วันนี้เป็นไงบ้าง… คอลถามไถ่คนไทยในอิสราเอล

วันนี้เป็นไงบ้าง… คอลถามไถ่คนไทยในอิสราเอล

สถานการณ์ปัจจุบันการสู้รบในตะวันออกกลาง รุนแรงต่อเนื่อง ผลตอบแทนของแรงงานกำลังแลกด้วยความเสี่ยง แง่สุขภาพกาย-ใจ และภัยสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ แต่ในสถานการณ์นี้ยังมีแรงงานไทยหลายคน ยังไม่ประสงค์กลับประเทศไทย

ตั้งแต่วันเสาร์ ที่ 7 ตุลาคม 2566 กับการเปิดฉากปะทะสงคราม ระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ในทางข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ที่ทุกแทบจะเรียลทามไปทั้งหมด เราคือหนึ่งคนในนั้นที่กำลังเสพสื่ออย่างกังวลใจ และอดเป็นห่วงคนไทยที่ไปทำงานที่นั่นไม่ได้ คงเป็นเพราะในความรู้สึกร่วมของคนมีญาติที่ทำงานอยู่ต่างประเทศทำให้ยิ่งรู้สึกอยากถามไถ่ถึงกำลังใจของคนไทยที่อยู่

อ๊อฟบี้ คนล่าฝัน Chanel ช่อง Youtube ที่เป็นเหมือนพื้นที่เก็บเรื่องราวทั้งการทำงานในต่างแดน ความเป็นอยู่ รวมถึงมิตรภาพจากเพื่อนร่วมงานด้านเกษตร ณ เมือง Dganiya Alef, Hazafon, Israel ทางตอนเหนือของอิสราเอล

“มื้อนี้เซ้าวันที่ 8 ตุลาคม 2566 มาอัพเดตข่าวสารที่พี่น้องหลาย ๆ คนเป็นห่วง…”

สำเนียงอีสานในคลิป Facebook

พี่อ๊อฟบี้บอกเล่าสถานการณ์ ผ่านกลุ่มที่มีชื่อว่า แรงงานไทยในอิสราเอล  โพสวีดีโออัพเดตถึงเหตุการณ์ในอิสราเอลเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566 ซึ่งผ่านมาได้ 2 วันกับการเริ่มต้นเปิดฉากสงครามครั้งใหญ่ในพื้นที่

เป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นที่อยากจะ ถามไถ่ ในความเป็นคนไทยด้วยกัน ว่าวันนี้เป็นไงบ้าง ?

“กำลังจะครบรอบ 1 ปีของการมาทำงานอิสราเอลในเดือนพฤษจิกายนพอดี ตอนที่ตัดสินใจมาทำงานเพราะสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ตอนนั้นเองเรามีคนข้างหลังต้องดูแล และเรารู้อยู่แล้วว่าเมืองที่เราเลือกมามีสงครามเป็นระยะ”

พี่อ๊อฟบี้ หนุ่มอีสานจากจังหวัดอุดรธานี หนึ่งในคนไทยที่เลือกสมัครโครงการทีไอซี หรือ โครงการ “ความร่วมมือไทย – อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers: TIC) เล่าถึงการเดินทางไปทำงานที่อิสราเอล  

ที่ได้มาทำงานที่อิสราเอล เล่าย้อนความไปในช่วงปี 2565 เราอยู่บ้านทำกิจการส่วนตัวเปิดร้านอาหาร ค้าขาย มาเจอช่วงวิกฤตโควิด-19 เกินล็อกดาวน์ 2 รอบ 3 รอบ ส่งผลกระทบระยะยาวเพราะตอนขายของในช่วงไม่มีภาวะวิกฤติ ยังพอมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้อยู่ สู้ไปสู้มาเรามีภาระหนี้สินแต่ละเดือน ๆ เราแบกและสู้ไม่ไหว รายรับกับค่าใช้จ่ายเริ่มไม่สมดุล เลยลองสมัครโครงการทีไอซีของรัฐที่กรมการจัดหางานเปิดรับ และเรามีเพื่อนที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลว่าไปแล้วเป็นอย่างไรการทำงาน รายได้ และสงคราม เพื่อนก็บอกว่ารายได้ดีกว่าบ้านเรา และสงครามมีเป็นบางช่วงไม่ได้หนักและอันตรายแบบในตอนนี้ มีเสียงระเบิดก็มีการหลบในบังเกอร์ พื้นที่รองรับ มีการซักซ้อมแผนในพื้นที่ปกติ

ตอนนั้นเราก็ลองหยอด ๆ ถามเพื่อนไปว่าเดือน ๆ หนึ่งรายได้ถึง 50,000 หรือไม่ เพราะเราจะได้คำนวณรายได้ก็มีแต่รายรับเราก็ต้องคิด เพื่อนเราก็บอกว่าช่วงเริ่มจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษีเดือนละ 5,300 เชคเกล หรือประมาณ 50,000 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน) และมีกำหนดสัญญาจ้างงานสูงสุด 5 ปี 3 เดือน ซึ่งจะมีรายได้มากกว่า 3 ล้านบาทต่อคน เมื่อกลับมายังประเทศไทยเราก็สามารถนำประสบการณ์ทางเกษตรที่ได้รับจากการทำงานกลับมาพัฒนาประเทศและประกอบอาชีพในบ้านของตนเองได้อีกด้วย นั่นเลยทำให้เราลองสมัครดูของกรมแรงงานที่ประเทศไทย

ในส่วนของขั้นตอนการสมัครว่ามีการเปิดรับสมัคร และกรอกใบสมัครทางออนไลน์ กรอกข้อมูลประวัติ ขั้นตอน และส่งเอกสารทางออนไลน์ ทั้งหมดเป็นการทำแบบออนไลน์ ซึ่งสมัครรอระยะเวลา 8-9 เดือน เมื่อเราผ่านเกณฑ์การคัดเลือก จะมีการให้เข้าไปอบรมก่อนการเดินทางไปทำงาน การตรวจโรค ตรวจร่างกาย การตรวจแต่ละประเทศก็จะมีมาตรฐานไม่เหมือนกัน มีการฉีดยา เป็นการดูแลก่อนไปของากรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน”

บายศรีสู่ขวัญก่อนมา เป็นความเชื่อของคนอีสาน

ก่อนจะมาเรามีการทำบายศรีสู่ขวัญมาก่อน คนก็จะรู้ทั้งหมู่บ้านว่าเรากำลังจะไปไหน เพราะชาวอีสานเชื่อว่า การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญนั้น เป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

1 พฤศจิกายน 2565 เหยียบแผ่นดินอิสราเอล

การเดินทางเราได้เดินทางในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเดือนหน้าก็จะครบรอบ 1 ปีการของการมาทำงานที่อิสราเอล

หน้างานเมื่อเราไปถึงเป็นเหมือนหมู่บ้านเกษตรกรรมหมู่บ้านหนึ่ง ตนอยู่ Banana Farm บ้านเราจะเรียกป่ากล้วย สวนกล้วย ใกล้ ๆ จะมีฟาร์มส้ม อะโวคาโด้ แต่เรารับผิดชอบในส่วนของฟาร์มกล้วย

คลิปเล่าเรื่องการดูแลกล้วยของพี่อ๊อฟบี้ ใน อ๊อฟบี้ คนล่าฝัน Chanel

การทำงาน 1 วันทำอยู่ 8 ชั่วโมง พักเบรก 30 นาที ถ้ามีโอที รวม ๆ แล้ว 10 ชั่วโมง ยังพอมีแบ่งเวลาให้กับครอบครัวเหมือนเวลาทำงานปกติในประเทศไทย ใช้เวลาก่อนทำงานและเลิกงาน ซึ่งหน้างานในแต่ละวันมีหนักบ้าง เบาบ้าง แล้วแต่วันแล้วแต่ช่วงฤดูกาล เพราะประเทศนี้มีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูหนาวจะมีฝนมาด้วย ต้องบอกก่อนว่าแต่ละที่ไม่เหมือนกันมีที่ดี ที่ไม่ดี

ส่วนของที่อยู่อาศัยเป็นเหมือนตู้คอนเทนเนอร์ ตรงที่อยู่โชคดีมีแอร์ มีเครื่องซักผ้า สิ่งอำนวยความสะดวกแทบจะทุกอย่างและเป็นจุดที่โชคดีที่นายจ้าง และรัฐบาลคอยดูแลเรื่องที่พักที่อาศัย

เพื่อนคนไทยที่อยู่ด้วยในแคมป์คนไทย 11-12 คน เพื่อต่างชาติเป็นนักศึกษาฝึกงานจาก สาธารณรัฐรวันดา (Rwanda) แอฟริกา มาฝึกงาน 1 ปี และกลับไปเรียนต่อที่อเมริกา หรือบางคนกลับไปพัฒนาบ้านตนเอง และมีช่วงหนึ่งที่มีคนอิสราเอลมาช่วยถ้าดูจากภาพในเพสบุ๊ค เข้ามาช่วย เป็นช่วงที่ได้มีเพื่อน ๆ ต่างประเทศมาแลกเปลี่ยนและทำงานร่วมกัน

เรื่องรายได้กับค่าใช้จ่ายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จุดประสงค์ของการมาอิสราเอลของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมาเพื่อสร้างฐานะให้ดีขึ้น บางคนมาหาเงินใช้หนี้ บางคนมาหาประสบการณ์กลับไปต่อยอดบ้านตัวเอง แต่ถ้าถามว่ามันสมดุลกันหรือไม่ ระหว่างเดือนถ้าเฉลี่ยรายจ่ายถือว่าดีในระดับหนึ่ง ถ้าตามกรม เงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษีเดือนละ 5,300 เชคเกล หรือประมาณ 50,000 บาท แต่ละวันอยู่ที่เรทเงินของแต่ละเดือนว่าจะขึ้นหรือจะลง ในส่วนของเราเองส่งกลับบ้านไปเดือนละ 3-4 หมื่น แต่ย้ำว่าเป็นค่าแรงตรงที่เราอยู่ตรงนี้นะครับ เหลือพอส่งกลับไปให้ครอบครัว

“ภาคใต้เกิดภาวะสงคราม แต่ภาคเหนือยังเป็นพื้นที่ปลอดภัย เรายังทำงานตามปกติเราไม่ได้หยุดไปตามสงคราม”

ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีสัญญาณเตือน 11 เดือนที่อยู่มาในพื้นที่ยังไม่มี แต่ 1 ปีจะมีการซักซ้อมเปิดไซเรน ซักซ้อมการรบ ซึ่งเพื่อนบอกว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ในตอนนี้ที่เกิดสถานการณ์ตื่นมาอีกวันก็ช็อกไปทั้งแคมป์ตาม ๆ กัน

ด้วยความที่เป็นหมู่บ้าน ตามจุดต่าง ๆ จะมีที่หลบภัยจะเป็นบังเกอร์ที่เป็นซีเมนต์เล็ก ๆ ให้หลบภัย และเป็นอุโมงค์แต่ละจุดที่สามารถลงไปหลบภัยได้ แต่ในพื้นที่ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นซักซ้อมและออกเตือนประชาชนในหมู่บ้าน ต้องเตือนแรงงานให้เข้าไปหลบ นายจ้างของที่นี่มีการสร้างความมั่นใจให้กับแรงงานอธิบายจุดที่เราอยู่ใน google map จากจุดที่เราอยู่กับพื้นที่สีแดง gaza อยู่ตรงไหน ตรงพื้นที่ที่เราอยู่อยู่ไกลจากสงครามพอสมควร และยังสามารถทำงานต่อไปได้ยังไม่มีปัญหาที่เราไปทำงานในทุกวัน หากเกิดปัญหานายจ้างจะเข้ามาบอกเอง

ก่อนจะเกิดสงครามได้ไปที่ไหนมาบ้าง ประทับใจตรงไหนที่ได้เอนกายพักผ่อนหลังจากทำงาน

ส่วนใหญ่การออกไปด้านนอกฟาร์ม ก็จะปั่นจักรยานออกไปซื้อของใช้เป็นส่วนใหญ่ 1 เดือนไป shop ใหญ่ครั้งหนึ่งเพื่อไปซื้อของกินตุลไว้ ใช้เวลาผ่อนคลายกับเพื่อน ๆ ในแคมป์งาน และแถว ๆ ละแวกที่อยู่ก็จะมี ทะเลกาลิลีทะเลสาบแห่งชีวิตของอิสราเอล เป็นทะเลสาบน้ําจืดที่ต่ําที่สุดในระดับความสูงของโลก สวยและประทัยใจอยู่ใกล้ เวลาเราเหนื่อยเราก็จะไปนั่งเล่นตรงนี้พักกายใจ กินข้าว

ความประทับใจอีกอย่างคือเราได้นายจ้างที่ดี เวลาเราไม่สบายหรือเกิดปัญหาอะไรนายจ้างเราพร้อมรับฟังและช่วยเหลือ

ทำไมในสถานการณ์นี้เราเลือกที่จะอยู่ต่อ ?

จุดที่เราอยู่สถานการณ์ยังคาดเดาได้และไม่รุนแรง เราก็อยู่ดูสถานการณ์หากเกิดสถาวะวิกฤติก็จะตัดสินใจอีกครั้ง เรายังทำงานได้ตามปกติ อยากบอกที่บ้านว่าไม่ต้องห่วง ยังอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยก็เลยทำให้กำลังใจดีกัน อีกอย่างคือเราต้องทำงาน

ถามว่าทำงานมาอยู่ที่นี่เกือบ 1 ปีดีกว่าไหม มันมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีและความแตกต่าง คือ ค่าแรงที่สูงกว่าแต่ไม่ใช่ว่าค่าครองชีพไม่สูง เปรียบเทียบค่าแรงบ้านเรา 300 บาท ซื้อโค้ก 1.5 ลิตร 15 บาท ถ้าไม่เปรียบเทียบเป็นค่าเงินไทย สำหรับบ้านเค้า 230 เช็ค ซึ่งโค้กบ้านเค้าขวดละ 7 เช็ค มันสมดุลบ้านเค้าสมดุลระหว่างค่าแรงกับค่าครองชีพ

แต่เรื่องความเป็นอยู่ก็จะลำบากหน่อย การอยู่การกินไม่ได้เหมือนอยู่ที่บ้านเรา อยู่ไทยอยากกินอะไรก็ได้กิน อุดมสมบูรณ์ แต่เรามาอยู่โซนทางนี้ไม่ได้เหมือนบ้านเรา

แต่ไม่มีที่ไหนอยู่และเป็นสุขเท่าบ้านเรา สุดท้ายในระยะเวลาหนึ่งหมดสัญญาเราก็กลับบ้าน

ตอนนี้แรงใจยังดีอยู่ไหม ?

วันนี้ “แรงใจยังดีอยู่” ถ้าถามว่าเครียดไหมระหว่างที่เราเลือกจะยังอยู่ที่นี่ ไม่เครียดแต่เราสลดใจมากกว่า Power เรามันลดลง พลังใจเราลดลง เวลาเราดูข่าว เห็นเพื่อนคนไทยหลาย ๆ อย่างมันกระทบจิตใจคนไทยในอิสราเอล แค่ทุกครั้งที่เราเห็นเรื่องนี้บนข่าว โซเชียลมันรู้สึกบาดใจ น้ำตาจะไหลออกมาไม่รู้ตัว

เหมือนที่เราพูดผ่านคลิปไปในช่วงวันแรก ๆ ของสถานการณ์ไม่อยากให้ทำคลิปที่รู้สึกว่าบันทอนจิตใจคนไทยที่อยู่ในอิสราเอล คือถ้าไม่ได้อยู่ในสถานการณ์จริง ๆ มันพูดยากว่าในพื้นที่กดดันขนาดไหน งานเราก็หนักและเหนื่อยอยู่แล้วทุก ๆ วัน บางที่ก็มีการโดนทุกอย่างเช่น โดนนายจ้างเอาเปรียบ โกงชั่วโมงงาน ชั่วโมงไม่ได้ตามกรม เงินไม่ได้ ทุก ๆ อย่างมันเกิดขึ้นและโดนกดดันในการมาประเทศอสราเอล เป็นบางที่เราไม่ได้เหมารวมทุกที่

และยิ่งในภาวะสงครามแล้วเราเห็นคลิปบางคลิปที่มากระทบ บันทอนจิตใจ ไม่ให้กำลังใจกัน เราคงไม่ได้ต้องการอะไรแค่เพียงส่งกำลังใจให้กัน เพราะลำพังเราไม่สามารถช่วยอะไรได้มากแต่เราช่วยส่งกำลังใจให้กันได้ อยากให้กำลังใจทุกส่วน ทั้งผู้สูญเสีย ญาติพี่น้อง ผู้ที่เลือกจะกลับไปประเทศไทย และคนที่ยังยืนหยัดฮึดสู้ต่อ มีกำลังลุกขึ้นมาสู้อีกรอบครั้งเพราะเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เลือกอยู่ต่อกำลังใจลดลงไปเยอะ

ให้กำลังใจคนไทยในอิสราเอล ทุก ๆ คนที่ตัดสินใจออกมาทำงานนอกประเทศ ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นอยากให้กำลังใจทุก ๆ คน ใจขอให้เข้มแข็งเพื่อคนที่อยู่ข้างหลังให้อนาคตเขาดีขึ้น ใครที่ไม่ไหวก็กลับมาสู้ใหม่ ขอให้พระคุ้มครองและรอดปลอดภัยกันทุกคน

ตัวเลขแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอล

ข้อมูลจาก กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน : ประมาณการแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ต่างประเทศกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ประเทศอิสราเอล 25,887 คน หรือคิดเป็น 19% ของจำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่ยังคงทำงานในต่างประเทศ (131,846 คน) 

ข้อมูลจาก : กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

โดยในจำนวนนี้เป็นแรงงานจาก “จังหวัดอุดรธานี” มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 รวม 4,042 คน (15.61%) อันดับที่ 2 เป็นแรงงานจาก “จังหวัดเชียงราย” 2,174 คน (8.4%) อันดับที่ 3 เป็นแรงงานจาก “จังหวัดนครราชสีมา” 2,163 คน (8.36%) อันดับที่ 4 มาจากจังหวัดนครพนม 2,136 คน (8.25%) และอันดับที่ 5 มาจาก “จังหวัดหนองบัวลำภู” 1,311 คน (5%)

ข้อมูลจากฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ระบุว่า รัฐบาลอิสราเอลมีการควบคุมและกำหนดโควต้าการนำเข้าแรงงานต่างชาติทุกปีโดยในปี พ.ศ.2549 ได้กำหนดโควตาอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติ ดังนี้

1 ภาคก่อสร้าง จำนวน 15,000 คน โดยได้เปลี่ยนแปลงระบบการจ้างงาน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2548 เป็นต้นมา โดยให้บริษัทจัดหางานอิสราเอลที่รัฐบาลคัดเลือกจำนวน 42 บริษัทเป็นนายจ้างแทนที่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นนายจ้างเช่นเดิม บริษัทจัดหางานเหล่านี้จะได้โควตาวีซ่าจากรัฐบาลโดยตรง เป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง ทำประกัน รวมทั้งจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้ลูกจ้างของตนด้วย ซึ่งโควต้าจำนวน 15,000 คนนี้ รวมถึงแรงงานต่างชาติที่ทำงานก่อสร้างในประเทศอิสราเอลอยู่แล้ว โดยรัฐบาลอิสราเอลจะพิจารณาให้นำเข้าต่อเมื่อมีแรงงานคนเก่าเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว เป็นการนำเข้าเพื่อทดแทนแรงงานเก่าเท่านั้น

2 งานอุตสาหกรรมบริการและร้านอาหาร ได้แยกโควต้าเป็นงานอุตสาหกรรมบริการ จำนวน 1,500 คน และงานในร้านอาหารที่ต้องการผู้ชำนาญงานและมีฝีมือ ซึ่งคนอิสราเอลทำไม่ได้ เช่นประกอบอาหารไทย ญี่ปุ่น จีน จำนวน 1,150 คน

3 งานเกษตร จำนวน 26,000 คน โควต้างานเกษตร 26,000 คน นี้ รวมถึงคนงานเกษตรที่กำลังทำงานในประเทศอิสราเอลด้วยซึ่งโดยปกติในเดือนมกราคมของทุกปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงมหาดไทยอิสราเอล กระทรวงเกษตร และกระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและแรงงานของอิสราเอล จะมีการพิจารณาทบทวนจำนวนโควตางานเกษตร โดยในเบื้องต้นกำหนดให้นายจ้างเก่าที่มีแรงงานต่างชาติแล้วและมีวีซ่าว่างแต่ต้องการแรงงานเพิ่ม ต้องจ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายที่ถูกจับกุมก่อน และให้เวลาแก่นายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าวซึ่งตนต้องการจ้างต่อไปให้ไปต่อวีซ่าที่กระทรวงมหาดไทยภายในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเมื่อทุกคนต่อวีซ่าให้ลูกจ้างของตนแล้วจะทำให้ทราบว่ามีแรงงานส่วนที่ขาดเท่าใด จึงจะอนุญาตให้นายจ้างนั้น ๆ นำเข้าแรงงานใหม่ไปทำงานแทนคนงานเดิมซึ่งเดินทางกลับ หรือเปลี่ยนนายจ้างใหม่

4 งานดูแลคนชราและผู้พิการ ในปี 2549 ทางการอิสราเอลไม่จำกัดจำนวนโควต้าเพราะมีคนชราและผู้พิการต้องการคนดูแลมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ประกอบกับคนอิสราเอลไม่นิยมทำงานนี้ หรือถ้าจ้างคนอิสราเอลต้องจ้างในอัตราค่าจ้างสูงมาก อย่างไรก็ตาม ก่อนจะอนุญาตจ้างแรงงานต่างชาติ จะมีการตรวจสอบ หากเห็นว่าจำเป็นจึงจะอนุญาตให้จ้างได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานต่างชาติมาก ขณะนี้จึงมีบริษัทจัดหางานอิสราเอลที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างชาติไปทำงานดูแลคนชรา คนป่วย และผู้พิการในประเทศอิสราเอลประมาณ 400 บริษัท

ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแรงงานไทยในอิสราเอล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอิสราเอลลงนามหนังสือขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 5,571.75 เชคเกล หรือชั่วโมงละ 30.61 เชคเกล (สำหรับการทำงานเดือนละ 182 ชั่วโมง) (คิดเป็นเงินไทยตกเดือนละ 51,354.99 บาท)

“ค่าจ้างต่ำ ค่าครองชีพสูง” ความหวังรสขมของแรงงานในภาวะจำยอมต้องออกนอกประเทศ

การออกนอกประเทศของแรงงานไทยแน่นอนว่าหอบความหวัง แต่อีกด้านหนึ่ง ก็อวลไปด้วยรสชาติของความเศร้า ในการพลัดถิ่น ต้องไกลบ้าน ไกลครอบครัว หลายพื้นที่ในไทย เช่นภาคเหนือและภาคอีสานต้อง ‘ส่งคน’ ออกไปนอกประเทศเพราะในประเทศ ที่ค่าแรงขั้นต่ำ ราคาถูกเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ การลืมตาอ้าปากสำหรับคนจำนวนมากจึงเป็นเรื่องที่ช่างยาก ดังนั้น

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องของการออกไปล่าสมบัติ ตามหาโชคลาปยังต่างแดนแล้วกลับมาร่ำรวยในบ้านเกิด แต่นั่นหมายถึงวงจรแห่งการพลัดพรากที่ส่งต่อจากคนในครอบครัวรุ่นสู่รุ่น

ชวนคุยกับ พี่กิ่ง-ปสุตา ชื้นขจร เจ้าหน้าที่ HRDF และ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ

การย้ายถิ่น สะท้อนถึงโครงสร้างรัฐที่ไม่เคยโอบรับคนตัวเล็กตัวน้อยในภูมิภาค ?

หากเราย้อนดูค่าแรงขั้นต่ำ ย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมาการก้าวขึ้นกระโดดที่สุดคือในปี 2556 ช่วงที่ผ่านมาก็จะขึ้นโดยประมาณ 5 บาท 10 บาท 20 บาท ซึ่งไม่ตอบโจทย์คนที่เขาอาศัยอยู่ในภูมิภาคอย่างภาคเหนือและภาคอีสาน อย่างวันนี้มีประเด็นในกลุ่มลูกช้าง มช. มีคนไปโพสต์หาพนักงานบอกว่าทำงานหกวันเงินเดือน 12,000 บาท ติด #เป็นคนรักงาน #พร้อมทุ่มเทการทำงานทุกอย่างให้งาน ซึ่งเหมือนเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย ยังจังหวัดใหญ่ใหญ่ยังเชียงใหม่เองซึ่งถือว่าเป็นเมืองใหญ่แล้ว ถ้าในโซนภาคเหนือตอนบน ค่าแรงมันต่ำมากบางทีไม่ถึงค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำ ก็จะมีลักษณะการทำงานที่ยาวนานซึ่งมันไม่คุ้มค่า ทำให้คน ที่อยู่ในภูมิภาคมีการย้ายถิ่นฐานไปยัง เมืองใหญ่มากขึ้นเช่นกรุงเทพฯ ซึ่งสำหรับบางคนก็ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับการไปต่างประเทศเหลือเงินส่งกลับบ้านเป็น 10,000 ซึ่งเป็นไปไม่ได้แน่นอนในประเทศไทยคุณจะต้องเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือมีตำแหน่งหน้าที่การงานในระดับที่สูง หนึ่งเลยคือการศึกษาคุณต้องสูง สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าการศึกษาถ้าจะระดับสูงเราก็ต้องมีเงินมากพอที่จะเรียนต่อ ซึ่งไม่ง่ายสำหรับคนที่ต้นทุนทางสังคมไม่ได้สูง โครงสร้างที่ไม่เอื้อเช่นเจ้าของกิจการมีมายด์เซ็ทที่ว่าคุณจะต้องทุ่มเทให้งานแต่เงินเดือนไม่ได้พุ่งสูงไปตาม มันเป็นในลักษณะนี้

การออกเดินทางไปยังต่างประเทศ หลายต่อหลายทีมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจต้องหมายถึงการจากลูก จากคนในครอบครัวไปค้าแรงยังแผ่นดินอื่น เพราะรัฐไทยไม่อาจสนองตอบคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีกว่าให้แก่พวกเขาได้ ?

หนึ่งเราไม่มี safety net ให้คนมีโอกาสได้ลองผิดลองถูกเพื่อเพิ่มทักษะชีวิต ทุกอย่างเป็นเงินไปหมดเลยแม้กระทั่งการเรียนหรือการเพิ่มเติม skill หรือคุณไม่สามารถที่จะล้มได้หากคุณลงทุนอะไรบางอย่าง คุณต้องคิดให้รอบคอบไม่งั้นคุณก็ลากครอบครัวลงเหวไปด้วย การไปต่างประเทศจึงตอบโจทย์ที่สุดคือหนึ่งเทียบแล้วว่าใช้ต้นทุนน้อยและระยะเวลาคืนทุนมันไม่นานมากเมื่อเทียบกับการที่เราจะเริ่มกิจการอะไรบางอย่างในประเทศไทยซึ่งแบกรับความเสี่ยงที่ต่ำกว่าและคุณได้ค่าจ้างแน่นอนโดยเฉพาะคนที่ไปแบบถูกต้องตามกฎหมายด้วย

มองว่าโครงสร้างสังคมแบบไหน ที่ทำให้ภาคเหนือกับอีสานต้องส่งคนไปเป็นแรงงานต่างถิ่นบ่อย ๆ ?

เอาจริงๆการหางานทำในภูมิภาคอย่างเชียงใหม่เองอย่างภาคเหนือเองเป็นเรื่องที่ยากมาก ให้บาลานซ์กับรายจ่าย ถ้าไปดูในเว็บหางานเงินเดือนมันไม่ได้สูงมาก ถึงถ้าจะมีคุณก็ต้องมีระยะเวลาของประสบการณ์และการศึกษาที่สูงตาม แบบ 10,000 ต้น ๆ 20,000 ก็ถือว่าเยอะแล้วซึ่งถามว่ามันเพียงพอไหมบางคนก็ไม่เพียงพอในการเลี้ยงดูครอบครัว มันมีความเชื่อทางสังคมที่มองไปถึงต้องเกื้อกูลต้องทำอะไรแล้วแบบเหลือทำบุญมันมีปัจจัยทางวัฒนธรรมด้วย จะไปอยากได้เงินเขาเยอะแยะทำไม มีเรื่องบุญกรรมเข้ามามีงานทำก็ดีแล้วอันที่จริงคนที่เป็นนายจ้างเองก็มาจากคนที่พยายามจะหลุดผลจากอะไรแบบนี้โครงสร้างทางสังคมแบบนี้เราไปกดขี่คนอื่นอีกทีนึง แล้วกลับไปเรื่องเดิมคือสังคมไทยไม่มี safety net เราไม่มีรัฐสวัสดิการทุกอย่างเป็นเงินเป็นทอง เลยทำให้คนไปกดขี่กันเอง

จากสถิติกระทรวงแรงงาน เห็นอัตราการเคลื่อนย้ายและไปทำงานนอกประเทศมากขึ้น มีแรงงานในลักษณะข้ามชาติ พลัดถิ่น มันสะท้อนอะไรในไทยบ้าง ?

ข้อมูลตรงนี้สะท้อนว่าคนกำลังสิ้นหวังกับระบบเศรษฐกิจบ้านเรา หรือแม้กระทั่งการเมืองบ้านเราผลการเลือกตั้งแม้ว่าเราผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว มันสะท้อนว่าบ้านเราหนึ่งไม่มีนิติรัฐนิติธรรมไม่สามารถอิงกับหลักการนิติรัฐนิติธรรมได้ กฎหมายบ้านเรากฎหมายไม่เป็นกฎหมาย คนตัวเล็กตัวน้อยจะยกระดับชีวิตตัวเองมันเป็นไปได้ยากถ้าไม่เป็นลูกท่านหลานเธอหรือไม่รวยมันลืมตาอ้าปากยาก ซึ่งเป็นเรื่องไม่น่าตกใจเท่าไหร่ว่าทำไมคนถึงอยากออกไปนอกประเทศขนาดนั้น เพราะกฎหมายไม่ได้คุ้มครองคนที่มีเงิน ดังนั้นการที่มีเงินมันก็อาจจะตอบโจทย์กับคนที่ไม่ได้มีอำนาจทางสังคมขนาดนั้นมากกว่า

ดูเหมือนว่าถ้าเราได้ทักษะต่างๆ มา ไม่ว่าจะทักษะก่อสร้างหรือภาษา แต่พอเอากลับมาในไทยมันไม่มีอะไรรองรับเลย ไม่ได้รับการส่งเสริม ?

เมื่อคนไปทำงานต่างประเทศแล้วเค้าได้ทักษะกลับมา ในท้ายที่สุดทักษะเหล่านั้นมันไม่ได้รับการส่งเสริมมันก็รู้สึกว่าไม่คุ้มที่จะกลับมาลงทุนที่ประเทศไทย สู้พัฒนาทักษะแล้วอยู่ต่อในประเทศที่รองรับทักษะเหล่านี้ไปเลยแล้วได้ค่าตอบแทนที่ดีที่เหมาะสมกับทักษะกลับมาเช่นการทำเกษตรกลับมาได้ปีละ 100,000 มันก็ไม่คุ้ม เพราะว่าเราไม่ได้ส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ให้กับ

เกษตรกรที่ออกไปนอกประเทศ ทุกวันนี้มองกลับมาที่ประเทศเรายังต้องนำเข้าแรงงานเพราะคนไทยไม่ทำงานเหล่านี้เพราะไม่คุ้มที่จะทำ แต่ไม่ใช่ว่าแรงงานข้ามชาติจะผิดแต่เค้าเข้ามาชดเชยในสิ่งที่คนไทยไม่ทำแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าชีวิตความเป็นอยู่เขาจะดีแต่มันดีกว่าที่บ้านเขานิดเดียว และคิดว่ามันไม่คุ้มที่จะกลับมา คือถ้ามาแล้วไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐมันก็ไปอยู่ที่ที่พร้อมให้เขาเติบโตน่าจะเหมาะสมกว่า

บทบาทของภาครัฐควรอยู่ตรงไหน ?

การที่ทำให้คนกลับมาไม่ใช่ภาวะสมองไหล รัฐก็ต้องยืนยันหลักการนิติรัฐนิติธรรม และเราติดกับดักรายได้ปานกลางคืออาชีพเราก็เป็นอาชีพเดิมๆ ให้คนมาลงทุนรอทุนต่างประเทศ ซึ่งเราไม่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นของตัวเองมันทำให้ถ้าจะแก้ หนึ่ง คือใช้หลักการนิติรัฐนิติธรรมคือบังคับกฎหมายให้เป็นกฎหมาย ผู้มีอำนาจต้องหยุดหยิบโอกาส โฉบฉวยไปจากคนธรรมดา สอง คือเราอาจจะต้องมีเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเองต้องผลักดันอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมาให้ได้เช่นปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือถ้าเรามีนวัตกรรมหรือมีอะไรบางอย่างคนมันก็อยากที่จะอยู่ในพื้นที่ เรื่องพัฒนาเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญจะสร้างโอกาสในเรื่องของอาชีพมากขึ้น

อยากให้กำลังใจคนไทยตอนนี้ที่อยู่ในอิสราเอล เรามองในมุมเราถ้าเป็นเราไป เราก็อยากจะมีชีวิตที่ดี แต่ดันมาเจอสงคราม ก็ขอให้สงครามได้ข้อตกลงโดยเร็ว และพี่น้องสามารถทำงานต่อได้

อ้างอิงข้อมูล 

ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

ภาพ : พี่อ๊อฟบี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ