โขงผันผวน ต้นไคร้น้ำแม่น้ำโขง ยืนต้นตาย

โขงผันผวน ต้นไคร้น้ำแม่น้ำโขง ยืนต้นตาย

นี่คือรูปธรรมที่เป็นผลจากระดับน้ำผันผวนฤดูกาลขึ้นลงผิดปกติ

16 พฤศจิกายน 2566 ทีมสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้จัดประชุมกลุ่มย่อยวิจัยไทบ้านเรื่องการเปลี่ยนแปลงของพืชอาหารตามธรรมชาติในระบบนิเวศริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดเชียงราย ณ ศาลาลั้งหาปลา บ้านดอนที่ หมู่ที่ 3 ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

จากสถานการณ์การพัฒนาที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงในรอบ 20 ปีที่ผ่านที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งในเรื่องระบบนิเวศน์ ปลา เศรษฐกิจ การดำเนินวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ทางชุมชนจึงได้ทำการศึกษาพืชอาหารในระบบนิเวศริมฝั่งแม่น้ำโขงที่มีความสัมพันธ์และสำคัญต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและชุมชน พืชเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพและสุขภาพของแม่น้ำ เป็นพืชอาหารและสมุนไพรที่คนท้องถิ่นใช้ประโยชน์มายาวนาน การศึกษาเรื่องพืชอาหารมีความสำคัญเนื่องจาก เป็นหลักฐานชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำโขง ทำให้เห็นความเชื่อมโยงและผลกระทบต่อชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การหายไปของพืชอาหารจากธรรมชาติกระทบต่ออาหารและรายได้ชาวบ้าน และพืชอาหารยังมีการศึกษาเรื่องนี้น้อย

จากการระดมรายชื่อพืชอาหารที่มีอยู่ในระบบนิเวศริมฝั่ง ปง หาด ดิน ลำห้วย คก วัง พบพืชอย่างน้อย 59 ชนิด ส่วนใหญ่เริ่มกลายเป็นพืชหายาก จากอดีตพบได้ทั่วไปในพื้นที่ระบบนิเวศน์ย่อยแม่น้ำโขง

ต้นไคร้พืชที่เป็นเอกลักษณ์เด่นในแม่น้ำโขงตอนบนจังหวัดเชียงราย ที่ได้รับผลกระทบยืนต้นตายเป็นกลุ่มมองเห็นได้ชัดเจนจากการขึ้นลงของน้ำที่ผิดปกติ ต้นไคร้มี 3 ชนิดที่พบในแม่น้ำโขง ได้แก่ ต้นไคร้น้ำ (Homonoia riparia Lour.) เป็นไม้พุ่มขนาดกลางขึ้นตามริมฝั่ง หาดหิน ดอน คก หลง หาด ต้นไคร้นุ่นหรือไคร้นวล(Salix tetrasperma Roxb.)เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นตามลำห้วย ริมฝั่งสูง และชนิดที่สามต้นไคร้เกิ้ม ขึ้นเกาะยึดเลื้อตามโขดหิน หาดหินและตามก้อนหินผากลางแม่น้ำ

นายวันดี ศรีสุดาวรรณ ผู้รู้บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงต้นไคร้ว่า“ต้นไคร้บ้านเรามี 3 ชนิด ไคร้น้ำที่เห็นเป็นพุ่ม ยอดมันเอากินกับลาบ กิ่งมันเอาทำฟดล่อกุ้งฝอยให้มาอยู่ สองต้นไคร้เกิ้มเกาะตามหินตามผาคนบ้านเราไม่กิน แต่ลูกสุกสีแดงบางคนก็กิน อีกไคร้คือไคร้นวล เป็นต้นไม้ใหญ่ขึ้นตามฝั่งห้วย เนื้อไม้เอาทำเพลาโบกเรือ ตอนนี้ไคร้น้ำแห้งตายไปมากเหลือไม่กี่จุดเนื่องจากน้ำมันขึ้นๆลงๆ ริมฝั่งมีการสร้างตลิ่งเพิ่มอีกทำให้ต้นไคร้น้ำหายไป สาเหตุหหลักก็เพราะน้ำขึ้นๆลงๆผิดปกติ”

จากการระดมฤดูกาลขึ้นลงของระดับน้ำแม่น้ำโขง ตามองค์ความรู้ท้องถิ่นของชุมชน แบ่งฤดูการน้ำโขงออกเป็น 4 ฤดูกาล คือ ฤดูน้ำลด อยู่ในช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ฤดูน้ำน้อย อยู่ในช่วงเดือนมกกราคมถึงกลางเดือนเมษายน ฤดูน้ำขึ้น อยู่ในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน และฤดูน้ำหลากช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน การขึ้นลงของระดับน้ำปกติฤดูน้ำหลากสูงสุดและฤดูน้ำน้อยจะมีความต่างกันถึงเกือบ 10 เมตร การเพิ่มขึ้นของน้ำจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และค่อยๆ ลด แต่หลังจากปี 2539 หลังจากมีการสร้างเขื่อนแห่งแรกในแม่น้ำโขงในประเทศจีน ระดับการขึ้นลงของแม่น้ำโขงชุมชนเริ่มรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลง ส่งผลกกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนในการหาปลา ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ย่อยโดยตรง รวมถึงพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง และอาชีพเกษตรริมโขงที่ต้องสูญเสียที่ดินจากตลิ่งพังทลายจากน้ำขึ้นๆลงๆ ผิดปกติ

ด้านนายสาคร สิทธิแก้วชาวประมง นักวิจัยชาวบ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงการหายไปของต้นไคร้ว่า

“ต้นไคร้จะโผล่น้ำช่วงเดือนพฤศจิกายน ประมาณเดือนธันวาถึงเดือนมกราคมจะเริ่มออกดอก พอถึงเดือนกุมภาเดือนมีนาไคร้จะเริ่มออกดอก เมษาเริ่มมีผลสุก ปลายเดือนน้ำก็จะเริ่มท่วม ในรอบปีของมัน แต่ตอนนี้หน้าน้ำลด ไคร้กำลังแตกยอดน้ำมาท่วมใบไคร้เน่า หรือหน้าน้ำท่วมกลับไม่ท่วม ตอนนี้น้ำขึ้นๆลงๆทุก 3 วัน หน้าน้ำหลากน้ำก็น้อย หน้าน้ำลดน้ำไม่ลด มันทำให้ต้นไคร้ตาย อีกอันคือถ้าถึงเวลาน้ำท่วมแต่น้ำไม่ท่วม มันจะมีหนอนคล้ายรถด่วนแต่ตัวสีเหลืองเอามาคั่วกินได้แบบรถด่วนเหมือนกัน หนอนจะมาเจาะต้นไคร้น้ำ หนอนคนหาปลาชอบเอามาใส่เบ็ด โดยดูจากกิ่งที่มินเริ่มเหี่ยว หักออกมาจะมีรู ถ้าน้ำไม่ท่วมพวกหนอนก็จะเจาะยืนต้นตาย น้ำท่วมก็เป็นการรักษาลำต้นไคร้ไว้”

การขึ้นลงของน้ำโขงที่ผิดปกติ ชุมชนเริ่มรับรู้ในปีพ.ศ.2539 ซึ่งสัมพันธ์กับการสร้างเขื่อนม่านวาน เขื่อนแห่งแรกแม่น้ำโขงในประเทศจีน ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชน สัตว์น้ำ ระบบนิเวศน์ เรื่อยมาจนถึงขั้นวิกฤติชุมชนในการพึ่งพาแม่น้ำโขงได้ยากขึ้น ในงานวิจัยชาวบ้านได้นับช่วงปีพ.ศ. 2552 เป็นต้นมา คือช่วงวิกฤติการพึ่งพาแม่น้ำโขง ทำให้ชาวประมงจากเรือหาปลา 266 ลำ เหลือคนหาปลาเพียง 165 ลำ จากลังหาปลา 14 ลั้งจากเชียงแสนถึงเวียงแก่น ตอนนี้เหลือลั้งหาปลาเพียง 5 ลั้งเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงลดลง จากปัจจัยหลายสาเหตุ ทั้งจากการขึ้นลงผิดปกติของน้ำจากเขื่อนตอนบน ปัญหาตลิ่งพังจากการขึ้นลงของระดับน้ำ ทำให้มีการทำพนังกั้นตลิงทำให้พื้นที่พืชอาหาร เกษตริมโขงหายไป การปรับตัวจากประมงมาทำอาชีพเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีเข้มข้น

การหายไปของพันธ์ปลา พืชอาหาร ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปากท้องชุมชนริมฝั่งโขง ถึงแม้จะมีการศึกษาปัญหาผลกระทบมากมายแต่การแก้ไขปัญหาผลกระทบเหล่านี้ไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปให้ความช่วยเหลือชุมชน มีแต่การตั้งรับปรับตัวของคนในชุมชนเองที่ทำตามยถากรรมของตนเอง ชุมชนริมฝั่งโขงกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติกการพึ่งพาแม่น้ำโขงอยู่อย่างยากลำบาก เมื่อแม่น้ำโขงถูกควบคุม จนแม่น้ำใหญ่ไม่มีปลา

ทรายโขง ณผาถ่าน กล่าวว่า ด้วยระยะทาง 800 กว่ากิโลเมตร ระหว่างเขื่อนจิ่งหง และเขื่อนไซยะบุรี ระบบนิเวศพังทลาย ความรับผิดชอบเช่นนี้ ใครจะหาญกล้าออกตัวมารับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น จีน ไทย และนักลงทุนทั้งหลายถ้ามีเขื่อนปากแบงเกิดขึ้นอีกลองคิดดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น

ขภาพกราฟฟิกจาก TheMekongButterfly กล่าวถึงระดับน้ำโขงที่ผันผวนส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของพืชและสัตว์ เช่น นกจาบคาที่ทำรังบนเนินดิน, นกแอ่นทุ่งเล็กที่วางไข่บนหาดหินหาดทราย, สาหร่ายแม่น้ำโขง, ปลาที่สับสนฤดูกาล ฯลฯ สภาพสภาพอันทุรกันดารยากแก่การดำรงชีวิตนี้ มาจากระดับน้ำโขงขึ้น-ลงผิดฤดูกาลตามการปล่อย-กักน้ำของ #เขื่อนโขง

เรื่อง เกรียงไกร แจ้งสว่าง เจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตภาพ

จีระศักดิ์ อินทะยศ กลุ่มรักษ์เชียงของ

โดยข้อมูลจาก สัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่ายนักวิชาการอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง Mekong Academic Consortium 2023 “Advancing Scientific Capacity, Strengthening Thai- US Academic Network, and Creation of Solutions for a Sustainable Mekong River Basin” มีการปาฐกถานำ “ประวัติศาสตร์ การต่อสู้ อนาคตที่กำหนดเองของคนในอนุภาคลุ่มน้ำของ: บทเรียน ความหวัง การรังสรรค์ความเคลื่อนไหวใหม่ของคนลุ่มน้ำของ” โดย ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักษ์เชียงของ Chiang Khong Mekong School อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยสรุปจากทีมงานเชียรายสนทนา ได้นำ 14 ประเด็นสำคัญมาสื่อสาร

1. เขื่อนเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในลุ่มน้ำโขง การสร้างเขื่อนมีผลกระทบต่อสภาพภูมิประเทศและสังคมในพื้นที่นี้

2. ปริมาณการไหลของน้ำที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาลเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำ เช่นปลาและนก และก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่นั้น

3. การที่น้ำไม่เต็มที่ในฤดูฝนทำให้เกิดผลกระทบต่อการเติบโตของพืชและการทำเกษตร มีผลต่อชุมชนและสัญชาติทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แม่น้ำโขงผ่านไปส่งผลต่อการลดของปริมาณของปลาและสร้างปัญหาต่อเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม และตลิ่งพัง

4. การสร้างเขื่อนทางตอนล่างที่ถูกวางแผนอาจมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของประชากรในพื้นที่นั้น

5. ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำกำลังลดลงอย่างสังเกตได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงในอนาคต

6. การหายไปของตะกอน มีผลที่สำคัญต่อการอนุรักษ์และเฝ้าระวังการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง ในทางที่สมดุลและยั่งยืน

7. ภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ซึ่งมีผลกระทบต่อความสมดุลของนิเวศและสัญชาติที่อาศัยอยู่รอบรอบแม่น้ำนี้

8. ปัญหาของความทำลายแม่น้ำโขงมีผลกระทบทั่วโลกและไม่เกิดจากที่เดียว

9. วิธีคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสร้างความเสียหายต่อธรรมชาติ

10. คนรุ่นใหม่มีความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรที่ดี

11. คนรุ่นใหม่มองโลกและสิ่งแวดล้อมในมุมมองที่แตกต่างกันจากคนรุ่นก่อนหน้า เขามองเรื่องโลกทั้งใบเห็น และความเป็นองค์รวมมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

12. การเสริมให้คนรุ่นใหม่เอาใจใส่เรื่องสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์มากขึ้น และการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องพื้นฐานที่สำคัญของการอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อม

13. นักวิชาการมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวนำที่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและทิศทางของสังคม และมีความสำคัญในการสร้างการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของมนุษยชาติผ่านการศึกษาและการส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อม

14. การเรียนรู้และการเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประการสำคัญที่จะช่วยให้มนุษยชาติพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน และคนรุ่นใหม่มีความสำคัญในการส่งเสริมเรื่องนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ