สำรวจชุมชนริมแม่น้ำมูลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลฯ เตรียมฟื้นฟูผลกระทบน้ำท่วม

สำรวจชุมชนริมแม่น้ำมูลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลฯ เตรียมฟื้นฟูผลกระทบน้ำท่วม

“ทำไมยกจักรยานขึ้นหลังคาสูงจังเลยคะ” เสียงทักทายไถ่ถามระคนความสงสัยจากทีมอาสาสมัครมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ร่วมลงสำรวจผลกระทบความเสียหายน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำมูล เขต อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เมื่อเห็นจักรยาน 2 คน นอนแอ้งแม้งอยู่บนหลังคาที่เปลี่ยนจากสีสนิมหลังจากแช่น้ำท่วมกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา

“อ่อ ย้ายจักรยานหนีน้ำก่อนหน้านี้แล้ว แต่มันไม่พ้นน้ำ” เสียงจากคุณยายชาวชุมชนท่าบ้งมั่ง เล่าให้ฟังผ่านรั้วหน้าบ้าน ขณะกำลังทำความสะอาดคราบดิน โคลน ที่ยังเกาะแน่นตามส่วนต่าง ๆ ของตัวบ้าน

“เมื่อก่อนมันก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ ขนาดฝนตกเป็นเดือนไม่เคยเป็นแบบนี้ ถ้าปล่อยน้ำเป็นธรรมชาติเหมือนแต่ก่อน แม่ก็เกิดที่นี่ น้ำก็ไหลไปเรื่อย ๆ แม้จะอยากให้ท่วม บางครั้งมันก็ไม่ท่วม ถ้าถามว่าเมื่อก่อนทำไมถึงอยากให้น้ำท่วม เพราะมันได้รวมตัวกัน กินข้าวอร่อย เมื่อก่อนน้ำท่วมพายเรือขายของดี เพราะไม่มีใครหนีจากบ้าน น้ำท่วมไม่เยอะ”  คุณยายในชุมชนอธิบายภาพความทรงจำของเหตุการณ์น้ำท่วมในอดีตที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับปัจจุบันให้ฟังอีกครั้ง

อุบลราชธานี เป็นจังหวัดปลายน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งรับน้ำจากลุ่มแม่น้ำมูล ลุ่มแม่น้ำชี และลุ่มแม่น้ำโขงในพื้นที่ภาคอีสาน โดยแม่น้ำมูลเป็นเส้นทางน้ำจากนครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์และศรีสะเกษ  ส่วนแม่น้ำชีเป็นเส้นทางน้ำจากชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และยโสธร ซึ่งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีจะไหลมาบรรจบกันและลงสู่แม่น้ำโขง ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และมีลำน้ำใหญ่ ๆ อีกหลายสาย ได้แก่ ลำเซบาย ลำเซบก ลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย และห้วยตุงลุง

กลางเดือนธันวาคม 2565 หลังน้ำท่วมนานกว่า 3 เดือน อาสาสมัคร คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ลงพื้นที่ชุมชนเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ เพื่อสำรวจผลกระทบและศึกษาข้อมูลเพื่อหาแนวทางรับมือภัยพิบัติระดับชุมชน แม้ในวันนี้น้ำที่ท่วมสูงยาวนานจะแห้งเหือดลง แต่ความทุกข์ร้อนของชาวอุบลราชธานียังคงหนักอึ้งไม่สิ้นสุด เห็นชัดเจนด้วยสายตาจากสภาพบ้านเรือนที่ยังต้องการซ่อมแซม ทำความสะอาด การซ่อมระบบไฟฟ้า การฟื้นฟูการเกษตร และการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในการป้องกันน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

การลงพื้นที่ชุมชนในครั้งนี้ทำให้ได้เห็นร่องรอยผลกระทบ ทั้ง ความเสียหายของอาคารบ้านเรือน และข้าวของเครื่องใช้ ที่เป็นหลักฐานยืนยันสถานการณ์น้ำท่วมหนักในชุมชนท่าบ้งมั่ง และชุมชนเกตุแก้ว อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ในรอบ 44  ปี ของชุมชนริมแม่น้ำมูล

ชั้นสองของบ้านก็ไม่รอด

แม้จะเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากและมีประสบการณ์รับมือน้ำท่วมต่อเนื่อง แต่ความเสียหายหนักในปีนี้ยังผลกระทบรุนแรงต่อพื้นที่ทางกายภาพและสภาพจิตใจของคนในชุมชน 

“คิดว่ามีบ้านชั้นสองแล้ว เวลาน้ำมาคงอาศัยอยู่ได้ และเก็บของหนีน้ำได้ สุดท้ายชั้นสองก็ไม่เหลือ” 

อารีรัตน์ จังกาจิตต์ ชาวชุมชนท่าบ้งมั่ง

อารีรัตน์ จังกาจิตต์ ชาวชุมชนท่าบ้งมั่ง เล่าถึงความเสียหายช่วงน้ำท่วมบ้านที่ผ่านมา พร้อมระบายความทุกข์ภายในใจ หลังอาสาสมัครค่อย ๆ ไล่เรียงสอบถามข้อมูลและข่าวคราวความเป็นอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูล  ที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง  คือในปี 2521, 2545 ,2562 และล่าสุดในปี 2565

และจากข้อมูลที่อาสาสมัคร ม.อุบลราชธานี ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายตามจุดต่าง ๆ ในชุมชนท่าบ้งมั่ง 54 ครัวเรือน และชุมชนเกตุแก้ว 36 ครัวเรือน พบว่าสิ่งที่คนในชุมชนต้องการได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอันดับแรก คือการฟื้นฟูบ้านเรือนซึ่งเป็นที่พักอาศัยหลับนอน และซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียหายให้กลับมาใช้การได้ เพราะจำต้องซื้อใหม่อาจใช้เวลาในการเก็บเงินนานพอควร เนื่องจากส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างหาเช้ากินค่ำ

“บางครั้งความทุกข์บางอย่างอยากระบายให้คนอื่นรับฟัง บางครั้งเราก็เครียด เราขนของหนีน้ำท่วมบ้านไม่พอ ยังมีความเสียหายหลายกว่าทุกปี น้องมาถามเราก็ดีใจ” หนึ่งในเสียงสะท้อนจากคนในชุมชนหลังได้บอกเล่าความทุกข์ร้อนจากน้ำที่ท่วมอย่างหนักหน่วงในรอบปี 2565

 “มีคำหนึ่งที่จำขึ้นใจได้เลยว่าเขาบอกว่ากำแพงที่กั้นพนังน้ำนี้ คือมันเหมือนคุก เขาบอกว่าถนนที่สร้างขึ้นผ่านบ้านเขามันเหมือนแอ่งกระทะ ถนนมันเป็นแบบนี้ กำแพงมันเป็นแบบนี้”

การันต์ ปิติการ อาสาสมัคร ม.อุบลราชธานี

การันต์ ปิติการ อาสาสมัคร ม.อุบลราชธานี ได้สะท้อนปัญหาหลังลงสำรวจชุมชน “ปัญหาที่เราเจอมันมีอีกมากมายเลย เขาบอกว่าไม่ได้รับการเยียวยา ไม่ได้ไปข้างนอก ไม่มีการดูแล ไม่มีอะไรเลย แค่บอกว่าวันนี้มันเป็นยังไง แค่เขาลืมตามาดูบ้านได้ก็ดีแล้ว เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของชุมชนเราว่าเขาไม่ได้ออกเสียงเลยว่า ส่วนมากคนที่ลงมาเขาจะพูดเสียงเดียวกันเลยว่าเขาไม่ได้อะไรเลยจากภาครัฐ แถมยังต้องรอถ้าจะเอา มันเป็นคำพูดที่สะเทือนใจเขาอยู่ที่นี่มาเป็นสิบกว่าปีแล้ว เขาไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง ลงมาครั้งไหนเขาก็สะท้อนปัญหาไม่เคยได้รับการเปลี่ยนแปลงเลย ซึ่งการที่เรามาครั้งนี้ ยอมรับว่าเราเห็นพี่น้องลำบาก ทุกข์ยาก ทุกครั้งที่ลงมามีแต่ปัญหา เราอยากช่วยเขา  ทางใดทางหนึ่ง เราขอเป็นอีกแรงช่วยเขา”

ร่วมดูแล แบ่งปัน ความทุกข์ยากบนฐานข้อมูล เป็นอีกบทบาทสำคัญของสถาบันวิชาการในระดับพื้นที่ ซึ่งอาสาสมัครมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมลงพื้นที่เก็บข้อมูลในเบื้องต้น เพื่อนำไปส่งต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อสารในระดับท้องถิ่น โดยในวันที่ 18 มกราคม 2566 เวลา 08.30 – 12.30 น. จะมีความร่วมมือจัดเวที Poverty Forum: สานพลัง สร้างความร่วมมือง ฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำท่วม ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองวารินชําราบ โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนฯ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญในการมีส่วนร่วมเพื่อเพื่อหวังเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการร่วมออกแบบแนวทางเพื่อป้องกันและลดผลกระทบภัยพิบัติน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ