ส่งเสียงจากผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดิน ให้ดังถึงที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้

ส่งเสียงจากผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดิน ให้ดังถึงที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้

ช่วงเช้าวันนี้ (23 ส.ค. 65) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ตัวแทนประชาชนและเครือข่ายต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดิน ประมาณ 20 คน เดินทางไปที่โรงแรมเลอ เมอริเดียน จ.เชียงใหม่ เพื่อยื่น 7 ข้อเรียกร้องแก้ปัญหาที่ดิน-ป่าไม้ ถึง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้นำประเด็นของประชาชนเข้าสู่ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดการประชุมในระหว่างวันที่ 23-25 ส.ค. 2565 โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนรับหนังสือ นอกจากนี้ยังมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อหวังจะให้เกิดการยอมรับเรื่องสิทธิชุมชน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง และมีการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ชวนมาฟังเสียงประชาชนที่ผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดิน โดยเฉพาะในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาหลังจากรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงของนโยบายด้านป่าไม้และที่ดิน หนึ่งในนั้นคือนโยบายทวงคืนผืนป่า นำมาซึ่งคดีความกว่า 46,000 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจนและมีความยากไร้ ที่ผ่านมาพวกเขาอยู่ในชุมชนด้วยความหวาดกลัวและรู้สึกไร้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นายสว่าง เล่ายี่ปา ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนป่าไม้ เล่าว่า พี่น้องลีซูและหลายๆเผ่าเจอปัญหาผลกระทบเชิงประจักษ์ค่อนข้างเยอะ มีตั้งแต่โดนรือบ้าน มีถูกดำเนินคดี ติดคุก โดนปรับ ถูกตัดฟันไร่ข้าว ไร่ข้าวโพด เป็นมาตรการช่วงแรก ช่วงหลังมีแปลงคดีเข้ามายึดที่ทำกิน มีทั้งที่ต้องขึ้นศาล หรือแบบที่ไม่เจอผู้ต้องหา ทั้งที่แบบรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว บางคนมารู้ตัวอีกที่ที่ทำกินก็ถูกนำไปปลูกป่า ซึ่งหลายคนก็ยังไม่รู้ว่าที่อยู่อาศัย ที่ทำกินตอนนี้จะถูกดำเนินการอะไรแบบนี้ไหม ทำให้เกิดการสูญเสียที่ดิน เกิดความหวาดระแวง หรือทะเลาะวิวาทกันถึงเรื่องการใช้ที่ดิน มีผลต่อการดำรงอยู่ของครอบครัว ไม่มีที่ดินแล้วเขาจะอยู่อย่างไร ทั้งที่มีนโยบายให้ที่ดินดูแลคนยากไร้ แต่ความเป็นจริง เจ้าหน้าที่อ้างกฎหมายอย่างเดียวว่าเป็นแปลงคดี แปลงบุกรุก ทั้งที่แต่เดิมพื้นที่ก็เป็นไร่หมุนเวียน พื้นที่ทำกินของครอบครัว พวกเราเองก็เป็นกลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มที่เปราะบางอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงการพัฒนาต่างๆ การศึกษา ยิ่งมีเรื่องที่ดินอีก ที่ดินถูกยึดไป ไม่มีที่ทำกิน หลายครอบครัวถึงขั้นแตกแยก ไม่สามารถส่งลูกเรียนได้ เพราะไม่มีที่ทำกิน ไม่มีรายได้ หรือบางครอบครัวมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการขึ้นศาล การถูกปรับสินไหมต่างๆ ทำให้หลายคนเครียด ยิ่งมาเจอพิษเศรษฐกิจ เจอโควิดก็เป็นการซ้ำเติมที่รุนแรงขึ้นอีก

นายสว่าง เล่ายี่ปา ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนป่าไม้

ถาวร หลักแหลม ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เล่าว่า สิ่งที่ตนได้เห็นและได้สัมผัสคือ ปัญหาจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) อย่างตัวพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 นั้นมันไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่แรก ออกมาในยุคคสช. ซึ่งตัวแทนประชาชน ตัวแทน ส.ส. ที่จะเข้าไปร่วมพิจารณากฏหมาย ตอนนั้นภาคประชาาชนไปคัดค้านการออกกฎหมายนี้ จนหลานท่านถูกหิ้วตัวออกมาจากรัฐสภา ภาพในตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นภาพที่หดหู่ ผมคิดว่ากฎหมายที่ออกมาโดยที่ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมไม่เป็นธรรมกับคนที่ถูกนำมาปฎิบัติอย่างพวกเรา โดยเฉพาะมาตร64 65 ในเรื่องของการสำรวจพื้นที่ ที่ทำกิน และการขอใช้พื้นที่ป่า ในเงื่อนไขระบุว่า การจะเข้าไปต้องเข้าร่วมในโครงการ มีการขออนุญาตว่าพื้นที่ไหนจะหาเห็ดได้ หาหน่อไม้ได้ อย่างชุมชนบ้านผมขุดหน่อไม้ขาย เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ซึ่งในกฎหมายระบุว่าสามารถไปขุดหาและเก็บของป่าได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามปกติธุระ เราก็มีความกังวล เพราะว่าคำว่า ปกติธุระนิยามมันคืออะไร เราก็ไม่เข้าใจ ต่อไปอุทยานจะมีการมาตั้งด่านหน้าหมู่บ้านเราไหม แล้วเราจะเอาหน่อไม้ซึ่งเป็นรายได้ของหมู่บ้านเราออกไปขายไม่ได้ เพราะมีการระบุว่าสามารถไปหาได้ตามปกติธุระ มันกระทบกับชุมชนที่อยู่ในป่า เพราระชุมชนชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ อยู่บนพื้นที่สูง อยู่ในเขตป่า ซึ่งการดำเนินการแก้ไขปัญหาของภาครัฐไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน

ถาวร หลักแหลม ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ

พรชิตา ฟ้าประทานไพร ตัวแทนชุมชนบ้านกะเบอะดิน กล่าวว่า อมก๋อยบ้านของเธอ หมายถึง ขุนน้ำหรือต้นน้ำ เป็นพื้นที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ ยังคงมีปัญหาซ่อนไว้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเหมืองถ่านหิน พื้นที่ 284 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเือนของชาวบ้านบ้านกะเบอะดิน เป็นที่ทำกิน ชาวบ้านกังวลถึงผลกระทบในหลายด้าน ทั้งเรื่องวิถีชีวิต เรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และโลกร้อนที่จะตามมาในอนาคต เราเห็นถึงความไม่ถูกต้องในการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีความโปร่งใส ไม่เคารพสิทธิชุมชน ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน คนไม่ได้เข้าร่วม ไม่ได้แปลเรื่องผลกระทบให้ชาวบ้านได้ทราบ ชาวบ้านได้ต่อสู้เพื่อคัดค้าน ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 65 เราได้ร้องศาลปกครอง เพราะเป็นพื้นที่มีความอุดทสมบูรณ์ของป่าไม้ ทีทำกินชาวบ้าน ศาลรับฟังฟ้องไปแล้ว

พรชิตา ฟ้าประทานไพร ตัวแทนชุมชนบ้านกะเบอะดิน

บัญชา มุแฮ ตัวแทนพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมบ้านดอยช้างป่าแป๋ ลำพูน ซึ่งเป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษและพื้นที่จิตวิญญาณกะเหรี่ยง ซึ่งใช้วิถีการทำไร่หมุนเวียนตามความเชื่อของภูมิปัญญาปกาเกอะญอในการดูแลป่ากว่า 2 หมื่นไร่ ไม่มีภูเขาหัวโล้น ไร่ข้าวโพด พืชเชิงเดี่ยว และมีสัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์ เราดูแลให้ไม่มีไฟป่าเข้ามา ทำแนวกันไฟ ออกลาดดตระเวณดับไฟ ดูแลป่ามาโดยตลอด ทางเรากลับได้รับผลกระทบจากการไม่มีสิทธิในผืนป่า และนโยบายอย่างมาตรการห้ามเผา อันเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันไฟป่าของภาครัฐ จนเกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า สิ่งที่ตามมาคือเรื่องผลผลิตจากพื้นที่ไร่หมุนเวียนลดลง เนื่องจากการกำหนดช่วงเวลาในการเผาทำให้ไม่สามารถทำการจัดการไร่หมุนเวียนในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้

บัญชา มุแฮ ตัวแทนพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมบ้านดอยช้างป่าแป๋ ลำพูน

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนทางสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในนามเครือข่ายประชาชน เกษตรกรรายย่อย และกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของรัฐไทย ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน มีความห่วงกังวลต่อการประชุมดังกล่าว “เนื่องจากเป็นการประชุมที่จะมีแถลงนโยบายด้านเดียวโดยรัฐบาลไทย ซึ่งประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้มีส่วนร่วม โดยที่ผ่านมาแม้นจะมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหามาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับและได้รับแก้ไขปัญหาตามเท่าที่ควร ซ้ำร้ายยังปรากฏการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์ การละเมิดสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น” จึงมีการยื่นหนังสือซึ่งมีมีทั้งสิ้น 7 ข้อ ดังนี้

1.เราขอยืนยันหลักการ “สิทธิชุมชน” ในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน

2.ให้เร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ทั้งนี้เพื่อเยียวยาแก้ไขประชาชนที่ได้ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร และในระหว่างรอการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้านและเยียวยาประชาชนให้ได้รับความธรรม โดยให้สามารถกลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้ และห้ามนำที่ดินที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมเข้าสู่กระบวนการปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิตโดยเด็ดขาด

3.ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ออกมาในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้ร่างกฎหมายดังกล่าวโดยชุมชน บนหลักการคนอยู่กับป่า ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์อย่างสมดุล

4. ให้เดินหน้าธนาคารที่ดินและกลไกภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน เพื่อตอบโจทย์การกระจายการถือครองที่ดินสู่มือเกษตรกรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

5. หยุดแนวนโยบายการ “ฟอกเขียว” โดยข้ออ้าง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วมาแย่งยึดที่ดิน ปลูกป่าทับที่ทำกินของชุมชน และจงหยุดโครงการที่อ้างว่าเป็นการพัฒนาของรัฐและเอกชนทั้งหมดที่เข้ามาแย่งยึดทรัพยากรชุมชนท้องถิ่น ซึ่งกำลังทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยทันที

6. หยุดนโยบายมาตรการห้ามเผาอย่างไร้สติปัญญา เหมารวมการใช้ไฟตามความจำเป็นของนิเวศวัฒนธรรมไร่หมุนเวียนตามปรกติฤดู โดยที่ไม่เคยมีมาตรการใดๆ กับภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ หรือแหล่งกำเนิดมลพิษใหญ่ และไม่เคยมีมาตรการดูแลชุมชนชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบมาตรการประจำฤดูของรัฐ

7. ให้รัฐไทยปฏิบัติตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และขอให้สนับสนุนโดยการเร่งรัดในนายกรัฐมนตรีลงนามรับรอง “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง (ฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 16,559 รายชื่อ) โดยรัฐไทยจะยอมรับ “หลักการคุ้มครองพื้นที่วัฒนธรรม” และการดำรงอยู่ของ “ชนเผ่าพื้นเมือง” ในร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย

ตัวแทนสกน. แสดงออกเชิงสัญลักษณ์และเข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงทรัพฯ ในการประชุมเอเปคป่าไม้ CR: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

หลังจากมีการยื่นหนังสือก็ไม่ได้มีความคืบหน้า และกระทรวงทรัพยากาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเดินหน้าในนโยบายด้านป่าไม้และที่ดิน โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ได้ถึง 174.38 ล้านไร่ หรือ 27.9 ล้านเฮกตาร์ ภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) จากที่กำหนดไว้ 125 ล้านไร่ หรือ 20 ล้านเฮกตาร์ ที่ยังคงมีประชาชนได้รับผลกระทบและยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงนัดรวมตัวกัน ลานประตูท่าแพ เชียงใหม่ เวลา 9.00 น. เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และมีปราศรัยจากผู้ถูกกดขี่ และยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ