ประวัติศาสตร์แรงงานไทยใต้เงาการเมือง: จาก 2475 สู่ยุคเหลือง-แดง

ประวัติศาสตร์แรงงานไทยใต้เงาการเมือง: จาก 2475 สู่ยุคเหลือง-แดง

20160809182003.jpg

6 ก.ย.2559 การเสวนาหัวข้อ ‘อดีต ปัจจุบัน อนาคต กริยา 3 ช่องของนโยบายแรงงานไทย’ ในงาน ‘แรงงานไม่มีประวัติศาสตร์’ ภายใต้โครงการนิทรรศการประวัติศาสตร์แรงงานไทยและเยอรมัน จัดโดย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท(FES) ระหว่างวันที่ 6-11 ก.ย. 2559 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

20160809183049.jpg

6 ยุคประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานไทย 2475 – ปัจจุบัน

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการประวัติศาสตร์แรงงาน กล่าวถึงประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานไทยว่า นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนปัจจุบันสามารถแบ่งได้ออกเป็น 6 ยุค คือ 

1. ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานจีน เพราะแรงงานไทยติดอยู่กับที่นาเจ้านาย แรงงานส่วนใหญ่เป็นต่างด้าวจึงนำกฎหมายความมั่นคงมาควบคุม โดยปี 2440 ออกกฎหมายอั้งยี่ แรงงานจีนก็เคลื่อนไหวใต้ดิน จากเอกสารในหอจดหมายเหตุพบว่าประเด็นที่เคลื่อนไหวเป็นประเด็นปากท้อง และด้วยคนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเชื่อใน “สังคมนิยม” จึงเคลื่อนไหวใหญ่จะปฏิวัติสังคมร่วมกับคนงานจีนในเมืองจีนด้วย 

เมื่อแรงงานไทยขยายตัวมากขึ้น แต่ไม่ได้รับสิทธิในการรวมตัว พวกปัญญาชนก็เข้ามาเคลื่อนไหวขับเคลื่อนนโยบาย หลักๆ คือ การต่อสู้ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ โดย ถวัติ ฤทธิเดช เป็นตัวหลักคนหนึ่งในการเคลื่อนไหวและออกหนังสือชื่อ ‘ผลักดัน’ จนเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 รัฐถึงยอมรับการรวมกลุ่มของแรงงาน มีการจัดตั้งองค์กรระดับชาติชื่อ ‘อนุกูลกรรมการ’ ขบวนการแรงงานเองก็เข้าร่วมสนับสนุนปีกก้าวหน้าของคณะราษฎร ปรีดี พนมยงค์ ก็ทำพันธมิตรกับผู้ใช้แรงงานโดยถวัติให้การสนับสนุนปรีดีในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจ

2. ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.มีอำนาจค่อนข้างมาก แรงงานก็ไปเคลื่อนไหวใต้ดินในการต่อต้านรัฐบาล บางส่วนก็ไปร่วมกับขบวนการเสรีไทย แล้วก็ร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ หลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 มีการจัดตั้ง ‘สหอาชีวะกรรมกร’ ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญที่ดันนโยบายแรงงาน จนกระทั่งมีการจัดตั้งพรรค ‘สหชีพ’ เข้าไปอยู่ในรัฐสภาเพื่อผลักดันนโยบายแรงงาน

3. ทศวรรษ 2490 แม้หลังสงครามขบวนการแรงงานจะมีพลังเยอะและใกล้ชิดปีกก้าวหน้าในคณะราษฎร แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารปี 2490 ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ พวกก้าวหน้าต้องลงไปใต้ดิน รัฐบาลของจอมพล ป.จัดตั้งและสนับสนุนองค์กรที่เขากำกับได้ คือ ‘สมาคมกรรมกรไทย’ โดยองค์กรแรงงานในช่วงนี้เคลื่อนไหวกับรัฐบาล ได้เงินสนับสนุน และขาดอิสระ 

จากนั้นในปี 2499 ขบวนการแรงงานรวมตัวกันใหม่ในนาม ‘กลุ่มกรรมกร 16 หน่วย’ เคลื่อนไหวจนได้กฎหมายแรงงานฉบับแรกในปี 2499 แต่แล้วจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็ปฏิวัติ

4. ปี 2516 การเคลื่อนไหวในช่วงนั้นเรียก ‘พลัง 3 ประสาน’ คือ คนงานร่วมกับนักศึกษาและชาวไร่ชาวนา 3 พลังนี้มีอิทธิลพลและบทบาทในการผลักนโยบายสำคัญ แรงงานช่วงนั้นเคลื่อนไหวร่วมคนอื่นและเคลื่อนในประเด็นใหญ่ ตอนนั้น ฝ่ายก้าวหน้ามีแนวปฏิวัติกับแนวปฏิรูป แต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา แนวปฏิวัติเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ต่อมามีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จำกัดกรอบการรวมตัวของคนงาน เมื่อก่อนรวมกันแบบไหนก็ได้ แต่กฎหมายนี้บอกให้คนที่มีนายจ้างเท่านั้นจะรวมตัวได้

5. ปี 2519 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดวิกฤตศรัทธา เนื่องจาก พคท.พัง ความเชื่อเรื่องอุดมการณ์หายไป ขบวนการแรงงานกลับมาอยู่ในกรอบที่รัฐบาลให้ทำ คือ ทำเรื่องปากท้อง ทำเรื่องในโรงงาน

6. ปี 2540 วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง อุตสาหกรรมสิ่งทอล้มระเนระนาด โดยอุตสาหกรรมนี้เป็นฐานของขบวนการแรงงาน เนื่องจากในการต่อรองกับรัฐต้องการมวลชนแรงงานร่วมกดดันจำนวนมาก ที่ผ่านมาฐานสำคัญคือพวกสิ่งทอ ไม่ว่าเรื่องประกันสังคม หรือสิทธิ์ในการลาคลอด 90 วัน ล้วนมีพวกเขาเป็นกำลังสำคัญ แต่วิกฤตเศรษฐกิจนี้ทำให้ฐานนั้นหายไป และการนำก็เปลี่ยนมาอยู่กับอตุสาหกรรมใหม่คือ อุตสาหกรรมยานยนตร์ ซึ่งฐานหลักไม่ได้อยู่ใน กทม. การจะเอาคนมากดดันต่อเนื่องเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ที่สำคัญรัฐตีกรอบกำกับให้อยู่ในเรื่องปากท้องเท่านั้น มีบางส่วนที่พยายามทำเรื่องนโยบายแต่ยากลำบากมาก

“ในประวัติศาสตร์ มีบางช่วงที่ขบวนการแรงงานเข้มแข็ง บางช่วงอ่อนแอ ทั้งหมดอยู่ในบริบทแวดล้อม เราจะพบว่าขบวนจะเข้มแข็งในช่วงบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเพราะมีเสรีภาพในการแสดงออก แล้วอีกอย่างขบวนการแรงงานต้องเลือกด้วยว่าจะเป็นขบวนการแบบไหน จะมุ่งเฉพาะเรื่องปากท้องหรือประเด็นสังคมการเมือง เป็นโจทย์ที่ต้องตั้งคำถามกับตัวเองถึงจะรู้ว่านโยบายขับเคลื่อนจะเป็นยังไงต่อไป แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งสำคัญคือฐานของมวลชน” ศักดินากล่าว

20160809183103.jpg

10 ปี การเคลื่อนไหวของแรงงาน ใต้การเมืองเหลือง-แดง

นภาพร อติวานิชยพงศ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอวิจัยที่เธอได้ศึกษาเรื่องการผลักดันนโยบายของแรงงานในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง 10 ปีที่ผ่านมาครอบคลุมการรัฐประหาร 2 ครั้ง และใช้วิธีเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้นำแรงงานเป็นหลัก โดยแรงงานก็เหมือนกลุ่มทางสังคมอื่นๆ ที่แบ่งแยกเป็น 2 สีคือ เหลืองกับแดง ซึ่งล้วนมีเหตุผลเชิงนโยบายหรือหลักการในการเข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองทั้งสิ้น และยังมีกลุ่มที่ 3 ที่ไม่ประกาศจุดยืนชัดเจนแต่อาจไปร่วมกับ 2 กลุ่มแรก

ขั้วการเมืองสีเหลือง มีองค์กรแรงงานที่ประกาศตัวชัด คือ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) โดย สรส.เป็นองค์กรแรงงานเดียวที่ส่งตัวแทนไปเข้าร่วมเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) วัตถุประสงค์หลักคือ ต่อต้านนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 

การขับเคลื่อนสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยนายกฯ ชวน หลีกภัย ออก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 11 ฉบับตามที่ตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ช่วงนั้นพรรคไทยรักไทยหาเสียงว่าจะยกเลิก พ.ร.บ.ทั้งหมดนี้ แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลกลับเดินหน้าต่อ สมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้นำ สรส.ขณะนั้นระบุชัดเจนว่านั่นคือสาเหตุสำคัญให้ สรส.ร่วม พธม.ขับไล่รัฐบาลตั้งแต่ก่อน 2549

จากนั้นเมื่อมี กลุ่ม กปปส.แทน ผู้นำแรงงานบอกว่า ไม่ได้ศรัทธาสุเทพ แต่เห็นเป็นโอกาสที่จะได้เผยแพร่ข้อเสนอของฝ่ายแรงงานผ่านสื่อมวลชน ต่อหน้าประชาชนจำนวนมากในเวที กปปส. แต่ขณะเดียวกัน สรส.ก็ตั้งเวทีที่กระทรวงมหาดไทยด้วย เพราะไม่แน่ใจในจุดยืนของการแก้ไขปัญหาควมยากจนของ กปปส.และยังไม่พอใจนโยบายของนายกฯ ทักษิณที่ทำให้ TOT แข่งกับ AIS อย่างเสียเปรียบ

ส่วน คสรท.ในซีกภาคเอกชนนั้น ไม่ได้เสนอประเด็นขับเคลื่อนนโยบายชัดเจน แต่เหตุผลที่แกนนำเข้าร่วมขบวนที่ต้องการล้มรัฐบาลทักษิณเป็นเพราะรัฐบาลทักษิณไม่ใจปัญหาแรงงาน ประเด็นที่ไม่พอใจมี 2 เรื่องใหญ่ ก่อนรัฐประหาร 2549 “ทักษิณไม่สนใจข้อเรียกร้องการแก้ปัญหาของแรงงานหญิง” และปี 2546 สภาผู้แทนฯ ซึ่งพรรคเพื่อไทยกุมเสียงข้างมากลงมติไม่รับร่างกฎหมายแรงงาน

การเคลื่อนไหว คสรท.ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา องค์กรไม่ได้ประกาศเข้าร่วมกับ พธม.แต่สมาชิกในสังกัดประกาศเข้าร่วมไป เมื่อเกิดรัฐประหารปี 2549 ก็ออกแถลงการณ์คัดค้านรัฐประหารด้วย แต่การรัฐประหารปี 2557 ไม่มีการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน ปีรัฐประหารปี 2549 มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วจัดให้ลงประชามติ คสรท.ออกแถลงการณ์ระบุว่าขอเป็นกลางต่อประชามติ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ไม่มีการออกแถลงการณ์ อย่างไรก็ตาม ช่วงการเคลื่อนไหวของ กปปส. ทาง คสรท.ประกาศจุดยืนเข้าร่วมกับ กปปส.

ในขั้วการเมืองสีแดง องค์กรหรือกลุ่มที่ประกาศตัวชัดในแนวนี้ คือ สหพันธ์แรงงานสิ่งทอฯ ในงานวันสตรีสากลปี 2549 ก่อนการรัฐประหารและมีการชุมนุมของ พธม. สหพันธ์แรงงานสิ่งทอฯ ไม่ได้ร่วมขับไล่รัฐบาลทักษิณแต่กลับยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อให้รัฐบาลแก้ปัญหาแรงงานหญิงและเด็ก จัดตั้งสภาประชาชนตามกลุ่มอาชีพเพื่อปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ  

อีกกลุ่มคือ“สมัชชาแรงงาน 1550” ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2550 และหลังจากนั้นในปี 2551 ยังมีสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ที่ปัจจุบันคือ กลุ่ม Try Arm, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ, กลุ่มประกายไฟ ซึ่งได้ออกแถลงการณ์ให้ปฏิรูปการเมือง ศาล กองทัพ โครงสร้างภาษี และจัดให้มีระบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งแม้ไม่ใช่ประเด็นแรงงานโดยตรงแต่ก็นับเป็นการเรียกร้องเชิงนโยบายในภาพกว้างเช่นกัน 

ถัดมา 25 ธ.ค.56 เกิดสมาพันธ์กรรมกรเพื่อประชาธิปไตยและแสดงจุดยืนอยู่ตรงข้าม กปปส. โดยออกแถลงการณ์ 5  ข้อ

สำหรับเหตุผลการเข้าร่วมกับขั้วการเมืองสีแดงนั้น แบ่งได้เป็น  1.เริ่มแรกเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคนเสือแดง แต่รับไม่ได้กับการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงโดยใช้ความรุนแรง 2553 จากนั้นจงประกาศตัวเป็นคนเสื้อแดงโดยไม่ได้เกี่ยวกับ นปช. 2.ถึงแม้รัฐบาลทักษิณมีปัญหาคอร์รัปชัน แต่ต้องแก้วิถีประชาธิปไตย ไม่ใช่ด้วยการรัฐประหาร 3.รัฐบาลทักษิณช่วยคนจนและแรงงานให้มีชีวิตที่ดีขึ้น (นโยบายประชานิยม)

นภาพรสรุปว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบหนึ่งทศวรรษ แม้ว่าผู้นำแรงงานจะไปเข้าร่วมเป็นแกนนำ แต่ก็ไม่ใช่จะสามารถเคลื่อนไหวโดยที่ขบวนแรงงานเป็นผู้กำหนดทิศทางหลัก

ส่วนประเด็นที่ขบวนแรงงานถูกตั้งคำถามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ 1.จริงๆ แล้วแรงงานมีความเชื่อมั่นในพลังของแรงงานในการขับเคลื่อนนโยบายมากแค่ไหน หรือต้องอิงกลุ่มอื่น 2.บทบาทในการรักษาหลักการของระบอบประชาธิปไตยของขบวนควรเป็นอย่างไร เช่น อะไรคือความหมายของประชาธิปไตย การล้มรัฐบาลควรใช้วิธีการอะไร 3.บทบาทของขบวนการแรงงานในการเข้าร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองควรเป็นอย่างไร

นภาพรยังตอบคำถามผู้เข้าฟังสัมมนาเรื่องการถอดบทเรียนด้วยว่า ปัจจุบันขบวนการแรงงานที่แตกออกเป็น2 สายยังไม่เคยถอดบทเรียนร่วมกันถึงสิ่งที่ผ่านมาและเพื่อตอบคำถามดังที่ได้กล่าวมา นอกจากนี้ขบวนยังขาดพลังเพราะไม่สามารถหาจุดร่วมด้านนโยบายแรงงานและสังคมเพื่อขับเคลื่อนด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม ขบวนแรงงานก็ประสบปัญหาเดียวกันกับทุกส่วนในสังคมที่เผชิญความแตกแยกทางความคิด โดยที่สถานการณ์ปัจจุบันซับซ้อนขึ้นมาก ไม่เป็นขาว-ดำ เหมือนสถานการณ์การเมืองในอดีตจึงไม่แปลกที่จะยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้

“จุดเลือก จุดร่วมของแรงงานที่ต้องช่วยกันผลักดันจะทำให้ลืมส่วนต่างไปได้ ตรงนี้อาจเป็นทางออกได้ แต่อาจไม่แก้ความขัดแย้ง ถ้าแก้ได้ ปัญหาสังคมไทยคงแก้ไปได้แล้ว ไม่เป็นอย่างนี้” นภาพร กล่าว

ขณะที่แรงงานที่เข้าร่วมฟังการอภิปราย แลกเปลี่ยนว่า ในฐานะคนงานร่วมใหม่นั้นมีความหวังและอยากทำให้ขบวนการแรงงานสามารถกลับมาขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพอีกครั้ง อยากจะเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ แต่คำถามสำคัญคือ ใครจะเป็นคนกลางที่สามารถเชื่อมประสานทั้ง 2 ส่วนได้

20160809183119.jpg

หวังแรงงานสร้างเอกภาพ ประสานพลังปัญญาชน

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นักวิชาการด้านแรงงาน และกรรมการนโยบายสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า เราเห็นการขับเคลื่อนขบวนการแรงงานโลกที่เคลื่อนจากเล็กไปสู่ใหญ่ จากเรื่องส่วนตัวไปเรื่องส่วนรวม แต่ของเรานั้นกลับกัน ขบวนการแรงงานของไทยเกิดจากฝรั่งมังค่าที่เข้ามาลงทุนแล้วต้องการลูกจ้าง คนไทยตอนนั้นเป็นไพร่อยู่กับเจ้านาย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราจะเจอการต่อสู้ดุเดือนระหว่างค่ายสังคมนิยมกับทุนนิยม แรงงานต่างด้าวของจีนเหมือนเชื้อที่รอรับพรรคคอมมิวนิสต์ จึงไม่แปลกที่นโยบายรัฐก็จะต้องยิ่งสกัดกั้น 

ในปี 2475-2499 สหภาพแรงงานหรือองค์กรของแรงงานตอนนั้น เรียกว่า สหภาพอุตสาหกรรม แต่เมื่อปฏิวัติปี 2501 ประกาศคณะปฏิวัติยุบสหภาพทั้งหมด รัฐบาลส่งเสริมทุนเอกชนและมองสหภาพว่าเป็นเหตุในเกิดความร้าวฉาน สหภาพเริ่มกลับมาอีกทีในปี 2515-2516

ในยุคก่อนเราเป็น ‘สหภาพอุตสาหกรรม’ เช่น สหภาพโรงแรมและหอพัก สหภาพทอผ้า แต่ต่อมาก็ถูกทำให้มีสภาพเป็นสหภาพตามโรงงานที่ตั้ง

“หลังปี 2519 ผมเป็นผู้นำสหภาพธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย พลังของสหภาพเข้มแข็ง รวมเอาลูกจ้างที่เป็นลูกจ้างธรรมดากับลูกจ้างที่เป็นปัญญาชนไว้ด้วยกัน ผู้นำสหภาพยุคนั้น มี ผม เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ วิทยากร เชียงกูล แล้วยังเกื้อกูลความคิดความอ่านไปยังชาวนา เกิดระบบสามประสาน เพราะมันเข้มแข็งจึงถูกนักการเมือง ซึ่งล้วนแต่มาจากทุนและราชการที่ไม่ปรารถนาจะเห็นความเข้มแข็งของคนงาน มันจึงถูกทำลาย หลังจากนั้น สภาพอุตสาหกรรมก็ค่อยๆ กลายเป็น สหภาพโรงงาน ถูกแยกย่อยออกหมด จากใหญ่สู่เล็ก จากแข็งสู่อ่อน” ณรงค์กล่าว

“หลังปี 2534 เขาแยกรัฐวิสาหกิจออกจากเอกชนไม่พอ ยังแยกปัญญาชนออกจากขบวนการแรงงานอีก โดยบังคับให้ที่ปรึกษาของสหภาพต้องจดทะเบียน ไม่อย่างนั้นไม่ให้เข้าร่วมกับการเจรจาต่อรองของสหภาพ แล้วยังไปปลุกเร้าคนงานว่า พวกนี้หอคอยงาช้าง จากสมานฉันท์ไปสูความโดดเดี่ยว” ณรงค์กล่าว

“เรามีลูกจ้าง 18 ล้าน เกษตรกร 12 ล้าน พรรคทุกพรรคแทบไม่มีใครยกเสียงลูกจ้างมาเป็นประเด็นวาระทางการเมือง ทุกคนพูดเรื่องเกษตรกรแต่ไม่พูดเรื่องแรงงาน เพราะพรรคการเมืองบ้านเราอาศัยทุนจากนายจ้าง ไม่มีนายจ้างและหน่วยราชการไหนที่อยากให้คนงานเข้มแข็ง สังคมนี้ไม่มีใครอยากเห็นเอกภาพของลูกจ้าง” ณรงค์กล่าว

“ทำไมแค่สี 2 สีทำให้แตกกันได้ เราไม่เคยคิดว่านายจ้างไม่เคยมีสี เวลากำหนดค่าจ้าง ฉะนั้น ผมจึงบอกว่า เราถูกแรงกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจ ให้แรงงานไทยมีวิวัฒนาการที่ถดถอย ถ้าเรารู้สึกตัวแล้ว การกลับมาใหม่ การทำงานร่วมกันในประเด็นร่วมทางสังคม การทำงานกับปัญญาชนและกลุ่มอื่นๆ การฟื้นตัวแบบยุคก่อน 6 ตุลาก็จะกลับมา” ณรงค์กล่าว

เรียบเรียงจาก: ประชาไท 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ขบวนการแรงงานเยอรมัน-ไทย ประวัติศาสตร์ในความเหมือนที่แตกต่าง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ