- 6 คุณลักษณะของผู้นำเพื่อการพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น
- ผู้หญิงอยู่ตรงไหนในการเมืองท้องถิ่น
- นายกอบจ.เชียงใหม่การชิงชัยของชนชั้นนำทางการเมือง
- มีหรือไม่ เจตจำนงนโยบายพัฒนาท้องถิ่น หรือตามแผนส่วนกลาง – ส่วนภูมิภาค มุมมองจากอุบลราชธานี
- ส.อบจ. ความท้าทายของบทบาทการตรวจสอบราชการส่วนภูมิภาค
- เหลียวหลังแลหน้าและความน่าสนใจของการเลือกตั้งอบจ. 8 จังหวัดภาคเหนือ
นี่คือ 6 ประเด็นจากงานวิชาการของนักวิชาการ 4 สถาบัน ที่สนใจเรื่องการเมืองท้องถิ่น มาร่วมกันนำเสนอ ในงาน “ 1 ทศวรรษการปกครองท้องถิ่นไทย (2553 – 2563) กับการเลือกตั้ง อบจ. 20 ธันวาคม 2563” ซึ่งศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ (สำนักงานประเทศไทย) จัดขึ้น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ณ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทีมงานสื่อพลเมือง ภาคเหนือจับสาระสำคัญ เรียบเรียงมานำเสนอเพื่อเป็นข้อมูล ประกอบการการมองและตัดสินใจต่อเลือกตั้งอบจ.ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 เพื่อให้เสียงของทุกคนมีความหมายและคุณภาพกับอนาคตท้องถิ่น
6 คุณลักษณะของผู้นำเพื่อการพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น
อ.ดร. ไกรวุฒิ ใจคำปัน สำนักวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอในหัวข้อ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกับนวัตกรรมท้องถิ่น โดยระบุถึงคุณลักษณะของนายก อบจ. ในฐานะผู้นำ 6 ด้าน ได้แก่
1. ความสามารถในการตัดสินใจเพื่อสร้างสิ่งที่ดี
“ไม่ว่าจะมีการแข่งขันกับฝ่ายต่าง ๆ อยากให้นายก อบจ. ทำสิ่งดีในพื้นที่และขับเคลื่อนทีมงานได้”
2. ความเข้าใจประเด็นสำคัญของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างลึกซึ้งและรอบด้าน หรือสิ่งที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง
“การแข่งขันทางการเมืองแต่ละครั้งแทบไม่มีการฉายภาพนโยบายให้เห็น ยิ่งในสถานการณ์ที่สังคมกำลังเผชิญผลกระทบจากโรคระบาด และความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่มากมาย”
3.ความสามารถในการสร้างพื้นที่และความร่วมมือที่เอื้อให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่
“การระบาดของโควิด-19 น่าจะเป็นบทเรียนของเราได้ดีในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่มากกว่าบริการท่องเที่ยว”
4. ความสามารถในการสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ ให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด
“ทุกวันนี้คนธรรมดาแทบไม่รู้จักบทบาทหรือการทำงานของอบจ. ได้คุยกับผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ เข้าใจว่างานด้านการท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับอบต. เขายังไม่เห็นการสื่อสารที่ดีพอระหว่างอบจ. กับผู้ประกอบการ”
5. ความสามารถในการบริหารอำนาจเพื่อขับเคลื่อนการทำงานของทีม เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของงานส่วนภูมิภาคให้ได้
6. ความสามารถในการนำองค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง
“เราไม่ได้ต้องการซูปเปอร์แมนที่มีคุณลักษณะทั้ง 6 ข้ออย่างดีเลิศ แต่ถ้าคุณลักษณะเหล่านี้ในบางประการอยู่ในตัวผู้นำ ย่อมนำไปสู่แนวโน้มความเป็นไปได้ของการผลักดันให้ทีมงานของอบจ.แต่ละแห่ง สามารถคิดค้นหรือสร้างประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับองค์กรและประชาชนในพื้นที่”
ผู้หญิงอยู่ตรงไหนในการเมืองท้องถิ่น ?
ผศ. ดร. ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ สำนักวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอประเด็น ผู้หญิงกับการเมืองท้องถิ่นองค์การบริหารส่วนจังหวัด ว่าบทบาทของผู้หญิงทางการเมืองระดับชาติ สามารถสะท้อนผู้หญิงกับการเมืองท้องถิ่นได้ แต่การทำความเข้าใจผู้หญิงทางการเมืองจะละเลยมิติทางวัฒนธรรมไม่ได้ เพราะปฏิบัติการทางสังคมต่าง ๆ มีส่วนในการสร้างมายาคติเกี่ยวกับบทบาททางเพศทั้งในครอบครัว สังคมและการเมือง ในอดีตบทบาทของผู้หญิงในทางการเมืองมีอยู่อย่างจำกัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเมืองเกี่ยวข้องกับอิทธิพล ผลประโยชน์และความรุนแรง ทำให้ผู้หญิงไทยมีทัศนคติไม่อยากเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับการเมือง
ทั้งนี้ บทบาทของผู้หญิงทางการเมืองสามารถแบ่งได้ 3 ระดับ การเมืองระดับชาติ การเมืองระดับท้องถิ่น และการเป็นผู้สนับสนุนทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ
ในระดับชาติ พรรคการเมืองมีส่วนสำคัญในการหนุนเสริมบทบาทผู้หญิง จึงมีข้อเสนอเรื่องการสร้างสมดุลในระบบรัฐสภาผ่านที่พรรคการเมือง และแนวทางสนับสนุนให้พรรคการเมืองกำหนดจำนวนหรือสัดส่วนของผู้หญิงภายในพรรคไว้ หรือกำหนดบทบาท
สำหรับการเมืองระดับท้องถิ่น พบว่ามักจะดูที่คุณลักษณะส่วนบุคคล หน้าตา บุคลิกภาพ ระดับการศึกษา ตระกูลการเมือง ฐานะทางเศรษฐกิจ ภาวการณ์เป็นผู้นำของผู้หญิงคนนั้น ๆ มากกว่าพรรค แต่พบว่าท้ายสุดแล้วผู้หญิงที่มีโอกาสเข้าสู่การเมืองได้จะต้องมีบทบาทที่สูงกว่าคนอื่น ๆ ที่สำคัญมักจะถูกถามก่อนเสมอว่า “เคลียร์ที่บ้านแล้วหรือยัง”
บทบาทของผู้หญิงในทางการเมืองไม่ได้มีเพียงการเป็นตัวแทนในการสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น แต่บทบาทที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การเป็นผู้สนับสนุนทางการเมืองทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ งานศึกษาหลายชิ้นพบว่าผู้หญิงเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในพื้นที่ชุมชนและสามารถชักจูงโน้มน้าวการตัดสินใจของคนในชุมชนทั้งในเรื่องการพัฒนาชุมชนและในเรื่องการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าตัวเลขผู้หญิงในภาคธุรกิจของไทยจะสูงมากแต่ตัวเลขของผู้หญิงทางการเมืองกลับไม่มาก ระบบของพรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้งผูกกับตัวแทนทางการเมือง
ผศ. ดร. ไพลิน ทิ้งท้ายว่า บทบาทผู้หญิงในทางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาการเมือง สร้างสมดุลเชิงนโยบาย และยังมีส่วนในการเติมเต็มความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ทางสังคม เมื่อข้อจำกัดทางเพศที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมไม่อาจแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงต้องมีระบบกลไกในมิติกฎหมายมาช่วยส่งเสริมบทบาทผู้หญิง Gender Quota System ที่กำหนดสัดส่วนที่นั่งในสภาทั้งระดับชาติและท้องถิ่น หรือเปิดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงในทาง การเมืองทั้งบทบาทที่เป็นทางการและบทบาทในการพัฒนาชุมชนมากขึ้น เป้าหมายเพื่อสร้างความสมดุลขึ้นมา
นายกอบจ.เชียงใหม่การชิงชัยของชนชั้นนำทางการเมือง
อ.พินสุดา วงค์อนันต์ สำนักวิชาการการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในหัวข้อการแข่งขันทางการเมืองในองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ : มุมมองด้านผู้สมัครรับเลือกตั้ง ปี พ.ศ. 2547, พ.ศ. 2551, พ.ศ. 2555 และ พ.ศ. 2563
ว่า ที่มาของความสนใจหัวข้อนี้เนื่องจาก ผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่ มักจะเป็นผู้สมัครรายเดิมหรือผู้สมัครรายใหม่แต่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองเดิม ขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งนายก อบจ. เชียงใหม่ต้องมีศักยภาพสูง มีต้นทุนทางการเงินและมีทรัพยากรทางการเมืองอย่างอื่นสูงมาก เนื่องจากเชียงใหม่มีเขตเลือกตั้งกว้างถึง 25 อำเภอ และประกอบด้วย ส.อบจ. รวม 42 คน
“การพิจารณาภูมิหลังของผู้สมัครสามารถมองได้จากทุน เพราะเป็นปัจจัยชี้ขาดสำคัญในการเลือกตั้ง”
อบจ.เชียงใหม่มีการจัดการเลือกตั้งโดยตรงรวม 4 ครั้ง เมื่อพิจารณาผู้สมัครรับเลือกตั้งพบว่ามีจำนวนผู้สมัครน้อยราย และที่สำคัญเมื่อพิจารณาภูมิหลังของผู้สมัครยังปรากฏว่าจำกัดอยู่ในแวดวงของชนชั้นนำ นักธุรกิจระดับจังหวัด และล้วนแต่เป็นผู้มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมสูง แม้จะมีผู้สมัครหน้าใหม่เข้าร่วมแข่งขันอยู่บ้าน แต่เป็นครั้งคราวไม่มีความต่อเนื่อง เป็นเพียงไม้ประดับที่สร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ การเลือกตั้งที่ผ่านมาของเชียงใหม่เป็นการต่อสู้ของทุน 3 กลุ่ม คือ ทุนดั้งเดิม ตัวอย่าง นายอุดรพันธ์ จันทรวิโรจน์ มีต้นตระกูลจากพม่าและประสบความสำเร็จในธุรกิจสัมปทานป่าไม้และการรับเหมาก่อสร้าง ต่อมาแพ้ให้กับทุนศักดินาในปี 2547 ที่ได้รับแรงหนุนจากการเมืองระดับชาติ (ไทยรักไทย) ทำให้นายธวัชวงค์ ณ เชียงใหม่ เป็นนายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเป็นคนแรก แต่ครั้งนี้มีการเข้าร่วมแข่งขันของกลุ่มทุนสมัยใหม่ที่มีการปรับตัวเร็วทั้งทางธุรกิจและการเมือง เช่น นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์
อ.พินสุดา ตั้งข้อสังเกตว่า จากทุนของผู้สมัครที่มีความแตกต่างกัน ย่อมสะท้อนยุทธวิธีในการต่อสู้ทางการเมืองที่แตกต่างไปด้วย แต่ปัจจัยที่ชี้ขาดการเลือกตั้งท้องถิ่นยังคงเป็นเรื่องของทุนและผู้ที่ทำหน้าที่ในการแจกจ่ายทุน จะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมออกแบบหรือร่วมเสนอความเห็นการคัดสรรบุคคลที่มีศักยภาพเพื่อเข้าไปร่วมแข่งขันในการเมืองท้องถิ่น
“จากตัวเลขสถิติพบว่าการเลือกตั้งในอดีตคนเชียงใหม่ Vote no เยอะมาก ความเบื่อหน่ายทางการเมืองส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นจากการไม่มีตัวเลือก และใน 8 จังหวัดภาคเหนือ มี 3 จังหวัดที่มีผู้สมัครผู้หญิง ได้แก่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน”
มองอุบลราชธานีผ่านแผนพัฒนาท้องถิ่น 4 ปี พ.ศ. 2561 – 2564
อ.ปฐวี โชติอนันต์ สาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำเสนอหัวข้อ มองอุบลราชธานีผ่านแผนพัฒนาท้องถิ่นสี่ปี พ.ศ. 2561 – 2564 โดยเริ่มต้นจากการให้ข้อมูลพื้นฐานจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งมีผู้ชิงสมัครตำแหน่งนายกอบจ. 7 ท่าน และส.อบจ. 281 ท่าน จากพื้นที่เขตเลือกตั้งทั้งหมด 42 เขต 2,950 หน่วยเลือกตั้ง โดยมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,433,346 คน เมื่อสังเกตการหาเสียงของผู้สมัครพบว่ามีนโยบายที่คล้ายกันอย่างมาก ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างและซ่อมถนน ขุดคูคลอง ทำไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต พัฒนาโรงเรียนและเน้นให้ประชาชนเลือกคนดี มีคุณธรรม ทำงานโปร่งใส
เมื่อผู้สมัครมีนโยบายคล้ายกัน คำถามที่ตามมาคือแล้วคนจะเลือกจากอะไร จากการสอบถามนักศึกษาที่สอนเบื้องต้นประมาณ 100 คน พบว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะเลือกคนที่เขารู้สึกว่ามีความใกล้ชิด สนิท สามารถช่วยเหลือเขาได้ ขณะที่นักศึกษาบางส่วนระบุว่าจะเลือกเพราะอุดมการณ์ความคิดทางการเมืองของผู้สมัคร
ส่วนการที่ผู้สมัครมีนโยบายไม่แตกต่างกัน มันสะท้อนว่ารัฐไทยเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจอย่างมากและการปกครองท้องถิ่นควบคุมโดยข้าราชการส่วนภูมิภาคมาอย่างยาวนาน นอกจากนั้นการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขาดความมีอิสระ สำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานีมีการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง แต่ต้องล้อกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาภูมิภาคของอีสานใต้ รวมถึงแผนพัฒนาจังหวัดของกระทรวงมหาดไทย
พบว่า เมื่อประชาชนเสนอไปหากเข้าตามกรอบแนวทางที่กำหนดมาแล้วข้างต้นจะถูกกำหนดลงไปในแผนพัฒนาท้องถิ่นของอบจ. เช่น ส่งเสริมการปลูกข้าว ส่งเสริมการค้าชายแกน ทำถนน ไฟฟ้าให้ดี ส่งเสริมประเพณี เป็นต้น ขณะที่เรื่องปัญหาน้ำท่วมที่ไกลกว่าการสร้างคูคลอง ทำฝายกั้นน้ำ ความขัดแย้งเรื่องที่ดิน ถูกละเลยไป ทั้ง ๆ ที่เป็นผลของความขัดแย้งที่เกิดมาจากการพัฒนาของรัฐในอดีต
อ.ปฐวี ขยายความว่า แผนยุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่นของอบจ. มีลักษณะไปในทางกำหนดจากบนสู่ล่าง Top-Down มากกว่า และมองไม่เห็นปัญหาของพื้นที่จริง ๆ ถึงให้อำนาจท้องถิ่นมา แต่ท้องถิ่นก็ทำได้เฉพาะเรื่องที่กำหนดไว้เท่านั้น
แผนพัฒนาท้องถิ่นอุบลราชธานี พ.ศ. 2561-2564 | ||
การบริหารจัดการทรัพยากรอบจ. 114 โครงการ | 166,046,820 บาท | ส่วนใหญ่เป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์ และส่งเสริมพัฒนาบุคลากร |
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 114 โครงการ | 681,644,265 บาท | เน้นโครงการป้องกันยาเสพติด การจัดการศึกษา พัฒนาคุณภาพโรงเรียนตามแนวพระราชดำริ ส่งเสริมเกษตรพอเพียง |
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 284 โครงการ | 1,705,032,300 บาท | ซ่อมแซมถนน ปรับปรุงการคมนาคม |
การพัฒนาคุณภาพชีวิต 84 โครงการ | 625,156,000 บาท | การปรับปรุงโรงกีฬา พัฒนาคุณภาพชีวิต ใส่ใจคนพิการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย ทำนุบำรุงศาสนา |
การส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว | 310,458,700 บาท | ส่งเสริมการท่องเที่ยวการค้าชายแดน |
“ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในอุบลราชธานีและจังหวัดอื่น ๆ ควรออกมาส่งเสียงให้ผู้รับสมัครนายก อบจ. ว่าต้องการอะไร อย่าปล่อยให้ผู้สมัครเสนอมาอย่างเดียว เราต้องหาความรู้และข้อมูลของผู้สมัครแต่ละคน สถาบันการศึกษาต้องจัดเวทีเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้แถลงวิสัยทัศน์ ให้ประชาชนได้รับฟังข้อมูลและนโยบายของผู้สมัคร ส่งเสริมให้ประชาชนมาเลือกตั้งท้องถิ่นให้มากที่สุด การพัฒนาจังหวัดของอบจ. จะไปไกลกว่าในเรื่องของ สร้าง ซ่อม ปรับปรุง แก้ไขและส่งเสริม หรือการทำงานประจำที่หน่วยงานส่วนภูมิภาคถ่ายโอนมาให้เหมือนที่ผ่านมา”
ส.อบจ. ความท้าทายของบทบาทการตรวจสอบราชการส่วนภูมิภาค
“เราถูกทำให้ติดกับดักของการกระจายอำนาจท้องถิ่น ไปจับจ้องจับผิดกับเทศบาล อบต. อบจ. หรือกทม. ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ผิด แต่หากดูสัดส่วนงบประมาณในประเทศ ขณะนี้ท้องถิ่นใช้อยู่ร้อยละ 30 ส่วนอีกร้อยละ 70 ใช้โดยรัฐบาลกลางและราชการส่วนภูมิภาค เรากลับไปไม่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบเท่าใดนัก แต่กลับมีการประทับภาพร้ายให้กับนักการเมืองท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่ค่อยมีการประเมินการใช้อำนาจการปกครองของรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคที่น่าจะมีร้อยละ 95 ขึ้นไป ขณะที่ส่วนท้องถิ่นมีอำนาจปกครองเพียงร้อยละ 2-3”
รศ. ดร. อลงกรณ์ อรรคแสง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวนำการเสนอในหัวข้อ บทบาทสภา อบจ.ในการตรวจสอบราชการส่วนกลางและภูมิภาคในท้องถิ่นของเรา
นอกจากนี้ ควรจะมีการตรวจสอบราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น เพราะบริการสาธารณะจำนวนมากถูกจัดทำโดยรัฐบาลส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จังหวัดหนึ่ง ๆ นอกจากผู้ว่าราชการจังหวัด ยังมีหัวหน้าส่วนราชการที่เป็นส่วนภูมิภาคถึง 30-40 หน่วยงาน หรือดอยสุเทพลูกเดียวมีหน่วยงานส่วนกลางถึง 100 หน่วย ยกตัวอย่างชัด ๆ คือ ป่าแหว่ง
ภูมิภาคในท้องถิ่นของเรา
ชีวิตเราจึงสัมพันธ์กับส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมากกว่าแต่แทบไม่มีการตรวจสอบเลย จึงเป็นที่มาของความคิดในการสร้างตัวเชื่อมกลไกในการเชื่อมส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคเข้ากับพี่น้องประชาชน
เป็นไปได้ไหมที่ ประชาชนสามารถเห็นรายชื่อและสามารถพิจารณาบุคลต่าง ๆ ที่จะถูกส่งมาเป็นผู้ว่าฯ หัวหน้าส่วนงานต่าง ๆ และถูกประเมิน ตรวจสอบจากประชาชนในพื้นที่ นี่เป็นเรื่องอนาคตที่จะต้องพูคคุยกัน แต่ภายใต้กฎหมายปัจจุบันสภาอบจ. มีอำนาจในการตรวจสอบหน่วยงานข้างต้น
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการตรวจสอบเหล่านี้สามารถทำได้ โดยสภาอบจ. ในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร เพราะมีอำนาจตามพ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 32 สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจเสนอข้อคำถามต่อประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้
- ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชี้แจงข้อเท็จจริงใด ๆ อันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนภูมิภาค
- ให้หัวหน้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัดชี้แจงข้อเท็จจริงใด ๆ อันเกี่ยวกับงานในหน้าที่
ขณะเดียวกันสภาอบจ.ยังมีอำนาจใจการตั้งกรรมการสามัญ และกรรมการวิสามัญที่สามารถส่งเสริมให้บุคคลภายนอกเป็นคณะกรรมการได้ ซึ่งสามารถตั้งกรรมการวิสามัญได้ไม่จำกัดชุด เพื่อดูแลเรื่องในท้องถิ่น เช่น กรรมการวิสามัญดูแลดอยสุเทพ นี่เป็นอำนาจที่มีอยู่แล้วแต่ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์
ตัวกฎหมายอบจ.ปี 2562 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในมาตรา 23 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการปฏิบัติงานของอบจ. อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนราชการ ผู้ว่าฯ มีอำนาจเรียกอบจ.มาชี้แจง นี่คือการตรวจสอบและถ่วงดุลภายในจังหวัด
“วันที่ 20 ธ.ค.นี้เราจะสนใจเฉพาะนายกอบจ.ไม่ได้ ความมุ่งมั่น ตั้งใจของว่าที่นายกไม่เพียงพอ ต้องมีเลือกสมาชิกอบจ.ที่พร้อมจะตรวจสอบข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นการตรวจสอบทั้งการใช้อำนาจและตรวจสอบการใช้งบประมาณ เพื่อก้าวข้ามการหาเสียงประเภท “มุ่งมั่น ตั้งใจ” “คนรุ่นใหม่ หัวใจเพื่อประชาชน” หัวใจพัฒนา สร้างศรัทธาประชาชน” สิ่งเหล่านี้มันนามธรรม แต่ต้องระบุและให้สัญญาในการทำสิ่งที่สำคัญกับคนในพื้นที่”
นอกจากนั้น พรรคฝ่ายค้านที่ส่งคนลงสมัคร ควรถือโอกาสนี้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล การเสนอนโนบายตั้งคณะกรรมการสามัญ รวมทั้งการเสนอนโยบายตั้งกรรมการวิสามัญ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมองประชาชนในพื้นที่เพื่อตรวจสอบเพื่อตรวจสอบติดตาม นายก อบจ. ราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนกลางในพื้นที่
เหลียวหลังแลหน้าและความน่าสนใจของการเลือกตั้งอบจ. 8 จังหวัดภาคเหนือ
อ. ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ปิดท้ายการนำเสนอ การเดินทางของประชาธิปไตยท้องถิ่นระดับจังหวัด พ.ศ.2498 – 2563 ระบุว่า ทศวรรษแห่งการกระจายอำนาจมันมีส่วนที่เป็นการรวมศูนย์อำนาจอยู่ด้วย เพราะมีเหตุปัจจัยทางการเมืองระดับชาติ การเข้ามาของคสช. มีการนำพูดถึงประเด็นเรื่องการยุบท้องถิ่นโดยเริ่มที่อบจ. เพราะมองว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ พื้นที่การทำงานซ้ำซ้อนกับอปท.อื่นที่มีอยู่แล้ว แต่ผ่านมา 5 ปีเศษภายใต้ระบอบคสช. ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างใด ๆ กับอบจ. ตามที่อ.วีระศักดิ์ เสนอว่า คสช.ไม่เอาท้องถิ่น ส่วนตัวเห็นว่าไม่จริง เพราะคสช.ต้องการอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน จึงต้องมีฐานค้ำยันไว้และยังต้องพึ่งท้องถิ่น แม้ท้องถิ่นจะดูว่าอ่อนแอ แต่จริง ๆ ท้องถิ่นจะรวมกันสู้หรือไม่
“ตอนที่มีข่าวลือว่าจะมีการยุบอบจ. นายก.อบจ.นัดกันแต่งชุดดำทั่วประเทศก่อนนักศึกษา เยาวชนปลดแอกจะนัดแต่งดำด้วย หรือในเชิงข้อเสนอในเรื่องท้องถิ่นไปไกลถึงการยกเลิกข้าราชการส่วนภูมิภาค และการเคลื่อนไหวจังหวัดจัดการตนเองในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ หรือมีข้อเสนอของกรรมการกระจายอำนาจเสนอให้ถ่ายโอนตำรวจจราจรให้กับท้องถิ่นดูแลกำลังอยู่ในระหว่างการเขียนแผนแต่ไม่สำเร็จเพราะเกิดการรัฐประหารในปี 2549 ก่อน หรือความพยายามจะปฏิบัติตามกฎหมายกระจายอำนาจที่กำหนดให้ถ่ายโอนงบประมาณให้กับท้องถิ่นร้อยละ 35 ภายในปี 2549 จากเดิมร้อยละ 26 ซึ่งทางเดียวที่จะทำได้คือการเอาสถานีอนามัยหรือโรงเรียนทั่วประเทศให้กับท้องถิ่น ซึ่งก็ถูกต่อต้านและทำไม่สำเร็จ นี่ถือภาพสะท้อนความก้าวหน้าและถอยหลัง คัดค้านหรือสนับสนุนการกระจายอำนาจตลอด 20 ปีที่ผ่านมา”
แนวคิดของอบจ.มีตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2476 มีการเขียนเรื่องสภาจังหวัดซ่อนอยู่ในกฎหมายเทศบาลแต่ยังไม่เป็นท้องถิ่น มีสถานะเป็นสภาไปตรวจสอบการทำงานของส่วนภูมิภาค กระทั่งปี 2498 ในยุคของจอมพลป. มีการทำคลอดท้องถิ่นแล้วแต่ก็ยังไม่สมประกอบ เพราะไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง
อ. ดร. ณัฐกร ขยายความว่า กระแสการกดดันให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหลังพฤษภา 2535 บีบให้มหาดไทยปรับตัว แต่สุดท้ายก็ออกมาเป็นอบต. ที่ยกสถานะจากสภาตำบล จนขยายเต็มพื้นที่ทั่วประเทศ จุดเปลี่ยนสำคัญของอบจ.เกิดขึ้นในปี 2540 ที่ยกสถานะของอบจ.ขึ้นไปเหนืออบต. และขยายอำนาจของอบจ.ครอบคลุม 29 ด้านตามกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจปี 2542
“ทำให้ทุกวันนี้อบจ. เทศบาลหรืออบต. มันทับกันในเชิงพื้นที่และอำนาจ จนเกิดกรณีที่อบจ.บางแห่งซึ่งมีอำนาจทางการเมืองแข็งแรง การกระจายงบไปยังพื้นที่ส.อบจ.ที่มาจากขั้วเดียวกันแทนการกระจายงบประมาณอย่างเท่าเทียมในทุกพื้นที่ หรือเกิดปัญหาการแย่งงานหรือเกี่ยงงานกันทำจากการทับซ้อน นี่เป็นสิ่งที่ต้องมีการทบทวนต่อ”
หรือกรณีมีการลอบสังหารผู้สมัครอบจ.ฝั่งตรงข้ามทั้งจะมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ทางธุรกิจที่โยงใยกับเรื่องการก่อสร้างโครงพื้นฐาน กลุ่มการเมืองที่สังคมสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังการตายของนายกอบจ.คนเดิมก็จะถูกประชาชนปฏิเสธการเลือก นี่คือวิถีทางของประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ที่จะเลือกคนที่ห่างจากคนที่ใช้ความรุนแรง”
อ. ดร. ณัฐกร กล่าวถึง ความพัวพันของการเมืองระดับชาติกับการเมืองท้องถิ่น ว่าจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2547 หลังจากงบประมาณจำนวนมากมากองที่อบจ. นักการเมืองระดับชาติจำนวนหนึ่งที่เป็นฝ่ายค้านหลายคน ลาออก เพื่อมาจากสมัครเป็นนายกอบจ. เพราะว่าได้บริหารงบประมาณ มีการสำรวจความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองของผู้สมัครนายก อบจ. ปี 2547 อยู่ที่ร้อยละ 43 ส่วนในการเลือกตั้งอบจ. ปี 2563 มีการนำเสนอโดย The Momentum ที่ใช้ข้อมูลจากบริษัทเอเจนซีโฆษณา พบว่ามีความสัมพันธ์ถึงร้อยละ 63
สิ่งที่น่าสนใจ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ พรรคเพื่อไทยที่เดิมเคยในสมัยพรรคไทยรักไทย เปิดกว้างให้ผู้สมัครลงแข่งกันอย่างอิสระในนามพรรค แต่หนนี้มีการประกาศส่งผู้สมัครอย่างเป็นทางการในนามพรรคจำนวน 25 คน (ข้อมูล ณ ปัจจุบัน) หรือคณะก้าวไกลซึ่งล่าสุดมีผู้สมัคร 42 คน
แล้วประชาชนตัดสินใจเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างไร?
เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจพฤติกรรมการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ แต่มีงานศึกษาของประเทศอินโดนีเซียหลังระบบซูฮาร์โตล่มสลายและเกิดการเติบโตของท้องถิ่นอย่างก้าวกระโดด พบว่า มีเหตุผลหรือปัจจัย 5 ข้อได้แก่
- พื้นฐานส่วนบุคคล เช่น ครอบครัว อายุ อาชีพ ฐานะ การศึกษา ศาสนา เชื้อชาติ
- ความผูกพันในพรรคการเมือง (สังกัดพรรคการเมืองไหน)
- กลยุทธ์การหาเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านนโยบาย
- ภาพลักษณ์ของผู้สมัคร
- การโฆษณาชวนเชื่อ หรือประเด็นเฉพาะหน้าที่มีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนั้น ๆ
จากข้อมูลการเลือกตั้งอบจ.ในปี 2547 ปี 2551 และปี 2555 ในพื้นที่ 8 จังหวัดล้านนา พบว่ามีปัจจัยร่วมที่ส่งผลต่อการชนะเลือกตั้ง ได้แก่
- สังกัดพรรคไทยรักไทยเดิมที่เป็นรัฐบาลในช่วงที่มีการเลือกตั้งมาโดยตลอด ยกเว้น จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งการเมืองในระดับชาติก็ไม่ใช่ของเพื่อไทยหรือไทยรักไทยอยู่แล้ว
- เป็นคนในตระกูลการเมืองสำคัญของจังหวัดนั้น ซึ่งต้องเข้าใจภูมิศาสตร์การเมืองของแต่ละจังหวัด ซึ่งไม่ได้มีตระกูลเดียวที่ยึดกุมพื้นที่ทั้งหมดได้ แต่ต้องมีพื้นฐานที่ดี
- กลุ่มคนเสื้อแดงโดยเฉพาะ นปช.ให้การสนับสนุน เหตุการณ์การสลายชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 ทำให้ความเจ็บช้ำส่งผลต่อการเลือกตั้ง
- ทำทีมฟุตบอลหรือเป็นนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัด
“ป้ายหาเสียงของผู้สมัครกลุ่มนี้จะใช้สีแดง และพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าตนนั้นแดงกว่า หรือแข่งกันเดง เช่น ความเชื่อมโยงกับทักษิณ นปช. ผ่านการร่วมชุมนุมที่ราชประสงค์ แทบไม่กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาจังหวัดที่อยากจะทำ”
ความน่าสนใจการเลือกตั้งอบจ.ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ
- หลายจังหวัดอาจไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลง อดีตนายก. อบจ. หรืออยู่ในตระกูลการเมืองชื่อดังก็น่าจะได้รับการเลือกตั้งกลับมา
- จ.น่าน หลังจากมีนายก. อบจ. คนเดิมติดต่อกัน 4 สมัย ปีก็มีผู้สมัครหน้าใหม่ สะท้อนให้เห็นการผ่องถ่ายอำนาจการเมือง ไม่ใช่ผูกขาด ยึดกุมไปตลอด หรือมีกลไกภายในท้องถิ่นเองที่จะเปลี่ยนสลับ
- เชียงราย นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งมาเป็นเพียงจังหวัดเดียวที่มีนายก อบจ. เป็นผู้หญิงมาโดยตลอด และการเลือกตั้งครั้งนี้ มีสมัครทั้งหมด 3 คน เป็นผู้หญิงถึง 2 คน
- พะเยา ลำปาง เชียงราย เป็นจังหวัดน่าติดตามว่าพรรคเพื่อไทยจะรักษาพื้นที่ได้หรือไม่ กรณีพะเยามีน้องชายของคุณธรรมนัสลงสมัครด้วยถึงแม้จะไม่ระบุว่าเป็นตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐก็ตาม จะสู้กับตัวแทนจากคณะก้าวหน้า
- เชียงใหม่ ยังอยู่ในวังวนกับพรรคเพื่อไทย และแย่งชิงมวลชนที่เคยต่อสู้ทางการเมืองอย่างที่ได้นำเสนอไป
“การเลือกตั้งครั้งนี้ จะขับเคี่ยวสูสี การแพ้ชนะคะแนนน่าจะห่างกันไม่เกินร้อยละ 10 และตัวแปรสำคัญอย่างคนรุ่นใหม่ที่เป็น new voters จากที่ลองสำรวจความคิดเห็นที่สอนอยู่ร้อยกว่าคน อาจจะสรุปไม่ได้ แต่สามารถสะท้อนบางประการ กล่าวคือ เกือบร้อยละ 70 ยืนยันว่าจะกลับบ้านไปเลือกตั้งอย่างแน่นอน แต่นักศึกษาของผมก็อยู่ในจังหวัดใกล้ ๆ ไม่ได้มีความลำบากในการเดินทางกลับบ้านมากนัก” อ. ดร. ณัฐกร กล่าว
“คนรุ่นใหม่ นักศึกษาที่จะกลับไปเลือกตั้ง คนกลุ่มนี้เขาไม่รู้จักผู้สมัครแต่จะตัดสินใจจากนโยบาย ซึ่งปัจจุบันนี้เรายังไม่เห็นการหาเสียงด้วยนโยบาย ผู้สมัครนายกต้องรีบคิด รีบเสนอนโยบาย เขาจึงจะตัดสินใจเลือก ไม่เช่นนั้นก็จะอิงกับทางบ้าน กระแสพรรค หรือปัจจัยอื่น”
อ่านข้อเสนอฉบับเต็มของอ. ณัฐกร ได้ที่ ย้อนรอยสองทศวรรษ อบจ. เปลี่ยนการเมืองไทยอย่างไร
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้งท้องถิ่น : 1 ทศวรรษการปกครองท้องถิ่นไทย “ถูกบอนไซ ถูกใส่ร้าย ถูกวางยา?”