เพราะความจนมันบังคับ เสียงจากแรงงานอีสาน ณ อิสราเอล

เพราะความจนมันบังคับ เสียงจากแรงงานอีสาน ณ อิสราเอล

ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบประเทศแถบตะวันออกกลาง ที่กลับมาร้อนระอุขึ้นอีกครั้งเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก ระหว่างกลุ่มติดอาวุธฮามาสในปาเลสไตน์และประเทศอิสราเอล โดยมีสมรภูมิรบสำคัญคือบริเวณฉนวนกาซา พร้อมทั้งจับตัวประกันไว้หลายคนรวมถึงแรงงานไทย

ถึงแม้จะมีความเคลื่อนไหวเริ่มทยอยรับแรงงานไทยกลับมาที่ประเทศไทยไปบ้างแล้ว เพราะเป็นพื้นที่สงครามที่รอคอยความช่วยเหลือจนไม่สามารถทำงานได้ตามเดิม แต่บางส่วนก็ยังยืนยันว่าไม่กลับ เหตุผลนั้นนอกจากพื้นที่อยู่ไกลจากบริเวณสงครามหลายไมล์ ส่วนหนึ่งเพราะความจนมันบีบบังคับให้พวกเขาอยู่ต่อ

“เพราะความจนมันบังคับ”

เสียงสัมภาษณ์บางช่วงบางตอนของพี่มานพ จ่าบาล แรงงานอีสานในอิสราเอล ที่บอกเล่าในวงโสเหล่ออนไลน์ “ส่องซอด แรงงานอีสาน ในต่างประเทศ” เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งถึงแม้จะเห็นจรวดลอยไปมาตลอด แต่ถ้าจะให้เขากลับตอนนี้ เขาคงไม่ทำ เพราะต้องหาเงินให้มากที่สุด ตามเวลาที่ทำสัญญาไว้

“สาเหตุที่ต้องมา เพราะอยู่บ้านเงินไม่พอกิน เหมือนงูแล่บลิ้น ไม่มีกินไม่มีใช้ เลยไปสมัครกับทางรัฐทิ้งไว้แล้วว่างพอดี เลยได้มาอิสราเอล แต่ก็ไม่มีเงินเดินทาง ก็ต้องกู้ ธกส. ส่วนมาทำงานที่นี่ได้เงินประมาณ 45,000-55,000 ต่อเดือน มีสวัสดิการเรื่องที่พักกับเรื่องของอาหารให้ ขึ้นอยู่กับนายจ้างของแต่ละพื้นที่ ที่นอน นอนห้องละ 2 คน นอนในตู้คอนเทนเนอร์ แต่สะดวกสบาย มีโฟมกันร้อน เตียง โต๊ะ ตู้ พร้อม 

ส่วนเหตุการณ์ความไม่สงบ พื้นที่ที่ผมอยู่ห่างจากฉนวนกาซา 80 กิโลเมตร ก็ถือว่าห่างพอสมควรไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีแดง แต่ก็มองเห็นจรวดผ่านไปผ่านมาเสมอ พื้นที่ที่เราอยู้ไม่ได้รบผลกระทบ

ถึงตอนนี้จะบอกให้กลับก็คงไม่กลับ เพราะหนึ่งคือเรื่องของความจนมันบังคับ สองคือเรื่องของสัญญาเราทำไว้ 5 ปี ซึ่งตอนนี้ยังไม่ถึง 5 ปี ถึงแม้จะไม่ผิดสัญญาหากกลับก่อน แต่ไม่คุ้มกับเวลาที่เราเสียไป เพราะแถบนี้ยังไม่มีคนกลับ นายจ้างก็ดูแลเราดี

ไกลบ้านแต่ก็ไม่เป็นอะไร เราก็วีดิโอคอลเอา ช่วยลดความคิดถึงลงไป”

สัดส่วนแรงงานที่มีคนไปทำมากที่สุดก็คือแรงงานการเกษตร

สอดคล้องกับข้อมูลของ ผศ. ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสาตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม ที่พูดถึง Timeline การเคลื่อนย้ายของแรงงานอีสานไปต่างประเทศ ที่ไม่ได้เพิ่งเริ่มมีช่วงนี้ แต่ย้อนไปไกลกว่า 40 ปี

ช่วงปี พ.ศ.2520 จะเป็นช่วงแรงงานอีสานไปแถบตะวันออกกลางก่อน เป็นช่วงหลังสงครามเวียดนาม ประเทศที่เปิดรับแรงงานเยอะ ๆ คือโซนตะวันออกกลาง แล้วยาวมาจนถึงประมาณ 2530 เป็นเวลาที่ประเทศซาอุดิอาระเบียตัดความสัมพันธ์กับไทย แล้วช่วงนั้นก็เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียขึ้นอีก ทำให้แรงงานเริ่มทยอยกลับบ้าน  

ช่วงปี พ.ศ.2530 แรงงานก็เปลี่ยนที่หมายไปเป็นไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น ขณะที่ตะวันออกกลางก็มีประเทศอิสราเอลที่ยังติดอันดับได้รับความนิยมในกลุ่มแรงงานไทยอยู่ แต่อิสราเอลจะรับแรงงานที่ส่งไปกับรัฐเท่านั้น ไปเองไม่ได้ อิสราเอลจะมีระยะเวลาการจ้างครั้งละสองปี และสามารถต่อสัญญาจ้างงานได้อีก 3 ปี 10 เดือน รวมแล้วไม่เกิน 5 ปี 10 เดือนเท่านั้น แรงงานที่อยากอยู่ทำงานต่อก็มีที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย

“แรงงานไทยเราไปอิสราเอล ตอนนี้เป็นอันดับสอง อันดับหนึ่งจะเป็นใต้หวัน ประมาณสี่แสนกว่าคน ส่วนอิสราเอลประมาณ 2 หมื่นกว่าคน แรงงานที่ไปอิสราเอลช่วงแรก ๆ เกิดขึ้นประมาณ 2523 เกิดมาจากความ การที่มีประมาณ 3-4 องค์กร ที่ส่งแรงงานไทยไป แต่ไปในรูปของอาสาสมัครการเกษตรโดยมีการส่งไปจากทางหน่วยงานทหาร ทปส และหน่วยงานไทยอิสราเอล และมีวิทยาลัยครูแห่งหนึ่งในประเทศก็ไปทำงานในสองส่วน ส่วนแรกไปในคิบบุตซ์ ก็จะเป็นชุมชน ทุกคนเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในการผลิตทั้งหมดและทำงานด้วยกัน ผลประโยชน์ที่ได้ก็แบ่งกัน ส่วนที่สองคือส่วนที่เรียกว่าโมชาฟ จะเป็นชุมชนซึ่งที่ดินเป็นของรัฐแต่ปัจจัยการผลิตที่ราคาแพง หรือการจัดการหาซื้อวัตถุดิบที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อสมาชิก จะมีคนที่มาจัดการ”

ผศ. ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ เล่าต่อว่าแรงงานส่วนใหญ่ที่ไปอิสราเอล จะเป็นแรงงานจำพวก 3D คือ Dangerous–Dirty–Difficult หรือ เสี่ยง สกปรก แสนลำบาก ปี 2531 รัฐบาลอิสราเอลก็ยอมรับอย่างเป็นทางการให้คนไทยที่เป็นเรียกว่าอาสาสมัครการเกษตรเข้าไปเรียนรู้ ถือว่าฝึกงานทางด้านการเกษตรเพื่อรับความรู้และเทคโนโลยีในการเกษตรมาใช้

ต่อมารัฐบาลอิสราเอลก็มองว่าคนกลุ่มนี้มันไม่ใช่คนที่ไปฝึกงานแต่ความจริงแล้วคือไปเป็นแรงงาน แรงงานเกษตร แรงงานของไทยก็เลยเปลี่ยนมาเป็นแรงงานที่เป็นแรงงานการเกษตร ทีนี้ในอิสราเอลข้อมูลที่มีก็จะมีแรงงานหลายภาคส่วน แต่ว่าแรงงานที่คนที่ไปทำมากที่สุดก็คือแรงงานการเกษตร การก่อสร้างมีน้อย ประมาณพันกว่าคน ทำงานร้านอาหารพันกว่าคน ซึ่งน้อยมากถ้าเทียบกับแรงงานเกษตร คิดว่าส่วนหนึ่งของการที่แรงงานไทยไปอิสราเอลเพราะมันเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐเป็นการส่งออกแรงงานในสัญญารัฐต่อรัฐและมีค่าจ้างในอิสราเอลค่อนข้างสูง รวมถึงมีสวัสดิการต่าง ๆ มีประกันสังคม รวมทั้งนายจ้างที่ดูแลแรงงาน คิดว่าการทำงานภาคเกษตรมันก็สอดคล้องกับพี่น้อง ในประเทศไทยซึ่งมีพื้นฐานทางด้านเกษตรกรรมอยู่แล้ว 

“ปี 2562 ผมไปพบพี่น้องแรงงานซึ่งพบว่ามีแรงงานจากภาคอีสาน แรงงานจากสุโขทัยก็ไปทำงานในสวนอินทผาลัม ได้สัมภาษณ์ ได้คุยกับแรงงานซึ่งเขากำหนดก็มีเครื่องจักกล มีเทคโนโลยีซึ่งผมคิดว่า แรงงานเรียนรู้เร็วและนายจ้างสามารถมอบหมายในแต่ละวันไม่ต้องมาดูแล ไว้ใจทำแต่ในสวนนั้น มีความเป็นอยู่ค่อนข้างดี  ผมคิดว่าเงื่อนไขสวัสดิการค่อนข้างดีด้วย “

จากข้อมูลล่าสุดของ “กระทรวงแรงงาน” ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 มีแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอล รวมกันทั้งสิ้น 25,962 คน หรือคิดเป็น 19% ของจำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่ยังคงทำงานในต่างประเทศ (131,846 คน) 

โดยประเทศ อิสราเอล” ถือเป็นประเทศในลำดับที่ 2 ต่อจาก “ไต้หวัน” (รวม 48,747 คน หรือคิดเป็น 36.97%) ที่มีจำนวนแรงงานไทยยังคงทำงานในต่างประเทศมากที่สุด

ซึ่งเป็นแรงงานจาก 

  • อันดับ 1 “จังหวัดอุดรธานี” รวม 4,042 คน (15.61%) 
  • อันดับ 2 “จังหวัดเชียงราย”  รวม 2,174 คน (8.4%)
  • อันดับ 3 “จังหวัดนครราชสีมา” รวม 2,163 คน (8.36%)
  • อันดับ 4 “จังหวัดนครพนม” รวม 2,136 คน (8.25%)
  • อันดับ 5 “จังหวัดหนองบัวลำภู” รวม 1,311 คน (5%)

“หมู่บ้านผม ไปเกือบทั้งหมู่บ้าน มันคือหน้าตาของครอบครัวนั้น”

เดชา คำเบ้าเมือง นักข่าวพลเมือง ที่เคยผลิตสารคดีอยู่ดีมีแฮง ตอน โซล-อุดร และเป็นคนที่อยู่ในจังหวัดอุดรธานีที่ติดอันดับส่งออกแรงงานไปต่างประเทศสูงสุด บอกเล่าประสบการณ์การลงพื้นที่พูดคุยตอนทำสารคดีและส่วนตัวเอง ครอบครัวก็ไปทำงานที่ต่างประเทศเช่นกัน

“อย่างที่ อ.ไชยณรงค์พูด มันมีทีมชุดแรกที่ไปทำงานต่างประเทศ แล้วเห็นว่ากลับมาแล้วมีเงินเป็นกอบเป็นกำ ตั้งแต่ทำงานซาอุดิอาระเบีย , อิสราเอล , ไต้หวัน , เกาหลี ซึ่งคนที่อยู่ในชุมชน อยู่ในอุดรฯ มองเห็นแล้วมันก็ได้เงินจริง ๆ บางคนปลดหนี้ได้ มีเงินซื้อที่ดินทำกิน ครอบครัวผมก็ไปต่างประเทศเหมือนกัน ถือเป็นหน้าเป็นตาให้กับครอบครัว

แต่ก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน เหมือนกับเพลง ไปเสียนา มาเสียเมีย บางคนก็กลับมาแล้วหย่าร้าง เลิกรากับครอบครัวไปก็มี แต่สุดท้ายเงินก็สำคัญมากกว่า ทำให้หลายคนเลือกที่จะไปหาเงินไว้ก่อน ซึ่งพอมีเงินกลับมา เขาก็มาปรับใช้เรื่องของการเกษตรในพื้นที่ตนเอง บางคนมาเลี้ยงวัว บางคนมาทำสวนเกษตร แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและเทคโนโลยีภายในประเทศด้วย

แรงผลักดันอย่างหนึ่งที่ทำให้คนไปต่างประเทศและยอมแลกในส่วนนี้ไปคือเรื่องของ ภาวะหนี้สินมันทำให้พวกเขาอยู่ไม่ได้ ค่าครองชีพ ลูกเข้าเรียน ค่าน้ำ ค่าไฟ คนอีสานเป็นคนขยันนะครับ ถ้าค่าจ้างแรงงานเราสูงพอ เราไม่ต้องไปทำงานไกลถึงต่างประเทศหรอกครับ”

กระทรวงแรงงาน เปิดเผยรายได้ของแรงงานไทยในอิสราเอล

ปัจจัยที่ทำให้แรงงานอีสานหลายคนอยากไปทำงานที่อิสราเอล คงหนีไม่พ้นเรื่องของรายได้ เพราะรายได้สูงกว่าประเทศไทยประมาณ 3 เท่า เช่น หากได้เงินเดือนที่ไทย 15,000 บาท แต่ที่อิสราเอลจะได้อยู่ที่ประมาณ 45,000 บาท นี่จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้คนไทยอยากไปทำงานที่อิสราเอล

กระทรวงแรงงาน เปิดเผย รายได้ของแรงงานไทยในอิสราเอล เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 55,000 บาทต่อเดือน เป็นระบบการจ้างงานแบบรัฐต่อรัฐ โดยแรงงานจะสามารถเดินทางไปทำงานได้เพียง 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5 ปี 3 เดือน

สำหรับค่าใช้จ่ายก่อนเดินทางไปทำงานอิสราเอล ประกอบด้วย

  • ค่าตั๋วเครื่องบินไป 25,000 บาท
  • ค่าตรวจประวัติอาชญากรรม 100 บาท
  • ค่าตรวจสุขภาพ 4,750 บาท
  • พาสปอร์ต 1,500 บาท
  • ค่ากองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ 400 บาท
  • ค่าบริการจัดหางาน 38,000 บาท
  • และค่าอุปกรณ์อื่นๆ อีก 600 บาท

นโยบายของเราเป็นนโยบายที่ไม่ได้ทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปาก

ผศ. ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ กล่าวเสริมว่าในกรณีของแรงงานที่ไปทำการเกษตรส่วนใหญ่ก็มาจากชนบท เพราะนั้นการพัฒนาชนบท คงต้องยกเครื่องใหม่ทั้งหมดรัฐบาลไทย เพราะรัฐบาลไทยเวลาพูดถึงการพัฒนาการเกษตรเน้นไปที่เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ทำเขื่อน ผันน้ำโขง ซึ่งลงทุนมหาศาลแต่สิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้ไปตอบโจทย์ นโยบายการทำงานเกี่ยวกับการเกษตรมันควรเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ไปทำโครงการขนาดใหญ่ ส่งเสริมแต่อุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งอุตสาหกรรมการเกษตรนั้นก็คือพวกอุตสาหกรรมของทุนคอนแทรกฟาร์มมิ่ง ซึ่งมันเอาเปรียบเกษตรกรด้วยซ้ำไป

คิดว่านโยบายของเราเป็นนโยบายที่ไม่ได้ทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปาก แต่เป็นนโยบายที่กดเกษตรกรไว้ คุณก็เป็นส่วนหนึ่งของการผลิต แต่ถ้าเปรียบว่าผลผลิตเป็นตัวปลาคุณก็ได้กินแต่ก้างกับหาง ส่วนหัว พุง เนื้อ ก็ถูกเอาไปกินหมด เพราะนั้นคิดว่าควรจะปรับปรุง 

“ควรจะยกเครื่องนโยบายการเกษตรให้ตอบโจทย์หรือตอบสนองต่อคนที่อยู่ภาคเกษตรเป็นหลัก อันที่สองผมคิดว่าแรงงานไทยเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในไทยเพราะว่าเงินที่แรงงานส่งกลับบ้าน ภาพรวมแสนกว่าคนที่ไปอยู่ต่างประเทศก็ประมาณเกือบสามแสนล้านบาท ผมคิดว่าแรงงานที่ไปททำงานต่างประเทศมีความสำคัญมาก ๆ และถ้ามองในแง่ของการดูแลประชาชนอยากให้มีการดูแลมากกว่านี้ ผมพบว่าแรงงานที่ไปต่างประเทศ รัฐให้ความสำคัญน้อยกว่าเมื่อนักธุรกิจไปพบก็จะต้อนรับอย่างดี แต่พอแรงงานมีปัญหาก็ไม่ค่อยสนใจแรงงาน ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลควรจะขันน๊อตให้ความสำคัญกับแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศมากกกว่านี้”

ความคืบหน้าการอพยพคนไทยและมาตรการเยียวยา

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า แผนของกองทัพอากาศที่จะต้องไปรับคนไทยที่อิสราเอล ได้จัดเที่ยวบินไว้ทั้งหมด 5 เที่ยวบิน ซี่งจะเดินทางอีกครั้งในวันที่ 18 ต.ค.นี้ สามารถรับผู้โดยสารกลับมาได้ประมาณ 800 คน และคาดว่าจะสามารถนำคนไทยกลับมาได้ภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ อยู่ที่ประมาณ 6,000 คน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออก 4 มาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ประกอบไปด้วย

  • 1. รัฐบาลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งของสายการบินเอกชนจากต่างประเทศ สายการบินเอกชนของไทย และกองทัพอากาศ
  • 2. มาตรการช่วยเหลือด้านแรงงาน “เยียวยา” แรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุน เมื่อกลับถึงประเทศไทย
  • 3. มาตรการพักชำระหนี้สำหรับแรงงานที่กู้เงิน ธ.ก.ส.
  • 4. มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลอิสราเอล

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ