เส้นทางลดฝุ่น สิทธิในอากาศสะอาดของทุกคน

เส้นทางลดฝุ่น สิทธิในอากาศสะอาดของทุกคน

รู้หรือไม่ PM 2.5 คือ หนึ่งในสาเหตุการตายก่อนวัยอันควรของคนไทย และยังเป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งปอด โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืด 

ซึ่งผลกระทบทางด้านสุขภาพทั้งหมดนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับเราทุกคน ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะ กรุงเทพมหานคร ที่เมืองทั้งเมืองถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นจิ๋วหนาแน่น เกินค่ามาตรฐาน ในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ของทุกปี จนส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน และกลายเป็นจังหวัดที่มีคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงที่สุด เกือบ 10,000 ราย ในปี 2563 นับเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 104,557,000,000 บาท 

ผลกระทบที่เกิดขึ้น ร้ายแรงและสร้างความเสียหายทั้งชีวิตของผู้คนและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะต้องรีบหาทางแก้ไขอย่างเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียบานปลายไปมากกว่านี้ 

รายการฟังเสียงประเทศไทย จึงชวนตัวแทนชาวกรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันที่ปกคลุมอยู่ในอากาศ และเครือข่ายที่ขับเคลื่อนอากาศสะอาดกว่า 30 คน มาร่วมรับฟัง และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อมองภาพอนาคต และแนวทางการแก้ไขปัญหาของเรื่องนี้บนฐานข้อมูล (Data base) ไปพร้อม ๆ กันกับวิทยากรทั้ง 4 ท่าน กับ 4 ด้านในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาของเมือง

  • ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง สกสว. และ อาจารย์ประจำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร
  • วรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
  • รศ. ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • อัลลิยา เหมือนอบ นักรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทย

สิทธิที่จะเข้าถึงอากาศสะอาดของเราทุกคนเป็นอย่างไร

อัลลิยา เหมือนอบ กล่าวว่า ปัญหานี้เท่าที่เราเห็น เรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นรองในสังคม ถูกพูดถึงน้อยกว่าประเด็นอื่น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นดาราทะเลาะกัน หรือประเด็นการเมือง เรื่องของสิ่งแวดล้อมจะเป็นประเด็นรองเสมอ

อีกด้านเรื่องของการให้ความสำคัญจากหน่วยงานภาครัฐเองก็เป็นประเด็นรอง เพราะเรื่องของเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องมาก่อนเสมอ ส่วนประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมพอมันไม่ถูกพูดถึง ถูกทิ้งไว้เป็นเวลานาน สุดท้ายผลเสียมันจะกลับมาอยู่ในรูปแบบเศรษฐกิจเชิงลบ เพราะต้นทุนในการที่จะเอามาใช้จ่ายเรื่องของการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม หรือกระทั่งการลงทุนเรื่องของสุขภาพของประชาชน สูงกว่าการลงทุนป้องกันเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากกว่า

อย่างที่เห็นว่า ผลกระทบเรื่องของสิ่งแวดล้อม PM 2.5 อันตรายต่อสุขภาพ และอาจจะเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงที่สุด ซึ่งตรงนี้มักจะถูกทิ้งไว้ ไม่ถูกจัดการ และถูกผลักมาเป็นภาระให้ประชาชน 

เมื่อการจัดการไม่ได้เร่งด่วน ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตกมาที่ประชาชน เพราะเราจะต้องหาซื้อเครื่องกรองฝุ่น หาซื้อหน้ากากเอง ทั้งหมดนี้ประชาชนจ่าย ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาลที่ประชาชนต้องจ่ายค่ารักษาเอง หรือบางสิทธิเรื่องของการรักษาพยาบาลก็ไปลงงบของประเทศ ที่ต้องมาจ่ายรักษาอาการป่วยจากฝุ่น PM 2.5 ให้ประชาชน 

ความร้ายแรงของปัญหานี้ ร้ายแรงถึงขนาดที่ ผู้ป่วยอย่างมะเร็งปอด มีอายุน้อย เห็นได้จากข่าว ผู้ป่วยมะเร็งปอดอายุไม่ถึง 30 ปี ซึ่งป่วยระดับ 3-4 ซึ่งร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งหากแนวโน้มเป็นแบบนี้ โอกาสที่จะก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุ เราอาจจะขาดแคลนแรงงานออกไปอีกเรื่อย ๆ

การทำงานของท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น

วรนุช สวยค้าข้าว ให้ข้อมูล สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 

ปี 2563 ค่าเฉลี่ยรายปี อยู่ที่ 24 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร 

ปี 2564 ลดลงมาเหลือ 23 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรและ

ปี 2565 เฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 23 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ไม่เปลี่ยนไปจากปี 2564 

ตัวเลขนี้เทียบกับค่ามาตรฐานตัวเก่าตามประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แต่ถ้าเทียบกับค่ามาตรฐานใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ ค่าเฉลี่ยนี้ถือว่าไม่ผ่าน

ซึ่งหากดูค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในช่วงเวลาที่เรียกว่าปัญหาฝุ่นละอองวิกฤต คือ ช่วงเดือน ตุลาคม – เมษายน ความเข้มข้นของ PM 2.5 มาตรฐานเดิม คือ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แต่วันที่ 1 มิถุนายนจะปรับเป็นเข้มข้นขึ้น เป็น 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร นั้นเป็นความท้าทายว่า กรุงเทพมหานครจะทำอย่างไรให้คนกรุงเทพฯ ได้อยู่ในอากาศที่สะอาด มีผลดีต่อสุขภาพ  

ตามแผนฝุ่นแห่งชาติ การที่จะดูเรื่องของสภาพอากาศ เราจะดูในวันที่ค่าฝุ่นไม่เกินมาตรฐานมันเพิ่มขึ้น วันที่ฝุ่นเกินมาตรฐานมันควรจะลดลง แปรผันไม่แตกต่างกันมากนัก แต่เรากำลังจะปรับมาตรฐาน หมายความว่า ที่เรามองเห็นอยู่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานแล้ว ท้องถิ่นต้องเพิ่มกำลัง ทำงานกันเข้มข้นกว่าเดิม

ความท้าทายของเรื่องฝุ่นก็คือ ฝุ่นเป็นมลพิษเคลื่อนที่ได้ มีหน่วยงานรับผิดชอบหลายหน่วยงาน ทางกรุงเทพมหานคร เราตั้งเป็นหน่วยงาน โดยรวม 25 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องฝุ่นทุกกรมของส่วนงานราชการ มาเป็นคณะกรรมการ รวมทั้งจังหวัดปริมณฑลทั้ง 5 จังหวัดที่เข้ามาร่วมกับเรา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดมาติดตามแผนการทำงานกับทางกรุงเทพมหานคร 

แผนที่กรุงเทพมหานครจะทำ เราแบ่งเป็น 3 กล่อง  คือ 1. การเฝ้าระวัง 2. เราจะกำจัดต้นตอ ในงานที่เป็นภารกิจ เป็นอำนาจหน้าที่ของกทม. อย่างไร  และ 3. เราจะป้องกันและเฝ้าดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างไร

กรุงเทพมหานคร มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 70 สถานี ครอบคลุม 50 เขตในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นสถานีที่ติดตั้งถาวร และเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งนอกจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแล้ว จะมีรถโมบายที่ทำหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพอากาศ กรณีที่สถานีหลักมีค่าเข้นข้นเกินไป จะมีรถโมบายไปจอดเทียบวัดคุณภาพอากาศอีกที เมื่อวัดเสร็จแล้ว เราจะเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบวันละ 3 เวลา คือ ช่วง 7.00 น. 11.00 น. และ 15.00 น. ใครจะออกจากบ้าน ออกจากออฟฟิศก็สามารถเช็คดูค่าฝุ่นก่อนได้ หรือสามารถเช็คคุณภาพอากาศตรงที่คุณอยู่ได้จากแอปพลิเคชัน AirBKK ซึ่งถามว่าแม่นยำ 100% ไหม ก็สามารถทำให้ท่านเฝ้าระวังดูแลสุขภาพตัวเองได้ 

ส่วนต่อมาคือ การกำจัดต้นตอ ฝุ่นในกรุงเทพมหานคร สาเหตุหลัก ๆ มาจาก เรื่องของจราจร แต่เรื่องของอุตสาหกรรมก็ยังมีอยู่ ซึ่งจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำเสนอผลการสำรวจแหล่งกำเนินฝุ่น PM 2.5 ของกรุงเทพมหานคร พบว่า ฝุ่นที่เกิดจากยานพาหนะเพิ่มขึ้น 61% ใน 61% มาจากรถบรรทุกส่วนบุคคล หรือรถกระบะ 24% รองลงมาคือรถบรรทุกขนาดใหญ่ 21% ถัดลงไปคือ กลุ่มรถโดยสารประมาณ 8% และในส่วนของรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลอีก 7% มอเตอร์ไซค์ 1% ส่วนภาคโรงงานอุตสาหกรรม 3-5%

ก่อนเข้ามาคุยในวง หลายคนพูดเรื่องของควันดำกันเยอะเลย เพราะเห็นรถบางคันปล่อยควันดำ ถามว่าเรามีการตรวจสภาพรถ หรือ ตรอ. แล้วทำไมฝุ่นยังเกิน หรือแม้แต่รถเมล์ ซึ่งเขาจะมีการตรวจตอนเช้าว่ามีการปล่อยมลพิษเกินขนาดหรือไม่ ตอนที่ตรวจที่อู่ ยังไม่มีผู้โดยสาร ผู้โดยสารยังไม่ได้ขึ้น ยังไม่แบกน้ำหนัก พอมีผู้โดยสารขึ้นเยอะ น้ำหนักเกิน การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ อันนี้เป็นส่วนที่อาจจะต้องพูดคุยกันว่าจะแก้ไขอย่างไร

อันนี้เป็นตัวเลขสะสมที่เราทำการสำรวจไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 10 มกราคม 2566 แหล่งที่มาจากสถานประกอบการรายเล็ก รายน้อย 1,044 แห่ง ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร ทั้งผู้ว่าราชการและทีมบริหาร มองว่า เราจะกำจัดต้นต่อได้ ต้องไปเชิงรุก อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง จะเห็นว่าสถานประกอบการมี 1,044 แห่ง แต่ตัวเลขที่ไปตรวจ 3,426 แห่ง ในจำนวนนี้เราพบว่ามีสถานประกอบการที่ปล่อยมลพิษทั้งหมด 7 แห่ง และได้ดำเนินการตามกฎหมายไปแล้ว 

สถานประกอบการที่ทางกรุงเทพมหานครดูแล คือ โรงงานประเภท 1 และ ประเภท 2 ถ้าโรงงานประเภท 3 จะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ตั้งแต่เครื่องจักรเกิน 75 แรงม้าขึ้นไป ทางกรมอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแล ส่วนที่ทางกรุงเทพมหานครดูแล ถ้าเจอแจ้งเตือน แก้ไข ถ้าแจ้งเตือนแก้ไขแล้วไม่ดำเนินการก็ดำเนินคดี  

นอกจากสถานประกอบการ จะเห็นเราว่าไปตรวจแพลนท์ปูน ในกรุงเทพมหานครมีแพลนท์ปูน 133 แห่ง ในจำนวนนี้พบว่า มีการดำเนินงานปล่อยปละละเลยให้ มี PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ตรงนี้เราเอารถโมบายเข้าไปตรวจด้วย ในกรุงเทพมหานคร ตามสถานที่ก่อสร้างที่เราเห็น สถานที่ก่อสร้างใหญ่ ๆ ที่มีการทำ รายงานประเมินผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) เป็นกลไกหนึ่งแล้วเราไปตรวจซ้ำด้วย นอกจากนี้ยังมีท่าทรายที่มีการถมดิน การเปิดหน้างานก็ก่อให้เกิดฝุ่นละออง

ในส่วนของการตรวจมลพิษจากยานยนต์  ตั้งด่านตรวจ หลายคนบอกเป็นปัญหา ทำไมไม่ไปตรวจที่ต้นทาง เราตรวจทั้งต้นทางและระหว่างทาง เพราะอัตราการเผาไหม้มันเปลี่ยน ตอนที่อยู่ที่อู่ไม่มีปัญหา แต่เวลาวิ่งออกมาปัญหาเกิด 

เรื่องพวกนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร แต่อะไรที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ต้องอาศัยความร่วมมือ พ.ร.บ.จราจร ผู้ที่มีอำนาจบังคับคดีก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วน พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ผู้มีอำนาจในการบังคับใช้ ก็คือ กรมการขนส่งทางบก ในส่วนของกรุงเทพมหานคร จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งอำนาจก็จะแตกต่างกันตามกฎหมายแต่ละฉบับ    

การป้องกันเรื่องของสุขภาพ อยากขอความร่วมมือประชาชนว่า ถ้าเจอเรื่องของฝุ่นเห็นแล้วแจ้งได้ที่ Traffy Fondue เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่าง เวลาเจอรถบรรทุก ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร อยู่ในอำนาจของกรมการขนส่งทางบก เราก็ต้องประสานขอความร่วมมือไปที่กรม บางครั้งอาจจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลไม่ทั่วถึง ซึ่งอันนี้ก็เป็นความพยายามของกรุงเทพมหานครว่าจะทำอย่างไร เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนได้

กรุงเทพมหานครก็มีกิจกรรมป้องกันและดูแลสุขภาพที่ดำเนินการอยู่ ก็คือ กิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียน กทม. เป็นนโยบายของผู้ว่า ที่อยากให้น้อง ๆ นักเรียนกว่า 437 โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร ได้อ่านค่า PM 2.5 จากแอปพลิเคชัน AirBKK  ที่โรงเรียนว่า แต่ละวันคุณภาพอากาศเป็นอย่างไร เช่น วันนี้คุณภาพอากาศประมาณ 20 ไมโครกรัม ธงวันนี้เป็นสีฟ้า อากาศดี เด็ก ๆ ก็จะชักธงสีฟ้า หรือถ้าวันนี้คุณภาพอากาศขึ้นไป 76 ไมโครกรัมแล้ว  เด็ก ๆ เขาก็จะต้องชักธงสีแดง กิจกรรมนี้ก็จะทำให้เด็ก ๆ ได้รู้ว่าตอนนี้คุณภาพอากาศเป็นอย่างไร ส่งผลไปถึงการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ในโรงเรียน ที่จะต้องมีห้องปลอดฝุ่น หรือห้องปลอดภัยสำหรับน้อง ๆ ที่จะดูแลสุขภาพของตัวเอง โดยเฉพาะน้อง ๆ ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้จะส่งต่อไปยังคุณพ่อ คุณแม่ที่อยู่ที่บ้าน นี่คือความคาดหวังของเรา 

นอกจากนี้ก็จะมีกิจกรรมสายด่วนสุขภาพ คลินิกมลพิษอากาศรองรับผู้ป่วยที่มีข้อกังวัล ให้ได้ไปหาคุณหมอเฉพาะทาง ตรงนี้กรุงเทพมหานครมีรองรับ 5 โรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารัฐ ฯลฯ 

แอปพลิเคชันเราก็มี AirBKK ตรวจคุณภาพอากาศ, Traffy Fondue แจ้งเตือนเมื่อเจอค่าเกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ อย่างแรกเมื่อค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 3 วันต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าอันตรายแล้ว โดยเฉพาะเด็ก ๆ กลุ่มเปราะบาง เมื่อฝุ่นเกินมาตรฐาน อันดับแรกเลยเป็นอำนาจของผู้อำนวยการโรงเรียน ในการสั่งปิดโรงเรียน ปิดได้ไม่เกิน 3 วัน แต่ถ้าฝุ่นยังเกินอยู่ทางผู้อำนวยการเขตสั่งปิดได้ ไม่เกิน 7 วัน แต่ถ้ามีหลายพื้นที่ หลายเขต เรามีผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ปิดเพิ่มได้เป็นจำนวน 15 วัน มากกว่านี้ก็จะเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ ไม่มีกำหนดเวลา

ในมุมของฝั่งวิชาการ มองวิกฤตฝุ่นตอนนี้เป็นอย่างไร

ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ กล่าวว่า ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานด้านวิศวะกรรมสิ่งแวดล้อม และในฐานะที่อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เรามีโครงการที่ทำด้านฝุ่นเยอะ ผมก็เลยอยากจะเล่าให้ฟังถึงทิศทางที่จะเป็นไปได้ 4 ฉากทัศน์ของการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ 

เอาที่สถานการณ์ปัจจุบันก่อน ข้อมูลที่เรานำมาจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศของ เครื่อง Low Cost Sensor ของดัสท์บอยซึ่งกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน 

ซึ่งจากการเก็บข้อมูลเราพบว่า ปี 2022 มีวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานที่ WHO แนะนำ ประมาณ 249 วัน ถือว่าเป็นวันที่มีความเสี่ยงที่จะรับสารก่อมะเร็งและโรคหัวใจเกินค่าที่จะยอมรับได้ ถ้ารวมทุกเขตของ กทม. จะพบว่า มีจำนวนวันที่ PM 2.5 เกินมาตรฐานของ WHO อยู่ 1,131 วัน 

ข้อมูลจาก World Bank บอกไว้ว่า PM 2.5 ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 4,486 คน ต่อปี เฉพาะแค่ใน กทม. และนับเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจของ กทม. อยู่ที่ประมาณ 4.51 แสนล้านบาทต่อปี

งานวิจัยของเราในระบบ ววน. มีงานวิจัยอยู่ประมาณ 200 กว่าโครงการที่ทำเรื่องฝุ่น ใช้งบประมาณไปเกือบ 600 ล้านบาท เรามีหลายนวัตกรรมที่จำแนกและติดตามฝุ่น ไม่ว่าจะเป็น Sensor ดาวเทียม และการเก็บตัวอย่าง เครื่องกรองฝุ่น หน้ากาก แผ่นกรอง แอปพลิเคชัน การลดการเผา

ทาง สกสว. ใช้ Ai แมทช์ฉากทัศน์ 4 ฉากทัศน์กับงานวิจัยเกือบ 20,000 เรื่อง ด้วยกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ฉากทัศน์ที่ 1 อัตตาหิอัตโนนาโถ 

ตนเป็นที่พึ่งของตน แต่จริง ๆ แล้ว กทม. มีความพร้อมทางโครงสร้างในการทำให้เราช่วยตัวเองได้อยู่ เพราะถ้าเราไม่มีโครงสร้างอย่างตัว 70 สถานี ที่ช่วยให้ประชาชนปกป้องตัวเองได้ ยกตัวอย่างเครื่อง Low Cost Sensor ของดัสท์บอย ที่จะมีการแจ้งฐานเข้าข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. คล้ายกับแอปพลิเคชัน AirBKK ที่ดูว่าค่าฝุ่นเป็นอย่างไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา แปลว่า ถ้าเราจะอัตตาหิอัตโนนาโถ ก่อนที่เราจะออกไปไหน เราต้องดูค่าฝุ่นก่อนว่าอยู่ระดับไหน ถ้าขึ้นสีเขียว สีฟ้า เราก็อาจจะไม่ต้องทำอะไรมาก มีความปลอดภัยอยู่ในระดับที่ปลอดภัย  แต่ถ้าเริ่มเป็นสีส้ม สีแดง แปลว่าเราต้องทำมาตรการบางอย่าง ต้องใส่หน้ากาก เปลี่ยนกำหนดการ หรือยังไม่ออกจากบ้าน มีหลากหลายมาตรการในการอัตตาหิอัตโนนาโถ  

ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ที่เก็บข้อมูลมา เราพบว่า คนกรุงเทพฯ เข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากเครื่องของดัสท์บอย 150,000 คนต่อปี จำนวนนี้ถือว่าน้อยมาก โดยในจำนวนนี้ สามารถลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 86 คนต่อปี ดังนั้นจากงานวิจัยทำให้เห็นว่า เราขาดระบบการกระตุ้นให้คน กทม. เข้าถึงการใช้ข้อมูล ทั้งจาก Sensor และ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ กทม. ในการปกป้องตัวเอง 

อย่างไรก็ดี การปกป้องตัวเองก็มีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายของการใช้หน้ากาก ค่าใช้จ่ายในการจัดแจงเปลี่ยนตารางต่าง ๆ ซึ่ง ผศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากมหาวิทยาลัยเกษตรศษสตร์ ทำข้อมูลมาว่า ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนประมาณ 6,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ที่เราอาจจะแบกไว้โดนไม่รู้ตัว 

ฉากทัศน์นี้ จริง ๆ ค่อนข้างดี เพราะเรามีโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างพร้อม เช่น สถานีวัดคุณภาพอากาศที่เรามีกว่า 70 สถานี อีกทั้งยังมีของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอีกต่างหาก แต่ข้อเสียก็คือมันไม่ได้ลดการปลดปล่อยฝุ่นที่ต้นตอ เรายังอยู่กับฝุ่นและไม่รู้ว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ มันลดความเสียหายของชีวิตได้ทันทีที่เราใส่หน้ากาก พยายามหลีกเลี่ยงฝุ่น การจะทำให้เป็นระดับนั้นได้ ต้องทำให้เป็นวัฒนธรรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งค่อนข้างยาก จริง ๆ สหรัฐอเมริกา และยุโรปเองก็มีการใช้ฉากทัศน์นี้เหมือนกัน แต่ว่าเป็นฉากทัศน์เสริม ไม่ใช่ฉากทัศน์หลัก

ฉากทัศน์ที่ 2 เมืองแห่งรถไฟฟ้า

ฉากทัศน์นี้หลาย ๆ คนรออยู่ เพราะได้ข่าวว่า ฉากทัศน์นี้จะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นให้ กทม. และประเทศไทย 

ข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2019 บอกว่า มีการปลดปล่อยฝุ่น PM 2.5 จากการขนส่งหรือการจราจร 59% ซึ่งในจำนวนนี้รัฐบาลวางแผนที่จะเปลี่ยนผ่านให้เป็นรถไฟฟ้าในอีก 14 ปี โดยจะคาดว่าจะเปลี่ยนได้ 37% ของจำนวนรถทั้งหมดในปัจจุบัน และถ้าเราทำได้ตามเป้าใน 14 ปี จะสามารถลดการปลดปล่อย PM 2.5 ได้ 22% 

ถามว่า 22% พอไหม ผมเอาปี 2020 เป็นฐานในการคำนวนต่อ โดยถ้าเราลดการปลดปล่อยไปได้ 22% จากการจัดการรถให้เป็นรถไฟฟ้าตามแผน จะลดวันที่ทำให้ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานออกไป จนแถบไม่มีเลยหรือเปล่า ซึ่งพบว่า ไม่ใช่ ดังนั้นฉากทัศน์นี้ไม่ใช่ฉากทัศน์เดียวที่จะแก้ไขปัญหาอยู่ เพราะจากการคำนวณดูแล้ว ถ้าปรับตามเป้าใน 14 ปี จะลดวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลงได้ 52.38% คือลดจาก 1,131 วัน เหลือ  538 วัน และจะลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคน กทม. ได้ประมาณ 2,350 คนต่อปี ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจใน กทม. ได้ประมาณ 2.36 แสนล้านบาทต่อปี 

เรามีความพร้อมแค่ไหน เราสามารถซื้อรถเข้ามาได้ แต่มันไม่ยั่งยืน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเองก็มีการทำงานวิจัยต้นแบบรถในระดับอุตสาหกรรม เช่น รถไฟฟ้ารางเบา รถโดยสารระหว่างเมือง รถจักรยานไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า เพื่อเป็นต้นแบบในอุตสาหกรรม

แต่จะทำอย่างไรให้คนไทยเชื่อว่า รถไฟฟ้าที่เราซื้อ โดยงานวิจัยนวัตกรรมของไทยมันใช้ได้ดีจริง ๆ และจะใช้ตัวนี้เพื่อความยั่งยืนต่อไป เรายังต้องการงานวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมการเปลี่ยนผ่าน เพราะภาระจะตกไปอยู่กับเจ้าของรถที่ต้องเปลี่ยน รัฐบาลต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเยอะ เอกชนก็ต้องมีการรองรับโครงสร้างพื้นฐานด้วยเช่นเดียวกัน

ฉากทัศน์นี้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ และเป็นฉากทัศน์ที่ดีตรงผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย ซึ่งยังต้องมีการปรับและเตรียมการเยอะ

ฉากทัศน์ที่ 3 อุตสาหกรรมสะอาด (ขึ้น) 

เป็นฉากทัศน์ที่ต่างประเทศมีกฎหมายมา 40-50 ปี ใช้เป็นฉากทัศน์แรก คือการจัดการที่ปลายปล่อง หรือแหล่งกำเนิด ทำให้อุตสาหกรรมสะอาดขึ้น เหมือนที่ กทม. มีการไปสำรวจปลายปล่องที่ปลดปล่อยมลพิษด้านฝุ่น 

ฉากทัศน์นี้ทาง Clean Air Act ของสหรัฐอเมริกาใช้เป็นฉากทัศน์แรก เพราะจัดการง่ายสุด โรงงานอยู่นิ่ง ๆ ปลายปล่องตรวจวัดได้ สามารถจัดการได้ โดยข้อมูล กทม. บอกว่า 20% ของ PM 2.5 มาจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ความจริงเทคโนโลยีของการปลดปล่อยมลพิษจากปลายปล่องของต่างประเทศดีกว่าที่เราใช้มาก ๆ ลดได้ประมาณ 90% แต่กฎหมายบ้านเรา การปลดปล่อยปลายปล่อง ปล่อยเท่า ๆ กันหมดเลย ไม่ว่าโรงงานนั้นจะอยู่ที่ไหน ขอแค่เป็นโรงงานประเภทนี้ ลักษณะแบบนี้ปลดปล่อยเท่ากัน ไม่ว่าเขตนั้นจะมีมลพิษอากาศหนักแค่ไหน

ในพื้นที่ที่มลพิษทางอากาศหนักอยู่แล้วใน กทม. หรือบางเขตมีการสร้างโรงงานใหม่ หรือโรงงานที่มีอยู่แล้ว ปลดปล่อยได้เท่ากับที่ที่มีอากาศสะอาดเลย ซึ่งมันไม่สมเหตุสมผล กฎหมายของต่างประเทศบอกว่า ที่ไหนที่มีมลพิษ มี PM 2.5 มีมลพิษอากาศอื่น ๆ เป็นค่าที่ยอมรับได้อยู่แล้ว โรงงานที่มาตั้งต้องปลดปล่อยน้อยมาก ๆ จนไม่สร้างมลพิษเพิ่ม ดังนั้นเขาต้องติดตั้งระบบบำบัดที่ดีมาก ๆ ไม่งั้นก็ไปตั้งที่อื่น หรือซื้อโควต้าการปลดปล่อยจากโรงงานอื่นที่มีอยู่ เพื่อให้มลพิษที่ปลดปล่อยไม่เกิน กฎหมายนี้บ้านเราไม่มี เราสามารถปรับโรงงานในบ้านเราให้ลดการปลดปล่อยมลพิษได้ 75% ผมว่าสบายมาก ผมเอาตัวเลขนี้มาคำนวณ

ถ้าเอาฉากทัศน์นี้มาใช้ จะลดวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานไปได้ 16.53% หรือประมาณ 944 วัน ก็ยังไม่ใช่ฉากทัศน์เดียวที่แก้ไขปัญหาได้อยู่ดี แต่จะลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ประมาณ 733 คนต่อปี และลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของ กทม. ได้ประมาณ 0.74 แสนล้านบาทต่อปี แต่น่าเสียดายว่า พอเราไม่มีกฎหมายที่ทำให้การผลิตสะอาดขึ้นเรื่อย ๆ งานวิจัยเทคโนโลยีการทำให้การบำบัดปลายปล่องดีขึ้นแทบไม่มีเลย เพราะไม่มีกฎหมาย ไม่มีความต้องการ ขณะที่ต่างประเทศพัฒนาดีขึ้นกว่าปัจจุบันกว่า 90%  ซึ่งดีกว่าที่เราใช้อยู่มาก ๆ 

ดังนั้นในฉากทัศน์นี้เราต้องซื้อเทคโนโลยีเข้ามาก่อน และเราต้องพัฒนาเดินหน้าต่อ ฉากทัศน์นี้เป็นฉากทัศน์ที่จัดการได้ง่าย ตามหลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษจะเป็นผู้จ่าย ภาคเอกชนต้องลงทุน ภาครัฐต้องกำกับอย่างเข้มงวด อย่างที่ กทม. ทำ ต้องมีการทำ PRTR  เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เพื่อนำไปสู่การใส่ใจการผลิตที่สะอาดโดยภาคประชาชน  

ฉากทัศน์ที่ 4 ใช้กลไกตลาดเสริมอำนาจผู้บริโภค

เป็นฉากทัศน์ที่ใช้ได้กับฉากทัศน์ 2 และ 3 ด้วย แต่อันนี้เอามาจับกับเรื่องชีวมวล โดยงานวิจัยของกรุงเทพฯ พบว่า PM 2.5 ที่มาจากการเผาชีวมวลมีประมาณ 20% ซึ่งจะเห็นว่าเรามีนวัตกรรมหลายทางเลือกในการผลิตให้สะอาดขึ้นจากการเผาชีวมวล ทาง สกสว. เคยจัดงานเสวนาปีที่แล้ว และได้คุยกับโรงน้ำตาลมิตรผลใช้จริงที่ จ.สิงห์บุรี เก็บอ้อยสด และไม่มีการเผาอ้อย เอาใบอ้อยไปทำโรงไฟฟ้าชีวมวล มีการรับซื้อในอ้อย ซึ่งเป็นการผลิตแบบสะอาด ที่ลดการปลดปล่อยมลพิษ PM 2.5 ได้ ถือเป็น 1 ในทางเลือก หรือถ้าจะต้องเผาจริง ๆ ผู้เผาสามารถจองผ่านแอปพลิเคชันอย่างไฟดี (FireD) ได้ ที่เชียงใหม่ใช้แล้วลดการเกิด Hot Spot ได้ประมาณ 60% ทำให้ค่ามลพิษไม่เกินค่าที่ยอมรับได้

แต่ถึงแม้จะมีนวัตกรรมแบบนี้ แต่การใช้ก็ไม่ได้ง่าย ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งทำให้กำไรลดลง ต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ผู้ผลิตไม่ใช้ ทั้งที่จริงแล้ว ถ้าใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะลดการปลดปล่อย PM 2.5 ได้ 80% ปัญหาก็กลับมาว่า ทำไมเขาถึงไม่ใช่ ก็เพราะเขาไม่มีแรงจูงใจอะไรมากระตุ้น

รู้ไหมว่า น้ำตาลที่เราซื้อ เสื้อผ้าที่เราใส่ หรือขนม 1 ถุงที่เรากินมันปลดปล่อย PM 2.5 เท่าไหร่ พอเราไม่รู้ เราก็ไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ถูกได้ ในต่างประเทศมีการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อม แต่พูดถึงก๊าซเลือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก ว่าผลิตภัณฑ์แต่ละอันที่เราซื้อ มีการปล่อยก๊าซเลือนกระจกเท่าไหร่ แนวคิดเดียวกัน ถ้าเรามาใช้กับ PM 2.5 มลพิษอากาศมันเทียบได้เลยว่าแต่ละอย่างปลดปล่อยมลพิษทางอากาศไปเท่าไหร่ ซึ่งอำนาจของเราตอนจัดการเรื่องฝุ่นอยู่ที่ตอนเราซื้อ ถ้าเรามีข้อมูลเราสามารถเลือกซื้อสิ่งที่ปลดปล่อยมลพิษทางอากาศน้อยกว่าได้ ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด

อย่างตอนเด็ก ๆ เวลาเราจะซื้อตู้เย็นสักตู้ จะเห็นฉลากเบอร์ 3 เบอร์ 4 และเบอร์ 5 ตอนนี้มีใครเจอเบอร์ 3 กับเบอร์ 4 บ้าง ไม่มีแล้ว เลือกเบอร์ 5 กันหมด คนซื้อเลือกซื้อเบอร์ 5 เพราะมันประหยัดในหลาย ๆ เรื่อง ดีต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทำให้เกิดทิศทางที่สะอาดขึ้นเอง ดังนั้นผมเชื่อว่า อำนาจของผู้บริโภคอยู่ที่ตอนเงินอยู่ในมือเรา เราไม่สามารถขอให้คนอื่นแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เราต้องแก้เอง แต่ตอนนี้เราไม่มีข้อมูลที่จะตัดสินใจ เรื่องของฉลากสิ่งแวดล้อม ฉลากในการลดการปลดปล่อยมลพิษจะช่วยเรามาก ๆ 

ถ้าเราเอาฉากทัศน์นี้มาใช้ในกรุงเทพฯ จะช่วยลดการปลดปล่อยได้ประมาณ 16%  ลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ประมาณ 746 คน และลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของ กทม. ได้อีกประมาณ 0.75 แสนล้านบาท แต่ถ้าใช้ในต่างจังหวัด ช่วยได้มาก

ดังนั้นจะเห็นว่า ไม่มีทางที่ทำอย่างเดียวแล้วจะสำเร็จ การเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า ไม่ใช่เปลี่ยนแล้วจะจบ หลายทางเลือกอาจจะต้องประกอบร่วมกัน

มิติด้านกฎหมาย กับการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นควัน

รศ. ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ผู้ผลักดันร่างกฎหมายอากาศสะอาด ฉบับประชาชน กล่าวว่าการมีกฎหมายขึ้นมา 1 ฉบับ ไม่ได้เป็นยาสารพัดนึก มันไม่ได้ปลดล็อกทุกสิ่งอย่างในระบบปัจจุบันที่มีความเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และมีความซับซ้อนมาก เวลาที่เราจะแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนสูง เครื่องมือหรือกลไกที่จะใช้ไม่ใช่เชิงเดี่ยว ไม่ใช่กฎหมายเพียว ๆ ต้องใช้อย่างบูรณาการ ระหว่างกฎหมายด้วยกัน และระหว่างกฎหมาย นโยบาย เครื่องมือเศรษฐศาสตร์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ 

รวมทั้งเครื่องมือการกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดของภาคประชาชน พลเมืองที่เป็น Active Citizen ให้เขารู้ว่า เขาเป็นผู้ถูกกระทบโดยตรง อนาคตอยู่ในมือของแต่ละคนแล้ว ที่จะทำให้นอยด์กลายเป็นวอยซ์ ไม่ใช่บ่นไปเรื่อย พอถึงเวลาปัญหามาประชิดก็บ่น แต่พอบอกให้ช่วยกันลงชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อนำเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชน ก็ไม่ทำ ไม่รู้วิธีเปลี่ยนนอยด์ให้เป็นวอยซ์ที่มีพลังทางสังคม และพลังทางกฎหมายด้วย เพราะทุกคนที่เป็นพลเมือง มีสิทธิทางกฎหมายไม่ใช่แค่กฎหมายภายในประเทศ เรามีสิทธิในมิติสากล คือ สิทธิมนุษยชน 

เวลาเราพูดถึงจะขยับเพื่อหาทางออกไม่ควรทำเชิงเดี่ยว ปัญหายิ่งมีเชิงซ้อน เครื่องมือกลไกต้องบูรณาการกันหลายชิ้นมาก และต้องขยับอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพื่อรับมือกับปัญหาเชิงซ้อน เชิงระบบ กฎหมายบ้านเรา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องฝุ่น เรื่องมลพิษทางอากาศ แต่ทุกเรื่องเลยมีกฎหมายกระจัดกระจาย เพราะโครงสร้างรัฐออกแบบมาเป็นแบบนั้นตั้งแต่ต้น

เราเป็นรัฐเดี่ยว แต่เรามีการกระจัดกระจายมากกว่า รัฐรวม (Federal State) เพราะเราสร้างระบบกฎหมายที่รองรับสถานะของหน่วยงานย่อยของใครของมัน อย่างเช่น เรื่องหนึ่งเรื่อง มีคนรับผืดชอบมากกว่า 1 เจ้า หรือรถ 1 คัน จะต้องมีหน่วยงานกี่หน่วยงานที่เข้ามากำกับดูแล ใครดูแลน้ำมันที่อยู่ในรถ ถ้าเป็นน้ำมันดี เดินเครื่องปุ๊บเผาไหม้สมบูรณ์ไหม ถ้าไม่สมบูรณ์ปล่อยอะไรออกมา ควัน ไอเสีย PM 2.5 สารพิษอื่น ๆ แล้วใครดูแลถัดจากนั้น แล้วรถต้องมีสเปคไหมว่า รถเก่า รถใหม่ ใครดูแลเรื่องของการใช้ EV หรือการจะทำให้รถเก่าหมดสภาพ กลายเป็นซากอย่างถูกวิธีในทางสิ่งแวดล้อม ใครเป็นคนเก็บภาษีรถ แล้วเก็บถูกไหม 

รถต่างประเทศยิ่งเก่า ยิ่งเก็บภาษีแพง แต่ที่นี่ตรงกันข้าม ยิ่งเก่ายิ่งถูก ไม่มีอะไรจูงใจในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ มาเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ นั่นคือไม่มีแรงผลักให้คนขวนขวายที่จะเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ หรือคนผลิตรถตั้งแต่แรกขวนขวายที่จะทำให้ตลาดมันเฟรนลี่กับสิ่งแวดล้อม มาถึงมือผู้บริโภค และค่านิยม ทัศนคติที่จะใช้รถ ไม่ได้หมายถึงแค่รถส่วนตัวเท่านั้น แต่จะเปลี่ยนไปเป็นรถไฟฟ้า รถสาธารณะ หรือจะทำอย่างอื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันนี้เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ อย่างหนึ่ง เพื่อจะทำให้ถนนเดียวกัน ใช้รถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนไปข้างหน้า โดยที่ทุกคนมีปอดที่ยังแข็งแรงอยู่ นี่คือลักษณะคอขวดในการแก้ไขปัญหาเชิงซ้อนของระบบ

โครงสร้างของสังคมไทย เป็นโครงสร้างแบบพลเมืองไม่ได้เป็นใหญ่ พลเมืองตื่นรู้บ้าง ไม่ได้ตื่นรู้บ้าง ยังไม่ได้เป็นใหญ่อย่างแท้จริง ด้วยระบบโครงสร้างทั้งทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ ดังนั้นเวลาพูดดูเหมือนเพ้อฝัน แต่มันสามารถทำฝันให้เป็นจริงได้ 

สมมติว่า ฉากทัศน์ไหน ๆ ก็ตาม ถ้าเราจะบูรณาการฉากทัศน์ใดออกมา มันมีเครื่องมือหนึ่ง ก็คือกฎหมายที่ต้องวงเล็บว่า ไม่ใช่เชิงเดี่ยวออกมาช่วยซัพพอร์ต บูรณาการตั้งแต่โครงสร้างองค์กร กฎหมาย ที่กระจัดกระจายอยู่ ให้เกิดการบูรณาการ แล้วความหมายหรือร่างนัยยะแบบนี้ พึงจะเป็นกฎหมายที่ทำให้ดีขึ้น หรือควรจะแก้ที่ต้นตอ ไม่ควรจะวนอยู่ในอ่าง มันมีคำว่าปฏิรูป แต่ทำไมไม่เคยเกิดคำว่า ปฏิรูปอย่างแท้จริงในกลไกกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาฝุ่นควันพิษ PM 2.5 มันกระทบสุขภาพ ความเป็นความตาย มันกระทบกับหลาย ๆ เรื่อง 

คุณจะไม่มีสิทธิที่ไปเลือกตั้งเลยถ้าคุณตายก่อนวัยอันควร หรือคุณไม่สิทธิที่จะเข้าชื่อเพื่อแก้รัฐธรรมนูญเลยถ้าคุณตายก่อนวัยอันควร เรื่องนี้เหมือนเส้นผมบังภูเขา แล้วเวลาคนจะเสนอเพื่อแก้ ต้องทำแบบนี้ มิติที่บูรณาการกันแน่นระวังสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ คนจะมองไม่เห็น และมองคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพวกเพ้อฝัน คนยังไม่เข้าใจคำว่าอากาศสะอาด และมองว่า อากาศสะอาดคือเพ้อฝัน พอไม่รู้จัก วิธีแก้ปัญหาก็จะวนอยู่ในอ่าง แต่พอจะเอามาต่อจิ๊กซอว์มันไปต่อไม่ได้ เพราะมันอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานเดิม 

ดังนั้นร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนเข้าชื่อ ที่ทางเครือข่ายอากาศสะอาดทำการค้นคว้าวิจัย ใช้ความรู้ในการขับเคลื่อน และออกแบบให้เข้ากับสังคมไทย ไม่ได้ไปคัดลอกของอเมริกามาใช้ แบบที่หลายคนเข้าใจ นักนิติศาสตร์ที่ดีต้องไม่ทำแบบนั้น การออกแบบกฎหมายวัดตัวตัดให้เข้ากับสังคมไทยเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นต้องทำการบ้านกันหนักมาก กว่าจะออกมาเป็นร่างกฎหมายฉบับประชาชน มีรายชื่อ 10,000 ชื่อ

 

ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. … ถามว่าทำไมชื่อมันยาว เพราะมันคือแผลเป็นที่ทำให้เกิดคอขวดและไปต่อไม่ได้ เช่น การกำกับดูแล ไปต่อไม่ได้ เพราะไม่มีเจ้าภาพ แต่ละกระทรวงทำกันไป มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่ไม่สามารถอาศัยอะไรได้ ในเชิงกำกับดูแล เป็นการทำงานเชิงห้องประชุม และไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลอย่างเข้มข้น แบบที่พึงจะเป็น   

ต่อมาเรื่องการจัดการอากาศสะอาด อันนี้สำคัญ เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่า ถ้าจัดการมลพิษทางอากาศสำเร็จ ก็เท่ากับว่าจะได้อากาศสะอาดมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่จริงเสมอไป เพราะประสิทธิภาพทำได้จริงไหม  ปัญหาเชิงโครงสร้างแก้ได้หรือเปล่า แม้แต่มีบทกฎหมายพิเศษ 1 ชิ้น ก็ไม่ได้การันตีเสมอไปว่า กฎหมายที่ดีบังคับใช้แล้วได้ผล ยังมีคอขวดอยู่เยอะมาก ไหนจะเรื่องคอรัปชัน การบังคับใช้แบบไม่รู้เรื่อง และความไม่เอาใจใส่ ไม่ต่อเนื่อง การตีความต่าง ๆ เยอะไปหมด 

ดังนั้นเราถึงเปิดพื้นที่ใหม่ให้โลกรู้ว่า เราจัดการเพื่อสิ่งที่ดี ที่เป็นเป้าหมายที่เราอยากได้ เราอยากได้อากาศสะอาด เราก็จัดการให้ได้มาซึ่งอากาศสะอาด ซึ่งไม่ได้ง่าย แค่จัดการมลพิษก็ว่ายากแล้ว แต่อย่าหยุดแค่การจัดการมลพิษอากาศสะอาด ต้องยกระดับให้สูงขึ้น ไปถึงขั้นการจัดการอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพ เพราะเราไม่ได้จัดการอากาศสะอาด เพื่อบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งจะมาควบกิจการทั้งหมดในแผ่นดิน แล้วมาอัดเป็นอากาศกระป๋องขาย แต่เพื่อสุขภาพของประชาชนที่พึงมี พึงได้ ไม่ใช่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 

สุดท้ายคือ การบูรณาการ การจัดการอากาศสะอาดต้องใช้การบูรณาการ ถ้าเป้าหมายเพื่อสุขภาพก็ต้องบูรณาการระหว่างมิติสุขภาพกับมิติสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้พูดถึงแค่เรื่องชื่อ ยังไม่ได้ลงรายละเอียด แล้วก็ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ทำแค่ร่างฉบับภาษาไทย แปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งทั่วโลกอ่านแล้วเข้าใจ ขณะที่คนไทยไม่อ่าน แล้วไปดึงเอาร่างฉบับอื่นที่ไม่ใช่ของเรามาว่าเราว่าเราเขียนแบบนั้นแบบนี้  

และเนื่องจากบุคลิกของ ร่าง พ.ร.บ. เขียนถึงสิทธิที่เราจะหายใจในอากาศสะอาด เป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง  ซึ่งมีสิทธิ 2 ประเภท คือ สิทธิเชิงเนื้อหา สิทธิในสุขภาพ สิทธิที่จะมีอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพตัวเอง และสิทธิที่จะไม่ตายก่อนวัยอันควร 

อีกสิทธิคือ สิทธิเชิงกระบวนการ ได้แก่สิทธิที่จะรู้ข้อมูลข่าวสาร รู้ว่า AQI ค่าคืออะไร เท่านี้ไม่พอ ต้องรู้ด้วยว่า สีแต่ละสีเท่ากับอันตรายต่อสุขภาพแบบไหน และคนเปราะบางต้องทำอย่างไร สิทธิตรงนี้เป็นสิทธิที่จะรู้ เป็นสับเซตหนึ่งของอนุสัญญาอาร์ฮูส ซึ่งต่อมาก็มี PRTR คือ สิทธิที่จะรู้ว่า ปลายปล่องเขาปล่อยอะไรมา  

สิทธิต่อมาที่อยู่ในเชิงกระบวนการ คือ สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

สิทธิตัวสุดท้าย คือ สิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการ เพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะร้องเรียน หรือฟ้องคดี และได้รับการเยียวยาเมื่อเกิดความเสียหาย และเมื่อเป็นสิทธิของประชาชนที่สถาปนาในร่าง พ.ร.บ.นี้แล้ว สิ่งที่ตามมา คือ สิทธิของประชาชนที่ก่อให้เกิดหน้าที่ของรัฐ รัฐมีหน้าที่ 3 อย่าง คือ 1.เคารพ 2.ปกป้องใครคนหนึ่ง จากการกระทำของอีกคน ต้องทำอะไรบางอย่างในการแทรกแซงด้วยเครื่องมือทางกฎหมาย ที่จะปกป้องการกระทำของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในการกระทำของผู้ร้าย และ 3.ต้องทำให้สำเร็จ และเกิดขึ้นจริง 

3 ข้อ เป็นบุคลิกของสิทธิมนุษยชนทุกประเภท ซึ่งถ้าเราสถาปนาให้สิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาดเป็นสิทธิพลเมือง เขียนอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็หมายความว่า หน้าที่ของรัฐก็จะต้องตามมา ซึ่งไม่ใด้หยุดแค่ในระดับ How to ต้องฉีดวัคซีนกรือยาเข้าเส้นในประเด็นที่เป็นประเด็นอ่อนแอ เช่น ที่เป็นอยู่มันกระจัดกระจาย ก็ต้องมี ผู้ควบคุม (Regulator) มากำกับดูแล ทั้งหมดมันคือกฎหมายปฏิรูป เป็นกฎหมายนวัตกรรม ซึ่งถ้าคนยังไม่ไปต่อ ยังอยากถอยลงไปที่กฎหมายเดิม แล้วบอกว่ากฎหมายเดิมมันดีอยู่แล้ว ไม่ต้องการกฎหมายใหม่ ต้องดูด้วยว่ากฎหมายเดิมที่มีอยู่มันดีหรือไม่ ซึ่งนักกฎหมายอาจจะไม่มีความสามารถในการสื่อสารให้โลกรู้ เราก็เลยผลิตคู่มือในการทำความเข้าใจ เรียกว่า บันทึกเจตนารมณ์ อธิบายกฎหมายรายมาตรา ทั้งหมดอยู่ในเว็บไซต์ https://thailandcan.org/  

นี่เป็นหนึ่งในโซลูชั่น ที่บูรณาการเครื่องมือ ทั้งทางเศรษฐศาสตร์ เรามีเครื่องมือในการเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนวิธีในการผลิตมาสู่วิธีแบบใหม่ แล้วจะได้รางวัล เป็นมาตรการ Carrot and Stick เรามีมาตรการทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมทางการแพทย์ด้วย เรื่อง Academy for Quality and Safety Improvement (AQSI) และเรามีมาตรการทางสังคม เรื่องของการสนับสนุนในการรักษาสิทธิ โดยเฉพาะสิทธิเชิงกระบวนการ ที่ต้องได้รับความยุติธรรม สิ่งนี้เป็นประเด็นที่ต้องขยายความต่อ

มีประเด็นเรื่องหมอกควันข้ามแดน ที่เราต้องจัดการ เพื่อให้เกิดอากาศสะอาดและไม่ตกเป็นเหยื่อแบบนี้ไปเรื่อย ๆ มีแต่เรื่องยาก ๆ และความรับรู้ของสังคมมีน้อย เวลาที่เราจะขอล่ารายชื่อเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ ตาม พ.ร.บ. เข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน มันไม่ง่าย เราต้องไปให้ความรู้ประชาชนก่อน อะไรคือกฎหมายอากาศสะอาด เราต้องให้ความรู้ตั้งแต่คนที่ไม่มีความรู้ใด ๆ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เบื้องต้น ว่าด้วยอากาศสะอาด กว่าจะไตร่ระดับมาสูงถึงขั้นว่า เขากำลังจะตายก่อนวัยอันควร และมีสิทธิ สิทธินั้นเป็นของคุณ คุณจะอัปเกรดสิทธิที่มีของตัวเอง ให้มีพลังขึ้น โดยอาศัยร่าง พ.ร.บ. นี้ ซึ่งกว่าจะได้มา 1 รายชื่อ ยากมาก เพื่อจะกระตุ้นต่อมคนว่าอย่าอยู่เฉย อย่ายอมตายฟรี ต้องลุกขึ้นมาช่วยกัน รวมพลังภาคประชาชน ตระหนักรู้ว่าเรามีสิทธิ 

แต่ตอนนี้ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เมื่อรัฐบวกทุนมันยาก ถ้าภาคประชาสังคมยังอ่อนแอ ไม่เกาะติดกันสู้ไม่ได้ คำว่าสู้ไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่า ต้องตาต่อตา ฟันต่อฟัน แต่ต้องสู้เชิงความคิด สู้เชิงข้อมูล พยานหลักฐาน สิ่งเหล่านี้ภาคประชาสังคมในปัจจุบันมีทั้งตื่นรู้  และมีอีกหลายส่วนที่ไม่ตื่นรู้ และตายก่อนวัยอันควร พอเกิดข่าว หมอหนุ่มเป็นมะเร็ง คนก็จะมาหาเราแล้วบอกว่า เครือข่ายอากาศสะอาดทำอะไรอยู่ ขยี้เรื่องนี้หน่อย แล้วข่าวจะเป็นเฉพาะแค่เวลาใครจะตาย ไม่เห็นโรงศพไม่หลั่งน้ำตา มันไม่ควรจะเป็นแบบนี้ สังคมควรจะมองไปข้างหน้า ไม่เห็นแก่ตัวเอง ก็เห็นแก่ลูกหลาน 

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า พลังของประชาชนในกลุ่มก้อนเล็ก ๆ ที่ใช้ความคิด สติปัญญาของนักวิชาการหลากสาขาที่มารวมกลุ่มกัน เพื่อใช้พลังสมองให้มันขับเคลื่อน จนร่าง พ.ร.บ. ของเราผ่านสภา เช่นเดียวกับทุกร่าง แต่มันถูกตีว่าเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการเงิน เพราะรัฐธรรมนูญเขียนแบบเหวี่ยงแห อันนี้ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุดก็ถูกส่งไปให้นายกรัฐมนตรีรับรอง แต่นายกยังไม่ว่ายังไงตอนนี้

ซึ่ง UN ก็ประกาศแล้วว่า สิทธิเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งสับเซตสิทธิเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งก็คือ สิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาด เราทำให้ขนาดนี้แล้ว ที่เหลือแค่ออกมาช่วยกัน

โจทย์ต้องเร่งทำกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง

เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา

ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาเดียว แต่ต่อเนื่องกันหมด ถ้าเราแยกส่วนก็จะเกิดการขัดกันเอง อย่างในต่างประเทศเอง เรื่องการจัดการของเสียอันตราย เรื่องของการปนเปื้อน จะมีหน่วยงานเดียวแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นจนจบ

ของเราถ้าแยกกันปุ๊บมันไม่ร้อยกัน และมีภารกิจที่แตกต่างกัน บางภารกิจขัดกันเอง ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้ารวมได้ เหมือนไม่มีเป้ารวม แต่มีเป้าเป็นตอนย่อย ๆ 

รศ. ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม กล่าวว่า เราไม่ต้องล้างไพ่ใหม่เสมอไป แต่เราสับไพ่ใหม่ได้ หมายความว่า บางหน่วยย่อยอยู่ผิดที่ผิดแห่ง  หรือพันธกิจของบางหน่วยงานมันย้อนแย้งตัวมันเอง เช่น 1 กระทรวงมี 2 กรม กรมหนี่งส่งเสริมอุตสาหกรรม อีกกรมไล่ดูแลเทคแคร์คนที่ทำอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  มันย้อนแย้งในตัวเองไหม หรือกรมที่ตั้งที่หลัง ชื่อเกี่ยวข้องแต่พอเอาเข้าจริง ทำอะไรไม่ได้เลย แต่กรมที่ตั้งมาก่อนหน้า เอาอำนาจหน้าที่ไปหมดแล้ว 

เราไม่ได้พูดว่า ให้สร้างหน่วยงานใหม่ แต่ต้องมีเจ้าภาพคนกลางทำหน้าที่บูรณาการ เป็นผู้ควบคุมระดับปฏิบัติการ แต่เราเปิดช่องให้ไปคิดต่อเอง เพราะมันอาจจะไปเฉือนบางส่วนของกรมหนี่ง และไปเฉือนอีกกรมมาขยำเป็นก้อนใหม่ โดยไม่ต้องไปนับหนึ่งใหม่ เพราะเวลานี้มันอยู่ผิดที่ผิดทาง และไม่มีพันธกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายให้อำนาจจึงกลายเป็นง่อย และเป็นแพะรับบาป เวลาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นคนก็ไปด่ากรมนี้ว่าไม่ได้เรื่อง ทั้ง ๆ ที่เขาทำได้ แต่เขาไม่มีอำนาจอยู่ในมือ 

กลไกระดับท้องถิ่นกับการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น

รศ. ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม กล่าวด้วยว่า ดีที่สุดของระดับท้องถิ่น คือ กฎหมายแม่ระดับส่วนกลางให้อำนาจอะไรมา ทำให้เต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.สาธารณะสุข ให้อำนาจในการออกข้อบัญญัตท้องถิ่น กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ท้องถิ่นทำหรือยัง ทำครบหรือไม่ เขาให้ออกแบบท้องถิ่นใครท้องถิ่นมัน เห็นการบูรณาการไหมว่า ทุกเรื่องมีมิติสิ่งแวดล้อม และสุขภาพเสมอ หรือเห็นกรมนี้ เป็นกรมนี้แล้วไม่คิดยึดโยงกับอีกกรม หรืออีกกระทรวงหนึ่ง กลายเป็นว่า หน่วยงานใหญ่ไม่ยึดโยงกัน หน่วยงานระดับท้องถิ่นก็ไม่ยึดโยงกันเองด้วย ทีนี้ใครจะยึด จะให้ประชาชนยึดกันเองหรอ ไม่มีอำนาจรัฐ ประชาชนจะทำอย่างไร สู้ให้ตายก็ทำอะไรไม่ได้ 

ในต่างประเทศบทบาทนี้ถูกให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นองคาพยพ แต่ว่าอยู่ล่างสุดติดกับประชาชน ซึ่งมีอิมแพคสูง ถ้าทำดี ๆ เราต้องเหนี่ยวแน่ และช่วยให้มีทั้งงบประมาณ ความรู้ บุคลากร และจับมือแน่น ๆ กับภาคประชาชน โดยมีนักวิชาการเป็นพี่เลี้ยงในการให้ความรู้ หรือนักวิชาการในภูมิภาค ใครอยู่ภาคเหนือก็ช่วยภาคเหนือ ใครอยู่ภาคอีสานก็ช่วยภาคอีสาน เขาทำอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีกฎหมายเข้ามาซัพพอร์ตเหมือนต่างประเทศ ที่มีกฎหมายออกมาเป็นตัวตัดเลยว่า ประเทศนี้ ภูมิภาคนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นลักษณะไหน ภูมิภาคนั้นจะต้องมีหน่วยที่เป็นหน่วยวิจัยพื้นที่ของตัวเองให้เต็มที่และเป็นพี่เลี้ยงให้ภาคประชาสังคมและหน่วยงานท้องถิ่น  

วรนุช สวยค้าข้าว กล่าวว่า เรื่องฝุ่น เรื่องที่ยากที่สุดคือ การบูรณาการร่วมกันของหน่วยงาน กทม. เรามี 25 หน่วยงาน มีทั้งกระทรวง ทบวง กรม บางกระทรวงมีมากกว่าหนึ่งกรมที่บูรณาการ การจะบรรลุเป้าหมายได้ กรณีที่มีหน่วยงานหลายหน่วยงาน เราต้องมีเป้าประสงค์เดียวกัน อีกคนอาจจะต้องปรับเปลี่ยนหน้าที่ การเปิดเผยข้อมูล อาจจะต้องเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน เพื่อที่เวลาสื่อสารกับภาคประชาชน จะได้ลดข้อความที่มันสับสน เป็นการสื่อสารที่เป็นเอกภาพในการที่จะได้การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนกลับเข้ามา

ยกตัวอย่าง เมื่อวันที่ 2 มกราคม 66 กรุงเทพมหานครยังเป็นวันหยุดชดเชย ศูนย์ข้อมูลเรื่องสภาพอากาศเราก็เฝ้าระวังจุดความร้อนผ่านดาวเทียม แล้วก็พบว่า จุดความร้อนที่จังหวัดปทุมธานี ขึ้นรัศมีใกล้เคียงของเรา ทางเราโทรไปประสานขอให้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบให้หน่อย จุดความร้อนตรงนี้เกินค่าจุดความร้อนพื้นผิวโลกแล้ว มันแสดงค่าขึ้นมา ทางเจ้าหน้าที่ก็รีบลงไปดูให้ พบว่า มีไฟไหม้หญ้าอยู่ ก็รีบส่งเจ้าหน้าที่ไปดับไฟ และอีกจุดเป็นจุดที่ชาวบ้านเผาถ่าย ไฟก็เลยกรุ่นเป็นเวลานาน 

ซึ่งแบบนี้เราจะไปห้ามคนที่เขามีอาชีพ มีความจำเป็นที่ต้องประกอบอาชีพอย่างไร เราต้องประสานขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงในวันที่ค่าฝุ่นมันเกินค่ามาตรฐาน เพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งตอนนี้เราได้รับความร่วมมืออย่างดีกับจังหวัดที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน บางครั้งก็อาศัยเทคโนโลยีมาช่วย เพราะ เรานั่งอยู่ตรงนี้ ไม่รู้หรอกว่า ฝุ่นมาจากไหน

ทิศทาง “การใช้ข้อมูล” เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นเมือง

ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ แสดงความเห็นว่า ข้อมูลที่มีเพียงพอในการที่จะเริ่มทำอะไรแล้ว แต่ยังคงต้องการชุดข้อมูล และนวัตกรรมเพิ่มขึ้นหลายจุด 

เรื่องของการบูรณาการ อาจจะไม่ใช่การบูรณาการแค่เฉพาะหน่วยงาน แต่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วน เราคงหวังให้หน่วยงานบางหน่วยงาน หรือกฎหมายแก้ปัญหาให้เราไม่ได้ เพราะเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่กระทบกับทุกคน อย่างที่พูดไป 4 ฉากทัศน์ ไม่มีฉากทัศน์ไหน ทำให้เราสบายใจได้ แต่มันต้องการการบูรณาการกันของฉากทัศน์ ซึ่งแต่ละฉากทัศน์มีผู้เล่นสำคัญแตกต่างกัน แปลว่าทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมกันจริง ๆ 

ถ้าเราเอา 4 ฉากทัศน์มารวมกัน จะพบว่า เราจะลดวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรลงได้ประมาณ 83% แปลว่าจาก 1,000 กว่าวัน จะเหลือวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ ทุกเขต 186 วัน ไม่สามารถทำได้ดีกว่านี้ เพราะอากาศกด แต่การลดเท่านี้จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนกรุงเทพมหานครได้ประมาณ 3,748 คนต่อปี ลดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 3.77 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องบูรณาการทุกส่วนจริง ๆ ไม่ใช่แค่ราชการอย่างเดียว แต่รวมไปถึงประชาชน นโยบาย และกฎหมายด้วย 

จาก 4 ฉากทัศน์ จะเป็นดาวสีเขียว สีแดง  สีฟ้า ถ้าเป็นสีเขียวคือเรามีพร้อมอยู่แล้ว สีฟ้าเราซื้อได้จากต่างประเทศ สีแดงเราต้องทำเพิ่ม จะเห็นว่า สิ่งที่แดงมากที่สุดคือ ประชาชนที่ต้องปรับตัว แต่เราจะหวังให้เขาปรับตัวอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีกลไกนำร่องในการเอื้อ กลไกเรื่องเศรษฐศาสตร์ กลไกทางวิชาการ กฎหมาย นโยบายก็ยังต้องปรับ ที่พร้อมคือ งานวิจัยและนวัตกรรม เรามีข้อมูลมากพอที่จะเดินหน้าได้ ไม่ต้องรอข้อมูลที่มากกว่านี้ แต่อีกหลายภาคส่วนที่ต้องบูรณาการร่วมกัน ต้องเอาข้อมูลนวัตกรรมเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อ อยากให้มองไปถึงการผลักดันต่อ ให้กลายเป็นวัฒนธรรมที่ต้องปรับเปลี่ยน

การแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นในสังคมไทย

วันนี้ยังต้องรออะไรอีก

อัลลิยา เหมือนอบ กล่าวว่า ทุกวันนี้คิดว่าไม่ได้รอ เพราะจะเห็นว่าทางภาคประชาสังคม ภาควิจัย และท้องถิ่นเองทำอยู่ แต่สิ่งที่ทำดันถูกละเลยจากผู้มีอำนาจในการตัดสินใจที่มาช่วยให้สิ่งเหล่านี้เดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ นอกเหนือจากกลุ่มเล็ก ๆ ที่ทำกันอยู่ 

ตอนนี้เราต้องการการสนับสนุนขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะจากผู้มีอำนาจหรือคนจากทั่งประเทศที่ต้องมาทำด้วยกัน และต้องทำในหลาย ๆ ด้าน เราไม่ได้มีเครื่องมือที่แก้ไขปัญหาแล้วจบ แต่มันต้องใช้เครื่องมือ ข้อมูล ทุกทรักพยากรที่เรามีระดมมาด้วยกัน
เราทุกคนในฐานะประชาชนคนไทย เราทราบกันดีอยู่แล้วว่ารัฐบาลเราทำงานในระบบไหน เราอาจจะต้องช่วยกันส่งเสียงให้มากขึ้น เราต้องเปลี่ยนนอยด์ของเราให้กลายเป็นวอยซ์ อย่างแรกเครือข่ายอากาศสะอาดได้เสนอแล้วให้ลงชื่อใน  www.change.org สนับสนุน พ.ร.บ. ตัวนี้ เพราะนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญ และยังมีเครื่องมืออีกหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นแล้วว่าเราพร้อมที่จะทำ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ