บวชป่าพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง นาก และความพยายามผลักดันสู่แรมซาร์ไซต์

บวชป่าพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง นาก และความพยายามผลักดันสู่แรมซาร์ไซต์

วันนี้ 2 กุมภาพันธ์ วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ World Wetlands Day หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้คนหันมาใส่ใจพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญ ทั้งการเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ แหล่งเพาะพันธุ์ อนุบาลสัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และพืชพันธุ์หลากหลายชนิด ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญที่มนุษย์สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้หลายหลาย ทั้งการเป็นแหล่งอาหาร ที่เที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งของสมุนไพรรักษาโรค และบางแห่งยังเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของคนในท้องถิ่น

งานวันพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง Ing Wetland Day 2022 ขอบคุณภาพ: พิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค

วันนี้ 2 กุมภาพันธ์  ชุมชนบ้านทุ่งศรีเกิด ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย พื้นที่ตัวแทนของคนพื้นที่ชุ่มน้ำและและสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงจัดกิจกรรมสืบชะตาป่าชุ่มน้ำ แม่น้ำอิง ร่วมผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำสู่ Ramsar site วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก(World Wetland Day ) เพราะป่าชุ่มน้ำบ้านทุ่งศรีเกิด เนื้อที่ประมาณ 138 ไร่เป็นส่วนหนึ่งผืนป่าในลุ่มน้ำอิงตอนปลาย ที่สำรวจพบว่ามีความหลากหลายของชนิดต้นไม้อย่างน้อย 7ชนิด ที่พบมากคือ ข่อย ชุมแสง และหัด ซึ่งเป็นไม้ที่ทนน้ำท่วมอันเป็นเอกลักษณ์ของป่าชุ่มน้ำ โดยมีความหนาแน่นของต้นไม้โดยรวม 90ต้นต่อไร่ มีการทดแทนของไม้หนุ่ม 3ชนิด ในอัตรา 83 ต้นต่อไร่ และการทดแทนของลูกไม้อย่างน้อย 5ชนิด ในอัตรา 14,160ต้นต่อไร่ มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนเหนือดิน (above ground carbon) 14.75 ตันต่อไร่ ซึ่งถือมีศักยภาพสูงมาก หากมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชุ่มน้ำนี้เป็นพื้นที่อื่นๆ จะส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์กว่า 53.42 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่

บวชป่าชุ่มน้ำชุมชนทุ่งศรีเกิด งานวันพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง Ing Wetland Day 2022 ขอบคุณภาพ: พิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค

‘ป่าลุ่มน้ำอิงตอนล่าง’ เป็นพื้นที่ในลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขง คนท้องถิ่นเรียกว่า “ป่าฮิม(ริม)อิง” เป็นป่าที่มีอัตลักษณ์พิเศษหายากเป็น “ป่านอกนิยาม” (Forestry outside definition ) ที่อาจจะมีที่เดียวในประเทศไทยคือ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ประเภทป่าที่มีน้ำท่วมขังบางฤดูกาล (seasonally-flooded forest) โดยท่วมประมาณ 3 เดือนในฤดูน้ำหลากจากน้ำในแม่น้ำอิงผสมกับน้ำจากแม่น้ำโขงที่เอ่อขึ้นมา ทำให้ป่าชุ่มน้ำที่นี่มีระบบนิเวศเฉพาะตัวพบได้แห่งเดียวในประเทศไทย พันธุ์ไม้เด่นที่พบจึงเป็นไม้ที่ทนน้ำท่วมได้เป็นเวลานาน เช่น ข่อย ชุมแสงเป็นต้น ปัจจุบันพบว่าป่าชุ่มน้ำมีอยู่ 26 ป่า พื้นที่กว่า 10,000 ไร่ กระจายตัวอยู่ในทั้ง 4 อำเภอเทิง เชียงของ พญาเม็งราย และขุนตาล ซึ่งป่าในลุ่มน้ำอิงตอนล่างทั้งหมดเป็นป่าที่ชาวบ้านร่วมกันรักษาไว้เป็นป่าของชุมชนอย่างสอดคล้องกับระบบสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น

ปี พ.ศ.2563 ป่าชุ่มน้ำบุญเรืองและชุมชนบุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้รับและจัดกิจกรรมการเฉลิมฉลองที่ได้รับรางวัล Equator Prize จากUNDP ซึ่งเป็นรางวัลบเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก เพราะกพลังของชุมชนและการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่และประวัติศาสตร์ในการอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องกว่า 300 ปี

ในช่วงปี พ.ศ.2564 มีการสำรวจพบนาก 2 ชนิดในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงจากการตั้งกล้องดักจับ camera tab จำนวน 25ตัว ที่ทีมนักวิจัยและชาวบ้านช่วยกันติดตั้งไว้ในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงสองจุด บริเวณป่าบุญเรืองและป่าชุ่มน้ำบ้านม่วงชุมเป็นเวลา1 เดือน คือนากใหญ่ธรรมดาและนากใหญ่ขนเรียบ  ซึ่งนาก” 3 ใน 4 ชนิดถูกขึ้นบัญชีแดงของไอยูซีเอ็น เป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก ประชากรมีแนวโน้มประชากรลดลง นอกจากนี้ยังพบอีเห็น แมวดาว เสือปลา กระต่ายป่าและนกต่างๆ แสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และสมบูรณ์ของระบบนิเวศของลุ่มน้ำอิง

ตอนนี้ป่าชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง กำลังถูกคุกคามด้วยหลายปัจจัย ทั้งในเรื่องการพัฒนา และขยายพื้นที่ทางการเกษตร การรุกล้ำพื้นที่ การสร้างเขื่อน เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ หรือภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง  ชาวบ้านและนักวิจัยก็พยายามเก็บข้อมูล ศึกษาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟู ให้คนสามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่ชุ่มน้ำได้ บางส่วนก็พยายามแก้ปัญหา เช่น เรื่องของคนกับนากที่มีแหล่งอาหารในพื้นที่เดียวกัน นากจึงไปแย่งชิงปลา ทำลายเครื่องมือหาปลา คนหาปลาเสียหายกว่า20,00 บาทต่อคน/ปี ทำให้ภาพความขัดแย้งระหว่างคนและนากเกิดขึ้น ทีมนักวิจัยเลยลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับชุมชน พร้อมทั้งจะพัฒนาให้พื้นที่ลุ่มน้ำอิงเป็นที่อนุรักษ์นากพื้นที่แรกของเอเชีย พร้อมเสนอให้จัดตั้งกองทุนเยียวยาเครื่องมือหาปลาที่ถูกนากทำลาย และการดูแลฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในระยะยาว เพาะพันธุ์ปลาท้องถิ่น สร้างแหล่งอาหารตามธรรมชาติเพื่อให้ความขัดแย้งลดลง

ขณะเดียวกันความพยามผลักดันต่อเนื่องเพื่อให้ ‘พื้นที่ชุมน้ำลุ่มน้ำอิง’ ขยับสู่การขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ “แรมซาร์ไซต์” นำไปสู่การมีเกราะคุเมกันในอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนที่แข็งแรงขึ้น เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้คนในพื้นที่อีกทางในการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำอิงและระบบนิเวศโดยรอบไว้เป็นมรดกเพื่อลูกหลานต่อไป

อ้างอิง
https://share.csitereport.com/share.php?post_id=0000022144
ขอบคุณภาพ และเรื่องราวจาก สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต สภาประชาคมลุ่มน้ำอิง พิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค และคุณพิษณุกรณ์ ดีแก้ว

อ่านเรื่องราวเพิ่มเติม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ