ภาคี#saveบางกลอย ชุมนุมข่วงท่าแพนัดหมายรวมผลเปิดclubhouseครั้งต่อไปที่กระทรวงทรัพยฯ

ภาคี#saveบางกลอย ชุมนุมข่วงท่าแพนัดหมายรวมผลเปิดclubhouseครั้งต่อไปที่กระทรวงทรัพยฯ

ภาคี#saveบางกลอย ร่วมกับเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย นักศึกษาและประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมชุมนุมต่อต้านการคุกคามจากภาครัฐต่อพี่น้องบางกลอย ณ ข่วงประตูเวลาท่าแพ

โดยก่อนหน้านี้เวลา 13:00 น. ภาคี #saveบางกลอย นัดหมายรวมตัวที่สวนหลวงล้านนาร. 9 และเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในเวลาประมาณ 14.30 น. โดยมีข้อเสนอ 6 ดังนี้

1.ให้ชาวบ้านที่ประสงค์กลับไปทำไร่หมุนเวียนและดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สามารถกลับขึ้นไปอยู่อาศัย ทำกินและดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ได้โดยการรับรองสิทธิในการอยู่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม และให้หน่วยงานรัฐและส่วนที่เกี่ยวข้อง ศึกษาระบบการทำไร่หมุนเวียน และยอมรับวิถีการทำไร่หมุนแบบดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง

2. ให้ยุติการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ ที่เข้าไปตั้งจุดตรวจ ด่านห้วยมะเร็วและชุดลาดตระเวนในหมู่บ้านบางกลอยล่าง ที่พยายามจะเข้าไปคุกคาม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงยุติการข่มขู่คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับชาวบ้าน 36 ครอบครัว ที่กลับไปอยู่อาศัยและทำกินอยู่ที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน

3. ให้ยุติการขัดขวางการส่งข้าวอาหาร และสิ่งของจำเป็นไปให้กับชาวบ้านบางกลอยบน

4. ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวติชาวกะเหรี่ยงโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรการด้านการยุติ การจับกุม ดำเนินคดี และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในรูปแบบไร่หมุนเวียน

5. ในกรณีที่ชาวบ้านครอบครัวใดประสงค์จะอยู่ที่บ้านบางกลอยล่างให้รัฐดำเนินจัดสรรที่ดินทั้งที่ดินอยู่อาศัยและที่ทำกินให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพื่อให้สามารถดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างมั่นคง

6. รัฐบาลต้องยุติการดำเนินการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการตั้งจุดสกัดเดินลาดตระเวนและตรวจค้น สร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านบางกลอย และมีมาตรการในการคุ้มครองสวัสดิภาพ และความปลอดภัยของสมาชิกชุมชนบางกลอยทุกคน

สำหรับกิจกรรมในช่วงเย็นที่ข่วงประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ เริ่มด้วยการสลับกันปราศรัย free mic เพื่อร่วมให้กำลังใจ

หนิง เครือข่ายสตรีชนเผ่า หนึ่งในผู้ร่วมให้กำลังใจ กล่าวว่า ตนติดตามเฝ้ามองชะตากรรมที่เกิดจขึ้นกับพี่น้องบางกลอยมาโดยตลอด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติด้วยนโยบายของรัฐ แต่คนกลุ่มที่นี้กลับไม่ได้การรับรองหรือเยียวยา เมื่อพวกเขาใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิมบนพื้นที่ที่รัฐจัดให้ไม่ได้ กระทั่งต้องตัดสินใจเดินทางกลับบ้านดั้งเดิม ก็ยังต้องเผชิญกับยุทธการต่างๆ ราวกับชีวิตที่ไม่มีทางเลือก

“เมื่อพี่น้องของเราไม่ว่าชาติพันธุ์ใดเดือดร้อน เราก็พร้อมจะลุกขึ้นมาให้กำลัง เพราะเขาไม่ได้สู้อย่างโดดเดี่ยว

ด้านตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า คชท. รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ปฏิบัติการ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” โดยสนธิกำลังร่วมกันหลายฝ่าย เพื่อบังคับอพยพชาวบ้านกลับลงมาอีกครั้ง การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการใช้อำนาจอย่างบ้าคลั่งต่อชาวบ้านที่ไร้ทางสู้ ซึ่งมีทั้งเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และผู้พิการ เป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่คำนึงถึงหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเลยแม้แต่น้อย 

คชท. ขอประณามปฏิบัติการ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ในครั้งนี้ และขอเรียกร้องให้รัฐบาล

1) ยุติการปฏิบัติการใดๆ ที่เป็นการข่มขู่ คุกคาม สร้างความหวาดกลัวและละเมิดสิทธิของชาวบ้าน

2) นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีให้กับสังคมและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เช่น รูปแบบการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิศาสตร์บนพื้นที่สูง ไม่ใช่รูปแบบการเกษตรแบบทำลายล้าง เหมือนมายาคติที่สร้างกันมาและผลักดันให้ชาวบ้านเป็นผู้ร้าย และเป็นจำเลยทางสังคม 

3) ให้ยึดเอาผลการศึกษาของคณะทำงานชุดเล็กที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นมา ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่เป็นแนวทางในการหาทางออกร่วมกันทุกฝ่าย

พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจและร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้เข้าใจและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข บนฐานของการให้ความเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนที่เท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ

จากนั้นมีกิจกรรม clubhouse on the floor เปิดวงสนทนาโดยมี พชร คำชำนาญ หนึ่งในคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ดำเนินการเป็น moderator

พฤ โอโดเชา กล่าวว่า เราต้องเชื่อมโยงปัญหาของพี่น้อง ถ้าบางกลอยแพ้ทุกหมู่บ้านก็จะเจอเช่นกัน เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ จากรัฐที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านต่าง ๆ มันก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในหมู่บ้านของเราเช่นกัน

ผมอยากเห็นการขึ้นป้ายหน้าหมู่บ้านทุก ๆ แห่งที่อยู่กับป่า #saveบางกลอย ชาติพันธุ์คือคน ม้งคือคน ปกาเกอะญอคือคน…. ผมรู้สึกดีใจมากที่วันนี้เห็นกระแสการ #saveบางกลอย มันกระจายไปทั่ว คนเมืองที่นี่และที่อื่น ๆ ให้ความสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ

นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า การต่อสู้ครั้งนี้เป็นเดิมพันสำคัญระหว่างคนตัวเล็กที่สุดในสังคมกับอำนาจรัฐอภิสิทธิ์กับพลังของสังคมไทย ถ้าบางกลอยชนะมันหมายถึงการชนะรัฐไทยที่ถืออำนาจอภิสิทธิ์มาตลอดได้ ข้อมูลมากมายบอกว่าพี่น้องที่นั่นอยู่ในพื้นที่นั้นมายาวนานกว่ารัฐสยามเสียอีก

“ปู่คออี้บอกว่าน้ำนมหยดแรกที่แกดื่มอยู่ที่สยาม ใจแผ่นดิน และกฎหมายรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 รับรองสิทธิดั้งเดิมของชุมชน ผมแปลกใจมากว่าในเมื่อรัฐมีกฎหมาย มีแนวทางในการจะดำเนินการเพื่อดูแลชีวิตของพี่น้องบางกลอยทุกอย่าง แล้วทำไมรัฐไทยถึงเลือกเดินเส้นทางนี้ และเป็นสิ่งที่สาธารณชนต้องช่วยกันจับตา เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องของพี่น้องบางกลอยเท่านั้น”

ทั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายกล่าวว่า การชุมนุมที่เชียงใหม่วันนี้อาจจะเป็นการเคลื่อนไหวที่พื้นที่จ.เชียงใหม่เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนนัดรวมพลครั้งต่อไปที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในเร็ว ๆ นี้

อนึ่ง ในช่วงสายของวันเดียวกันนี้ ณ ศาลาพอละจี บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีการเปิดเจรจาระหว่างชาวบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินกับผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่การหารือไม่เป็นผล โดยหลังปิดยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรยังมีชาวบ้านอยู่ที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดินจำนวน 59 คน

ชาวบ้านบางกลอยยื่นข้อเสนอที่เขียนด้วยลายมือ มีเนื้อหาดังนี้

  1.  พวกเราชาวบ้านบางกลอยยืนยันว่าต้องการอยู่ในพื้นที่เดิมที่เคยอยู่มาก่อน
  2. คนที่ไม่มีความประสงค์จะกลับขึ้นไปก็ควรได้รับการจัดสรรที่ดินให้สามารถทำกินได้
  3. ปฏิบัติการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 มีการกระทำของเจ้าหน้าที่ทำให้สิ่งของบางอย่างเสียหาย เช่น แผ่นโซลาร์เซลล์ ไฟฉาย
  4. ให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติการต่าง ๆ ในขณะที่มีคณะทำงานที่ถูกส่งมาจากกระทรวงโดยตรง
  5. ให้สื่อหรือเจ้าหน้าที่หยุดชี้นำให้พวกเรา ชาวบ้าน และหยุดกล่าวหาว่าพวกเราไม่ใช่คนไทย
  6. ให้มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์โดยมีทั้งหน่วยงานรัฐ และนักวิชาการมีส่วนร่วมเรื่องไร่หมุนเวียน
  7. เราจะรอจนกว่าคณะทำงานที่ถูกส่งมาจากกระทรวงจะหาข้อยุติร่วมกับคนกลาง

อ่านเพิ่มเติม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ