เมื่อเกิดวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม ประชาชนทำอะไรบ้าง? พบ 4 มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ ชวนรู้จักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง

เมื่อเกิดวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม ประชาชนทำอะไรบ้าง? พบ 4 มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ ชวนรู้จักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง

เมื่อวันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีองค์กรเครือข่าย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.), สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส), คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี  ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มเรศวร ร่วมจัดวงเสวนาออนไลน์หัวข้อ วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (Citizen Science) กับการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยมีวิภาพร วัฒนวิทย์ ไทยพีบีเอส ดำเนินรายการ ผ่านเพจ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพจ นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)

เริ่มต้นเสวนาท่านแรกกับ ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคม สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มองทั้งเรื่องคนและเรื่องวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ สองอย่างนี้จะมาผนวกรวมกับการอธิบายเรื่องวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองอย่างไร

ผมตั้งหัวข้อว่า หมอก-ควัน-ฝุ่น-พิษ หลายสิบปีก่อนที่เรายังไม่รู้ว่ามันมีมลพิษทางอากาศ เราก็เห็นว่าไอ้ที่มันเป็นหมอก หรือว่าเมืองสามหมอก มันคืออะไร แต่พอเราเข้าใจมากขึ้นมันไม่ใช่แค่หมอกอย่างเดียว มันมีควันด้วย และมันมีฝุ่นด้วย และปัจจุบันที่เราตื่นตัวกันมากเพราะเรารู้ว่ามันมีพิษด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเรียกว่าวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง คือทำให้พลเมืองมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นว่าเรามีความรู้มากกว่าสิ่งที่เขาบอกให้เรารู้ได้ เขาหมายถึง ผู้มีอำนาจทั้งหลายตั้งแต่คนในวงการแพทย์

เมื่อก่อนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับวงการแพทย์จะรู้สึกว่าประชาชนไม่รู้อะไรหรอก จะต้องฟังหมอเท่านั้น แต่ ณ ปัจจุบัน เราจะเห็นว่าประชาชนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงจะสามารถทำให้ปัญหาสุขภาพถูกแก้ไขได้ เช่นกัน ผมตั้งโจทย์ไว้ว่าสุขภาพที่อ่อนแอ และสังคมที่เจ็บป่วย เพราะว่าถ้าเรามามองกันจริงๆ สุขภาพของเราแต่ละคนที่อ่อนแอมันเป็นปัญหาสังคมด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นที่ต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์ที่มีภาคพลเมืองเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่มีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือในการทำงานทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่มีส่วนร่วมในฐานะการสร้างความรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งนี้ผมในฐานะคนนึงที่เป็นแพทย์และเป็นราชการกระทรวงสาธารณสุข และได้มีโอกาสไปเรียนทางด้านมานุษยวิทยาเพื่อมองในมุมทางด้านสังคมก็ได้มาร่วมกับเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย เราทำในเรื่องความรู้และสร้างความรู้จากภาคประชาชนด้วยเพื่อจะผลักดันการเปลี่ยนแปลง

เมื่อเริ่มมองในเรื่องของวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องเริ่มต้นก่อนก็คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนที่กำลังจะเผชิญกับปัญหานั้นเกิดความเข้าใจและมั่นใจมากขึ้นว่า เขาจะสามารถจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เขาสามารถรับรู้ได้ว่า สิ่งที่มันเกิดขึ้นคืออะไรมันสร้างผลกระทบกับเขาอย่างไร สิ่งแรกคือจะต้องสร้างความเข้าใจเรื่องของสุขภาพก่อน เพราะฉะนั้นในส่วนที่สุขภาพกับสังคมจะเชื่อมโยงกันได้ ต้องเริ่มจากความเข้าใจด้านสุขภาพที่ชัดเจนก่อนจะทำให้ผู้คนตื่นตัวมากขึ้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วม

การที่คนตื่นตัวกับ PM 2.5 มากขึ้นเป็นเพราะว่าเขาเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นแล้วเห็นผลกระทบมัน ข้อมูลที่ผู้คนทั้งหลายพยายามจะพูดพยายามจะบอกกัน

“สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง คือเข้าใจได้ มองเห็นได้ รู้สึกได้”

เพราะฉะนั้นทำไมเราถึงต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจเรื่องนี้ก่อน เพราะความเข้าใจเรื่องนี้จะเป็นพื้นฐานต่อไปที่ทำให้เกิดความตื่นรู้ เกิดความตระหนักว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมันใกล้ตัวมาก

ความเข้าใจเรื่องสุขภาพที่เชื่อมโยงกับสังคมมันทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของคำว่าพลเมือง เพราะคำว่าพลเมือง หมายถึงเราไม่ได้อยู่คนเดียว ไม่ได้อยู่เดี่ยว ๆ แต่เรามาร่วมกันเพื่อเข้าใจมันในภาพที่ใหญ่ขึ้น อย่างการเคลื่อนไหวในเรื่องวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองในต่างประเทศ สิ่งที่เห็นคือ เขาจะมีพื้นที่มีแพลตฟอร์มหรือมีเว็บไซต์ หรือแอพลิเคชันที่ให้คนหลาย ๆ คนเข้ามาช่วยให้ข้อมูลช่วยกันเติมข้อมูลของตัวเอง และเอาข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลเป็นภาพรวมที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งตรงนี้ภาพที่ใหญ่ขึ้นในเรื่องมลพิษทางอากาศมันต้องมองภาพที่ใหญ่มากกว่าระดับของประเทศหนึ่งประเทศ

เพราะฉะนั้นวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง กับการเคลื่อนไหวภาคประชาชนหรือการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมจึงแยกขาดจากกันไม่ได้ ส่วนหนึ่งที่เราเข้าใจเรื่อง PM 2.5 มากขึ้น เนื่องจากมีการทำข้อมูลในลักษณะของวิทยาศาสตร์พลเมืองจากพื้นที่ทั่วโลกในหลายประเทศที่เขาตื่นตัว ในประเทศแรก ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา ที่เขาตื่นตัวมาตั้งแต่มลพิษในดินในน้ำ ตั้งแต่ช่วงปี 1970 เกิดกฎหมายอากาศสะอาดในประเทศของเขา ทำให้เขามีเครือข่ายพลเมืองเฝ้าติดตามมลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลความรู้เหล่านั้นก็เกิดกระจัดกระจายไปทั่ว

อย่างในสหพันธรัฐประชาชนจีนช่วงที่ผ่านมา ภาคประชาชนเขาก็ตื่นตัวร่วมกันติดตามปัญหาคุณภาพอากาศ เกิดเครือข่ายเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศและมีภาคประชาชน ภาคเอกชนไปพัฒนาอย่างเช่นที่เรารู้จักกันอย่าง Air Visual ก็เป็นภาคธุรกิจที่เห็นความตื่นตัวของประชาชนเป็นโอกาสทางธุรกิจเข้ามาเสริมด้วย เพราะฉะนั้นส่วนเหล่านี้ทำให้สิ่งที่เราเรียกว่าวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองเกิดขึ้น จนเกิดแรงผลักดันจนเกิดความเปลี่ยนแปลงความเคลื่อนไหวในระดับโลก กลายเป็นนโยบายองค์กรระหว่างประเทศที่ผลักดันเรื่องการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ

สิ่งที่เครือข่ายอากาศสะอาดทำในช่วงสองปีที่ผ่านมา ด้วยแนวคิดนี้เราต้องการจะในคนเริ่มจากความเข้าใจก่อนว่าประเด็นพื้นฐานในเรื่องของมลพิษทางอากาศมีอะไรบ้าง สิ่งที่ทำในเบื้องต้น ตั้งแต่ปี 2561 คือเราก็ได้ร่วมกันเขียนสิ่งนึงออกมาเรียกว่าสมุดปกขาวอากาศสะอาด เพื่อให้เข้าใจประเด็น 9 พื้นฐานที่เราจะแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในประเทศไทยได้

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ความเห็นต่อว่า วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง เรียกได้หลายแบบอย่าง วิทยาศาสตร์ชุมชน หรือว่าการตรวจสอบโดยชุมชน การตรวจสอบโดยอาสาสมัคร การตรวจส่วนแบบมีส่วนร่วม และการวิจัยแบบมีส่วนร่วม  อันนี้ก็จะเป็นหลากหลายคำเรียกในการทำงานในเชิงนี้

ถ้าย้อนกลับมาดูของประเทศไทย ต้องยอมรับว่าทางมูลนิธิโลกสีเขียว ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ช่วงปี 2542-2543 ทาง ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือพี่อ้อย ได้มีการริเริ่มโครงการที่เรียกว่า นักสืบสายน้ำ เป็นงานวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง แต่ช่วงนั้นจะเรียกว่า สิ่งแวดล้อมศึกษา ในขณะที่การทำงานของภาคประชาชนหลายองค์กรจะทำงานเชิงวิจัยแบบมีส่วนร่วมคือ เข้าไปทำงานกับชุมชนในพื้นที่ที่เข้าเดือดร้อนหรือว่ามีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจากเขื่อน ป่าไม้ หรือว่าเรื่องอื่นๆ ก็ตาม

มูลนิธิโลกสีเขียวก็บุกเบิกเรื่องนี้ และต่อมาก็มีเรื่องนักสืบสายลม นักสืบสายน้ำ ก็จะทำงานกับโครงข่ายของโรงเรียนทางภาคเหนือ ถ้าเป็นของต่างประเทศที่เราตามอยู่จะเป็นคู่มือของวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองของประเทศอังกฤษ ก็จะมีลำดับขั้นตอนเป็น Flowchart การเริ่มต้นทำงานทางแนวนี้ มันต้องเริ่มจากปัญหาไปจนกระทั่งการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การผลักดันเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือว่าบรรลุเป้าหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมหรือว่าความหลากหลายทางธรรมชาติ หรือว่าการทำงานด้านสุขภาพทางสังคมต่าง ๆ

ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีการทำงานที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองมากขึ้นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษา กับประชาสังคม และการต่อสู้กับปัญหามลพิษ ส่วนของเราจะริเริ่มมาช่วงแรก ๆ เราจะได้รับทุนสนับสนุนจากญี่ปุ่นในการพัฒนาแนวทางนี้ขึ้นมาและขยายต่อมากระทั่งทำงานกันจนปัจจุบันนี้

สิ่งที่เราสนใจมาก ๆ เลย คือแนวความคิดเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง เราศึกษาแนวความคิดญี่ปุ่นที่ทำไมเขาถึงได้ริเริ่มวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองขึ้นมา เนื่องจากญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีปัญหามลพิษหนักมาก และรัฐเองก็มีการปกปิดข้อมูล การหลีกเลี่ยงการให้ข้อเท็จจริงกับชาวบ้านกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ  แต่ว่าการลุกขึ้นมาต่อสู้ของประชาชนโดยเฉพาะการสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ นักกฎหมายต่าง ๆ ครู อาจารย์และก็สื่อต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ทำให้การต่อสู้กับปัญหามลพิษของญี่ปุ่นนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาจนกระทั่งปัญหามันได้รับการแก้ไขไปเยอะมากในปัจจุบัน

ทีนี้ส่วนที่เราเอากลับมาทำงานในเมืองไทยแรก ๆ เราจะทำงานเกี่ยวกับปัญหามลพิษอุตสาหกรรมพื้นที่จังหวัดระยอง

“การปกปิดข้อมูลเป็นตัวกระตุ้นทำให้เราพยายามต่อสู้ว่า ตกลงข้อเท็จจริงมันคืออะไร เราต้องพยายามหาคำตอบให้กับชาวบ้าน”

โดยเฉพาะชาวบ้านถามกันเยอะมาก กลิ่นเหม็นในอากาศที่เขาได้กลิ่น เช่น กลิ่นฝรั่งสุก กลิ่นละมุดหรือกลิ่นหอมเอียนต่าง ๆ มันจะเป็นอันตรายไหม คำถามเหล่านี้เขาไม่ได้ถามเฉพาะกับเรา ก่อนหน้านี้เขาถามกับนายกรัฐมนตรี เขาถามกับรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ถามกับ ส.ส. ถามกับนักวิจัยอาจารย์ต่าง ๆ รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่ว่าเขาไม่ได้รับคำตอบ การไม่ได้รับคำตอบมันทำให้เขาต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมลำบาก และก็เกิดความโกรธ คับแค้น ขุ่นเคืองขึ้นมาเป็นลำดับ กลายเป็นความขัดแย้งในพื้นที่ที่แรงพอสมควร

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราพยายามตรงนี้ เราก็พยายามหาคำตอบให้กับภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อมของพื้นที่โดยเฉพาะที่จังหวัดระยอง และสิ่งที่เราพยายามหาคำตอบได้นั่น เราต้องมั่นใจว่าคำตอบนั้นจะต้องสามารถโต้แย้ง คัดค้าน กับชุดข้อมูลและคำอธิบายที่ทางรัฐ หรือว่าทางโรงงานบอกชุมชนเพียงเศษเสี้ยวเดียว

กระบวนการทำงานของเราต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน มีการค้นคว้าหาข้อมูล พิสูจน์ความจริงและเอาความจริงเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นความรู้ร่วมกัน ระหว่างประชาชนนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เพื่อให้เกิดชุดข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นข้อมูลที่รัฐไม่อาจปฏิเสธได้ด้วย

การที่เราต้องใช้แนวคิดวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมันเกี่ยวข้องกับเรื่องสารมลพิษ เกี่ยวข้องกับสารเคมี และพิษภัยที่มันแฝงเร้นอยู่ในสิ่งแวด้ลอม และสิ่งที่มันแฝงเร้นอยู่ในสิ่งแวดล้อมมันสะสมมันไม่ได้หายไปง่าย ๆ  มันสะสมมันตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม และมันสามารถสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหารที่ย้อนกลับมาสู่การบริโภคอาหารกับคนได้ และสิ่งเหล่านี้มันอันตรายมาก ๆ ถ้าเราไม่หาทางแก้ไข ความเสียหายมันอาจจะบานปลายเป็นปัญหาที่ใหญ่มากและกลายเป็นโศกนาฏกรรมได้ เหมือนอย่างโรคมินามาตะ แคดเมียม หรือฝุ่น เหล่านี้มันคือพิษภัยที่มองด้วยตาไม่เห็นแต่อันตรายมาก ๆ และบั่นทอนสุขภาพคนในสังคม

ฉะนั้นการพิสูจน์ว่า สารพิษมันอยู่ในสิ่งแวดล้อมจริง มันอยู่ในร่างกายคนเราจริง อยู่ในอาหารจริง  มันต้องการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาตร์ต่าง ๆ หรือความรู้ทางเทคนิคมาพิสูจน์ นอกจากการพิสูจน์ว่ามันมีอยู่จริง มันยังต้องทำต่อด้วยว่ามันอันตรายจริงด้วย มันเลยต้องการกระบวนการทำงาน และต้องการชุดองค์ความรู้ที่มาสนับสนุนเยอะทีเดียวและใช้งบประมาณที่สูง

การใช้ประโยชน์ช่วงที่ผ่านมาของเรา ตั้งแต่ปี 2541-2543 เราเริ่มคิดหาทางที่ต้องช่วยชาวบ้านหาคำตอบ หาความจริงว่าต้องลงมลพิษทางอากาศมันคืออะไรมันอันตรายไหม ต้องยอมรับว่าการปกปิดข้อมูลของรัฐ ของนิคมอุตสาหกรรม ของรัฐส่วนกลางก็ดี ในพื้นที่มาบตาพุด มันเป็นแรงกระตุ้นเรามากว่าเราต้องหาคำตอบให้ได้ เพราะฉะนั้นในช่วงแรกเราต้องหาคำตอบว่ากินกลิ่นเหม็นนั้นมันคืออะไร ซึ่งสุดท้ายเราก็พบว่ามันคือ VOCs (สารอินทรีย์ระเหยง่าย) จริง ๆ ก่อนหน้านั้น ชาวบ้านมีการประท้วง เผาหุ่นเยอะมาก แต่สิ่งที่ชาวได้รับคือการหลีกเลี่ยงการให้ความจริง  หรือว่าการบอกความจริงเพียงเล็กน้อย หลังจากที่เราเก็บตัวอย่างและเราพิสูจน์ได้ว่า อากาศที่มีกลิ่นเหม็นนั้นคือมันการสะสมของสาร VOCs ในปริมาณ ที่มันสูงมาก ๆ สูงเกินค่าเฝ้าระวังของอเมริกา และมีการจัดแถลงข่าวมีผลกระทบหนักมาก ทำให้หน่วยงานภาครัฐทั้งหมดที่เกี่ยวข้องปฏิเสธไม่ได้ต้องยอมรับข้อเท็จจริงอันนี้ ทำให้นำไปสู่การพัฒนาค่ามาตรฐานในการเฝ้าระวังสารอินทรีย์ระเหยง่ายในอากาศในพื้นที่มาบตาพุด และอีกหลายพื้นที่ในต่างจังหวัด เป็นครั้งแรกในปี 2550

พิภพ พานิชภักดิ์ ในฐานะสื่อมวลชนอิสระ บอกว่า ในการเดินทางเป็นนักข่าว สายความทุกข์ของประชาชน ตรงไหนมีปัญหาที่ชาวบ้านรู้สึกว่ามันมีความทุกข์เราก็จะพุ่งไปตรงนั้นและฝังตัว ทำงานในแบบที่เรียกว่านักข่าวสะพานเป้ หรือ Backpack journalist ที่แรกๆ คุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ทำให้เราได้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่างที่ทำให้เราเริ่มสะกิดถึงวิธีคิดเกี่ยวกับงานข่าว ว่าข่าวมันคืออะไร ข่าวในอดีตมันเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจ แต่เรากลับรู้สึกว่าประชาชน ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกนโยบายมากมายลงมาสู่เขากลับมีส่วนร่วมน้อยมากทั้งที่เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตยก็ตาม

พื้นที่ที่เข้าไปทำงานขัดแย้งหนัก ๆ เลย คือ บ่อนอก ที่มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตัวอ่าวไทย แต่เราเห็นนักวิทยาศาตร์ในรุ่นนั้น อย่างคุณกระรอกและภรรยา เป็นพ่อค้าแม่ค้าขายสับปะรด

“เขาเดินทางไปแม่เมาะ เพราะเขาอยากรู้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมันเป็นอย่างไรที่จะมาที่บ้านเรา และเขาก็ไปเห็นเด็กน้อยที่มีเขม่าอยู่ในรู้จมูก แล้วเขาเข้าไปตัวอำเภอลำปางไปซื้อกล้องวิดีโอ แล้วเขากลับเข้าไปในพื้นที่ถ่ายภาพมาให้เห็น เสร็จแล้วนำมาฉายในวัดสี่แยกบ่อนอก เอาประชาชนในพื้นที่มาร่วมรับรู้”

และจากจุดนั้นก็สร้างองค์ความรู้ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ทางเลือก คนที่เห็นอกเห็นใจ มีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาช่วยทำงานร่วมกันจนเป็นตำนาน

ผมเองพอนั่งสังเกตการณ์ตรงนั้นเลยคิดว่าจริง ๆ ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในส่วนกลางแน่นอน ความรู้ไม่ได้อยู่ในรอบรั้วมหาวิทยาลัย หรือนักวิทยาศาสตร์ดีกรีสูง ๆ แต่ความรู้อยู่ในตัวประชาชน จากจุดนั้นก็มองว่าประชาชนต้องมีเครื่องมือในการเล่าเรื่อง เราใช้คำว่าการทำสื่อให้เป็นประชาธิปไตย และ ณ จุดนั้นคำว่า นักข่าวพลเมืองมันก็อยู่ในหัวใจของพวกเราหลายคนเลย ตอนนั้นเป็นยุคก่อนที่มีไทยพีบีเอสด้วยซ้ำ  

อีกท่านที่ผมอยากใช้เวลาเล่าก็คือ ท่านสุจริต ชิรเวทย์ เป็นอีกคนที่ชวนผมคิดเรื่องความรู้ที่อยู่ในตัวประชาชน มีอยู่แล้วแต่มันไม่ถูกจัดเรียง คุณสุจริต มีความรู้เรื่องนิเวศสัตว์น้ำในพื้นที่สมุทรสงคราม แต่สมัยก่อนเวลาเราพูดถึงคำว่านิเวศสามน้ำจะไม่มีใครเข้าใจ กรมเจ้าท่าก็จะดูน้ำท่า กรมประมงก็จะดูน้ำทะเล และน้ำกร่อยของผมมันอยู่ตรงไหน น้ำกร่อย คือน้ำที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ในเชิงนิเวศวิทยา คุณสุจริต บอกให้ผมลองไปหาสิ่งที่ชาวบ้านรู้ และนักวิทยาศาสตร์ไม่รู้และรัฐไม่รู้ และกฎหมายไม่กำหนด เพราะมันมีพื้นที่ที่กฎหมายมันเข้าไปไม่ถึงเพราะความรู้มันไปไม่ถึง ความหมายไปไม่ถึง พอสามสิ่งมันไม่ถึงเราก็เกิดสูญญากาศ ใครจะทำอะไรก็ได้ จริง ๆ ถ้าไปดูที่แม่น้ำโขงจะเห็นชัดเป็นพื้นที่ที่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังอธิบายไม่ได้

“คก” คือพื้นที่ทางนิเวศ มีลักษณะเฉพาะมากในแม่น้ำโขง เวลามีการพัฒนาเช่นการสร้างตลิ่งแข็งก็ไม่ได้มองถึงระบบนิเวศตรงนั้น เพราะว่ามันไม่ได้มีอยู่จริง ไม่ได้มีอยู่ในตำรา แต่ชาวบ้านรู้ได้อย่างดี

พอเห็นเรื่องเหล่านี้ ผมก็ใช้ชีวิตส่วนหลัง ๆ ทำการอบรม MOJO MOVEMENT คือการใช้มือถือในการเล่าเรื่องเพราะผมเชื่อว่าชาวบ้านจะเป็นยิ่งกว่ากล้องวงจรปิด เพราะว่าเขามีสมอง มีบทวิเคราะห์และเขาจะใช้เครื่องมือมือถือเข้าไป แต่แน่นอนการเข้าไปแบบคนเดียวมันเป็นไปไม่ได้ ตอนนั้นก็ทำการอบรมกับเครือข่ายของอ.สมนึก จงมีวศิน เครือข่ายภาคตะวันออก ปรากฎเขาทำและเขาเอาแผนที่มาทำการปักหมุดเส้นทาง ตอนนั้นคือแม่น้ำ ซึ่งมีข่าวรือว่ามีการทำเหมืองทองคำตอนบน เลยมานั่งทำการสำรวจธรรมชาติ ตรงนี้เป็นจุดที่ผมตื่นรู้เลยว่าท้ายที่สุดมันไม่ใช่แค่นักข่าวพลเมืองเท่านั้นมันต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองที่จะทำแล้วจะทำที่ไหน

พอดีได้มามีตำแหน่งอยู่ที่ไทยบีพีเอส เป็นรองผู้อำนวยการ ได้มาเจอกับคนที่มาคิดในแนวทำนองเดียวกัน ตอนนั้นเรียกว่าสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ เขาก็ทำสิ่งที่เรียกว่า C-Site เป็นพื้นที่ที่เราสามารถปักหมุดสื่อสารเรื่องราว ยุคที่ผมอยู่ไทยพีบีเอสเขาจะปักหมุดสำคัญ ๆ เรื่องของยางนาในภาคเหนือ  และอีกอันนึงคือแนวตลิ่งที่ถูกก่อสร้าง สร้างผลกระทบต่อระบนิเวศชายฝั่ง ก็ทำการปักหมุดและสร้างเรื่องราว สิ่งที่สำคัญของ C-Site นอกจากสร้างปัญญารวมหมู่ มันยังถูกรายงานบนหน้าจอ เล่าเรื่องประชาชน ผมว่าตรงนี้สำคัญเพราะว่าองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์หลายอย่างมันติดอยู่บนหิ้ง หรือมันติดอยู่ในห้องทดลอง หรือมันติดอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่ง ทำอย่างไรให้มันไหลเวียนออกมาสู่ความรับรู้ของประชาชนในวงกว้าง เพราะผมคิดว่าสื่อเองต้องทบทวนว่าอะไรคือข่าว เราจะทำแค่ข่าวรัฐมนตรีอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องเอาองค์ความรู้เหล่านี้เข้ามาเป็นเนื้อหาก็หวังว่าไทยพีบีเอสจะทำต่อและทำอย่างเข้มข้น

นอกจากบทบาทนักข่าว ผมยังทำโฮมสคูลทำบ้านเรียน  เราได้เรียนรู้อีกอย่างว่า การจัดการศึกษาโดยใช้ธรรมชาติเป็นครู เด็กชอบมาก และโรงเรียนจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน และทุกคนก็มีความกังวล เพราะตอนนี้น้อง ๆ ใช้มือถือไปในทางอื่น เช่น ติดเกม แต่ต่อไปเขาจะติดธรรมชาติถ้าเราทำสำเร็จ เพราะปัจจุบันมีแอปพลิเคชันหลายตัวที่สนุกมากมายอย่าง eBird ซึ่งถ้าเราเชื่อมตัวนี้กับ C-Site ของไทยแท้จะนำสู่การขับเคลื่อนท้องถิ่นและภาคนโยบาย

วิทยาศาสตร์พลเมือง มันต้องมี Mindset ของนักวิทยาศาสตร์เอง เพราะหลาย ๆ ส่วนนักวิทยาศาตร์เองก็ไม่พร้อมจะเปิด ฉะนั้น Mindset ที่จะร่วมทำงานกับประชาชน และประชาชนไม่ใช่แค่มาเป็นแรงงานเก็บข้อมูลอันนี้ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์พลเมือง เขาต้องร่วมออกแบบตั้งคำถามวิจัยเลยด้วย ออกแบบกระบวนการการวิจัย วิเคราะห์ผลที่จะได้มาซึ่งตรงนี้ ผลประโยชน์ร่วมแน่นอน   

ด้านนักวิชาการภารินี หงษ์สุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า ในแง่มุมของวิชาการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองมีแนวคิดและวิธีการอย่างไรบ้าง ก่อนที่เราจะเข้าใจคำว่าวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง เราต้องเข้าใจคำว่า วิทยาศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองก่อน ประวัติความเป็นมา แบ่งเป็นออกเป็นสามยุคด้วยกัน  

ตั้งแต่ยุคแรกเลยที่เราไม่รู้จักคำว่าวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จะเป็นการศึกษาปรากฎการณ์ทางธรรมชาติรอบตัวเราโดยคนที่เขามีความสนใจหรือเขาจะเรียกว่านักวิทยาศาสตร์มือสมัครเล่น เชื่อว่าในที่นี่หลายท่านคงได้ยินชื่อของชาลส์ ดาร์วิน ที่เขาทำการสำรวจของต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิตและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต จริง ๆ ชาลส์ ดาร์วิน ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์เขาเป็นนักสำสวจ เขาล่องเรือไปกับเรือบีเกอร์ เพื่อที่เขาจะศึกษาธรรมชาติศึกษาสิ่งมีชีวิต ไปป่าอเมซอน ไปหมู่เกาะแปซิฟิค เพื่อจะสำรวจธรรมศาสตร์และสิ่งมีชีวิตว่ามันเป็นอย่างไร และก็เผยแพร่เรื่องราวเหล่านี้ให้โลกได้รับทราบ อันนี้ก็จะเป็นยุคแรกของนักวิทยาศาสตร์

ยุคที่สองวิทยาศาสตร์จะเริ่มจำกัดอยู่ในโรงเรียนมากขึ้น เริ่มมีการศึกษาวิทยาศาสตร์ เริ่มมีการศึกษาฟิสิกส์ เคมี ชีวะที่เราได้เรียนกัน ยุคสองก็จะเริ่มมีนักคิดนักประดิษฐ์ นักคิดค้นต่าง ๆ มากมายเป็นยุคที่มีการคิดค้นยารักษาโรคมีการคิดค้นประดิษฐ์อุปกรณ์ต่าง ๆ ยุคนี้วิทยาศาสตร์จะเริ่มเป็นวิทยาศาสตร์ที่ตอบสนองความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เช่น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการใช้วิทยาศาสตร์คิดค้นเอาอาวุธนิวเคลียร์ที่ไปทิ้งระเบิดที่ญี่ปุ่น หลังจากนั้นมันก่อให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพของมนุษย์มันเลยทำให้มีกลุ่มคนรู้ว่าวิทยาศาสตร์จะมาทำโดยไม่คำนึงถึงสังคม ไม่คำนึงถึงประชาชนไม่ได้

เลยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาในยุคที่สาม เป็นยุคที่วิทยาศาสตร์มันเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น วิทยาศาสตร์ในยุคนี้เริ่มเปิดความกว้างคำนึงถึงสังคมมากขึ้น เนื่องจากในท้ายของยุคที่สองมันเป็นยุคเฟื่องฟูของแนวคิดเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิชุมชน เรื่องของสิทธิทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้ยุคที่ว่ามันเกิดคำที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองหรือว่า Citizen Science ขึ้นมา ซึ่งมันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนจะสามารถเรียนรู้ได้ง่าย ๆ  

วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง คืออะไร ดูจากในรูปนักวิทยาศาสตร์เขาพายเรือมามีไม้พายอันเดียว แต่ประชาชนที่อยู่บนฝั่งเขามีไม้พายอยู่หลายอัน ซึ่งตรงนี้เขาพร้อมที่จะช่วยนักวิทยาศาสตร์ เพื่อให้พายเรือขึ้นไปถึงฝั่งได้ เพราะฉะนั้นวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง มันหมายถึงวิทยาศาสตร์กับประชาชนมีส่วนร่วมกันในการดำเนินการแก้ไขปัญหาอะไรสักอย่าง ซึ่งการมีส่วนร่วมนั้น ต้องเป็นลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผลในเชิงวิทยาศาสตร์ คำว่าเป็นเหตุเป็นผลในเชิงวิทยาศาสตร์ง่าย ๆ ดูในการ์ตูนข้างล่าง เราจะเห็นคนที่สะพานเป้สีแดง เขามีจุดเริ่มต้นที่จะเรียนวิทยาศาสตร์ คือเขาสังเกตเห็นว่าในพื้นที่ของเขามันมีการตัดไม้ทำลายป่าเป็นจำนวนมาก แต่เขาไม่รู้ว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าอยู่ตรงไหนบ้าง เขาก็เริ่มเอาโทรศัพท์มือถือมาบันทึกข้อมูลว่ามีจุดไหนที่ต้นไม้หายไปบ้าง พอเขาตั้งคำถามตรงนี้และส่งข้อมูลไปให้นักวิทยาศาสตร์ที่นั่งอยู่หน้าคอมพิเวเตอร์ช่วยวิเคราะห์ช่วยวาดแผนที่ ว่ามันมีต้นไม้ตรงไหนที่มันหายไปจากนั้น นักวิทยาศาสตร์กับประชาชน เขาก็จะร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหา ด้วยการปลูกต้นไม้พอปลูกต้นเสร็จเขาก็มาศึกษาร่วมกัน ว่าจากที่เขาปลูกต้นไม้มันเกิดประโยชน์อะไรบ้าง เช่น ทำให้เกิดพื้นที่สีเขียว ลดภาวะโลกร้อนไหม อันนี้คือหลักการง่ายของวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง คือการมีส่วนร่วมการแก้ไขปัญหา หรือการสร้างองค์ความรู้เพื่อการแก้ไขปัญหาสักอย่างนึงอย่างเป็นขั้นตอนเป็นกระบวนการอย่างเป็นเหตุเป็นผล

สำหรับลักษณะของวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองมีการแบ่งประเภทอยู่หลายแบบ ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ในการแบ่ง วิธีการแบ่งประเภทแรก คือแบ่งตามกิจกรรมการมีส่วนร่วม สามารถแบ่งได้ สามประเภท

ประเภทแรก วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือลักษณะสนับสนุน คือประชาชนมีหน้าที่สนับสนุน เป็นคนคีร์ข้อมูล กรอกข้อมูล เป็นคนแทรคกิ้งข้อมูลในแอพลิเคชันต่างๆ ในการให้ข้อมูล

ประเภทสองลักษณะความร่วมมือ ประเภทนี้ประชาชนเริ่มมีส่วนร่วมมากกว่าการกรอกข้อมูล ประชาชนอาจจะมีส่วนร่วมในการกำหนดปัญหามีส่วนร่วมในการออกแบบวิธีการการแก้ไขปัญหา

ประเภทสามคือประเภทที่เข้มข้มขึ้นมา คือประชาชนเริ่มมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน คือตั้งแต่ขั้นตอนกำหนดปัญหาไปจนถึงขั้นตอนสรุปผล และเผยแพร่ข้อมูล

การแบ่งประเภทของวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองสามารถแบ่งได้อีกลักษณะนึง คือแบ่งตามจุดเน้นของการดำเนินงาน ประเภทแรกเขาแบ่งตาม วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง ประเภทที่ใช้เวลาการศึกษาระยะยาว ส่วนใหญ่โครงการเหล่านี้จะเป็นโครงการอนุรักษ์ โครงการในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น โครงการในลักษณะ eBird เพราะโครงการนี้เป็นโครงการแรกของวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองที่เกิดขึ้นที่มีการตีพิมพ์ในโลกของเรา และมันมีเกิดขึ้นในฝั่งของยุโรป ซึ่งเขาทำจากแถบยุโรปและเขาค่อยขยายมาในทวีปอื่น ๆ เพื่อให้คนที่มีความสนใจในการศึกษาเรื่องของนก ได้มีการถ่ายภาพนกเข้ามาในแอปพลิเคชัน และมาร่วมกันแชร์และร่วมกันแลกเปลี่ยนจนเกิดการนำเอาข้อมูลเกี่ยวกับนก ว่ามีสายพันธุ์ไหนบ้างมาสร้างการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาเพื่อการอนุรักษ์เรื่องของนก

นอกจากนี้มันยังมีวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์อีกหลายโครงการที่เกิดขึ้นในต่าง ๆ ประเทศและทำต่อในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอนุรักษ์เต่าทะเล หรือการสำรวจปลาฉลาม หรือโครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองที่สร้างความตระหนักตั้งแต่เป็นเยาวชน เช่น ม.เกษตร เขามีการเข้าไปสร้างโครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองให้กับเยาวชนด้วยการอนุรักษ์ทรัพย์กรธรรมชาติ ซึ่งโครงการระยะยาวเหล่านี้มันจะเป็นโครงการสิ่งมีชีวิตที่ต้องศึกษาตั้งแต่เกิดจนตาย

โครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองอีกสองประเภท คือโครงการที่เน้นในเรื่องของอุปกรณ์ ใช้เซ็นเซอร์ใช้เทคโนโลยีในการตรวจวัดตรวจจับหาค่าความเข้มข้นของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และโครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง ที่เน้นเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เขาจะเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดปัญหาในการรวบรวมข้อมูล อย่างเช่นใช้โทรศัพท์มือถือแอพลิเคชันในการตรวจจับความดังของเสียงในชุมชนรอบสนามบินเพื่อจะดูเสียงมันมีปริมาณที่จะก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเดือดร้อนของคนที่อยู่รอบสนามบินไหม หรือลักษณะภัยพิบัติ

อยากยกตัวอย่างโครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองที่น่าสนใจ D-NOSES Program เขาทำในเขตแถบยุโรป 9 ประเทศ เขาสร้างเครือข่ายพลเมืองในการติดตามเฝ้าระวังเรื่องกลิ่น เนื่องจากเขาค้นพบว่ามันมีปัญหาว่าปัจจุบันนี้มันยังไม่กฎหมายที่จะจัดการเกี่ยวกับเรื่องกลิ่น ซึ่งกลิ่นมันมีต้นกำเนิดมาจากหลายแห่ง ไม่ว่าจะเรื่องการใช้ยนต์ยานพาหะนะ หรือโรงงานอุตสาหกรรมจากการเผาไหม้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เขาร่วมกันมากำหนดปัญหาตรงนี้ระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับประชาชนและมาวิเคราะห์ว่าใครมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้บ้าง จากนั้นก็มากำหนดในเรื่องของแนวทางเรื่องของการออกแบบการศึกษาและมาทำการรวบรวมข้อมูล ซึ่งการรวบรวมข้อมูลตรงนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็จะมีส่วนช่วยในการออกแบบแอพลิเคชัน เพื่อมาInput ข้อมูลในมือถือเพื่อให้ประชาชนเก็บข้อมูล โดยเก็บข้อมูลในเรื่องความเข้มข้นของกลิ่น ระยะเวลา ข้อมูลผลกระทบสุขภาพ และผลกระทบความเดือดร้อนสุขภาพชีวิตต่าง ๆ ที่ประชาชนได้รับ หลังจากเก็บเสร็จเขาก็มาวิเคราะห์ข้อมูลรวมกันและกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาจนนำไปสู่การนำแสดงข้อมูลที่เกิดการเชื่อมโยง

จากกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกันเหล่านี้เขามาการพัฒนาทักษะในการเก็บข้อมูล เก็บตัวอย่างในการวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้เขามีทักษะความรู้ สามารถที่จะจัดการปัญหาในชุมชนของเขาเองได้ทำให้ชุมชนมีความแข็งเข้มในที่สุด

หลักการของวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง 10 ข้อแต่ไม่จำเป็นต้องทำให้ได้ 10 ข้อ แบ่งเป็น สี่หัวข้อใหญ่ๆ อย่างแรกวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของพลเมืองและนักวิทยาศาสตร์ สองวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง ข้อมูลที่ได้ต้องเป็นข้อมูลที่มีมาตรฐานตามหลักวิชาการมีการเก็บข้อมูลที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล และข้อมูลเหล่านี้ต้องคำนึงถึงประเด็นกฎหมาย จริยธรรม ข้อมูลส่วนบุคคล

วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง ต้องก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งนักวิทยาศาตร์และพลเมือง

วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง จะต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลสองส่วน คือหนึ่งต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลแบบเรียลทาม หลังจากสิ้นสุดโครงการจะต้องมีการเผยแพร่โครงการให้กับชุมชนและประชาชนทั่วไป

สิ่งที่จะทำให้วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง สำเร็จได้คือการสร้างเครือข่าย คือการหาคนที่มีจิตสาธารณะ จิตอาสาเพื่อมาพัฒนาศักยภาพรวมกัน ในการที่จะจัดการแก้ไขปัญหาอะไรสักอย่างนึง จนเขาเกิดความ และพัฒนาทักษะให้เกิดแนวคิดของตนเองได้

การทำให้ต่อเนื่องเป็นความท้าทายของโครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง หลายโครงการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนเช่น อบรมมาตอนแรก ตอนหลังไม่มีคนมาอบรม เราจะมีวิธีการให้คนมาอบรมได้อย่างไร เช่น มีเกมมิ่ง หรือ แอพลิเคชันที่น่าสนใจไหม หรือการจัดอบรมมีช่วงเวลาที่ไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป

สุดท้ายข้อมูลของโครงการต้องมีความน่าเชื่อถือต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล และข้อมูลต้องตอบสนองกับบริบทชุมชน

ชวนฟังวงเสวนาออนไลน์ย้อนหลัง วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง หรือ Citizen Science คืออะไร ประชาชนนำมาใช้ในการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้อย่างไร มีใครเคยทำ ที่ไหน มาแล้วบ้าง

ภาพปกบทความ : https://citizenscience.no/social-aspects-of-citizen-science/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ