มารู้จัก ”แม่นํ้าอิง”ไปกับเรา

มารู้จัก ”แม่นํ้าอิง”ไปกับเรา

วันนี้เพจ The North องศาเหนือ จะชวนมารู้จัก ”แม่น้ำอิง” กันครับ “แม่น้ำอิง.” เป็นแม่น้ำสายหลักของภาคเหนือตอนบนมีต้นกำเนิดจากดอยหลวงหรือเทือกเขาผีปันน้ำจากป่าต้นน้ำ 12 ลำห้วย ไหลผ่าน 2 จังหวัดคือ จังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงราย ผ่าน อ.แม่ใจ อ.เมือง อ.ดอกคำใต้ อ.ภูกามยาว อ.จุนของ จ.พะเยา อ.ป่าแดด อ.พญาเม็งราย อ.เทิง อ.ขุนตาล อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไหลลงแม่น้ำโขงที่บ้านปากอิง อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีความยาวถึง 260 กิโลเมตร

 “แม่น้ำที่ไหลขึ้นเหนือ” แม่น้ำอิงเป็น 1 ในแม่น้ำสายหลักของประเทศไทยที่ไหลสวนทางกับแม่น้ำปรกติขึ้นไปทางทิศเหนือไปรวมกับแม่น้ำโขงเป็นไงละครับเรื่องแรกของแม่น้ำอิงก็แปลกแล้วใช่มั้ยครับ

  “อุโมงค์ต้นไม้” บริเวณริมแม่น้ำอิงมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้สัตว์ต่าง ๆ ทำให้เกิดอุโมงค์ต้นไม้ขึ้นบนทางหลวงชนบทหมายเลข 5031 บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำอิง บ้านบุญเรือง ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ถึงอุโมงค์ต้นไม้แห่งนี้ไม่ยาวมากแต่บอกเลยว่าสวยเหมาะกับการถ่ายรูปมากครับถ้าอยากไปถ่ายรูปกับอุโมงต้นไม้ที่นี่แนะนำให้ไปช่วงเช้าหรือเย็นนะครับจะมีแสงลอดจากเงาต้นไม้มาบอกเลยว่าสวยมาก

“ป่าชุ่มน้ำ” จากบริเวณอุโมงถ้าเรามองภาพมุมสูงเราจะเห็นพื้นที่ป่าริมแม่น้ำอิงหรือที่ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า “ป่าชุ่มน้ำ” แต่ป่าชุ่มน้ำบริเวณแม่น้ำอิงไม่เหมือนกับป่าชุ่มน้ำที่เราคุ้นเคยกันนะครับ ป่าชุ่มน้ำแถวนี้จะเกิดช่วงฤดูฝนเท่านั้นซึ่งเกิดจากการเพิ่มของน้ำจากแม่น้ำโขงในฤดูน้ำหลากทำให้น้ำจากแม่น้ำโขงไหลย้อนเข้ามาตามแนวแม่น้ำอิงทำให้น้ำเอ่อล้ำเข้าท่วมพื้นที่ป่าริมแม่น้ำซึ่งน้ำจะท่วมป่าชุ่มน้ำนี้เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน คือช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคมช่วงนี้แหละครับเป็นช่วงเวลาทองที่ปลาจากแม่น้ำโขงเข้ามาวางไข่บริเวณป่าชุ่มน้ำแถวนี้และป่าชุ่มน้ำนี้ก็เป็นพื้นที่อนุบาลลูกปลาอย่างดีด้วยครับ ป่าชุ่มน้ำแถวแม่น้ำอิงนี้มีอยู่ประมาณ 17 แห่ง จากบริเวณ อ.เทิง ถึง อ.เชียงของ มีพื้นที่ทั้งหมด 8,590 ไร่นู้นเลยครับเยอะจริงๆ

 

ความสำคัญของป่าชุ่มน้ำแม่น้ำอิงคือ

  1. เป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ปลา
  2. เป็นแก้มลิงตามธรรมชาติ
  3. เป็นพื้นที่สัตว์ป่ามาใช้ประโยชน์
  4. เป็นแหล่งรวบรวมพืชอาหารและพืชสมุนไพร
  5. เป็นที่อยู่ของนกอพยพ

วันหนึ่งฉันเดินเข้า “ป่าชุ่มน้ำ” รู้มั้ยครับว่าป่าชุ่มน้ำแห่งนี้มีพืชอย่างน้อยถึง 102 ชนิด ป่าที่นี่แปลกครับจะมี “ต้นข่อย” เยอะเป็นพิเศษชาวบ้านแถวนี้จึงเรียกว่าป่าข่อยตามต้นไม้ที่ขึ้นเยอะในป่าและยังมีต้นชุมแสง ต้นหัดและทองกวาวเป็นต้น อีกอย่างหนึ่งป่าแถวนี้จะมีเถาวัลย์เยอะมากเพราะพื้นที่จะถูกน้ำท่วมประจำเถาวัลย์พวกนี้จะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อให้อยู่รอดได้เพราะเป็นป่าที่มีลักษณะพิเศษชาวบ้านแถวนี้บอกว่าต่อให้เดินป่าเก่งขนาดไหนก็สามารถหลงได้ง่าย ๆ เพราะลักษณะต้นไม้จะเหมือน ๆ กันหมด

 “ซุปเปอร์มาร็เก็ต” ถ้าพูดถึงป่าแล้วของที่มาคู่กับป่าคืออาหารที่ได้จากป่านะครับ ชาวบ้านแถวนี้เขาหาวัตถุดิบไปทำอาหารจากป่าแห่งนี้แหละครับและที่สำคัญเขาหาได้ทั้งปีนะครับ ชาวบ้านแถวนี้เขามีพืชที่ใช้จากป่าได้ประมาณ 50 ชนิด นอกจากพืชแล้วชาวบ้านเขายังหาน้ำผึ้งกับตัวต่อด้วยนะครับ

 อาหารแบบบ้าน ๆ วันที่ผมไปเที่ยวแม่น้ำอิงผมได้ชิมอาหารแบบบ้าน ๆ หลายอย่างเลยครับ ทั้งแกงแคไก่ดำ ต้มยำปลาค้าว น้ำพริกปลาแห้ง น้ำพริกมะกอ แต่ที่เด็ดที่สุดคือแกงดอกเดาใส่ปลาค้าวอันนี้ทีเด็ดเลยครับ ดอกเดาที่ภาคเหนือเขาเรียกกันคือ กำลังควยถึกเป็นชื่อกลางที่เรียกกัน เป็นพืชเถาเลื้อยครับขึ้นอยู่ในป่าชุ่มน้ำของชุมชนนี่แหละครับ ยังจำได้มั้ยครับจากภาพที่ 5 ที่ผมบอกว่าป่าชุ่มน้ำมักจะมีไม้เถาขึ้นอยู่เพราะสามารถโตหนีน้ำได้ในฤดูน้ำหลาก ดอกเดาหรือกำลังควายถึกสามารถหากินได้ในฤดูนี้ครับ รดชาดจะออกขมนิดๆ ที่สำคัญกำลังควายถึกเป็นยาบำรุงกำลังอยางดีสมชื่อเหมาะกับท่านชายทั้งหลายนะครับ 555

 “หาปลากับชาวบ้าน” แหม…มาถึงแม่น้ำอิงทั้งทีถ้าไม่พูดเรื่องหาปลาก็จะหาว่ามาไม่ถึงใช่มั้ยครับ

ชาวบ้านแถวนี้เขายังหาปลากันแบบวิถีบ้าน ๆ นะครับโดยใช้เครื่องมือง่าย ๆ อย่างเช่น แห ไซ ลอบดักปลาอะไรพวกนี้ ชาวบ้านบอกว่าแต่เมื่อหลายสิบปีก่อนปลาแถวนี้เยอะมากหาปลาครั้งหนึ่งนี่ข้องใส่ปลานี่ใส่ไม่ได้นะครับเพราะมันเล็กเกินไปต้องใส่กระสอบพอมาช่วงปี 2530 กว่า ๆ แม่น้ำอิงเริ่มเสื่อมโทรมปลาน้อยลงชาวบ้านหาปลายากขึ้น ประมาณปี 2540 ชาวบ้านเลยหันมาอนุรักษ์ปลาครับโดยกันเขตของแม่น้ำอิงไว้เป็นช่วง ๆ เพื่อเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาครับและไม่ใช่หมู่บ้านเดียวที่ทำนะครับหลายหมู่บ้านตลอดลำน้ำอิงเขาทำกันหลาหมู่บ้านเลยครับแล้วเขาตั้งกฎด้วยนะว่าใครฝ่าฝืนมาจับปลาในเขตอนุรักษ์ต้องถูกลงโทษ เดี๋ยวนี้หน่ะหรอครับชาวบ้านแถวนี้หาปลากันตลอดทั้งปีเพราะมีทั้งเขตอนุรักษ์และพื้นที่ชุ่มน้ำตามแนวแม่น้ำอิงที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาทำให้มีปลาเพิ่มขึ้นครับ จากที่เคยมีการสำรวจพบว่าแม่น้ำอิงมีปลาถึง 104 ชนิดเลยนะครับ

นอกจากจะมีปลาเพิ่มขึ้นแล้วชาวบ้านบอกว่าที่แม่น้ำอิงยังมีตัวนากและเสือปลาด้วยนะครับ ชาวบ้านบอกว่าเวลามาปักเบ็ดไว้นี่โดนตัวนากและเสือปลาขโมยตัวปลาไปเหลือไว้ให้แต่หัวปลา ชาวบ้านเขาบอกว่าเขาก็ไม่จับหรือฆ่ามันนะครับเพราะเขาอนุรักษ์ไว้เหมือนกันมันเป็นตัวสัดความอุดมสมบูรณ์ของน้ำอิงแห่งนี้ครับ

 จากที่ผมได้ไปเที่ยวแม่น้ำอิงแค่ 1 วันผมรู้สึกว่าที่นี่เจ๋งมากเลยนะครับยังไงนะหรอ เดี๋ยวผมเล่าให้ฟังเป็นข้อ ๆ ละกัน

  1. เป็นแม่น้ำแค่ไม่กี่สายที่ไหลขึ้นเหนือ อันนี้ไม่ได้อุดมสมบูรณ์แต่อย่างใดแต่ผมว่าในประเทศไทยมีแม่น้ำน้อยมากที่จะไหลขึ้นเหนือ
  2. มีอุโมงค์ต้นไม้ ถ้าป่าไม่สมบูรณ์จริง ๆ มีโอกาสน้อยมากครับจะที่ต้นไม้จะแผ่กิ่งเข้าหากันจนเกิดเป็นอุโมงต้นไม้ไม่ใช่แค่ที่ถนนนะครับแต่ในพื้นที่ป่าชุ่มน้ำเองก็มีหลายจุดเลยครับที่ต้นไม้มีลักษณะเป็นอุโมงต้นไม้
  3. มีป่าชุ่มน้ำถึง 17 แห่ง รวม 8,590 ไร่บริเวณลุ่มน้ำอิงตอนล่างจาก อ.เทิง ถึง อ.เชียงของ จ.เชียงรายถ้าเป็นภาคอื่น ๆ ที่เป็นพื้นที่ลุ่มคงไม่แปลกนะครับที่จะเกิดป่าชุ่มน้ำแต่ภาคเหนือบ้านเรามีป่าชุ่มน้ำนี่สำหรับผมถือว่าพิเศษมากเลยครับแล้วพื้นที่ขนาดใหญ่ด้วยครับ
  4. แค่พื้นป่าชุ่มน้ำที่ ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่เดียว เราจะสามารถพบสัตว์ได้ถึง 104 ชนิด เป็นสัตว์ปีก 79 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 8 ชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองถึง 6 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 13 ชนิดและสัตว์เลื้อยคลาน 4 ชนิด เยอะมั้ยละครับ
  5. ป่าชุ่มน้ำแห่งนี้มีพืชอย่างน้อยถึง 102 ชนิดและมันสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 12-13 ตันต่อไร่ด้วยนะ
  6. มันเป็นที่รองรับนกอพยพจากประเทศจีนด้วยพบนกถึง 90 ชนิด เป็นนกอพยพถึง 16 ชนิด
  7. ปี 2558 เขาสำรวบพบว่าในแม่น้ำอิงมีปลาถึง 103 ชนิดแล้วป่าชุ่มน้ำก็เป็นที่เพาะพันธุ์ปลาด้วยนะ

“แรมซาร์” คำนี้ผมก็พึ่งมาเข้าใจตอนที่ผมไปแม่น้ำอิงนี่แหละครับ มันคือ อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำระหว่าประเทศโดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่ของนกน้ำ หรืออนุสัญญาแรมซาร์ อนุสัญญานี่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 ครับที่เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน ตอนนี้มีสมาชิกอยู่ 165 ประเทศและประเทศไทยก็ภาคีในอนุสัญญานี่ด้วยครับ มีผลตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2541 นู้นครับ ใจความคร่าว ๆ ของอนุสัญญาแรมซาร์คือ อนุรักษ์ยับยั้งการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำและใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มน้ำอย่ายั่งยืนและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ

รู้หรือไม่ครับว่าในลุ่มน้ำอิงมีการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำของเอเชียและมีความสำคัญระดับนานาชาติ 2 ที่คือ หนองเล็งทราย อ.แม่ใจ จ.พะเยาและกว๊านพะเยา อ.เมือง จ.พะเยาและตอนนี้กำลังมีการผลักดันป่าชุ่มน้ำแม่น้ำอิง 17 แห่ง รวม 8,590 ไร่ให้ขึ้นทะเบียนแรมซาร์ด้วยนะครับเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพื้นที่ชุ่มน้ำริมแม่น้ำอิงไม่ให้สูญหายไป

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ