ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้เพื่อรับฟังเสียงความต้องการของประชาชนและเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ เรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งก่อนหน้านี้ได้จัดเวทีที่เชียงใหม่ ยะลา และหลังจากนี้จะมีจัดเวทีในพื้นที่อื่น ๆ ต่อ เนื่องภายในเดือนเมษายนและจะทำรายงานส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎร
ในเวทีมีการสร้างบทสนทนาพูดคุยและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ จัดกิจกรรมแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อพูดคุยกัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับการเสนอแนวทางกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ แบ่งเป็น 5 มิติ คือ อัตลักษณ์วัฒนธรรม ความยุติธรรม เศรษฐกิจและการพัฒนา การศึกษา รูปแบบการปกครอง ยกตัวอย่างเช่นวงที่จัดล่าสุด วันที่ 11มีนาคม 2567 มีเนื้อหาสรุปความจากการแบ่งกลุ่มแล้วพบว่า
มีการพูดถึงการทำให้การศึกษาและการปกครองสอดคล้องกับอัตลักษณ์ในพื้นที่ ไม่ละเมิดสิทธิ์กันและกัน เช่น การเคารพความเชื่อ ศาสนาของคนในพื้นที่ การสร้างความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เช่น การตรวจค้น ตรวจ DNA ลดอคติทางการแต่งกายและภาษา รวมถึงการพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจทางการศึกษาไม่ผูกขาดความรู้แทนศูนย์กลางเท่านั้น ให้ตาดีกาเป็นสถานที่ที่คนในพื้นที่ได้เรียนรู้ศาสนาอย่างเสรี ยกระดับการเรียนการสอนตาดีกาให้เป็นการศึกษาคู่กับอัตลักษณ์โดยไม่คุกคามทางความคิดกับผู้สอน
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิต ศึกษาการตลาดผลิตภัณฑ์ในพื้นที่และพัฒนาทักษะเชิงวิชาชีพในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้นโยบานเศรษฐกิจรายพื้นที่เกิดขึ้นจริง มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับพื้นที่ รวมไปถึงให้รัฐทบทวนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ให้ประชาชนสามารถพูดถึงรูปแบบการปกครองได้อย่างปลอดภัย และลดบทบาทของกองทัพในพื้นที่ด้วย
ฟังเสียงข้อเสนอผู้เข้าร่วมกิจกรรมการสร้างสันติภาพชายแดนใต้
นายณัฐดนัย เกิดกรุง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นที่สนใจเป็นพิเศษมากที่สุดคือประเด็นเรื่องความยุติธรรม และ ประเด็นเรื่องรูปแบบการปกครอง เรื่องความยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2547 มีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ปกติและไม่ยุติธรรมต่อคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการซ้อมทรมาน, การอุ้มหาย, การตรวจ DNA หรือแม้แต่การที่กล้องวงจรปิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้สามารถตรวจจับใบหน้าของผู้ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ กระบวนการที่ไม่ยุติธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นระยะเวลา 20 ปีแล้ว ปัญหานี้ควรถูกแก้ไขสักที เพื่อให้พี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับความยุติธรรมและได้รับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กว่าที่เป็นอยู่
สังคมมักจะได้ยินมายาคติ หรือ วาทกรรมที่ฝ่ายความมั่นคงมักใช้ว่า ถ้าปล่อยให้มีการกระจายอำนาจในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ หรือคนในพื้นที่มีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น จะทำให้มีการประกาศเอกราช หรือ การใช้ความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งถ้าถกเถียงกันอย่างมีวุฒิภาวะแล้วนำข้อมูลเชิงวิชาการที่ได้มีการศึกษามาในหลาย ๆ พื้นที่ในโลกที่มีกรณีคล้ายกับจังหวัดชายแดนใต้ จะพบว่าการกระจายอำนาจเป็นทางออกของปัญหา ไม่ได้ทำให้ปัญหาแย่ลง
นายณัฐดนัย เกิดกรุง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายอาดีนันต์ อาแย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าว่าประเด็นเรื่องการบริหารจัดการบ้านเมืองถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย กฎอัยการศึกที่ยังควบคุม 3 จังหวัดชายแดนใต้อยู่ซึ่งทำให้พื้นที่ไม่สามารถเติบโตหรือก้าวหน้าได้ การศึกษาก็จะตกต่ำลงด้วย ทำให้นักศึกษาในพื้นที่ไม่มีความก้าวหน้าเท่าพื้นที่อื่น ๆ
การที่จะแก้ปัญหากฎหมายนี้ต้องมองไปที่รากลึกว่าใครยังอยู่ในการควบคุมอำนาจ เช่น กอ.รมน. มีการแทรกซ้อนอำนาจรัฐค่อนข้างเยอะและซ้ำซ้อน ซึ่งการลดบทบาทหรือยุบองค์กรนี้ และ ศอ.บต. เช่นกัน จะทำให้การพูดคุยประเด็นเรื่องความสำคัญทางการศึกษาหรือแม้แต่ประเด็นเรื่องการปกครองจะดีขึ้นได้ รวมไปถึงกฎหมายพิเศษอื่น ๆ ในพื้นที่ด้วย
นายอาดีนันต์ อาแย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
จากข้อความที่คุณได้อ่าน นึกถึงอนาคตชายแดนใต้ว่าอย่างไรบ้าง
การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้การสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการกำหนดสันติภาพในแบบของประชาชนก็สำคัญไม่แพ้กัน
นี่คือเสียงของผู้ที่เข้ามาทำแบบสำรวจและแสดงความเห็นเกี่ยวกับอนาคตชายแดนใต้ว่านึกถึงอะไรบ้าง (ขนาดของวงกลมหมายถึงจำนวนของคนที่พูดถึงเรื่องนั้นๆ)
ทีนงาน Locals แลต๊ะแลใต้ และทีมงานโครงการห้องทดลองปัญญารวมหมู่ ไทยพีบีเอส ชวนทุกคนมาเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสียงร่วมกันการกำหนดอนาคตชายแดนใต้ เพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้
โดยสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านลิงก์ด้านล่าง และ QR Code ในภาพได้เลย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง