แถวนี้…เขื่อน “30 ปี โขง ชี มูล” เอาความจริงมาเว้ากัน

แถวนี้…เขื่อน “30 ปี โขง ชี มูล” เอาความจริงมาเว้ากัน

“การที่ไปขวางทางน้ำ บ้านเฮาว่า คะลำ” จันทรา จันทาทอง หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนในลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด เล่าถึงมุมมองความเชื่อของชุมชนถึงการจัดการน้ำภายใต้ “เขื่อน” ในวงโสเหล่ออนไลน์ “เบิ่งแยงถามคราว ฟังเสียงไทลุ่มน้ำในอีสาน” เมื่อวันจันทร์ที่ 12 กันยายน 2565 ณ ศูนย์เรียนรู้ทามมูล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ซึ่งดำเนินวงโสเหล่โดย กมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ซึ่งวันนี้มาร่วมงานในบทบาทของเครือข่ายลุ่มน้ำลำโดมใหญ่

คำว่า “คะลำ” ในภาษาอีสานมีการให้ความหมาย ว่า ผิด บาป กรรม หมายถึงสิ่งใดที่ทำลงไปแล้วผิดจารีตประเพณี ผิดกฎหมาย ผิดระเบียบ ผิดศีลธรรมในทางพระศาสนา ผิดครรลองคลองธรรม ชาวอีสานจะเรียกว่า “คะลำ” ซึ่งในวงเสวนานี้ จันทรา จันทาทอง หมายถึง “เขื่อน” ที่สร้างขึ้นมากั้นแม่น้ำชีซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำมานานนับ 10 ปี

จันทรา จันทาทอง

“การใช้ชีวิตของชาวบ้านเดิมที สมัยพ่อแม่ท่านบอกว่า การที่ไปขวางทางน้ำมันจะ “คะลำ” ซึ่ง คะลำ คือการทำผิด และนโยบายขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้าน ถ้าจะอยากมาเติมเต็มให้ชาวบ้านต้องดูว่าชาวบ้านอยู่กันอย่างไร ถ้าจะพัฒนาใด ๆ ต้องมีการศึกษาผลกระทบก่อน อย่างเรื่องชีพจรน้ำชาวบ้านเขารู้ดีว่าแต่ละฤดูกาลเป็นอย่างไร”

สวาท อุปฮา

เช่นเดียวกับ สวาท อุปฮาด ตัวแทนชาวบ้านจากลุ่มน้ำพองที่เดินทางมาจาก จ.ขอนแก่น ได้บอกเล่าถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมกับวิถีคนลุ่มน้ำที่อยู่ในพื้นที่ใต้เขื่อนอุบลรัตน์ แม้จะมีระยะห่างกว่า 40 กิโลเมตร  “ตอนนี้ พี่น้องชาวบ้านมีความกังวลมาก เพราะสถานการณ์น้ำคาดเดายาก แล้ว 3-5 ปี มานี้ การเปลี่ยนแปลงทางฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไปมาก บางวันบอกว่าฝนตกแน่ ๆ แต่ไม่ตก ถ้าบอกว่าวันนี้ฝนไม่ตกกลับตกหนัก ยิ่งในปีนี้ที่มีฝนตกหนักมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ก็มีคำถามจากชาวบ้านลุ่มน้ำพองว่า ถ้าปีนี้ท่วมอีกเราจะอยู่อย่างไร

ที่ผ่านมา เมื่อตอนไม่มีเขื่อน ราว ๆ 50 ปี ที่แล้ว มันก็มีน้ำท่วมนะ แต่ท่วมปลายปี เรียกว่า “น้ำแก่ง” ท่วมแล้วลดไปเป็นลักษณะน้ำหลาก แต่พอมีเขื่อนน้ำกลับท่วมหนัก ท่วมทุกปี แล้วยิ่งมีเหตุการณ์แบบนี้ ผลกระทบจากน้ำท่วมส่งผลให้ชุมชนล่มสลาย

ถ้าถามว่าล่มสลายเพราะอะไร ก็เพราะชาวบ้านล้มละลาย ครอบครัวแตกสลาย ไม่มีเงินใช้หนี้ ไม่มีข้าวกิน และค่อนข้างสาหัส ไม่ว่าจะแล้งหรือท่วมชาวบ้านไม่รู้จะทำอย่างไร เคยไปเรียกร้องความเสียหายก็ได้แค่เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แล้วเราจะทำอย่างไร ก็พยายามคุยกับชาวบ้านด้วยกัน เราพยายามหาทางออกให้กับตัวเอง เราคุยกันว่าอันดับแรกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เขาต้องรู้จักเรา ทั้ง เขื่อน ทั้งหน่วยงานรัฐ ถ้าเกิดผลกระทบอะไรกับเรา เขาต้องรู้จักเรา เราไปหาเขาให้เห็นหน้ากันให้สามารถชี้หน้ารู้จักกันได้เลย  เราพยายามสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เราไปพูดความจริง ต้องเอาความจริงมาคุยกัน ซึ่งความจริงคือกรณีภัยพิบัติที่เกิดจากการทำงานของคน มันต้องมีการศึกษาหาทางออกให้ได้และต้องเยียวยาตามความเป็นจริง

ชุมชนที่อยู่ใต้เขื่อนอุบลรัตน์ ตอนนี้วิถีชาวบ้านเปลี่ยนไปมาก ปลาก็หาไม่ได้ และถึงแม้จะหามาได้แต่ปลาก็ไม่อร่อย น้ำเปลี่ยนไป ปลาเปลี่ยนไป องค์ความรู้ภูมิปัญญาก็หายไป เครื่องมือหากินก็หมดไป ทุกวันนี้คนสานแหก็หมดไปแล้ว เหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบจากการจัดการน้ำที่ไม่สมดุลกับวิถีชีวิตชุมชน”

ทักษิณ ทุมวัน

“เขื่อน” ดูเหมือนจะเป็นยาขม ทั้งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และหรือที่ยังอยู่ระหว่างศึกษาโครงการว่าจะสร้าง ก็อาจส่งผลกระทบต่อความคาดหวัง ความกังวลใจ และวิถีชุมชนในพื้นที่เป้าหมายให้สั่นคลอนไม่น้อย เช่นเดียวกับ ทักษิณ ทุมวัน ตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำโมง อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ซึ่งคาดว่าหมู่บ้านของเขาจะเป็นพื้นที่เป้าหมายส่วนหนึ่งในการดำเนินโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล และแม้นาทีนี้จะยังไม่มีรายละเอียดของโครงการ แต่ความกังวลของชาวบ้านในพื้นที่กลับยิ่งชัดเจน

“แม้พื้นที่นี้จะยังไม่มีเขื่อน แต่ก็มีความกังวลเพราะพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่ผันน้ำมาจากโขง เลย ชี มูล แต่ชาวบ้านในยังไม่มีข้อมูลความรู้เลย เราไม่รู้เลยว่าคนในพื้นที่จะมีใครได้รับผลกระทบบ้าง เขาจะขุดผ่านทุ่งนาไหม ซึ่งสถานการณ์น้ำในพื้นที่ซึ่งเดิมทีก็มีน้ำท่วมอยู่แล้ว แต่ก็มีข้อมูลว่าถ้ามีโครงการเข้ามาคุณภาพชีวิตชาวบ้านจะดีขึ้น ซึ่งผมเองที่มีบ้านห่างจากน้ำโมงราว 500 เมตร แต่ถ้ามีการขุดลอกคลองผันน้ำ เบื้องต้นคาดว่าจะมีบ้านหายไป 2 หลัง ชาวบ้านก็อาจจะสูญเสียที่ดิน อันนี้คือความกังวล แล้วถ้าไม่มีที่ดินวิถีเกษตรเราก็จะหายไป เราจะได้ค่าชดเชยไหม จะได้เท่าไร และตามวิถีชาวบ้านอย่างไรไม่มีการจัดการเงินที่ยั่งยืนได้ ซึ่งคลองที่ขุดลอกอาจจะตัดน้ำโมงไหม จะไปอย่างไรเราไม่รู้เลย ขนาดคลองกว้างลึกเท่าไรเราไม่รู้เลย ซึ่งเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ชาวบ้านที่อาจจะได้รับผลกระทบเราก็ไปยื่นหนังสือกับผู้ว่าฯ เพื่อให้ประสานผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล และการให้ข้อมูลต้องอิสระไม่เกี่ยวกับเวทีรับฟังความคิดเห็น”

พรพิมล จันทร์หอม

นอกจากลุ่มน้ำสาขาแล้ว “แม่น้ำโขง” แม่น้ำสายประธานที่ไหลผ่าน 8 จังหวัดของไทยเองก็อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังเพราะเป็นพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างเขื่อน โดยหนึ่งในพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากชม คือ บ้านคกเว้า อ.ปากชม จ.เลย ที่ พรพิมล จันทร์หอม ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านมาร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อหารือแนวทางการเคลื่อนไหวจากประสบการณ์ของเครือข่ายลุ่มน้ำ “มาขอความรู้จากทางเครือข่าย มาขอความรู้ว่าเขาจะสร้างเขื่อนเราจะทำอย่างไร ตอนนี้มีการเข้าไปสำรวจพื้นที่และตอนนี้มีการแจ้งให้มีการโยกย้ายชุมชนออกจากชุมชนกว่า 100 ครัวเรือน และตอนนี้ก็มีผลกระทบจากการขึ้น-ลงของน้ำโขงที่ไม่ปกติ บางทีก็น้ำท่วม บางทีก็น้ำแห้ง ผิดปกติ ผิดฤดูกาล

เดิมในช่วงหน้าแล้งมันจะมีบุ่ง-ทาม ตอนนี้มันแล้งมาก ไม่มีน้ำไม่มีปลา พอน้ำจะมาก็มาบางทีจะแห้งก็แห้ง แม้จะมีการแจ้งข่าวแต่หลายครั้งก็ไปเก็บเรือ เก็บอุปกรณ์หาปลาไม่ทัน น้ำโขงไม่มีฤดูกาลแล้ว ไม่เหมือน 10 ปีที่แล้ว เมื่อก่อนมีการ “ตักต่อง” หาปู หาปลา ตอนนี้ไม่มี แล้วเขื่อนมาพวกเราจะย้ายไปอยู่ไหน เราเคยมีไร่ มีนา เราจะย้ายไปอยู่ที่ไหน จะไม่ต้องไปอยู่หลังเขาเลยหรือ ตอนนี้ปลาที่หาได้ “กำหัวไม่เห็นหา กำหางไม่เห็นหัว” ปลาตัวเล็กน้อยมาก นี่ขนาดโครงการยังไม่เกิดยังมีผลกระทบขนาดนี้” พรพิมล จันทร์หอม เน้นย้ำถึงความกังวลใจและผลกระทบที่เธอประสบจากความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง

อาจจะมีหลายคำถาม ที่ยังกังขาในคำตอบว่า “เขื่อน” ที่มีในแต่ละพื้นที่ดูเหมือนจะกลายเป็นผู้ร้ายไปเสียเต็มประดา แต่ อภิรักษ์ สุธาวรรณ์ เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา-ราศีไศล ก็ยังยืนยันหนักแน่นว่าเขื่อนคือต้นตอความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำมูลกว่า 30 ปี และต้องทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง  

อภิรักษ์ สุธาวรรณ์

“ต้องทบทวนนโยบายรัฐที่ผ่านมา ตอนที่จะมาทำโครงการมีแต่เรื่องดี ๆ ไม่มีเรื่องผลกระทบ แต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน อย่างคนน้ำมูลก่อนนั้นอยู่ดีมีแฮงมาก เราไม่ต้องมีอาชีพที่ไปเป็นลูกจ้างใคร เราสามารถไปหากินในป่าบุ่งป่าทามได้ ส่งลูกเรียนได้ แต่ต่อมาเกิดความขัดแย้งในชุมชนพอสมควรมีกลุ่มที่อยากได้น้ำ บ้างมองว่าน้ำคือชีวิต แต่การที่มีน้ำมากเกินไปมันก็กระทบ แต่ถ้ามันมีพอดีและใช้ประโยชน์ได้ก็ดี จึงเกิดความขัดแย้งในหมู่บ้าน แทบเรียกได้ว่า ตายไม่เผาผีกัน เป็นปัญหาความขัดแย้งในชุมชน

แต่ความจริง คือ ความจริง เขื่อนราษีไศลสู้มาแล้ว 30 ปี และจะสู้ต่อ เขาบอกว่าเขื่อนมีอายุ 50 ปี ผมเลยจะรอดู ผมอยากให้ความอยู่ดีมีแฮงกลับคืนมา เราไม่ได้อยากได้เงิน เราอยากได้ธรรมชาติคืนมา กลับมาเป็น “มูน มัง” ให้ลูกหลาน เพราะมูลค่ามันนับไม่ถ้วน เราอยากได้วิถีชีวิตคืนมา อยากต้มเกลือ อยากเลี้ยงวัว อยากทำนาทาม เพราะเงินไม่ยั่งยืน แต่วิถีเราคือความยั่งยืนที่จะส่งต่อไปอีกหลายชั่วโคตรให้ลูกหลานเรา”

ภาพความทรงจำของวิถีชีวิตในอดีต เหมือนจะปรากฏชัดมากยิ่งขึ้น เมื่อผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนถึงความเปลี่ยนแปลงในแต่ละลุ่มน้ำทั้งก่อนและหลังมีเขื่อน รวมถึงลุ่มน้ำเซิน และลุ่มน้ำพรม ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ที่วันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงมี ภาพฝัน อยากให้การจัดการน้ำเป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด

“สมัยก่อน “น้ำเซิน” จ.ชัยภูมิ มีความอยู่ดีมีแฮง น้ำเซินไม่เคยแห้ง น้ำไม่เคยขาดวัง” วิชชุนัย ศิลาศรี เครือข่ายภัยพิบัติลุ่มน้ำเซินเล่าถึงความงดงามในอดีต “แต่หลังมานี้โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมา เราสังเกตว่าน่าจะมีการกักน้ำในแต่ละช่วง ปัจจุบันปลาที่เคยมีก็หายไป รู้สึกเหมือนว่าปลาถูกจำกัดเส้นทาง เพราะเดิมทีถ้าน้ำหลากปลาจะขึ้นตามฤดูกาล ปลาจะไปผสมพันธุ์ ไปขยายพันธุ์ แต่ปัจจุบันไม่มีปลาตามธรรมชาติ ซึ่งตอนนี้ การจัดการน้ำมีผลต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป การทำ EIA การมีส่วนร่วมก็ไม่ใช่ผู้มีผลกระทบเข้าไปมีส่วนอย่างจริงจัง เราอาจจะเข้าไม่ถึง คนที่เห็นต่างก็ไม่ได้เข้าไปแลกเปลี่ยน ตอนนี้แม้มีเขื่อนก็ท่วมก็แล้งได้ แล้วเราจะอยู่อย่างไร จะอยู่จั่งได๋ทีนี้”

ไม่ต่างกับความกังวลใจของ รำไพ แสงเดือน เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำพรมที่อยู่ใกล้กับลุ่มน้ำเซิน เธอมองว่าเขื่อนส่งผลกระทบต่อชุมชน “ชุมชนก็ได้รับผลกระทบคาดว่าจากเขื่อนที่กักเก็บน้ำ เพราะมีการกักเก็บน้ำไว้ในหน้าแล้ง แล้วพอมีการปล่อยน้ำลงมาอย่างในพื้นที่ อ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ ก็จะได้รับผลกระทบ เพราะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนว่าจะปล่อยน้ำลงมากี่มากน้อย มาเมื่อไร น้ำจะท่วมไหม แล้วผลผลิตทางการเกษตรที่เราทำ เราจะเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร”

วิชชุนัย ศิลาศรี
รำไพ แสงเดือน

บทสนทนายังคงไหลลื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นผลกระทบและความคาดหวังที่อยากให้สายน้ำได้ไหลอย่างอิสระ ซึ่งชุมพร เรืองศรี เครือข่ายลุ่มน้ำห้วยเสนงในอีสานใต้มองว่า การสื่อสารและให้ข้อมูลกับประชาชนมีส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจ

ชุมพร เรืองศรี

“ปัจจุบันในยุคดิจิทัลมันสามารถส่งข้อมูลถึงชาวบ้านได้ง่ายแล้ว โครงการใหญ่ ๆ เลิกทำได้แล้วเพราะมีผลกระทบ แทบไม่มีการคุยกับชาวบ้านตัวเล็ก ๆ ว่าทำแบบนี้จะเป็นอย่างไร จะกระทบอะไร คุณไปยืนดูแค่ข้อมูลดาวเทียมไม่พอ ความจริงคือภูมิปัญญาชาวบ้าน โครงการใหญ่ ๆ เลิกเถอะมันมีผลกระทบต่อชาวบ้าน ให้ชาวบ้านจัดการขนาดเล็กกันเองได้ ย่อยจากโครงการขนาดใหญ่มาให้ชาวบ้านจัดการกันเอง ให้ชาวบ้านได้คุยกัน ถ้าขุดตรงนี้ชาวบ้านได้ประโยชน์ไหม ชาวบ้านเอาไปใช้อะไร เราต้องพูดความจริงกัน แล้วความจริงก็อยู่กับชาวบ้าน แม้แต่การทำงานการศึกษาในปัจจุบัน เอามาให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ศึกษาได้ไหม ลูกหลานเราไปเรียนที่นั่น คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ยุคนี้มีวิธีการหลาย ๆ อย่างที่ข้อมูลจะไปถึงชาวบ้านได้ ตอนนี้เราสามารถจับ GPS ในพื้นที่ต่าง ๆ แจ้งพิกัดได้ ดังนั้นหลายโครงการใหญ่ ๆ ขอให้จบเสีย”

“โขง ชี มูล” แม่น้ำสายหลักในอีสานและลุ่มน้ำสาขาจะไหลมารวมกันและออกสู่แม่น้ำโขง ที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่หากยังจำกันได้ปี 2562 เคยเกิดมหาอทกภัยครั้งใหญ่และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง นั่นทำให้ กมล หอมกลิ่น ชาวบ้านไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ผู้ทำหน้าที่ดำเนินวงอยู่ดีมีแฮงโสเหล่มีความกังวลใจถึงผลกระทบจากโครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลที่อาจจะเกิดขึ้น  “โครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลราชธานี ซึ่งมีงบประมาณดำเนินการราว 4.7 หมื่นล้านบาท ความยาวของคลอง 92 กิโลเมตร ความกว้างของท้องน้ำ 108 เมตร บวกกับความยาวของฝั่ง รวมเป็น 320 เมตร บอกว่าจะผันน้ำจากใต้เขื่อนหัวนาไปไปโผล่แถว มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และจะไปที่ ต.คันไร่ อ.สิรินธร และผมกังวลว่ารัฐบาลชุดนี้อาจจะเคาะโครงการ ซึ่งเห็นว่าในปีนี้จะมีแผนมารับฟังชาวบ้านเพิ่ม เพราะการศึกษาความเหมาะสมได้ผ่านไปแล้ว ในปี 2565 นี้ จึงอยู่ในช่วงการศึกษาแนวคลอง ซึ่งตอนนี้เดือนตุลาคมแล้ว แต่ผมยังไม่เห็นมาเลย อีกอย่างผมกังวลว่าถ้าน้ำท่วมเมืองอุบลในปีนี้ ก็อาจจะเป็นข้ออ้างในการดำเนินโครงการ ผมจึงมีความกังวล”

ไม่เพียงการสื่อสารแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันของเครือข่ายลุ่มน้ำอีสาน แต่การสื่อสารเพื่อส่งต่อและสร้างความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ให้เล็งเห็นความเดือดร้อนของผู้คนในชุมชน มารุต พลายอยู่วงษ์ กลุ่มดาวดิน บอกว่าเป็นอีกเป้าหมายที่จะมีส่วนในการเรียนรู้ประเด็นทางสังคมโดยการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่

 “ก่อนสร้างเขื่อน และหลังสร้างเขื่อน ประเด็นปัญหามันมีต่างกัน ในมุมมองคนรุ่นใหม่ที่กำลังศึกษา เรามาเห็นของจริง เห็นว่าตรงนี้มีปัญหาจริง ๆ คิดว่าต้องให้เพื่อน ๆ คนรุ่นใหม่ได้เห็นแบบนี้ ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ซึ่งผมว่า “หัวใจ” มันสำคัญมาก เราอยากเห็นอะไรที่มากกว่านั้น ถ้าใจเรามา เราก็อยากจะเห็นอยากจะหาข้อมูลมากกว่านั้น อาจจะตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต เช่น ทำไมหน้านี้ช่วงนี้เขามีธงแดง ตรงนี้ก็จะทำให้เราได้ค้นหามากขึ้น แต่ตอนนี้โควิด-19 ก็ส่งผลกระทบเยอะเลย ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนเรียนไม่ตามปกติ อันนี้มีผลต่อการเรียนรู้ด้วย”

เวลานับชั่วโมงในการแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองของเครือข่ายลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน ผ่านวงสนทนาอยู่ดีมีแฮงออนไลน์ สวาท อุปฮาด เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำพอง มองว่า เป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้เสียงของชาวบ้านถูกได้ยินมากยิ่งขึ้น  “สิ่งที่เราเผชิญตอนนี้ ธรรมชาติจะสร้างความเหมาะสมด้วยตัวของมันเอง แต่ถ้าการดัดแปลงมันก็จะมีผลกระทบ การคืนสู่ธรรมชาติน่าจะดีที่สุด แต่จะกลับอย่างไรอาจยังตอบได้ไม่ชัด แต่มีข้อมูลว่าเขื่อนในโลกใบนี้มีการทุบทิ้งไปบ้างแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ต้องมีการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สังคมได้รับรู้และร่วมตัดสินใจเพื่อหาทางออก และการที่เรามาเจอกันนาน ๆ ที อันนี้เราจะมีพลังไม่มาก แต่ถ้าชาวบ้านได้มีโอกาสมาเจอกัน ได้มีเวทีมาออกแบบ มาหาทางออกร่วมกันมากที่สุด สภาประชาชนลุ่มน้ำโขงน่าจะเป็นทิศทางที่ดี ถ้าเราตั้งลำได้เร็ว เพื่อวิเคราะห์สังเคราะได้จะช่วยให้เราหาทางออกได้”

“เบิ่งอีสานให้ซอด ฮู้อีสานให้ลึก” นี่คือเวทีอยู่ดีมีแฮงโสเหล่ออนไลน์วงคุยสไตล์ไทบ้านด้วยภาษาถิ่นอีสานหลากสำเนียง ที่ต่างต้องการส่งเสียงสื่อสารในเรื่องเดียวกันว่า วันนี้ที่ผ่านมายาวนานนับ 30 ปี ที่กอปรไปด้วยบทเรียนการจัดการน้ำ โขง ชี มูล และลุ่มน้ำสาขาในภาคอีสาน การจัดการน้ำขนาดใหญ่โดยรัฐนั้นถูกมองว่า “ล้มเหลว” เพราะได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนและชุมชน จำนวนมาก และเหล่านี้คือสิ่งที่รัฐต้องฟังเสียงประชาชนคนอีสานให้ได้ยิน ต้องฟังเสียงที่อยากเลือกวิถีชีวิต อนาคต และเส้นทางชุมชนโดยชุมชนเองเพื่อความอยู่ดีมีแฮงบนผืนดินบ้านเกิดของหมู่เฮา และต้อง “เอาความจริงมาเว้ากัน”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ