู้หญิงคือ มะเร็งปอด (ข้อมูลจาก เปิดสถิติ ‘ภาคเหนือ’ ป่วย ‘มะเร็งปอด’ สูงสุด สาเหตุเกิดจากอะไร โดย The Standard)

ภาพจาก Unsplash

มีข้อกฎหมายใด ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ้าง

ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมฝุ่น PM 2.5 อย่างน้อย 6 ฉบับ คือ (ข้อมูลจากชุดข้อมูลรายการฟังเสียงประเทศไทย ตอน เส้นทางลดฝุ่น สิทธิในอากาศสะอาดของทุกคน)

  • พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
  • พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535
  • พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
  • พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535
  • พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
  • พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522

พ.ร.บ. ดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ กระทรวงต่าง ๆ ซึ่งในหลาย ๆ ส่วนมีการทำงานในลักษณะของการแยกส่วนกันทำงานอย่างชัดเจน ขณะที่จัดการสิ่งแวดล้อมไม่น่าจะเป็นสิ่งที่จัดการแยกกันอย่างขาดกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจส่งผลต่อการทำงาสนและควบคุมการใช้พ.ร.บ.ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และยังเป็นข้อบังคับที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นเวลานาน ซึ่งปัจจุบันสภาพมลพิษหรือฝุ่น PM 2.5 อาจเทียบไม่ได้กับช่วงก่อนหน้า 

ซึ่งในช่วงปี 2563 – 2564 มีการร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 มลพิษทางอากาศและสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 ฉบับ ถูกเสนอต่อรัฐสภา แต่ล้วนติดเงื่อนไข เป็นร่าง พ.ร.บ.การเงินฯ จะต้องได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อนจึงจะนำเสนอสู่การพิจารณาของสภาได้

โดยร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย 

  1. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย 
  2. ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. เสนอโดยภาคประชาชน
  3. ร่าง พ.ร.บ.การรายงาน การปล่อย และการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ สู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. หรือ ร่าง พ.ร.บ. PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล 
ภาพโดย Thai PBS ถ่ายวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 7:00 น.

อากาศสะอาด สิทธิที่พึงมีของประชาชน แต่ทำไมประชาชนไม่ได้รับ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฝุ่นพิษ PM 2.5 ถูกพูดถึงในฐานะของความบาดเจ็บทางประสาทสัมผัส ไม่ว่าทัศนียภาพทางสายตาที่ต้องทนเห็นความขมุกขมัวของท้องฟ้าสีเทา ๆ หรือแม้แต่ความคัดจมูกและกลิ่นของมลพิษที่แทรกซึมเข้ามาในทางเดินหายใจนับครั้งไม่ถ้วน ความบาดเจ็บที่ว่า ยังต้องต่อสู้กับสิทธิเสรีภาพทางอากาศซึ่งแม้อากาศที่ต้องสูดเข้าร่างกายเพื่อหล่อเลี้ยงการมีอยู่นั้น ยังไม่สามารถมีสิทธิที่จะได้รับอย่างมีคุณภาพ และการจัดการเรื่องฝุ่น PM 2.5 ไม่เคยถูกทำให้หายไปหรือมีการจัดการที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในภาคอีสานและภาคกลาง ฝุ่นพิษอาจมาเร็วและก็หายไปเร็ว แต่ท้ายที่สุด ยังมีภาคเหนือที่ต้องทนอยู่ในฤดูฝุ่นระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ