ฟังเสียงประเทศไทย : “ตุ้มโฮม” รับมือน้ำท่วม-แล้ง ลุ่มน้ำอีสาน

ฟังเสียงประเทศไทย : “ตุ้มโฮม” รับมือน้ำท่วม-แล้ง ลุ่มน้ำอีสาน

ฟังเสียงประเทศไทย ยังคงออกเดินทางในทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมรับฟังเสียงของผู้คนด้วยหัวใจที่เปิดรับ เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้านและหวังจะร่วมหาทางออกจากโจทย์ความท้าทายของผู้คนในแต่ละพื้นที่

รายการฟังเสียงประเทศไทย Next normal พาออกเดินทางต่อที่ภาคอีสาน ณ อุบลราชธานี อีกครั้ง ชวนทุกคนร่วมฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ พร้อมกับข้อมูลที่รอบด้าน ที่ศาลาท่าเสด็จ ริมแม่น้ำมูล บ้านคูเดื่อ อ.เมืองอุบลราชธานี  เพื่อร่วมกันมองภาพอนาคตกลไกการป้องกันและรับมือภัยพิบัติในลุ่มน้ำอีสาน ทั้ง โขง ชี มูน ที่อาจจะเกิดขึ้น ผ่านการจัดวงคุยภายใต้แนวคิด  Citizen Dialogues ประชาชนสนทนา

เราเชื่อว่าการเดินทางทุกครั้งหัวใจของการมาเจอคือได้มา “ฟัง” แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ หรือได้เติมข้อมูลให้กัน และนำมาคิดไปข้างหน้า เพื่อร่วมออกแบบภาพอนาคต โอกาสและข้อท้าทายมาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้น รายการยังมีข้อมูลพื้นฐาน โอกาสและข้อท้าทายจากพื้นที่ลุ่มน้ำอีสาน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ภาพรวมเพิ่มมากขึ้น

ลุ่มน้ำอีสาน

ภาคอีสานประกอบไปด้วย 3 ลุ่มน้ำหลัก คือ ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ  มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมกว่า 100 ล้านไร่ ซึ่งมีการใช้ประโยชน์และประสบปัญหาผลกระทบ ทั้ง น้ำท่วม-น้ำแล้ง ตลอดจนมีความพยามแก้โจทย์เหล่านี้มากว่า 30 ปี

ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 47,161.97  ตารางกิโลเมตร มี 36 ลุ่มน้ำสาขา ความยาวลำน้ำ 520 กม. (เฉพาะผ่านภาคอีสาน) ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี 26,713 ล้าน ลบ.ม.

ลุ่มน้ำชี มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 49,273.86 ตารางกิโลเมตร มี 27 ลุ่มน้ำสาขา  ความยาวลำน้ำ 1,030 กม. ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี 11,257 ล้าน ลบ.ม.

ลุ่มน้ำมูล มีพื้นที่รวมกว่า 70,943.01 ตารางกิโลเมตร  มี 53 ลุ่่มน้ำสาขา ความยาวลำน้ำ 880 กม. ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี 19,835 ล้าน ลบ.ม.

กรอบแนวคิดแผนการจัดการน้ำแบบพลวัตโดยประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ ให้ความสำคัญกับกรอบการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่

1. การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค

2. การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตเกษตร และ อุตสาหกรรม

3. การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย

4. การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ

5. การบริหารจัดการ

โดยจะถ่ายโอนไปสู่การจัดการแผนแม่บทลุ่มน้ำผ่านกลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งรายงานประจำปี 2565 สำนักงานทรัพยากรน้ำ ระบุว่า สนทช. ได้ศึกษาโครงการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี

ซึ่งผลการวิเคราะห์ในด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรในพื้นที่ พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วย

1. การขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้

2. น้ำท่วมน้ำแล้ง

3. คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม

4. ทรัพยากรแหล่งต้นน้ำถูกทำลาย

5. ผลผลิตทางการประมงลดลง

6. รายได้ประชาชนต่อ

7. การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม

อุบลราชธานี เมืองปลายน้ำ

อุบลราชธานี มีปริมาณฝนรายปีเฉลี่ย 1,609 มิลลิเมตร อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 120-140 เมตร แต่บางพื้นที่มีความลุ่มต่ำ มีน้ำท่าผ่านจังหวัดเฉลี่ย 19,237 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมาจากแม่น้ำชี 9,617 ล้าน ลบ.ม. ถัดลงมาจากแม่น้ำมูลก่อนจุดบรรจบชี 7,420 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำเฉลี่ยรายปีไหลลงแม่น้ำโขง 25,400 ล้าน ลบ.ม.

มีพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในเขต อ.เมือง อ.วารินชำราบ อ.สว่างวีระวงค์

มีพื้นที่ภัยแล้งซ้ำซากเป็นพิเศษในเขต ต. เหล่าเสือโก๊ก อ. เหล่าเสือโก๊ก ต.สำโรง อ.ตาลสุม

และเมื่อเดือนธันวาคม 2565 มีครัวเรือนในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ที่ได้รับผลกระทบประสบสาธารณภัยและประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ 14 อำเภอ ใน 3 ลักษณะ

1. กรณีที่ 1 ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขัง ไม่เกิน 1 เดือน จำนวน 16,081 ครัวเรือน

2. กรณีที่ 2 ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วม เกิน 1 เดือนแต่ไม่เกิน 2 เดือน จำนวน 4,518 ครัวเรือน

3. กรณีที่ 3 ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมเกิน 2 เดือน จำนวน 3,606 ครัวเรือน

ซึ่งปี 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนรวมทั้งประเทศ จะน้อยกว่าปี 2565 และจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5% ซึ่ง ปี 2565 สูงกว่าค่าปกติ 14%

คาดการณ์พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 1-2 ลูก โดยมีโอกาสสูงจะที่เคลื่อนผ่านบริเวณภาคอีสานและภาคเหนือในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน

ความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วมหรือภาวะแล้ง ที่ส่งผลต่อคนลุ่มน้ำในภาคอีสาน นับเป็นโจทย์ใหญ่และโอกาสที่หลายฝ่ายจะเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ในการป้องกันและลดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และวิถีชุมชน เพราะจากนี้ ทั้งสภาวะแล้ง และน้ำท่วม ดูเหมือนจะมีความถี่และแนวโน้มผลกระทบรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ หรือ Climate change และเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านปรากฏการณ์จากลานีญาสู่เอลนีโญ ฟังเสียงประเทศไทย จึงชวนเครือข่ายลุ่มน้ำอีสาน ล้อมวงคุยริมแม่น้ำมูล ที่บ้านคูเดื่อ อ.เมืองอุบลราชธานี เพื่อแลกเปลี่ยนถึงภาพอนาคต “กลไกป้องกันและรับมือภัยพิบัติ” ร่วมกันในระดับพื้นที่

ฉากทัศน์ A : วิ่ง 100 เมตร

การรับมือและจัดการภัยพิบัติเป็นแบบปีต่อปี การจัดการยังเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติจากส่วนกลาง ขาดความคล่องตัว ประชาชนจึงทำได้เพียงตั้งรับและรอคอยความช่วยเหลือ ซึ่งจำเป็นต้องมีการออกแบบร่วมกันให้หน่วยงานในท้องถิ่นสามารถปรับแผนการรับมือภัยพิบัติ และทบทวนกฎหมายข้อบังคับ หรือมาตรการรองรับภัยพิบัติต่าง ๆ ได้ ตั้งแต่การทำกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ ออกมาใช้ โดยนำบทเรียนที่ได้จากภัยพิบัติแต่ละครั้งมาแก้ไขกฎหมายทันที เพื่อเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพการทำงานของท้องถิ่น สร้างความมั่นใจในการช่วยเหลือและลดผลกระทบจากภัยพิบัติแก่ประชาชน มีการเตรียมการที่ดีล่วงหน้า (Preparedness) โดยออกแบบการจัดการรับมือภัยพิบัติตามแนวทางเฉพาะเจาะจง เพื่อให้มีการจัดทำแผนการจัดการภัยพิบัติขั้นสูงสุดที่เหมาะสมสอดคล้องกับแต่ละท้องถิ่น

ฉากทัศน์ B : วิ่งผลัด 4 x 100 เมตร

การรับมือและจัดการภัยพิบัติเป็นไปตามการออกแบบร่วมกันจากหลายภาคส่วน มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันในพื้นที่มากขึ้น แต่ยังขาดความคล่องตัวจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีระเบียบข้อบังคับหลายขั้นตอน ขณะที่เมื่อเผชิญเหตุผู้เกี่ยวข้องในท้องถิ่น ท้องที่ ต้องแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยยึดแนวทางการบริการสาธารณะแนวใหม่ (New public service) เน้นให้ความเสมอภาค ให้สิทธิและหน้าที่ในฐานะพลเมืองมีส่วนร่วม โดยมีรัฐสนับสนุนไม่ใช่ผู้กุมแนวทางหรือนำทาง (Serve Rather Than Steer) มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อร่วมออกแบบการป้องกันและรับมือภายใต้สาธารณะประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติหรือท้องถิ่นของตนเอง เน้นให้ท้องถิ่นย่อย ๆ ต่าง ๆ มีศักยภาพมีอำนาจหน้า ที่ตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกัน และบรรเทาสาธารณะภัยได้อย่างเต็มที่ เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน

ฉากทัศน์ C :  วิ่งมาราธอน

การรับมือและจัดการภัยพิบัติให้ความสำคัญกับเครือข่ายการทำงานบูรณาการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอาสาสมัคร ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนที่มีประสิทธิภาพ สามารถ รับมือ กู้ชีพ กู้ภัย และช่วยเหลือกันในระดับชุมชน ภายใต้ความร่วมมือกับรัฐ เอกชน นักวิชาการ และประชาชน ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายลุ่มน้ำทั้งอีสาน โขง ชี มูล และทั่วประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการหาแนวร่วม และนำเอาระบบฐานข้อมูล DATA ที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการวางแผนออกแบบบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ร่วมกับการปรับแก้กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้การทำงานทุกระดับมีความคล่องตัว มีเครื่องมือ อุปกรณ์ในการช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่สามารถปฏิบัติการได้จริง แต่ต้องใช้เวลาในการออกแบบ หารือ และคิดคำนวณต้นทุนที่เกี่ยวข้อง เพราะการบริหารจัดการน้ำ มีความเกี่ยวข้องทั้งภาครัวเรือน เกษตรกรรม และ อุตสาหกรรม

บุญทัน เพ็งธรรม เครือข่าย อช.ปภ.อุบลราชธานี หนึ่งในผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมฉากทัศน์ บอกว่า ตอนนี้ทางเครือข่ายกับชาวบ้าน ได้มีการพูดคุยกันว่า เราจะทำอย่างไรถึงจึงจะไม่พึ่งพาหน่วยงานรัฐมากเกินไป เพราะเราก็อยากพึ่งตัวเอง โดยการสร้างเรือ ให้ชาวบ้านได้ฝึกทำเรือ ซึ่งทำมาแล้วหลายชุมชน และช่วงน้ำท่วมปี 2565 ที่ผ่านมา ได้ทำโรงครัว เพราะว่าเราเห็นการขนย้ายของชาวบ้านแล้ว คงไม่มีเวลามาทำอาหารรับประทานเอง และขนย้ายมาอยู่ศูนย์อพยพ เขาก็เหนื่อยกันแล้ว เราจึงได้ทำโรงครัวกลางให้กับชาวบ้าน และนี่คือจุดเริ่มต้นของชาวบ้านที่มีการคิดเพื่อช่วยเหลือกันเองโดยที่หน่วยงานยังไม่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งก็ไม่ได้โทษหน่วยงานใดแค่อยากพูดเป็นข้อมูลให้ฟัง

นอกจากนี้ชาวบ้านก็คุยกันว่า หากในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเกิดภัยพิบัติขึ้นอีก เราจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้น้ำท่วมเป็นเหมือนเดิม จึงมีการวางแผนไว้ว่าอีก 3 ปีข้างหน้า เราอาจจะทำแพลอยน้ำให้กับชาวบ้าน ที่สามารถอาศัยอยู่กับน้ำได้ หรือเป็นบ้านลอยน้ำสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอยู่กับบ้านโดยไม่อพยพขึ้นไปอยู่บนถนน ซึ่งบางคนไม่รู้บริบทของคนที่ถูกน้ำท่วม มีแต่คิดว่าทำไมไม่ย้ายไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้ หรือแค่อยากไปอยู่บนถนนเพื่อรับของแจก ซึ่งไม่เป็นจริง เพราะชาวบ้านก็อยากไปอยู่ในที่ปลอดภัย แต่ก็อยากเห็นบ้านตัวเอง เขาจึงไม่อยากย้ายไปไกล ๆ จึงคิดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าอยากมีบ้านลอยน้ำ ซึ่งจะเป็นโมเดลที่เราจะทำให้ชาวบ้าน ซึ่งจะทำให้เห็นว่าอยู่ในน้ำก็สามารถประกอบอาชีพได้ เพราะว่าอีกหลายปีข้างหน้า ภัยพิบัติจะรุนแรงขึ้น โดยที่เราก็ต้องปรับตัวตาม ไม่ใช่การย่ำอยู่กับที่แล้วก็โดนท่วมแบบเดิม ซึ่งเราก็ยังต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือในช่วงที่มีการออกแบบแผนงาน ก็อยากให้มีภาคประชาชน เข้าไปร่วมคิดร่วมวางแผนด้วย เพราะชาวบ้านจะรู้ว่าเวลาน้ำมานั้นจะเป็นอย่างไร และมีผลกระทบรุนแรงมากน้อยแค่ไหน จึงอยากให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมกับตรงนี้

คุณฐนโรจน์ วรรัฐประเสิรฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช.

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 พ่อแม่พี่น้องบางท่านอาจจะไม่ทราบว่าปัจจุบันมีองค์กรใหม่ขึ้นมาคล้าย ๆ กับกรมทรัพยากรน้ำ แต่นี่คือสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชานติ ซึ่งก็มีหน้าที่มาดูเรื่องของนโยบายในการพัฒนาแหล่งน้ำ การใช้น้ำ ร่วมทั้งการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งหลังจากที่มี พ.ร.บ. ขึ้นมาแล้วก็มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมา เป็นคณะกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวของเข้ามาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกรมอุตุฯ กรมชลประทาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวของกับเรื่องน้ำ รวมถึงทหาร และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ซึ่งทำให้มีเอกภาพในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งไม่ใช่ต่างคนต่างคิดต่างทำ ซึ่งวันนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงเข้ามาร่วมบูรณาการ จัดตั้งเป็นกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และเราก็จะมีศูนย์ส่วนหน้าเวลาเกิดเหตุ ซึ่งที่ผ่านมาเราเพิ่งจะมาจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ที่สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี ซึ่งการจัดตั้งส่วนนี้เกิดจากการคาดการณ์นะครับว่าน้ำมันมีโอกาสที่จะเอ่อล้นและท่วม โดยเรามาตั้งต้นเดือนกันยายน 2565 พอเดือนตุลาคมน้ำก็ท่วมสูงสุดเลย ซึ่งเราก็จะมาร่วมกันบูรณาการณ์ มีการวิเคราะห์จากข้อมูลที่มี และเมื่อวิเคราะห์แล้ว มีข้อมูลแล้ว เราก็มีการแจ้งประชาสัมพันธ์ ส่งไปยัง ปภ. ส่งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ หรือเครือข่ายต่าง ๆ ให้ได้รับข่าวสารให้ได้มากที่สุด ซึ่งมีการเผยแพร่ทางสื่อท้องถิ่นของ จ.อุบลฯ ด้วย เพื่อที่จะส่งข่าวสารไปให้ถึงทุกคน แต่ด้วยเรื่องของข้อมูลและการติดต่อถึงกันจะทำได้อย่างไร  ก็เป็นปัญหาอุปสรรคที่เราอยากจะเติมเต็ม ถัดมา สิ่งที่เราคิดว่าควรจะเติมต่อเนื่องจากจุดนี้ก็คือการเพิ่มเครือข่าย โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งฉากทัศน์ที่เราจะทำต่อไปในอีก 5 ปี ก็คือการเพิ่มเครือข่าย และก็สร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน รวมทั้งการติดต่อกลับมาที่เราว่าใช่หรือไม่ใช่

ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ อาจารย์สาขาวิชานวัตกรรมการพัฒนาสังคม ม.อุบลราชธานี

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะพูดก่อน พอเราพูดว่าเรื่องคาดการณ์ ความน่าจะเป็นที่จะเป็นไปได้หรือเป็นไปบ่ได้ แต่ว่าเปอร์เซ็นต์จะสูงหรือน้อยขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่เรามี แต่ว่าเมื่อครู่ในวีทีอาร์เปิดบอกว่ามีงบประมาณห้าหมื่นล้าน การดูแลเรื่องน้ำถ้าเรามีงบประมาณอยู่ห้าหมื่นล้าน อยากจะถามกลับไปที่ประชาชน ถ้าเรามีงบประมาณห้าหมื่นล้านในการจัดการน้ำ เราจะออกแบบงบประมาณนี้อย่างไรที่จะสามารถทำให้เกิดการคาดการณ์ที่ดีขึ้นได้ เราต้องมีเทคโนโลยีแบบไหนซึ่งผมคิดว่าหน่วยราชการน่าจะให้คำตอบได้ว่าเป็นประมาณไหน

และหากมาพูดเรื่องฉากทัศน์ที่เราวิ่งมาราธอน สมมุติว่าเป็นฉากทัศน์วิ่งมาราธอนในการจัดการน้ำ เรามีเวลาน้ำท่วมประมาณสองเดือน โดยประมาณ และเรามีเวลาน้ำแล้งก็ประมาณสองเดือนสามเดือนโดยประมาณ แต่ผมคิดว่าเวลาเรามาดูเรื่องปัญหาน้ำท่วม ดูเรื่องปัญหาน้ำแล้ง เรามัวไปสนใจแต่เวลาสองเดือนที่มันเกิดขึ้นหรือใกล้เคียงกว่านั้น แต่ทำไมเราไม่สนใจเรื่องเวลาสิบเดือนที่ไม่เกิดเหตุตรงนั้น ตรงนี้ที่ผมพูดเพราะว่าเวลาเราจะพูดเรื่องปัญหาน้ำไม่ว่าจะน้ำแล้งหรือน้ำท่วมก็ตามเราควรให้ความสำคัญกับความพร้อม เพราะว่าเรามักจะให้คำสำคัญกับการไปเผชิญหน้า แต่จริง ๆ แล้วเบื้องหลังที่เกิดขึ้นมันคือการเตรียมความพร้อม น้ำท่วมน้ำแล้งถ้าเราไม่มีการจัดการความพร้อมที่ดีไม่มีการวางแผน ไม่มีการพูดถึงเรื่องการบูรณาการที่มันชัดเจนเราก็จะไม่สามารถจัดการเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งได้

ในมุมมองทางสังคมเราต้องมีการเตรียมความพร้อมในระยะเวลาที่น้ำไม่ท่วม น้ำไม่แล้งให้ดีอย่างไร นี่คือโจทย์ที่เราต้องคุยกันว่าช่วงเวลาที่เหลือเราต้องทำอะไรบ้างให้เราสามารถจัดการได้ ประการที่สองผมคิดว่าพอเราพูดเรื่องนี้เราควรจะมีคำพูดอยู่สามคำ คุยให้มันเข้าใจตรงกันคือคำว่าบูรณาการ สองเราพูดถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รูปแบบไหนที่เราจะกระจายอำนาจให้เขาสามารถจัดการตัวเองได้อย่างเต็มที่ สามคือการมีส่วนร่วม การบูรณาการการจัดการ กระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วม สามสิ่งนี้เราคุยกันเรามาฟังเสียงประเทศไทย ดูสิว่าเราจะมาออกแบบสามคำนี้ให้เป็นกลไกลที่สามรถจัดการได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นโจทย์ท้าทายที่เราคิดว่าเรามาคุยกันได้ว่าพอเราจะวิ่งมาราธอนไม่ใช่แค่ว่าเราสนใจแต่ตอนวิ่ง แต่ก่อนวิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องคุยกัน

ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงแลกเปลี่ยนด้วยข้อมูลที่รอบด้าน

แม้จะมีความเห็นที่หลากหลาย แต่การฟังข้อมูลอย่างรอบด้านคือหัวใจในการสนทนาในครั้งนี้ และนี่เป็นเพียง 3 ฉากทัศน์ท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมายหรือบางครั้งก็อาจจะเกินกว่าจินตนาการได้

การรับมือและป้องกันภัยพิบัติอย่างมีส่วนร่วม แม้จะต้องใช้ระยะเวลานาน เพราะต้องปรับแก้เงื่อนไข ระเบียบ กฎหมาย ต้องบูรณาการจากหลายองค์กร เสมือนการซักซ้อมไปวิ่งมาราธอน ซึ่งนี่เป็นอีกความเห็นที่ผู้ร่วมเสวนา มองว่าต้องสลับกันกับการวิ่งร้อยเมตร และวิ่งผลัดสี่คูณร้อย เพื่อร่วมหาทางออกในการป้องกันความเสียหายจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะน้ำท่วมในลุ่มน้ำมูลเมืองอุบลราชธานี และโจทย์ ของ “กลไกการป้องกันและรับมือภัยพิบัติน้ำท่วม-น้ำแล้ง ลุ่มน้ำอีสาน” กับ 3 ฉากทัศน์ที่หยิบยกมาตั้งต้นให้ได้พูดคุย รับฟัง รวมถึงแลกเปลี่ยน ยังมีโจทย์ที่ต้องออกแบบเพื่อให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งจำเป็นต้องวางแผนเตรียมรับมือในระดับท้องถิ่น ตลอดจนนโยบายที่เป็นรูปธรรม สามารถติดตามรายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์หรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวในอีสานกับแฟนเพจอยู่ดีมีแฮง

เราหวังว่านี่จะเป็นอีกพื้นที่ ที่ “เสียง” ของประชาชนจะไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะออกแบบและจัดการตามข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แบบ “ปัญญารวมหมู่”

ร่วมโหวตฉากทัศน์ : ภาพอนาคต “กลไกการป้องกันและรับมือภัยพิบัติลุ่มน้ำอีสาน”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ