ฟังเสียงประเทศไทย | มรดกลุ่มแม่น้ำมูล

ฟังเสียงประเทศไทย | มรดกลุ่มแม่น้ำมูล

เรียบเรียง : ธันวา ศรีสุภาพ

ฟังเสียงประเทศไทย ยังคงออกเดินทางในทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมรับฟังเสียงของผู้คนด้วยหัวใจที่เปิดรับ เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้านและหวังจะร่วมหาทางออกจากโจทย์ความท้าทายของผู้คนในแต่ละพื้นที่

รายการฟังเสียงประเทศไทย Next normal พาออกเดินทางต่อที่ภาคอีสาน ณ ศรีสะเกษ เป็นจังหวัดที่มีลุ่มแม่น้ำมูลไหลผ่าน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ลุ่มน้ำสำคัญของภาคอีสาน มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 70,000 ตารางกิโลเมตร มี 53 ลุ่มน้ำสาขา  ด้วยเหตุนี้ “ลุ่มแม่น้ำมูล” จึงเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ เป็นแหล่งอาหาร เป็นเสมือนตู้กับข้าวของชุมชน 

แต่สถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างนอกจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัย นิเวศลุ่มน้ำ ป่าบุ่งป่าทาม  นาข้าว แปลงหอมแดง รวมถึงทุเรียนภูเขาไฟ ต่างก็ได้รับความเสียหาย ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและวิถีชุมชนอย่างหนักและเพื่อให้ทุกคนได้ฟังกันอย่างใคร่ครวญ ได้ไตร่ตรอง ฟังโดยไม่ตัดสิน และชวนรับฟัง แลกเปลี่ยนและเว้าจา โสเหล่ ถึงภาพอนาคตการจัดการแม่น้ำมูลให้ทุกคนเดินไปพร้อม ๆ กัน เพื่อร่วมหาทางออก ผ่านการจัดวงคุยภายใต้แนวคิด  Citizen Dialogues ประชาชนสนทนา

เราเชื่อว่าการเดินทางทุกครั้งหัวใจของการมาเจอคือได้มา “ฟัง” แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ หรือได้เติมข้อมูลให้กัน และนำมาคิดไปข้างหน้า เพื่อร่วมออกแบบภาพอนาคต โอกาสและข้อท้าทายมาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้น รายการยังมีข้อมูลพื้นฐาน โอกาสและข้อท้าทาย เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ภาพรวมเพิ่มมากขึ้น

-ลุ่มน้ำมูล-

มีพื้นที่รวม 70,943.01 ตารางกิโลเมตร  มี 53 ลุ่่มน้ำสาขา ครอบคลุมพื้นที่ใน 15 จังหวัด มีความยาวลำน้ำโดยประมาณ 880 กิโลเมตร มีปริมาณฝนเฉลี่ยรายปี 19,835 ล้านลูกบาศก์เมตร

ตลอดลุ่มน้ำมูลมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 2,632 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 3,419,023 ไร่  มีปริมาณความต้องการใช้น้ำ 18,179,07 ล้านลูกบาศก์เมตร

มีจำนวนประชากร 10,009,804 คน รวม 3,053,773 ครัวเรือน โดยในจำนวนนี้มีเกษตรกรที่มีที่ทำกินเป็นของตัวเองรวม 1,374,603 ครัวเรือน มีทรัพยากรป่าไม้ 5,648.37 ตร.กม. มีพื้นที่ชุ่มน้ำ 9 แห่ง รวมพื้นที่ 3,138.87 ตร.กม. มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 67,701.21 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 69,978.45 ตารางกิโลเมตร

-จังหวัดศรีสะเกษ

เป็นหนึ่งในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำมูลในอีสานใต้ มีพื้นที่ประมาณ 8,839.976 ตารางกิโลเมตร หรือ 5,524,985 ไร่ โดยมีข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าวในปี2563 จำนวน 3,369,125 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 60.78 ประชาชนส่วนใหญ่จะมีการปลูกข้าวนาปี และนาปรังพริก กระเทียม และหอมแดง

-ภาพรวมโครงสร้างเศรษฐกิจ

จังหวัดศรีสะเกษ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ปี 2561 มูลค่าการผลิต 72,484 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อประชากร เท่ากับ 73,958 บาทต่อคน ภาคเกษตร มีมูลค่า 20,472 ล้านบาท ภาคนอกเกษตร มีมูลค่า 52,012 ล้านบาท

มีพื้นที่ติดกับกัมพูชา และมีจุดผ่านแดนถาวร ช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ ตั้งแต่ปี 2549 และเมื่อปี พ.ศ. 2560 มีมูลค่าเศรษฐกิจชายแดนรวม 818.90 ล้านบาท

-ข้อมูลการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ GAP และการปศุสัตว์-

ศรีสะเกษ เป็นจังหวัดขนาดใหญ่มีพื้นที่รวม 5.5 ล้านไร่ มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 3,551,982ไร่ คิดเป็นร้อย 64.29 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนา และยังเป็น แหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ยางพารามันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นแหล่งปลูกหอมแดงมากที่สุดของประเทศและยังเป็นแหล่งปลูกไม้ผล เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง 

มีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์แล้ว จำนวน 35,755 ไร่ มีการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่  จำนวนแปลงทั้งสิ้น 359 แปลง เกษตรกร 26,841 ราย

มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ โคเนื้อ โคนม กระบือ สุกร ไก่ เป็ด แพะ และแกะ จำนวน 121,144 โดยโคเนื้อสามารถสร้างมูลค่าได้สูงสุด 16,880,794,000 ล้านบาท  ในปี 2563

ข้อมูลป่าไม้-

มีพื้นที่ป่าไม้ 1,366,444 ไร่ แบ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ 25 แห่ง เนื้อที่ 1,274,312 ไร่ และป่าไม้ถาวรเตรียมการสงวน 4 แห่ง จำนวน 92,132 ไร่ จำแนกได้ 3 ประเภท ป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ โดยมีลักษณะเป็น ป่าแดง หรือ ป่าเต็ง ป่าเบญจพรรณ และ ป่าบุ่งป่าทามซึ่งเป็นป่าในที่ลุ่มริมฝั่งน้ำ มีน้ำท่วมขังในฤดูฝนต้นไม้ที่เกิดในป่าบุ่งป่าทามเป็น ต้นไม้ที่ทนทานต่อการถูกน้ำท่วม

ปี 2565

จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 22 อำเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 55,374 ครัวเรือน 178,711 คน พื้นที่การเกษตร 1,407 ไร่ (นาข้าว 289,125 ไร่ พืชไร่ 24,497 ไร่ พืชสวน 914 ไร่ ประมง) สิ่งสาธารณประโยชน์ 477 แห่ง ปศุสัตว์ 56,978 ตัว ประชาชนเสียชีวิต และบาดเจ็บจากอุทกภัย และพายุ “โนรู” รวมเสียชีวิต 14 ราย ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษ มีเขื่อนขนาดใหญ่ จำนวน 2 แห่ง เขื่อนราษีไศล ปริมาณความจุเก็บกัก 74.46 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนหัวนา  ความจุเก็บกัก 64.98 ล้าน ลบ.ม.

แผนพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ

ระบุถึงศักยภาพในการทำการเกษตรที่มีผลิตภาพสูง มีพื้นที่ปลูกทุเรียน รวมจำนวน 8,562 ไร่ ซึ่งได้ตราสัญลักษณ์ GI จำนวน 127 ราย โดยเมื่อปี 2563 มีงานเทศกาลทุเรียน 10 วัน มูลค่ากว่า 250 ล้านบาท

มีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมหลากหลาย และวิถีชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์ เป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นในด้านกีฬา และได้รับเกียรติให้เป็น Sport City 1 ใน 6 จังหวัดของประเทศ ประชาชนในจังหวัดส่วนใหญ่มีอาชีพและมีรายได้ ส่งผลให้อัตราการพึ่งพิงที่ค่อนข้างต่ำ

ภาพรวมการจัดการน้ำที่ลุ่มน้ำมูน

ความน่าสนใจคือ แม้ว่าลุ่มน้ำมูลจะมีพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งจำนวนมาก แต่ในภาพรวมแล้ว ลุ่มน้ำมูลกลับเป็นลุ่มน้ำที่มีปริมาณน้ำต้นทุน (ที่กักเก็บไว้ได้) สูงกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำอยู่เสมอ โดยในปี 2563 ลุ่มน้ำมูลมีปริมาณน้ำต้นทุน (ที่กักเก็บไว้ได้) สูงกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมากถึง 2,006 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี 

ในปี 2563 จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำมูล มีปริมาณน้ำต้นทุนสูงกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำ 735 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี สูงเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศไทย และจังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ปลายน้ำของลุ่มน้ำมูล มีปริมาณน้ำต้นทุนสูงกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำ 706 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี สูงเป็นอันดับที่ 7 ของประเทศไทย แม้กระทั่ง จังหวัดสุรินทร์ พื้นที่กลางลุ่มน้ำมูน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีปริมาณน้ำต้นทุนส่วนเกินน้อยที่สุดในลุ่มน้ำ ยังมีปริมาณน้ำต้นทุนสูงกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำ 171 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 136 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี

แต่ในขณะที่ทุกจังหวัดในลุ่มน้ำมูลมีปริมาณต้นทุนส่วนเกินจำนวนมาก และมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ สัดส่วนหมู่บ้านที่มีน้ำการเกษตรใช้เพียงพอตลอดทั้งปีของทุกจังหวัดในลุ่มน้ำมูล กลับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ จังหวัดในลุ่มน้ำมูลที่มีหมู่บ้านที่มีน้ำการเกษตรใช้เพียงพอตลอดทั้งปีมากที่สุดคือ ศรีสะเกษ ซึ่งมีหมู่บ้านที่มีน้ำการเกษตรใช้เพียงพอตลอดทั้งปีร้อยละ 52.33 ของหมู่บ้านทั้งหมด ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ 52.73% ส่วนจังหวัดที่มีหมู่บ้านที่มีน้ำการเกษตรใช้เพียงพอตลอดทั้งปีต่ำที่สุดในลุ่มน้ำมูลคือ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีหมู่บ้านที่มีน้ำการเกษตรใช้เพียงพอตลอดทั้งปีเพียงร้อยละ 37.87 ของหมู่บ้านทั้งหมด ตามมาด้วยบุรีรัมย์ ซึ่งมีหมู่บ้านที่มีน้ำการเกษตรใช้เพียงพอตลอดทั้งปีเพียงร้อยละ 40.87 เท่านั้น

ข้อมูลจาก : วิกฤตลุ่มน้ำมูน:วิกฤตการจัดการน้ำของรัฐ (เดชรัต สุขกำเนิด)

“การบริหารจัดการน้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ส่งผลต่อวิถีชุมชนในลุ่มน้ำมูลตอนกลาง จ.ศรีสะเกษค่ะ  เพราะนอกจากลำน้ำสาขา และป่าบุ่งป่าทามแล้ว ศรีสะเกษยังมีเขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ วันนี้ฟังเสียงประเทศไทยชวนมาที่หอประชุมเปี่ยมรัก โรงเรียนบ้านหนองหวาย ต.โนนสัง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ

ฉากทัศน์ที่ A : แม่น้ำมูลเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ภาพแทนแหล่งน้ำที่รัฐเข้าไปจัดการและเริ่มเปลี่ยนแปลง

แม่น้ำมูลเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ รัฐไม่ได้บริหารจัดการเพื่อเน้นการเพิ่มผลผลิตในภาคเกษตร แต่เน้นการจัดการปริมาณน้ำลุ่มน้ำมูลเป็นหลัก เช่น การดาดตลิ่งด้วยปูนซีเมนต์หรือขุดลอกร่องน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งตอบโจทย์การแก้ปัญหาอุทกภัยฯ ชุมชนได้ระดับหนึ่ง แต่ระยะยาวอาจส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำ ขณะที่ภาคเกษตรต้องเน้นพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ทั้งในด้านการจัดการน้ำในเพียง พอกับการเพาะปลูก และการประมง  อีกด้านพยายามแสวงหาความร่วมมือช่วยเหลือจากภาควิชาการ ทั้งในแง่นวัตกรรมการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ การตลาดและการขนส่ง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพดั้งเดิม ซึ่งนับวันจะหาคนรุ่นใหม่ในพื้นที่สืบทอดต่อเนื่องได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ

ฉากทัศน์ที่ B : แม่น้ำมูลแหล่งอาหารตามฤดูกาล ภาพแทนแหล่งน้ำที่ชุมชนใช้ประโยชน์ไปเรื่อย ๆ

แม่น้ำมูลแหล่งอาหารตามฤดูกาล ชุมชนลุ่มน้ำมูลเน้นปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศลุ่มน้ำมูล “ป่าบุ่งป่าทาม” ตามฤดูกาลตามวิถีท้องถิ่น ภายใต้ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ (Climate Chang) ซึ่งส่งผลกระทบต่อธรรมชาติโดยรวม มีการพึ่งพาใช้ประโยชน์จากน้ำฝน เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อใช้ในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และประมงน้ำจืด ผลผลิตที่ได้เน้นเพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก ซึ่งทำให้ชุมชนสามารถยืนหยัดอยู่ได้ ขณะที่ภาครัฐ และภาคท้องถิ่น พยายามสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชนในการร่วมจัดการทรัพยากร และลู่ทางใหม่ๆในการจัดการทรัพยากร แต่เนื่องด้วยขาดงบประมาณและมีข้อจำกัดด้านการจัดการ ทำให้ต้องใช้เวลาเพื่อยกระดับและสร้างความเปลี่ยนแปลง

ฉากทัศน์ที่ C : แม่น้ำมูลแหล่งทรัพยากรส่วนรวม ภาพแทนแหล่งน้ำที่ทุกคนร่วมใช้และดูแล

แม่น้ำมูลแหล่งทรัพยากรส่วนรวม ภาคประชาสังคมชาวบ้าน หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องมีความเข้มแข็ง ร่วมบริการจัดการกำหนดกติกาการใช้ประโยชน์และดูแลแม่น้ำมูล ที่แตกแยกย่อยไปตามชุมชนในระดับพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่วงกว้าง เพื่อให้เกิดการจัดสรร ดูแลรักษาระบบนิเวศ พื้นที่เพาะปลูก ป่าบุ่งป่าทาม และเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติที่สอดคล้องเหมาะสมตามแต่ละพื้นที่ ซึ่งนับวันมีความต่อเนื่องและยากจะคาดเดา ขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้หน่วยราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มปรับตัวเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด ดึงภาควิชาการเข้ามาร่วมพัฒนาองค์ความรู้และยกระดับการจัดการที่ยั่งยืน ซึ่งแม้ต้องใช้เวลาโดยเฉพาะการแก้กฎระเบียบต่างๆ แต่ทำให้เห็นความหวังการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

นอกจากข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องถึงศักยภาพและต้นทุนของแม่น้ำมูลที่รวบรวมมาแบ่งปันแล้ว ยังมีข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฉากทัศน์มาให้ร่วมตัดสินใจ โดย คุณนาตยา สิมภา  เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ Thai PBS เป็นผู้ดำเนินวงเสวนา เพราะเราเชื่อว่าหากทุกคนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ได้พูดคุยและรับฟังกันอย่างเข้าใจจะนำไปสู่การออกแบบภาพอนาคตได้เพราะเสียงของทุกคนมีความหมาย

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ A

-แม่น้ำมูลเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่-

ผศ. ดร.ฤกษ์ชัย ศรีวรมาศ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

“ปัจจุบันศรีสะเกษเป็นเบอร์หนึ่งของภาคอีสาน สำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ เอาที่นี่เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำ ตอนนั้นได้เสนอไป 2 ประเด็น อันที่หนึ่งศรีสะเกษไม่มีแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศมีแล้ว แต่ระดับจังหวัดไม่มี ระดับท้องถิ่นไม่มี ซึ่งอันที่จริง อบต. ต้องมี ถ้า อบต. มีจะทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการมาจัดทำแผนเพราะชาวบ้านรู้ดี ว่าน้ำท่วมหรือแห้งแล้งอยู่บริเวณไหน สิ่งที่เสนอเรื่องแรกคือแผนแม่บท เรื่องที่สองที่เสนอคือห้องประชุมวางแผนยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด ซึ่งยังไม่มีทั้งที่ปัจจุบันเทคโนโลยีพร้อมหมดแล้ว เราสามารถรู้ได้หมด ว่าน้ำขึ้นลงบริเวณไหน มากน้อยแค่ไหน ถ้าทั่วจังหวัดศรีสะเกษรู้แบบนี้ได้ เราก็บริหารจัดการน้ำได้สบาย ปัจจุบันชาวบ้านไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องน้ำท่วมหรือภัยแล้ง มันเกิดขึ้นแน่นอน เพราะในระดับโลก เขาส่งสัญญาณสีแดง 5 ข้อ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้น เพราะสภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงแล้ว ไม่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำอะไรมันก็เปลี่ยนเหมือนเดิม เราจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น สังเกตได้ว่าน้ำท่วมมากขึ้น ไม่ว่าเราจะทำอะไรหรือไม่ ก็จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติของมัน 

พอเป็นเช่นนี้แล้วหลายคนอยากได้สิ่งที่พัฒนา เช่น มีคนถามว่าแม่น้ำมูลเราปล่อยไหลทิ้งทำไมในสมัยก่อน ทำไมไม่เก็บไว้ใช้ในภาคอีสาน ซึ่งได้ไปบอกในทุกเวทีว่าภาคอีสานของเราไม่ได้แล้ง เพราะมีน้ำมากมาย มันจึงทำให้เรามีโครงการต่าง ๆ มามากมาย เช่น เขื่อนกักน้ำ ตามที่ท่านนายกฯ บอกว่าน้ำท่วมบ้านหนองหวาย บ้านหนองโองนั้น เราก็อยากได้คลองระบายน้ำ ซึ่งตอนนี้มีแล้ว 4.5 หมื่นล้านบาท ระบายน้ำจากห้วยขะยูงไปลงหลังแก่งสะพือ แต่ตอนนี้มีปัญหาคนอุบลราชธานีประท้วง โดยเฉพาะโครงการที่ผ่านพื้นที่ และแม่น้ำชีทาง สทนช. กำลังศึกษา ตัดแม่น้ำชีออกไม่ให้เข้าอุบลฯ แต่ก็ตัดออกไปไม่ได้เลย เพราะมีปัญหาอีก อันนั้นกี่หมื่นล้านบาทก็ไม่รู้ นั่นคือโครงการที่เกิดจากความต้องการของเราด้วยส่วนหนึ่ง เมื่อพัฒนาก็เกิดผลกระทบกับอีกหลายคน เพราะฉะนั้นแม่น้ำมูลจะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เพราะเป็นสายเลือดเส้นใหญ่ของคนอีสาน”

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ B

-แม่น้ำมูลแหล่งอาหารตามฤดูกาล-

พรรณี เสมอภาค ที่ปรึกษาเครือข่ายกินสบายใจ

“ปีนี้มีโอกาสน้ำท่วมไหม หลายคนบอกว่า 50% แต่อยากให้ดูสถิติว่าปี 2521 นั้นน้ำท่วมหนักและปี 2545 ซึ่งห่างกัน 21 ปี จาก 2545 มา 2554 มันห่างกัน 9 ปี จาก 2554 มา 2563 ห่างกัน 8 ปี จาก 2562 มา 2565 ห่างกัน 3 ปี เพราะฉะนั้นปีนี้จะเป็นอย่างไร บวกกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ มันมารุนแรงในช่วงนี้ด้วย คือมันจะสั้นลงเรื่อย ๆ

เรื่องที่ 2 ที่บอกว่ามันคือตู้กับข้าวของเราในอดีต มันต้องคิดถึงการอนุรักษ์แล้ว เพราะฉะนั้นจึงเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร เมื่อเช้าถามชาวบ้านว่าน้ำท่วมหมู่บ้าน เป็นอย่างไรบ้าง อันที่จริงก็เป็นผู้ประสบภัยของตำบลแจระแมเช่นกัน เมื่อได้ฟังชาวบ้านเล่าเมื่อเช้านั้นเหมือนกันเลย ซึ่งมีบ้านอยู่บริเวณเนินหมู่บ้าน น้ำจึงไม่ท่วมบ้าน แต่ทุ่งนาน้ำท่วม โดยเฉพาะในปี 2565 ที่ผ่านมาที่ท่วมหนัก ซึ่งในปี 2521 นั้นยิ่งน้ำท่วมหนักมาก แต่ยังมีข้าวเหลือกินสำหรับคนที่มีที่นาติดบ้าน หากประเมินความเสียหายจะอยู่ที่ 95% ส่วนปี 2545 นาข้าวเสียหาย 30% ปี 2554 นาข้าวเสียหาย 50% ปี 2562 นาข้าวเสียหาย 40% แต่ปี 2565 นาข้าวเสียหาย 100% พอข้าวหายไป 100% เมล็ดพันธุ์ข้าวก็ไม่มี เลยคิดหนักว่าจะไปต่ออย่างไร ซึ่งเป็นความทุกข์อีกแบบ 

แล้วเราจะทำให้แม่น้ำกลับมาเป็นตู้กับข้าวเช่นเดิม ที่รำลึกความหลัง เป็นที่สำหรับความรัก เป็นที่ของน้ำใจและการแบ่งปันได้อย่างไร ที่จริงยังมีโอกาสเราก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์ เมื่อเป็นตู้กับข้าวของเรา เราก็ต้องช่วยกันรักษา ทำอย่างไรที่จะให้คนรุ่นลูกของเราได้มีความหลังแบบนี้ ไม่ใช่ว่ารุ่นลูกเราจะเหลือเพียงน้ำเสีย อย่างที่หลายคนว่าต้องช่วยกันรักษาโดยเริ่มจากตัวเรา ชุมชนของเรานั้นเพียงพอหรือไม่ ต้องช่วยกันเป็นเครือข่ายในจังหวัดศรีสะเกษ และเครือข่ายลำน้ำ ภาครัฐเองก็ต้องมีแผนปฏิบัติการ ถ้าไม่มีแผนปฏิบัติการไม่มีงบประมาณ ผู้ปฏิบัติก็จะไม่ทำงานตามที่เคยทำงานกับภาครัฐมา ถ้าไม่มีแผนปฏิบัติการไม่มีงบประมาณก็ไม่มีการขยับ หรือแม้กระทั่งมีแล้วแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นต้องผลักดันให้มีแผนปฏิบัติการด้วย อยากให้ลุ่มน้ำมูลเป็นตู้กับข้าว ที่แห่งการแบ่งปัน”

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ C

-แม่น้ำมูลแหล่งทรัพยากรส่วนรวม-

อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน

“ระบบข้อมูล อบต. เป็นหน่วยที่ต้องมีระบบข้อมูล เสนอว่ากรมชลประทานต้องมีรายงานตรง กับตำบลที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติ ผมพยายามดูข้อมูลระบบน้ำของกรมชลประทาน ที่อยู่ในเว็บไซต์ซึ่งไม่เข้าใจ ได้ถามทางตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล ว่ามีบุคลากรที่ดูข้อมูลของกรมชลประทานเข้าใจไหม ไม่มีใครเข้าใจเช่นกัน ถึงแม้กรมชลประทานจะรายงานน้ำแบบเรียลไทม์ แต่ไม่ได้เป็นวิศวกรที่ดูแล้วเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น อบต. ต้องมีบุคลากร ที่ดูข้อมูลน้ำแล้วเข้าใจ ไม่ใช่กรมชลประทานไปรายงานในที่ประชุมจังหวัด ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แต่ชลประทานต้องรายงานตรงต่อนายก อบต. ที่เป็นตำบลในพื้นที่ภัยพิบัติสำหรับข้อมูลน้ำ อบต. ในพื้นที่ภัยพิบัติต้องมีผังน้ำ เขามีข้อมูลอยู่แล้วว่าพื้นที่เสี่ยงภัยอยู่ตรงไหน น้ำจะไหลเข้าตรงไหนไปท่วมตรงไหน อันนี้เรียกว่าผังน้ำ 

ตอนนี้บางตำบลของภาคอีสานทำถึงผังน้ำใต้ดินแล้ว เพราะฉะนั้นผังน้ำบนดิน อบต. ในพื้นที่ภัยพิบัติต้องมีผังน้ำ ตำบลเราน้ำเข้าทางไหนไหลไปไหน ไปท่วมที่ไหน อันนี้คือสิ่งที่ต้องตอนนี้มี ตอนนี้ระบบเตือนภัยของจังหวัดศรีสะเกษ และลุ่มน้ำมูลนั้น ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งเล็กและไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งประชาชนก็ไม่เชื่อในข้อมูล เพราะเชื่อว่าบรรพบุรุษเลือกทำเลหมู่บ้านไว้แล้ว อยู่บนเนินสูงไม่เคยถูกน้ำท่วม แต่เมื่อปีที่แล้วประชาชนอำเภอยางชุมน้อย ต้องอพยพรถแทรกเตอร์ ตำบลโนนสังข์ต้องอพยพวัวนับพันตัว ได้ติดตามข่าวจากกำนัน ที่บ้านหนองโอง วัวสองร้อยกว่าตัว อพยพอยู่ 2 วันทางแพ นั่นเป็นเพราะเขาไม่เชื่อข้อมูล ไม่คิดว่าจะท่วมหมู่บ้าน เพราะไม่เคยท่วม หรือท่วมไม่มากก็พออยู่ได้ แต่มันท่วมหนักจนฝั่งอำเภอยางชุมน้อย ต้องย้ายรถกระบะกับรถไถที่ไม่ได้เอาออกจากหมู่บ้าน สุดท้ายก็ถูกน้ำท่วม

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องมีคือผังน้ำ เสนอว่า อบต. ต้องมีระบบเตือนภัยเอง ตั้งแต่ตำบลโพนทรายไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี อบต. ต้องมีระบบเตือนภัยเป็นของตัวเอง แล้วจะเตือนตอนไหน ต้องทำเครือข่ายเตือนภัยเข้ามือถือ ของสมาชิก อบต. ทั้งหมด และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเรา ตำบลของเรา ถึงเวลาต้องอพยพแล้ว คิดว่าต้องมีระบบเตือนภัยซึ่งมีทั้งท่วมทั้งแล้ง พื้นที่ทั้งหมดนี้มีทั้งท่วมและแล้ง ตอนนี้มีวิชาชลกร โดยคุณหญิงกัลยา เปิดสอนอยู่ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เป็นวิชาใหม่ เรียกว่าวิชานักจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาช่วยสร้างวิชานี้ มีแค่ 3 คำเท่านั้นในการจัดการน้ำ 1.หาทางให้น้ำไหล 2.หาที่เก็บน้ำไว้ 3.หาทางเอาน้ำมาใช้ การจัดการน้ำจะมีแค่ 3 อย่างนี้”

ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงแลกเปลี่ยนด้วยข้อมูลที่รอบด้าน

แม้จะมีความเห็นที่หลากหลาย แต่การฟังข้อมูลอย่างรอบด้านคือหัวใจในการสนทนาโสเหล่ในครั้งนี้ และนี่เป็นเพียง 3 ฉากทัศน์ท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมายหรือบางครั้งก็อาจจะเกินกว่าจินตนาการได้

นอกจากผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และโจทย์การบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ climate change ยังเป็นอีกปัจจัยที่เร่งให้วิถีคนลุ่มน้ำต้องปรับเปลี่ยนและส่งผลต่อระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารของคนลุ่มน้ำมูล ซึ่งจำเป็นต้องวางแผนเตรียมรับมือในระดับท้องถิ่น ตลอดจนนโยบายที่เป็นรูปธรรม สามารถติดตามรายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์หรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวในอีสานกับแฟนเพจอยู่ดีมีแฮง

โหวตฉากทัศน์ ภาพอนาคต มรดกลุ่มน้ำมูล ทิศทางความเปลี่ยนแปลงและการเตรียมพร้อมรับมือ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ