ฟังเสียงประเทศไทย : เส้นทางลดฝุ่น สิทธิในอากาศสะอาดของทุกคน

ฟังเสียงประเทศไทย : เส้นทางลดฝุ่น สิทธิในอากาศสะอาดของทุกคน

ท่ามกลางวิกฤติมลพิษทางอากาศที่ต้องจับตารายวัน ล่าสุด กทม. ขอความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และ ประชาชน ใช้มาตรการ Work From Home ในวันที่ 26 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยกันลดความเสี่ยงฝุ่นที่อาจเพิ่มขึ้น จากความหนาของชั้นบรรยากาศ

ย้อนไปเมื่อเดือนกันยา 2562 เว็บไซต์ Airvisaul.com รายงานคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศหรือ AQI อยู่ที่ 175 ส่วนค่าฝุ่น PM 2.5 วัดได้ที่ 102.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก และเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ถึงเท่าตัว

Rocket Media Lab รวบรวมข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Project เกี่ยวกับค่าฝุ่น PM 2.5 พบว่าปี 2563 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เราต้องอยู่กับฝุ่นพิษตลอดทั้งปีและมีวันอากาศดี (มีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 0-50 มคก./ลบ.ม.) แค่ 71 วัน คิดเป็นร้อยละ 19.56 โดยเดือนที่กรุงเทพฯ อากาศแย่มากที่สุดคือเดือนมกราคม และตลอดทั้งเดือนไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ดีเลย อีกทั้งมีค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดคือวันที่ 11 มกราคม 2563 ค่าฝุ่นสูงถึง 181 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

แม้ในปี 2564 ฝุ่นพิษ PM2.5 จะถูกพูดถึงน้อยลงเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่กรุงเทพฯ ก็ยังติดอันดับที่ 11 ของโลกจากรายงานคุณภาพอากาศและจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลกของเว็บไซต์ IQAir

ปัญหาฝุ่น PM2.5 คือปัญหาใหญ่ที่คนซึ่งต้องดำเนินชีวิตในเมืองต้องเผชิญ เจ้าฝุ่นจิ๋วที่ดูเหมือนหมอกควันลอยอยู่ในอากาศก่อปัญหามานาน จนส่งผลกระทบกับสุขภาพและร่างกายของคนที่สูดดมมันเข้าไป

และนี่คือตัวอย่างเช่น ความคิดเห็นบางส่วนของคนบนโลกออนไลน์ที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนถึงผลกระทบและการรับมือ

สำหรับทุกคนที่กำลังอ่านอยู่ตอนนี้ รู้สึกอย่างไรกันบ้าง ในวันที่ต้องเจอกับสภาพอากาศไม่โปร่งใส มีฝุ่นปกคลุมหนาไปทั่วเมือง ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ด้านล่างนี้เลย

รายการฟังเสียงประเทศไทย ตอน เส้นทางลดฝุ่น สิทธิในอากาศสะอาดของทุกคน ชวนมาร่วมกันมองภาพอนาคตและแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ไปด้วยกัน กับตัวแทนเครือข่ายอากาศสะอาดและประชาชนกว่า 30 คน ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางมลพิษอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

คุณเปิ้ล ชาวกรุงเทพมหานคร

ปัญหาฝุ่นที่เจอช่วงนี้ คือ ลูกชายหายใจไม่สะดวก เหมือนมีเสมหะ ซึ่งปกติเขาจะไม่ค่อยเป็นอะไร แต่ช่วงหลังเป็นภูมิแพ้ คิดว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวกับเรื่องฝุ่น ถ้าจะแก้ต้องแก้หลายส่วนเลย

คุณศุภชัย บุญแก้วขวัญ ชาวกรุงเทพมหานคร

บ้านผมอยู่แถวถนนพระราม 2 ตอนนี้กำลังก่อสร้างทางด่วนอยู่ ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ วันนี้อากาศถือว่าแย่มาก ครึ้มไปหมด แม่ค้าขายข้าวแกง ปกติจะใส่หม้อและเรียงขาย แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ฝุ่นเยอะ ลงอาหารหมด ก็ต้องตักใส่ถุงและวางขายเป็นถุง ๆ ตอนนี้ได้รับผลกระทบเต็มที่ 

เมื่อก่อนช่วงแรก ๆ ตอนก่อสร้างก็มีการฉีดน้ำ แต่ตอนนี้เงียบไป คิดว่าถ้าถึงเวลาต้องทำแบบเดิมอีกครั้ง

คุณธนพัต ธนัตเจริญ จากจังหวัดสมุทรปราการ 

บ้านผมอยู่ห่างจากแหล่งก่อสร้างไม่ไกลมาก ประมาณ 50 เมตร ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ออกจากบ้านผมต้องใส่หน้ากาก นอกจากกันโควิด-19 แล้ว ต้องใส่ป้องกันฝุ่น ควันดำ 

การป้องกันด้วยการฉีดน้ำ เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่เรื่องของการผลักดัน ต้องถามว่าจะมีกฎหมาย หรือ พ.ร.บ. ที่คุ้มครองประชาชนหรือไม่ เพราะออกจากบ้าน ผมก็อยากจะสูดอากาศบริสุทธิ์

คุณหทัยรัชฌ์ เปี่ยมวิทย์  จากจังหวัดสมุทรสาคร

เดิมทีบ้านพี่อยู่ตรงกลางระหว่างเอกชัย กับพระราม 2 บริเวณนั้นเป็นบ้านสวน อากาศดีมาก ตื่นมามีความสุขมาก ๆ แต่ระยะหลังตั้งแต่มีการก่อสร้างเยอะ ความเจริญเข้ามาถึงชาวสวน แต่สิ่งที่ได้รับ คือ ตื่นขึ้นมาแล้วแสบจมูก บ้านเปิดไม่ได้ เพราะฝุ่นเต็มไปหมด เวลาไอมีเสมหะ สาเหตุมาจากฝุ่นแน่นอน 

นั่นหมายความว่า ความเจริญมาพร้อมกับอากาศเสีย เราต้องเลือก แต่เราอยากได้ความเจริญที่มาพร้อมอากาศดีด้วย ควรจะมีมาตรการหลายอย่างที่มาแก้ไข แต่เราอยากจะได้อากาศดี ๆ กลับคืนมา 

คุณดนัยภัทร โภควนิช เครือข่ายอากาศสะอาด 

เครือข่ายอากาศสะอาด กำลังเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับประชาชน เข้าสู่สภาเมื่อต้นปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. เราถูกมองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงิน  จึงต้องให้นายกรัฐมนตรีรับรองก่อนจึงจะเข้าสภาได้ ใช้เวลาเป็นปีแล้ว ยังไม่รับรองสักที 

ทางเครือข่ายอากาศสะอาดและประชาชนเองก็ส่งเสียงอยู่นะครับ ว่าจะต้องรอไปถึงเมื่อไหร่ เพราะอากาศสะอาดไม่ได้รอเรา 

คุณวีณาริน ลุลิตานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาดแห่งประเทศไทย 

ปัญหาของอากาศ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่มีใครรับผิดชอบ ถ้าไม่ริเริ่มโดยตัวกฎหมาย เรื่องนี้ก็ไม่จบ 

ในระดับปัจเจก จากประสบการณ์ของอาจารย์ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด ที่เคยอยู่ภาคเหนือ เชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศ ในระดับเอกชน ค่ายาที่ต้องเสีย 250,000 ต่อเดือน 4 เดือนต้องจ่ายค่ายาเป็นล้าน นี่คือเงินเก็บของคุณ แต่สิ่งหนึ่งที่เราวัดไม่ได้ คือ ชีวิตที่ต้องเสียไป เรื่องมันใหญ่มาก อยากให้คนเข้าใจ  

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่นเยอะมาก โรงงานในประเทศไทยมีประมาณ 100,000 แห่ง กรุงเทพมหานครมีประมาณ 40,000-50,000 แห่ง ล้อมรอบ จะเห็นว่า เมือง การก่อสร้างสำคัญ สังเกตไหมว่า ตอนนี้เมืองก่อสร้างกันสูงมาก อากาศจะถ่ายเทกันอย่างไร ซึ่งปัจจัยที่เกิดมันมีหลายปัจจัย เราต้องแก้ที่ต้นเหตุ ไม่อย่างนั้นเรื่องนี้ไม่จบ ก็อยากให้ทุกคนช่วยกันผลักดัน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของสิทธิที่จะหายใจ สิทธิที่จะมีชีวิต

คุณแจ๊ค ชาวกรุงเทพมหานคร

ผมอยู่แถวพระราม 4 จริง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็หนีไม่พ้นปัญหาพวกนี้ อย่างที่รู้กันว่า สาเหตุของเรื่องนี้มาจากการก่อสร้าง หรือการเผาไหม้ต่าง ๆ ผมมองว่าไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ 100% เพราะคนมีรถ จะห้ามไม่ให้เขาขับรถก็ไม่ได้ หรือจะงดไม่ให้เขาก่อสร้างก็ไม่ได้ ต้องแก้ที่ตัวเราก่อนที่จะแก้ที่คนอื่น เช่น ใส่หน้ากาก หรือไปอยู่ต่างจังหวัดไปเลย


3 ฉากทัศน์ เส้นทางลดฝุ่น

แต่ก่อนที่เราจะไปพูดคุยเพื่อหาทางออกของปัญหาเรื่องนี้ เรามีภาพอนาคต ทิศทางการเข้าถึงอากาศสะอาด มาให้ทุกคนร่วมกันมองทั้งหมด 3 ฉากทัศน์ด้วยกัน

ฉากทัศน์ที่ 1 ปรับเปลี่ยนดูแลตัวเอง 

ในระหว่างที่รัฐบาลค่อย ๆ ขยับปรับเชิงนโบบาย ประชาชนตื่นตัว ตระหนักรู้ในการดูแลและป้องกันตัวเองจากมลพิษทางอากาศ รวมทั้งร่วมลดต้นเหตุการก่อมลพิษในชีวิตประจำวัน เช่น ลดการสร้างขยะ เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่นั่นคือภาระที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับผู้คนในเมืองใหญ่

รัฐบาลส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับเอกชน สร้างทางเลือกของสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากฝุ่น PM 2.5 และร่วมรับผิดชอบต้นทุนทางสุขภาพของประชาชน

และร่วมรับผิดชอบต้นทุนทางสุขภาพของประชาชน

ท้องถิ่นอย่าง กทม. ช่วยดูแลประชาชน โดยสร้างสิ่งแวดล้อมเมือง ส่งเสริมพื้นที่สีเขียว ลดแหล่งกำเนิดฝุ่น ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดค่า PM 2.5 และจอรายงานผล ให้กระจายทั่วถึง เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนให้ป้องกันดูแลตัวเอง ได้เท่าทันสถานการณ์

ฉากทัศน์ที่ 2 ร่วมมือจัดการภาคสมัครใจ

ภายใต้ความเติบโตของเศรษฐกิจเมือง กทม. เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการปัญหา โดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ ออกข้อบังคับเพื่อกำกับดูแลการขยายตัวของเมืองและกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดมลพิษ ให้ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยการสนับสนุนของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี สร้างองค์ความรู้ เพื่อเดินหน้าอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนของประเทศ ที่จะกระทบหลายภาคส่วน

ประชาชนลงทุนด้วยการใช้รถไฟฟ้า EV หรือสินค้าเทคโนโลยีลดมลพิษ กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงมีแนวโน้มย้ายไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ชานเมือง หรือต่างจังหวัดที่มีอากาศสะอาด

การควบคุมการเผาในที่โล่งและกิจการอุตสาหกรรมใช้มาตรการสมัครใจร่วมมือ โดยชูภาพลักษณ์ดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นจุดเด่นทางการตลาด

ฉากทัศน์ที่ 3 ใช้กฎหมายสร้างกลไกกำกับ

บูรณาการความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประชาชนมีสำนึกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นภาระของทั้งสังคม และมีส่วนร่วมแก้ไขอย่างจริงจัง

รัฐบาลใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมการก่อมลพิษ กำกับดูแลตั้งแต่แหล่งกำเนิด ทั้งในภาคการเกษตร การบริการ และอุตสาหกรรม ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่คำนึงถึงคุณภาพอากาศสะอาด ทั้งนี้ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษที่เป็นระบบ เพื่อการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ

ผู้ประกอบกิจการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีกองทุนเพื่อคุณภาพอากาศ สำหรับดูแล ชดเชย เยียวยากลุ่มคนเปราะบางหรือผู้ได้รับผลกระทบ โดยใช้มาตรการทางภาษีที่จัดเก็บจากผู้ปล่อยมลพิษ

พัฒนากลไกการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลโดยประชาชน ในฐานะผู้บริโภค ด้วยระบบฉลากสินค้าลดมลพิษ หรือกลไกทางภาษี 


สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5

ช่วงเดือนธันวาคม ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี คือช่วงเวลาเฝ้าระวังวิกฤติ PM 2.5 ปกคลุมกรุงเทพมหานคร เมื่อความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมายังประเทศไทย สภาพอากาศที่ปิด ลมสงบ ทำให้ฝุ่นละอองไม่กระจายตัว เกิดการสะสมในอากาศ  

บวกกับพื้นที่กรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ และมีความหนาแน่นของอาคารสิ่งปลูกสร้าง ทำให้กระแสลมไหลผ่านได้น้อย ขณะที่กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนเมือง ล้วนเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่สะสม

นี่คือ คุณภาพอากาศที่คนเมืองหลวงต้องหายใจเข้าไปในแต่ละวัน

ผลกระทบจากฝุ่นพิษ

มลพิษจากฝุ่นละอองในอากาศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และกลายเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย ยิ่งฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดเล็กยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะมีขนาดเล็กพอที่จะสามารถถูกสูดหายใจเข้าไปลึกถึงปอด และอาจจะเข้าไปถึงกระแสเลือดที่ไหลเวียนทั่วร่างกายของเราได้

สำหรับประเทศไทย มะเร็งปอด เป็น 1 ในมะเร็ง 5 อันดับแรก ที่พบบ่อยในผู้ป่วยใหม่ ยังเป็น 1 ใน 5 ของสาเหตุการตายของคนไทยมากที่สุดอีกด้วย 

แม้ว่า มะเร็งปอด  อาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ พบว่า ผู้สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด มากถึง 10 เท่า ของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ สาเหตุต่อมา คือ การได้รับ หรือสัมผัสสารก่อมะเร็ง เช่น ไอควัน ของสารโลหะหนัก โครเมียม หรือ เรดอน เป็นต้น ส่วนสาเหตุสุดท้าย คือ การอยู่ในสภาวะแวดล้อม ที่มีฝุ่นละอองพิษ

จากการศึกษา พบว่า ฝุ่น PM 2.5 ทำให้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดได้ มากถึง 1  ถึง 1.4 เท่า ถือว่า เป็นสารก่อมะเร็ง ที่มีขนาดโมเลกุลเล็ก เพียง 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากร่างกายได้รับสาร PM 2.5 ในปริมาณมากและยาวนานเกินไป อาจทำให้ DNA กลายพันธุ์ และกลายเป็นมะเร็งปอดได้    

นอกจากนี้มีงานวิจัยที่แสดงด้วยว่า เมื่อคุณภาพอากาศเลวร้ายลง อัตราการไปห้องฉุกเฉิน และการเข้าอยู่โรงพยาบาลจะสูงขึ้น เพราะมลพิษทำให้ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่กำเริบ และเป็นเหตุให้หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ หอบหืดกำเริบ และอื่นๆ อีกมากมาย 

วารสารสมาคมโรคหัวใจ เมื่อวันที่ 26 มกราคม  2564 ระบุว่า ปริมาณของฝุ่น PM 2.5 และ PM 10 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร จนถึงระดับ 33.3 และ 57.3 ตามลำดับ เพียงแค่นี้ ก็ทำให้คน เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้มากขึ้น  

สาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทย

องค์การอนามัยโลกประมาณการว่า มีประชากร ที่ต้อง “เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร” เนื่องจากมลพิษในอากาศทั่วโลก มากกว่าหกล้านคนในแต่ละปี และในจำนวนนี้ เป็นเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบ ราวร้อยละสิบ คือ ประมาณ 6 แสนคน 

กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ฝุ่นละออง สามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกาย และทำลายระบบต่าง ๆ ได้ ซึ่งเด็กจะมีอัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้มีโอกาสที่จะสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าไปได้มากกว่า หรือแม้แต่เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา ฝุ่นละอองขนาดเล็กจะเข้าไปทำลายเซลล์สมอง ส่งผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญา และร่างกายในระยะยาว 

ปี 2563 มลพิษทางอากาศ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ของคนไทย กว่า 14,000 ราย ใน 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรสาคร ขอนแก่น และระยอง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ เกือบ 150,000  ล้านบาท  

เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากมลพิษ PM 2.5 มากกว่า หนึ่งแสนล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด โดยฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ของประชากรในกรุงเทพฯ เกือบ 10,000 ราย ถือเป็นจังหวัด ที่มีการเสียชีวิตจากฝุ่นพิษสูงที่สุดในประเทศ  

ต้นตอของปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ

จากข้อมูล ของสารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ ปี 2562 ระบุว่า PM 2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มาจากยานพาหนะ หรือ รถ ที่ใช้น้ำมันดีเซล ร้อยละ 52 การเผาในที่โล่ง ร้อยละ 35  มาจากพื้นที่อื่น ๆ ร้อยละ 7  และจากฝุ่นดิน ฝุ่นโลหะหนัก ร้อยละ 6 หรือเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มีองค์ประกอบของซัลเฟอร์สูง และไบโอแมส ร้อยละ 3 ถึง 5

สอดคล้องกับ งานวิจัย ผลกระทบต่อสุขภาพและต้นทุนทางสุขภาพ ของฝุ่นละอองขนาดเล็ก จากภาคขนส่งทางถนน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า แหล่งกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 มากกว่า ร้อยละ 54  มาจากการขนส่งทางถนน

เมื่อดูจากจำนวนรถยนต์ ที่จดทะเบียนทั่วประเทศ รวม 40.7 ล้านคัน มีรถยนต์ที่จดทะเบียน กทม. จำนวน 10.7 ล้านคัน มีรถยนต์ใหม่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 จากรถยนต์ทั้งหมด และหากพิจารณาจากจำนวนยานพาหนะ ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 10.67 ล้านคัน หากเทียบกับจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ ที่มีอยู่ 10.54 ล้านคน สามารถพูดได้ว่า รถหนึ่งคัน เทียบเท่ากับประชากร 1 คน    

แหล่งฝุ่นพิษอันดับสอง  คือ ภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลจาก กระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2565 ระบุว่า โรงงาน ที่มีกระบวนการเผาไหม้  โรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ โรงงานหลอมเหล็ก หรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัลติก ที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 896 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ 260 แห่ง โรงงานในเขตปริมณฑล เช่น จังหวัดสมุทรปราการ  จังหวัดปทุมธานี  จังหวัดนครปฐม และจังหวัดนนทบุรี จำนวน 636 แห่ง 

แหล่งฝุ่นพิษ ลำดับที่สาม มาจากการเผาของภาคเกษตร โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ติดตามตรวจสอบสถานการณ์ การเผาในที่โล่ง ของประเทศไทย จากดาวเทียม TERRA และ AQUA ระบบ MODIS พบว่า กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีจุดความร้อนสะสม ในปี 2565 ทั้งหมด 122 จุด แบ่งเป็น กรุงเทพมหานคร 12 จุด นครปฐม 30 จุด นนทบุรี  6 จุด ปทุมธานี  47 จุด สมุทรปราการ  21 จุด และ สมุทรสาคร  6 จุด

กฎหมายควบคุม PM 2.5 ที่มีในประเทศไทย

ประเทศไทย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมฝุ่น PM 2.5 อย่างน้อย 6 ฉบับ  คือ

  • พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 
  • พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 
  • พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 
  • พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 
  • พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 
  • พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522

ทั้งหมดนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ หลายกระทรวง ในลักษณะที่แยกส่วนการทำงานกันอย่างชัดเจน ขณะที่การจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่แยกส่วนไม่ได้ ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นกฎหมายที่ถูกบัญญัติขึ้นมานานมากแล้ว และขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน โดยเฉพาะรายละเอียดที่เกี่ยวกับสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม  

ปัจจุบัน อุปสรรคสำคัญของการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน คือ ยังขาดตัวบทกฎหมาย ที่จะกำกับ และป้องกันสาเหตุการเกิดฝุ่นควันพิษ

ช่วงปี 2563 ถึง 2564 มีร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 มลพิษทางอากาศและสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 ฉบับ ถูกเสนอต่อรัฐสภา แต่ล้วนติดเงื่อนไข เป็นร่าง พ.ร.บ.การเงินฯ จะต้องได้รับ “คำรับรอง” จากนายกรัฐมนตรีก่อนจึงจะเสนอสู่การพิจารณาของสภาได้

โดยร่างกฎหมาย ทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย 

1. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน  พ.ศ. …  เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย  

2. ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …  เสนอโดยภาคประชาชน 

3. ร่าง พ.ร.บ.การรายงาน การปล่อย และการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ สู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. …   หรือ ร่าง พ.ร.บ. PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล

ปี 2565 ภาคประชาชนในนาม “เครือข่ายอากาศสะอาด” รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 22,251 คน เสนอร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …  หรือ ร่างกฎหมายอากาศสะอาด ฉบับภาคประชาชน ต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา

ยกระดับ ปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ใหม่

การยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน คือมาตรการหนึ่งที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ใช้ โดยปรับเกณฑ์แนะนำให้สูงขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564

ส่วนไทย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติกำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ใหม่ จากเดิมค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ปรับเปลี่ยนเป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2566 

และค่าเฉลี่ยรายปี จากเดิม 25 มคก./ลบ.ม. เป็น 15 มคก./ลบ.ม. โดยจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2565 วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศ และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน


4 มุมมอง แก้ไขปัญหาฝุ่น

หลังจากทุกท่านได้รับรู้ถึงความอันตรายจากผลกระทบของฝุ่นที่เราสูดดมกันเข้าไปแล้ว ถึงเวลาที่เราอยากชวนทุกคนมาร่วมกันมองภาพอนาคต แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม บนฐานข้อมูล (Data base) กับวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ที่ทำการสำรวจและเก็บข้อมูล

อัลลิยา เหมือนอบ นักรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทย มองประเด็นนี้ ว่า ฝุ่น PM 2.5 อันตรายต่อสุขภาพ และอาจจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สูงที่สุด ซึ่งมักจะถูกละทิ้งไว้ ไม่ถูกจัดการ 

แน่นอนว่ามันส่งผลต่อเศรษฐกิจ และอีกส่วนมันกลายเป็นภาระที่ถูกผลักมาให้กับประชาชนด้วย เมื่อการจัดการมันไม่ได้เร่งด่วน ไม่มีการจัดการที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วพอ ภาระค่าใช้จ่ายตกมาที่ประชาชน ที่ต้องไปหาซื้อเครื่องกรองฝุ่น หาซื้อหน้ากากเอง ทั้งหมดนี้ประชาชนจ่าย ยังไม่รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงไว้ว่า ประชาชนต้องจ่ายเองทั้งนั้น

วรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยงานแก้ไข กล่าวว่า ความเข้มข้นของ PM 2.5 จะเห็นว่า จากปี 2563 จะปรับลดลง ตรงนี้มาตรฐานปัจจุบัน ยังใช้มาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 มาตรฐานจะปรับเข้มข้นขึ้นเป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นอีกความท้าทายว่า กรุงเทพมหานครจะทำอย่างไร จึงจะทำให้คนกรุงเทพฯ ได้อยู่ในอากาศที่สะอาดและเป็นผลดีต่อสุขภาพ

นั่นหมายความว่า ท้องถิ่นจะต้องเพิ่มสรรพกำลัง ทำงานที่เข้มข้นกว่าเดิม ฝุ่น เป็นมลพิษที่เคลื่อนที่ได้ และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายหน่วยงาน ทางการบอกว่า ต้องบูรณาการ ซึ่งกรุงเทพมหานครตั้งคณะทำงาน เอากระทรวง ทบวง กรม ทั้งหมด 25 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องฝุ่นทุกส่วนของหน่วยงานราชการ มาเป็นคณะกรรมการ รวมทั้งจังหวัดปริมณฑลทั้ง 5 จังหวัด ที่อยู่รอบเรา 

การแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นในกรุงเทพมหานคร เราจะแบ่งเป็น 3 กล่อง 1. เราจะเฝ้าระวังอย่างไร 2. จะกำจัดต้นตอในงานที่เป็นภารกิจ หน้าที่ในอำนาจของกรุงเทพมหานครได้อย่างไร และ 3. เราจะเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างไร การจะกลับไปแก้ที่ต้นตอจะทำได้อย่างไร

ก่อนเข้ามาคุยในวง หลายคนพูดเรื่องของควันดำกันเยอะเลย เพราะเห็นรถบางคันปล่อยควันดำ ถามว่าเรามีการตรวจสภาพรถ หรือ ตรอ. แล้วทำไมฝุ่นยังเกิน หรือแม้แต่รถเมล์ ซึ่งเขาจะมีการตรวจตอนเช้าว่ามีการปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานหรือไม่ ตอนที่ตรวจที่อู่ ยังไม่มีผู้โดยสาร ผู้โดยสารยังไม่ได้ขึ้น ยังไม่แบกน้ำหนัก พอมีผู้โดยสารขึ้นเยอะ น้ำหนักเกิน การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ อันนี้เป็นส่วนที่อาจจะต้องมองในภาพรวมว่าจะแก้ไขอย่างไร   

ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง สกสว. และ อาจารย์ประจำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร มองทางออกของเรื่องนี้ว่า  ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานด้านวิศวะกรรมสิ่งแวดล้อม และในฐานะที่อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เรามีโครงการที่ทำด้านฝุ่นเยอะ ทาง สกสว. ใช้ Ai แมทช์ฉากทัศน์ 4 ฉากทัศน์กับงานวิจัยเกือบ 20,000 เรื่อง ด้วยกัน

ฉากทัศน์ที่ 1 ที่ได้มาคือ อัตตาหิอัตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน มันมีค่าใช้จ่ายของการป้องกันตัวเอง ค่าใช้จ่ายของการใช้หน้ากาก ค่าใช้จ่ายต่อการเปลี่ยนแปลงตารางต่าง ๆ ของครัวเรือน ตกประมาณ 6,000 กว่าบาทต่อครัวเรือนต่อปี ที่เราแบกไว้ไม่รู้ตัว     

ฉากทัศน์ที่ 2 เมืองแห่งรถไฟฟ้า หลาย ๆ คนน่าจะรออยู่ เรามีแผนของรัฐบาล ที่จะเปลี่ยนผ่านเป็นรถไฟฟ้าในอีก 14 ปี โดยจะคาดว่าจะเปลี่ยนได้ 37% ของจำนวนรถทั้งหมดในปัจจุบัน และเชื่อว่า การปลดปล่อยฝุ่นจากการจราจร 59% ถ้าเราทำตามแผนนี้ จะลดฝุ่นได้ 22% 

ถามว่า 22% พอไหม ผมเอาปี 2020 เป็นฐานในการคำนวนต่อ โดยถ้าเราลดการปลดปล่อยไปได้ 22% จากการจัดการรถให้เป็นรถไฟฟ้าตามแผน จะลดวันที่ทำให้ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานออกไป จนแถบไม่มีเลยหรือเปล่า ซึ่งพบว่า ไม่ใช่ เรามีความพร้อม สามารถซื้อรถไฟฟ้าเทสล่าเข้ามาได้ ผมเรียกฉากทัศน์นี้ว่า ฉากทัศน์อุตสาหกรรมสะอาดขึ้น  

กฎหมายของต่างประเทศบอกไว้ว่า ที่ไหนที่มีมลพิษ PM 2.5 มลพิษอากาศอื่น ๆ เกินค่าที่ยอมรับได้อยู่แล้ว โรงงานที่มาตั้งต้องปลดปล่อยน้อยมาก ๆ จนไม่สร้างมลพิษเพิ่ม เขาเรียกพื้นที่คุณภาพอากาศไม่ผ่านค่ามาตรฐาน ดังนั้นเขาต้องติดตั้นระบบบำบัดที่ดีมาก ๆ ไม่งั้นก็ไปตั้งที่อื่น หรือต้องซื้อโควต้าการปลดปล่อยจากโรงงานที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้มลพิษปลดปล่อยไม่เกินโหลดดิ้ง ตรงนี้กฎหมายบ้านเราไม่มี  

ฉากทัศน์สุดท้าย เป็นฉากทัศน์ที่ยั่งยืน และอยากเห็นมาก ๆ เป็นฉากทัศน์ที่ใช้กลไกตลาดเสริมอำนาจผู้บริโภค ในต่างประเทศมีการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อม แต่จะพูดถึงตัวก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก ผลิตภัณฑ์แต่ละตัวที่เราซื้อ มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ 

แนวคิดเดียวกันถ้าเอามาใช้กับ PM 2.5 หรือมลพิษทางอากาศ มันเทียบกันได้เลย สิ่งของเดียวกัน ยี่ห้อไหนปล่อยมลพิษทางอากาศเท่าไหร่ ซึ่งอำนาจของเราในการจัดการเรื่องฝุ่น อยู่ที่ตอนเราซื้อ ถ้าเรามีข้อมูล เราสามารถเลือกซื้อสิ่งที่ปลดปล่อยมลพิษทางออกกาศน้อยกว่าได้ ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดเอง ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีทางที่จะทำอย่างเดียวแล้วจะสำเร็จ 

รศ. ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด กล่าวในประเด็นนี้ว่า  เวลาที่เราจะแก้ปัญหาเรื่องที่มีความซับซ้อนสูง เครื่องมือหรือกลไกที่จะใช้ไม่ใช่เชิงเดี่ยว ไม่ใช่กฎหมายเพียว ๆ แต่เป็นการบูรณาการตั้งแต่หัวขบวน คือ โครงสร้างองค์กร หน่วยงาน และกฎหมายที่กระจัดกระจาย ให้เกิดการบูรณาการ และกฎหมาย หรือร่างนัยยะแบบนี้ พึงจะเป็นกฎหมายที่ทำให้ดีขึ้นหรือไม่ ควรจะแก้ไขที่ต้นตอหรือเปล่า  

ขนาดเราใช้คำที่ถูกต้อง คือ อากาศสะอาดไม่ใช่อากาศบริสุทธิ์ ก็ยังมีคนไม่เข้าใจอากาศสะอาด และมองว่า คำว่า อากาศคือเพ้อฝัน ไม่รู้จักคำว่า Clean Air รู้จักแต่ Air pollution พอไม่รู้จัก การแก้ไขปัญหาก็จะวนอยู่ในอ่าง เพราะแตะแค่เบา ๆ ยกเครื่องไม่ทำ การแก้ไขกฎหมายแบบนั้น เกิดขึ้นบ่อยเกินไป มีคำว่า ปฎิรูปแต่ว่าไม่เคยเกิดสิ่งที่เรียกว่า ปฏิรูปอย่างแท้จริงในกลไกกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกชนิด โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 มันกระทบสุขภาพ ทำให้ตายเร็วขึ้น เป็นเรื่องความเป็นความตาย  

ดังนั้นเวลาเกิดเหตุ ไม่เห็นโรงศพไม่หลั่งน้ำตา เราต้องนั่งรอวันตาย ต้องถึงขนาดนั้นแล้วหรอ มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น สังคมควรจะมองไปข้างหน้า ไม่เห็นแก่ตัวเอง ก็เห็นแก่ลูกหลาน 

เราทำการบ้านกันหนักมาก กว่าที่จะออกมาเป็นร่างกฎหมายประชาชนที่มีคนเข้าร่วมรายชื่อ 10,000 ชื่อ  ชื่อยาวมาก ร่าง พรบ.การกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ถามว่าทำไมชื่อมันยาว เพราะมันคือแผลเป็นที่ทำให้เกิดคอขวดและไปต่อไม่ได้

ที่เป็นอยู่มันกระจัดกระจาย ก็ต้องมี ผู้ควบคุม (Regulator) มากำกับดูแล ทั้งหมดมันคือกฎหมายปฏิรูป กฎหมายนวัตกรรม 

คลิกอ่านเนื้อหาการพูดคุยฉบับเต็ม : https://thecitizen.plus/node/68869


ร่วมโหวตฉากทัศน์

หลังจากที่ได้อ่านข้อมูลและทิศทางการเข้าถึงอากาศสะอาดจากตัวแทนภาคประชาชน นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คุณคิดว่า อนาคต หรือ ทิศทางการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น ควรเดินหน้าต่อไปทางไหน สามารถร่วมโหวตฉากทัศน์ที่อยู่ด้านล่างนี้ได้เลย

นอกจากนี้ยังร่วมแสดงความคิดเห็น หรือออกแบบนโยบาย หรือนำเสนอแนวคิดเพื่อการจัดการอากาศ หรือแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ได้ที่ your priority พื้นที่ออกแบบนโยบายแบบมีส่วนร่วม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ