สภาฯ เห็นชอบพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งคสช. 14/2559 ประตูบานแรกสู่การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ที่ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ

สภาฯ เห็นชอบพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งคสช. 14/2559 ประตูบานแรกสู่การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ที่ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ

สภาผู้แทนราษฎรมติพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งคสช. 14/2559 เรื่องคณะกรรมการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

โดยมีจำนวนผู้ลงมติ 421 เสียง

เห็นด้วย 419 เสียง

ไม่เห็นด้วย 0 เสียง

งดออกเสียง 1 เสียง

ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

ย้อนทำความเข้าใจสาระสำคัญของคำสั่งคสช. 14/2559

สาระสำคัญของคำสั่งคสช. 14/2559 เรื่องคณะกรรมการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร คือการกำหนดแนวทางการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553

จากสภาที่ปรึกษาฯ เดิมมีที่มาหลากหลายจากตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ ทั้งตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา ผู้แทนกลุ่มสตรี หอการค้า สื่อมวลชน ฯลฯ รวมไม่เกิน 49 คน หากแต่คำสั่งคสช. 14/2559 ให้คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ มีสมาชิก 60 คน โดยมีสัดส่วนมาจากการเสนอชื่อของ กอ.รมน. และ ศอ.บต. ไม่เกิน 45 คน การเสนอชื่อจากผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลา  จังหวัดละไม่เกิน 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ จำนวนไม่เกิน 5 คน

กล่าวคือคำสั่งคสช. 14/2559 ถือเป็นกำหนดบทบาทของกองกำลังฝ่ายความมั่นคงทั้ง กอ.รมน. และ ศอ.บต. ให้มีอำนาจในการบริหารจัดการพื้นที่และปกครองพื้นที่มากกว่าสัดส่วนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้มาส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ของตัวเองอย่างสิ้นเชิง

เนื้อหาการอภิปรายของสมาชิกสภาฯ

ภายใต้มติพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งคสช. 14/2559 มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมอภิปรายทั้งสิ้น 14 คน ที่เป็นตัวแทนจาก พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ ยกเนื้อหาการอภิปรายดังกล่าวมา 5 คน ดังนี้

นาย ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า หลักการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 14/2559 ที่ให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติมาตราต่าง ๆ แห่งพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 โดยเฉพาะบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงให้งดใช้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายกฎระเบียบข้อบังคับประกาศคำสั่งหรือมติคณะรัฐมนตรีในส่วนที่อ้างถึงสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้โดยอาศัยอำนาจ ม.44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในขณะนั้น 

โดยให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาทำหน้าที่แทนอีกทั้งขยายบทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการภารกิจการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนั้น ทำให้การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบปัญหาและจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชน

ในขณะที่รูปแบบและบทบาทของคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และมีบทบาทที่จำกัดจึงไม่เหมาะสมแก่สถานการณ์ในพื้นที่การแก้ไขปัญหาโดยภาพรวมสมควรยกเลิกคำสั่ง และปิดบทบาทของคณะกรรมการที่ปรึกษาย้อนกลับไปใช้บทบาทของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งให้อำนาจครอบคลุมในทุกมิติของการแก้ไขปัญหาและลดบทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

วันนี้ถือเป็นสำคัญต่อพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แน่นอนว่าปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่สงบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นการเคารพอย่างขาดความเคารพต่ออัตลักษณ์ ความเป็นตัวตน เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ล้วนเป็นส่วนประกอบหรือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นสืบเนื่องกันมาอาจจะมากกว่าตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 แต่ย้อนหลังไปเป็นร้อยปี

นาย ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ถึงเวลาแล้วที่จะคืนการตัดสินใจเหล่านี้ให้กับภาคพลเรือน ถึงเวลาแล้วที่จะคืนสันติภาพให้กับพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่นี่เป็นอีก 1 ในเงื่อนไขที่เราจะทำ และถึงเวลาแล้วที่เราจะเคารพการตัดสินใจของพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เขาจะมีสิทธิ์ตัดสินใจอนาคตของพวกเขาเอง

นาย ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 

วันนี้เรารับหลักการตั้งกรรมาธิการพิจารณา 3 วาระ เสร็จจากสภาผู้แทนราษฎร ไปวุฒิสมาชิก วุฒิสมาชิกก็อีก 3 วาระ ท้ายสุดมีกฎหมายสำเร็จ ก็คือพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสชที่ 14/2559 บางทีอาจจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนถึง 1 ปี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สภาผู้แทนฯ ของเราคงจะต้องตระหนักว่าระบบแบบนี้มันควรจะหมดไปจากประเทศไทยได้หรือยัง ต้องร่วมมือกันในแง่ของการไม่ยอมรับประกาศคำสั่งใดๆไม่ยอมรับการยึดอำนาจการปกครองประเทศ ไม่ยอมรับการรัฐประหาร ว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ไม่ร่วมมือด้วย

รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

นาย กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นราธิวาส พรรคประชาชาติ กล่าวว่า ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกยุคทุกสมัยสภาฝ่ายนิติบัญญัติได้มีการพูดถึงมาโดยตลอด เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาซึ่งมีมายืดเยื้อมาหลาย 10 ปี เพราะว่าปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มันเชื่อมโยงหลายมิติมีความละเอียดอ่อน หนึ่งในนั้นเงื่อนไขที่ยังคงอยู่ เป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดของฝ่ายบริหารในแต่ละยุคแต่ละสมัย หนึ่งในนั้นที่คือ คำสั่งคสช 14/2559

นาย จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ปัจจุบันนี้มีองค์กรสำคัญองค์กรระดับประเทศ ถึง 3 องค์กรอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภาที่กำหนดนโยบายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด องค์กรที่ 2 คือ กอ.รมน. มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน. มีผู้บัญชาทหารบกเป็นรองผู้อำนวยการในพื้นที่ องค์กรที่ 3 คือ ศูนย์ อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ จะเห็นว่า 3 องค์กรนี้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานทั้งหมด แต่ไม่มีระบบประสานเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดการทำงานเป็นเอกภาพ

นอกจากนี้ยังมี กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง และพ.ร.บ.กฎอัยการศึก กฎอัยการศึกนี้มีเนื้อหาสำคัญนอกจากการตรวจค้นการจับกุมอะไรต่างๆได้ตามสบายใจชอบแล้ว ในพื้นที่ที่ประกาศกฎอัยการศึกก็คือจังหวัดชายแดนภาคใต้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือฝ่ายพลเรือนทั้งหมดทุกหน่วยงาน

เราจะออกแบบระบบโครงสร้างระบบและกฎหมายการบังคับใช้กฎหมายอย่างไรจึงสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงจึงจะทำให้เกิดสันติสุข ทำให้เกิดสันติภาพ ทำให้เกิดความมั่นคงของประเทศและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศได้เพราะฉะนั้น ในวันนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเนื่องจากสภาก็ได้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาพิจารณาและจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐบาลก็เพิ่งตั้งคณะพูดคุยการพูดคุยก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว มันเป็นกำลังเป็นสัญญาณที่ดีว่าถ้าสภาฯเห็นชอบให้มีสภาที่ปรึกษาหมายความว่าเข้าใจปัญหานี้หรือและกำลังจะจะเป็นก้าวสำคัญไปสู่การแก้ปัญหาที่มากยิ่งขึ้นได้ผลมากยิ่งขึ้น

นาย จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

นาย รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถึงเวลาแล้วที่เราอาจจะต้องช่วยกันออกแบบแนวทางในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนได้ยังไง หลายเรื่องจำเป็นต้องแตะและเรื่องที่สำคัญที่สุด คือการบริหารการปกครองพื้นที่ ผู้คนและความสัมพันธ์ที่เหมาะสมอย่างไรกับการส่วนกลาง นี่คือโจทย์ใหญ่ 

การยกเลิกคำสั่งคสช 14/2559 เป็นหมุดหมายของการเดินทางไกลของการรื้อโครงสร้างของประเทศนี้ที่จะโอบอุ้มโอบรับความแตกต่างหลากหลายและความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการประชาธิปไตยไทย นี่เป็นส่วนหนึ่งของชุดกฎหมายที่ผมอยากจะเรียกในที่นี้ว่าเป็นชุดกฎหมายสันติภาพ

นาย รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ต้องเริ่มต้นจากการรื้อมรดกเก่าๆที่คิดแบบทหารในขณะเดียวกันก็ลดบทบาททางการทหารเพิ่มพื้นที่ทางการเมืองเพิ่มพื้นที่ให้เสียงที่แตกต่างได้มีที่มีทางในระบบการเมืองในสถาบันการเมืองของประเทศนี้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นหลักประกันว่ากระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่จะมีความหมายจริงข้อตกลงสันติภาพจะได้รับการถกเถียงอภิปรายกันในสภาแห่งนี้นอกสภาแห่งนี้ที่ทำให้เรื่องสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องของประเทศนี้เป็นชะตากรรมของเราไม่ใช่แค่ผู้คนที่บาดเจ็บล้มตายในจังหวัดแดนภาคใต้เท่านั้น พวกเขาสำคัญก็จริงแต่อนาคตเราต้องร่วมออกแบบ

เช่นเดียวกับนักวิชาการที่มองว่าบทบาทของ กอ.รมน. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีความพิเศษมากกว่าที่อื่นจึงควรที่จะลดบทบาทลง และเพิ่มบทบาทของฝ่ายพลเรือนให้มากขึ้น 

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ทีมปัญญารวมหมู่ สำนักเครือข่ายฯ ไทยพีบีเอส ได้คุยกับอาจารย์ศรีสมภพ และ อาจารย์พวงทอง หลังจากวงเสวนาเรื่องทหารเกณฑ์และการปฎิรูปทหารของไทย ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ทั้งสองจึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับบทบาทของ กอ.รมน. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงบทบาทของกองทัพในไทยภายใต้รัฐบาลพลเรือน

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มองว่า ควรลดบทบาทของกอ.รมน ในส่วนของการบริหารกิจการภายในลดลง และบทบาทของรัฐบาลในแง่ของความความมั่นคงพลเรือนเข้ามาแทนที่จะดีกว่า ตัวอย่างเช่น บทบาทของสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเป็นพลเรือน แล้วเป็นมองเชิงยุทธศาสตร์ มองเชิงวิชาการมากกว่า แล้วก็ให้บทบาทของสมาคมประชาชาติมากในแง่ของการที่จะสามารถจัดการปัญหาความมั่นคง อีกทั้งลดลดจำนวนขอบเขตของบทบาทของกำลังพลทหารอีกด้วย

อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาลแล้วรวมถึงเป็นผู้อำนวยการกอ.รมน. ควรจับมือผู้นำกองทัพคุยกันว่า ภายใต้ข้อเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการที่จะเห็นกองทัพนั้นเล็กลงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นภาระงบประมาณของประชาชนให้น้อยลง มีโครงการอะไรบ้างที่ซ้ำซ้อนและควรจะตัดแล้วงบประมาณเหล่านั้นไปให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนั้น

“คือน่าเสียใจที่พรรคเพื่อไทยเองเนี่ยไม่มีความชัดเจนและไม่มีความรู้เกี่ยวกับกองทัพเลยแต่กลับพยายามที่จะไปสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กองทัพอีก ซึ่งมันสวนกระแสจากความต้องการของประชาชนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกองทัพ

อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กฎหมายพิเศษที่ทำให้กลายเป็นพื้นที่พิเศษ และบังคับใช้กับคนธรรมดา

กฎหมายพิเศษชายแดนใต้ ได้แก่

  1. พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457
  2. พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
  3. พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551

ไทม์ไลน์การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ

เส้นทางสู่สันติภาพที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม

เมื่อสภามีมติพิจารณารับร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งคสช. 14/2559 เรื่องคณะกรรมการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการมีสันติภาพในพื้นที่ ถึงแม้ว่าที่รัฐบาลปัจจุบันจะมีการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ต่อยาวนานมากกว่า 75 ครั้งแล้ว 

ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหมุดหมายสำคัญต่อกระบวนการทางประชาธิปไตยของประเทศที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแค่ภายในพื้นที่ หากแต่เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันในหลาย ๆ ภาคส่วนในประเทศ ทั้งที่เอาเข้าจริงพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ธรรมดาที่ถูกทำให้พิเศษเพียงเพราะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายมากกว่าพื้นที่อื่นเท่านั้น แต่กลายเป็นว่า พื้นที่นี้กลายเป็นความพิเศษในแง่ที่ว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นพิเศษ รวมทั้งกฎหมายพิเศษมากมายที่เข้าไปจัดการพื้นที่ ไปจนสู่การพยายามตามหาความสันติภาพในพื้นที่เพียงเพราะว่าต้องการพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ธรรมดาเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่พิเศษอย่างที่รัฐจัดสรรรมาให้

อย่างไรก็ตามการกำหนดเส้นทางของสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นับเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนและต่อสู้มาอย่างยาวนาน แต่บทเรียนสำคัญคือการพยายามใช้ข้อบังคับในรูปแบบที่กำหนดสังคมมแบบเดียว ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางอัตลักษณ์เท่าที่ควร แต่ไม่ว่าพื้นที่จะเดินทางไปสู่ประตูของคำว่าสันติภาพ ต้องมาพร้อมกับการหันหน้าพูดคุยสันติภาพเพื่อนำมาสู่การสร้างสันติสุขในพื้นที่และมาพร้อมกับการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ