คนแก่นำ ลูกหลานตาม : โมเดลการรักษาผืนป่าที่ยั่งยืน
ชีพจรข่าว – ฟังเสียงละอ่อนฮักป่า จ.น่าน |
"ถ้าวันหนึ่งไม่มีป่าเลย จะเป็นอย่างไร" สุริโย สุโรพันธ์ หรือโย อายุ 17 ปี ประธานกลุ่มละอ่อนฮักป่า จังหวัดน่าน ตั้งคำถามถึงอนาคต ที่ดูเหมือนว่าคำตอบจะปรากฎอยู่ในเวลานี้
ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเผยให้เห็นว่า เมื่อปี 2519 พื้นที่ป่าจังหวัดน่านมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 7 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 73 ของพื้นที่จังหวัดน่านทั้งหมด แต่ป่าไม้ได้ถูกบุกรุกทำลายอย่างต่อเนื่อง ในตลอดช่วง 26 ปีที่ผ่านมา เมื่อปี 2545 พบว่าจังหวัดน่านเหลือพื้นที่ป่าเพียง 3 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของพื้นที่จังหวัดน่านทั้งหมด
ล่าสุดปี 2554 มีการสำรวจพื้นที่ป่าอีกครั้ง และพบว่าจังหวัดน่านเหลือพื้นที่ป่า เพียง 39.87% จากพื้นที่ทั้งจังหวัด ซึ่งนี่ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตที่ต้องพึ่งพิงแหล่งน้ำและป่าไม้อย่างประเมินค่าไม่ได้ ที่เห็นได้ชัดคือภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี
เรื่องราวเหล่านี้ปรากฎอยู่ในข่าวโทรทัศน์ และตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน “สุริโย” ไม่รอแล้ว เขาต้องทำอะไรสักอย่างที่จะทำให้ป่าไม้คงอยู่ต่อไป เขาเชื่อในพลังเล็กๆของกลุ่มเยาวชน และเขาจะเริ่มต้นจากท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ นั่นคือที่บ้านหนองผุก ตำบลปรือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน
การรวมกลุ่มของเด็กๆบ้านหนองผุกค่อยๆก่อตัวขึ้น ในช่วงแรกมีสมาชิกเพียง 10 คน ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มจำนวน 80 คนหรือเรียกว่าเด็กในหมู่บ้านแทบทุกคนล้วนเป็นสมาชิกของกลุ่มละอ่อนฮักป่า มีทั้งเด็กนักเรียนชั้นประถมและมัธยมศึกษาตั้งแต่อายุ 7 ปีขึ้นไป จนถึงอายุ 23 ปี ซึ่งรุ่นพี่ทีโตขึ้น แล้วต้องไปเรียนต่อหรือไปทำงานในเมือง หรือในกรุงเทพมหานคร ก็ยังมีการติดต่อกัน และส่งไม้ต่อให้กับรุ่นน้องได้ทำงานสืบสาน ทำกิจกรรมอนุรักษ์ป่าไม้ต่อไป
ไม่ใช่เพียงแต่การเคลื่อนไหวของเด็กๆเท่านั้น การอนุรักษ์ป่าไม้จะเกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง ชาวบ้านในชุมชนต้องเป็นหลักให้กับเด็กๆในการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โชคดีที่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่นี่ รวมทั้งครูที่โรงเรียน และหน่วยงานรัฐท้องถิ่นให้การสนับสนุน
“คนแก่นำ ลูกหลานตาม ทำให้เกิดกลุ่มละอ่อนฮักป่า หรือเยาวชนคนรักษ์ป่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายของเราได้ชักชวนให้มาร่วมกิจกรรมที่เป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยสอดแทรกภูมิปัญญาชาวบ้าน และกุศโลบายในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่าไม้ได้อย่างแยบยล อย่างเช่นการบวชป่า ด้วยความที่ชาวบ้านที่นี่เป็นพุทธศาสนิกชนที่นับถือพระภิกษุสงฆ์ ดังนั้นต้นไม้ต้นใดที่ผ่านการบวชแล้วก็เสมือนหนึ่งว่าต้นไม้ตั้นนั้นอยู่ในบวรพระพุทธศาสนาชาวบ้านจะไม่ตัดเด็ดขาด นอกจากนี้อย่างสอนให้ทำฝ่ายชะลอน้ำ การทำแนวกันไฟป่า รวมไปถึงการหาสมุนไพรที่มีอยู่ในป่าอีกด้วย” สุริโยกล่าว
“เครือวัลย์ สุโรพันธุ์” ประธานเกษตรครบวงจรบ้านหนองผุก ผู้เป็นป้าของ “โย สุริโย สุโรพันธุ์” เล่าว่าในอดีตเกษตรกรที่นี่ทำไร่ข้าวโพด และปลูกใบยาสูบทำให้ใช้พื้นที่ในการทำเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก จึงต้องบุกรุก แผ้วถางป่าไม้เพื่อทำเกษตรกรรม เมื่อป่าถูกตัดทำลาย เวลามีลมมีพายุมามันน่ากลัวมาก น้ำป่าไหลหลากรุนแรง ช่วงหน้าแล้งก็แล้ง และอากาศร้อนระลุ วิถีชีวิตคนกับป่าดั้งเดิมสมัยรุ่นพ่อ รุ่นแม่เริ่มหายไป จึงฉุกคิดในใจว่าป่านี้สำคัญเป็นเรื่องไกล้ตัว และต้องช่วยกันรักษาไว้ พอดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้ามาแนะนำให้ปลูกฟัก ปลูกแฟงนอกจากจะใช้พื้นที่ไม่มาก ยังมีราคาพอๆกับข้าวโพด และใบยาสูบอีกด้วย”
สอดคล้องกับผู้ใหญ่บ้านของบ้านหนองผุก “วิเวก ซ้อนพุฒ” บอกว่าในชุมชนได้สร้างกฎ ระเบียบ กติกา ข้อบังคับ การดูแลรักษาป่าไม้และสิ่งแวดล้อม บางครอบครัวชักชวนลูกหลานไปร่วมเรียนรู้ อยากให้ผจญภัย อยากให้มีกำไรชีวิต ในกิจกรรมต่างๆ ถึงแม้จะมีความลำบาก ความเหนื่อยล้า แต่ก็แฝงไปด้วยความสนุก ตื่นเต้น ได้พบได้เห็นได้ผจญภัย ทำให้เยาวชนที่ไปร่วมกิจกรรมกับผู้ปกครองได้เล่าประสบการณ์ให้เพื่อนฝูงฟัง จากนั้นมากิจกรรมที่เกี่ยวกับป่าย่อมจะมีเยาวชนร่วมด้วยทุกครั้ง ในรุ่นหลังต่อมาผู้นำชุมชนจึงได้สนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์ป่าให้กับกลุ่มเยาวชน เน้นความรักความสามัคคี และให้ทุกคนรัก หวงแหนทรัพยากรป่าไม้
“ชุมชนบ้านหนองผุกรวมชื่อชาวบ้านกว่า 50 คนยื่นจดทะเบียนพื้นที่ป่ารอบชุมชน ให้เป็นป่าชุมชน กับกรมป่าไม้เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชน และองค์กรชุมชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เป็นป่าที่ประชาชนเข้าไปใช้สอยตามวิถีชีวิตของคนทุกคนในชุมชน ทั้งเรื่องการทำมาหากิน ระบบครอบครัวเครือญาติ ประเพณีความเชื่อ อำนาจและกฎระเบียบในชุมชน” ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองผุกกล่าว
ด้านนายกิตติพร บุญญกิจ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กรมป่าไม้ เผยว่าป่าชุมชนของชุนชนบ้านผุกมีเนื้อที่ทั้งหมด 3,726 ไร่ ในอดีตบริเวณนี้ผ่านสัมปทานทำไม้ มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าของชาวบ้าน รวมทั้งการทำไร่เลื่อนลอยของเกษตรกรในพื้นที่เอง
“การขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนแล้วชุมชนจัดการเองได้นั้น มันดีกว่าที่จะให้รัฐ หรือกรมป่าไม้เข้าไปควบคุมอยู่แล้ว เพราะชาวบ้านจะช่วยกันดูแลปกป้องผื่นป่าด้วยความรัก ของรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของ ใครที่จะเข้ามาบุกรุกป่าในพื้นที่นี้ก็จะกระทำได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้นต้องยอมรับว่าชุมชนที่นี่เข้มแข็ง มีการส่งต่ออุดมการณ์ให้ลูกหลานดูแลผืนป่า จนได้รับรางวัลป่าชุมชนดีเด่น ด้านเยาวชนคนรักษ์ป่าเมื่อปี 2554 ที่ผ่านนี้ด้วย” กิตติพรกล่าว
ค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม ภาคเหนือ ประจำปี 2556
รางวัลป่าชุมชนดีเด่น ด้านเยาวชนคนรักษ์ป่า คงจะเป็นเครื่องการันตีได้ว่าป่าชุมชนแห่งนี้พอจะสามารถเป็นโมเดลเยาวชนอนุรักษ์ป่าไม้ ให้กับชุมชนอื่นๆได้ ทำให้ค่ายเยาวชนกล้ายิ้มภาคเหนือถูกจัดขึ้นที่นี่โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และกรมป่าไม้ เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ป่า และสืบทอดการบริหารจัดการป่าชุมชนในอนาคต
ค่ายเยวชนกล้ายิ้มภาคเหนือครั้งนี้ ได้คัดเลือกตัวแทนเยาวชนจาก 10 จังหวัดในภาคเหนือคือน่าน แพร่ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ พะเยา และเชียงราย ที่มีอายุระหว่าง 13- 15 ปี จำนวน 80 คนเข้าร่วมกิจกรรม “เรียนรู้วิถีชีวิตการอยู่กับป่าอย่างยั่งยื่นของป่าชุมชน กิจกรรม “เรียนรู้สู้โลกร้อน” กิจกรรม “เยาวชนกล้างยิ้มสร้างสวนสมุนไพร” และกิจกรรม “อนาคตของป่าชุมชน”
“บุญทิวา ด่านสมสถิต” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารองค์กร บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการระดมความคิดในหัวข้อ “อนาคตของป่าชุมชน” ได้ช่วยกระตุ้นให้เยาวชนรู้จักคิด รู้จักสังเกตป่าชุมชนของตนเอง รู้จักเก็บประสบการณ์และสิ่งที่พบเห็นมาต่อยอดวางแผนป่าชุมชนของตนในอนาคตข้างหน้า อะไรที่ดีอยู่แล้วก็พัฒนาให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้นได้ ส่วนที่ยังขาดก็นำสิ่งดีๆ ที่ได้จากค่ายมาประยุกต์ใช้ บริษัทฯ เชื่อว่ากระบวนการนี้จะสามารถกระตุกต่อมคิดจิตสำนึกของเยาวชนให้ตระหนักในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานมากขึ้น
ด้าน ด.ช.สราวุธ เศษห้า อายุ 14 ปี โรงเรียนบ้านหนองปลาสะวาย ตัวแทนเยาวชนจากจ.ลำพูน ที่มาเข้าค่ายกล้ายิ้มครั้งนี้ บอกว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปบอกกับเพื่อนๆที่โรงเรียน และพ่อแม่ อย่างเช่นเรื่องการทำปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพด เพราะที่บ้านปลูกข้าวโพดเหมือนกันและมีซังข้าวโพดเหลือทิ้ง ที่บ้านก็จะเอาไปเผา แต่คราวนี้ผมจะให้ที่บ้านเอามาทำเป็นปุ๋ยหมักและไม่ต้องเผาซังข้าวโพดอีกต่อไป
ส่วนทางด้าน น.ส.พวงผกา ราชจักร์ อายุ 17 ปี วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ ตัวแทนเยาวชนจากจังหวัดอุตรดิตถ์ มองอนาคตของป่าชุมชนว่าเป็นไปได้ใน 2 แนวทางคือถ้าคนชุมชนช่วยกันอนุรักษ์ก็ทำให้ป่ามีอยู่ต่อไป แต่แบบนี้จะมีสักกี่ชุมชน เพราะส่วนตัวเห็นว่าหลายพื้นที่ก็จะยังมีการบุกรุกทำลายป่าอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนายทุน ที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ถ้าเป็นแบบนี้ป่าจะลดน้อยลงเรื่อยๆ และแน่นนอนว่าภัยธรรมชาติก็อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน
เยาวชนคนรักษ์ป่าบ้านหนองผุกถือเป็นเยาวชนต้นแบบที่มีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และมุ่งมั่นทำงานด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้คงอยู่ต่อไป มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สมัครสมานสมานสามัคคีและที่สำคัญเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม บทบาทของเยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากชุมชนเป็นอย่างดี เป็นภาพของ “คนแก่นำ ลูกหลานตาม” ช่วยกันอนุรักษ์และมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai; The Nation