ชาวบางกลอยประกาศยอมตาย-ขอกลับไปทำไร่หมุนเวียนถิ่นฐานเดิม คณะเจรจาของทางการเหลวอีก-คนเชียงใหม่ฮือยื่นหนังสือถึงนายกฯหนุนชาวบ้าน

ชาวบางกลอยประกาศยอมตาย-ขอกลับไปทำไร่หมุนเวียนถิ่นฐานเดิม คณะเจรจาของทางการเหลวอีก-คนเชียงใหม่ฮือยื่นหนังสือถึงนายกฯหนุนชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เวลา 09.40 น. ที่ศาลาพอลละจี หมู่บ้านบางกลอยล่าง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี คณะเจรจาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นำโดย นายจงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจการ ทส. นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ข้าราชการฝ่ายปกครอง และตำรวจ เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์มาร่วมเจรจากับชาวบ้านบางกลอย 4 คนซึ่งเดินเท้ามาจากหมู่บ้านบางกลอยบนในป่าใจแผ่นดิน โดยมีชาวบ้านทำหน้าที่ล่ามแปลภาษากะเหรี่ยง และมีผู้สื่อข่าวมากว่า 10 สำนักคอยติดตามทำข่าว

นายจงคล้าย ชี้แจงกับชาวบ้านว่า ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรได้ปิดปฏิบัติการไปแล้ว ทุกหน่วยงานที่ร่วมเดินทางมาพบชาวบ้านในวันนี้ พร้อมเปิดใจพูดคุยกันแบบพี่น้อง เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาของชาวบ้าน ซึ่งตลอด 3 วันที่ผ่านมา ทส.ส่งทีมลงเก็บข้อมูลในด้านต่างๆ ทำให้เห็นปัญหาว่าชาวบ้านเดือดร้องเรื่องที่ดินอยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และแหล่งน้ำ รวมถึงความล้มเหลวของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต

“เราจะเข้ามาแก้ปัญหาที่ดิน เมื่อก่อนดินไม่ดี ไม่มีน้ำ เราเคยรับปากชาวบ้านว่าจะมาช่วยแก้ปัญหาหลายครั้งก็ทำไม่ได้ แต่วันนี้เรามีทั้งรองผู้ว่าฯ กรมทรัพยากรน้ำ หลายฝ่ายมาพร้อมกัน แม้ชาวบ้านอาจไม่เชื่อว่าแก้ปัญหาได้ แต่เราจะลงไปดูทีละแปลงว่ามีปัญหาอย่างไร ก็จะช่วยกันอย่างเต็มที่”

นายจงคล้าย กล่าว นายจงคล้าย กล่าวต่อว่า เป้าหมายตอนนี้อยากให้ชาวบ้านมีที่ดินทำกิน โดยเรื่องนี้นายกรัฐมนตรี รมต.ทส. มีความเป็นห่วงและสั่งการว่า อยากให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้มีที่ดิน ตรงไหนมีปัญหาน้ำ กรมน้ำก็จะมาช่วยดูพร้อมกับผู้ใหญ่บ้าน ดินไม่ดีจะให้โครงการปิดทองหลังพระมาช่วยดู

ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านได้อ่านข้อเสนอ 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.ยืนยันอยู่ในที่เดิมบนที่ดินที่เคยอยู่ในบ้านบางกลอยบน 2.คนที่ไม่ประสงค์กลับขึ้นไปอยู่ข้างบนขอให้จัดสรรพื้นที่ทำกินให้ 3.ปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ทำให้สิ่งของบางอย่างของชาวบ้านเสียหาย เช่น แผงโซลาเซลล์ 4.ให้เจ้าหน้าที่หยุดปฎิบัติการต่างๆในขณะที่คณะทำงานถูกส่งมาจากกระทรวงโดยตรง 5.ให้สื่อหรือเจ้าหน้าที่หยุดชี้นำและกล่าวหาชาวบ้าน 6..ให้มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิไร่หมุนเวียนโดยมีหน่วยงานรัฐและนักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วม 7.เราจะรอจนกว่าคณะทำงานที่ถูกส่งมาจากกระทรวงฯจะหาข้อยุติได้

นายณัฐวุฒิ รองผู้ว่าฯ เพชรบุรี ถามตัวแทนชาวบ้าน ว่าที่บางกลอยล่างกับใจแผ่นดินอยู่ที่ไหนดีกว่ากัน ชาวบ้านตอบว่า ข้างบนดีกว่า ข้าวไม่ต้องซื้อกิน ผักไม่ต้องซื้อ อยู่สบายกว่า ไม่มีไฟฟ้าก็อยู่ได้ เราสามารถใช้ชีวิตตามวิถีของเราได้ รองผู้ว่าฯกล่าวว่า วันนี้เราจะย้อยกลับไปไม่ได้แล้ว เพราะเราตั้งชุมชนที่นี่แล้ว

ขณะที่ชาวบ้านที่นั่งฟังได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า วิถีเราอยู่มานาน อยากให้เจ้าหน้าที่เข้าใจเหตุผลของเราที่อยากกลับไปอยู่ใจแผ่นดิน เพราะอยู่ที่นี่ลำบาก ต่อให้เป็นตายอย่างไรเราจะขอกลับไป เรายอมตายที่บ้านเกิดดีกว่า และคนที่ต้องการขึ้นไปก็ไม่ใช่ทุกคน มีบางคนอยากอยู่ที่นี่ อยากให้แบ่งการแก้ปัญหาเป็นสองกลุ่ม

ทั้งนี้ระหว่างการเจรจาปรากฏว่าตัวแทนขาวบ้านทั้ง 4 คน ได้ลุกออกจากวงเจรจาไป ทั้งที่ยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน เนื่องจากเห็นว่าไม่มีการพูดถึงประเด็นสำคัญคือเรื่องที่ชาวบ้านจะทำไร่หมุนเวียนและอยู่ในพื้นที่ใจแผ่นดินได้หรือไม่

อย่างไรก็ตามก่อนวงเจรจาจะยุตินายสุชาติ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอยที่ทำหน้าที่ล่าม ได้ขอเล่าข้อมูลประวัติชุมชนบางกลอย-ใจแผ่นดินให้ทุกคนฟัง แต่ปรากฏว่าผู้แทน ทส.พยายามไม่ให้อธิบายใดๆ ต่อ จนผู้สื่อข่าวต้องแจ้งว่าต้องการรับฟังข้อมูลจากชาวบ้าน ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่พยายามถามนายสุชาติว่า ชื่ออะไรอายุเท่าไร เกิดที่ไหน โดยนายสุชาติได้ตอบไปตามข้อเท็จจริงและได้เล่าข้อมูลหมู่บ้านจนจบ

นายจงคล้ายให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าวันนี้มารับฟังมีปัญหาจากตัวแทนทั้ง 4 คน ที่กลับออกมาจากใจแผ่นดิน ทส.ได้ตั้ง คณะกรรมการร่วมทุกฝ่ายเพื่อสำรวจข้อมูล แล้วจะนำฐานข้อมูลมาเทียบกับข้อมูลเก่า เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกัน ทั้งกลุ่มชาวบ้าน 57 ครอบครัว ที่ลงมาปี 2539 ต่อมาขยายเป็น 61 ครอบครัว ต่อมาเพิ่มเป็น 116 ครอบครัว ซึ่งบางคนได้รับการจัดสรรที่ดินแล้วแต่มีปัญหาการทำกิน ทส.จะเข้าไปดูแลแก้ปัญหาให้ ส่วนที่เหลือที่ยังไม่มีที่ดินต้องรอผลสรุปจากคณะกรรมการที่กำลังเก็บข้อมูล “ตอนนี้รอคณะกรรมการทำงานก่อน แก้ปัญหาที่ดิน แก้ปัญหาน้ำให้ชาวบ้าน คิดว่าบางสิ่งชาวบ้านยังไม่เชื่อมั่น แต่รับรองจะนำปัญหาไปคุยใน คณะกรรมการให้เกิดการดำเนินการเร็วที่สุด

“นายจงคล้ายกล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่าสังคมกำลังจับตายุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ทส.จะอธิบายอย่างไร นายจงคล้าย กล่าวว่า ไม่อยากให้พูดว่าเป็นการละเมิดสิทธิชาวบ้าน แต่จะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด จากปัญหาที่คาราคาชัง 25 ปี สังเกตได้เรามีโรงเรียน เด็กๆ หลายคนจบก็ไปทำงานกับโครงการปิดทองหลังพระ อุทยานก็มีลูกชาวบ้านหลายที่ไปทำงานด้วย ชาวบ้านบางกลอย 1 ใน 4 ที่เดินเท้ามาจากบางกลอยบนร่วมเจรจาครั้งนี้ สัมภาษณ์ว่า การตัดสินใจเดินออกมาจากวงเจรจาเพราะ เจ้าหน้าที่ไม่ได้มาพูดถึงถึงปัญหาหลักในการเจรจาครั้งนี้ ที่ชาวบ้านยืนยันว่าจะกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิม กลับพูดแต่เรื่องอื่น ไม่ได้คุยเรื่องนี้ที่รับปากว่าจะเจรจา มาถึงก็พูดแต่เรื่องขาดน้ำ ดินไม่ดี ไม่ได้สนใจข้อเรียกร้อง จึงตัดสินใจออกจากห้องเวทีเจรจา

“ตอนนี้มี 36 ครอบครัวที่ยังอยู่ข้างบน ถ้าตกลงอุทยานยอมให้เราอยู่ใจแผ่นดิน จะมีขึ้นไปมากกว่านี้ คิดไม่ออกเหมือนกันว่าทำไมเขาถึงใช้ยุทธการ เพราะตรงนั้นคือบ้านของเรา ผมกลัวแต่อยากอยู่ เราให้กำลังใจกัน ถ้าโดนจับก็โดนหมด มีเด็กด้วย ยืนยันถ้าโดนยิงทิ้งก็คงจะยอมโดนยิงกันหมด พ่อแม่พวกเราอยู่กันมาตั้งนาน ป่าก็ยังอยู่ แม่น้ำก็ยังดี ถ้าพวกเราอยู่ไม่รักษาป่าคงหมดไปนานแล้ว”ชาวบ้านบางกลอย กล่าว

วันเดียวกันที่จ.เชียงใหม่ เมื่อเวลา 13.00 น. ประชาชนในนามกลุ่ม saveบางกลอย และเครือข่ายกลุ่มชาติติพันธุ์จำนวนกว่า 100 คน ได้รวมตัวกันเดินขบวนแสดงพลังต่อต้านการคุกคามจากภาครัฐต่อพี่น้องชาวบ้านบางกลอย หลังจากที่กลุ่มกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอยถูกคุกคามและปิดกั้นไม่ให้ภาคประชาชนเข้าไปมอบปลาและข้าวสาร โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันที่บริเวณสวนหลวงร. 9 จากนั้นได้เดินทางเท้ามายังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้อง ต่อนายกรัฐมนตรี โดยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เจ้าหน้าที่หยุดคุกคามชาวบ้านและนำกำลังออกจากพื้นที่หมด รวมทั้งอนุญาตให้นำอาหารพร้อมทั้งเปิดทางให้ชาวบ้านกลับเข้าไปใช้ชีวิตดังเดิม นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ทางการยินยอมให้ชาวบ้านกลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ