เสวนา : อนาคต ‘คน ช้าง ป่า’ ภาคตะวันออก

เสวนา : อนาคต ‘คน ช้าง ป่า’ ภาคตะวันออก

ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อกันมานาน แต่นับวันปัญหาที่มียิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเมื่อป่าธรรมชาติที่เคยเป็นบ้านของช้าง ไม่เพียงพอต่อการรองรับจำนวนประชากรและความเป็นอยู่ให้กับช้างอีกต่อไป ทำให้ช้างเริ่มเป็นทิศในการหาแหล่งอาหาร และแหล่งที่อยู่ใหม่ ด้วยการยอมเสี่ยงชีวิต ออกมาเผชิญหน้ากับมนุษย์ จนเกิดเป็นความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตของผู้คน กับตัวช้างป่าเอง

เมื่อชีวิตต้องแลกกับชีวิต โดยที่ยังไม่มีทางออก วันนี้รายการฟังเสียงประเทศไทยจึงเดินทางไปยัง จ. ฉะเชิงเทรา บริเวณพื้นที่เขตป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก ที่กำลังเกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าอย่างรุนแรง จนทำให้ในพื้นที่ภาคตะวันออก มีผู้เสียชีวิตจากการถูกช้างป่าทำร้ายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 21 คน ในปี 2565

เพื่อพูดคุยกับคนในพื้นที่และแขกรับเชิญทั้ง 4 คนที่รู้เรื่องช้างป่าในโซนภาคตะวันออกเป็นอย่างดี นั่นก็คือ

  • ตาล วรรณกูล คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคตะวันออก
  • เผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  • ดิเรก จอมทอง ที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า
  • พิเชฐ นุ่นโต ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชีย IUCN SSC

สถานการณ์ช้างป่า จุดเสี่ยงของคนทำงาน และพื้นที่ป่าที่มีอยู่

ตาล วรรณกูล – จุดเสี่ยงของเรื่องนี้ก็คือ ความรู้ที่คนในชุมชนยังไม่รู้ โดยเฉพาะเรื่องของพฤติกรรม รูปพรรณ และกลุ่มช้างที่ชุมชนยังไม่รู้ว่าจะก่อให้เกิดอันตรายในพื้นที่ได้ 

ในส่วนของ กป.อพช. เองก็พยายามทำให้เกิดความรู้กับคนในระดับท้องถิ่น เพื่อให้ประเมินความเสี่ยงกับปัญหา อันตรายที่อาจจะเกิดจากช้างป่า  

อย่างในพื้นที่นำร่องของเรา คือพื้นที่ที่มีทั้งคนในพื้นถิ่นเดิม คนที่เข้ามาอยู่ใหม่ กลุ่มแรงงานที่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ จุดที่ค่อนข้างเป็นปัญหาคือ เรื่องการสื่อสารระหว่างแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจะสื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่อง ขณะเดียวกันในพื้นที่ก็จะมีกลุ่มแรงงานทั้งข้ามชาติ และมาจากที่อื่น แต่ไม่ได้รับรู้ว่า ในพื้นที่นี้มีช้างที่จะก่อให้เกิดอันตรายกับเขาและครอบครัวได้

เผด็จ ลายทอง – ถ้าถามว่าพื้นที่ป่าลดลงหรือเปล่า ในอดีตถ้าพูดลงไปไกล เหมือนพื้นที่ป่ามีจำนวนมาก อย่างในป่าพนมสารคามมี 10 กว่าล้านไร่ นั่นคืออดีต ปัจจุบันเรามีการพัฒนาเมือง มีการสร้างชุมชน ในอดีตคนหักล้างถางพง คือ คนพัฒนาประเทศ รูปแบบการดำรงชีวิตมันเปลี่ยนไป แต่ปัจจุบันพื้นที่ทุกตารางนิ้ว โอกาสที่จะมีการบุกลุกเป็นไปได้ยากแล้ว เมื่อย้อนหลังไป 5 ปี มันไม่ได้น้อยลงไปกว่าอดีต แต่แค่รูปแบบการใช้ประโยชน์ของที่ดีมันแตกต่างกัน

พื้นที่ที่เป็นป่าอนุรักษ์ อย่างเช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอนุรักษ์แห่งชาติ ไม่มีโอกาสที่จะลดน้อยถอยลง ส่วนพื้นที่ที่อยู่ด้านนอก ซึ่งเป็นพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติ หรือเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ไม่มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน ก็มีการแปรสภาพ บางส่วนออกไปเป็นสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. เป็นที่ดินทำกินของราษฎร บางส่วนรัฐบาลมีนโยบายของการให้สิทธิการเข้าไปทำกิน หรือ สทก. ก็ชัดเจนว่า รัฐบาลต้องมอบที่ดินเหล่านี้ให้รัฐบาลทำกิน โอกาสที่จะไปบุกรุก หรือลดน้อยถอยลง เป็นไปได้ยาก 

แต่ถามว่าสภาพของป่าเปลี่ยนไปไหม ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า เปลี่ยนไป โดยเฉพาะแนวทางของการที่เราจะอนุรักษ์ เรามองว่าทุ่งหญ้าบางแห่ง เป็นแหล่งเสื่อมโทรม ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่ ในพื้นที่ป่า สัตว์ป่าทุกชนิดไม่ชอบอยู่ในป่าดงดิบ เขาจะต้องมีแหล่งอาหาร มีทุ่งหญ้า ช้างเป็นสัตว์กินหญ้า กินทุกอย่าง เรียนรู้ที่จะกินไปเรื่อย ๆ แล้วสอนต่อกัน เขาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ดำรงเผ่าพันธุ์มา น่าจะมีวิวัฒนาการมาไม่น้อยกว่าคน จนมาถึงปัจจุบันเขายังสามารถรักษาเผ่าพันธุ์ของเขาได้ เนื่องจากเขามีระบบการดูแลกันเอง มีการแบ่งแยกหน้าที่ มีวิวัฒนาการ

เมื่อสภาพป่าเปลี่ยนไปเราไม่อยากให้เกิดไฟป่า ไม่อยากให้มีไฟอยู่ในพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ของน้ำสูงขึ้นจริง แต่แหล่งอาหารของสัตว์ป่าลดลง เราต้องมาดูเรื่องของการจัดการในระบบนิเวศ สิ่งที่มันจะเกิดขึ้น พื้นที่ที่เป็นทุ่งหญ้า เราต้องระบุชัดเจนว่า ตรงไหนจะเป็นพื้นที่แหล่งอาหารของสัตว์ป่า ก็ไม่ควรที่จะยุ่งเกี่ยว ไม่ควรจะเข้าไปปลูกป่า เพื่อให้เป็นป่าขึ้นมา 

คนทั่วไปอาจจะมองเห็นป่ามีพื้นที่โล่งแล้วถามว่า ทำไมปล่อยให้โล่งแบบนี้ ทำไมถึงไม่เข้าไปปลูกป่า  

ยกตัวอย่าง ทุ่งเขาแหลม ที่อยู่เขาใหญ่ เราหวงมาก ใครจะเข้าไปปลูกป่า ไปทำ CSR เราห้ามหมด เพราะกรณีแบบนี้เราต้องทำความเข้าใจด้วยกันว่า พื้นที่แบบนี้ไม่ใช่พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แต่มันคือทุ่งหญ้า แหล่งอาหารที่เอาไว้ดูแลสัตว์ป่า 

ส่วนพื้นที่ที่ให้ปลูกป่า ส่วนใหญ่เขาจะปลูกไม้ที่สัตว์สามารถกินได้ เป็นไม้ยืนต้น เราต้องมองไปถึงปัจจุบัน คือ พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการจะปลูกอะไร บางอย่างพื้นที่อยู่ติดกับแนวเขตพื้นที่ทำกิน มันจะกลายเป็นการดึงสัตว์ที่อยู่ในป่าหรือเปล่า ลักษณะแบบนี้คือ ภาพรวมของทั้งประเทศ แต่ถ้าพูดถึงภาคตะวันออก ต้องมองข้ามตรงนั้น เราอาจจะต้องทำ เพื่อพยายามดึงช้างกลับเข้าไป

ดิเรก จอมทอง ประเด็นที่จะเอาช้างกลับป่า ผมเรียนว่า ในการศึกษาช้างป่าทั้งหมด ภูเขียวน้ำหนาว ป่าแก่งกระจาน ป่าตะวันตก ป่าตะวันออก วิกฤตมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี 

ชุดข้อมูล ถ้าจะพูดเรื่องช้างมันมีเยอะมาก  การจะเอาช้างกลับป่า ในการศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า หลากหลายองค์กรที่มาให้ข้อมูล เราพบว่า อาหารในป่าไม่ได้ขาดแคลน แต่ช้างออกมาเจอของที่อร่อยกว่าเลยไม่กลับ 

ประเด็นที่ ผอ.เผด็จพูด ว่าป่าหายไปหรือไม่ ต้องตีความตรงนี้ให้ดี ป่าหายไปเพราะเราเอาพื้นที่ป่า ซึ่งควรเป็นทุ่งหญ้า ไปปลูกไม้ยืนต้น ทุ่งหญ้าควรจำเป็นต้องมี ถ้าเรามีช้าง แต่การที่เราไปเน้นปลูกป่า ซึ่งช้างอยู่ในป่าไม่ได้ ช้างอยู่พื้นที่โล่ง แต่พอไม่มีทุ่งหญ้าจะไปอยู่ไหน ต้องออกมาหาพืชผลทางการเกษตร และพอออกมา ก็ไม่กลับไปแล้ว ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ 1-2 ตัว 

ในอดีตป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผืนป่าเหมือนไข่แดง ช้างอยู่ข้างใน แต่หลายปีที่ผ่านมา ช้างไม่ได้อยู่ข้างใน ช้างออกมาอยู่ข้างนอกหมด รั้วกั้นช้าง คูกั้นช้าง เอาไม่อยู่ ไม่รู้ว่าอันไหนในบ้าน อันไหนนอกบ้าน การเอาช้างกลับป่า ต้องมีสิ่งที่มากั้น ตั้งทำรั้ว ทำแบริเออร์ สิ่งกรีดขวาง อาจจะเป็นรั้วก็ได้ เป็นคูก็ได้ เป็นคันกั้นช้างที่กรรมาธิการพยายามที่จะนำเสนอ ต้องแยกคนกับช้างออกจากกัน ไม่แยกปัญหายังไงก็ไม่จบ

พิเชฐ นุ่นโต – การเอาช้างกลับป่า ผมมอง 2 ส่วน คือ ทำพื้นที่ให้มีความพร้อมก่อน ในพื้นที่ที่จะเป็นทุ่งหญ้า เป็นแหล่งน้ำที่สามารถดึงช้างกลับได้ ต้องมีการสำรวจและทดลองทำในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ ถ้าข้างในยังไม่สามารถรองรับได้ ถึงแม้เราจะเอาช้างกลับบ้าน การที่จะให้เขาอยู่ในพื้นที่ น่าจะเป็นไปได้ยาก 

ในงานศึกษาของผมที่ทดลองในพื้นที่ทองผาภูมิ เราพยายามทำแหล่งอาหารขนาดเล็ก ก็ช่วยได้ระดับหนึ่งในการดึงประชากรช้างบางส่วน โดยเฉพาะช้างในกลุ่มฝูงเพศเมีย ที่เป็นจ่าฝูง ส่วนใหญ่เขาจะมาใช้พื้นที่ แต่ถ้าเป็นช้างตัวผู้ เขามีลักษณะที่เดินหากินไปเรื่อย ๆ และก็สำรวจพื้นที่หากินของเขา ก็ค่อนข้างที่จะยากในการจะใช้พื้นที่ดึงดูดเขา  

ดังนั้นในเรื่องของแนวป้องกัน และการทำให้ข้างนอกลดพืชดึงดูดช้างให้ลดลง ถ้าเป็นไปได้ในพืชที่มีการส่งเสริมการปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารช้าง หรืออาจจะต้องทบทวนการส่งเสริมนโยบายเกษตรในพื้นที่ ส่วนแนวป้องกันต่าง ๆ อาจจะต้องมีการสำรวจปรับปรุงแนวป้องกันให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น บางพื้นที่อาจจะใช้รั้วกั้น หรือบางพื้นที่ที่เป็นเขตหมู่บ้าน อาจจะต้องมีรั้วที่มีความยืดหยุ่น หรือมีแนวทางธรรมชาติ เป็นรั้วรังผึ้งก็ได้ ในระดับครัวเรือน การมีรั้วอาจจะช่วยกันช้างป่าได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็จะมีบางส่วนเล็ดลอดออกมา อย่างเช่นช้างตัวผู้ 

ดังนั้นในเชิงการจัดการช้างข้างนอก ต้องมีความรู้ในการที่จะรับมือ โดยเฉพาะการติดอาวุธทางปัญญาให้กับทางอาสาสมัคร หรือเครื่องมือต่าง ๆ ให้มีความพร้อมกับเขาด้วย เพราะเขาเป็นผู้เสียสละ  ตัวของอุปกรณ์ เช่น รถยนต์ เสบียง ไฟที่มีกำลังมากกว่า 200 วัตต์ อันนี้มีการศึกษาที่ป่าตะวันตก การทดลองใช้ไฟต่าง  ๆ ที่จะช่วยหยุดช้างได้ในระดับหนึ่ง 

การที่จะรู้ว่าพฤติกรรมช้างแต่ละฝูง แต่ละตัวเป็นอย่างไร เพราะพฤติกรรมช้างมีตัวแปรผันมาก ๆ ดังนั้นการนำช้างกลับบ้าน มันเป็นไปได้ แต่ต้องร่วมมือกันในเส้นทางที่ช้างผ่าน และตัวข้างในก็ต้องเริ่มทดลองให้เกิดผลทดลองชัดเจน ว่ามันช่วยได้กี่เปอร์เซ็น และมีกี่เปอร์เซ็นที่มันช่วยได้ ถ้าเกิดมันเล็ดลอดออกไปเราจะจัดยังไง

รั้วกั้นช้างมี แต่เหมือนไม่มี เพราะขาดการซ่อมบำรุง แก้ไขอย่างไร

ดิเรก จอมทอง  เรื่องงบ จริง ๆ ชีวิตมนุษย์ไม่ควรคุยเรื่องเงิน เพราะตีมูลค่าไม่ได้ อันนี้คือเรื่องแรก เรื่องที่สองต้องใช้เงินจำนวนขนาดไหนที่จะเอามาทำ ประเด็นก็คือ เราจะต้องรักษาชีวิตมนุษย์ไว้ นั้นคือสิ่งที่เราต้องทำแล้ว และกระบวนการต่อมา คือการจะใช้เงินอย่างคุ้มค่า เราคิดว่าประสิทธิภาพของแบริเออร์ต้องมาร่วมกันพิจารณาว่าแบบไหนที่จะเหมาะสมในแต่ละภูมิประเทศ เพื่อใช้เงินอย่างคุ้มค่า 

ถามว่าทุกวันนี้มีภูมิภาคไหนบ้าง ที่มีรั้วกันช้างแล้วกันช้างได้ ซึ่งเราพบว่า มันอาจจะกันได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นจะกันไม่ได้

ป่าตะวันออก 500 กิโลเมตร ถ้ามีช่องว่าง 1-2 ช่อง ที่เหลืออีก 400 กิโลเมตร จะใช้การไม่ได้เลย ดังนั้นเรื่องงบประมาณไม่ควรเอามาพูดถึงกับชีวิตของมนุษย์

ตาล วรรณกูล – รั้วหรือคูกันช้างที่เอามาใช้ในการกันช้างที่ป่าตะวันออก เป็นโมเดลมาจากแก่งกระจาน ในพื้นที่แก่งกระจานเขาทำรั้วล้อมตำบลของเขาไว้ ไม่ใช่ล้อมป่า เป็นลักษณะเอาคนไปขังไว้ในชุมชน ตัวโครงสร้างไม่เท่าไหร่ เขาทำดีอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องของกระบวนการมีส่วนร่วม ชาวบ้านรวมตัวกัน หาเงินด้วยการทอดผ้าป่า ทอดกฐิน สร้างเสาร์ 13 ต้นแรกขึ้นมา อันนี้ทำให้เห็นว่า ถ้าเราใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเข้ามาจะอยู่ยาวกว่า จะดูแลได้ดีกว่า

เผด็จ ลายทอง – ผมมองว่า ช้างปรับตัว เรียนรู้อยู่ตลอด อย่างพื้นที่ฝั่งตะวันตกที่ประสบความสำเร็จในการทำแนวป้องกัน ช่วยได้เยอะ ถามว่า 100% หรือไม่ ก็ไม่ แต่เขาดูแลกันตลอด มีทีมช่างอาสา จ้างด้วยเงินไม่มาก ไม่ใช่ผู้รับเหมา แต่เขาซ่อมตลอด  

ประเด็นปัญหาของพื้นที่ป่าตะวันออก เป็นที่พื้นราบที่ใหญ่ที่สุดและใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการเป็นที่อยู่อาศัยของช้างมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่อดีตที่มีการผลักดันเอาช้างศึกมาปล่อยดันกลับเข้าป่า ส่วนใหญ่ก็จะมาอยู่โซนนี้ สภาพปัญหาของเราทุกวันนี้ เหมือนกับหลายแห่ง หลายพื้นที่ ที่ช้างออกไปตามหย่อมป่าต่าง ๆ

สิ่งที่ทางกรมอุทยานคิด ในเรื่องรูปแบบของแนวป้องกัน ที่ผ่านมา เหมือนเป็นแนวป้องกันที่คำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์เป็นหลัก คนออกแบบก็ออกแบบในสิ่งที่จินตนาการได้ว่า สามารถเอาอยู่ มันก็อยู่ได้แค่ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ พอมันมีแนวตรงไหนที่เสียหาย มันจะพากันไป 

อย่าง คูกันช้าง เห็นชัดที่สุด เนื่องจากเป็นดิน ในอดีตที่ผ่านมามันเดินตามคูไปเลย ตรงไหนหมดคูก็ขึ้นตรงนั้น แต่พอล้อมทั้งหมด ด้วยความที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นของหน่วยงานทหาร ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิของป่ารอยต่อ 5 จังหวัด งบประมาณของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเองที่เอาลงมาซ่อมคูกันช้าง เกือบ 100% มีแค่บางพื้นที่ 

ปกติช้างไม่ชอบไปเดินที่รก ๆ ตรงไหนที่ชำรุดทรุดโทรม หรือเห็นก็ร่วมด้วยช่วยกัน จะด้วยวิธีการไหนก็ตาม ยกตัวอย่างที่สนามชัยเขต เราสามารถดันช้างฝูงกว่า 100 ตัว ให้กลับไป เขาก็จะกลับไป ไม่ออกมา เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้แนวชำรุด ทรุดโทรมก็จะทำให้เราไปอุดได้

 เป็นไปได้แค่ไหนที่จะ สร้างการมีส่วนร่วม

โครงสร้างแนวกั้นช้างและแนวกั้นคน

ตาล วรรณกูล – มันอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของแนวกั้น แต่เรามองไปถึงกลไกการดึงทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งรัฐ ชุมชน และนักวิชาการ เรามองถึงกลไกการจัดการในระดับพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องถูกกระจายอำนาจลงมา และเป็นลักษณะของการเชื่อมโยงระหว่างรัฐและชุมชน 

ซึ่งต้องมีต้องกลางในการจัดการ เช่น ระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการลงมาช่วยประสานให้เกิดความร่วมมือตรงนี้

ดิเรก จอมทอง ถ้าให้ผู้นำในระดับจังหวัดลงมา คงหนีไม่พ้นผู้ว่าราชการจังหวัด ใน 5 จังหวัด ชุมชนพยายามผลักดันให้มีเจ้าภาพ ซึ่งก็อยากให้ผู้ว่า ลงมาช่วยแก้ไขปัญหา แต่โดยส่วนใหญ่ ผู้ว่าปฏิเสธความช่วยเหลือ ยกตัวอย่าง เครือข่ายพี่น้องประชาชน เขาอยากจะผลักดันให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงมาเป็นเจ้าภาพ จัดตั้งอาสาชุดอาสาเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าอย่างเป็นระบบ ก็อยากจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเอางบลงมาบูรณาการจัดการให้มันถูกต้อง มันมีช่องให้ทำได้ แต่ไม่ง่าย ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมองว่า ถ้าทำแบบนี้ไป เดี๋ยวสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. มาตรวจจะมีผลกระทบ ชาวบ้านก็ต้องอยู่ในภาวะจำยอม ตามยถากรรม 

ดิเรก จอมทอง ที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า

พิเชฐ นุ่นโต –  ตอนที่เราลงไปสำรวจในส่วนของกุยบุรี เราไปช่วยในส่วนของชุมชน แต่แนวรั้วต่าง ๆ มีกรมทรัพยากรป่าไม้ และกรมอุทยานเป็นผู้ออกแบบและบำรุงรักษา ของกุยบุรีมีความต่างจากทางฝั่งตะวันออก ด้วยประชากรช้างที่ค่อนข้างมีความกระจายตัว พื้นที่ข้างในมีความเหมาะสมมาก และด้วยโครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริ ได้จัดทำแหล่งอาหารในโซนนั้น จึงสามารถดึงช้างมาได้บางส่วน แต่ก็จะมีช้างบางส่วนที่เรากันไม่อยู่ออกมา แต่ด้วยกุยบุรีเขามีระบบแจ้งเตือนก่อน จะมีกล้องที่สามารถแจ้งไปที่ศูนย์บังชาการของอุทยาน และหน่วยเคลื่อนที่เร็วของอุทยานก็จะออกมา

ผมมองว่า ถ้าในฝั่งตะวันออก รัฐบาลกลางสามารถสนับสนุนให้กรมอุทยานมีตัวของชุดเคลื่อนที่เร็วเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ของป่าตะวันออก และมีงบประมาณในการสนับสนุนให้อาสาได้ร่วมกับกรมอุทยานอย่างเป็นระบบในการที่จะช่วยกันควบคุมช้างให้อยู่ในพื้นที่ที่เป็นเป้าหมาย อย่างพื้นที่ที่ตกลงกันไว้ว่า พื้นที่ตรงบริเวณนี้จะพื้นที่ที่ช้างพักก่อนกลับเข้าป่า ซึ่งต้องมีการตกลงกันในเส้นที่ช้างผ่าน ต้องดูว่าจะจัดระบบยังไงให้เกิดการทำงานร่วมกัน

พิเชฐ นุ่นโต ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชีย IUCN SSC

อย่างอันนี้ผมได้ลงไปจัดเวลารับฟังร่วมกับทางกรรมการสิทธิ ซึ่งข้อเสนออันดับแรก ชุมชนในพื้นที่ฝั่งตะวันออกทั้ง 7 จังหวัด อยากจะเพิ่มศักยภาพตัวเองในการที่จะจัดการช้างร่วมกัน  โดยที่อาสาต้องได้รับการสนับสนุน มีระบบประกันชีวิต และตัวของอุปกรณ์ก็ต้องมีความพร้อมมากกว่านี้ ถ้าเราสามารถช่วยให้รั้วชุมชน หรือรั้วของการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง น่าจะทำให้ปัญหาของพื้นที่ชุมชนเบาลงได้

เบื้องต้นอาจจะต้องหาภาคเอกชนมาสนับสนุนให้ทางกรมเป็นเจ้าภาพในพื้นที่ ส่วนช้างที่อยู่นอกพื้นที่ ผมคิดว่ากลไกระดับคณะกรรมการ ระดับอำเภอ หรือเชื่อมต่อระดับจังหวัดน่าจะต้องเข้ามาดูแลตรงนี้ เพราะปัญหาช้างในพื้นที่ชุมชนค่อนข้างจะซับซ้อน ต้องอาศัยการติดตามต่อเนื่องร่วมกัน 

ดังนั้นตัวของชุมชน ชาวบ้านต้องเป็นกลไกหนึ่งในคณะทำงานระดับพื้นที่ ช่วยดูการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรั้ว สร้างแหล่งน้ำในพื้นที่ ว่าทำแล้วช้างออกมาลดลงไหม ซึ่งการติดตามแบบมีส่วนร่วมแบบนี้จะสร้างความรู้ให้กับชุมชนด้วย และเกิดผลของการจัดการร่วมกัน 

ที่ผ่านมา ปัญหาที่เจอก็คือ พอทำกับพื้นที่หนึ่งแล้ว อีกชุมชนไม่รู้ว่าการแก้ไขเป็นอย่างไร ก็เกิดความสับสนว่า มันไม่ได้มีการแก้ไขปัญหามาก่อนหรือเปล่า การทำงานร่วมกันเป็นกลไกระดับพื้นที่ที่จะช่วยให้มีส่วนร่วมและมีองค์ความรู้ให้กับชุมชนในการขับเคลื่อนกันต่อไปด้วย 

ความท้าทายของการสร้างกลไกการทำงานแบบมีส่วนร่วมใน

ระดับชุมชนและระดับจังหวัด

ตาล วรรณกูล – ที่ผ่านมาเราพยายามเสนอให้เกิดกลไกระดับจังหวัด ตัวจังหวัดอาจจะต้องสร้างคณะทำงานระดับจังหวัดขึ้นมา โดยมีภาคประชาชน ภาคประชาสังคม หรือแม้แต่ NGO เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายระดับจังหวัด  

ไม่ได้หมายความว่าตัวนโนบายที่จะเข้ามาจัดการปัญหาจะเป็นนโยบายสำเร็จรูป หรือตายตัว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปก็สามารถขยับไปด้วยกันได้ โดยที่โครงสร้างของกลไกคณะทำงาน ยังทำงานกันอยู่ เป็นข้อเสนอที่เราพยายามทำกันมาจนถึงวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา เราพบตัวแทนผู้ว่าทั้ง 8 จังหวัด พยายามทำให้เกิดเป็นรูปธรรม คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานต่อจากนี้

ดิเรก จอมทอง ผมย้อนกลับไปที่กุยบุรีสักนิดนึง เนื่องจากป่ากุยบุรีจะแตกต่างจากป่าจะวันออกโดยสิ้นเชิง ซึ่งป่ากุยบุรี ทิศจะวันตกเป็นภูเขาตะนาวศรี ติดชายแดนพม่ายาวตามด้ามขวานที่เราเห็นในแผนที่ ช้างป่ากุยบุรีน่าจะมีเกิน 350 ตัว ที่นั้นไม่ได้มีรั้วกันช้างเป็นเรื่องเป็นราว กำลังจะสร้างทางห้วยสัตว์ใหญ่หัวหิน 

ซึ่งที่กุยบุรีเรามีระบบเตือนภัยล่วงหน้า หรือ Smart Early Warning System ติดกล้องเฝ้าระวัง กุยบุรีไม่ใช่ไม่มีปัญหา ปัจจุบันนี้เราได้ข้อดีอันหนึ่งของระบบเดือนภัยล่วงหน้า มันมีคอนโทรลเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง  

ปัญหาของกุยบุรี เราเห็นช้างก็จริง แต่เราเข้าหาเขาไม่ได้ เพราะเราไม่มีถนน ดังนั้นที่กุยบุรีเราเรียกร้องถนนตรวจการ ในการอาศัยให้หน่วยงานของกรมอุทยานเอง หรือชาวบ้านเองรับรู้และไปผลักดันทัน ดังนั้นจะเห็นว่ามีระบบแจ้งเตือน แต่ก็ไม่จบ เราเห็นเหมือนกันทั้งหมดว่า ถ้าเรามีการจัดการในระดับจังหวัด อย่างน้อยเหมือนกับเรามีเจ้าภาพ เวลาเกิดปัญหาในแต่ละส่วนงาน เข้าไปที่จังหวัด เกิดการบูรณาการ ผมถือว่าเป็นการเริ่มต้น ปัจจุบันนี้ไม่รู้จะต้องไปเริ่มต้นแจ้งใคร จึงเห็นด้วยว่าจะต้องมีเจ้าภาพ

เผด็จ ลายทอง – ต้องบอกก่อนว่า กลไกระดับจังหวัดไม่ใช่ว่าเราไม่เคยมีมาก่อนนะ ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด น่าจะเป็นภูมิภาคแรกที่ประกาศเขตภัยพิบัติ เราต่อสู้เรื่องนี้ผ่านกลไกของระดับจังหวัดมาหลายปี จนเป็นที่ยอมรับ เพราะก่อนหน้านี้มีระบบตรวจสอบที่บอกว่า ท้องถิ่นเอาเงินไปใช้ หรือเอาไปดำเนินการอะไรเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เราก็จะโดนเรียกเงินคืน ต่อสู้กันจนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทำหนังสือตอบมาว่า ช้างป่าถือเป็นภัยอื่น ๆ ที่สามารถประกาศเขตภัยพิบัติแล้วนำเงินฉุกเฉิน เงินสำรองของแต่ละจังหวัดมาใช้ประโยชน์ได้ 

ในกลไกของระดับจังหวัดต้องยอมรับว่าเขาไม่ได้มีภารกิจเรื่องเดียว เราต้องให้ความเป็นธรรมในฐานะผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง คือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เราพยายามขับเคลื่อนให้เห็นทิศทางชัดเจน และให้แต่ละพื้นที่เอาไปดำเนินการในบริบทที่แตกต่างกันแต่ละพื้นที่ อย่างเช่น ในส่วนของพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการทำแนวป้องกัน ก็ต้องทำแนวป้องกัน ซึ่งก็ต้องพยายามหากระบวนการ เทคนิคป้องกัน โดยยั่งยืน หรือรูปแบบที่จะต้องเข้าไปช่วยกัน ไม่มีวิธีใดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่จะต้องผสมผสานในพื้นที่

ไม่มีใครรู้ดีเท่าคนในพื้นที่ ความต้องการมันต้องออกมาจากคนในพื้นที่ และจะทำให้การแก้ไขปัญหามันยั่งยืน เนื่องจากคนพื้นที่เป็นคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มันไม่มีสูตรสำเร็จ เมื่อไม่มีสูตรสำเร็จการเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกัน ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหานั้นยั่งยืน พื้นที่ที่มีแนวป้องกันก็ต้องมี เมื่อมันหลุดออกจากแนวป้องกันมา การที่เราจะต้องให้ความรู้ การที่เราจะประชาสัมพันธ์บอกให้คนที่อยู่ในชุมชนเรามีการเฝ้าระวัง มันต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของช้าง เนื่องจากเราปฏิเสธไม่ได้ เวลาช้างหลุดออกนอกพื้นที่มาแล้ว ช้างเข้ามาอยู่ในชุมชน คือ พื้นที่เสี่ยง   

เวลาช้างฆ่าคน เราจะเห็นเจ้าหน้าที่ลงมาในพื้นที่ มันเป็นหน้าที่ เราลงมาตามปกติ แต่เวลาเกิดความสูญเสีย เจ้าหน้าที่ไม่อยากให้มันสูญเสีย รัฐบาลก็ไม่ได้อยากให้สูญเสีย เพียงแต่ว่าเมื่อมาอยู่ด้วยกัน เราต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ต้องรู้พฤติกรรมของสิ่งที่เข้ามาอยู่ในชุมชนเรา ว่าอันตรายขนาดไหน เราต้องมีวิธีรับมือกับกระบวนการเหล่านี้อย่างไร

ผมยกตัวอย่าง ช้างเป็นสัตว์อยากรู้อยากเห็น ช้างตัวเดียวที่ถูกผลักออกจากโขลงมา มันเป็นพฤติกรรมที่ถูกผลักออกมาจากโขลง มันจะแสวงหาถิ่นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร สำรวจไปเรื่อย ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการปรับพืชอาหารกับภาคตะวันออกค่อนข้างจะใช้ลำบาก เนื่องจากพฤติกรรมของช้างมันเดินไกล เราสังเกตหลายแห่ง อย่างที่อัมพวา หรือแก่งหางแมว ก่อนหน้านี้หลายปี ไม่เคยเกิดการสูญเสีย ช้างออกมา คนปรับตัว ปรับพฤติกรรม ช้างก็เดินเลยออกไปเรื่อย ๆ เดินออกไปจน 30 – 40 กิโลเมตร เจอแหล่งที่สมบูรณ์ก็ยึดเลย บางแห่งนายทุนเขาซื้อที่ไว้แล้วไม่ได้ทำอะไรก็ปล่อยไว้เป็นป่า พอปล่อยเป็นป่า ช้างก็เข้าไปอาศัย และก็อยู่ตรงนั้น ออกมาก็กินแล้วก็กลับเข้าไปนอนป่า

ช้างจะเดินไปเรื่อย ๆ แสวงหาแหล่งอาหารไปเรื่อย ๆ และจดจำถ่ายทอดบอกต่อกัน ทำให้มีโอกาสที่จะดึงช้างโขลงมา เมื่อลงมาแล้วจะกลับขึ้นไป เขาก็ขี้เกียจ พอถึงฤดูผสมพันธุ์ช้างหนุ่ม ๆ ก็ไม่อยากเดินกลับไปตามหาช้างตัวเมีย ก็พยายามส่งข่าวบอกต่อกันว่าข้างนอกมันน่าอยู่กว่า เพราะมันมีแหล่งน้ำ แหล่งอาหารที่สมบูรณ์สำหรับเขา ก็หลอกล่อเอาช้างฝูงออกมา

ปกติช้างโขลง เป็นช้างที่ค่อนข้างระวังตัวสูง เนื่องจากมีลูกช้างอยู่ เขาเลยมักจะไม่เสี่ยง แต่ที่เขาเสี่ยงออกมา เพราะเขามองว่า ข้างนอกมันคุ้มกับการอยู่ เพราะมันมีความอุดมสมบูรณ์และเขาชอบมากกว่า อันนี้ก็เป็นพฤติกรรมของช้าง ซึ่งเราต้องเรียนรู้พฤติกรรมเขา และเรียนรู้ว่าจะต้องดำเนินชีวิตอย่างไร

ผมก็ไม่อยากโยนภาระให้กับประชาชนนะ ว่าคุณต้องเป็นคนทำแบบนั้นแบบนี้ แต่เราต้องรักษาชีวิตเราก่อน กระบวนการแก้ไขปัญหายังไงมันก็ต้องเกิดขึ้น ไม่มีรัฐบาลไหนปล่อยให้ปัญหามันอยู่สภาพนี้ เพียงแต่ว่า ที่ผ่านมาเราเดินตามปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เราเรียนรู้ชัดเจนแล้วว่า ยังไงก็แล้วแต่ เขาไม่กลับไปป่าแน่ ๆ แนวป้องกันที่ต้องลงทุนในการสร้างก็ว่ากันไป 

แต่สิ่งที่สำคัญ ต้องให้คนในพื้นที่ที่ต้องประสบเหตุ รู้ทันมันก่อนว่า ทำไมช้างต้องเข้าบ้าน ทำไมช้างต้องพังครัว เพราะเขาเป็นสัตว์ เขาอยู่ด้วยสัญชาตญาณ เขาเคยได้กลิ่น เนื่องจากมีตาดี หูดี ถ้าเรารู้พฤติกรรมเขา เราก็มีโอกาสที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยปลอดภัย

พฤติกรรมช้างไม่ได้เปลี่ยน ช้างหากินตามสัญชาตญาณของเขาเหมือนเดิม เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าป่านั้นเป็นป่าของใคร เขารู้อย่างเดียว พื้นที่ตรงนี้เขาสามารถซุกตัวอาศัยอยู่ได้ ตอนกลางคืน แดดร่มลมตกเขาก็ออกไปข้างนอกเจออาหารที่เขาชอบ พอเจอแบบนี้ ระหว่างรอการแก้ไขปัญหาให้มันเกิดขึ้น ยังไงเราก็ต้องเรียนรู้พฤติกรรมเขา และต้องบอกต่อด้วย

การพยายามสร้างเครือข่ายอาสา ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป ส่วนหนึ่งที่แก่งหางแมวเริ่มจัดตั้งให้ความรู้ที่แรก ผมเป็นคนจัดตั้ง เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ และได้งบประมาณจากมูลนิธิ เรารู้ว่าตรงนี้มีความจำเป็น เมื่อมีการรวมตัวกัน สิ่งที่เกิดขึ้น ขอรับการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากภาครัฐ เพื่อให้อาสาเหล่านี้มีเงินอุดหนุน เอาไปจัดหาหัวไฟ น้ำมันรถ ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายจำเป็นให้สามารถเติมเต็มศักยภาพของเขาได้ 

ปีนี้ก็ได้งบประมาณเป็นปีแรก เครือข่ายละ 50,000 บาท ต่อหนึ่งปี แม้จะไม่ใช่เงินจำนวนมาก แต่ก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่เป็นการเริ่มต้น ตามที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่เข้ามาดูแล สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ เครือข่ายเหล่านี้ต่างคนต่างทำไม่ได้ เราเริ่มเห็นความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออาสาต่างคนต่างเก่ง ต่างผลักดันช้างออก ช้างไปไหนไม่รู้ ทีนี้พื้นที่ไหนไม่มีอาสา ช้างก็จะทะลักไปพื้นที่นั้น สิ่งที่เราพยายามเชื่อมโยงเครือข่ายเหล่านี้ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเราต้องการเอาช้างกลับป่า ทิศทางการเดือนของช้าง เป็นทิศทางการเดินของมัน ถ้าเราเปิดทิศทางการเดินของช้างไปในทิศทางการเดินที่ควรจะเป็น ซึ่งถ้าเราไม่คุยกันช้างก็จะไม่มีโอกาสกลับป่า ความสูญเสียก็จะวนไปวนมา 

การใช้ความรุนแรงในการผลักดันช้าง ไม่ได้เป็นผลดี แต่ไม่ได้หมายความว่า การใช้ความรุนแรงไม่ได้มีความจำเป็นกับการให้เขาขยับตัว มนุษย์มีจุดด้อยตรงที่ ความอดทนต่ำ ช้าไม่ได้ ขับเคลื่อนแล้วต้องเร็ว เพื่อให้ภาระตัวเองน้อยลง  แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มันไปสร้างความเครียดให้ช้าง มีโอกาสทำให้คนข้างหน้าเกิดความสูญเสีย เพราะไม่มีองค์ความรู้

เผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อาสาทุกหมู่บ้านตอนนี้จะเป็นเหมือนกันหมด คือ ได้ยินเสียงจุดลูกปิงปองหนึ่งลูก มันจะดังทั่วไปหมดเลย เพราะทุกคนไม่อยากให้ช้างมา ทั้ง ๆ ที่ ช้างยังไม่ได้ไป ยังไม่มีช้างปรากฎตัว เขาจะจุดทันที เรามีการเก็บข้อมูล สำรวจพฤติกรรมเกี่ยวกับช้างป่า แต่อย่างที่บอก คนที่หัวไวใจกล้าและพร้อมจะออกมารับความรู้มี คนที่ไม่พร้อมจะออกมารับความรู้ก็เยอะ ทุกครั้งที่ลงพื้นที่เราพยายามให้ตั้งกลุ่มไลน์ จะได้ส่งข่าวกันผ่านกลุ่มไลน์ บางคนเขาไม่ได้มาอบรม เขาก็ไม่รู้ แต่ถ้ามีกลุ่มไลน์เขาก็จะกระจายข่าวบอกต่อกัน 

เราพยายามผลักดันอาสาให้เขาได้สิทธิพิเศษกรณีเกิดเหตุการณ์ หรือมีปัญหาอะไรขึ้นมา แต่เรายังผลักดันให้ไปถึงจุดนั้นไม่ได้ ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ พยายามผลักดันให้อาสาเหล่านี้ไปเป็นผู้ช่วยเหลือราชการอยู่ กรณีที่ประสบอุบัติเหตุ เกี่ยวกับการปฏิบัติงานจะมีเงินกองทุนของรัฐบาลเข้ามาดูแล ดีกว่าการทำประกันชีวิต

การช่วยเหลือ สนับสนุนกลุ่มอาสาเฝ้าระวังช้างป่า ควรจะเป็นอย่างไร

ดิเรก จอมทอง เราต้องไม่มองสิ่งผิดปกติเป็นเรื่องปกติ หมายถึงว่า ปัญหาช้างป่า แก้ไม่ได้ด้วยชุดอาสาเฝ้าระวัง ไม่ใช่ภารกิจของราษฎรที่ต้องมาทำเรื่องพวกนี้ จริงอยู่ที่มีความจำเป็น ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่เราไม่ควรไปคิดว่า เราจะต้องไปพัฒนาจัดระบบอาสาเฝ้าระวังแบบไหนอย่างไร ผมเห็นต่างเรื่องนี้ เราให้ความสำคัญกับชุดอาสาเฝ้าระวัง แต่ทำไมมันไม่มีคำถาม ไม่มีคำตอบว่าจริง ๆ แล้ว รัฐบาลทำอะไร ผมเจอเวทีแบบนี้มาเป็น 10 เวที คิดว่า รายการนี้อย่างน้อยเป็นช่องทางที่เราได้พูด ได้มีส่วนร่วม

ในมุมผม ผมมองว่า ชุดอาสาเฝ้าระวังจำเป็นต้องมี แต่ไม่ควรเป็นหน้าที่รัฐ ผมเห็นต่างโดยสิ้นเชิง ภาครัฐควรไปให้ความสำคัญเรื่องของสาเหตุ ชุดอาสาเฝ้าระวัง ถ้าเทียบเป็นอาหาร ควรเป็นแค่อาหารเสริม 

หลักการก็คือ 1. ปัจจุบันป่าตะวันออกช้างเกินพื้นที่ นี่คือโจทย์ 2. ช้างโตปีละ 8.2% ทุกปี โดยไม่มีผู้ล่า  3. ป่าไม่ได้ลดน้อยลง มีแต่คนปลูกป่า แต่พื้นที่ที่ช้างจะอยู่ไม่มีมันเลยลดลง 4. ปัจจุบันช้างไม่มีเจ้าของ ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ แค่ 4 ข้อนี้ ผมถามว่า รัฐบาลควรทำอย่างไรกับ 4 ข้อนี้      

เราย้อนกลับไป ช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ รัฐบาลทำอะไรบ้าง เกี่ยวกับปัญหาช้างป่าในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา ผมยกข้อสังเกตของกรรมาธิการในท้ายรายงานที่ส่งให้กับทางรัฐบาล อย่างแรกคือ รัฐต้องยกเลิกแนวคิดให้คนอยู่กับช้าง เพราะอยู่ไม่ได้ ช้างเวลาหิวก็หากิน แยกไม่ออก เพราะฉะนั้นจะให้คนอยู่กับช้างอยู่ไม่ได้ 

ประเด็นต่อมาต้องทำให้ช้างกับคนแยกจากการเด็ดขาด โดยการทำแบริเออร์ การทำแบริเออร์ของกรรมาธิการมีลักษณะเป็นดาดคอนกรีต ถามว่าใช้งบประมาณเงินไหม จริง ๆ ป่าตะวันออก มีแนวคูเดิมอยู่ ไม่ต้องไปขุดดินใหม่ หรือเวนคืนที่ดิน เพียงแต่ไปปรับโครงสร้างของตัวคูให้มีสโลพตามหลักวิชาการ เพราะกรรมาธิการที่ทำมาได้รับความเห็นชอบจากกรมทางหลวง วิศวกรรมสถานมาประชุมร่วมกันที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ยังเห็นชอบอยู่ว่า น่าจะเป็นทางหนึ่งที่แก้ไขปัญหาช้างได้

ส่วนเรื่องของการเยียวยาไม่ได้หมายความว่า ชุดอาสาเฝ้าระวังไม่มีความจำเป็น ยังคงต้องมีอยู่ เพราะทั้งหมดที่เราพูดถึง ยังคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร แต่ในเมื่อเราจำเป็นต้องใช้พี่น้องในการเป็นด่านตรงนี้ เราจำเป็นต้องมีเรื่องของเงินเยียวยา อย่างเป็นระบบ มีบทกฎหมายบรรจุอยู่ในงบประมาณประจำปีสำหรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ 

ปัจจุบันคนตาย ปภ.จ่าย 29,700 บาท และสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีจะมีเงินช่วยเหลืออยู่ 1 ก้อน รายละ 50,000 บาท มีผลเมื่อ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ พยายามผลักดันกันอยู่ตอนนี้ ใช้เงินที่เป็นรายได้ของอุทยาน เป็นเงินเยียวยา มากที่สุดน่าจะเป็น 100,000 บาท แต่เนื่องจากกระบวนการทางกฎหมายยังไม่สมบูรณ์ก็เลยยังไม่มีผล 

ในส่วนของกรรมาธิการ เราเสนอให้ทำเรื่องของประกันช้าง เมื่อไหร่ที่ช้างทำให้คนเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรก็ควรจะเยียวยามากกว่านี้ ตัวเลขกลม ๆ ประมาณ 500,000 บาท อันนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุป เป็นแค่ข้อเสนอที่ยื่นให้รัฐบาลไปแล้ว


ตาล วรรณกูล – จริง ๆ เงินในส่วนราชการที่จะสามารถนำมาใช้ในส่วนของอาสาสมัครก็มี อย่างโครงการที่ให้เครือข่ายละ 50,000 บาท  เงินภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มาตรา 60 (7) มีในส่วนของการจัดการสวัสดิการของอาสาสมัครช่วยเหลือราชการด้วย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 32 (3) ก็มี หากตัวอุทยานสามารถที่จะจัดการอาสาสมัคร ให้เขามีตัวตน ช่วยเหลือกันและกันได้ และผลักดันให้ใช้กฎหมายเหล่านี้สนับสนุนสวัสดิการให้กับอาสาสมัครก็ยังเพียงพอ ผมสอนเด็ก ๆ เสมอว่า อาสาไม่ใช่อาชีพ ไม่ต้องมีรายได้ก็ได้ ขอแค่ดูแลเราหน่อย

ตาล วรรณกูล คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคตะวันออก

เผด็จ ลายทอง – สำหรับการเยียวยา วันนี้ถ้าเกิดความเสียหาย หรือเสียชีวิต เราอ้างอิงของ ปภ. ถ้าด้านพืชผลการเกษตรเสียหาย เราก็ไปอ้างอิงเรื่องของภัยพิบัติเกษตร สิ่งที่เกิดขึ้นบางอย่างเรายังไม่รู้จริง ๆ อย่างในกรณีทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ประกันข้าวกับข้าวโพดชัดเจน จะได้มากขึ้นกว่าที่ทาง ปภ.ให้ แต่ก็ไม่ได้เข้าไปเครม 

ส่วนใหญ่เกษตรกรเป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอยู่แล้วเราไม่เคยเข้าไปเรียกร้องตรงนี้ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ ถามว่าอยากจ่ายตรง ๆ ไหม เราอยากจ่าย ระเบียบกฎหมาย กับแนวทางปฏิบัติมันยังไม่มี การขอแก้ไข หรือข้อเรียกร้องตรงนี้ ก็เป็นสิทธิพึงมีพึงได้ ถ้าภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข อยากให้ได้ เพราะบางแห่งก็อยากเรียกร้องให้เป็นเหมือนกรมชลประทาน เป็นแบบเวนคืน แต่สิ่งที่อาจจะเป็นไปได้ ทางจังหวัดจันทบุรีน่าจะพอทราบทาง ปภ. เขาเสนอไปให้มีการชดเชยหรือช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ เขามีแนวทางปฏิบัติ แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองต่อกรมตรวจสอบบัญชีกลาง หรือทางภาครัฐ 

การเรียกร้องอย่างเป็นเหตุเป็นผลกับสิ่งที่ควรจะเป็น เพราะบางครั้งการตีความของตัวบทกฎหมาย อย่างเช่น คำว่าเสียหายอย่างสิ้นเชิง เจอผู้คนตีความว่า ตรงนี้เป็นความเสียหายแล้ว อย่างเช่น หน่อไม้ ถ้าเสียหายอย่างสิ้นเชิงมันต้องล้มทั้งหมด ไม่เกิดขึ้นมาใหม่ ถ้าเป็นกล้วย ก็ต้องล้มไปหมดเลย ไม่แตกหน่อขึ้นมาใหม่ บางคนตีความเคร่งครัดขนาดนั้นก็ไม่ต้องช่วยเหลือประชาชน 

แต่บางที่บางแห่งตีความคำว่าเสียหายอย่างสิ้นเชิง ว่า สภาพที่เห็นมันไม่ได้ให้อะไรแล้ว เมื่อมันไม่ชัดเจน และเป็นเรื่องของการตีความ ทำให้อาจจะมีปัญหาหลายพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งในเชิงพื้นที่ ซึ่งดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่ ปัญหาพวกนี้ก็จะไม่เกิด แต่บางแห่งที่เริ่มเกิดปัญหาขึ้นใหม่ ๆ ทุกคนจะระวังตัว ข้าราชการไม่มีใครอยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว เข้าไปถูกตรวจสอบ คอยชี้แจง การตีความเคร่งคัด เป็นการกันตัวเอง แต่มันกระทบกับคนที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ 

เนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติเอง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับใหม่ 2562 แจ้งไว้ว่า สามารถเอาเงินรายได้ของสัตว์ป่าที่เรียกว่า เงินคุ้มครองเยียวยาสัตว์ป่ามาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า เราได้ทำหลักเกณฑ์ โดยมีเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบร่วมร่างด้วย เงินเราไม่มาก ถ้ามีผู้เสียชีวิตหรือ ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง คือ 100,000 บาท แต่ตอนนี้รอขั้นตอนทางกฎหมายที่เรากำลังเร่งทำอยู่

ระเบียบนี้จะออกมาภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นระเบียบเกี่ยวกับการเงินที่ต้องไปขอความเห็นชอบจากการคลัง ถ้าระเบียบนั้นได้รับความเห็นชอบแล้ว เราจะทำการประกาศเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยา โดยมีคณะกรรมการในการจัดตั้งเกณฑ์

ถ้าเกิดมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากช้างไปทำ เจ้าหน้าที่มีหน้าที่เข้าไปเก็บรายละเอียดจากที่เกิดเหตุ และรายงานเข้าไปที่กรมอุทยานแห่งชาติ ทางกรมอุทยานก็จะต้องจ่ายเงินทันที ไม่ต้องยื่นขอ ระเบียบนี้จะเอาเข้าคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า วันที่ 16 ธันวาคมนี้ เมื่อเข้าแล้วถ้ากระทรวงการคลังไม่มีปัญหากับระเบียบก็ไม่ต้องเข้าอีก เราก็จะรีบประกาศเกณฑ์

สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

พิเชฐ นุ่นโต – ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่ยังขาดอยู่ในเรื่องของการดูแลผู้สูญเสีย ก็คือเรื่องของจิตใจ หลังจากผู้นำครอบครัวเสียชีวิตตรงนี้อาจจะต้องมีนักจิตวิทยาเข้ามาดูแลหลังจากที่เขาสูญเสียผู้นำครอบครัวไป ซึ่งที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นกระบวนการพวกนี้มาก่อน หลังจากที่คนข้างตัวหายไปแล้ว คนในครอบครัวเป็นอย่างไร ผมได้ไปคุยกับชาวบ้านหลายพื้นที่ เขาก็ยังมีสิ่งที่ติดค้างอยู่ ก็มีการส่งสารต่อว่าเขาไม่พอใจ อาจจะส่งผลต่ออารมณ์ในเรื่องของความโกรธ หรือความรุนแรงที่อาจจะตามมาได้ ตรงนี้อาจจะต้องออกแบบเรื่องของจิตวิทยา หรืออาจจะเข้าไปชดเชยเรื่องเงินกับครอบครัวในส่วนนี้เพิ่มเติม ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้ยังเป็นช่องว่างอยู่ หลังจากที่คุยกับชาวบ้านในพื้นที่มา

ตาล วรรณกูล – จริง ๆ มีหลายเรื่องที่รัฐบาลต้องกลับไปทบทวนก็คือเรื่องการปรับหลักเกณฑ์ การชดเชยเยียวยา อย่างที่พูดกันไปว่า ปัจจุบันมีการใช้หลักเกณฑ์ภัยพิบัติทั่วไปมาใช้ในการเยียวยาให้กับพี่น้องเกษตรกร ซึ่งมันไม่เพียงพอ  

เรื่องของเงิน ชาวบ้านลงทุนข้าวหนึ่งไร่ 4,000 บาท แต่เยียวยาให้เขาแค่ 1,300 บาท ก็ไม่คุ้ม ในกรณีที่เป็นภัยพิบัติจากตัวช้าง เรามั่นใจว่าต้องเป็นภัยพิบัติพิเศษกว่าทั่วไป หมายความว่า รัฐบาลต้องปรับหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมกับการชดเชยเยียวยาให้เป็นธรรมและสอดคล้องกับความจริงมากยิ่งขึ้น 

อย่างช้าง จะเข้ามากินข้าว 1 ไร่ มันไม่ทำหรอก มันจะเข้ามาคืนนี้ 2 งาน คืนพรุ่งนี้อีก 2 งาน วันถัดไปมากินอีก 1 งาน เป็น 1 ไร่ แต่ตัวหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการจ่ายเงินชดเชยคือ ต้องเสียหายครั้งเดียว ไม่สามารถเอาหลาย ๆ ครั้งมารวมได้ ชาวบ้านก็ไม่ได้ตรงนี้ เพราะครั้งเดียวของเขาคือเสียหายไปครึ่งงานของคืนแรกเอง

เผด็จ ลายทอง – รายได้ของสัตว์ป่ามีจำนวนมาก แต่เราเขียนหลักเกณฑ์สำคัญไว้ ในเรื่องของเสียชีวิตและบาดเจ็บแค่ในส่วนตัวคนก่อน ส่วนที่เสียหายในเรื่องของทรัพย์สิน เราต้องเข้าไปอ้างอิงของ ปภ. กับของเกษตรเหมือนเดิม แต่ในส่วนของชีวิต ถ้ากฎหมายผ่าน หลักเกณฑ์ทุกอย่างผ่าน ประกาศใช้ไม่ต้องยื่นเรื่องร้อง ทางกรมอุทยานมีระเบียบตรงนี้อยู่จะเข้ามาดู 

สิ่งหนึ่งที่เรากำลังพยายาม ไม่รู้จะเกิดได้แค่ไหน ก็คือเรื่องของกองทุน ในอดีตเราพยายามเสนอให้เกิดกองทุน ผมอยู่ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ตั้งแต่เป็นหัวหน้าหน่วยงาน จนมาเป็น ผอ.ส่วนสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำงานกับผู้ได้รับผลกระทบมาโดยตลอด  สิ่งหนึ่งที่เราพยายามตั้งให้ช่วย ก็คือบรรดากองทุนที่อยู่ในระดับอำเภอ เวลาที่ราชการเข้าไปไม่ถึง นายอำเภอจะได้เข้ามามีบทบาท เพื่อเป็นการลดความสูญเสีย 

มันไม่คุ้มสักอย่าง แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือ กองทุนระดับประเทศ หากทีการระดมความช่วยเหลือของคนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของแผ่นดิน ผมอยากให้คนเหล่านั้นมีส่วนในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ผมไม่อยากให้ผลักเขาออก เพราะเมื่อไหร่ที่เราผลักเขาออกไป ว่าเขาเป็นพวกโลกสวย ไม่สนใจช้าง คนเหล่านี้โอกาสที่จะหมุนมาช่วยเหลือเราจะน้อย เราอาจจะไม่อยากให้เขามาช่วยเหลือ เพียงแต่เขาอาจจะมีส่วนในการระดม พลังของโซเชียล พลังของการประกาศออกไปได้เงินมหาศาล

ความทุกข์ยากของเรา ถ้าทุกคนรับรู้พร้อมกัน ในระหว่างที่กำลังแก้ไขปัญหา ภาครัฐที่ยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยังไม่ทำให้มีผลเป็นรูปธรรมได้อย่าง 100% ต้องคิดว่า ระหว่างนี้เราจะร่วมด้วยช่วยเหลือกันอย่างไร  อาจจะเป็นการบรรเทาให้อาการความสูญเสียลดน้อยลง กองทุนนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ไม่ง่าย ต้องหาแนวร่วม หาคนที่พร้อมจะโดดลงมาทำกองทุนขนาดใหญ่  ซึ่งถ้าเป็นกองทุนระดับประเทศเลยเท่าที่ทราบมา มันจัดตั้งโดยภาครัฐลำบาก ไม่ได้ปฏิเสธแต่มันเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก

ดิเรก จอมทอง ปัญหาช้างเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เป็นปัญหาระดับชาติ อย่างกรณีโควิด-19 เราจะเห็นว่า ผู้นำอย่างรัฐบาลลงมาเล่นแบบจริงจัง ในขณะที่ปัญหาช้างไม่ใช่เรื่องเล็ก คนที่เดือดร้อนผมเข้าใจดี ว่าเจอปัญหาทุกวัน แต่กระบวนการของการแก้ไขปัญหา ผมยืนยันตรงนี้ว่าไม่เจอ 

สิ่งที่ คุณเผด็จพูด อาจจะพูดในนามของกรมอุทยาน นี้คือแนวทางที่ควรจะทำ แต่กระบวนการของภาครัฐ ต้องถามว่าทุกคนเคยเห็นอะไรบ้าง มันไม่มี  สิ่งที่อยากจะถามนายก คือ รู้ไหมว่าชาวบ้านไม่ไหวแล้ว ผมได้ข่าวมาในช่วง 1-2 เดือนนี้ว่า ชาวบ้านเริ่มจะหมดความอดทน เริ่มอยากจะใช้ยาฆ่าแมลงใส่ในผักผลไม้ ชาวบ้านไม่มีทางเลือก เลยอยากจะบอกรัฐบาลว่า ทำอะไรก็ได้ตอนนี้ทำเลย แต่อย่าให้เห็นคนตายไปมากกว่านี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ