ศาลฎีกานัดชี้ชะตา “แสงเดือน” คดีทวงคืนผืนป่า 28 ก.ย. นี้

ศาลฎีกานัดชี้ชะตา “แสงเดือน” คดีทวงคืนผืนป่า 28 ก.ย. นี้

“เป็นกังวลมากว่าศาลจะตัดสินอย่างไร ? ทุกวันนี้เครียดมาก หนี้สินเพิ่มขึ้น ไม่มีที่ดินทำกิน จากที่ปลูกยางต้อง ไปรับจ้างกรีดยางของคนอื่น ซึมเศร้า ต้องพบแพทย์และรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต เราไม่ได้ทำอะไรผิด ทำไมคนใหญ่คนโตถึงต้องเหยียบเราจนจมดิน จนไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะฟื้นขึ้นมาได้ไหม”

แสงเดือน ตินยอด บอกถึงความรู้สึก กรณีที่เธอถูกดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ เมื่อปี 2561 และล่าสุดศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาชี้ชะตา นางแสงเดือน ตินยอด คดีทวงคืนผืนป่า ในวันที่ 28 ก.ย. 2565 นี้ 

แสงเดือน ตินยอด หรือชื่อปัจจุบัน วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง วัย 55 ปี หญิงชาวบ้านแม่กวัก อำเภองาว จังหวัดลำปาง คือหนึ่งในชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ลำปาง รวบรวมข้อมูล กรณีดังกล่าว ระบุว่า หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนมีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือ ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2557 ส่งผลให้เกิดข้อพิพาทในพื้นที่เขตป่าทั่วประเทศ โดยพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดกรมป่าไม้ และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ จับกุม ดำเนินคดี ตัดฟันพืชผลและชาวบ้านต้องถูกให้ออกจากพื้นที่ทำกินเดิม เพื่อเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่า 40 % ตามนโยบาย 

กรณีของแสงเดือน ตินยอด เกิดขึ้นภายหลังที่ดินทำกินถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง หลังจากนั้น กรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยได้โดยให้สิทธิ สทก. 1 ก่อนมีการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท และยังมีการต่อใบอนุญาตทำกินให้ รวมถึงได้รับการส่งเสริมให้ปลูกยางพารา จนหลังมีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 หรือ ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ เธอจึงถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทและป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ให้ตัดฟันยางพารา ในพื้นที่ทำกิน 10 ไร่ ของตนเอง 2 ครั้ง ในปี 2556 และ 2558 ก่อนจะถูกดำเนินคดีในปี 2561 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าแสงเดือนทำกินในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็น ป่าสงวนฯ และกำลังดำเนินตามนโยบาย ‘โฉนดชุมชน’ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการ จัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 และยังได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 แต่หน่วยงานรัฐได้ยื่นเรื่องต่อศาลอุทธรณ์และต่อมาได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น สั่งจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเจตนา และเรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2561 รวมทั้งให้แสงเดือน ออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง กระทั่งจะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 28 ก.ย. นี้ 

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ลำปางระบุว่า เหตุการณ์นี้ เป็นภาพสะท้อนนโยบายใหญ่ที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า พื้นที่สีเขียว ตั้งแต่แผนแม่บทป่าไม้ฯ ที่กำหนดว่าประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40 % ของประเทศ รวมถึงนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความพยายามในการส่งเสริมปลูกป่าเพื่อค้าคาร์บอนเครดิต นโยบาย ‘ Net Zero’ หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่จะสัมพันธ์โดยตรงต่อการแย่งยึดที่ดินชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เขตป่า และจะส่งผลต่อการยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านด้วยมาตรการทางกฎหมายป่าไม้ โดยมีทั้งพื้นที่ที่ถูกดำเนินคดีและกำลังเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี ซึ่งจะเป็นเป้าหมายหลักในการนำมาดำเนินโครงการปลูกป่า โดยพบว่าตลอดเวลา 8 ปีของนโยบายทวงคืนผืนป่า มีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกป่าไม่ต่ำกว่า34,692 คดี 

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลสบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 แสงเดือน ตินยอด ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายอภิชาต ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ องค์การบริหารส่วนตำบลสบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อขอความช่วยเหลือเร่งรัด ติดตาม การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจับกุมและดำเนินคดีแสงเดือน ตินยอด มาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว ว่าใช้อำนาจหน้าที่ใดในการดำเนินการ ในกระบวนการเหล่านั้นปรากฏการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเยียวยาใดๆ 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล รับหนังสือจากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ทวงคืนผืนป่าเป็นปัญหาทางนโยบาย ที่รัฐราชการใช้แต่นิติศาสตร์ แต่ไม่ใช้รัฐศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา จึงเกิดคดีความขึ้นหลายหมื่นคดี ทางออกหลังจากนี้คือการผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ส่วนกรณีแสงเดือน ตินยอด นายพิธาระบุว่าจะส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล และกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าสังเกตการณ์ ณ ศาลจังหวัดลำปาง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ