บางเวลาเราอยากกินอาหารโบราณพื้นบ้าน อยากกินอาหารที่ดี และอยากกินอาหารที่รู้ที่มา เคยมีความรู้สึกแบบนี้เหมือนกันกับผมไหมครับ…แน่นอนว่า คำตอบอาจจะหลากหลาย แต่มีเรื่องราวหนึ่งที่เกิดขึ้นและชวนให้เราได้คิดถึงที่มา ที่ไป และคุณค่า รวมถึงการสร้างมูลค่าของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านของชุมชนจากป่าตะวันตก ห้วยขาแข้ง บ้านแก่นมะกรูด จ.อุทัยธานี เรื่องราวเป็นอย่างไร ออกเดินทางกันด้วยตัวหนังสือที่ถูกร้อยเรียงให้ทุกคนถึงหน้าจอแล้ว เริ่มกันเลยครับ
หลากหลายเมนู จากนานาเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่กว่า 108 ชนิด ที่มีอยู่ในพื้นที่บ้านแก่นมะกรูด จ.อุทัยธานี ทว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ รอวันสูญหายเนื่องจากปัจจัยแวดล้อม และบริบทชุมชนที่เปลี่ยนไป คนซื้อกับข้าวจากรถพุ่มพ่วงมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บก็ตามมา ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ก็โรยราตามกาลเวลา เหล่านี้กลายเป็นเรื่องที่ชุมชนกำลังเผชิญ
สานต่อลมหายใจเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ผ่านพื้นที่ร้านอาหารเล็ก ๆ ที่ร่วมกันสร้าง โดยมี รุ่งฤดี สุทธหลวง หรืออ้อย โดยใช้ชื่อว่า “ครัวกะเหรี่ยง”
อ้อยมีแนวคิดเกี่ยวกับครัวกะเหรี่ยงว่า ต้องการอนุรักษ์อาหารพื้นบ้านให้อยู่กับพื้นที่ ไม่อยากให้สูญหายไปตามกาลเวลา และจากสถานการณ์ตอนนี้คืออาหารที่คนข้างนอกเข้ามาขาย เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า มีสารพิษหรือไม่ เพราะจากเมื่อก่อน พ่อแม่ปู่ย่าตายายของเรา ไม่ค่อยป่วย กินอาหารในป่า สุขภาพแข็งแรง แต่ทุกวันนี้ พ่อกับแม่กินอาหารจากข้างล่าง รู้สึกว่าสุขภาพแย่ลง ไม่เหมือนที่เราปลูกเอง ทำเอง หากเราไม่ทำ ไม่ปลูก เดี๋ยวก็คงหายไปตามกาลเวลา
1 ใน 13 เมนู ที่อ้อยและเพื่อนสมาชิกครัวกะเหรี่ยง ร่วมกันทำ คือ เมนูยอดมะพร้าว เป็นเมนูแนะนำ อ้อยเล่าว่าเพราะในพื้นที่เป็นวัตถุดิบที่เราทำเอง อย่างมะพร้าวเราก็ปลูกเอง ข้าวเบือ เราก็ปลูกและทำเอง ผักชะอม พริก กระชาย เราก็ปลูกกันเอง ทุกอย่างปลอดสารพิษ และมองว่าพื้นที่บ้านของเรามีวัตถุดิบที่อุมดมสมบูรณ์อยู่แล้ว เราควรจะเก็บรักษาไว้
เธอไม่ได้ทำคนเดียว มีสมาชิกหลากหลายรุ่นมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ
“อ้อยไม่ได้เก่งทุกเมนู ก็จะมีแม่ ๆ ป้า ๆ ที่เขาเก่ง เราก็จะไปศึกษาจากเขา นอกจากเขาจะปลูกแล้ว ในบางครั้งเขาก็จะมาช่วยกันทำเมนูพื้นบ้าน ตอนนี้กลุ่มของเรามี 15 คน มีทั้ง คนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ รวมกัน ช่วยกันสร้างสรรค์เมนูอาหารจากเมล็ดพันธุ์พืชบ้าน”
เมื่อวันนี้เกิดขึ้นแล้ว ภาพความหวัง ความฝัน ที่อยากจะเห็นการเติบโตของครัวกะเหรี่ยง เธอวาดฝันไว้ว่า เธออยากให้อาหารของเราไปไกล อยากให้คนนอกพื้นที่ทานได้ด้วย หรือทำแบบแพ็คเกจ ที่สามารถส่งขายได้ ไม่จำเป็นต้องมากินที่ร้าน ซึ่งให้เกิดรายได้กับชุมชน คนปลูกได้รักษาเมล็ดพันธ์ุ คนทำได้รังสร้างเมนู คนกิน ได้อิ่มอร่อยจากอาหารและเรื่องราว เป็นวัฏจักรที่หมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกับการรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง
13 เมนูที่เธอและผองเพื่อน นำเสนอได้แก่
- โพล่วดู้ แกงยอดมะพร้าว
- เซอย่าเด่าไกกะดุ ต้มปลาใส่ผักกูด
- เซอช่องบ่องช่าย แกงไก่ใส่หน่อไม้ดอง
- เชอยิเกอ แกงปลาสับใส่ข้าวคั่ว
- เซอวือถุ แกงข้าวเบือใส่หมู
- เซอผ่ายซ่าช่อง ต้มไก้ใส่มะกอกป่า
- ซิคารา ยำหมอน้อย
- เชอเง่ซาโท่ง น้ำพริก
- คุลาซุ ตำบอนหวาน
- ชะดุเบอะ หมกผัก
- เชอผ่าดู แกงไก่ใส่หยวกกล้วย
- บิงถุง ข้าวเหนียงต้ม
- บือเค๊าะ ข้าวไร่
เรื่องราวของเมล็ดพันธุ์ที่หมายถึงทั้งธัญพืช และผู้คน ของบ้านแก่นมะกรูด กำลังงอกงามอยู่กลางป่าใหญ่ห้วยขาแข้ง รอวันฟูมฟัก เพื่อต้อนรับผู้คนจากแดนไกล ไปเยี่ยมเยือน ฟังเรื่องราว และแบ่งปันเรื่องราวทั้งจากคนเมืองและคนแห่งผืนป่าด้วยขาแข้ง
ภาพ/เรื่อง: ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี
โพควา โปรดักชั่น