“เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ มีบัวแดง มีนกหลากหลายชนิดรวมถึงนกอพยพมารวมตัวกัน และมีวิถีชีวิตของชาวบ้าน” ภาพทะเลน้อยในความทรงจำของบุ๋ม สุกัญญา อักษรทอง คนรุ่นใหม่พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ที่ปัจจุบันกลับมาอยู่บ้าน ให้สัมภาษณ์กับเพจ C-South Thai PBS ปัจจุบันเธอทำงานกับมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและทำกิจกรรมกับชุมชน เธอยิ่งเห็นความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยมากขึ้น
“เราเห็นความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำมาก ทั้งการได้รับประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์แห่งแรกของประเทศไทย หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสาคัญระหว่างประเทศ (บริเวณพรุควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย) ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของท้องถิ่น และนกอพยพ รวมถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่มีการเข้าไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นการเก็บกระจูด(นำมาทำเครื่องจักสาน) เก็บสายบัว(ทำอาหาร) และทำประมงพื้นบ้าน ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีคุณค่า และควรแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างมาก”
สุกัญญา อักษรทอง
พรุควนขี้เสียน มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มตั้งอยู่ตอนเหนือของทะเลน้อย มีเนื้อที่ 10,541 ไร่ ลักษณะเป็นที่ลุ่ม พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยสังคมพืชประเภทหญ้าและป่าเสม็ด มีคลองเชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา ต้นน้ำของทะเลน้อยมาจากเทือกเขาบรรทัด
พรุควนขี้เสียน เป็นแค่จุดหนึ่งที่อยู่ในภูมิทัศน์ “พรุควนเคร็ง” และเขตห้าล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 200,000 ไร่ พรุควนขี้เสียนจึงเป็นจุดไข่แดง มีความสำคัญเนื่องจากเป็นพื้นที่วางไข่ของนกกว่า 100 ชนิด จากจุดนี้ทำให้พื้นที่ถูกจัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสาคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์)
ดร.เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์
ดร.เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย อธิบายถึงบริบทของพรุควนขี้เสียน ที่มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย 285,625 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช และพรุควนเคร็ง พื้นที่ชุ่มน้ำผืนใหญ่ที่สำคัญทางปากพนังตอนใต้ของจังหวัด ที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์และครอบคลุม พื้นที่ 5 อำเภอ(อ.เชียรใหญ่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ร่อนพิบูลย์ อ.ชะอวด และอ.หัวไทรของจ.นครศรีธรรมราช และพื้นที่บางส่วน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง)
“ในระบบพื้นที่ชุ่มน้ำจะมีระบบนิเวศย่อยอยู่ 3 ระบบ คือ ป่าพรุ ทุ่งหญ้า และบึ่งน้ำ ซึ่งเมื่อมีความหลากหลายของระบบยนิเวศย่อย สิ่งที่ตามมาคือความหลากหลายของสิ่งที่มีชีวิตที่อยู่ในแต่ละระบบนิเวศ มีความหลากหลายทางชีวภาพ นี่คือเสน่ห์ของพื้นที่ชุ่มน้ำที่นี่”
แม้ปัจจุบันจะมีการให้ความรู้กับชุมชน และมีการทำงานอนุรักษ์แบบเชิงรุกขององค์กรและหน่วยงานในพื้นที่ แต่พื้นที่ยังคงเจอปัญหาการใช้ทรัพยากรป่าพรุไม่ถูกวิธี และบางส่วนมีการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ก็ส่งผลต่อระบบนิเวศ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของพื้นที่อยู่ตอนนี้
การดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ผ่านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสร้างความรู้ให้แก่ชุมชนและนักท่องเที่ยว หนุ่ม สุภเศรษฐ โอภิธากรณ์ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชนปากประ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ที่หยิบจับความหลากหลายของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย มาเป็นจุดขายในการท่องเที่ยว
“ชุมชนปากประ มีจุดเด่นคือยอยักษ์ (เครื่องมือจับปลาของประมงพื้นบ้าน) และมีสะพานสำหรับชมพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า และที่นี่เป็น “ยวนนก” ตามคำเรียกของชาวบ้าน (จุดที่มีนกจำนวนมากอาศัยอยู่) เราพานักท่องเที่ยวนั่งเรือชมสิ่งเหล่านี้”
กิจกรรมนั่งเรือชมนิเวศป่าพรุ ปัจจุบันขยายตัวไปยังกลุ่มประมงพื้นบ้านในชุมชนทะเลน้อย ที่เลือกช่วงเวลาว่านำเรือมาเข้าคิว เพื่อรอรับนักท่องเที่ยวชมทุ่งดอกบัว ควายน้ำ และนกชนิดต่าง ๆ ซึ่งก่อเกิดเป็นรายได้ให้กับคนทะเลน้อย
ชาวบ้านที่อยู่รอบพื้นที่ชุ่มน้ำ มีความสุขมากอยู่แล้ว เพราะอากาศดี อาหารดี และมีรายได้ เรามีส่วนช่วยเสริมในเรื่องเส้นทางการท่องเที่ยว และการเปิดโฮมสเตย์ เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับคนในชุมชน
สุภเศรษฐ โอภิธากรณ์
วันนี้การรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย กำลังกลายเป็นโจทย์ร่วมที่มองถึงวิถีเกื้อกูล และการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ ระหว่างธรรมชาติ สัตว์ป่า และชุมชน ดร.เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์ มองว่าการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โดยที่ชุมชนยังคงใช้ประโยชน์จากความเป็นป่าพรุได้อย่างเดิม จะเป็นแนวทางในการปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยได้อย่างยั่งยืน
“สำหรับการพัฒนาป่าพรุ เราต้องให้มีความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หมายถึงคนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าพรุได้ แต่เป็นการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด และร่วมกันดูแล ปกป้องป่าพรุ”
.
ที่มาของเนื้อหา : เพจ C-South
ภาพโดย : ชัยวัณฏ์ เหมรักษ์, มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย (TWF), People foe Peat