“ที่นี่น่าน โคตรไกลเลย…” นี่เป็นความรู้สึกแรกหลังเดินทางมาถึง แต่พอเลื่อนประตูรถตู้ที่เดินทางต่อเนื่องหลังบินลัดฟ้าตรงจากขอนแก่นมาที่สนามบินเชียงใหม่เพื่อย่นระยะเวลามานั่งรถตู้กว่า 415 กิโลเมตรตรงมาถึงจุดหมายปลายทางที่ บ้านเปียงก่อ หนึ่งในหมู่บ้านพื้นที่ห่างไกลใน ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ก็บอกกับตัวเองว่าคุ้มค่าแล้วกับการเดินทางครั้งนี้ แม้จะใช้เวลากว่า 5-6 ชั่วโมง จาก อ.เมืองเชียงใหม่ และกว่า 2 ชั่วโมง จาก อ.เมืองน่าน ผ่านเส้นทางที่ชันและคดเคี้ยวระหว่าง อ.บ่อเกลือ เชื่อมต่อ อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งทิวทัศน์ตลอดสองข้างทางที่ดึงดูดสายตาจากทิวเขาที่สลับทับซ้อนต่างระดับกันไป ทำให้ตื่นเต้นไม่น้อยเลยกับการมาทำงานในครั้งนี้ ที่แม้จะเวียนหัวเมารถก็ไม่หวั่น บ่ย่านเด้อค่ะ
“น่านไง ถึงแล้ว…” ตลอดระยะเวลา 5 วันที่เรียนรู้ร่วมกับชาวค่าย ที่นับเป็นการเดินทางมาน่านครั้งแรกเพื่อมาร่วมเรียนรู้ผ่านการทำค่ายนักสืบธรรมชาติ และการสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์พลเมืองร่วมกับน้อง ๆ เยาวชนในพื้นที่ผ่านกระบวนการห้องเรียนธรรมชาติ สำรวจสิ่งมีชีวิตในลำน้ำน่าน ที่พบว่า ทั้ง ดิน น้ำ ฟ้า อากาศ สายลม และแสงแดด ต่างเป็นครูให้เราได้ตลอดเวลา ซึ่งมีหลายเรื่องที่เราก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับน้อง ๆ “ชาวลัวะ” ที่มีภาษาพูดซึ่งเป็นเอกลักษณ์ภาษาถิ่นของตนเอง จากหลากหลายโรงเรียน การทำงานครั้งนี้ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินไปสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ของทุก ๆ คน บนความหลากหลายที่มาเจอกัน ซึ่งเราสนุกมาก รู้สึกชอบใจเมืองนี้ เมืองที่เล็ก ๆ ไม่วุ่นวาย และก็มีเรื่องราวมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมากซึ่งน้อง ๆ ชาวค่ายกำลังบันทึกเรื่องราวและพร้อมสื่อสารออกมาในเร็ววัน โปรดติดตามด้วยกันต่อจากนี้
“หนูเดินทางมาที่นี่ไกลมาก ผ่านมาหลายโค้งกว่าจะมาถึง…” เชียร์ ณัฐชยา ฮังคำ หนึ่งเสียงจากสมาชิกชาวค่ายนักสืบธรรมชาติของ โรงเรียนบ้านสบปืน ยืนยันถึงความตั้งใจการเดินทางมาเรียนรู้ในครั้งนี้ ณ ห้องเรียนน้ำน่าน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเปียงก่อ ค่ายนักสืบธรรมชาติครั้งนี้ เป็นการเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์พลเมืองและการสื่อสารสาธารณะร่วมกันจากหลายกลุ่มโรงเรียนและคนหลายช่วงวัย ทั้ง คุณครู และเด็ก ๆ โดยผ่านกระบวนการห้องเรียนธรรมชาติ ผ่านการทดลองทำเพื่อให้เกิดประสบการณ์จริงในพื้นที่ และให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถวิเคราะห์ สภาพแวดล้อมรอบตัวได้ด้วยตนเอง จากการสำรวจสิ่งมีชีวิตในลำน้ำน่าน อีกทั้งเรียนรู้เรื่องดินและเรื่องอากาศ ผ่านการเก็บข้อมูล ทดลอง ทั้ง การทำสื่อเล่าเรื่อง เพื่อให้คนเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย และฝึกเป็นผู้เฝ้าระวังความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในบ้านของตัวเอง
วิทยาศาสตร์พลเมือง ?
“วิทยาศาสตร์พลเมือง ก็คือกิจกรรมที่ประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะทุกเพศทุกวัยเข้ามาทำการสำรวจทางวิทยาศาสตร์โดยที่การสำรวจนั้น อาจจะมีนักวิทยาศาสตร์เป็นคนต้นคิดก็ได้ หรือว่าประชาชนอยากสำรวจเองหรือชุมชนอยากสำรวจก็ได้ ก็ตั้งโครงงานขึ้นมาแล้วทำการศึกษา แต่มันไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ เราออกไปชมนกชมไม้ อันนั้นก็อาจจะไม่ใช่วิทยาศาสตร์พลเมือง
วิทยาศาสตร์พลเมืองมันจะต้องมีการเก็บข้อมูล ซึ่งปัจจุบันเราก็รู้ว่าข้อมูลที่เราเรียกว่า Big data มันมีความสำคัญมาก แล้วก็การเก็บข้อมูลโดยคนส่วนใหญ่คนเยอะ ๆ ก็จะเป็นที่มาของสิ่งที่เรียกว่า citizen science หรือ วิทยาศาสตร์พลเมือง” พิภพ พานิชภักดิ์ นักผลิตสารคดีอิสระและผู้จัดการเรียนรู้ “ห้องเรียนสุดขอบฟ้า” บอกเล่านิยามความหมายของ “วิทยาศาสตร์พลเมือง” เพื่อให้เข้าใจอย่างง่ายกับค่ายนักสืบธรรมชาติในครั้งนี้
“วิทยาศาสตร์พลเมือง” จึงจำเป็นที่ต้องสังเกต ตั้งสมมุติฐาน สืบเสาะ วิเคราะห์ สามารถสรุปสิ่งที่เปลี่ยนแปลงของชุมชนได้ด้วยความรู้ ความเข้าใจ และสามารถพิสูจน์ได้ทางหลักการวิทยาศาสตร์
“วิทยาศาสตร์พลเมือง มันเป็นเหมือนเครื่องมือที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ตระหนักว่ามนุษย์ไม่ใช่ศูนย์กลาง ยุคที่ผ่านมา เวลาเราจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติเราจะเอาตัวเราเป็นหลักว่าคนต้องการอะไร ชุมชนต้องการอะไร รัฐต้องการอะไร ต่อไปเราอาจจะต้องมองว่าในสิ่งแวดล้อม ที่มีเพื่อนผู้มีชีวิต มีต้นไม้ มีแมลง มีนก มีปลา และก็มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นอากาศดิน แล้วก็สิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย ที่โอบอุ้มเราอยู่ ทำยังไงถึงจะให้การใช้งานของเราไม่ทำลาย
เพราะฉะนั้น ถามว่ามีผลยังไง ก็จะทำให้เราเกิดความตระหนัก วิทยาศาสตร์พลเมือง จะทำให้เรามงไกลกว่าตัวเราเอง มองไปยังสิ่งแวดล้อม มองไปยังต้นไม้เราเห็นนก มองไปที่ดินเราเห็นสัตว์เลื้อยคลาน เห็นกบ เราก็เห็นมันเป็นอาหาร ต่อไปเราอาจจะต้องเห็นมันเป็นเพื่อนร่วมโลกใบนี้จริง ๆ แล้วก็ทำยังไงจะให้ความสมดุลของสิ่งเหล่านี้มีอยู่ เพราะว่ามนุษย์เองก็เป็นสิ่งมีชีวิต ถ้าเกิดสิ่งมีชีวิตอันอื่นอยู่ไม่ได้ เราก็จะอยู่ได้ไม่นาน ผมคิดว่าตรงนี้คือกุญแจสำคัญของวิทยาศาสตร์พลเมือง” พิภพ พานิชภักดิ์ ย้ำถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์พลเมืองและความเชื่อมสัมพันธ์กับมนุษย์ ที่จำเป็นต้องมีการดูแล ฟื้นฟูและสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ต้องสร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ผ่านการฝึกเก็บหลักฐาน ฝึกเก็บข้อมูลเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่
การเรียนรู้ในลำน้ำน่านครั้งนี้ นอกจากสำรวจสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติที่มีความหลากหลาย ทั้ง บนดิน ในน้ำ และอากาศ ความเข้าใจข้อมูล บริบทพื้นที่และปัจจัยแวดล้อมยังมีผลต่อการสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลจากการบันทึกธรรมชาติ ซึ่งเครื่องมือหลัก ๆ ของนักสืบชาวค่ายที่ใช้ในการสำรวจธรรมชาติบริเวณลำน้ำน่านก็คือ “แว่นขยาย”และ “คู่มือสำรวจ” เพื่อบันทึกความหลากหลายทางชีวภาพที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
“เด็ก ๆ ได้ลงมือปฏิบัติสืบเสาะสัตว์น้ำที่่อาศัยอยู่บริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งกิจกรรมนี้เราจะเอาไปต่อยอดที่โรงเรียน” ศิริณภา ขันทะสีมา ครูโรงเรียนบ้านสบปืน ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เล่าถึงกิจกรรมนักสืบสายน้ำที่ได้รับความสนใจจากชาวค่ายจำนวนมาก แม้จะต้องลงสำรวจเดินลุยลำน้ำที่ไหลเย็นในช่วงที่อุณหภูมิลดต่ำลง แต่นั่นก็ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับทุกคน
“ซึ่งที่บริเวณโรงเรียนของเราจะมีแหล่งน้ำรอบ ๆ โรงเรียน เราจะพาเด็ก ๆ ที่ได้มาเข้าร่วมวันนี้ไปสืบเสาะกัน โดยนักเรียนที่มาวันนี้จะเป็นแกนนำในการนำกิจกรรม เด็ก ๆ ที่โน่นอาจจะมีการรักธรรมชาติมากขึ้น สำคัญถ้าสิ่งมีชีวิตในน้ำมันมันลดน้อยลงไปแสดงว่าธรรมชาติของเรา จะเริ่มเสื่อมโทรมลงไปเรื่อย ๆ ถ้าเรายังอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในน้ำมากขึ้น ธรรมชาติก็จะดีขึ้นไปเรื่อย ๆ” ศิริณภา ขันทะสีมา เล่าถึงแผนกิจกรรมในอนาคตที่จะนำกลับไปต่อยอดในโรงเรียนและชุมชน
“ผมคิดว่าการที่มีอาสาสมัครในพื้นที่มันจะส่งเสริมให้คนในพื้นที่มีความรู้มากขึ้น” อัษฎา อิสราพานิช (Atsada Israpanich) อาสาค่ายนักสืบธรรมชาติ หนึ่งในสมาชิกชาวค่ายที่มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงตลอดกระบวนเรียนรู้ เล่าถึงความคาดหวังให้เกิดการต่อยอดกิจกรรมในพื้นที่ต่อเนื่อง “เพราะว่าน่านเองเป็นเมืองที่จุดแหล่งของน้ำแล้วเมื่อมลพิษมันมาที่น่านมันก็จะกระจายเผยแพร่ไปกับคนอื่น ๆ ในหมู่บ้านอื่นๆ ต่างจังหวัดรวมไปถึงกรุงเทพ คิดว่าการที่ทุกคนมารวมอยู่ที่เดียวกันมาศึกษาเผยแพร่ความรู้มันจะเป็นผลกระทบที่ดีที่จะช่วยกันแก้ปัญหา”
นักสืบธรรมชาติ ณ ห้องเรียนแม่น้ำน่าน กับกิจกรรมการสร้างนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านการเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอีกห้องเรียนธรรมชาติที่กำลังถูกขับเคลื่อนด้วยพลังจากพลเมือง ซึ่งตั้งต้นจากเด็กนักเรียน คุณครู และคนในชุมชน ที่ต่างความสัมพันธ์เชื่อมโยง ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการช่วยกันเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ แหล่งน้ำ แหล่งอาอาหารและที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ที่ร่วมกันใช้ทรัพยากร และลงมือดูแลบ้านของพวกเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในบ้านของพวกเราร่วมกัน ณ ลำน้ำน่าน ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ที่แม้จะโคตรไกล…แต่ใจก็ไปถึง