ทำไม เราต้องสนใจ สันติภาพชายแดนใต้ ?

ทำไม เราต้องสนใจ สันติภาพชายแดนใต้ ?

เมื่อชาวเหนือจำนวนไม่น้อย สนใจมาร่วมพูดคุยเรื่องของสันติภาพชายแดนใต้  ในวงแลกเปลี่ยนที่ใช้ชื่อว่า “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้” เนื้อหาในวงนี้จึงน่าสนใจที่เราจะได้เรียนรู้ 

คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ สภาผู้เทนราษฎร ยกทีมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวเหนือและตั้งวงระดมความเห็นใน 5 เรื่องคือ การเมืองการปกครองที่อยากจะเห็น เศรษฐกิจการพัฒนา  อัตลักษณ์วัฒนธรรม การศึกษา และความยุติธรรม   เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2567 ที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็น 1 ใน 6 เวทีที่จะรวบรวมความเห็นเสนอต่อรัฐสภา

ประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ผมคิดว่า เป็นปมเงื่อนของปัญหาการสร้างประวัติศาสตร์ไทยทำให้เกิดเขาวงกตของสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ โดยถ้าเรามองแพทเทิร์นของการพัฒนาชาติตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนถึงรัฐบาลเศรษฐาไม่ได้ต่างกัน คือให้ต่างชาติมาช่วยสร้างความเจริญ การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ สร้างอุดมการณ์เดียวกัน  ดังนั้นไทยในรอบ 100 กว่าปี มีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนน้อย  

ที่จริงในช่วงการปฏิรูปรัชกาลที่ 5 มีแรงต้านทั่วทั้งราชอาณาจักร ภาคเหนือ เช่น กบฏพญาผาบ กบฏเงี้ยว ภาคอีสาน เช่น กบฏผีบุญ ภาคใต้ เช่นกบฏเจ้าเจ็ดตน พอมาช่วงรัชกาลที่ 6 ก็มีกบฎยังเติร์ก แทนที่เราจะเข้าใจว่า นี่เป็นสัญญานความไม่ลงตัว แต่ประวัติศาสตร์จะบอกว่าไม่มีแล้ว ทุกอย่างจบที่การปราบกบฏ ซึ่งการไม่รับปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ รัฐก็จะไม่สามารถพัฒนาความเปลี่ยนแปลง ก็จะแผ่นเสียงตกร่องในแพทเทิร์นเดิม และถ้าเราเรียนประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่ไม่มีอุปสรรค  ก็จะไม่ได้รับบทเรียนอื่น นอกจากรับมาจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว

ความขัดแย้งในสังคมมีความหมาย และการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยเป็นจุดหมายสำคัญ การปฏิรูปยุคแรกช่วง ร.5 จนถึงพ.ศ.2475 มีสัณญานดังกล่าว แต่รัฐไทยมักขอต่อเวลา และพยายามเลื่อนออกไปโดยอ้างว่า ประชาชนยังไม่พร้อม   นโยบายจากส่วนกลางตั้งใจดี แต่เกิดผลลัพธ์ด้านลบ

สำหรับปัญหาภาคใต้ที่ยาวนาน เพราะลักษณะเฉพาะของภูมิรัฐศาสตร์อยู่ในคาบสมุทรมลายู ดินแดนแห่งภาษาอาหรับมลายู มีอิสลามเป็นศาสนาใหญ่  เส้นแบ่งอัตลักษณ์เมื่อผนวกกับการปกครองที่ไม่ลงตัว และพยายามสร้างเอกภาพของรัฐ  ความพยายามทำให้ “ชาติไทย” เป็น “ชาติพันธุ์”จริงๆ เลยยุ่ง เพราะทำให้ชาติอื่นอยู่ไม่ได้ นับวันปัญหาก็ยิ่งแรงขึ้น

ความขัดแย้งร่วมสมัย

ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขออธิบายความเป็นมาของความขัดแย้งร่วมสมัยในชายแดนใต้ โดยข้อเท็จจริงของที่นั่นคือ มีประชากร 2 ล้าน ร้อยละ 80 เป็นมุสลิม ใช้ภาษามลายู และมีอาณาจักรปาตานีอยู่ดั้งเดิม เป็นพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำแนวราบหรือความไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์

อันที่จริง ความขัดแย้งเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันได้  แต่บางพื้นที่ชาติพันธุ์อยู่ด้วยกันได้ แต่หากมีความเหลื่อมล้ำแนวราบหรือความไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์แล้วจะเกิดปัญหา โดยข้อค้นพบใน 5 มิติคือ

  1. ด้านเศรษฐกิจ คือการเข้าถึงทรัพยากร รายได้ การมีงานทำ 

โดยสามจังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ติดอันดับจังหวัดที่ยากจนสุด มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 2,762 บาท/เดือน  และโครงสร้างเศรษฐกิจอยู่กับเกษตรและประมง

  1. ด้านสังคม คือการศึกษา สุขภาพ การเข้าถึงบริการของรัฐ

ในมุมของศาสนาอิสลามจะเกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิต แต่การเรียนของโรงเรียนรัฐจะเน้นการศึกษาสายสามัญประชาชนในพื้นที่นิยมส่งบุตรหลายไปเรียน โรงเรียนสอนศาสนามากถึง 2 ใน 3 มีรายงานของ กอศ ระบุว่าสาเหตุที่ไม่อยากเรียน เป็นผลของพัฒนาการศึกษาที่มี “อคติต่อกัน” โดยฝ่ายหนึ่งมองว่ารัฐจะใช้การศึกษาภาคบังคับทำให้กลืนกลาย ขณะที่อีกฝ่ายก็มองว่าโรงเรียนสอนศาสนาเป็นแหล่งบ่มเพาะความรุนแรง   และจึงมีประเด็นเรื่องคะแนนสอบของ สายสามัญในทุกวิชาของเด็กในสามจังหวัดต่ำ ยกเว้นวิชาภาษาอังกฤษ   มีการส่งลูกหลานไปเรียนตะวันออกกลาง  แต่โอกาสของการได้งานทำเมื่อกลับมาประเทศไทยมีน้อย เพราะกระทรวงศึกษาธิการไม่รับรองวุฒิ และถูกเพ่งเล็งว่าฝักใฝ่ความรุนแรง

  1. ด้านสถานะทางวัฒนธรรม ไม่ได้รับการยอมรับ เช่นเรื่องภาษา ภาษามาลายูมีความสำคัญในฐานะที่เป็นตัวตนของเขา โดยมีภาษิต “ถ้าไม่มีภาษาก็ไม่มีชนชาติ”  ปัจจุบันเริ่มมีป้ายภาษาถิ่นในพื้นที่บ้าง
  2. ด้านการเมือง หรือโอกาสของการแสดงออกถึงความต้องการอย่างเสรี   

ข้อสังเกตุจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมามีประชาชนออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก แต่นโยบายของเขาถูกใช้หรือเปล่าต้องติดตามต่อไป  ขณะที่ข้อมูลของเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากปี 61-67 มีนักกิจกรรมในสามจังหวัดชายแดนใต้ถูกดำเนินคดีด้วยกฏหมาย slapp จำนวน 39 คน ด้วยข้อหา ชุมนุมทางการเมือง  แต่งกายชุดมลายู และระดมทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

  1. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย  ในสามจังหวัดมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ  คือสภาพยกเว้นการบังคับใช้กฏหมายปกติ เช่น อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ค้นโดยไม่มีหมายต้น  คุมผู้ต้องสงสัยได้ 30 วันโดยไม่มีหมายศาล  มีรายงานการละเมินสิทธิมนุษยชนโดยไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

“ชาติคือความรู้สึกว่าเท่ากัน แต่สิ่งที่บั่นทอนความเป็นชาติ คือความเหลื่อมล้ำ  ขณะที่ อัตลักษณ์ มลายู ไม่ได้เท่ากับการแบ่งแยกดินแดน  แต่ถ้ารัฐไม่แยกแยะ  การใช้ความรุนแรงโดยไม่แยกแยะ ชุมชนมลายูมุสลิมก็จะไม่ไว้วางใจมากขึ้น”

20 ปี 5.4แสนล้าน สันติภาพเชิงบวกยังไม่เกิด

รอมซี  ดอฆอ ประธาน Civil Society Assembly For Peace

“ภาพรวมสถานการณ์ชายแดนใต้ปัจจุบัน ในทางกายภาพเหตุการณ์ความรุนแรงลดลงเมื่อเทียบสถิติ แต่ไม่สามารถการันตีว่าแก้ปัญหาในเชิงบวกได้ เพราะตลอดระยะเวลาที่มีการพูดคุยสันติภาพ ถ้าตกลงไม่ได้ก็จะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น  ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ยังคงมีการใช้กฎอัยการศึกษา พรก.ฉุกเฉิน   ยังมีด่านตรง 2,000 กว่าด่าน ล่าสุดมีการแจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมทางสังคมหลายประเด็น  สถิติคือ 42 เคส ที่โดนกล่าวหายุยงปลุกปั่น กระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักร  โดยบางคดีเข้าสู่ศาล บางคดีอยู่ระหว่างตำรวจสืบสวนแจ้งข้อกล่าวหา  ซึ่งทำให้ในระดับพื้นที่นักกิจกรรมทางสังคม มลายู มีข้อจำกัดในการนำเสนอพื้นที่อัตลักษณ์ตัวตน และยังมี กฏหมาย SLAPP ที่คนพื้นที่ประสบ

ด้านการพูดคุยสันติภาพ ที่ชะงักปีกว่า ช่วงเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งเพิ่งคุยที่มาเลเซียเมื่อต้นปี มีความเห็นขยับข้อตกลงร่วม JCPP สร้างสันติภาพองค์รวมในหลักการทั่วไป การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ การแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งต้นเดือนมีนาคม จะพูดคุยในรายละเอียดอีกครั้ง

และจากที่ติดตามสถานการณ์มากว่า 20 ปี รัฐใช้งบประมาณ 5.4 แสนล้านบาท จะเห็นว่า รัฐได้ลงทุนจัดการปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้มาก  ซึ่งถ้านำงบมาใช้การพัฒนาประเทศสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ หรือเกิดทางออกคุณภาพชีวิตให้คนทั้งประเทศได้ ให้กับประเทศได้ 

ส่วนตัวคิดว่าปัญหาทับถม ซับซ้อนมาก เราต้องทราบรากเหง้าว่า  ไม่ใช่ศาสนา ไม่ใช่พหุวัฒนธรรม รากเหง้าคือปัญหาการเมืองที่ไม่ถูกแก้ปัญหาจริงๆ ต้องมาคุยจริงจังจะสามารถหาทางออกทางการเมืองได้  ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลในการใช้แนวทางพูดคุยกับ BRN   และเห็นความพยายามดึงภาคส่วนอื่นๆมาพูดคุยด้วยเป็นปรากฏการณ์เชิงบวก  ถึงมีข้อจำกัด ข้อท้าทายแต่ต้องพยายามต่อไป เพราะแนวทางหลายแนวทางที่รัฐทำมายังไม่บรรลุผล เชื่อว่าการพูดคุยจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด การใช้กลไกเจรจาเห็นได้น่าพอใจนำไปสู่การหาทางออกทางการเมืองสันติภาพเชิงบวก  ข้อตกลงที่เคารพตัวตน อัตลักษณ์และคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ของคนในพื้นที่”

ปัญหาชายแดนใต้เกี่ยวกับเราตรงไหน

 มารค ตามไท นักวิชาการสาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ

“ผมมองว่าสันติภาพอาจพอเป็นตัวขับเคลื่อนประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยของไทยอาจจะมาช้ากว่า และเรื่องของการหาทางออกให้กับความขัดแย้ง เป็นเรื่องที่ต้องอยากหา มิเช่นนั้นจะทำไปเรื่อยๆ ไม่มีทางหาเจอ  ซึ่งผมพยายามจะช่วยตอบคำถามว่าทำไมต้องอยากหาคำตอบ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้สำคัญอย่างไรต่อประชาชนที่อาศัยนอกพื้นที่   เพราะอาจมีคำถามว่า ทำไมฉันต้องหาทางออก หาไปทำไมในเมื่อฉันไม่ได้อยู่ที่นั่น

ผมคิดว่า สำคัญใน 3 สถานะ ในฐานะพลเมืองไทย  พลเมืองโลก และฐานะของการเป็นมนุษย์

  1. สำคัญในฐานะเป็นพลเมืองไทย  อย่างน้อย 2 เรื่อง
    เรื่องแรก ตรงที่เราจะได้ติดตามวิธีที่รัฐใช้แก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธี   ตัวอย่างคือ การใช้กฎหมาย SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation)กับบรรยากาศสำหรับการหารือประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้  ซึ่งถ้าเราติดตามจะพบว่า คำกล่าวของกลุ่ม BRN พูดเรื่อง SLAPP ว่าเป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดบรรยากาศคุกคาม ขณะที่ตนเคยถามเจ้าหน้าที่ความมั่นคงว่าคิดอย่างไรกับ กฎหมาย SLAPP หลายคนมองว่าไม่เป็นปัญหา และคือพัฒนาการด้านสันติวิธีของภาครัฐ   นั่นแสดงว่า คิดไม่เหมือนกัน 

เรื่องที่ 2 เราจะได้เข้าใจความยากของการสร้างสันติภาพ ในกรณีที่มีคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ต่างกันซึ่งอาจช่วยในการเข้าใจ ความยากในการแก้ไขความขัดแย้งอื่นในประเทศ เช่น ม.112 ซึ่งคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ต่างกันในระดับลึก

2.สำคัญในฐานะพลเมืองโลก ยังไม่ค่อยมีคนอธิบายว่าสันติภาพชายแดนใต้เป็นประโยชน์ต่อโลกอย่างไร แต่มีกรณีศาสตราจารย์ Jane Jacobs กับปัญหากระบวนการสร้างสันติภาพใน Quebec, Cannada ที่มีสมมติฐานว่านวัตกรรมของโลกมาจากเมืองใหญ่ เพราะความหลากหลายที่อยู่ใกล้ชิดกันและกระตุ้นความคิด  ถ้า Quebec หายไป นวัตกรรมของมนุษยชาติจะหายไป เป็นต้น แล้วสำหรับปาตานี ไม่ใช่เมืองใหญ่แต่มีอะไร  เช่นตลาด  ถ้าสันติภาพเกิด จะขายของได้ หรืออะไร เป็นต้น

3.สำคัญในฐานะเป็นมนุษย์ อันนี้สำคัญที่สุด  ความรู้สึกห่วงใยเกี่ยวกับสิ่งที่ชาวปาตานีเผชิญในการดำเนินชีวิต ในฐานะที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน   แม้จะดูห่างแต่ใกล้กันมาก  จิตวิญญาณของประเทศวัดได้ด้วยวิธีการแก้ปัญหาชายแดนใต้  เมืองไหนที่ประชาชนทุกข์ เมืองนั้นจะพัง  การอยู่รอดของประเทศอยู่ด้วยจิตวิญญาณสูงส่ง ถ้าเกิดปัญหาแล้วคนไม่ห่วง อันนั้นแย่แล้ว 

“กระบวนการสันติภาพที่ทำกันมาก่อนทั่วโลกส่วนมากจะล้มเหลว  เพราะเราควรสร้างสันติภาพเชิงบวก  นั่นคือลดความรุนแรงและเพิ่มความยุติธรรม ความเคารพในคุณค่าที่หลากหลาย  แต่ที่พอมีบ้างที่เห็นปัจจุบันก็เป็นชนิดสร้างสันติภาพเชิงลบ นั่นคือลดความรุนแรงอย่างเดียว  การเจรจา การพูดทุกครั้ง พูดเพียงการลดความรุนแรง ซึ่งปมนี้ต้องแก้  ไม่มองกันคนละด้าน  แต่ควรเชื่อมั่น  ผสมผสาน และมีความคิดสร้างสรรค์”

“ในส่วนของปัญหาการออกแบบกระบวนการสันติภาพ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม (inclusive peace processes) นั้น เป็นเรื่องยากลำบาก  เพราะทุกคนยอมรับว่าเป็นเรื่องสำคัญ  แต่ใจไม่ยอมรับ เนื่องจากการมีส่วนร่วมเป็นมาตรฐานใหม่ แต่เราพบการต่อต้านทั่วโลกในหลายกรณี  ไม่ได้อยู่ในใจ แต่อยู่ในมาตรการ”

 ความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมวงคุยน่าสนใจหลายมุม เช่น

“การมีส่วนร่วมของประชาชนในภาคใต้สำคัญมาก แต่เวลาพูดคุยจะเป็นนักวิชาการ หรือผู้สนใจ แต่ชาวบ้านในพื้นที่จะมีน้อย ชาวบ้านจะกลัว  ขณะที่มุมมองแบ่งเป็น 2 ฝั่งคือ ฝั่งรัฐบาลและฝั่งประชาชน นอกจากนั้นมีกลุ่มผลประโยชน์  สิ่งสำคัญคือจะต้องเปิดใจกว้างต่อกัน”ผู้แทนคณะกรรมการมัสยิดบ้านฮ่อ จ.เชียงใหม่   

“มีคำ 2 คำ ที่มองต่างกัน คำว่า อัตลักษณ์  กับคำว่า พหุวัฒนธรรม  รัฐส่วนกลางเข้าไปครอบ บอกว่ามีดอกไม้หลากสีสร้างวาทกรรมสวยหรู  พยายามสร้างพหุวัฒนธรรม และมุ่งในมิติความมั่นคง  แต่คนในพื้นที่เขาต้องการคงอัตลักษณ์  การสร้างพหุวัฒนธรรมแต่อัตลักษณ์เขายังคงอยู่ สิ่งนี้ต้องสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่คนต่างภาค แต่กับคนใต้ด้วยกันในพื้นที่ใกล้ๆ ก็ยังไม่เข้าใจ”อดีตนักปกครองชาวเชียงใหม่ที่เคยรับราชการในสามจังหวัดชายแดนใต้

“ชุมชนไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของศาสนา หรือการอยู่ร่วม แต่บางกรณีเป็นเรื่องของข้อมูล และสิทธิชุมชน และบางครั้งไปพัวพันกับแหล่งทำมาหากินหรืองบประมาณ ดังนั้นการสื่อสารเพื่อให้เกิดเสียงสะท้อนเป็นสิ่งจำเป็น” พระครูโฆษิตสมณคุณ

“ปัญหาสันติภาพเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ความเหลื่อมล้ำในแนวราบมีหลายพื้นที่เช่นกัน ภาคเหนือก็มีปัญหาเรื่องคนที่อยู่ในพื้นที่ป่าเข้าไม่ถึงทรัพยากร  การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจจึงเป็นเรื่องจำเป็น”

“เราจะพัฒนาความแตกต่างให้เป็นความหลากหลายได้อย่างไร  แนวคิดเรื่องความขัดแย้งมีคนรู้น้อยมาก จะเชื่อมอย่างไรให้เห็นร่วมกัน  ร่วมกัน   ชุมชนมหาลัยต้องเห็นความสำคัญของสันติภาพศึกษาและจัดให้นศ.ทุกๆคณะได้เรียน โดยในข่าวความขัดแย้งถูกใช้คู่กับความรุนแรงเสมอ แต่จริง ๆ แล้วก่อนจะมีความขัดแย้งมันมีเรื่องความ tension ก่อนการปกครองในพื้นที่คือให้ชุมชนและสังคมออกแบบ ซึ่งมีเรื่องการจัดการสถานการณ์ crisis management และการออกแบบโครงสร้างการอยู่ร่วม”

“ก่อนจะเริ่มสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ต้องพูดถึงความยุติธรรมและยอมรับว่าเกิดเรื่องอะไรในพื้นที่ ความยากจนเป็นผลจากความไม่ได้รับความยุติธรรมและไม่ได้รับการเยียวยา  คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด แต่ไม่ได้อาศัยก็ไม่ได้รับการเยียวยาก็ยังมี  คนในพื้นที่ไม่มีความเชื่อมั่นกับนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ประชาชนในพท.ไม่มีความเชื่อมั่น เชื่อใจกับการเมืองในพื้นที่ ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งจะส่งผลกับการพัฒนาเศรษฐกิจ3 จังหวัดมีเยาวชนที่เก่งค่อนข้างมาก แต่มีข้อจำกัดเรื่องการพูดภาษาไทยไม่ใช่ชัด  หากมีพท.เหล่านี้และมีการสนับสนุนจากภาครัฐ จะทำให้การพัฒนาเรื่องนี้ไปได้ไวมากขึ้น  ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอุปโภคบริโภค ยังมีพื้นที่ตกหล่น เข้าไม่ถึงบริการ รัฐบาลน่าจะให้โอกาสในการลงพื้นที่ หรือเปิดให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและเข้าถึงพื้นที่หากเชื่อมั่น เปิดโอกาส จะทำให้หาสันติสุขและสันติภาพมากขึ้น”

คนประมาณ 2 ล้าน และ 80% เปอร์เซ็นต์มีการปกครองในรูปแบบของเขา ในรูปแบบที่เหมาะสม ได้มีโอกาสแสดงตัวตนได้ชัดขึ้น  สามารถมีส่วนในการศึกษา  สภาพปัญหาไม่ได้รับการสนับสนุนเรื่องการศึกษาเท่าที่ควร  รัฐบาลต้องมองในมุมที่จะพัฒนาโอกาสของคนที่ไปเรียนแล้วกล้บมาในพท.ความยุติธรรม  แสดงจุดยืนและมีการปกครองในรูปแบบของตัวเองได้”

บารินี เล่งกูล นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ ม.ช. กล่าวว่า เป็นเยาวชนที่เคยอยู่ในสามจังหวัดมอง 2 เรื่องสำคัญคือ เศรษฐกิจและการพัฒนา กับการบริหารการเมืองในพื้นที่ โดย 2 สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องไปพร้อมกัน เมื่อบริหารดี โปร่งใส เปิดโอกาสให้ประชาชน จัดสรรอำนาจอย่างถูกต้อง การพัฒนาเศรษฐกิจก็จะดีตามมา เช่น ถ้ารัฐให้การกระจายอำนาจทั่วถึง ประชาชนมีโอกาสมากขึ้น ก็จะพัฒนาตนเองและพื้นที่ได้มากขึ้น

ซัลวานี ตอแลมา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์ ภาษาจีน ม.ช. กล่าวว่า แนวทางสู่สันติภาพในชายแดนใต้สำหรับตนเองคือ 3 เรื่อง ความยุติธรรม การศึกษา และอัตลักษณ์วัฒนธรรม ถ้าคนในครอบครัวของเราได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ สิ่งที่เราจะคำนึงถึงคือการเยียวยา แต่ปัจจุบันการเยียวยาจากรัฐยังไม่ถึงประชาชนเลย แม้แต่คนนอกพื้นที่ก็ไม่ได้รับการเยียวยา เช่นครอบครัวของเพื่อนที่อยู่เชียงใหม่ แต่คนในครอบครัวไปรับราชการที่สามจังหวัด แล้วเสียชีวิต เงินเยียวยาก็ไม่ถึงตัวเขา เพราะเขาไม่ได้อาศัยอยู่ในสามจังหวัด ส่วนคนที่อาศัยอยู่ในสามจังหวัด เมื่อคนในครอบครัวเสียชีวิต ก็มีชีวิตยากลำบาก เงินไม่พอใช่ ส่งผลถึงการศึกษา เด็กๆ ต้องเรียนโรงเรียนประจำหรือโรงเรียนปอเนาะ ซึ่งการศึกษาจะเน้นหลักศาสนา ส่วนการเรียนสามัญจะไม่เข้มข้น ทำให้ความรู้พื้นฐาน ในวิชาสามัญ เช่นการกระจายอำนาจ หรือสิทธิของตนเองในประเทศไทย หรือองค์ความรู้ที่จะใช้ได้ในอนาคตก็ขาดหาย ส่งผลให้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมก็หายไปด้วย

เสียงของคนทั้งประเทศมีความหมายต่อสันติภาพ

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วม

“เราต้องการรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศใน 6 พื้นที่ กรณีมาในพื้นที่จ.เชียงใหม่  พบกันคณะกรรมการศาสนสัมพันธ์เชียงใหม่ 5 ศาสนา 7 นิกาย ได้เรียนรู้การเริ่มต้นแนวคิดของทุกศาสนาที่อยู่ร่วมกัน และเรียนรู้มุสลิมบ้านฮ่อที่มาจากจีนยูนนาน เป็นคนส่วนน้อยของเชียงใหม่แต่ได้รับการยอมรับในการเป็นมุสลิมเชียงใหม่อยู่ร่วมกันกับสังคมพหุวัฒนธรรมเชียงใหม่ได้อย่างลงตัว ซึ่งหลังจากนี้ การมีส่วนร่วมครอบคลุมทุกฝ่าย ทุกกลุ่มเป้าหมาย เปิดเผย ปลอดภัย ฟังผู้เห็นต่างจากรัฐ ฟังคนจากภูมิภาคอื่นด้วย เพราะปัญหาของสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ งบประมาณ 5.4 แสนล้านที่ทุ่มลงไปในระยะ 20 ปีเป็นภาษีของคนทั้งประเทศ แต่ผลที่ออกมาเรายังรู้สึกว่าไม่คืบหน้าตามที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยบนโต๊ะเจรจา เราอยากรู้ว่าคนทั่วประเทศคิดอย่างไร เราอยากรู้เพื่อนำไปสู่รายงาน  ใน 5 ประเด็นคือ รูปแบบการเมืองการปกครองที่อยากจะเห็น เศรษฐกิจการพัฒนา  อัตลักษณ์วัฒนธรรม การศึกษา และความยุติธรรม  ทีเราสอบถามผู้เข้าร่วมในแต่ละพื้นที่ และจะรวบรวมเสนอต่อรัฐสภาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขของรัฐบาล โดยคาดว่ารัฐบาลจะนำไปใช้

“ประชาชนทั่วไปมีส่วนช่วยให้เกิดสันติภาพในชายแดนใต้ได้ โดยที่ จะต้องมีความเข้าใจ รู้ว่าความขัดแย้งคืออะไร  และมาร่วมช่วยกัน  ซึ่งเมื่อรู้สถานการณ์ เช่นกฎหมายพิเศษต่างๆ ที่เราถูกบังคับใช้เฉพาะบ้านเรา เป็นปากเป็นเสียงให้เราด้วย เพราะเสียงของคน 2 ล้านคนในชายแดนใต้อาจไม่เพียงพอที่จะสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ได้ เราต้องอาศัยเสียงของคนทั้งประเทศ”

รวมความเห็นสร้างสันติภาพจากมุมประชาชนเสนอต่อรัฐสภา

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการฯ  

“กฎหมายชายแดนใต้มีลักษณะพิเศษในการใช้กฎหมายและองค์กรเข้าไปบริหารจัดการ ในรูปองค์กรมีทั้ง กอ.รมน. ส่วนหน้า การศึกษาธิการส่วนหน้า  มีสภาความมั่นคงไปดูแลด้านนโยบายความมั่นคง มีศอบต ไปดูแลด้านการพัฒนา องค์กรเหล่านี้ไม่มีในจังหวัดอื่นทั่วประเทศ และองค์กรเหล่านี้ก็ใช้กฎหมายของตนเอง เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง  พรก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก นอกจากนี้การบังคับใช้กฏหมายก็มีความพิเศษ คือการใช้กฎหมายเหล่านี้อย่างต่อเนื่องในพื้นที่เกือบทั้งหมด  การมีกฎหมายพิเศษอย่างนี้อาจมีสาเหตุความเป็นมา แต่ก็สะท้อนว่ายังไม่ปกติ ยังไม่สามารถทำให้สังคมเป็นปกติ ถ้าเราตั้งเป้าหมายให้เกิดสังคมที่ปกติสุขก็ต้องตั้งเป้าให้เป็นพื้นที่บังคับใช้กฏหมายเหมือนกับที่อื่นๆ คือไม่ควรอยู่ในจุดที่ใช้กฎหมายพิเศษเรื่อยไป เพราะต้องยอมรับว่าปัญหาที่ตามมาคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ เช่น จะต้องได้รับสิทธิในการสู้คดี การได้รับความคุ้มครอบในการตรวจค้น  จับกุม  เรื่องเหล่านี้ความพอดีจะอยู่ตรงไหน จะทำอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยต่อทุกฝ่ายและทุกพื้นที่  ต้องหาความพอดี   ซึ่งเรื่องนี้กรรมาธิการกำลังพิจารณาศึกษาและหาข้อสรุปถึงทางออกที่เหมาะสมสำหรับสามจังหวัดชายแดนใต้ว่าจะใช้กฎหมายอะไรที่คลี่คลายเกิดสันติดสุข ปลอดภัย และคุ้มครองประชาชน  ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ จะต้องทำความเข้าใจผู้คนที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย  การบังคับใช้กฎหมายที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติอยู่จะนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมาย หรือจะกระขายอำนาจให้ตอบสนองประชาชน  เป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐสภา ที่กรรมาธิการจะรับฟังและรวมความเห็นไปเสนอ”

บันทึก /เรียบเรียง : ธีรมล บัวงาม /อัจฉราวดี บัวคลี่
ภาพ : เลิศ ชัยคำ สื่อมุสลิมเชียงใหม่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ