ส่องต้นไม้ มองดูสัตว์น้ำ สวมบทบาทนักสืบธรรมชาติกับครูชนบทที่น่าน

ส่องต้นไม้ มองดูสัตว์น้ำ สวมบทบาทนักสืบธรรมชาติกับครูชนบทที่น่าน

ผลกระทบครั้งแรกมันอาจจะอยู่ที่อ.เฉลิมพระเกียรติ ในอนาคตถ้ายังไม่มีการป้องกัน มันต้องลงผ่านไปถึงอ.ปัว อ.ท่าวังผาและในตัวเมืองน่านแน่นอน

อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าในการเดินทางจากตัวเมืองน่านไปถึงเฉลิมพระเกียรติระยะทาง 156 กิโลเมตร มีทั้งหมด 2 ตำบลด้วยกันคือ ตำบลขุนน่านและตำบลห้วยโก๋น เป็นพื้นที่ชายแดนโดยทางทิศเหนือและทิศตะวันตกติดกับแขวงไชยะบุรี ประเทศลาว มีชุมชนชาวลัวะกว่า 21 หมู่บ้านที่อาศัยอยู่ รายล้อมด้วยภูเขา ทรัพยากรป่าไม้และมีแม่น้ำน่านซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญที่ชุมชนดื่ม หาปลาและใช้ในชีวิตประจำวัน

ปัจจุบันลำน้ำน่านมีสีขุ่นและกลิ่นคาวน้ำ ปลามีสารเคมีตกค้างจากการทำไร่ทำสวน ฝุ่นละอองจากโรงงานที่พัดผ่านมาจนแสบจมูก ผักผลไม้ที่เคยปลูกไม่งอกงามเหมือนอย่างเคย นี่คือสัญญาณที่กำลังบอกเราว่าธรรมชาติกำลังเปลี่ยน

ปัญหาที่เจอในแม่น้ำจากที่ครูไปสัมภาษณ์ ถามชาวบ้านเขาบอกว่าปลูกหอมกับกระเทียม ใบงามและได้เก็บเกี่ยวผลผลิตเต็มที่แต่พอระยะ 2-3 ปีหลังมา หอมกับกระเทียมปลูกไปยังไม่ลงหัวเลยใบก็เปลี่ยนสีแห้งเหี่ยวแถมหัวเล็ก ไม่ใหญ่อีก

ข้างต้นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านเจอ ผลกระทบที่เกิดขึ้น กิจกรรม นักสืบธรรมชาติ จึงเกิดขึ้น โดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์พลเมือง(การสร้างความรู้ มีส่วนร่วมโดยพลเมือง อ่านต่อได้ที่ https://thecitizen.plus/node/67430 ) เข้ามาให้เด็กๆ เรียนรู้ สังเกตธรรมชาติรอบตัวทั้งแม่น้ำ ดิน อากาศ พันธุ์ไม้ต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร มีคุณภาพดีหรือน้อยมากแค่ไหน

การเดินทางที่ผ่านเส้นทางคดเคี้ยวไปมาระหว่างทางทำเอาเมาและเวียนหัวอยู่หลายครั้ง แต่พอมองไปนอกหน้าต่างก็เห็นวิวที่เต็มไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ ภูเขาใหญ่รายล้อมตัดกับสีของท้องฟ้าก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้นอยากไปถึงเร็วๆ จนถึงบ้านเปียงก่อสถานที่ที่จะทำกิจกรรมกัน มองเห็นหมอกอยู่ใกล้ๆ เพราะฝั่งตรงข้ามเป็นภูเขามีต้นไม้ใหญ่น้อยเต็มไปหมดทำให้อากาศดี ถัดลงไปข้างล่างเป็นแม่น้ำน่านที่เย็นสบายและจะใช้สำรวจหาสัตว์ และรอคอยเหล่านักสืบธรรมชาติมาร่วมสำรวจไปด้วยกัน

นักสืบธรรมชาติ ณ ริมน้ำน่านแสนไกล

เดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีกิจกรรมอบรม “นักสืบธรรมชาติ” จัดโดยสื่อพลเมืองไทยพีบีเอส, ห้องเรียนสุดขอบฟ้า, มหาวิทยาลัยนเรศวรม, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง บ้านเปียงก่อ อ.เฉลิมพระเกียรติ มีทั้งหมด 7 โรงเรียนที่มา เช่น โรงเรียนบ้านน้ำรีน้ำช้างพัฒนา โรงเรียนบ้านด่าน ฯลฯ โดยกิจกรรมให้เด็กเป็นนักสืบธรรมชาติทั้ง นักสืบสายลม(ส่องไลเคนตามต้นไม้เพื่อดูคุณภาพอากาศ) นักสืบสายน้ำ(หาแมลงสัตว์ในน้ำเพื่อดูคุณภาพน้ำ) และนักสืบดิน(เก็บตัวอย่างดินวัดค่าความเป็นกรดและด่าง) โดยใช้เครื่องมืออย่างแว่นขยายและคู่มือในการสำรวจและใช้สัมผัสทั้ง 5 ในการสังเกตสิ่งรอบข้างและบันทึกสิ่งที่เจอ

กิจกรรมสำรวจแม่น้ำน่าน หาสัตว์น้ำ, วัดความเร็วและความใสของน้ำ เป็นต้น

นอกจากเด็กๆ แล้วคุณครูเป็นอีกกลุ่มที่เข้าร่วมและเรียนรู้ไปด้วยกัน ครูปลา จากโรงเรียนบ้านด่านเป็น 1 ในคนที่เห็นว่ากิจกรรมในครั้งนี้สำคัญต่อเด็กๆ ที่จะเอากลับไปทำต่อกับที่บ้านเกิดตนเอง

ปราณี สมมุติหรือครูปลา ที่เด็กๆ มักเรียกและวิ่งไปหาเสมอ ครูปลาสอนวิชาวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนบ้านด่าน ก่อนที่จะมาอยู่น่านเคยบรรจุเป็นครูที่อ.พบพระ จ.ตาก แล้วย้ายกลับมาอยู่น่านอีกครั้งเมื่อปี 62 อยู่มาประมาณ 3 ปีกว่าก็พบข้อดีมากมาย อย่างแรกคือธรรมชาติ เนื่องจากว่าพื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้พันธุ์พืชพันธุ์ไม้ สัตว์ต่างๆ ยังคงมีความหลากหลาย อย่างที่สองคือชุมชน ผู้คนและวัฒนธรรมยังคงรักษาความเป็นดั้งเดิมไว้อยู่ เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาทั้งหมด

ครูปลาอยู่ที่อ.เฉลิมพระเกียรติมา 3 ปีกว่า เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น เคยอบรมกิจกรรมนี้และอยากให้นักเรียนร่วมเรียนรู้ จึงพานักเรียนมาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้

ครูปลาบอกว่า กิจกรรมนี้สำคัญเพราะเด็กเป็นคนในชุมชนที่ถึงแม้เขาจะบอกว่าอนาคตจะไม่กลับมาแล้วแต่พ่อแม่เขายังอยู่ที่นี่ ถ้าตามที่เราได้เรียนรู้มาในช่วงเวลา 3-4 วันที่ผ่านมา สามารถเอาความรู้ไปตรวจสอบเบื้องต้นในชีวิตประจำวันได้เลย เช่น ค่า pH ในน้ำและดิน หรือแม้แต่ทักษะการสังเกตอย่างครูก่อนหน้านี้เอาน้ำในชุมชนไปตรวจวัดค่า pH ปรากฏว่าค่า pH ในน้ำสูงมาก บางรายมีตังค์หน่อยจ้างขุดบ่อบาดาลเลยเพื่อให้ครอบครัวดื่มน้ำที่ปลอดภัยจากค่าที่เราตรวจเจอ

เรียนรู้ เข้าใจธรรมชาติรอบตัวผ่านการมอง ฟังและดมกลิ่น

กิจกรรมที่เด็กจะเข้าร่วมนั้นมีทั้งหมด 7 ฐานด้วยกันได้แก่ ฐานฝุ่น PM2.5, ฐานไนโตรเจนออกไซด์, ฐานน้ำฝน ฐานไลเคน, ฐานดินและพืช, ฐานปลา และฐานน้ำ โดยการทดลอง ผลการบันทึกข้อมูลต่างๆ ลงบนแพลตฟอร์ม c-site เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่เอาไว้ศึกษาภายหลังได้

ฐานวัดคุณภาพอากาศโดยนำตัวอย่างอากาศแบบต่างๆ ใส่ลงในถุงเช่นควันเสียจากท่อรถยนต์มาใส่ ใส่น้ำและใช้สารไนโตรเจนหย่อนลงและเขย่าเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของสี ถ้ามีสีชมพูเข้มแสดงว่าอากาศไม่ดี ส่วนถ้ามีสีอ่อนแสดงว่าอากาศดี
ฐานน้ำฝน ทดลองตรวจค่า pH ของฝน เพราะชาวบ้านจะลองน้ำฝนมาใช้ดื่มกินกัน
ฐานวัดคุณภาพของดิน ถึงความเป็นกรดและด่าง มีผลกระทบต่อการทำสวนของชาวบ้าน

คุยกับทีมมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ที่ตรวจเจอค่าสารปรอทในปลา 0.07 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทีนี้จะไปบอกให้เขาไม่กินปลาเลยได้ไหมก็ไม่ได้เพราะมันเป็นวิถีชาวบ้าน หมูไก่ที่เขาซื้อจากรถขายข้างล่างก็แพงกว่าที่จับเองตามแม่น้ำ เลยต้องกินแต่อาจจะลดปริมาณลง

สารปรอทที่เราเจอ อาจจะมาจากการทำไร่ที่ใช้กรัมม็อกโซน ยาฆ่าหญ้า หรือแลนเนทซึ่งจริงๆ หน้าร้านไม่มีขาย แต่ถ้าไปถามหลังร้านมีขายให้มันยังต้องฉีดอยู่ พอเป็นสารโลหะหนักฝนตกทีก็ชะล้างลงมาในแม่น้ำลำคลองเลยอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เราหรือเปล่า

ฐานไลเคน(lichen) คือราหรือสาหร่ายสีเขียว มีความอ่อนไหวต่อมลพิษจึงสามารถบอกคุณภาพของอากาศได้ โดยที่เด็กๆ เจอเป็นลักษณะแบบโฟลิโอส (Foliose)
ฐานวัดความเป็นกรดและด่างในน้ำ โดยใช้เครื่องวัดค่า pH meter ถ้าค่า pH=7 คือปกติดื่มน้ำได้ ถ้ามากกว่า 7 เป็นด่างและน้อยกว่า 7 เป็นกรด โดยค่าที่ได้คือ 4.35 แสดงว่ามีความเป็นกรด
ฐานปลา เรียนรู้ถึงสาเหตุของสารปรอทที่อยู่ในปลา ซึ่งเป็นโลหะหนักพบได้ตามแหล่งน้ำ โดยค่าไม่ควรเกิน 0.5 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม ถ้ากินและสะสมอยู่มากจะส่งผลอันตรายต่อร่างกาย
ฐานฝุ่นPM2.5 ใช้ธง 5 สี บอกระดับความอันตรายของฝุ่น สีแดง(อันตรายสุด)>สีส้ม>สีเหลือง>สีเขียว>สีฟ้า(ปลอดภัย)

ครูปลาพูดต่อ ช่วงฤดูฝนเขาจะปลูกข้าวโพด ปลูกข้าวกัน รู้ละว่าต้องฉีดยาแน่นอน จะเกิดอาการ”คัน”ตามตัว ”น้ำสีโอวัลติน” ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้อาบอย่างนั้นแหละ รอสักพักให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ใช้ถังกรองแล้วค่อยตักอาบ เพราะเราสูบน้ำจากแม่น้ำน่านขึ้นมาใช้เลยโดยที่ไม่มีเครื่องกรอง เครื่องกรองสำหรับใช้กินอย่างเดียว

วิธีที่เราป้องกันเองตอนนี้เช่น เจอฝุ่นเราใส่แมสก์ ห้ามออกมาอยู่ในที่โล่งแจ้งอย่างครูไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นที่สนามอยู่แล้ว แต่เด็กถ้าบอกไม่ให้ไปเล่นห้ามไม่ได้หรอกถึงเวลาก็ออกไปเล่นกลางสนามแน่นอน ส่วนฝนกรด แต่ก่อนเขาใช้น้ำฝนกินรองมาแล้วก็ดื่ม แต่พอรู้ว่ามีผลกระทบจากฝั่งนู่นเขาก็จะหลีกเลี่ยงไม่กิน แต่โซนอ.เฉลิมพระเกียตริไม่มีน้ำขวดขาย น้ำถังที่เราดื่มที่โรงอาหาร มีขายที่บ้านบ่อหยวก(อยู่ในอ.บ่อเกลือ จ.น่าน) แต่เขาไม่มาส่งถึงบ้านด่านมีครูคนหนึ่งเคยถามแล้ว ดังนั้นเราต้องใช้น้ำที่เรามีอยู่นี่ผ่านเครื่องกรอง ขุดเจาะน้ำบาดาล

แต่ว่าเครื่องกรองอาจจะกรองโลหะหนักไม่ได้มากอย่างคุณครูจะซื้อน้ำมากินพวกน้ำขวดขึ้นมาจากปัว (อำเภอศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดน่านตอนเหนือ) มากินอาทิตย์ละประมาณ 2 แพ็ค ซึ่งเขาจะไม่กินน้ำที่โรงเรียนเลยเพราะจากที่ตรวจวัดค่า pH ในน้ำที่โรงเรียนนั่นแหละ ไม่ได้มาตรฐานเลยมีความกลัวซื้อน้ำขึ้นมากินเอง ส่วนเด็กยังคงกินน้ำที่โรงเรียนแต่ว่ายังผ่านเครื่องกรองอยู่

ครูเคยทำกิจกรรมอบรมนี้ที่ภูคามาแล้ว ครั้งนี้เลยพาเด็กนักเรียนมาด้วยและหลังจากทำกิจกรรมเสร็จ เขาจะให้อุปกรณ์เรามาทั้งธงสีต่างๆ เครื่องมือสำรวจน้ำ ก็จะเอาไปไว้ที่โรงเรียนและจัดกิจกรรมกับเด็กนักเรียนให้ลงหาสัตว์ ตรวจสอบอากาศโดยใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ สำรวจไลเคน บันทึกข้อมูลด้วย

จากแต่ก่อนที่ชุมชนดื่มน้ำปกติ แต่พอลองตรวจพบค่า pH สูงก็หลีกเลี่ยง หันมากรองน้ำให้สะอาดมากขึ้น หรือเห็นสีของธงที่เตือนระดับความอันตรายของฝุ่นก็ใส่แมสก์เพื่อป้องกัน รวมถึงข้อมูลที่เด็กๆ ร่วมกันสำรวจและบันทึกสามารถส่งข้อมูลเหล่านั้นไปยังม.เชียงใหม่ และม.นเรศวรเพื่อตรวจหรือประเมินวัดค่าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เด็กๆ สามารถเอาอุปกรณ์และทักษะที่เรียนมาไปใช้กับชุมชนของตนเอง มีฐานข้อมูลสำคัญไว้ใช้ดู เปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและป้องกันในเบื้องต้นได้

ครูปลาทิ้งท้าย เชื่อว่าในอนาคตถ้ายังไม่มีการป้องกัน มันต้องลงผ่านไปถึงจังหวัดผ่านอ.ปัว ท่าวังผาไปเรื่อยๆ แน่นอนแล้วคนที่จะได้รับผลกระทบด่านแรกเลยคือคนที่อ.เฉลิมพระเกียรติก่อนแล้วค่อยทยอยลามไปข้างล่าง เราและคนในชุมชนต้องเฝ้าระวัง ติดตามในเรื่องพวกนี้ไม่ให้มันเกิดขึ้นหรือให้มันเกิดน้อยที่สุด ป้องกันเราคนเดียวไม่สามารถที่จะช่วยได้หรอกก็ต้องคนในชุมชน อสม. ผู้ใหญ่บ้าน ครูนักเรียนแม้แต่ชาวบ้านก็ร่วมมือช่วยกันผลักดันเรื่องพวกนี้ให้มันเกิดขึ้น

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง

นักสืบธรรมชาติ ณ ห้องเรียนแม่น้ำน่าน

เมื่อเกิดวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม ประชาชนทำอะไรบ้าง? พบ 4 มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ ชวนรู้จักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ