เครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัดเชียงใหม่ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและกฎหมายด้านที่ดิน-ป่าไม้ เชิญชวนให้ออกมามาร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และร่วมพูดคุยถึงผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากนโยบายด้านทรัพยากรของรัฐ จากการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพในการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ในช่วงวันที่ 23 – 25 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีข้อความในจดหมายระบุดังนี้
เรื่อง เชิญร่วมการเคลื่อนไหว เนื่องในเวทีประชุมเอเปคป่าไม้ และ 8 ปี ประยุทธ์
กว่า 8 ปีที่พวกเราทุกข์ทรมาน ถูกตีตราเป็นผู้บุกรุก แม้ก่นสร้าง แผ้วถาง บุกเบิก ทำกินกันมาแต่บรรพบุรุษ ที่ผ่านมาเราพยายามออกมาส่งเสียงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทางนโยบาย ว่ากฎหมาย มาตรการ และนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดิน-ป่าไม้ นอกจากผลักให้พวกเราต้องตกอยู่ในสถานะ “แพะรับบาป” ของปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังฆ่าพวกเราให้ตายทั้งเป็นโดยการแย่งยึดที่ดินและจับกุมดำเนินคดีไม่มีจบสิ้น
เสียงเรียกร้อง ข้อห่วงกังวล และข้อเสนอจากพวกเราพยายามส่งไปถึงพวกท่านผ่านการเคลื่อนไหวและยื่นหนังสือมาหลายต่อหลายครั้ง แต่กลับไม่เคยได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร และยังคงซ้ำเติมเราเพิ่มขึ้นไปอีกผ่านการแถลงนโยบายของรัฐไทยในเวที COP26 และ TCAC เมื่อไม่ฟัง เมื่อกดขี่กันขนาดนี้ ไม่มีมนุษย์หน้าไหนจะยอมทนให้เหยียบย่ำ
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ หรือ สกน. ขอประกาศกลับมาเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้ง ในวันพุธ ที่ 24 สิงหาคม 2565 ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ และ โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ เพื่อแสดงตัวตนว่าพวกเราคือแพะ พวกเราคือผู้ถูกกดขี่ พวกเราคือผู้ถูกกระทำ เนื่องในโอกาสที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพจัดเวทีการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 และวาระครบ 8 ปี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้เข้ามาบริหารประเทศพร้อมนโยบายและกฎหมายที่เบียดขับพวกเราออกจากที่ดินและฐานทรัพยากร
ในโอกาสนี้ เราจึงขอประกาศเชิญชวนเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายด้านที่ดิน-ป่าไม้ ทั่วประเทศ ทั้งชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน ภาควิชาการ และผู้สนใจ เข้าร่วมการเคลื่อนไหวตามวันและเวลาดังกล่าว
ประชาชนไม่ใช่แพะรับบาปในปัญหาสิ่งแวดล้อม
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
รายนามเครือข่ายแนวร่วม
1. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
2. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
3. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.)
4. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
5. กรีนพีซ ประเทศไทย
6. Land Watch Thai กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน
7. ภาคีSaveบางกลอย
8. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
9. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
10. ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
11. สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ