ตามไปดู “Nature Spy” สายลับเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ

ตามไปดู “Nature Spy” สายลับเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ

ชาวบ้าน สวมบทบาทเป็นนักวิทยาศาสตร์พลเมือง เมื่อสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ยกทัพสหวิชาชีพสายวิทยาศาสตร์ สังคม และสื่อมวลชน หนุน 8 ชุมชน-โรงเรียน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่ประชาชนสามารถทำเองได้ง่าย ๆ หวังเป็นจุดเริ่มต้นปรับเปลี่ยนวิธีคิดปกป้องสิ่งแวดล้อมของชุมชน

กิจกรรม 3 วัน 2 คืน สำรวจ ดิน-น้ำ-อากาศ และสิ่งมีชีวิต ที่ ตัวแทนชาวบ้านและคุณครู ร่วม 40 คน จากตำบลห้วยโก๋น บ้านห้วยโก๋น, บ้านสบปืน, บ้านห้วยทรายขาว กับตำบลขุนน่าน บ้านน้ำรีพัฒนา, บ้านน้ำช้าง, บ้านง้อมเปา, บ้านกิ่วจันทร์, บ้านด่าน, รร. บ้านเฟือยลุง ต.และ รวมถึงเกษตรกรสวนส้ม อ.ทุ่งช้าง ต่างเดินทางมารวมตัวกันยังที่นัดหมายคืออุทยานแห่งชาติดอยภูคา อ.ปัว จ.น่าน เมื่อวันที่ 1-3 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายเดียวกันเพื่อเรียนรู้เครื่องมืออย่างง่าย ที่จะหาข้อพิสูจน์จากการสังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่างที่พวกเขากังวลว่าอาจมีผลต่อสุขภาพ หรือพืชผลผลิตทางเกษตรตนเองเสียหายในระยะหลายปีที่ผ่านมา

เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถูกออกแบบให้ง่ายต่อการที่ชาวบ้านและเด็ก ๆ จะหยิบจับมาติดตาม และตรวจสอบร่วมกับนักวิจัย ถูกประดิษฐ์และออกแบบระบบไว้ให้ได้ฝึกทำจริงกันหลายอย่าง นี่คือการพบกันระหว่างชาวบ้านกับสหวิชาชีพ เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ และสื่อมวลชนที่ช่วยกันให้คนในพื้นที่ ที่พบเห็นความเปลี่ยนแปลงและผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้มีเครื่องมือช่วยกันเฝ้าระวัง และรู้แนวทางปฏิบัติเมื่อพบความผิดปกติ

เริ่มต้นวัดความกรดด่าง-ดูแผนที่ความเสี่ยงสารปรอทสะสม

ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร บอกว่า เราออกแบบสิ่งที่ชาวบ้านกังวล มาสู่วิธีที่ชาวบ้านทำการตรวจวัดได้ด้วยตัวเอง หรือเก็บตัวอย่างส่งมาให้เรา และรายงานผลใน C-site ได้เอง

ก่อนหน้านี้ทีมวิจัย พบว่าชาวบ้านมีความกังวลเรื่องของพืชผลทางการเกษตรเสียหาย เขาสังเกตเห็นความเสียหายของพืชผลและการเกษตร มีอาการใบไหม้ โรครา อย่างผิดปกติ รวมถึงเขามีความรู้สึกว่าโดนน้ำฝนแล้วมีอาการแสบ และมีความกังวลในเรื่องของปลาที่เขาจับมาบริโภค เลยทำการสำรวจ และออกแบบกระบวนการการเก็บตัวอย่างทางสิ่งแวดล้อม เพื่อทำข้อมูลในการเก็บ ซึ่งแยกออกมาเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ

ส่วนแรก เรื่องของมลพิษทางอากาศ มีคำถามว่ามลพิษทางอากาศ แก๊สกรดมาจากแหล่งกำเนิดข้ามพรมแดนไหม? หรือมาจากกระบวนการเผาเศษวัสดุการเกษตรของตัวเองหรือเปล่า? เราเลยติดตั้งเซนเซอร์วัดแก๊สกรดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และ link เข้ากับฐานข้อมูล C-site ให้ชาวบ้านสามารถกดดูได้ว่าปัจจุบันในอากาศมีแก๊สกรดมากน้อยแค่ไหน มากกว่าค่าปกติหรือเปล่า?

สอง เราวัดฝนกรด เพราะว่าเมื่อมีแก๊สกรดปลดปล่อยออกมา สิ่งที่จะตามมาคือ น้ำฝนที่ชะมา ทำให้ได้ฝนกรด เราทำการสอนชาวบ้านให้เก็บตัวอย่างน้ำฝน และใช้ PH มิเตอร์พื้นฐานง่าย ๆ ว่า PH ต่ำกว่า 5.6 หรือเปล่า ถ้าต่ำกว่าอาจจะตอบโจทย์ความกังวลของชาวบ้านได้ว่า เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับเวลาเขาโดนน้ำฝนแล้วแสบ หรือเวลาเขาได้กลิ่นอากาศแล้วมีอาการแสบจมูก คัดจมูกขึ้นมา

ต่อมาเมื่อฝนตก ถ้าเป็นฝนกรดจริง จะเกิดการชะ ทำให้พืชได้รับความเสียหาย เกิดอาการใบไหม้ แร่ธาตุในดินชะ ละลายออกไป พืชเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร ผลผลิตตกต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาประสบอยู่ แต่เขาไม่แน่ใจว่ามันเกิดจากฝนกรดหรือไม่ เราจึงให้เขาเก็บตัวอย่างดิน วัดความเป็นกรดด่างเองก่อน นี่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ชุมชนและจะส่งตัวอย่างมาให้เราทำงานวิเคราะห์ขยายผล

สุดท้าย คือปรอทสะสมในปลา เราอยากให้เขาจับปลามาบริโภคจากแหล่งที่ว่าปลอดภัยไม่มีปรอท เราจึงทำแผนที่ความเสี่ยงขึ้นมา ฐานข้อมูลว่าในแหล่งน้ำแต่ละแหล่งที่ชาวบ้านเก็บตัวอย่าง มีปรอทสะสมหรือเปล่า ถ้าแหล่งน้ำไหนที่มีการเก็บตัวอย่างแล้วเขาจะมั่นใจได้ ถ้าแหล่งน้ำไหนที่เขาจับปลามากิน แต่ไม่มีการวัดค่าปรอทเลย เราจะให้เขาเก็บตัวอย่างส่งมาให้เรา ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ฝนกรด ดิน หรือว่าปรอทในปลา เราจะให้รายงานในฐานข้อมูล C-site

“ฐานข้อมูลตัวนี้จะช่วยทั้งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยนักวิจัยร่วมทำงานกับชาวบ้าน และเก็บข้อมูลแก้ไขในระดับประเทศด้วย”

เช็คค่าฝุ่น PM 2.5 ส่องไลเคนตัวบ่งบอกคุณภาพอากาศ

ผศ. ดร.ว่าน วิริยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า ไลเคนก็เป็นสิ่งมีชีวิต อยู่อาศัยพึ่งพากันระหว่างสาหร่ายกับรา ดังนั้น ถ้าสาหร่ายกับรา เจอมลพิษทางอากาศ มันก็จะตาย แต่จริง ๆ แล้วตัวไลเคนแต่ละชนิดจะมีหลายสายพันธุ์มาก แต่ละอย่างมีความทนทานต่อสภาพอากาศแตกต่างกัน นี่จะเป็นตัวบ่งชี้ทางคุณภาพอากาศ สมมติเป็นไลเคนชนิด A อาจจะอยู่ในที่ที่อากาศดีมาก ชนิด B อยู่ในที่กลาง ๆ หรือชนิด C ทนทานต่อมลพิษทางอากาศมาก

เราให้ชาวบ้านได้ดูว่าตัวไลเคน แต่ละชนิดบ่งบอกถึงอากาศอย่างไรบ้าง และมีกระบวนการอย่างไรบ้าง อย่างช่วงที่เราทำกระบวนการ ผลสำรวจคือ อากาศดีมาก เพราะพื้นที่ที่เราทำการอบรมในครั้งนี้คืออยู่ในช่วงที่อากาศดี ฉะนั้นไลเคนก็จะมีความหลากหลายเยอะ และเจอไลเคนบางชนิด บางตัวไม่มีเลยในพื้นที่ในเมือง บางตัวก็เป็นแบบใหม่เลยที่อยู่เฉพาะถิ่น

ไลเคนมีทุกพื้นที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ยาก แค่มีตัวเลนส์ส่องพระก็สามารถทำได้แล้ว เพราะแต่ละพื้นที่มีต้นไม้ที่ไลเคนสามารถเจริญเติบโตได้ แล้วไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือชั้นสูงในการตรวจวัด ดังนั้นจึงง่ายต่อการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ

ในกระบวนการจริง ๆ เรามีหลายรูปแบบให้ชาวบ้านได้สามารถใช้ในการติดตามตรวจสอบได้ อย่างเช่น เครื่องมือ Low cost sensors ตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 อันนี้ได้แจกแต่ละหมู่บ้าน เป็นตัวเลขที่สามารถดูในแอปพลิเคชัน

อันที่สอง คือการตรวจวัดสารเคมีเฉพาะอากาศ เป็นแก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ต้องนำไปทำปฏิกิริยาเคมี เราจะมี Test Kit แบบง่าย ดูว่าอยู่ในแทบสีอะไร คือมันจะไม่ได้บอกเป็นตัวเลขที่ชัดเจน แต่บอกได้ว่าค่าในช่วงไหนเกินมาตรฐานหรือเปล่า  

นักสืบสายน้ำ เริ่มต้นสังเกต สัมผัส ดมกลิ่น และบันทึกการเรื่องเล่า

นอกจากการเรียนรู้เรื่องของดินและอากาศแล้ว ในส่วนของสายน้ำ สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส ประยุกต์แนวคิดกิจกรรมจากนักสืบสายน้ำของมูลนิธิโลกสีเขียว รวมถึงการพัฒนา(ร่าง) คู่มือนักสื่อสารวิทยาศาสตร์พลเมืองด้านการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 2 

การให้กลุ่มผู้เข้าร่วมอบรมฯ ได้สำรวจลำน้ำด้วยกระบวนการชีวะลุมบอน คือการสุ่มดูความหลากหลายทางชีวภาพในลำน้ำ อย่างเช่นการดูลักษณะของลำน้ำ พืชพรรณริมน้ำ ดูความขุ่นใส หรือแม้การวัดความเร็วของผิวน้ำอย่างง่าย ด้วยลูกปิงปอง ซึ่งเน้นการใช้ทักษะจากการสังเกต สัมผัส ดมกลิ่น ฟัง และถาม 

รวมถึงสำรวจสิ่งมีชีวิต “สัตว์หน้าดิน” เป็นตัวชี้วัดในการบ่งบอกถึงคุณภาพลำน้ำ หลังสำรวจเสร็จจะมีการจะบันทึกข้อมูลรูปภาพและตัวหนังสือใน C-site ซึ่งระบบจะช่วยคำนวณคะแนนว่าให้คุณภาพลำน้ำที่สำรวจอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ดี ปานกลาง หรือว่าแย่ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

พรชัย นาชัยเวียง รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 2 ให้ความเห็นต่อความร่วมมือกันในอนาคตว่า กิจกรรมเป็นประโยชน์ต่อเด็ก และการเรียนการสอนของจังหวัดน่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สพป.น่าน เขต 2 ที่ได้มีโอกาสเริ่มต้นร่วมในกระบวนการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมาย และบูรณาการการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์ในด้านวิทยาศาสตร์การนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

พรชัย นาชัยเวียง รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 2

“เพราะพลังการสื่อสารอยู่ในมือคุณ”

อีกหนึ่งเครื่องมือในการบันทึกข้อค้นพบด้วยการถ่ายภาพ บันทึกเสียง และการตัดต่อด้วยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งคุณพิภพ พานิชภักดิ์ ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ไทยพีบีเอส และคุณกุลพัฒน์ จันทร์ไกรลาส Chief Producer ศูนย์ ThaiPBS World ผู้ช่วยในการสอนครั้งนี้ ได้ชวนผู้เข้าร่วมอบรมฯ เรียนรู้หลักสูตร MOJO หรือ Mobile Journalism จะมีรูปแบบของสารคดีสั้นที่นำความจริงและความเห็นของชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ หากวางการใช้งานให้ดี วารสารศาสตร์มือถือยังจะเป็นเครื่องมือในการวิจัยทางภาพและเสียง และสามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการผลิตผลงานวิจัยท้องถิ่น และนำข้อค้นพบต่าง ๆ มานำเสนออีกด้วย

C-Site สื่อสารสาธารณะด้วยปัญญารวมหมู่

สุรพงษ์ พรรณวงษ์ เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายนักสื่อสารพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส เล่าถึงแอปพลิเคชัน C-site ไทยพีบีเอส เครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมจากสื่อพลเมืองทั่วประเทศ ทำหน้าที่ข้อหนึ่ง ในการร่วมกันเป็นนักข่าวพลเมือง ปักหมุดรายงานข่าวเรื่องใกล้ตัว เช่น น้ำท่วม โควิด-19 วิถีชีวิต วัฒนธรรมเป็นต้น ซึ่งมีการเชื่อมต่อเนื้อหาเพื่อนำออกอากาศในทุกช่องทางของไทยพีบีเอส กับ ข้อสอง ทั้งยังพัฒนาระบบโครงสร้างให้สามารถจัดเก็บฐานข้อมูลของชุมชน ในลักษณะการทำเป็นแผนที่เฉพาะเรื่องนั้น ๆ เช่น จับตาการสร้างกำแพงกั้นคลื่น ภาคใต้ หรือการสำรวจสุขภาพต้นยางนา ถนนเส้นเชียงใหม่-ลำพูน จากพลังข้อมูลของภาคประชาชนที่มีการสะสมจะกลายเป็น Big data แสดงผลให้ผู้ใช้เห็นถึงโลเคชันและภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่แบบเรียลไทม์ เพื่อนำไปสู่การหาทางออกในระดับชุมชนหรือนโยบายต่อไป

เช่นเดียวกับการออกแบบพัฒนาระบบร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ให้ C-site เป็นเครื่องมือการบันทึกข้อมูลการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน โดยตัวระบบมีการใส่สูตรสมการแล้วให้ระบบ AI ช่วยคำนวนตัวเลข ช่วยให้คนที่ไม่รู้ทางวิทยาศาสตร์ก็สามารถตรวจสอบความปกติ หรือผิดปกติได้

เบื้องต้นตอนนี้มีการแยกออกมาเป็น 6 เครื่องมือ สายน้ำ, สายลม, เช็คพืชผลเกษตร, ตรวจปรอทสะสม, เก็บน้ำ-น้ำฝน, เฝ้าระวังสุขภาพกาย-ใจ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมฯ นำร่องทดรองใช้ก่อน ก่อนจะมีการไว้จัดเก็บข้อมูลในระยะยาว

นพ. ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวเสริมว่า ทำไมเราถึงต้องใช้ C-site รายงานผล เพราะ C-site มีเรื่องของแผนที่ ถ้าเราทุกคนช่วยกันวัดในทุก ๆ จุดในพื้นที่ของบ้านเรา แผนที่ C-site จะมีจุดผุดขึ้นเต็มไปหมด เช่น ดินเป็นกรดตรงไหนจุดตรงนั้นก็จะแดง และเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจากข้อมูลที่เราระดมเข้าไป

นพ. ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทำไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา ตัวอย่างที่มีการสุ่มเก็บเป็นครั้งคราว ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าตอนที่เราไม่เก็บข้อมูลมันอาจจะแย่กว่าที่เราจะเก็บก็ได้ แต่พวกเราอยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา งานทั้งหมดที่เราพยายามไปข้างหน้า ณ ขณะนี้เพื่อลูกหลานเราในอนาคต

“ร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดที่สุด สิ่งแวดล้อมมลพิษเกิดขึ้นขนาดไหน ร่างกายของมนุษย์มันทนได้มาก ได้นาน ข้อดี ทนได้เหมือนดี แต่ข้อเสีย กว่าจะรู้ว่ามันได้รับสารพิษเข้าไปมันใช้เวลายาวนานมาก”

“ถ้าตรวจเจอในคนขึ้นมา หมายความว่าธรรมชาติมันไปหมดแล้ว ดังนั้น หลักฐานที่เจาะเลือดเจอสารพิษ ฟ้องโรงงานไม่ควรจะเกิดขึ้นในโลกใบนี้ ไม่ควรจะรอให้ถึงขนาดนั้น”

นี่จึงเป็นที่มาว่าทำเราต้องพยายามเฝ้าระวังว่าบ้านเราไม่ได้รับมลพิษไปมากกว่านี้

ที่ผ่านมาไม่ใช่เราไม่มีระบบเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม แต่ระบบเฝ้าระวังที่พูดถึงคือ ระบบเฝ้าระวังที่มีชีวิตเพราะอยู่ในพื้นที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสามารถเก็บข้อมูลบางอย่าง เพื่อส่งข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ให้นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์และหาสาเหตุเพิ่มเติม ดังนั้นจุดที่เราทำกันในอนาคตที่จะทำกันใกล้ ๆ นี้ เป็นเรื่องสำคัญ เป็นตัวอย่างแรกของประเทศไทยเลยว่าพวกเราจะเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในบ้านเราด้วยมือของเราเอง

ด้วยการสร้างฐานข้อมูลของพวกเราขึ้นเอง ดังนั้นตัวชี้วัดที่พวกเราวัดกันไป จะเป็นตัวชี้วัดที่มีความไวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม คนเปลี่ยนช้าสุด วัดได้ช้าสุด ถัดจากคนก็ปลา ไลเคน หรือแมลงในน้ำก็ไวต่อการเปลี่ยนแปลง

การวัดความเป็นกรดของดิน บันทึกภาพพืชผลที่เสียหาย การระบุความเสียหาย การตรวจสอบข้อมูลน้ำ ข้อมูลดินจะเป็นข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นประกอบในระบบเฝ้าระวังของเรา ทั้งหมดมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ความสำคัญทั้งหมดอยู่ในมือของพวกเราแล้ว

ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการแผนงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

หวังขยายผลพื้นที่อื่นที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมเดียวกัน

ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการแผนงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส. เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนงานวิจัยโครงการ “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน จังหวัดน่าน ประเทศไทย กรณีมลพิษข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา” โดยอยากให้ทีมนักวิจัยพัฒนาตัวเครื่องมือและประมวลการทั้งหลายร่วมกันชุมชน ร่วมกับกลุ่มเป้าหมายครู นักเรียน หรือผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบายทั้งหลายในท้องถิ่นมาร่วมดำเนินการ และนำผลของงานวิจัยเครื่องมือทั้งหลายเอาไปใช้และใช้ได้จริง

“ในกระบวนการมีการถ่ายทอดให้ทางชุมชนหรือผู้เกี่ยวข้องเองได้ใช้เครื่องมือ และสร้างระบบเฝ้าระวังเรื่องของมลพิษทั้งหลาย เพราะเราเชื่อว่าชุมชนควรจะสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยความช่วยเหลือจากนักวิจัยในเบื้องต้น”

จากนั้นจะมีการทำอย่างไรให้ระบบมีความยั่งยืนต่อไป นี่เป็นลักษณะการออกแบบงานวิจัยใหม่ โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ชุมชนเองจะเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนอื่น ๆ ต่อไป เพราะว่าโลกของเราทุกวันนี้มีเรื่องของมลภาวะมลพิษ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษเยอะ ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนให้กับพื้นที่อื่นที่จะขยับขยายทำในลักษณะเดียวกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ