ในขณะที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ กำลังรื้อฟื้นและเยียวยาผู้คนในชุมชนและแหล่งทรัพยากรของพวกเขา วันนี้กลับมีเรื่องราวที่พวกเขากังวลใจอีกครั้ง หลังมีการขุดคันดินบริเวณริมแม่น้ำมูลถมที่ทำกินบางส่วนของชาวบ้าน และพื้นที่ป่าทามจนได้รับความเสียหาย
ภาพและเรื่องราว: นักข่าวพลเมือง จ.ศรีสะเกษ
เมื่อวันที่19 สิงหาคม ที่ผ่านมา ชาวบ้านจาก 4 ตำบล ในเขตรอยต่อระหว่างตำบลเมืองคง ตำบลหนองแค ตำบลหนองอึ่ง และตำบลบัวหุ่ง อำเภอราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ในนามสมาคมคนทาม ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด จากเหตุการณ์ที่มีผู้ใช้รถแบคโฮบุกรุกเข้าทำลายทรัพยากรธรรมชาติป่าทาม และแม่น้ำมูล ในเขตอำเภอราษีไศล ซึ่งสร้างความเสียหายในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน
“เราหว่านกล้าข้าวไว้ เขาก็มาถมกล้าของเรา โดยที่เราไม่รู้…” นายป้อง พยอม ชาวบ้านร่องอโศก ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ บอกเล่าความเสียหายจากผลกระทบการขุดดินที่เกิดขึ้น
“..มี อบต.ไปแจ้งว่าจะมีรถมาถมกล้าข้าวนะ รถกำลังทำงานอยู่ กลับมาดูก็เห็นว่าถมเรียบร้อยแล้ว รถที่ทำงานเราก็ไม่เห็น จากนั้นก็เลยตามไปสอบถามว่า ทำไมจึงถมกล้าของผมโดยไม่บอก ทำไมไม่เหลือไว้ให้ปักดำบ้าง ทำไมถึงทำแบบนี้ เขาก็บอกจะรับผิดชอบ แต่ว่าผ่านมา 1สัปดาห์ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่9 สิงหาคม จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายต้นกล้าและที่นาทำกินของเรา ซึ่งเขาถมไปเราก็ต้องเรียกร้องด้วย”
เช่นเดียวกับนางสุภาพร บุตรวงศ์ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ที่บอกถึงความสำคัญของป่าทามแหล่งหาอยู่หากินของพวกเขา “รถแบคโฮขุดลอกดินขึ้นมาทับถมที่ดินทำกินของพวกเรา และพื้นที่ป่าทามที่เป็นแหล่งทำมาหากินสร้างรายได้ และแหล่งอาหารของพวกเราชาวอำเภอราษีไศล ทั้งการหาปลา หาเห็ด เก็บหน่อไม้ ไข่มดแดง และพืชผักในป่าทามอีกหลายชนิด และมีการสร้างทำนบดินขนาดใหญ่ปิดกั้นเส้นทางน้ำเดิมที่จะไหลลงสู่แม่น้ำมูลตามระบบนิเวศ ต่อไปนี้ชีวิตพวกเราต้องเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง”
ซึ่งบริเวณริมแม่น้ำมูลดังกล่าว เป็น “ป่าทาม” พื้นที่สาธารณะในการหาอยู่หากินของคนในชุมชน และบางส่วนเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งมีการตรวจสอบรังวัดที่ดินแปลงกรรมสิทธิ์ ร.ว. 43 ก. จากกรมที่ดิน กรณีผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ชาวบ้านจึงมีความกังวลใจและไม่อาจเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
นางสำราญ สุรโคตร ประธานกองทุนสวัสดิการเครือข่ายฮักแม่มูน จากเหตุการร์ที่เกิดขึ้นชาวบ้านมีข้อร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการ 3 ข้อ ดังนี้
1) ขอให้มีการระงับการกระทำดังกล่าว โดยให้ยุติการกระทำโดยทันที จนกว่าจะมีผู้ออกมารับผิดชอบ
2) ขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำนี้ โดยแจ้งต่อประชาชนในพื้นที่เกี่ยวข้อง ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล และทุกกลุ่ม
3) ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้รับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว ได้รับผิดชอบต่อค่าชดเชยที่ดินแปลงกรรมสิทธิ์ ร.ว.43ก. และแปลงที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ
จากกรณีดังกล่าว ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายต่อผืนดินทำกินบริเวณริมแม่น้ำมูล แต่ชาวบ้านมองว่าพวกเขาควรมีส่วนในการร่วมรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถออกแบบและร่วมตัดสินใจ หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆที่อาจส่งผลกระทบต่อแหล่งทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อพวกเขาอย่างถึงที่สุด โดยพวกเขายังกังวลใจว่าคันดินที่ขุดขึ้นมานั้น จะกลายอุปสรรคสำคัญที่จะขวางทางน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำมูลตามธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบนิเวศป่าทามและทรัพยากรของชุมชน โดยประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้พวกเขารู้ดีว่าการมีสิ่งกีดขวางทางน้ำนั้นไม่ส่งผลดีใดๆเลยต่อวิถีชีวิตของพวกเขา