ชาวบ้านปากมูนเข้ากรุงฯ ทวงสัญญา จี้ตั้งกรรมการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล

ชาวบ้านปากมูนเข้ากรุงฯ ทวงสัญญา จี้ตั้งกรรมการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล

1 เม.ย.2558 ชาวบ้านสมัชชาคนจนกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเปิด-ปิดเขื่อน และพิจารณาเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำประมงในแม่น้ำมูลเนื่องจากเขื่อนขวางการเดินทางของปลาในฤดูวางไข่

20150204005149.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มชาวบ้านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จาก สถานีรถไฟ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 31 มี.ค.2558 เพื่อพบกับนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษา ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทวงถามความคืบหน้าการสรรหาคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ซึ่งมีอำนาจพิจารณาทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล และพิจารณาเงินเยียวยาชาวบ้านกว่า 6,000 ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลเมื่อกว่า 26 ปีก่อน เนื่องจากยังไม่มีความคืบหน้าหลังผ่านมากว่า 1 เดือน

จากนั้นมีกำหนดการเดินทางไปยังกรมทรัพยากรน้ำ ติดตามกรณีในการประชุม MRC เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ได้เสนอขอขยายเวลาการศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในประเทศลาวอีก 6 เดือน เพื่อให้มีเวลาศึกษาและรับฟังผลกระทบจากประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า แต่กลุ่มชาวบ้านพบว่าบริษัทผู้ก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงมีการสร้างสะพานใช้ขนวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจากแผ่นดินใหญ่ไปยังดอนสะดำ ซึ่งตั้งอยู่อีกฝั่งของน้ำตกคอนพะเพ็งที่เป็นจุดก่อสร้างเขื่อนแล้ว

20150204005221.jpg

ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตัวแทนชาวบ้านกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล เข้าพบนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อหารือและทวงถามความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล 

หลังจากก่อนหน้านี้ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 5 ฝ่าย ได้แก่ชาวบ้าน 3 กลุ่ม สมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เห็นพ้องกันว่า แต่ละฝ่ายจะเสนอนักวิชาการ 11 ด้าน เข้ามาเป็นคณะกรรมการ แต่หลังจากการดำเนินการสรรหาและคัดเลือก พบว่าบุคคลที่ถูกเสนอชื่อจำนวนหนึ่ง มีคุณสมบัติไม่เข้าหลักเกณฑ์ เช่น เป็นนักการเมือง เป็นข้าราชการ หรืออดีตข้าราชการ ทำให้เหลือนักวิชาการที่มาจากการเสนอของ ขปส. เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่บุคคลจากชาวบ้านบางกลุ่มถูกตัดออกไปทั้งหมด

นายพันศักดิ์ เจริญ ผอ.ส่วนประสานมวลชน สปน. กล่าวว่า การหารือครั้งนี้เป็นการหารือฝ่ายเดียว หากชาวบ้านกลุ่มอื่นมาร้องเรียนหรือไม่เห็นด้วยกับสัดส่วนคณะกรรมการดังกล่าวก็จะเกิดปัญหา สปน. เป็นคนกลาง หากยังไม่สามารถหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าวก็ทำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรีไม่ได้  จึงเห็นว่าควรให้กลุ่มอื่นๆ เสนอนักวิชาการที่เป็นตัวแทนด้วย โดยมีการประชุมอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน

ด้านนายกฤษกร ศิลารักษ์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการกำหนดและชี้แจงคุณสมบัติของนักวิชาการที่จะถูกเสนอชื่อชัดเจนแล้ว แต่กลุ่มต่างๆ เสนอชื่อมาไม่ครบ 11 ด้าน ทั้งยังขาดคุณสมบัติ ยืนยันว่าการตั้งคณะกรรมการครั้งนี้ไม่ใช่ระบบโควต้า นักวิชาการที่จะเข้ามาต้องเป็นกลาง เป็นอิสระ เป็นผู้เชี่ยวชาญ สำหรับคนที่เสนอไป 9 คน ทั้งหมดมีผลงานและความสามารถเป็นที่ประจักษ์ หากกลุ่มอื่นๆ เห็นว่ามีคนที่เก่งกว่านี้ก็ยอมรับ แต่ที่ผ่านมาหาไม่ได้ ทั้งนี้ได้ยอมถอยในหลายๆ เรื่อง คนที่แต่ละกลุ่มเสนอชื่อมานั้น หากเป็นนักวิชาการจริง ไม่ถูกตัดออกเลยแม้จะเกิดความซ้ำซ้อน ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านเดียวกันหลายคนก็ตาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการหารือทางสปน. รับฟังข้อมูลทั้งหมด สรุปว่าจะทำหนังสือชี้แจงไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ และรับปากเตรียมร่างคำสั่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ 15 คน ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 10 เม.ย. เพื่อเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป

จากนั้นชาวบ้านจึงเดินทางไปติดตามความคืบหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำ

20150204005254.jpg

ที่มาภาพ: ป้าย บูรพาไม่แพ้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ